Friday, 3 May 2024
TodaySpecial

‘สะพานซังฮี๊’ ชาวกรุงเทพคุ้นหูกันเป็นอย่างดี โดยสะพานแห่งนี้ มีชื่อเต็มว่า ‘สะพานกรุงธน’ ถูกสร้างขึ้นมากว่า 63 ปีแล้ว และวันนี้ในอดีต ถือเป็นวันแรกที่มีการเปิดใช้สะพานแห่งนี้อย่างเป็นทางการ ทั้งนี้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสัญจรของผู้คน

สะพานกรุงธน เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่บริเวณถนนราชวิถี เชื่อมระหว่างแขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กับแขวงบางพลัดและแขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร แรกเริ่มเดิมที ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นสะพานที่ช่วยผ่องถ่ายความหนาแน่นการจราจรจากสะพานพระพุทธยอดฟ้า ซึ่งเป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา และเชื่อมต่อผู้คนจากฝั่งพระนครกับฝั่งธนเช่นเดียวกัน

โดยสะพานกรุงธนเริ่มต้นก่อสร้างเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2497 มาแล้วเสร็จและเปิดการจราจรได้เมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2501 เดิมผู้คนเรียกติดปากว่า สะพานซังฮี๊ โดยคำว่า ซังฮี๊ แปลว่า ความยินดี และเป็นชื่อถนนด้านหลังพระราชวังดุสิต ซึ่งเป็นชื่อที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 พระราชทานนาม ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 จึงได้เปลี่ยนมาเป็นชื่อ ถนนราชวิถี

แต่ชาวบ้านในละแวกนั้น ยังคุ้นเคยกับคำว่า ซังฮี๊ จนเมื่อมีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในย่านดังกล่าว จึงเรียกกันเองว่า สะพานซังฮี๊ กระทั่งเมื่อสะพานสร้างเสร็จ รัฐบาลจึงประกาศให้สะพานมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สะพานกรุงธน

เวลาผ่านมา 63 ปี ปัจจุบัน สะพานกรุงธน ยังคงเป็นสะพานที่ทำหน้าที่อำนวยความสะดวก ให้ผู้คนได้สัญจรไปมาตลอดสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่เช่นเดิม นอกจากนี้ยังเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของความเป็นกรุงเทพ ที่เมื่อนึกถึงสะพานที่มีโครงเหล็กอันสวยงาม ตั้งตระหง่านเหนือแม่น้ำเจ้าพระยา ผู้คนก็มักจะนึกถึงชื่อ สะพานกรุงธน นี่เอง


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/สะพานกรุงธน

วันนี้เมื่อ 7 ปีก่อน เกิดข่าวใหญ่ที่ผู้คนทั่วโลกต่างติดตาม เมื่อมีข่าวว่า เครื่องบินโบอิ้ง 777 เที่ยวบิน MH 370 ของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ ได้หายไปอย่างไร้ร่องรอย

ผ่านมาแล้วถึง 7 ปี ผลของการค้นหา ก็ยังไม่สามารถปะติดปะต่อได้ว่า แท้ที่จริงแล้ว เครื่องบินลำนี้ ได้หายไปไหน?

มาเลเซียแอร์ไลน์ MH 370 ทะยานขึ้นจากท่าอากาศยานนานาชาติกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เพื่อเดินทางไปที่ท่าอากาศยานนานาชาติปักกิ่ง ประเทศจีน แต่หลังจากที่บินอยู่เหนือทะเลจีนใต้ไม่ถึง 1 ชั่วโมง เครื่องบินก็หายไปจากจอเรดาร์ของผู้ควบคุมจราจรทางอากาศ

มาเลซียแอร์ไลน์ MH 370 ลำนี้ บรรทุกผู้โดยสาร 227 คน จาก 15 ชาติ และมีลูกเรืออีก 12 ชีวิต ทั้งหมดได้หายสาปสูญไปอย่างไร้ร่องรอย แม้ในระยะแรก ทีมค้นหาจะออกทำการค้นหาชนิดที่เรียกว่า ‘พลิกมหาสมุทร’ โดยขยายวงกว้างครอบคลุมพื้นที่ทะเลอันดามัน อ่าวเบงกอล และมหาสมุทรอินเดียทางตอนใต้ จนเรียกว่าเป็นการค้นหาเครื่องบินหายที่กินพื้นที่กว้างที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์

