Wednesday, 15 January 2025
USA

ลือสะพัดไบเดนทิ้งทวน จ่อมอบนิวเคลียร์ให้ยูเครน

(27 พ.ย.67) นายดมิทรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน แถลงตอบโต้รายงานของ นิวยอร์กไทมส์ ที่อ้างคำพูดเจ้าหน้าที่ระดับสูงในทำเนียบขาวว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน อาจพิจารณาส่งมอบอาวุธนิวเคลียร์ให้ยูเครนก่อนหมดวาระดำรงตำแหน่ง  

เปสคอฟระบุว่า หากรายงานดังกล่าวเป็นจริง ถือเป็นการกระทำที่ขาดความรับผิดชอบอย่างยิ่ง พร้อมกล่าวว่า “นี่คือการถกเถียงที่ขาดความเข้าใจในความเป็นจริงโดยสิ้นเชิง และแสดงให้เห็นถึงการขาดความรับผิดชอบจากผู้ที่ไม่เปิดเผยตัวตน”  

ขณะเดียวกัน ดมิทรี เมดเวเดฟ เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงระดับสูงของรัสเซีย เตือนว่า หากชาติตะวันตกจัดหาอาวุธนิวเคลียร์ให้ยูเครน รัสเซียจะถือว่าเป็นการโจมตีโดยตรงต่อมอสโก และอาจเป็นเหตุให้รัสเซียตอบโต้ด้วยอาวุธนิวเคลียร์  

ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน กล่าวเมื่อเดือนที่ผ่านมา ว่าการส่งอาวุธนิวเคลียร์ให้ยูเครนและการรับยูเครนเข้าเป็นสมาชิกนาโต คือวิธีเดียวที่จะป้องปรามรัสเซียได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

เปิดไอเดีย 'ทรัมป์' ปฏิรูป NATO จ่ายน้อย คุ้มครองน้อย หากชาติพันธมิตรบริจาคเงินไม่ถึง 2% ของ GDP

(28 พ.ย.67) นับตั้งแต่ที่โดนัลด์ ทรัมป์ กำลังจะกลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอีกสมัย ส่งผลให้บรรดาชาติในยุโรปโดยเฉพาะกลุ่มสมาชิกนาโต้ เกิดความกังวลในประเด็นต่าง ๆ ตั้งแต่การบริจาคด้านงบประมาณกลาโหมของแต่ละชาติให้กับนาโต้ ไปจนถึงเรื่องสถานการณ์ในยูเครน 

ตลอดช่วงการหาเสียงทรัมป์ทรัมป์วิพากษ์วิจารณ์พันธมิตรอย่างต่อเนื่องและบ่นว่าสหรัฐฯ จ่ายเงินงบประมาณมากเกินไปในขณะที่สมาชิกสหภาพยุโรปใช้จ่ายด้านกลาโหมน้อยเกินไป ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง เขากล่าวว่าสหรัฐฯ จะปกป้องสมาชิกนาโตจากการโจมตีของรัสเซียในอนาคตก็ต่อเมื่อสมาชิกปฏิบัติตามพันธกรณีการใช้จ่ายด้านกลาโหม

ด้านมาร์ก รุตเตอ เลขาธิการ NATO ได้กล่าวแสดงความเห็นด้วยกับแนวคิดของทรัมป์โดยเฉพาะประเด็นการใช้จ่ายงบประมาณด้านกลาโหมให้มากกว่า 2%

ล่าสุดทรัมป์ได้ตั้งพลเอก คีธ เคลล็อกก์ นายพลเกษียณอายุราชการและอดีตหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่สภาความมั่นคงแห่งชาติของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ช่วยประธานาธิบดีและทูตพิเศษประจำยูเครนและรัสเซีย ในรัฐบาลทรัมป์ 2.0 ที่จะเริ่มขึ้นในปีหน้า ซึ่งตำแหน่งดังกล่าวจะมีบทบาทโดยตรงกับองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ในฐานะฝ่ายที่สนับสนุนยูเครน

ก่อนหน้านี้ช่วงเดือนก.พ.ที่ผ่านมา พลเอกเคลล็อกก์ เคยให้สัมภาษณ์ว่า หากสมาชิกในกลุ่มพันธมิตร 31 ประเทศไม่สามารถบริจาคเงินให้ได้อย่างน้อย 2% ของจีดีพี ประเทศนั้นไม่ควรมีสิทธิ์ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 5 ของนาโต้

