Tuesday, 21 May 2024
การรถไฟแห่งประเทศไทย

สุดทันสมัย!! ‘รถไฟไทยทำ’ ผลสำเร็จโครงการพัฒนารถไฟต้นแบบ พลิกโฉมอุตสาหกรรมระบบราง ดันเศรษฐกิจโตก้าวกระโดด

(29 ก.ค. 66) น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ไม่เพียงแต่เดินหน้าโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม เพื่อยกระดับเมือง ยกระดับคุณภาพชีวิตพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนอย่างต่อเนื่องแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังมุ่งมั่นผลักดันนโยบาย ‘Thai First’ ของรัฐบาลในการสนับสนุนและส่งเสริมให้ใช้ผลิตภัณฑ์สินค้าที่ผลิตในประเทศ โดยเฉพาะกับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบรางของประเทศที่ต้องการให้มีตัวรถไฟที่จะมีการซื้อ-ขาย ในอนาคต โดยมีเป้าหมายให้ต้องมีส่วนประกอบหรือชิ้นส่วนผลิตในประเทศ (Local Content) ไม่น้อยกว่า 40% จากเดิมที่มีการนำเข้าสินค้าประเภทตัวรถไฟและส่วนประกอบตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ถึง 2561 มีมูลค่าสูงถึง 80% เมื่อเทียบกับมูลค่ารวมของสินค้าทุกประเภทในระบบราง

ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ว่าต่อจากนี้ไปอีก 20 ปี จะมีความต้องการตู้รถไฟโดยสารไม่น้อยกว่า 2,425 ตู้ จากการเพิ่มขึ้นของทางรถไฟที่รัฐได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ซึ่งคิดเป็นมูลค่ารถไฟต่อตู้ เฉลี่ยตู้ละ 50 ล้านบาท รวมมูลค่าสำหรับตลาดการผลิตตู้รถไฟโดยสารประมาณ 100,000 ล้านบาท

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งความสำเร็จครั้งนี้เป็นการสนับสนุนภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปยังหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ภายใต้การกำกับของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ที่มีภารกิจในการสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ โดยผลักดันให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ทำให้งานวิจัยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในเชิงพาณิชย์

“โครงการวิจัยและพัฒนารถไฟโดยสารต้นแบบ (รถไฟไทยทำ) โดยสำนักวิจัยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ร่วมกับ กิจการร่วมค้า ไซโนเจน-ปิ่นเพชร จำกัด และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจาก บพข. เพื่อพัฒนาตู้รถไฟโดยสารต้นแบบที่เน้นการวิจัยพัฒนาและรวบรวมเทคโนโลยีพื้นฐานที่มีอยู่ภายในประเทศเป็นหลัก โดยมีรายงานความคืบหน้าล่าสุดสามารถประกอบตัวรถไฟที่มีชิ้นส่วนภายในประเทศได้เป็นครั้งแรก คิดเป็น 44.1% ของมูลค่าสินค้ากรณีรวมแคร่รถไฟ และหากคิดเฉพาะตู้รถโดยสารพร้อมอุปกรณ์ประกอบไม่รวมแคร่รถไฟจะมีมูลค่า local content ถึง 76%” น.ส. ทิพานัน กล่าว

ทั้งนี้ ตัวรถออกแบบโดยได้แรงบันดาลใจจากเครื่องบินชั้นธุรกิจและชั้นเฟิร์สคลาสในรถไฟความเร็วสูง มีที่นั่งจำนวน 25 ที่นั่ง ประกอบด้วยชั้น Super Luxury 8 ที่นั่ง และชั้น Luxury 17 ที่นั่ง ทุกที่นั่งมีจอภาพส่วนตัวสำหรับให้บริการด้านความบันเทิงและสั่งอาหาร ซึ่งจะมีพนักงานเสิร์ฟหุ่นยนต์นำอาหารมาส่งถึงที่นั่ง จุดเด่นของรถขบวนชุดนี้ยังเป็นขบวนที่มีความเงียบ เนื่องจากไม่มีตัวเครื่องยนต์ปั่นไฟในตัวรถ

นอกจากนี้ ยังมีระบบห้องน้ำสุญญากาศและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครัน นอกจากนี้ยังได้มีการพัฒนาตัวรถให้มีน้ำหนักที่เบาลง จากการออกแบบด้วยระบบ Space Frame Modular Concept และแคร่รถไฟที่ทำความเร็วได้ถึง 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงอีกด้วย ซึ่งได้มีการจดทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดจากโครงการแล้วจำนวน 7 ผลงาน ขณะนี้อยู่ในขั้นของการทดสอบบนทางรถไฟจริง สำหรับการให้บริการ หากผ่านการทดสอบตรงนี้แล้วก็จะสามารถนำไปใช้จริงได้

“พล.อ.ประยุทธ์ขอบคุณทุกภาคส่วนที่ได้ผลักดันให้โครงการสำเร็จ ถือเป็นภาคภูมิใจในองค์ความรู้และความสามารถของคนไทยไม่ด้อยไปกว่าชาติใด ซึ่งความสำเร็จของโครงการนี้จะช่วยให้ประเทศประหยัดค่าใช้จ่ายซึ่งคิดเป็นมูลค่าประมาณ 50% เมื่อเทียบกับการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ยกระดับการเดินทางที่มีความสะดวกสบาย ทันสมัยและปลอดภัยในระดับสากล รองรับการแข่งขันและการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต พล.อ.ประยุทธ์ จึงถือเป็นผู้นำที่พลิกโฉมยกระดับอุตสาหกรรมระบบรางของไทยในทุกมิติ” น.ส.ทิพานัน กล่าว

