Wednesday, 15 January 2025
USA

คณะลูกขุน ตัดสิน ‘ทรัมป์’ ผิดทุกกระทง ‘คดีจ่ายเงินลับ’ หวั่น!! โดนตัดสิทธิ์ ลงสมัครเลือกตั้ง ‘ปธน.’ ปี 2567

(31 พ.ค. 67) เอเอฟพีรายงาน กล่าวว่า เมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว อัลวิน แบรกก์ อัยการเขตแมนฮัตตันในมหานครนิวยอร์กได้ยื่นฟ้องอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ในความผิดคดีอาญาฐานจ่ายเงินให้แก่บุคคลเพื่อปกปิดข้อมูลอันอาจมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2559


ทรัมป์ถูกตั้งข้อหาในความผิดทางอาญา 34 กระทง จากการปลอมแปลงบันทึกทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายเงินค่าปิดปาก 130,000 ดอลลาร์ให้กับสตอร์มี แดเนียลส์ วัย 44 ปี ซึ่งเป็นดาราหนังโป๊ รวมทั้งการจ่ายเงินปิดปากนางแบบเพลย์บอย และคนเฝ้าประตู

ล่าสุดเมื่อวันพฤหัสบดี การพิจารณาคดีครั้งแรกที่ศาลอาญาแมนฮัตตันจบลงด้วยการที่ทรัมป์ วัย 77 ปี ​​ถูกตัดสินว่ามีความผิดใน 34 กระทงดังกล่าวตามคำฟ้องของอัยการ และผู้พิพากษาฮวน เมอร์ชานเสนอให้เขาต้องโทษจำคุก

จากนั้น ทรัมป์ซึ่งได้รับการปล่อยตัวโดยไม่ต้องอาศัยหลักประกันและเตรียมยื่นอุทธรณ์ในขั้นตอนต่อไป ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวหลังออกจากศาลและประณามผลการตัดสินของคณะลูกขุนว่า ‘ขี้โกง’ และ ‘น่าอับอาย’ โดยท้าให้รอดูคำตัดสินที่แท้จริงที่จะมาจากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 5 พฤศจิกายน

ทั้งนี้ คณะลูกขุนทั้ง 12 คนใช้เวลาพิจารณาอรรถคดีนานกว่า 11 ชั่วโมงในช่วงเวลา 2 วัน ก่อนประกาศข้อสรุปที่เป็นเอกฉันท์ภายในไม่กี่นาที โดยตัวตนของพวกเขาทั้ง 12 คนถูกเก็บเป็นความลับตลอดการพิจารณาคดี ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติที่มักพบบ่อยในกรณีที่เกี่ยวข้องกับมาเฟียหรือจำเลยที่มีอิทธิพล

อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ยังคงมีสิทธิ์ในการรณรงค์แคมเปญเลือกตั้งประธานาธิบดีต่อไป จนกว่าจะถึงวันที่ 11 กรกฎาคมที่คณะลูกขุนจะพิจารณาว่าจะตัดสินโทษออกมาแบบใด และจะตัดสิทธิ์ลงรับสมัครของเขาหรือไม่

ช่วงเวลาดังกล่าวจะคาบเกี่ยวกับการประชุมใหญ่ระดับชาติของพรรครีพับลิกันในเมืองมิลวอกี ซึ่งทรัมป์มีกำหนดได้รับการเสนอชื่ออย่างเป็นทางการจากพรรคเพื่อเป็นตัวแทนในการเผชิญหน้ากับโจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต

ทรัมป์ถูกกล่าวหาว่าสั่งการให้ไมเคิล โคเฮน อดีตทนายความส่วนตัวจัดเตรียมการจ่ายเงินให้แดเนียลส์ก่อนการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2559 เพื่อไม่ให้แพร่งพรายความสัมพันธ์ลับ ๆ ที่เคยมีต่อกันที่รีสอร์ทแห่งหนึ่งในทะเลสาบทาโฮ

จากนั้นมีการจ่ายเงินอีก 30,000 ดอลลาร์เพื่อปิดปากของอดีตคนเฝ้าประตูทรัมป์ทาวเวอร์ที่รู้ข้อมูลลับว่าทรัมป์มีบุตรนอกสมรส และจ่ายเงิน 150,000 ดอลลาร์ให้กับคาเรน แม็คดูกัล นางแบบนิตยสารเพลย์บอย เพื่อแลกกับการไม่เปิดเผยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเพศที่ยาวนานเกือบหนึ่งปีในฐานะชู้รักกับทรัมป์

ในการพิจารณาคดี สตอร์มี แดเนียลส์ (ซึ่งมีชื่อจริงว่าสเตฟานี คลิฟฟอร์ด) ได้อธิบายต่อศาลอย่างละเอียดถึงสิ่งที่เธอบอกว่าเป็นการมีเพศสัมพันธ์กับทรัมป์ที่แต่งงานแล้วในปี 2549 และคำให้การดังกล่าวช่วยให้อัยการประสบความสำเร็จในการดำเนินคดีปกปิดการจ่ายเงินอย่างผิดกฎหมายอันเป็นส่วนหนึ่งของอาชญากรรมในวงกว้างเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ลงคะแนนรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมของตัวทรัมป์เอง ซึ่งเป็นการโน้มน้าวการเลือกตั้งด้วยความทุจริต