แต่จนแล้วจนรอด ทีมค้นหาก็ไม่พบหลักฐานที่ชี้ชัดว่า เครื่องบินน่าจะประสบอุบัติเหตุ และตกลงที่ใด สิ่งที่พบเป็นเพียงแค่ เศษซากบางส่วนของเครื่องบิน ซึ่งยังมีความน่างุนงงยิ่งกว่า เนื่องจากแต่ละจุดที่พบเศษซากนั้น อยู่ห่างไกลกัน จนแทบจะเชื่อมโยงหาที่มาที่ไปไม่ถูก

นับถึงวันนี้ ยังมีการคาดการณ์ถึงสาเหตุของการหายสาบสูญไปในหลายทฤษฎี อาทิ การถูกจี้ด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือเกิดจากความดันอากาศบนเครื่องอาจทำงานผิดพลาด จนทำให้เกิดอุบัติเหตุ รวมทั้งอาจเกิดเพลิงไหม้สายไฟที่ใช้ควบคุมการบิน จนทำให้เครื่องบินบินออกนอกเส้นทาง และตกลงกลางมหาสมุทรอินเดียอันกว้างใหญ่ในที่สุด

แต่ทั้งหมดทั้งมวล ก็ยังไม่สามารถชี้ชัดว่า เหตุใดเครื่องบินถึงเกิดอุบัติเหตุ และที่สำคัญ ร่องรอยหลักฐานขนาดใหญ่ ที่บ่งชี้ว่า เป็น MH 370 และจุดเกิดเหตุจริงๆ นั้น ก็ยังไม่สามารถสรุปยืนยันได้จนถึงวันนี้ แต่ถึงอย่างนั้น เหล่าบรรดาญาติของผู้ประสบเหตุ ก็ยังเฝ้ารอคำตอบที่แท้จริง ไม่ว่ามันจะเนิ่นนานสักแค่ไหนก็ตาม


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/มาเลเซียแอร์ไลน์_เที่ยวบินที่_370, https://www.thairath.co.th/news/auto/news/1997157

พระพุทธรูปประดิษฐานอยู่มากมายทั่วประเทศ แต่หากถามว่า มีพระพุทธรูปแห่งไหนที่สูงและมีขนาดใหญ่ที่สุด ต้องยกให้ ‘พระพุทธมหานวมินทรศากยมุนีศรีวิเศษชัยชาญ’ ซึ่งวันนี้เมื่อ 30 ปีก่อน ถือเป็นวันแรกที่มีการสร้างพระพุทธรูปองค์สำคัญนี้

กล่าวสำหรับ พระพุทธมหานวมินทรศากยมุนีศรีวิเศษชัยชาญ หรือที่ชาวบ้านในพื้นที่เรียกจนติดปากว่า ‘หลวงพ่อใหญ่’ ประดิษฐานอยู่ ณ วัดม่วง อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง โดยเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ที่สร้างขึ้นโดยดำริของ พระครูวิบูลอาจารคุณ เจ้าอาวาสองค์แรกของวัดม่วงนั่นเอง

พระพุทธมหานวมินทรศากยมุนีศรีวิเศษชัยชาญ ถูกสร้างขึ้นเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2534 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 รวมระยะเวลากว่า 16 ปี โดยเป็นพระพุทธรูปที่มีความสูงจากฐานองค์พระถึงยอดเกศา 95 เมตร หรือเทียบเท่าตึก 40 ชั้น และมีความกว้างของหน้าตักอยู่ที่ 63.05 เมตร ซึ่งหากเดินรอบองค์พระ ต้องใช้เวลากว่า 3 นาที

ด้วยเหตุนี้ จึงได้รับการยกให้เป็น พระพุทธรูปที่สูงที่สุดในประเทศไทย และยังจัดเป็นพระพุทธรูปที่ใหญ่ที่สุดองค์หนึ่งของโลกอีกด้วย ทั้งนี้พระครูวิบูลอาจารคุณ ผู้ที่มีส่วนในการสร้างพระพุทธรูปองค์สำคัญนี้ มิได้อยู่ร่วมในวันที่สร้างเสร็จ เนื่องจากมรณภาพลงเสียก่อน แต่ท่านก็เป็นผู้ที่ให้ชื่อพระพุทธรูปว่า พระพุทธมหานวมินทรศากยมุนีศรีวิเศษชัยชาญ

โดยเจตนารมย์ของการสร้างพระพุทธรูปองค์นี้ เพื่ออุทิศให้แก่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งปัจจุบัน ‘หลวงพ่อใหญ่’ ได้กลายเป็นพระพุทธรูปสำคัญประจำจังหวัด เป็นสถานที่กราบสักการะของคนในพื้นที่ และประชาชนผู้มีจิตศรัทธาทั่วประเทศ