เปิดตัวเลขรัฐสูญรายได้ 136 ล้านบาทต่อปี หากหนุน 'แดง-ม่วง' 20 บาท แต่ช่วยดึงคนใช้รถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นปีละ 10% รายได้หวนคืนใน 2.8 ปี

(18 ก.ย.66) รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า สำหรับการประชุมร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.), การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบริษัทรถไฟฟ้ารฟท. จำกัด และกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงาน การแบ่งค่าโดยสารกรณีเดินทางข้ามสายสีแดงกับสายสีม่วง รวมถึงมาตรการอำนวยความสะดวกผู้โดยสารและการประชาสัมพันธ์ ฯลฯ

เบื้องต้นในที่ประชุมได้มีการหารือถึงข้อกฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. ..., พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.), พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ฯลฯ เพื่อให้เกิดความรอบคอบในการดำเนินการ 

ขณะเดียวกันที่ประชุมได้มีข้อสั่งการให้รฟท.เตรียมเสนอการแบ่งค่าโดยสารกรณีเดินทางข้ามรถไฟสายสีแดง ช่วงรังสิต-ตลิ่งชันและรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ ต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. ภายในวันที่ 21 ก.ย.66 ขณะที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะนำเสนอเรื่องนี้ต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. ภายในวันที่ 28 ก.ย.66 หลังจากนั้นจะเสนอต่อกระทรวงคมนาคมภายในเดือน ก.ย.นี้ คาดว่าจะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบได้ภายในเดือน ต.ค.66 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน ปี 67 

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวต่อว่า ส่วนการแบ่งค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายของรถไฟสายสีแดง ช่วงรังสิต-ตลิ่งชันและรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ มีเงื่อนไขว่า ระหว่างการเดินทาง หากประชาชนขึ้นรถไฟฟ้าสายใดเป็นสายแรก ผู้เป็นเจ้าของโครงการจะเป็นผู้เก็บค่าแรกเข้าค่าโดยสาร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนสถานีของผู้โดยสารที่ใช้บริการด้วย โดยจะเก็บค่าโดยสารสูงสุดอยู่ที่ 20 บาทตลอดสาย เช่น กรณีที่ประชาชนเดินทางขึ้นรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่สถานีเตาปูนเพื่อไปรถไฟสายสีแดงที่สถานีบางซื่อ จะถูกเก็บค่าแรกเข้าเพียง 16 บาท ซึ่งมีส่วนต่างอยู่ที่ 4 บาท ต่ำกว่าราคาค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย ทำให้ประชาชนสามารถประหยัดค่าโดยสารจากการเดินทางได้ 

ทั้งนี้จากผลศึกษานโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย พบว่าจะสูญเสียรายได้ และรัฐต้องสนับสนุนรวม 136 ล้านบาทต่อปี แบ่งเป็น รถไฟฟ้าสายสีแดง 80 ล้านบาทต่อปี และรถไฟฟ้าสายสีม่วง 56 ล้านบาทต่อปี แต่การลดค่าโดยสารจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมประชาชนหันมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้นและทำให้ผู้โดยสารเพิ่มขึ้นปีละ 10% คาดการณ์ว่าเมื่อดำเนินนโยบายถึง 2.8 ปี จะทำให้รถไฟฟ้าทั้ง 2 สายมีรายได้กลับมาเท่าเดิม โดยรัฐไม่ต้องจ่ายเงินชดเชย   

นอกจากนี้การชดเชยรายได้ให้แก่รฟท.และรฟม.จากนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายของรถไฟสายสีแดง ช่วงรังสิต-ตลิ่งชันและรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ นั้น พบว่า ปัจจุบันรฟท.มีหนี้ประมาณ 12,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งรฟท.จะต้องขอเงินอุดหนุนจากภาครัฐ (PSO) จำนวน 80 ล้านบาทต่อปี ขณะที่รฟม.จะนำส่วนแบ่งรายได้จากรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมาชดเชยเงินที่ขาดหายจากนโยบายดังกล่าว จำนวน 56 ล้านบาทต่อปี 

‘สทร.’ กางแผนลงทุนระบบราง 10 ปี ทุ่ม 1.8 ล้านล้านบาท ระดมสร้าง 4,746 กม. ดันไทยมีเส้นทางรถไฟทั่วประเทศ

(26 ก.ย. 66) เปิดแผนลงทุนระบบรางของไทย ช่วง 10 ปี สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (สทร.) แจ้งข้อมูลมีเงินลงทุนอย่างน้อย 1.8 ล้านล้าน ดันประเทศไทยมีเส้นทางรถไฟทั่วประเทศอีก 4,746 กม. เช็ครายละเอียดแผนทั้งหมดที่นี่

‘การพัฒนาระบบราง’ ของประเทศไทย กำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากรัฐบาลให้ความสำคัญในการลงทุนด้านการพัฒนาระบบราง โดยผลักดันโครงการต่าง ๆ ครอบคลุมทั้ง รถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล รถไฟทางคู่ รถไฟสายใหม่ และระบบรถไฟความเร็วสูง

พร้อมตั้งเป้าหมายในระยะเวลาอีก 10 ปี โดยเริ่มต้นนับตั้งแต่ปี 2566 กระทรวงคมนาคม ได้จัดทำยุทธศาสตร์การใช้ระบบรางผลักดันการพัฒนาประเทศ โดยประเมินว่า จะมีการลงทุนในระบบรางเป็นจำนวนเงินอย่างน้อย 1.8 ล้านล้านบาท

นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ระบุว่า กระทรวงคมนาคม มีแนวทางที่จะใช้ระบบรางเป็นเครื่องมือในการร่วมพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว กับกระแสโลกที่แข่งขันกันพัฒนาระบบราง เพราะเมื่อเทียบกับการคมนาคมในแบบต่าง ๆ แล้ว ระบบรางขนส่งผู้โดยสารได้มากกว่า ขนสินค้าได้มากกว่า ต้นทุนน้อยกว่าและผลิตคาร์บอนต่ำกว่า และช่วยตอบความต้องการของประเทศและประชาชนได้เป็นอย่างดี

สำหรับการพัฒนาระบบรางในอนาคต แยกเป็นระบบต่าง ๆ นั่นคือ

‘ระบบรางในเมือง’ ซึ่งปัจจุบันให้บริการรวมระยะทาง 241 กิโลเมตร แต่เมื่อถึงปี 2572 จะมีการบริการ 554 กิโลเมตร เป็นรถไฟฟ้าบนดินและใต้ดินรวม 17 สาย เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรได้เป็นอย่างดี

‘ระบบรถไฟทางคู่’ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคมขนส่งทางรางไปทั่วประเทศ โดยในปัจจุบันดำเนินการอยู่รวมระยะทาง 993 กิโลเมตร แต่เมื่อถึงปี 2571 จะมีเพิ่มขึ้นอีก 1,483 กิโลเมตร

‘ระบบรถไฟความเร็วสูง’ ปัจจุบันดำเนินการในระยะทาง 250 กิโลเมตร จากแผนพัฒนาเต็มที่มีระยะทางรวม 2,249 กิโลเมตร และยังมีรถไฟเชื่อมสามสนามบินอีก 220 กิโลเมตรด้วย

แผน 10 ปี ลงทุน 1.8 ล้านล้านบาท มีอะไรบ้าง?
สำหรับแผนการลงทุนในระบบรางอย่างน้อย 1.8 ล้านล้านบาท ในช่วง 10 ปี รวมทั้งสิ้น 649 สถานี รวม 39 เส้นทาง คิดเป็นระยะทางรวมทั้งหมด 4,746 กิโลเมตร ประกอบไปด้วย

‘รถไฟในเมือง’ ตามแผนกำหนดแนวทางการพัฒนา จำนวน 168 สถานี รวม 12 เส้นทาง คิดเป็นระยะทางรวมทั้งหมด 212 กิโลเมตร มีมูลค่าการลงทุน 606,991 ล้านบาท

‘รถไฟชานเมือง’ ตามแผนกำหนดแนวทางการพัฒนา จำนวน 39 สถานี รวม 5 เส้นทาง คิดเป็นระยะทางรวมทั้งหมด 92.24 กิโลเมตร มีมูลค่าการลงทุน 124,433 ล้านบาท

รถไฟทางไกล/รถไฟขนส่งสินค้า
ตามแผนกำหนดแนวทางการพัฒนา จำนวน 416 สถานี รวม 19 เส้นทาง คิดเป็นระยะทางรวมทั้งหมด 3,614 กิโลเมตร มีมูลค่าการลงทุน 549,959 ล้านบาท

‘รถไฟความเร็วสูง’ ตามแผนกำหนดแนวทางการพัฒนา จำนวน 26 สถานี รวม 3 เส้นทาง คิดเป็นระยะทางรวมทั้งหมด 828 กิโลเมตร มีมูลค่าการลงทุน 549,231 ล้านบาท

‘เพิ่มงานวิจัยพัฒนาระบบราง’ นายโชติชัย เจริญงาม ประธานสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (สทร.) ระบุว่า ที่ผ่านมา สทร. ได้ร่วมทำงานกับกรมการขนส่งทางราง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ทำให้เกิดการช่วยคิดเพื่อสร้างโอกาสใหม่ ๆ ที่สามารถต่อยอดจากการลงทุนด้านรางอีกเป็นจำนวนมาก

พร้อมกันนี้ สทร. ยังทำงานโดยการสร้างระบบความร่วมมือกับบริษัทต่างประเทศ สถาบันการศึกษาในประเทศ และเอกชนในประเทศ โดยในระยะเวลา 2 ปี ที่ผ่านมาได้รับความสนใจเข้ามาร่วมทั้งจากเยอรมัน ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และจีน เช่น

กรณี Alstom ที่แสดงความสนใจด้านการร่วมพัฒนาชิ้นส่วน มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรีรับเป็นแม่งานด้านการกำหนดมาตรฐาน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะช่วยดูเรื่องผลกระทบเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม และมหาวิทยาลัยขอนแก่นจะเป็นแห่งแรกที่เริ่มทำการศึกษาเศรษฐกิจจากระบบราง (Rail economy) สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน

นายโชติชัย ระบุด้วยว่า สทร. ยังร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ  หรือ กสทช. ดำเนินงานเรื่องคลื่นความถี่สำหรับระบบรางที่จะช่วยให้การบริการทั้งคมนาคมและสื่อสารมีมาตรฐานเทียบเท่ากับในยุโรป โดยบริษัทเอกชนไทยเริ่มสนใจพัฒนาให้รถไฟเข้าสู่ระบบไฟฟ้าและแบตเตอรี่ ซึ่งจะเป็นธุรกิจใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพสูงของไทย

เช่นเดียวกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ช่วยชักชวนผู้เชี่ยวชาญชาวไทยเข้ามาช่วยคิด ช่วยทดสอบ ก็เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเราซื้อระบบจากยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นและจีน ก่อนจะผลิตชิ้นส่วน หรืออะไหล่ ต้องมีมาตรฐานอ้างอิงขึ้นมาก่อน ซึ่งบริษัทต่างประเทศหลายแห่งก็ให้การสนับสนุนด้วย