ขณะที่ทนายฝ่ายจำเลยแย้งแทนลูกความว่า ‘การพยายามโน้มน้าวการเลือกตั้งเป็นเพียงการแสดงออกตามครรลองประชาธิปไตย และอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ไม่ได้ทำอะไรผิด’
ความเพลี่ยงพล้ำของทรัมป์ในครั้งนี้ทำให้ทีมหาเสียงของโจ ไบเดนออกแถลงการณ์ขยี้ซ้ำว่า กระบวนการยุติธรรมในการพิจารณาคดีแสดงให้เห็นแล้วว่า ‘ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย’ และเสริมว่า ‘ภัยคุกคามจากชายชื่อโดนัลด์ ทรัมป์มีผลใหญ่หลวงต่อประชาธิปไตยของประเทศยิ่งนัก’

แม้การพิจารณาคดีดังกล่าวทำให้ทรัมป์เสียสมาธิจากการรณรงค์หาเสียงเพื่อขับไล่ไบเดนออกจากทำเนียบขาว แต่เขากลับใช้โอกาสมาขึ้นศาลแต่ละครั้งในการเรียกร้องความสนใจจากสื่อไปทั่ว โดยกล่าวปราศรัยต่อหน้ากล้องของสื่อมวลชนอยู่เสมอ ในประเด็นการตกเป็นเหยื่อทางการเมือง

ตามทฤษฎีแล้ว ทรัมป์อาจเผชิญโทษจำคุกสูงสุด 4 ปีสำหรับการปลอมแปลงบันทึกทางธุรกิจแต่ละครั้ง แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายกล่าวว่า ในฐานะผู้กระทำผิดครั้งแรก เขาไม่น่าจะถึงขั้นโดนจำคุกจริงและอาจโดนแค่คุมประพฤติ ส่วนกระบวนการการอุทธรณ์อาจใช้เวลาอีกหลายเดือนจึงจะเสร็จสมบูรณ์

ทว่าหลังจากนี้ โดนัลด์ ทรัมป์อาจเผชิญอีกหนึ่งข้อหาที่หนักหน่วง คือสมรู้ร่วมคิดล้มล้างผลการเลือกตั้งปี 2563 จากกรณียุยงผู้สนับสนุนให้บุกโจมตีรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2564 และข้อหาแอบเก็บเอกสารลับทางราชการและไม่ยอมส่งคืนหลังหมดวาระจากทำเนียบขาว

‘สหรัฐฯ’ จ่อโหวตร่างกม.คว่ำบาตร 'ศาลอาญาโลก' โต้หมายจับ 'เนทันยาฮู' ไม่หวั่น!! แม้ลบหลู่ระเบียบระหว่างประเทศที่ สหรัฐฯมีส่วนช่วยสร้างขึ้นมา

เมื่อวานนี้ (3 มิ.ย. 67) เว็บไซต์ The Hill รายงานว่า คณะกรรมาธิการกิจการต่างประเทศของสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐอเมริกา ได้ผ่านร่างรับตัวกฎหมาย ด้วยคะแนน 9-3 โดยมีวัตถุประสงค์ในการคว่ำบาตร เจ้าหน้าที่ของศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือ ไอซีซี เป็นการตอบสนองต่อ อัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ คาริม เอ. เอ. คาน กับข้อกล่าวหาและความพยายามในการออกหมายจับต่อ นายกรัฐมนตรี นายเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล และ ผู้นำของกลุ่มฮามาส ยายาห์ ซินวา ในฐานะอาชญากรสงคราม

อย่างไรก็ตาม การตอบสนองของทำเนียบขาวก่อนหน้านี้นั้น ไม่ได้สนับสนุนตัวร่างกฎหมาย คารีน ฌอง-ปิแอร์ โฆษกของทำเนียบขาว ได้ออกมาแสดงความเห็นต่อจุดยืนของทำเนียบขาวว่า แม้ว่าจะสนับสนุนการตอบโต้ข้อกล่าวหาที่เสนอโดยไอซีซี แต่ไม่ได้สนับสนุนการคว่ำบาตรต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ

"เราปฏิเสธคำร้องของอัยการไอซีซี ในการออกหมายจับผู้นำอิสราเอล แต่การจะคว่ำบาตรไอซีซีนั้น เราไม่เชื่อว่าเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพหรือเหมาะสม" คารีน กล่าว

นอกจากนี้มีรายงานว่าฝ่ายบริหารในทำเนียบขาว คัดค้านร่างกฎหมายนี้อย่างมาก และมีความเป็นไปได้สูงว่า หากตัวร่างสามารถผ่านสองสภาไปได้จนถึง ประธานาธิบดี โจ ไบเดน มีความเป็นได้สูงว่าประธานาธิบดีไบเดนจะใช้อำนาจวีโต้ของตัวเอง ในการหยุดตัวกฎหมายเอาไว้

ถึงอย่างนั้น มาตรการอื่นที่เป็นตัวเลือกตอบโต้ของสหรัฐฯ ต่อศาลอาญาระหว่างประเทศก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัด เนื่องด้วยสหรัฐฯ ไม่เคยลงสัตยาบันยอมรับอำนาจและหลักการของศาลอาญาระหว่างประเทศมาตั้งแต่ต้น ด้วยเหตุนี้ในทางปฏิบัติแล้ว สหรัฐฯ ไม่เคยอยู่ในอำนาจตุลาการของศาลอาญาระหว่างประเทศ ในขณะเดียวกันรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ก็ไม่ได้มอบเงินทุนสนับสนุนในการปฏิบัติงานของศาลอาญาโลก

โดยรายละเอียดของตัวร่างกฎหมาย ถูกนำเสนอโดยสมาชิกสภาคองเกรส จากรัฐเท็กซัสสังกัด พรรครีพับลิกัน ชิป รอย ด้วยการสนับสนุนจากสมาชิกคองเกรสคนอื่นๆ มากกว่า 60 คน โดยในด้านของรายละเอียดตัวกฎหมายประกอบด้วยมาตรการต่างๆ อย่าง การกีดกันการเคลื่อนย้ายทรัพย์สินในสหรัฐฯ หรือ การเพิกถอนวีซ่าเข้าประเทศสหรัฐฯ และ มาตรการอื่นๆ โดยมีเป้าหมายเป็นเจ้าหน้าที่ของศาลอาญาระหว่างประเทศ ที่ทำการสืบสวน หรือ จับกุม พลเมืองในเขตอำนาจของสหรัฐฯ รวมไปถึงพันธมิตรของสหรัฐฯ