มาตรา 5 ของนาโต้ มีข้อกำหนดว่า หากประเทศใดก็ตามในกลุ่มชาติสมาชิกถูกโจมตี จะเท่ากับเป็นการโจมตีชาตินาโต้ทั้งหมด สมาชิกทั้งหมดของนาโต้ต้องตอบโต้ร่วมกัน

"หากคุณต้องการเป็นส่วนหนึ่งของพันธมิตร คุณต้องมีส่วนสนับสนุนพันธมิตร" เคลล็อกก์ กล่าว

เคลล็อกก์ ยังกล่าวอีกว่าหากทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง เขาจะเสนอให้จัดประชุมสมาชิกนาโต้นัดพิเศษในเดือนมิถุนายน 2025 เพื่อหารือเกี่ยวกับอนาคตของนาโต้ โดยทรัมป์จะเสนอให้รูปแบบสมาชิกของชาตินาโต้เป็นแบบแพ็กเกจ (tiered alliance) โดยสมาชิกบางรายจะได้รับการคุ้มครองมากขึ้นตามความสอดคล้องของมาตรา 5 และตามงบประมาณสนับสนุนด้านกลาโหมที่ไม่น้อยกว่า 2% ของจีดีพีแต่ละชาติ

โดรนอิหร่าน บอลลูนจีน มิสไซล์รัสเซีย ย้อนคำอ้างที่ไร้มูลความจริงของสหรัฐฯ

(16 ธ.ค. 67) เมื่อไม่กี่วันก่อนสภาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรครีพับลิกัน เจฟเฟอร์สัน แวน ดรูว์ ได้กล่าวในตอนหนึ่งของรายการทางช่อง Fox News ว่าพบโดรนต้องสงสัยบินเหนือน่านฟ้ารัฐนิวเจอร์ซีย์ ซึ่งคาดว่าโดรนดังกล่าวถูกส่งมาจากเรือแม่ของอิหร่านที่ลักลอบสอดแนมนอกชายฝั่งสหรัฐ โดยนายแวน ดรูว์ ได้อ้างแหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยชื่อถึงกิจกรรมสอดแนมดังกล่าว 

อย่างไรก็ตาม เลขาธิการกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสหรัฐฯ อเลฮานโดร มายอร์คัส เปิดเผยในเวลาต่อมาว่า ไม่พบหลักฐานที่พิสูจน์ได้ว่ามีกิจกรรมโดรนสอดแนมจากต่างชาติบนแผ่นดินสหรัฐฯ ซึ่งเรื่องดังกล่าวไม่ใช่ครั้งแรกที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐออกมาให้ข่าวสร้างความหวาดกลัวที่ไร้มูลควาจริงต่อสาธารณะ

จากการตรวจสอบของสำนักข่าวสปุตนิกพบว่า เมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่าน ก็มีรายงานจากคำอ้างของวุฒิสมาชิกริค สก็อตต์ ที่ส่งถึงรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ โดยว่า กระเทียมที่นำเข้าจากจีนอาจปลูกในสภาพที่ไม่สะอาดและเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคในสหรัฐ อาจเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ จึงสมควรมีการสอบสวน แต่อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์สหรัฐไม่ได้มีการสั่งระงับการนำเข้ากระเทียมจากจีนแต่อย่างใด

ก่อนหน้านั้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2023 มีประเด็นเรื่อง บอลลูนอากาศจากจีนหลุดเข้ามาในอากาศเขตสหรัฐฯ โดยขณะนั้นรัฐบาลไบเดนออกมากล่าวโทษว่า บอลลูนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสอดแนมรัฐบาลปักกิ่ง แต่ในภายหลังจากนั้น กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ก็ยอมรับว่า บอลลูนดังกล่าวไม่ได้ทำการเก็บข้อมูลข่าวกรองใดๆ ขณะบินอยู่ในเขตอเมริกา  และก็ยังไม่ทราบถึงที่มาว่าบอลลูนดังกล่าวถูกส่งมาจากที่ใด