‘การรถไฟฯ’ แจงดรามา!! ไม่ได้ออกก่อน 1 นาที ซ้ำ!! เช็กกล้องวงจรปิด พบผู้โดยสารขึ้นผิดฝั่ง

(11 ต.ค. 66) จากกรณีที่คุณแม่รายหนึ่งสอบถามในกลุ่ม ‘รถไฟไทย TrainThailand’ ว่าลูกสาวไปขึ้นรถไฟไม่ทัน แม้ว่าจะไปก่อนเวลา 1 นาที กล่าวคือตั๋วรถไฟระบุให้ขึ้นรถเวลา 15.24 น. ลูกสาวไปถึง 15.23 น. และรถไฟเคลื่อนตัวออกไปพอดี แม้จะวิ่งไปบอกคนโบกธงแต่ก็ไม่ทัน สุดท้ายตกรถไฟนั้น

ล่าสุด การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ตามที่สื่อสังคมออนไลน์มีการเผยแพร่ข่าว กรณีผู้โดยสารที่เป็นเยาวชนเดินทางมาขึ้นรถไฟที่สถานีศาลายาไม่ทัน เนื่องจากขบวนรถมีการออกก่อนเวลา 1 นาทีนั้น

นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย ชี้แจงว่า เมื่อเกิดเหตุดังกล่าว นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟฯ ให้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยทันที ซึ่งจากตรวจสอบข้อมูลจากกล้องวงจรปิดภายในสถานี รวมถึงสอบถามข้อมูลกับนายสถานีศาลายาที่ปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเวลาดังกล่าว ได้รับการยืนยันว่า ขบวนรถไฟได้เคลื่อนขบวนออกจากสถานีตามเวลาที่กำหนดในตั๋วโดยสาร 15.24 น. ไม่ได้มีการออกก่อนเวลาแต่อย่างใด

ทั้งนี้ รายละเอียดข้อมูลที่ปรากฏจากกล้องวงจรปิดและคำให้การของนายสถานีศาลายามีรายละเอียดว่า ขบวนรถดังกล่าวคือขบวนรถด่วนพิเศษที่ 31 กรุงเทพฯ-ชุมทางหาดใหญ่ โดยในวันที่ 7 ตุลาคม 2566 ขบวนรถได้มาถึงที่สถานีศาลายา เวลา 15.20 น. (ก่อนกำหนดเวลา 3 นาที) ซึ่งตามปกติขบวนรถจะหยุดเพื่อให้บริการแก่ผู้โดยสารประมาณ 1 นาที

แต่ปรากฏว่าในวันดังกล่าวขบวนรถได้หยุดที่สถานีศาลายาเป็นเวลา 4 นาที จนกระทั่งถึงเวลา 15.24 น. ซึ่งเป็นเวลาขบวนรถต้องออกตามที่ระบุในตั๋วโดยสาร นายสถานีศาลายาได้ออกมาปฏิบัติหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยของผู้โดยสาร เมื่อเห็นว่าปลอดภัยดีแล้ว และประตูขบวนรถไฟอัตโนมัติปิด จึงแจ้งให้พนักงานกั้นถนนนำเครื่องกั้นลง จากนั้นให้สัญญาณขบวนรถออกตามเวลาที่กำหนดไว้

อย่างไรก็ตาม หลังจากขบวนรถออกจากสถานีไปเรียบร้อยแล้ว ปรากฏว่าได้มีผู้โดยสารเยาวชน 2 คน เข้ามาแจ้งนายสถานีว่าไม่สามารถขึ้นขบวนรถได้ทัน ซึ่งจากการสอบถามและตรวจดูภาพจากกล้องวงจรปิดพบว่า ผู้โดยสารเยาวชนทั้ง 2 คนได้วิ่งเข้ามาคนละฝั่ง ซึ่งไม่ใช่จุดขึ้นลงขบวนรถ และขบวนรถได้ออกไปแล้ว จึงไม่สามารถแจ้งให้ขบวนรถหยุดได้ เพราะอาจกระทบต่อกฎข้อบังคับด้านความปลอดภัย

12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2511 พิธีปล่อยรถโดยสารรุ่นแรก ของ รฟท. ที่สร้างโดยกองโรงงานมักกะสัน

วันนี้ เมื่อ 55 ปีก่อน การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ทำพิธีปล่อยรถโดยสารรุ่นแรกที่สร้างโดยกองโรงงานมักกะสัน

วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2511 การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ทำพิธีปล่อยรถโดยสารรุ่นแรก ที่สร้างโดยกองโรงงานมักกะสัน ฝ่ายการช่างกล ตามโครงการพัฒนาเศรษฐกิจของการรถไฟฯ พ.ศ. 2510 - 2514 ออกจากโรงงานมักกะสัน จำนวน 14 คัน ได้แก่ รถโบกี้นั่งชั้นที่ 3 (บชส.) 10 คัน และรถโบกี้สัมภาระมีเครื่องห้ามล้อ (บพห. ข้างโถง) 4 คัน 

โดยมี พลเอกครวญ สุทธานินทร์ ประธานคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นประธานในพิธี โครงการ 5 ปีดังกล่าวข้างต้น ได้กำหนดสร้างรถโดยสาร 180 คัน และรถสินค้า 597 คัน ด้วยงบประมาณที่ตั้งไว้รวมทั้งสิ้น 223.55 ล้านบาท ในการสร้างรถโดยสารนี้ จำนวนหนึ่งเป็นการสร้างตัวรถขึ้นใหม่ทั้งคัน และอีกจำนวนหนึ่งเพื่อเป็นการประหยัดโดยใช้โครงประธาน และแคร่โบกี้เดิมของรถโบกี้โดยสารที่ตัดบัญชีแล้ว นำมาสร้างตัวรถบนโครงประธานเหล่านี้ เรียกว่าประเภทรถ Rebuilt

