มอเตอร์เวย์หมายเลข 6 ทางหลวงพิเศษเชื่อมใจ เชื่อมเมืองไทยให้ยั่งยืน

ทำไม ? ถึงต้องจั่วหัวมาขนาดนั้น หากเราย้อนมองอดีตก่อนจะมาถึงการสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน - สระบุรี - นครราชสีมานั้น ต้องเริ่มด้วยต้นสายคือ ทางหลวงหมายเลข 2 ถนนมิตรภาพ ความยาว 509 กิโลเมตร ถนนหลักที่ใช้สัญจรเชื่อมภาคกลางกับอีสาน เริ่มสร้างในปี พ.ศ. 2498 สมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี จากสระบุรีจนถึงนครราชสีมา ระยะทางประมาณ 148 กิโลเมตร เป็นทางหลวงสายแรกของประเทศไทยที่มีผิวจราจรลาดยางแบบแอสฟัลต์ - คอนกรีตก่อนจะสร้างต่อสายเส้นทางไปจนสุดถึงหนองคายในสมัยรัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร อันเป็นการส่งต่อทุกความเจริญไปสู่ภาคอีสานทั้งตอนบนและตอนล่าง เปิดทางให้เกิดความเจริญทางเศรษฐกิจ เชื่อมชุมชน เชื่อมไร่นา เชื่อมตลาด

จากเพียงถนน 2 ช่องจราจรก็มากลายเป็นถนน 4 ช่องจราจรในรัฐบาล พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ และพัฒนาจนบางช่วงใหญ่ขนาด 10 ช่องจราจร แต่วันนี้มิตรภาพ ก็เริ่มจะไม่เพียงพอต่อการสัญจรเสียแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลสำคัญอย่างปีใหม่หรือวันหยุดยาวในช่วงสงกรานต์ที่เราคนไทยจะได้สัมผัสมิตรภาพอันยาวนานไม่ต่ำกว่า 10 ชั่วโมงทุกครั้งทั้งขาไปและขากลับ จึงเกิดเป็นคำถามว่าทำอย่างไรถึงจะแบ่งเบาและแก้ไขให้แบ่งปันมิตรภาพให้ออกไปได้มากกว่านี้ ? ปลายเหตุของเรื่องนี้ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 คือคำตอบ

ทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 หรือ มอเตอร์เวย์สายอีสาน เป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองขนาด 4 - 6 ช่องจราจร เชื่อมต่อจากกรุงเทพมหานครไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เริ่มต้นจากอำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไปสิ้นสุดที่จังหวัดหนองคาย โดยเริ่มก่อสร้างช่วงบางปะอิน - นครราชสีมาระยะทาง 196 กิโลเมตรเป็นช่วงแรก คาดว่าช่วงนี้จะแล้วเสร็จและเปิดใช้งานได้ในปี 2566 โดยในกรอบการสร้างนั้นยังรวมไปถึงการศึกษาเพื่อต่อยอดเส้นทางออกไปอีก 2 ระยะคือจาก นครราชสีมา - ขอนแก่นระยะทาง 196 กิโลเมตร และจากขอนแก่น - หนองคายระยะทาง 160 กิโลเมตร อันจะเป็นเส้นทางคู่ขนานเพื่อแบ่งเบาการจราจรบนถนนมิตรภาพให้คล่องตัวขึ้น

ทางหลวงหมายเลข 6 นี้แรกเริ่มนั้นได้รับความเห็นชอบและอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีมาตั้งแต่ปี 2540 โดยเป็นการก่อสร้างเส้นทาง 3 สายต่อเนื่องกัน แต่หลังจากปี 2540 เจอกวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งก็เลยไม่มีอะไรเดินหน้าแม้จะผ่านวิฤตแล้วก็ยังไม่ได้ดำเนินการใด ๆ จนมาถึงยุคของพลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา ในปี 2558 ครม.ได้อนุมัติโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหรือมอเตอร์เวย์ 3 สายใหม่ เพื่อแก้ปัญหาจราจรติดขัดโดยเฉพาะช่วงเทศกาลหยุดยาว ประกอบด้วย 1. สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา ระยะทางประมาณ 196 กม. 2. สายบางใหญ่บ้านโป่ง-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กม. และ 3. สายพัทยา - มาบตาพุด ระยะทาง 32 กม.จำเพาะลงมาที่เส้น บางปะอิน - สระบุรี - นครราชสีมา ปกติหากต้องใช้เส้นทางสายมิตรภาพ ระหว่างเวลาเสาร์ - อาทิตย์ และเทศกาลวันหยุดยาวอย่างสงกรานต์ ปริมาณรถบนถนนจะมีมากกว่า 13 ล้านคัน ทำให้มิตรภาพในช่วงเวลาดังกล่าว เวลาเหมือนหยุดนิ่ง ยาวนาน ต้องมานั่งนับเวลาว่าเราจะขับรถถึงบ้านโดยใช้เวลากี่ชั่วโมง ตัวอย่างที่เห็นชัดก็คือบริเวณตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย ซึ่งเป็นทางขึ้นเขา และมีจุดพักรถตลอดเส้นทาง เกิดสภาพคอขวด การจราจรแออัด รถติดยาวต่อเนื่องกว่า 30 กิโลเมตร ใช้เวลาแค่ช่วงนี้ก็กินเวลาไป 4 - 5 ชั่วโมงแล้ว เมื่อเป็นอย่างนี้ มอเตอร์เวย์หมายเลข 6 คือตัวแปรสำคัญที่จะทำให้ฝันของคนอยากกลับบ้านเป็นจริง

สงกรานต์ปี 2564 นี้เองที่รัฐบาลจะเปิดเส้นทางมอเตอร์เวย์หมายเลข 6 ให้เราได้สัมผัสเส้นทาง ขาไปตั้งแต่วันที่ 9 - 13 เมษายน และขากลับ 14 - 19 เมษายน จากช่วงหลักกิโลเมตรที่ 65 บ้านหนองไผ่ล้อม ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ไปจนถึงจุดลงถนนมอเตอร์เวย์ที่บริเวณด่านเก็บเงินค่าผ่านทาง อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา แม้จะเปิดให้วิ่งเป็นระยะทางสั้น ๆ แค่ 35 กิโลเมตร อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้ประชาชนได้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นของคุณภาพชีวิตการเดินทาง แม้ว่าในปีนี้จะช่วยให้ประหยัดเวลาและลดความแออัดที่เกิดขึ้นไปได้เล็กน้อย แต่ก็ทำให้เราได้เห็นภาพของอนาคตมากขึ้น อนาคตที่เส้นทางนี้จะเป็นหนทางหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศไทยในยุค 5G ของชาวอีสานและภูมิภาคใกล้เคียง ทั้งยังเห็นโอกาสของการสร้างสำนึกรักบ้านเกิด การกลับสู่ชุมชนของคนอีสาน จากความเจริญทางเศรษฐกิจเมื่อพ้นวิกฤต จะเชื่อมโยงทุกรอยยิ้มให้มีมากกว่ามิตรภาพในวันวาน


ขอบคุณภาพจาก : โครงการ มอเตอร์เวย์