อีกหนึ่งภัยคุกคามที่สปุตนิกพบว่ารัฐบาลสหรัฐมักกล่าวอ้างคือ นิวเคลียร์จากอวกา โดยในดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สื่อของสหรัฐฯ ได้ออกมาส่งสัญญาณเตือนเกี่ยวกับแผนการที่อ้างว่า รัสเซียมีแผนที่จะนำอาวุธต่อต้านดาวเทียมที่มีพลังนิวเคลียร์ไปใช้ในอวกาศ โดยอ้างหลักฐานเดียวคือคำกล่าวของเจ้าหน้าที่ในรัฐบาลไบเดน อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหน่วยงานด้านอวกาศแห่งอื่นใดออกมาให้ข้อมูลดังกล่าว ขณะที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซียได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวในระหว่างการกล่าวปราศรัยในรัฐสภา โดยระบุว่าเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่มีมูลความจริง 

สหรัฐฯส่งเรือรบ 'ยูเอสเอส ซาวันนาห์' เทียบท่าสีหนุวิลล์ ส่งสัญญาณฟื้นสัมพันธ์เขมร ก่อนทรัมป์ขึ้นตำแหน่งปธน.

เมื่อวันที่ (16 ธ.ค.67) ที่ผ่านมา เรือรบ ยูเอสเอส ซาวานนาห์ (USS Savannah) ของกองทัพเรือสหรัฐฯ ได้จอดเทียบท่าที่ท่าเรือเมืองสีหนุวิลล์ ซึ่งเป็นเมืองรีสอร์ตริมทะเลอ่าวไทยและท่าสำคัญที่สุดของกัมพูชา การเข้าจอดครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี และจะประจำการที่ท่าเรือแห่งนี้เป็นเวลา 5 วัน โดยเรือซาวานนาห์เป็นเรือรบประเภทชายฝั่ง และบรรทุกลูกเรือทั้งหมด 103 คน

แดเนียล เอ. สเลดส์ ผู้บัญชาการเรือ ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า เขารู้สึกยินดีที่กองทัพเรือสหรัฐฯ กลับมาเยือนกัมพูชาอีกครั้งหลังจากห่างหายไปนานถึง 8 ปี

การเคลื่อนไหวดังกล่าวถูกมองว่าเป็นสัญญาณที่สหรัฐฯ พร้อมจะฟื้นฟูความสัมพันธ์กับกัมพูชา หลังจากที่ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศมีความตึงเครียดในช่วงที่ผ่านมา โดยสหรัฐฯ วิจารณ์รัฐบาลกัมพูชาในเรื่องการปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมืองและการละเมิดสิทธิมนุษยชน

นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังมีความกังวลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างกัมพูชาและจีน ซึ่งอาจนำไปสู่การที่จีนได้รับสิทธิ์ในการเข้าถึงฐานทัพเรือในอ่าวไทย ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากจุดที่เรือซาวานนาห์จอดเทียบท่ามากนัก

ในช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นายลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ได้เดินทางเยือนกัมพูชาและได้พบหารือกับนายกรัฐมนตรี ฮุน มาเนต รวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกัมพูชา โดยนายฮุน มาเนตเองก็เป็นผู้สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยการทหารเวสต์พอยต์ของสหรัฐฯ ด้วย นับเป็นการส่งสัญญาณของกองทัพสหรัฐในช่วงก่อนหน้าที่จะมีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลสู่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

ศาลฎีกาสหรัฐฯ เตรียมเปิดไต่สวน ติ๊กต๊อก สู้กม.แบนกิจการ ลุ้นชี้ชะตา10 ม.ค.นี้

เมื่อวานนี้ (18 ธ.ค.67) ศาลสูงสุดสหรัฐฯ เห็นพ้องจะทบทวนคำร้องจากติ๊กต็อก (TikTok) และไบต์แดนซ์ (ByteDance) บริษัทแม่ของติ๊กต็อก เพื่อระงับกฎหมายที่กำหนดการจำหน่ายกิจการของแอปพลิเคชันแบ่งปันคลิปวิดีโอยอดนิยมนี้ภายในวันที่ 19 ม.ค. 2025 หรือเผชิญการลงโทษแบนด้วยเหตุผลความมั่นคงของชาติ

รายงานระบุว่าศาลสูงสุดสหรัฐฯ กำหนดรับฟังข้อโต้แย้งในวันที่ 10 ม.ค. 2025 เพื่อตัดสินว่ากฎหมายดังกล่าวจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกอันขัดกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ของสหรัฐฯ หรือไม่ โดยศาลสูงสุดสหรัฐฯ ออกกำหนดการนี้หลังจากติ๊กต็อกยื่นคำร้องเป็นเวลาสองวันแล้ว