'รฟท.' จ่อลงนามไฮสปีด 'ไทย-จีน' สัญญาที่ 4-5  ยันเปิดใช้ไฮสปีดเส้นแรกของไทยตามแผนปี 71

(13 พ.ย. 66) นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) ระยะทาง 250.77 กิโลเมตร (กม.) ว่า ในส่วนของงานสัญญาที่ 4-5 งานโยธา ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กม. วงเงิน 10,325 ล้านบาท ขณะนี้ อยู่ระหว่างรอสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญาตามที่มีการแก้ไขปรับปรุงไปแล้ว โดยคาดว่าจะสามารถลงนามสัญญากับบริษัท บุญชัยพาณิชย์ (1979) จำกัด ในฐานะผู้รับจ้างได้ภายใน พ.ย. 2566 ก่อนที่จะออกหนังสือให้เอกชนเริ่มงาน (NTP) เพื่อดำเนินการก่อสร้างต่อไป

อย่างไรก็ตามขณะที่การก่อสร้างสถานีอยุธยานั้น ขณะนี้การจัดทำรายงานผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม(HIA) ของแหล่งมรดกโลก นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาได้ผ่านเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการเสนอรายงานไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ภายในประเทศประมาณ 9 หน่วยงาน และองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ ปัญหาการก่อสร้างสถานีอยุธยายังไม่ได้ข้อยุติ รฟท. จะยังไม่ดำเนินการก่อสร้างสถานีอยุธยา แต่เมื่อ รฟท. ลงนามสัญญากับผู้รับจ้างแล้ว ก็จะให้ดำเนินการก่อสร้างทางวิ่งไปก่อน

นายนิรุฒ กล่าวต่อว่า ในส่วนของสัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ซึ่งยังมีประเด็นปัญหาการทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตะเภา) นั้น ขณะนี้ อยู่ระหว่างการเจรจากับเอกชนผู้รับจ้าง จากนั้นจะเสนอไปยังคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) โดยคาดว่า จะได้ข้อสรุปภายในสิ้นปี 2566 ทั้งนี้ ล่าสุด มีแนวโน้มว่า จะให้ รฟท. เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างเอง เพื่อไม่ให้โครงการมีความล่าช้า ทั้งนี้ จากการหารือกับเอกชนในเบื้องต้น ถึงแนวทางดังกล่าว ทางภาคเอกชนไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด

ส่วนงบประมาณจะมากจากแหล่งใดนั้น จะต้องมาพิจารณาคำนวนอีกครั้ง อาทิ การใช้งบประมาณบางส่วนของโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน หรือจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน หรือหากจะต้องใช้เงินกู้และอาจจะต้องเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติเพิ่มกรอบวงเงินเพื่อให้ รฟท. นำมาดำเนินการและการปรับแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการต่อไป โดยคาดว่า จะเสนอ ครม. ได้ภายในปีนี้ อย่างไรก็ตาม สำหรับการเปิดให้บริการรถไฟไทย-จีน ระยะที่ 1 นั้น คาดว่า จะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2571 หรือเป็นไปตามแผนเดิมที่กำหนดไว้

รายงานข่าวแจ้งว่า วงเงินที่ใช้ในการก่อสร้างช่วงทับซ้อนของสัญญา 4-1 อยู่ที่ประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาทอย่างไรก็ตามปัจจุบันภาพรวมการก่อสร้างโครงการรถไฟไฮสปีดไทย-จีน 14 สัญญา วงเงิน 1.79 แสนล้านบาท มีความคืบหน้าประมาณ 27.39% ล่าช้ากว่าแผน 48.98% โดยก่อสร้างแล้วเสร็จ 2 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1-1 สถานีกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. และสัญญาที่ 2-1 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม. อยู่ระหว่างก่อสร้าง 10 สัญญาได้แก่ สัญญาที่ 3-2 งานอุโมงค์มวกเหล็ก และลำตะคอง ระยะทาง 12.2 กม. คืบหน้า 42.18%

สัญญาที่ 3-3 ช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง ระยะทาง 26.1 กม. คืบหน้า 35.60%, สัญญาที่ 3-4 ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และช่วงกุดจิก-โคกกรวด ระยะทาง 37.4 กม. คืบหน้า 67.32%, สัญญาที่ 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ระยะทาง12.3 กม. คืบหน้า5.30%,

สัญญาที่ 4-2 ช่วงดอนเมือง-นวนคร ระยะทาง 21.8 กม. คืบหน้า 0.24%, สัญญาที่ 4-3 ช่วงนวนคร-บ้านโพระยะทาง 23 กม. คืบหน้า 21.30%, สัญญาที่ 4-4 ศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย คืบหน้า 0.85% สัญญาที่ 4-6 ช่วงพระแก้ว-สระบุรี ระยะทาง 31.6 กม. คืบหน้า 0.38% และสัญญาที่ 4-7 ช่วงสระบุรี-แก่งคอย ระยะทาง 12.9 กม. คืบหน้า 47.22% นอกจากนี้อยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้าง 1 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30.2 กม.

เปิดตารางเดินรถไฟโดยสารสายใต้ช่วง ‘นครปฐม-ชุมพร’ พบส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ตรงเวลา เลทไม่เกิน 20 นาที

เปิดระบบติดตามขบวนรถไฟ วิ่งผ่านช่วง ‘นครปฐม-ชุมพร’ ส่วนใหญ่ตรงเวลา รถไฟโดยสาร เลทไม่เกิน 20 นาที!!

เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 66 เพจ ‘โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure’ ได้โพสต์อัปเดตความตรงเวลาของขบวนรถไฟ สายใต้ ผ่านระบบติดตามขบวนรถไฟ ระบุว่า…

แล้ววันนี้ก็มาถึง!! วันที่รถไฟทางคู่สายใต้ช่วง ‘นครปฐม-ชุมพร’ ก็ได้เริ่มทะยอยเปิดให้บริการ (วันนี้เปิดช่วงสถานีบ้านคูบัว- สะพลี)

ซึ่งอย่างที่หลายๆ คนทราบว่า เมื่อมีการเปิดให้บริการทางคู่แล้ว ก็มีการปรับเวลาการให้บริการใหม่ทั้งหมด โดยลดเวลาการรอหลีกตามสถานีต่างๆ ซึ่งทำให้เวลาการเดินทางลดลงสูงสุด 2 ชั่วโมง!!

พร้อมเปิดสถานีในทางคู่ โดยเฉพาะสถานีหัวหิน ที่เป็นสถานียกระดับผ่านกลางเมือง แก้ปัญหาจุดตัดจราจรไปด้วย

รายละเอียดตารางเดินรถไฟใหม่
https://www.facebook.com/100067967885448/posts/669466995328891/
—————————

แต่!! ที่เราต้องมาลุ้นมากกว่านั้นคือ พอเปลี่ยนเป็นเวลาใหม่ มันจะเลท 2 - 3 ชั่วโมง แบบในช่วงก่อสร้างหรือไม่?

ผมจึงได้ไปทำการตรวจเช็กจากในระบบ Train Tracking System (TTS) ของการรถไฟ

ลิงก์ระบบตรวจเช็กเวลารถไฟ คลิก >> https://ttsview.railway.co.th

ซึ่งผลเป็นที่น่าพอใจมาก ขบวนส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ตรงเวลา เลทไม่เกิน 20 นาที โดยเฉพาะรถไฟที่วิ่งอยู่ในช่วงทางคู่ใหม่ ดูเวลาแล้วแทบจะไม่เลทเลย!!

ทำได้แบบนี้ก็ต้องชื่นชมครับ ว่าใช้งานได้อย่างเต็มที่

แต่!! ระบบของเราในส่วนอาณัติสัญญาณ ETCS L1 Track Side ยังไม่เสร็จ เพราะจะสามารถเพิ่มความถี่ขบวนรถไฟได้กว่า 4 เท่าตัว รถสามารถวิ่งติดๆ กันไปได้เลย เท่าที่ทราบน่าจะเสร็จอีกประมาณเป็นปี

‘รฟท.’ สั่งด่วน!! ย้ายรูปปั้นครูกายแก้วออกนอกพื้นที่หน้าโรงแรมเดอะบาซาร์ฯ พร้อมเจอค่าปรับอ่วมกว่า 1.3 ล้านบาท เหตุผิดกฎหมายควบคุมอาคาร

(28 ธ.ค. 66) ที่โรงแรมเดอะบาซาร์ แบงค็อก ถนนรัชดาภิเษก เขตจตุจักร กรุงเทพฯ เจ้าหน้าที่โรงแรมได้ทำพิธีย้ายครูกายแก้วออกจากที่ตั้งเดิม โดยมีพระสงฆ์ 5 รูปทำพิธี และมีรถเครนจอดอยู่เพื่อเตรียมการย้ายในขั้นตอนต่อไป โดยจะย้ายรูปปั้นไปที่ด้านหลังโรงแรมก่อน เพื่อรอให้ผู้จัดสร้างมารับคืนออกนอกพื้นที่ โดย 10.30 ได้เริ่มทำการย้ายรูปปั้นครูกายแก้วและรูปปั้นจิ้งจอกเก้าหาง ออกจากพื้นที่ด้านหน้าโรงแรม

ก่อนหน้านี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เจ้าของที่ดินที่ตั้งโรงแรมเดอะบาซาร์ แบงค็อก สั่งให้ย้ายรูปปั้นครูกายแก้วออกจากพื้นที่ภายในวันที่ 30 ธ.ค. 2566 พร้อมกับให้บริษัท สวนลุมไนท์บาซาร์ รัชดาภิเษก จำกัด จ่ายค่าปรับกว่า 1.3 ล้านบาท เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวห้ามมีการก่อสร้างใดๆ ตามกฎหมายควบคุมอาคาร

ด้าน นายไพโรจน์ ทุ่งทอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สวนลุมไนท์บาซาร์ รัชดาภิเษก จำกัด เปิดเผยกับสำนักข่าวมติชนว่า ขณะนี้ได้กลับมาเป็นผู้บริหารของโครงการแล้ว กำลังเร่งเคลียร์ปัญหารูปปั้นครูกายแก้ว ด้วยการย้ายออกไปพร้อมกับรูปปั้นจิ้งจอกเก้าหาง และได้ชำระค่าปรับแล้ว โดยพื้นที่ดังกล่าวจะนำมาทำเป็นลานกิจกรรม เพื่อรองรับลูกค้าที่มาพักโรงแรม

ก่อนหน้านี้ได้ให้บริษัทครูกายแก้วมาย้ายแล้ว แต่บริษัทไม่ดำเนินการใดๆ จึงต้องย้ายไปเก็บไว้ในพื้นที่ไม่มีคนเห็นก่อน หากใครสนใจสามารถติดต่อขอรับได้

ยกระดับ ‘ขบวน 133/134’ สู่ขบวนระหว่างประเทศ ‘ไทย-ลาว’ เชื่อมการเดินทางเข้าถึงพื้นที่ท้องถิ่น หนุนเศรษฐกิจชายแดน