มีรายงานว่า มีการคาดการณ์และคาดหวังว่าตัวร่างกฎหมายจะผ่านการโหวตไปในสภาคองเกรสไปอย่างง่ายได้ ด้วยที่พรรครีพับลิกันครอบครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังมีเสียงสนับสนุนของสมาชิกสภาคองเกรสอีกจำนวนหนึ่ง จากพรรคเดโมแครต ที่แสดงจุดยืนอย่างแข็งกร้าวในการสนับสนุนอิสราเอลในสงครามกับฮามาส แต่ว่าจุดยืนของประธานาธิบดี โจ ไบเดน อาจจะมีอิทธิพลต่อ สมาชิกสภาคองเกรสของพรรคเดโมแครตในการตัดสินใจ

แต่ในสภาสูงนั้นเป็นไปในทางตรงกันข้าม เนื่องด้วยที่สภาสูงของสหรัฐ อยู่ในการควบคุมของพรรคเดโมแครต ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าต่อให้ร่างกฎหมายจะผ่านสภาร่างมาได้ ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าจะถูกปัดตกโดยการโหวตของสมาชิกวุฒิสภา

จิม แมคกอฟเวิร์น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคเดโมแครตจากมลรัฐแมสซาชูเซตส์ ให้ความเห็นต่อร่างกฎหมายฉบับนี้ว่า เป็นร่างกฎหมายที่แย่ โดยให้เหตุผลว่าศาลอาญาระหว่างประเทศเป็นสถาบันที่สำคัญในการรักษา และ ปกป้องหลักการสิทธิมนุษยชนสากล โดยที่หลักศีลธรรม หรือ หลักการทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ไม่ควรส่งผลต่อการออกแบบนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ในการเข้าไปขัดขวางศาลอาญาระหว่างประเทศในการทำหน้าที่โดยกำเนิดของตัวสถาบัน

โดยแมคกอฟเวิร์น ยังระบุด้วยว่า "ร่างกฎหมายนี้ จะเป็นการลบหลู่ระเบียบระหว่างประเทศ ซึ่งสหรัฐฯ มีส่วนช่วยสร้างมันขึ้นมา"

เรื่องนี้ยังคงต้องจับตา ตัวร่างกฎหมาย ที่จะเข้าสู่การประชุมและโหวตในสภาคองเกรส โดยคาดการณ์ว่าด่านแรกอย่าง สภาคองเกรสจะมีการโหวตภายในสัปดาห์หน้า

จับตาประชุมกลุ่ม BRICS ร่วมประเทศพันธมิตร 34 ประเทศ กลุ่มมหาอำนาจใหม่ท่ามกลางความขัดแย้งสองซีกโลกในทุกมิติ

(24 ต.ค. 67) ในสัปดาห์นี้กำลังมีการประชุมใหญ่ในสองซีกโลกที่สะท้อนให้เห็นถึง 'การแบ่งขั้ว' ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและการเมืองที่ชัดเจนมากขึ้นในยุคปัจจุบัน กับการประชุม BRICS และ IMF-World Bank

ฝั่ง 'สหรัฐ' เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ที่ทยอยเรียกความสนใจไปแล้วตั้งแต่การออกรายงานหนี้สาธารณะทั่วโลกที่พุ่งทะลุ 100 ล้านล้านดอลลาร์เป็นครั้งแรก มาจนถึงการออกรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกฉบับล่าสุดเดือน ต.ค. ที่เตือนเรื่องความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์และการกีดกันทางการค้าซึ่งจะเพิ่มสูงขึ้น

ส่วนในฝั่ง 'รัสเซีย' จะเปิดบ้านในเมืองคาซาน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ จัดการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศ 'บริกส์' (BRICS) ที่มีสมาชิกดั้งเดิม 4+1 ประเทศคือ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ และผู้นำ/ผู้แทนจาก 34 ประเทศเข้าร่วมระหว่างวันที่ 22 - 24 ต.ค. โดยมีไฮไลต์ที่การเข้าร่วมประชุมครั้งแรกของเหล่า 'สมาชิกใหม่' 5 ประเทศ และการสะท้อนนัยยะทางการเมืองครั้งสำคัญของรัสเซียภายใต้ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน

อัสลี อัยดินทัสบาส ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายต่างประเทศจากตุรกี กล่าวกับสถาบันคลังสมองบรูกกิงส์ในสหรัฐว่า ภายหลังสงครามในฉนวนกาซา (ซึ่งสหรัฐส่งอาวุธไปให้กับอิสราเอล) รัสเซียและจีนได้ใช้ประโยชน์จากความรู้สึกต่อต้านตะวันตกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยอาศัยความผิดหวังจากการกระทำสองมาตรฐานของตะวันตก รวมถึงความไม่พอใจจากคว่ำบาตรและบีบบังคับทางเศรษฐกิจของตะวันตก 

"เรื่องนี้ไม่ได้หมายความว่ากลุ่มประเทศตรงกลางจะแปรพักตร์จากอิทธิพลของสหรัฐไปซบจีนแทน แต่ประเทศเหล่านี้กำลังเปิดใจให้จีนและรัสเซียมากขึ้น เพื่อให้โลกมีอิสระและกระจายขั้วอำนาจมากขึ้น"