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนเมษายน โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกกฎหมายที่ให้เวลากับไบต์แดนซ์เพียง 270 วันในการจำหน่ายกิจการของติ๊กต็อก โดยอ้างอิงประเด็นความมั่นคงของชาติที่ไม่มีมูลความจริง ซึ่งหากไบต์แดนซ์ไม่สามารถปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว ผู้ให้บริการร้านค้าแอปพลิเคชันอย่างแอปเปิลและกูเกิลต้องถอดติ๊กต็อกออกจากแพลตฟอร์ม

ต่อมาเดือนพฤษภาคม ติ๊กต็อกยื่นฟ้องร้องรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อระงับคำสั่งแบนที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งจุดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง และเมื่อต้นเดือนธันวาคม ศาลอุทธรณ์สหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ยกฟ้องคำกล่าวอ้างของติ๊กต็อกที่ว่าคำสั่งแบนขัดต่อรัฐธรรมนูญและละเมิดสิทธิตามการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ของผู้ใช้งานในสหรัฐฯ 170 ล้านราย

เมื่อวันจันทร์ (16 ธ.ค.) ติ๊กต็อกเรียกร้องศาลสูงสุดสหรัฐฯ ระงับกฎหมายนี้ ชี้ว่าจะเป็นการปิดหนึ่งในแพลตฟอร์มแสดงออกทางคำพูดที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของอเมริกาก่อนวันสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดี และปิดปากชาวอเมริกันจำนวนมากที่ใช้แพลตฟอร์มนี้สื่อสารเกี่ยวกับการเมือง การค้า ศิลปะ และประเด็นอื่น ๆ ที่สาธารณชนสนใจ

รัสเซียแฉกลาโหมสหรัฐฯ ตั้งหน่วยด้านชีวภาพในแอฟริกา

(24 ธ.ค. 67) พลโท อเล็กเซย์ ริติเชฟ รองหัวหน้ากองกำลังป้องกันรังสี เคมี และชีวภาพของกองทัพรัสเซีย เปิดเผยในรายงานโดยระบุว่า พบความเคลื่อนไหวอย่างมีนัยะสำคัญของกองทัพสหรัฐฯ บริเวณทวีปแอฟริกาโดยเฉพาะการตั้งฐานทัพทางทหารและหน่วยวิจัยด้านชีวภาพ

พลโท ริติเชฟ กล่าวว่า "เรามีเอกสารหลักฐานที่ยืนยันได้ว่า การมีอยู่ของทหารสหรัฐและหน่วยด้านชีวภาพในแอฟริกากำลังขยายตัวมากขึ้นอย่างรวดเร็ว" โดยนายพลรัสเซียเชื่อว่า สหรัฐได้ส่งหน่วยงานด้านการแพทย์ไปยังกานาและจิบูตี 

พลโท ริติเชฟ กล่าวเพิ่มเติมว่า  “พบกิจกรรมที่กำลังดำเนินการอย่างเข้มข้นในภูมิภาคนี้ ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยที่อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงกลาโหมสหรัฐ อาทิ  การตั้งสาขาของศูนย์การแพทย์ทางทหารของกองทัพเรือในกานาและจิบูตี ซึ่งมีการทำงานอย่างเข้มข้นเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดของโรค การแยกและการถอดรหัสพันธุกรรมของเชื้อโรค"

คำกล่าวของนายพลรัสเซียสอดคล้องกับรายงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ ที่ระบุว่า สหรัฐกำลังดำเนินโครงการวิจัยเพื่อการแพทย์ในพื้นที่แอฟริกา ได้แก่ ไนจีเรีย ได้ก่อตั้งศูนย์วิจัยทางการแพทย์ร่วมและห้องปฏิบัติการทางการแพทย์สำหรับกองทัพในปี 2024