(18 ก.พ.67) เพจ ‘โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure’ ได้โพสต์รายงานแผนความคืบหน้าขยายการเดินทาง และการยกระดับขบวนรถไฟ 133/134 เพื่อเชื่อมต่อท้องถิ่น ‘ไทย-ลาว’ โดยระบุว่า…

ยกระดับขบวน 133/134 สู่ขบวนระหว่างประเทศ ไทย-ลาว พร้อมเพิ่มขบวนรถไฟท้องถิ่นระหว่างประเทศ ‘อุดรธานี-เวียงจันทน์’ สนับสนุนการค้าขายชายแดน

***เริ่มให้บริการ กลางเดือนพฤษภาคม 2567 นี้!!

วันนี้ขอมา Update แผนความคืบหน้าในการเชื่อมต่อ ‘ไทย-ลาว’

ซึ่งจะขยายการเดินรถไฟจากเดิมที่สิ้นสุดที่ท่านาแล้ง ไปที่สถานีเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ซึ่งเป็นสถานีหลักของทางรถไฟขนาด 1 เมตร ที่ไทยช่วยสนับสนุนในการก่อสร้าง จาก NEDA 
ใครยังไม่รู้จักสถานีเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ดูได้จากลิงก์นี้ 
>> https://www.facebook.com/100067967885448/posts/593470202928571/

แต่ที่ผ่านมาหลังจากก่อสร้างเสร็จตั้งแต่กลางปี 2566 ก็ยังติดปัญหาเปิดเดินรถไม่ได้ จากหลายส่วน ตั้งแต่…

- พนักงานขับรถไฟไทย ไม่ต้องการจะเดินรถไฟฝั่งลาว เนื่องจากเกรงปัญหาทางกฏหมาย หากเกิดอุบัติเหตุ
- เส้นทางรถไฟยังไม่ปลอดภัย จุดตัดต่างๆ ยังไม่มีอุปกรณ์กั้น และไม่มีเจ้าหน้าที่ดูแล้ว
- กฏระเบียบ ในการให้บริการรถไฟในฝั่งลาว

ทำให้ต้องมีการจัดการแก้ปัญหาต่างๆ ก่อนจะเริ่มบริการให้เดินรถ ได้แก่…

- ช่วยฝึกอบรม และซ้อมขับรถไฟไทย ให้กับพนักงานขับรถไฟลาว ในช่วงท่านาแล้ง-เวียงจันทน์
- ลงนามในข้อตกลงด้านเทคนิค และการซ่อมบำรุงระหว่างไทย-ลาว
- ตรวจสอบทางรถไฟในช่วง ท่านาแล้ง-เวียงจันทน์ ก่อนเปิดให้บริการ

ซึ่งทั้งหมดจะเสร็จภายในต้นเดือน พฤษภาคม 2567 และจะเปิดให้บริการ ภายในกลางเดือน พฤษภาคม 2567

ซึ่งจะมีการจัดการเดินรถใหม่ เพื่อเชื่อมโยง กรุงเทพฯ-เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) โดยมีการปรับการเดินรถใหม่ ได้แก่…

- ขบวนรถเร็วระหว่างประเทศ 133/134 กรุงเทพฯ-หนองคาย-เวียงจันทน์ (คำสะหวาด)
- ขบวนรถท้องถิ่นระหว่างประเทศ 481/482 อุดรธานี-หนองคาย-เวียงจันทน์ (คำสะหวาด)

โดยช่วง หนองคาย-ท่านาแล้ง จะมีการปรับริ้วขบวนแบ่งเป็นตู้โดยสารและตู้สินค้า ดังนี้…

ตู้โดยสาร แบ่งเป็น
- ตู้ชั้น 2 ปรับอากาศ 2 ตู้
- ตู้ชั้น 3 พัดลม 2 ตู้

ตู้สินค้า 20 คัน

โดยตู้สินค้าจะถูกตัดที่สถานีท่านาแล้ง เพื่อเปลี่ยนถ่ายในย่านสินค้าท่านาแล้ง ส่วนตู้โดยสารมุ่งหน้าต่อไปสถานีเวียงจันทน์ (คำสะหวาด)

ซึ่งถ้าเปิดให้บริการในช่วง อุดรธานี-เวียงจันทน์ จะช่วยสนับสนุนการเดินทาง และจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่อุดรธานีของพี่ๆ น้องๆ จากฝั่งลาว มาจับจ่ายใช้สอยฝั่งไทยได้มากเลย

รฟท. เคาะ!! สร้างรถไฟความเร็วสูง เฟส 2 'นครราชสีมา-หนองคาย' ระยะทาง 357 กม. คาดเริ่มก่อสร้างปี 68 เปิดบริการปี 74

(23 เม.ย.67) นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า รฟท.จะเสนอโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย) ระยะทาง 357.12 กม. รวมมูลค่าลงทุน 341,351.42 ล้านบาท หลังคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. ได้มีมติอนุมัติเมื่อสัปดาห์ก่อน ให้กระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติภายในปี 2567 คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างงานโยธา 48 เดือน (หรือ 4 ปี) ก่อสร้างงานระบบรถไฟฟ้า 66 เดือน (หรือ 5 ปีครึ่ง) กำหนดเปิดให้บริการปี 2574

ปัจจุบัน โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟส 2 ช่วง นครราชสีมา-หนองคาย มีการออกแบบงานโยธาเสร็จเรียบร้อย โดยรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เตรียมเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) อนุมัติ

สำหรับ โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟส 2 ช่วง นครราชสีมา-หนองคาย แบ่งงานเป็น 2 ส่วน คือ