>>> จับตาสมาชิกใหม่ BRICS+

ขณะที่ซีเอ็นบีซีรายงานว่า รัสเซียพยายามใช้วาทกรรมการรวมกลุ่มของประเทศซีกโลกใต้ (Global South) ในเอเชีย แอฟริกา ตะวันออกกลาง และลาตินอเมริกา เพื่อต่อกรท้าทายระเบียบโลกใหม่กับซีกโลกเหนือที่นำโดยสหรัฐ ซึ่งจะเป็นวาระสำคัญในการประชุมครั้งนี้ ตัวปูตินเองได้เปรยเอาไว้เมื่อวันศุกร์ที่แล้วว่า การขยายสมาชิกกลุ่มบริกส์เป็น 'ตัวบ่งชี้ที่ชัดเจนถึงอำนาจที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มและบทบาทในกิจการระหว่างประเทศ' พร้อมส่งสัญญาณว่าเขาตั้งใจที่จะนำเสนอรูปแบบการรวมกลุ่มที่เรียกว่า 'BRICS+' (บริกส์พลัส) เพื่อท้าทายตะวันตกทั้งในด้านภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจ

ปูตินจะใช้วันสุดท้ายของการประชุมสุดยอดผู้นำบริกส์ 10 ประเทศ จัดการประชุมคู่ขนาน BRICS and Outreach หรือ BRICS Plus ควบคู่ไปด้วย ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่จากประเทศต่างๆ ในเอเชีย แอฟริกา ตะวันออกกลาง และละตินอเมริกาเกือบ 40 ประเทศเข้าร่วม และเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของกลุ่มในการขยายความสัมพันธ์กับประเทศในซีกโลกใต้

"ประเทศสมาชิกกลุ่มบริกส์กำลังกลายเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก และในอนาคตอันใกล้นี้ เศรษฐกิจของกลุ่มบริกส์จะเป็นกลไกหลักในการเพิ่ม GDP โลก และเศรษฐกิจของกลุ่มบริกส์จะเป็นอิสระจากอิทธิพลภายนอกมากขึ้น" ปูตินกล่าวในการประชุมภาคธุรกิจกลุ่มบริกส์เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว

นอกจากผู้นำของกลุ่มประเทศก่อตั้ง 5 ประเทศ ยกเว้นเพียงบราซิลที่ส่งผู้แทนมาร่วมประชุมเนื่องจากประธานาธิบดี ลูลา ดา ซิลวา ประสบอุบัติเหตุ ผู้นำของ 5 ประเทศสมาชิกใหม่ต่างมาร่วมประชุมบริกส์อย่างคึกคัก อาทิ ประธานาธิบดีของประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ (ยูเออี) อิหร่าน อียิปต์ และเอธิโอเปีย ส่วนซาอุดีอาระเบียส่งรัฐมนตรีต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมแทน 

นอกจากนี้ยังมีผู้นำประเทศอื่นๆ ที่ไม่ใช่สมาชิกเข้าร่วมด้วย อาทิ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม และแม้แต่อันโตนิโอ กูเตียร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ส่วน 3 ประเทศที่แสดงความประสงค์ขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศบริกส์ไปแล้ว ได้แก่ ไทย มาเลเซีย และตุรกีนั้นมีรายงานว่าประธานาธิบดีเรย์เซบ เตย์ยิป เออร์ดวน ของตุรกี รัฐมนตรีเศรษฐกิจของมาเลเซีย ราฟิซี รัมลี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ จะเข้าร่วมการประชุมด้วย

ทิโมธี แอช นักวิชาการในโครงการรัสเซียและยูเรเซียของสถาบันชัทแธมเฮ้าส์ในลอนดอน กล่าวว่าในฉากหลังนั้น ปูตินกำลังคาดหวังถึงชัยชนะด้านการประชาสัมพันธ์ครั้งใหญ่เหนือยูเครนและตะวันตก โดยพยายามส่งสารว่า แม้จะมีสงครามและถูกคว่ำบาตรจากตะวันตก แต่รัสเซียก็ยังคงมีพันธมิตรระหว่างประเทศจำนวนมากที่เต็มใจจะคบค้าและค้าขายด้วยกับรัสเซีย

ทั้งนี้หลังจากที่สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนเปิดฉากขึ้นอย่างเต็มรูปแบบในเดือนก.พ. 2565 รัสเซีย ปูติน และบรรดาแกนนำในรัฐบาลต่างก็ถูกโดดเดี่ยวจากประชาคมโลก สหรัฐ สหภาพยุโรป (อียู) และบรรดาประเทศพันธมิตร เช่น แคนาดา ญี่ปุ่น ไต้หวัน และสหราชอาณาจักรต่างออกมาตรการคว่ำบาตรธุรกิจพลังงาน ธนาคาร และกลาโหมของรัสเซีย ท่ามกลางแรงกดดันให้ประเทศอื่นๆ คว่ำบาตรรัสเซียตามมาหลังจากนั้น 

ไม่เพียงแต่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเท่านั้น ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ในกรุงเฮกได้อนุมัติการออกหมายจับปูตินในข้อหาก่ออาชญากรรมสงครามเมื่อปี 2566 ทำให้ผู้นำรัสเซียไม่สามารถเดินทางไปประเทศที่มีธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศได้ และเคยต้องงดการไปร่วมประชุมสุดยอดผู้นำประเทศบริกส์ครั้งก่อนที่แอฟริกาใต้มาแล้ว และงดเข้าร่วมแม้แต่การประชุมจี20 ในปีที่แล้วที่ประเทศอินเดีย แม้จะไม่มีข้อตกลงกับ ICC ก็ตาม 