เคนยา ก่อตั้งศูนย์การแพทย์ทหารของสหรัฐฯ ได้ตั้งเครือข่ายสถานีสนามเพื่อเฝ้าติดตามการแพร่กระจายของโรคติดต่อทั่วแอฟริกาตอนกลาง เซเนกัล การก่อสร้างห้องปฏิบัติการมูลค่า 35 ล้านดอลลาร์ใกล้เสร็จสมบูรณ์ ซึ่งมีผู้รับเหมาเดียวกันกับที่ทำงานในสหภาพโซเวียตเดิม รวมถึงอาร์เมเนีย จอร์เจีย คาซัคสถาน และยูเครน กานาและจิบูตี สหรัฐฯ ได้จัดตั้งสาขาของศูนย์การแพทย์ทางทะเลแห่งชาติและกำลังจัดการการระบาดของโรคตามธรรมชาติและการแยกเชื้อโรค

พลโท รติชฟ กล่าวเสริมว่า รัฐบาลสหรัฐฯ มองว่าแอฟริกาเป็นแหล่งรวมของเชื้อโรคที่อันตรายและเป็นพื้นที่ทดสอบยารักษาโรคใหม่ๆ โดยที่วอชิงตันใช้เชื้อโรคชนิดใหม่ที่ทดสอบแล้วในสมรภูมิยูเครนและที่จอร์เจีย

นายพลรัสเซีย กล่าวเพิ่มเติมว่า วอชิงตันกำลังใช้ประโยชน์จากความท้าทายทางเศรษฐกิจที่ประเทศในแอฟริกาประสบปัญหาโดยเฉพาะในด้านสาธารณสุขเพื่อการวิจัยบางอย่าง ขณะที่สหรัฐเกรงว่ารัสเซียกับจีนจะเปิดโปงการวิจัยดังกล่าว

"สหรัฐฯ มักจะไม่เปิดเผยวัตถุประสงค์สุดท้ายของการทดลองให้กับชาติพันธมิตร" พลโท ริติเชฟ กล่าวทิ้งท้าย

เผยบัณฑิตม.กลุ่ม Ivy League รายได้เฉลี่ย 93,000 ดอลลาร์ หลังเรียนจบสิบปี สูงกว่าบัณฑิตมหาวิทยาลัยทั่วไปเกือบสองเท่า

(24 ธ.ค.67) สำนักข่าว vnexpress ของเวียดนามอ้างอิงข้อมูลจาก Ivy Coach ซึ่งเป็นองค์กรที่เชี่ยวชาญในการให้คำแนะนำแก่ผู้สมัครเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐฯ โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาในกลุ่ม Ivy League ระบุว่า บัณฑิตที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในกลุ่ม Ivy League มีรายได้เฉลี่ยต่อปีประมาณ 93,000–111,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากจบการศึกษา 10 ปี ซึ่งเกือบจะเป็นสองเท่าของค่าเฉลี่ยรายได้ของคนในประเทศ 

ข้อมูลที่เผยแพร่โดย College Scorecard ของกระทรวงศึกษาธิการสหรัฐฯ ระบุว่า บัณฑิตจากมหาวิทยาลัย Brown ซึ่งเป็นหนึ่งใน 8 มหาวิทยาลัย Ivy League มีรายได้เฉลี่ยต่อปีต่ำที่สุดที่ประมาณ 93,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนี้ยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยรายได้ของบัณฑิตมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 53,700 ดอลลาร์สหรัฐฯ ถึง 1.75 เท่า

ขณะที่บัณฑิตจาก Dartmouth College ได้รับรายได้เฉลี่ยสูงขึ้นเล็กน้อยที่ 97,430 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ส่วนบัณฑิตจากมหาวิทยาลัย Ivy League อื่นๆ มีรายได้เฉลี่ยเกิน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยบัณฑิตจากมหาวิทยาลัย Pennsylvania ได้รับรายได้สูงสุดที่ 111,370 ดอลลาร์สหรัฐฯ

ในขณะเดียวกัน ค่าครองชีพสุทธิสำหรับนักศึกษาที่เรียนที่มหาวิทยาลัยเหล่านี้หลังจากได้รับทุนการศึกษาและความช่วยเหลือทางการเงินมีค่าใช้จ่ายระหว่าง 8,000–31,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี

หากเปรียบเทียบความคุ้มค่าในการเรียนแล้ว พบว่าบัณฑิตที่จบจากมหาวิทยาลัย Princeton ได้รับความคุ้มค่าที่ดีที่สุดจากการลงทุนทางการศึกษา โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเพียง 8,100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อหนึ่งปีการศึกษาในช่วงการศึกษาระดับปริญญาตรี แต่สามารถทำรายได้เฉลี่ย 110,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีหลังจากจบการศึกษาไปแล้ว 10 ปี 