1.งานรถไฟความเร็วสูง วงเงินลงทุน 335,665.21 ล้านบาท ได้แก่ ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและชดเชยทรัพย์สิน วงเงิน 10,310.10 ล้านบาท, ค่าก่อสร้างงานโยธา วงเงิน235,129.40 ล้านบาท, ค่าลงทุนระบบราง วงเงิน 30,663.75 ล้านบาท, ค่าระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล วงเงิน 29,007.08 ล้านบาท, ค่าจัดหาขบวนรถไฟ วงเงิน 17,874.35 ล้านบาท ค่าจัดหาขบวนรถซ่อมบำรุงทาง วงเงิน 2,620.43 ล้านบาท, ค่าที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างงานโยธา วงเงิน 6,466.06 ล้านบาท, ค่าที่ปรึกษาบริหารโครงการและที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างงานระบบรถไฟ วงเงิน 2,792.38 ล้านบาท และค่าที่ปรึกษาวิศวกรอิสระ วงเงิน 801.66 ล้านบาท

2.งานศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้านาทา วงเงินลงทุน 5,686.21 ล้านบาท ได้แก่ ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและชดเชยทรัพย์สิน วงเงิน 2,108.51 ล้านบาท ,ค่าก่อสร้างงานโยธา วงเงิน 2,325.46 ล้านบาท ,ค่าลงทุนระบบราง วงเงิน 418.76 ล้านบาทค่าระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล วงเงิน 89.44 ล้านบาท, ค่าเครื่องมือ/อุปกรณ์ยกขนในศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าฯ 429.24 ล้านบาท, ค่าจัดหารถจักรในศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าฯ 210.00 ล้านบาท, ค่าที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างงานโยธา วงเงิน 63.95 ล้านบาท, ค่าที่ปรึกษาบริหารโครงการและที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างงานระบบรถไฟ วงเงิน 29.38 ล้านบาท และค่าที่ปรึกษาวิศวกรอิสระ วงเงิน 11.47 ล้านบาท

โครงการรถไฟไทย-จีน เฟส 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย แบ่งเป็นทางวิ่งยกระดับ (Elevated Structure) ระยะทาง 202.48 กม. ทางวิ่งระดับดิน 154.64 กม. (แบบคันทาง 138.93 กม. เป็นสะพานรถไฟ 15.71 กม.) มี 5 สถานี ได้แก่ สถานีบัวใหญ่,สถานีบ้านไผ่, สถานีขอนแก่น, สถานีอุดรธานี, สถานีหนองคายมีหน่วยซ่อมบำรุงทาง 4 แห่ง ได้แก่ หน่วยซ่อมบำรุงบ้านมะค่า , หน่วยซ่อมบำรุงหนองเม็ก, หน่วยซ่อมบำรุงโนนสะอาด , หน่วยซ่อมบำรุงนาทา มีศูนย์ซ่อมบำรุง 2 แห่ง คือ ศูนย์ซ่อมบำรุงนาทา และศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย และมีย่านกองเก็บตู้สินค้าและย่านเปลี่ยนถ่ายสินค้า 1 แห่ง ที่นาทา

นายนิรุฒ กล่าวว่า เบื้องต้นการก่อสร้างงานโยธาทั้งโครงการมูลค่าการลงทุน 341,351.42 ล้านบาท จะแบ่งงานออกเป็น 13 สัญญา โดยในส่วนของการก่อสร้างแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 357.12 กม. วงเงิน 235,129.40 ล้านบาท แบ่งงานโยธาเป็น 11 สัญญา เฉลี่ยมูลค่าสัญญาละประมาณ 20,000 ล้านบาท ทั้งนี้เพื่อให้ได้ผู้รับจ้างก่อสร้างที่มีคุณภาพ และการเข้าร่วมประมูลไม่มากราย หรือไม่น้อยรายจนเกินไป นอกจากนี้ ยังมีงาน ศูนย์ซ่อมบำรุงนาทา 1 สัญญา และศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย 1 สัญญา โดยจะใช้วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e - bidding) ตามระเบียบกรมบัญชีกลาง

นอกจากนี้ บอร์ดรฟท.ยังเห็นชอบผลการศึกษาโครงการศึกษาและวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าและย่านกองเก็บตู้สินค้าเพื่อรองรับการขนส่งทางราง จังหวัดหนองคาย (ศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าฯนาทา) ตามมาตรา 22 แห่งพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ซึ่งเห็นว่าควรแยกการลงทุนออกมาดำเนินการในรูปแบบ PPP โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อโครงการที่ช่วยขยายขีดความสามารถทางการขนส่งของจังหวัดหนองคาย ให้สามารถเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าทางรถไฟระหว่างประเทศไทย-ลาว-จีน

โดยหลังจาก บอร์ดรฟท. ให้ความเห็นชอบ จะนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ก่อนเสนอคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (บอร์ด PPP) เห็นชอบหลักการและเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาอนุมัติเพื่อดำเนินการคัดลือกเอกชนร่วมลงทุน ซึ่งคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2571

สำหรับโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้านาทา และย่านกองเก็บตู้สินค้า เพื่อรองรับการขนส่งทางราง จ.หนองคาย ขนาดเนื้อที่ ใช้รูปแบบ PPP Net Cost มูลค่าการร่วมลงทุน 7,211.94 ล้านบาท (การรถไฟฯลงทุน 6,560.03 ล้านบาท หรือ 90.96% เอกชนลงทุน 651.91 ล้านบาท หรือ 9.04%) ระยะเวลาร่วมลงทุน 20 ปี ประเมินค่าสัมปทานที่การรถไฟฯ ได้รับตลอดอายุโครงการ ที่4,457.07 ล้านบาท โดย การรถไฟฯ มีผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) 5.87% เอกชน 15.09% มีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) รฟท. ที่ 941 ล้านบาท เอกชน 32 ล้านบาท


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top