"การประชุมสุดยอดที่คาซานมีความสำคัญทั้งในเชิงสัญลักษณ์และเชิงปฏิบัติต่อระบอบการปกครองของปูติน" แองเจลา สเตส่วนนต์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษายูเรเซีย รัสเซีย และยุโรปตะวันออกแห่งมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ กล่าวกับสถาบันบรูกกิงส์ "การประชุมสุดยอดครั้งนี้จะแสดงให้เห็นว่า รัสเซียไม่ได้โดดเดี่ยวเพียงลำพัง แต่ยังมีพันธมิตรที่สำคัญ เช่น อินเดีย จีน และประเทศตลาดเกิดใหม่ที่สำคัญๆ"

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน ตอกย้ำให้เห็นภาพนี้ด้วยการจับมือกับปูตินอย่างแน่นแฟ้นในงานและส่งสารอย่างชัดเจนถึงการรวมกลุ่มครั้งนี้ว่า ความร่วมมือในกลุ่มบริกส์เป็น "เวทีสำคัญที่สุดสำหรับความเป็นอันหนึ่งอันเดียวและร่วมมือกันระหว่างประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาในโลกวันนี้ เป็น “พลังหลักในการส่งเสริมให้เกิดการตระหนักรู้ถึงโลกหลากขั้วอย่างเท่าเทียมและเป็นระเบียบ รวมถึงโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและอดกลั้น”

ทรัมป์ตั้ง 'พีท เฮกเซธ' ผู้ประกาศข่าวฟ็อกซ์นิวส์ ดัน “อเมริกา เฟิร์สต์” สร้างกองทัพยิ่งใหญ่อีกครั้ง

(13 พ.ย. 67) นายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ เปิดเผยเมื่อวานนี้ว่า เขาได้เลือกนายพีท เฮกเซธ นักวิเคราะห์ข่าวจากสถานีโทรทัศน์ฟ็อกซ์นิวส์และอดีตทหารผ่านศึก เป็นผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคนใหม่

นายทรัมป์กล่าวในแถลงการณ์ว่า นายเฮกเซธเป็นบุคคลที่อดทน ฉลาดหลักแหลม และยึดมั่นในนโยบาย "อเมริกาต้องมาก่อน" หรือ "America First" อย่างแท้จริง โดยเมื่อเขาเข้ารับตำแหน่ง ศัตรูของสหรัฐจะต้องรับรู้ว่ากองทัพอเมริกันจะกลับมายิ่งใหญ่และสหรัฐจะไม่มีวันยอมอ่อนข้อให้ใคร

นายเฮกเซธ วัย 44 ปี จะต้องผ่านการรับรองจากวุฒิสภาก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่ง โดยเขามีท่าทีที่วิพากษ์วิจารณ์นโยบาย “woke” ของผู้บริหารและนายทหารระดับสูงในกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นแนวคิดการตื่นรู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคม เช่น การลดการกดขี่ทางเพศหรือสีผิว และลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

ในส่วนของตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองกลาง (CIA) นายทรัมป์กล่าวว่าเขาได้เลือกนายจอห์น แรตคลิฟฟ์ พันธมิตรใกล้ชิด ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ (DNI) ในสมัยที่นายทรัมป์เป็นประธานาธิบดี และสิ้นสุดการทำงานพร้อมกับที่นายทรัมป์หมดวาระในเดือนมกราคม 2021

วิจัยชี้ อเมริกาโครงสร้างพื้นฐานแย่ ทำรถ EV ในสหรัฐฯ ปีนี้ชะลอตัว

(19 พ.ย. 67) คอกซ์ ออโตโมทีฟ (Cox Automotive) บริษัทวิจัยตลาดของสหรัฐฯ เปิดเผยว่ายอดจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในสหรัฐฯ เติบโตช้าลงในปี 2024 โดยคาดการณ์ว่ายอดจำหน่ายในไตรมาสสาม (กรกฎาคม-กันยายน) อยู่ที่ 346,309 คัน คิดเป็นเกือบร้อยละ 9 ของยอดจำหน่ายยานยนต์ทั้งหมด

ห้องปฏิบัติการแห่งชาติอาร์กอนน์ ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยที่ได้รับเงินทุนจากรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ระบุว่ายอดจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊กอินในสหรัฐฯ ช่วงปี 2023 รวมอยู่ที่ 1.4 ล้านคัน คิดเป็นมากกว่าร้อยละ 9 ของยอดจำหน่ายยานยนต์ทั้งหมดในปีดังกล่าว และเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 50 จากปี 2022

เดอะ นิวยอร์ก ไทม์ส รายงานว่ายอดจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้าที่เติบโตช้าลงในปี 2024 อาจเป็นผลจากความลังเลจะซื้อขายแลกเปลี่ยนยานยนต์ที่ใช้น้ำมันของผู้ขับขี่ เพราะกังวลเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานด้านการชาร์จ ซึ่งเพิ่มขึ้นช้ากว่ายอดจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้า

ขณะการวิจัยที่นำโดยนักวิจัยของโรงเรียนธุรกิจฮาร์วาร์ด (HBS) พบว่าอุปกรณ์ชาร์จที่พังเสียหายถือเป็นปัญหา โดยหนึ่งในห้าของอุปกรณ์ชาร์จไม่ทำงานเมื่อผู้ขับขี่มาถึง

ทีมนักวิจัยของห้องปฏิบัติการพลังงานหมุนเวียนแห่งชาติสหรัฐฯ คาดการณ์ว่าสหรัฐฯ มีเสาชาร์จสาธารณะกว่า 2 แสนต้น กระจายอยู่ทั่วสถานีชาร์จราว 74,000 แห่ง แต่สหรัฐฯ จะต้องมีเสาชาร์จอีกมากกว่า 1 ล้านต้นภายในปี 2030 เพื่อตอบสนองได้ทันกับยอดจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้า