ขณะที่บัณฑิตจากมหาวิทยาลัย Pennsylvania มีรายได้เฉลี่ยสูงกว่าเล็กน้อยประมาณ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ค่าครองชีพสุทธิของพวกเขาในระหว่างการศึกษาระดับปริญญาตรีก็สูงกว่าถึงสามเท่าเช่นกัน

ตามข้อมูลจาก Ivy Coach องค์กรที่เชี่ยวชาญในการให้คำแนะนำแก่ผู้สมัครเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐฯ ข้อมูลนี้สะท้อนถึงคุณค่าของปริญญาจาก Ivy League ในตลาดงาน อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของบัณฑิตจาก Ivy League ยังมาจากความมุ่งมั่นและความสามารถของพวกเขาเองด้วย

ทั้งนี้ สำหรับกลุ่ม Ivy League ประกอบด้วยมหาวิทยาลัยเอกชน 8 แห่งในสหรัฐฯ ที่มีชื่อเสียงด้านความเป็นเลิศทางวิชาการ ความเข้มงวดในการคัดเลือกนักศึกษา และความมีชื่อเสียงระดับโลก โดยในอันดับมหาวิทยาลัยโลกของ Times Higher Education ปี 2025 มหาวิทยาลัย Harvard และ Princeton ได้รับการจัดอันดับที่ 3 และ 4 ตามลำดับ ส่วนมหาวิทยาลัย Ivy League อื่นๆ ส่วนใหญ่ได้รับการจัดอันดับอยู่ใน 20 อันดับแรกของมหาวิทยาลัยโลก

ย้อนรอยการซื้อดินแดนของสหรัฐฯ หลังทรัมป์หวังผนวกกรีนแลนด์

(26 ธ.ค. 67) จากกรณีว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แสดงความสนใจอยากได้กรีนแลนด์มาเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐฯ โดยทรัมป์มีแนวคิดยื่นข้อเสนอซื้อกรีนแลนด์จากเดนมาร์ก ซึ่งแม้จะไม่ชัดเจนว่าเป็นมูลค่าเท่าใด แต่ดูท่าทางเดนมาร์กจะไม่มีวันยอมขายดินแดนกรีนแลนด์ให้สหรัฐอย่างแน่นอน

หากย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา เคยใช้วิธีการจ่ายเงินเพื่อซื้อดินแดนมาผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐมาแล้วในหลายครั้ง โดยมีเหตุการณ์สำคัญดังนี้

การซื้อดินแดนลุยเซียนา เมื่อปี 1803 ประธานาธิบดีโทมัส เจฟเฟอร์สัน ลงนามข้อตกลงกับฝรั่งเศส ซื้อดินแดนลุยเซียนา ซึ่งครอบคลุมพื้นที่กว่า 2.14 ล้านตารางกิโลเมตร ตั้งแต่ลุ่มแม่น้ำมิสซิสซิปปีเริ่มต้นจากอ่าวเม็กซิโกจรดทางใต้ของแคนาดา ด้วยเงินจำนวน 15 ล้านดอลลาร์ในยุคนั้น พร้อมยกหนี้กว่า 3.7 ล้านดอลลาร์ให้ราชสำนักฝรั่งเศส หากคิดเป็นมูลค่าในปัจจุบัน ราคาดินแดนนี้จะสูงถึง 340 พันล้านดอลลาร์

การซื้ออะแลสกา ในปี 1867 สหรัฐฯ เคยซื้อดินแดนอะแลสกาจากจักรวรรดิรัสเซีย ในรัชสมัยของพระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 ด้วยราคา 7.2 ล้านดอลลาร์ ซึ่งหากคิดเป็นค่าเงินปัจจุบันจะอยู่ที่กว่า 109 ล้านดอลลาร์ การซื้อครั้งนี้คุ้มค่าอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับทรัพยากรธรรมชาติ เช่น น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ที่สหรัฐขุดพบในห้วงเวลาต่อมา

