'รากษสเทวี' นางสงกรานต์ 64 ผู้นำพา ‘มหันตภัย’ มาสู่กลางเมือง
นางสงกรานต์ปี 64 ทรงนาม ‘รากษสเทวี’
แม้ประเพณีสงกรานต์จะอยู่คู่กับประเทศไทยมาช้านาน แต่ช่วง 2 ปี มานี้ หลายกิจกรรมเด่น ๆ ก็ถูกระงับ โดยเฉพาะการเล่นสาดน้ำที่เป็นกิจกรรมหลัก เหตุเพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ยังคุกรุ่น
ถึงกระนั้นกิจกรรมเข้าวัดทำบุญ สรงน้ำพระ สืบสานประเพณีอันดีงาม ก็ยังสามารถดำเนินได้ แบบมีระยะห่างทางสังคม (Social Distancing)
นอกเหนือจากกิจกรรมของประเพณีดังกล่าว ช่วงเทศกาลสงกรานต์จะมีการพูดถึงอีกเรื่องสำคัญ นั่นก็คือ ความเชื่อเกี่ยวกับนางสงกรานต์ทั้ง 7 ซึ่งหลายคนอาจจะคงเคยได้ยินเรื่องราวกันมาบ้าง
สำหรับนางสงกรานต์ทั้ง 7 เป็นเรื่องเล่าขานตำนานเกี่ยวกับ ‘ธิดา’ ของ ‘ท้าวกบิลพรหม’ หรือ ‘ท้าวมหาสงกรานต์’ ซึ่งเป็นนางฟ้าสถิตย์อยู่บนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา หรือสวรรค์ชั้นที่ 1 จากทั้งหมด 6 ชั้น
โดยธิดาทั้ง 7 จะมีหน้าที่ในการรับ ‘เศียร’ ของท้าวกบิลพรหม ไม่ให้ตกลงบนพื้นโลก หรือพื้นน้ำ หรือบนอากาศ หลังจากที่ ‘ท้าวกบิลพรหม’ รู้ตัวว่าจะต้องตาย โดยการตัดเศียรของตนเพื่อบูชาธรรมบาลกุมาร และท่านก็ได้ตรัสเรียกธิดาทั้ง 7 องค์ อันเป็นบาทบาจาริกาพระอินทร์มาประชุมพร้อมกัน แล้วบอกว่า “พ่อจะตัดเศียรตัวเองเพื่อบูชาธรรมบาลกุมาร แต่เศียรของพ่อนี้หากตั้งไว้บนแผ่นดิน ไฟก็จะไหม้โลก หากโยนขึ้นไปบนอากาศ ฝนก็จะแล้ง หากนำไปทิ้งในมหาสมุทร น้ำก็จะแห้ง”
ดังนั้นในทุก ๆ 1 ปี ธิดาของท้าวกบิลพรหมทั้ง 7 จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาทำหน้าที่อัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมแห่ไปรอบเขาพระสุเมรุ แล้วประดิษฐานตามเดิมตามวันมหาสงกรานต์มิได้ขาด
และนั่นก็ทำให้มีการกำหนดเกณฑ์ว่า ‘วันสงกรานต์’ คือวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี และหากตรงกับวันใด ก็ให้นางสงกรานต์ประจำวันนั้น เป็นผู้แห่ ซึ่งนางสงกรานต์นั้นมีทั้งหมด 7 องค์ เรียกตามชื่อวันในสัปดาห์ ได้แก่...