ปูติน ไม่แคร์แซงก์ชั่น เล็งเยือนอินเดีย หารือนายกฯโมดี ชี้สองผู้นำเป็น 'เพื่อนสนิท'

(20 พ.ย.67) ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย เตรียมเดินทางเยือนอินเดียเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ที่เขามีคำสั่งให้รัสเซียรุกรานยูเครนอย่างเต็มรูปแบบในปี 2565 โดยสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า การเยือนนี้เป็นสัญญาณสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของความพยายามจากสหรัฐฯ ในการกีดกันปูตินจากเวทีโลก

ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกรัฐบาลรัสเซียกล่าวกับสำนักข่าวเอเอ็นไอ (ANI) ของอินเดีย และยืนยันกับบลูมเบิร์กว่า แม้ยังไม่ได้กำหนดวันเดินทางเพื่อพบกับนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย แต่รัสเซียตั้งตารอที่จะได้พบปะในเร็ว ๆ นี้

เปสคอฟกล่าวว่า “หลังจากที่นายกรัฐมนตรีโมดีเดินทางเยือนรัสเซียถึง 2 ครั้ง ตอนนี้ปธน.ปูตินเตรียมเยือนอินเดียแล้ว … เราให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการติดต่อเหล่านี้”

ก่อนหน้านี้นายกโมดี เคยยอมรับปูตินและเรียกเขาว่า “เพื่อน” ในการหารือดังกล่าว ซึ่งเกิดขึ้นในเวลาเพียง 1 วันหลังจากที่รัสเซียโจมตีโรงพยาบาลเด็กในกรุงเคียฟด้วยขีปนาวุธจนมีผู้เสียชีวิต ซึ่งสร้างความไม่พอใจอย่างรุนแรงให้กับนานาประเทศ

ทั้งนี้ อินเดียและรัสเซียเคยจัดการประชุมสุดยอดประจำปีระหว่างผู้นำสองประเทศก่อนที่การรุกรานยูเครนจะเริ่มขึ้น โดยแหล่งข่าวในขณะนั้นเผยว่า นายกรัฐมนตรีโมดีหลีกเลี่ยงการพบปะกับปูตินแบบตัวต่อตัวในเดือนธันวาคม 2565 หลังจากที่ปูตินขู่ว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ในสงคราม

แม้จะมีความวิตกกังวลจากสหรัฐฯ เกี่ยวกับการพบปะของผู้นำทั้งสอง ซึ่งอาจทำให้ปูตินได้รับการยอมรับในเวทีโลกจากสงครามในยูเครน แต่ทางการสหรัฐฯ ก็ยังตระหนักถึงความสำคัญของการที่อินเดียจะเข้ามามีบทบาทในการคานอิทธิพลของจีนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

หากปูตินเดินทางไปอินเดียจริง จะถือเป็นการแสดงให้เห็นถึงความมั่นใจของเขาในการเดินทางไปต่างประเทศ หลังจากที่ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ได้ออกหมายจับเขาในข้อหาอาชญากรรมสงครามในยูเครนเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว

เปิดบัญชีหนี้ 'ยูเครน' ค้างชำระชาติไหนเท่าไหร่บ้าง หลังไบเดนจ่อยกหนี้ 4,650 ล้านดอลลาร์ให้ฟรีๆ

(22 พ.ย.67) ใกล้ถึงช่วงหมดวาระของประธานาธิบดีโจ ไบเดน แต่ดูเหมือนรัฐบาลไบเดนกำลังทิ้งทวน จัดแพ็กเกจสารพันอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ยูเครนแบบชุดใหญ่ ล่าสุด รัฐบาลไบเดนแจ้งต่อรัฐสภาคองเกรสว่า มีแผนเตรียมยกเลิกหนี้สินที่ยูเครนติดค้างมูลค่า 4,650 ล้านดอลลาร์ (ราว 160 ล้านบาท) ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่สหรัฐต้องการสนับสนุนรัฐบาลเคียฟอย่างเต็มที่ ก่อนว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จะกลับคืนสู่อำนาจ 

รายงานระบุว่า รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เตรียมยกเลิกเงินกู้เกือบครึ่งหนึ่งของยอดเงินกู้ 9,000 ล้านดอลลาร์ที่ให้กับยูเครน หรือราว 4,650 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณช่วยเหลือเพิ่มเติมมูลค่า 60,000 ล้านดอลลาร์ที่อนุมัติเมื่อเดือนเม.ย.

โดยว่า การยกเลิกหนี้สินที่ช่วยให้ยูเครนได้รับชัยชนะ ถือเป็นผลประโยชน์ของชาติของสหรัฐและพันธมิตรสหภาพยุโรป (อียู), G7 และพันธมิตรองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้)

ความเคลื่อนไหวนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามปธน.ไบเดนที่ต้องการสนับสนุนยูเครนมากขึ้น ก่อนที่โดนัลด์ ทรัมป์ จะกลับมายังทำเนียบขาวในเดือนม.ค. ซึ่งทรัมป์บอกไว้ว่า สิ่งสำคัญของเขาคือ การผลักดันรัสเซียและยูเครนสู่การเจรจาอย่างสันติ ทำให้ผู้สนับสนุนยูเครนต่างกังวลว่าทรัมป์อาจตัดงบช่วยเหลือดังกล่าว

ทั้งนี้ กระบวนการยกเลิกหนี้จำเป็นต้องอาศัยการลงมติจากสภา ซึ่งขณะนี้รีพับลิกกันครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ในขณะที่จากพรรคเดโมแครตควบคุมวุฒิสภาอยู่ จึงอาจเป็นการยากที่จะผ่านมติตั้งแต่สภาผู้แทนราษฎร 

