ย้อนรอยการซื้อดินแดนของสหรัฐฯ หลังทรัมป์หวังผนวกกรีนแลนด์
(26 ธ.ค. 67) จากกรณีว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แสดงความสนใจอยากได้กรีนแลนด์มาเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐฯ โดยทรัมป์มีแนวคิดยื่นข้อเสนอซื้อกรีนแลนด์จากเดนมาร์ก ซึ่งแม้จะไม่ชัดเจนว่าเป็นมูลค่าเท่าใด แต่ดูท่าทางเดนมาร์กจะไม่มีวันยอมขายดินแดนกรีนแลนด์ให้สหรัฐอย่างแน่นอน
หากย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา เคยใช้วิธีการจ่ายเงินเพื่อซื้อดินแดนมาผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐมาแล้วในหลายครั้ง โดยมีเหตุการณ์สำคัญดังนี้
การซื้อดินแดนลุยเซียนา เมื่อปี 1803 ประธานาธิบดีโทมัส เจฟเฟอร์สัน ลงนามข้อตกลงกับฝรั่งเศส ซื้อดินแดนลุยเซียนา ซึ่งครอบคลุมพื้นที่กว่า 2.14 ล้านตารางกิโลเมตร ตั้งแต่ลุ่มแม่น้ำมิสซิสซิปปีเริ่มต้นจากอ่าวเม็กซิโกจรดทางใต้ของแคนาดา ด้วยเงินจำนวน 15 ล้านดอลลาร์ในยุคนั้น พร้อมยกหนี้กว่า 3.7 ล้านดอลลาร์ให้ราชสำนักฝรั่งเศส หากคิดเป็นมูลค่าในปัจจุบัน ราคาดินแดนนี้จะสูงถึง 340 พันล้านดอลลาร์
การซื้ออะแลสกา ในปี 1867 สหรัฐฯ เคยซื้อดินแดนอะแลสกาจากจักรวรรดิรัสเซีย ในรัชสมัยของพระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 ด้วยราคา 7.2 ล้านดอลลาร์ ซึ่งหากคิดเป็นค่าเงินปัจจุบันจะอยู่ที่กว่า 109 ล้านดอลลาร์ การซื้อครั้งนี้คุ้มค่าอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับทรัพยากรธรรมชาติ เช่น น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ที่สหรัฐขุดพบในห้วงเวลาต่อมา
สนธิสัญญากัวดาลูปอีดัลโก ในปี 1848 หลังสงครามเม็กซิโก-อเมริกา สหรัฐฯ และเม็กซิโกได้ลงนามในสนธิสัญญากัวดาลูปอีดัลโก ซึ่งระบุให้สหรัฐฯ จ่ายเงิน 15 ล้านดอลลาร์แก่เม็กซิโก เพื่อแลกกับการครอบครองดินแดนทางฝั่งตะวันตก เช่น แคลิฟอร์เนีย และรัฐอื่นๆ พร้อมกำหนดให้แม่น้ำริโอแกรนด์เป็นพรมแดนธรรมชาติ
ขณะการซื้อฟลอริดา หรือที่รู้จักกันในชื่อ สนธิสัญญาอดัมส์–โอนิส (Adams–Onís Treaty) เป็นข้อตกลงที่ลงนามในปี ค.ศ. 1819 ระหว่างสหรัฐอเมริกาและสเปน สนธิสัญญานี้มีความสำคัญในการโอนดินแดนฟลอริดาจากสเปนมายังสหรัฐฯ โดยสหรัฐจ่ายเงินมูลค่า 5 ล้านดอลลาร์แก่ราชสำนักสเปนเพื่อโอนกรรมสิทธิ์การครอบครองดินแดนฟลอริด้า
ภายใต้สนธิสัญญานี้ สเปนได้ยินยอมสละสิทธิ์ในฟลอริดา พร้อมทั้งปรับปรุงขอบเขตของดินแดนในทวีปอเมริกาเหนือเพื่อแก้ไขข้อพิพาทเรื่องพรมแดนระหว่างสองประเทศ การโอนดินแดนนี้ช่วยเสริมอำนาจและอิทธิพลของสหรัฐฯ ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ของทวีป ในขณะที่สเปนเลือกที่จะมุ่งเน้นอำนาจไปที่ดินแดนในอเมริกาใต้แทน
แม้ว่าสหรัฐฯ จะมีประวัติศาสตร์การซื้อดินแดนที่สำคัญหลายครั้ง แต่ในกรณีของกรีนแลนด์ ดูเหมือนว่าการเจรจานี้จะไม่ง่าย เพราะเดนมาร์กยังคงยืนกรานไม่ขายดินแดนดังกล่าวให้สหรัฐฯ อย่างชัดเจน