- วันอาทิตย์ นางสงกรานต์นาม ‘ทุงษะเทวี’ ทรงพาหุรัดทัดดอกทับทิม อาภรณ์แก้วปัทมราช ภักษาหารอุทุมพร (ผลมะเดื่อ) พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงสังข์ เสด็จมาบนหลังครุฑ แต่ทางล้านนาจะมีความเชื่อว่าวันอาทิตย์ ชื่อ นางแพงศรี
- วันจันทร์ นางสงกรานต์นาม ‘โคราคะเทวี’ ทรงพาหุรัดทัดดอกปีบ อาภรณ์แก้วมุกดา ภักษาหารเตลัง (น้ำมัน) พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังพยัคฆ์ (เสือ) แต่ทางล้านนาจะมีความเชื่อว่าวันจันทร์ ชื่อ นางมโนรา
- วันอังคาร นางสงกรานต์นาม ‘รากษสเทวี’ ทรงพาหุรัดทัดดอกบัวหลวง อาภรณ์แก้วโมรา ภักษาหารโลหิต พระหัตถ์ขวาทรงตรีศูล พระหัตถ์ซ้ายทรงธนู เสด็จมาบนหลังวราหะ (หมู) แต่ทางล้านนาจะมีความเชื่อว่าวันอังคาร ชื่อ นางรากษสเทวี
- วันพุธ นางสงกรานต์นาม ‘มณฑาเทวี’ ทรงพาหุรัดทัดดอกจำปา อาภรณ์แก้วไพฑูรย์ ภักษาหารนมเนย พระหัตถ์ขวาทรงเข็ม พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังคัทรภะ (ลา) แต่ทางล้านนาจะมีความเชื่อว่าวันพุธ ชื่อ นางมันทะ
- วันพฤหัสบดี นางสงกรานต์นาม ‘กิริณีเทวี’ ทรงพาหุรัดทัดดอกมณฑา อาภรณ์แก้วมรกต ภักษาหารถั่วงา พระหัตถ์ขวาทรงขอช้าง พระหัตถ์ซ้ายทรงปืน เสด็จมาบนหลังคชสาร (ช้าง) แต่ทางล้านนาจะมีความเชื่อว่าวันพฤหัส ชื่อ นางัญญาเทพ
- วันศุกร์ นางสงกรานต์นาม ‘กิมิทาเทวี’ ทรงพาหุรัดทัดดอกจงกลนี อาภรณ์แก้วบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงพิณ เสด็จมาบนหลังมหิงสา (ควาย) แต่ทางล้านนาจะมีความเชื่อว่าวันศุกร์ ชื่อ นางริญโท
- วันเสาร์ นางสงกรานต์นาม ‘มโหธรเทวี’ ทรงพาหุรัดทัดดอกสามหาว อาภรณ์แก้วนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทรายพระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล เสด็จมาบนหลังมยุรา (นกยูง) แต่ทางล้านนาจะมีความเชื่อว่าวันเสาร์ ชื่อ นางสามาเทวี
วันมหาสงกรานต์ ในปี 2564 ตรงกับวันอังคาร ดังนั้นจึงตรงกับนางสงกรานต์ที่มีชื่อว่า “รากษสเทวี” ตามตำนานเล่าว่านางเป็นธิดาองค์ที่ 3 ของท้าวกบิลพรหม โดยมีลักษณะต่าง ๆ ตามคติความเชื่อคือ ทรงพาหุรัดทัดดอกบัวหลวง อาภรณ์แก้วโมรา ภักษาหารโลหิต พระหัตถ์ขวาทรงตรีศูล พระหัตถ์ซ้ายทรงธนู เสด็จไสยาสน์หลับเนตรมาเหนือหลังวราหะ (หมู) เป็นพาหนะ
สำหรับ ‘คำนาย’ เกี่ยวกับนางสงกรานต์ ทั้งภักษาหาร และดวงเมือง ประจำวันวันที่ 16 เมษายน 2564 ตั้งแต่ช่วงเวลา 07 นาฬิกา 37 นาที 12 วินาที ซึ่งนับเป็นจุลศักราชใหม่ที่ 1383 จะมีวันอาทิตย์เป็นธงชัย วันจันทร์เป็นอธิบดี วันเสาร์เป็นอุบาทว์ วันพุธเป็นโลกาวินาศ
ขณะที่ ‘รากษสเทวี’ เป็นนางสงกรานต์ประจำวันอังคาร มีคำนำนายของปีนี้ว่า จะเกิดอันตรายกลางเมือง จะเกิดเพลิงภัยและโจรผู้ร้าย ผู้คนจะเจ็บไข้นักแลฯ ภายใต้เกณฑ์ต่าง ๆ ดังนี้...
- เกณฑ์พิรุณศาสตร์ ปีนี้ เสาร์ เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก 400 ห่า: ตกในเขาจักรวาล 160 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 120 ห่า ตกในมหาสมุทร 80 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 40 ห่า
- เกณฑ์ธาราธิคุณ ปีนี้ตกราศีกรกฏ ชื่ออาโป (ธาตุน้ำ): ทำนายว่า น้ำมาก น้ำท่วม
- เกณฑ์นาคราชให้น้ำ ปีนี้นาคราชให้น้ำ 6 ตัว: ทำนายว่า ฝนดีตลอดปี
- เกณฑ์ธัญญาหาร ชื่อปาปะ: ข้าวกล้าในไร่นา จะได้ 1 ส่วน เสีย 10 ส่วน คนทั้งหลายจะตกทุกข์ได้ยากลำบากแค้น เพราะกันดารอาหารบ้าง จะฉิบหายเป็นอันมากแลฯ
นี่ก็ถือเป็นอีกเรื่องเล่าตำนานสำคัญของคนไทยต่อวันสงกรานต์ ที่คนรุ่นใหม่อาจจะมิได้คุ้นนัก แต่เชื่อเถิดว่าผู้คนในอดีตต่างยังคงความเชื่อ เพื่อนำคำพยากรณ์ที่เคียงคู่มากับนางสงกรานต์ในปีนั้นๆ มาปรับคิดรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ พอสมควร
ที่มา:
http://www.horonumber.com/news-3714
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%A3%
http://www.prapayneethai.com/%E0%B8%97%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7%