ด้านสำนักข่าวสปุตนิกรายงานว่า จากข้อมูลของกระทรวงการคลังของยูเครน  ณ วันที่ 30 กันยายน หนี้สาธารณะและหนี้ค้ำประกันของยูเครนรวมอยู่ที่ 155.69 พันล้านดอลลาร์  (ราว 5.3 ล้านล้านบาท) จำนวนนี้เป็นหนี้สินในต่างประเทศถึง 112.06 พันล้านดอลลาร์ แบ่งเป็นเจ้าหนี้ดังนี้ 

หนี้ต่อสหรัฐ ข้อมูลระบุว่ายูเครนไม่มีหนี้ที่กู้ยืมจากรัฐบาลสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ในเดือนเมษายน สหรัฐฯ อนุมัติแพ็กเกจช่วยเหลือยูเครนมูลค่า 60 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งรวมถึงเงินกู้ 9 พันล้านดอลลาร์ โดยไบเดนมีแผนล้างหนี้ครึ่งหนึ่งของเงินกู้ดังกล่าวตามรายงานในข้างต้น

หนี้ต่อสหภาพยุโรป  ยูเครนมีหนี้ 44.17 พันล้านดอลลาร์ต่อสหภาพยุโรป 14.65 พันล้านดอลลาร์ ต่อธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและพัฒนา (IBRD) และ 12.08 พันล้านดอลลาร์ต่อกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)  

หนี้เงินกู้รัฐบาลต่างชาติ ยูเครนมีหนี้จากการกู้ยืมรัฐบาลประเทศต่าง ๆ เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ และสหราชอาณาจักร รวมมูลค่า 7.74 พันล้านดอลลาร์ โดยแคนาดาเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดที่ 5.11 พันล้านดอลลาร์  

หนี้ภาคเอกชน  ธนาคารแห่งชาติยูเครนระบุว่าธนาคารไซปรัสเป็นเจ้าหนี้หลัก คิดเป็น 48.4% ของหนี้ทั้งหมด ขณะที่สถาบันการเงินในสหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนีถือหนี้ 10.5%, 7.9% และ 3% ตามลำดับ  

หนี้ต่อบริษัทเอกชนระหว่างประเทศ ยูเครนมีหนี้ 1.61 พันล้านดอลลาร์จากการกู้ยืมธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศและองค์กรต่างชาติ อาทิ กู้เงินบริษัทคาร์กิลล์ (730 ล้านดอลลาร์) และธนาคารดอยช์แบงก์ (490 ล้านดอลลาร์)  

หนี้จากพันธบัตร  ยูเครนมีหนี้พันธบัตรยูโรปี 2024 อยู่ที่ 15.22 พันล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ รัฐบาลเคียฟได้ผ่านกฎหมายอนุญาตให้ยูเครนระงับการชำระหนี้ต่างประเทศเมื่อต้นปีที่ผ่านมา 

ทัพสหรัฐส่งเรือบรรทุกเครื่องบิน 3 ลำประจำการในเอเชีย เชื่อรอคำสั่งว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

(25 พ.ย.67) นิเคอิเอเชียรายงานใน ภายในสัปดาห์นี้จะมีเรือบรรทุกเครื่องบินของกองทัพสหรัฐฯ 3 ลำเดินทางถึงฝั่งแปซิฟิกตะวันตก หลังจากไม่ได้ประจำการที่นี่มาหลายเดือน เนื่องจากถูกส่งไปตะวันออกกลาง ท่ามกลางความกังวลว่าอาจเป็นการแสดงท่าทีแข็งกร้าวต่อจีน 

ความคืบหน้าดังกล่าวมีขึ้นในช่วง 50 วันก่อนหน้าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่ง

รายงานระบุว่า เรือบรรทุกเครื่องบินยูเอสเอสจอร์จ วอชิงตัน ซึ่งเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินพลังงานนิวเคลียร์ พร้อมลูกเรือ 2,702 คน มาถึงท่าเรือโยโกซุกะ ในอ่าวโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ท่าเรือที่เป็นที่ตั้งของกองเรือที่ 7 ของสหรัฐ และเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปีที่เรือยูเอสเอสจอร์จ วอชิงตันกลับมายังท่าเรือนี้ นอกจากนี้ เรือยูเอสเอสคาร์ล วินสัน จะเข้าประจำการที่ท่าเรือนี้ในวันที่ 25 พฤศจิกายนนี้เช่นกัน

อีกลำหนึ่งคือ เรือยูเอสเอสอับราฮัม ลินคอล์น ซึ่งขณะนี้อยู่ในมหาสมุทรอินเดีย กำลังมุ่งหน้าผ่านทะเลจีนใต้ โดยอาจมีกำหนดการแวะที่ฐานทัพบนเกาะโอกินาว่า ก่อนจะเดินทางกลับซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนียต่อไป

นาวาตรีเคที โคนิก (Katie Koenig) โฆษกกองเรือประจำภูมิภาคแปซิฟิกของสหรัฐ กล่าวว่า การประจำการของเรือบรรทุกเครื่องบินนี้จะช่วยให้กองกำลังทางทะเลและกองกำลังร่วมสามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว และสหรัฐได้นำเรือที่มีขีดความสามารถสูงที่สุดมาปฏิบัติภารกิจ ซึ่งมีกำลังในการโจมตีและปฏิบัติการที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

นับตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เรือบรรทุกเครื่องบินยูเอสเอสโรนัลด์ เรแกนออกจากท่าโยโกซุกะ สหรัฐไม่ได้มีเรือบรรทุกเครื่องบินประจำการในแปซิฟิกตะวันตกอีก โดยสหรัฐหันไปให้ความสำคัญต่อพื้นที่ในตะวันออกกลางแทนเนื่องจากสถานการณ์ความตึงเครียดในอิสราเอล