สนธิสัญญากัวดาลูปอีดัลโก ในปี 1848 หลังสงครามเม็กซิโก-อเมริกา สหรัฐฯ และเม็กซิโกได้ลงนามในสนธิสัญญากัวดาลูปอีดัลโก ซึ่งระบุให้สหรัฐฯ จ่ายเงิน 15 ล้านดอลลาร์แก่เม็กซิโก เพื่อแลกกับการครอบครองดินแดนทางฝั่งตะวันตก เช่น แคลิฟอร์เนีย และรัฐอื่นๆ พร้อมกำหนดให้แม่น้ำริโอแกรนด์เป็นพรมแดนธรรมชาติ 

ขณะการซื้อฟลอริดา หรือที่รู้จักกันในชื่อ สนธิสัญญาอดัมส์–โอนิส (Adams–Onís Treaty) เป็นข้อตกลงที่ลงนามในปี ค.ศ. 1819 ระหว่างสหรัฐอเมริกาและสเปน สนธิสัญญานี้มีความสำคัญในการโอนดินแดนฟลอริดาจากสเปนมายังสหรัฐฯ  โดยสหรัฐจ่ายเงินมูลค่า 5 ล้านดอลลาร์แก่ราชสำนักสเปนเพื่อโอนกรรมสิทธิ์การครอบครองดินแดนฟลอริด้า

ภายใต้สนธิสัญญานี้ สเปนได้ยินยอมสละสิทธิ์ในฟลอริดา พร้อมทั้งปรับปรุงขอบเขตของดินแดนในทวีปอเมริกาเหนือเพื่อแก้ไขข้อพิพาทเรื่องพรมแดนระหว่างสองประเทศ การโอนดินแดนนี้ช่วยเสริมอำนาจและอิทธิพลของสหรัฐฯ ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ของทวีป ในขณะที่สเปนเลือกที่จะมุ่งเน้นอำนาจไปที่ดินแดนในอเมริกาใต้แทน

แม้ว่าสหรัฐฯ จะมีประวัติศาสตร์การซื้อดินแดนที่สำคัญหลายครั้ง แต่ในกรณีของกรีนแลนด์ ดูเหมือนว่าการเจรจานี้จะไม่ง่าย เพราะเดนมาร์กยังคงยืนกรานไม่ขายดินแดนดังกล่าวให้สหรัฐฯ อย่างชัดเจน

ทรัมป์ได้ทีชวนแคนาดาร่วมเป็นรัฐที่ 51 หลังทรูโดลาออกจากนายกฯ

(7 ม.ค. 68) ไม่นานหลังจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา ประกาศลาออกจากตำแหน่ง โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้แสดงความคิดเห็นว่า แคนาดาควรเข้ามาเป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ หลังจากที่ จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดาประกาศลาออกจากตำแหน่ง

ทรูโดได้ประกาศลาออกในวันจันทร์ที่ 6 มกราคม โดยอ้างถึง "การต่อสู้" ภายในพรรคลิเบอรัลของเขา แต่จะยังคงดำรงตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรีไปจนกว่าจะมีการเลือกผู้นำพรรคคนใหม่ ซึ่งจะเข้ามาทำหน้าที่ในช่วงเลือกตั้งทั่วไปที่มีกำหนดจัดขึ้นปลายเดือนตุลาคม

"ผู้คนจำนวนมากในแคนาดาต้องการให้ประเทศของพวกเขากลายเป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐฯ" ทรัมป์โพสต์ผ่านโซเชียลแพลตฟอร์มของตัวเองในช่วงบ่ายวันจันทร์ "สหรัฐฯ อาจไม่สามารถทนกับการขาดดุลการค้าขนาดใหญ่และการอุดหนุนที่จำเป็นเพื่อให้แคนาดายังคงอยู่ได้อีกต่อไป และจัสติน ทรูโดก็รู้เรื่องนี้ดี"

"หากแคนาดารวมเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐฯ จะไม่มีการเก็บภาษี แคนาดาจะจ่ายภาษีที่ต่ำลง และจะได้รับการปกป้องเต็มรูปแบบจากภัยคุกคามของกองเรือรัสเซียและจีนที่คอยคุกคามพวกเขา" ทรัมป์กล่าว "เมื่อรวมกันแล้วมันจะกลายเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่"

การลาออกของทรูโดเกิดขึ้นท่ามกลางแรงกดดันภายในพรรค ซึ่งส่วนหนึ่งเชื่อว่าเป็นผลมาจากการคุกคามของทรัมป์ที่จะเก็บภาษี 25% ต่อสินค้านำเข้าจากแคนาดาและเม็กซิโก โดยทรัมป์ได้กล่าวหาว่าผู้อพยพ, อาชญากร และพวกค้ายาได้ลักลอบเข้ามาในอเมริกา ขณะเดียวกันก็มีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ผ่านการละเมิดสนธิสัญญาการค้าเสรี