เบรนต์ แซดเลอร์ (Brent Sadler) นักวิจัยจากมูลนิธิเฮอริเทจ (Heritage Foundation) กล่าวว่าการเพิ่มกำลังทหารในช่วงนี้ถือเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการทดสอบจากจีน ซึ่งสหรัฐมองว่าจีนเป็นภัยคุกคามอันดับหนึ่งอย่างชัดเจน อีกทั้งมองว่าการเพิ่มกำลังของสหรัฐในแปซิฟิกนี้เกิดขึ้นเพื่อรับมือกับภัยคุกคามจากจีนในช่วง 50 วันที่เหลือก่อนการเข้ารับตำแหน่งของทรัมป์ในวันที่ 20 มกราคม 2025 และอาจทำให้การประจำการในตะวันออกกลางลดลง

ด้านจาค็อบ สโตกส์ (Jacob Stokes) รองผู้อำนวยการโครงการความมั่นคงอินโด-แปซิฟิกที่ศูนย์ความมั่นคงอเมริกันใหม่ (Center for a New American Security) หลังจากนี้เราอาจได้เห็นท่าทีอันแข็งกร้าวจากจีน ด้วยการซ้อมรบบริเวณรอบเกาะไต้หวันหรือบริเวณทะเลจีนใต้ ซึ่งถ้ามีการส่งเรือบรรทุกเครื่องบินไปประจำการเพิ่มขึ้น จะมีทางเลือกที่หลากหลายในการตอบโต้จีนได้มากขึ้น

ทรัมป์เล็งปลดทหาร LGBTQ 15,000 นาย พ้นกองทัพสหรัฐฯ ในวันแรกที่รับตำแหน่ง

(26 พ.ย. 67) โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีแผนออกคำสั่งที่จะนำไปสู่การปลดทหารข้ามเพศทั้งหมดออกจากกองทัพสหรัฐฯ  ซึ่งคาดว่าจะมีทหารราว 15,000 นายที่ได้รับผลกระทบ 

รายงานระบุว่า ทรัมป์อาจลงนามในคำสั่งดังกล่าวตั้งแต่วันแรกที่กลับเข้ามาทำงานในทำเนียบขาว โดยระบุถึงเหตุผลว่า กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศจะถูกปลดประจำการด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ ซึ่งหมายความว่าพวกเขาจะไม่สามารถปฏิบัติภารกิจได้ 

รายงานยังระบุด้วยว่า การปลดทหารข้ามเพศมีขึ้นท่ามกลางที่กองทัพสหรัฐประสบปัญหาในการสรรหาทหารใหม่เข้าประจำการ โดยในบรรดาทั้ง 6 เหล่าทัพของสหรัฐ มีเพียงนาวิกโยธินเท่านั้นที่มีจำนวนกำลังพลเพียงพอและเพิ่มมากขึ้น ซึ่งหากคำสั่งนี้บังคับใช้จะมีบุคลากรเพียงบางส่วนเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ

ทั้งนี้ ภายใต้คำสั่งใหม่ของทรัมป์จะไม่อนุญาตให้บุคคลข้ามเพศเข้าร่วมกองทัพด้วย

สภาสหรัฐฯ โบ้ยจีนเปลี่ยนฮ่องกง จากฮับการเงินสู่แหล่งอาชญากรรมโลก

(26 พ.ย. 67) รอยเตอร์รายงานว่า คณะกรรมาธิการด้านจีนแห่งสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐได้ยื่นหนังสือถึง เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ ระบุว่า ฮ่องกงได้เปลี่ยนบทบาทจากศูนย์กลางการเงินโลกที่เชื่อถือได้ ไปเป็นศูนย์กลางอาชญากรรมทางการเงิน เนื่องจากการปกครองที่เข้มงวดขึ้นของจีน  

หนังสือฉบับนี้ ลงนามโดย จอห์น มูเลนาร์ ประธานคณะกรรมาธิการจากพรรครีพับลิกัน และ ราจา กฤษณะมูรตี จากสังกัดพรรคเดโมแครต โดยระบุว่า หลังการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติในฮ่องกงเมื่อเดือนกรกฎาคม 2020 ฮ่องกงมีบทบาทสำคัญในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลจีน อิหร่าน รัสเซีย และเกาหลีเหนือ  มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ข้อกล่าวหาต่อฮ่องกง อาทิ ช่วยรัสเซียเข้าถึงเทคโนโลยีตะวันตกที่ถูกจำกัด, จัดตั้งบริษัทบังหน้าสำหรับการซื้อน้ำมันอิหร่านที่ถูกคว่ำบาตร, สนับสนุนการค้าทองคำจากรัสเซีย, ใช้เรือขนส่งสินค้าในการค้าผิดกฎหมายกับเกาหลีเหนือ  

หนังสือยังอ้างข้อมูลวิจัยว่า 40% ของสินค้าส่งออกจากฮ่องกงไปยังรัสเซียในปี 2023 เป็นสินค้ากลุ่มเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น เซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งจำเป็นต่อการทำสงครามของรัสเซียต่อยูเครน  

คณะกรรมาธิการตั้งคำถามถึงความเหมาะสมของนโยบายสหรัฐที่เกี่ยวข้องกับฮ่องกง โดยเฉพาะในภาคการเงินและการธนาคาร ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่สหรัฐชี้ว่าการปราบปรามผู้เห็นต่างในฮ่องกงได้บ่อนทำลายหลักนิติธรรมและสิทธิตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งยิ่งตอกย้ำความสัมพันธ์ที่เสื่อมถอยระหว่างสหรัฐและฮ่องกง  


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top