นอกจากนี้ มาตรการเก็บภาษีของทรัมป์ยังเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ คริสเตียน ฟรีแลนด์ รองนายกรัฐมนตรีแคนาดาลาออก และส่งผลให้เกิดความตึงเครียดในพรรคลิเบอรัลมากขึ้น

ผู้นำแคนาดาได้พยายามหารือเรื่องนี้กับทรัมป์โดยตรง ถึงขั้นเดินทางไปพบทรัมป์ที่มาร์อาลาโกในช่วงต้นเดือนธันวาคม อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ได้กล่าวติดตลกว่า ทรูโดควรจะเป็น "ผู้การรัฐ" และว่าแคนาดาควรเข้าร่วมเป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐฯ

ทรัมป์ยังได้พูดถึงความเป็นไปได้ที่แคนาดาอาจถูกแบ่งเป็นสองรัฐ โดยรัฐหนึ่งจะเป็นรัฐเสรีนิยมและอีกรัฐจะเป็นรัฐอนุรักษนิยม นอกจากนี้ เขายังเคยพูดถึงการซื้อเกาะกรีนแลนด์ที่อยู่ในอาร์กติก ซึ่งเป็นดินแดนปกครองตนเองของเดนมาร์กและตั้งอยู่ใกล้กับชายฝั่งแคนาดา

ถึงแม้ว่าผู้บริหารของออตตาวาจะปฏิเสธข้อเสนอในการรวมชาติตามที่ทรัมป์พูดถึง แต่เควิน โอเลียรี นักลงทุนและดาราดังของแคนาดา ได้กล่าวว่า ราวครึ่งหนึ่งของชาวแคนาดาให้การสนับสนุนแนวคิดนี้

โพสต์ล่าสุดของทรัมป์เกี่ยวกับแคนาดามีขึ้นไม่นานก่อนที่สภาคองเกรสจะรับรองผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2024 โดยยืนยันว่าเขาจะสาบานตนเป็นประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐฯ ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า

สหรัฐฯ แบล็กลิสต์ 'Tencent' ฐานทำงานให้กองทัพจีน

(7 ม.ค.68) กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เพิ่มชื่อบริษัทจีนหลายแห่งในบัญชีดำ โดยรวมถึง เทนเซ็นต์ (Tencent) และ CATL ซึ่งถูกกล่าวหาว่าทำงานให้กับกองทัพจีน แม้ว่าทั้งสองบริษัทจะปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว แต่การดำเนินการนี้ทำให้หุ้นของบริษัททั้งสองร่วงทันที

บัญชีดำของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ หรือที่เรียกว่า Section 1260H ได้เพิ่มบริษัทยักษ์ใหญ่จากจีนหลายแห่ง ซึ่งถือเป็นคำเตือนให้บริษัทและองค์กรต่าง ๆ ในสหรัฐฯ พิจารณาความเสี่ยงในการทำธุรกิจกับบริษัทเหล่านี้ แม้บริษัทที่ถูกระบุในบัญชีดำจะไม่ได้รับคำสั่งห้ามทำธุรกิจในสหรัฐฯ โดยตรง แต่ก็เพิ่มแรงกดดันในการคว่ำบาตรบริษัทจีน

หลังจากการเปิดเผยรายงานดังกล่าว หุ้นของ Tencent ลดลง 7% ในเช้าวันที่ 7 มกราคม ส่วนหุ้นของ CATL ก็ร่วง 4% ทันที อย่างไรก็ตาม Tencent ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงว่าเป็นความเข้าใจผิด บริษัทยืนยันว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือทำธุรกิจกับกองทัพจีน และการถูกขึ้นบัญชีดำจะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัท

ในทางเดียวกัน CATL ก็ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาของสหรัฐฯ โดยระบุว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกองทัพจีน และทางการจีนก็ได้ตอบโต้คำกล่าวหาดังกล่าวว่าเป็นการกระทำที่ไม่สมเหตุสมผลและเป็นการปราบปรามบริษัทจีนอย่างไม่ยุติธรรม


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top