ที่มา: https://th.wikipedia.org/พระพุทธมหานวมินทรศากยมุนีศรีวิเศษชัยชาญ

วันนี้เมื่อ 25 ปีก่อน เป็นวันที่ต้องถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ชาติไทย โดยเป็นวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ ‘สมเด็จย่า’ ของปวงชนชาวไทย

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระราชสมภพเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2443 มีพระนามเดิมว่า สังวาลย์ ตะละภัฏ ทรงเป็นพระชายาในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เป็นพระราชชนนีในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และเป็นพระอัยยิกาในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10

ตลอดพระชนชีพ สมเด็จย่า ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อประชาชนชาวไทยอย่างมากมาย อาทิ ทรงให้การอุปถัมป์ราษฎรชาวไทยภูเขาที่อาศัยในถิ่นทุรกันดาร เพื่อให้มีอาชีพ ตลอดจนมีคุณภาพชีวิตที่ดี จนเป็นที่มาของ ‘มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง’ นอกจากนี้ยังทรงเป็นแบบอย่างของความพอเพียง ทรงสอนพระโอรสและพระธิดา ให้รู้จัก ‘การให้’ มาตั้งแต่เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์

โดยสมเด็จย่าจะทรงตั้งกระป๋องออมสินเรียกว่า ‘กระป๋องคนจน’ หากทรงนำเงินไปทำกิจกรรมแล้วมีกำไร จะต้องถูก ‘เก็บภาษี’ หยอดใส่กระปุกนี้ 10% และทุกสิ้นเดือน สมเด็จย่าจะเรียกประชุมเพื่อตรัสว่า จะนำเงินในกระป๋องไปทำอะไร เช่น มอบให้โรงเรียนตาบอด มอบให้เด็กกำพร้า หรือทำกิจกรรมเพื่อคนยากจน

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงพระประชวร โดยมีพระอาการทางพระหทัยกำเริบและทรงเหนื่อยอ่อน โดยเข้าประทับรักษาพระองค์ ณ โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2538 จนกระทั่งในวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 ทรงมีพระอาการทรุดลง เนื่องด้วยมีพระอาการแทรกซ้อนทางพระยกนะ (ตับ) และพระวักกะ (ไต) ไม่ทำงาน พระหทัย (หัวใจ) ทำงานไม่ปกติ ความดันพระโลหิตต่ำทำให้เกิดภาวะเป็นกรดในพระโลหิต

คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาความผิดปกติของระบบต่าง ๆ แต่พระอาการคงอยู่ในภาวะวิกฤต จนเมื่อเวลา 21.17 น. สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จสวรรคต สิริพระชนมายุ 94 พรรษา ต่อมาจึงมีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2539 ณ พระเมรุ ท้องสนามหลวง


ที่มา: https://www.tnews.co.th/religion/

ประเทศไทยมีตำรา หนังสือ กันมานับร้อยปี แต่สำหรับในแวดวงวรรณกรรม หรืองานเขียนแนวเรื่องแต่ง ประเภทนวนิยาย เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ซึ่งวันนี้ถือเป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ ครบรอบ 111 ปี

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร มีพระนามเดิมว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าคัคณางคยุคล เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ต่อมาในรัชสมัยของสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ให้พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าคัคณางคยุคล เป็นองคมนตรี ก่อนที่ในปี พ.ศ.2419 จะทรงแต่งตั้งให้เป็นอธิบดีศาลฎีกา พระองค์แรกของประเทศไทย และเป็นอธิบดีศาลแพ่งกลาง และศาลแพ่งเกษม อีก 2 ศาล ในเวลาต่อมา

นอกจากพระปรีชาสามารถในด้านกฎหมาย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ยังมีพระอัจฉริยภาพในด้านการพระนิพนธ์บทร้อยแก้วและร้อยกรองมากมายหลายเรื่อง เช่น ท้ายกาสีหา นางปทุมสังกา รวมทั้งยังทรงสนใจงานเขียนทางตะวันตก ประเภท fiction และ novel จนเป็นที่มาของการทรงนิพนธ์เรื่อง ‘สนุกนึก’ ซึ่งเป็นเรื่องสั้นกึ่งนิยาย หรือที่เรียกว่าเป็น บันเทิงคดี ตามแบบอย่างนิยายตะวันตก เป็นเรื่องแรกของประเทศไทยอีกด้วย

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ทรงเป็นต้นแบบของผู้ที่มีความใฝ่รู้ในการศึกษา โดยครั้งหนึ่งทรงศึกษาภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เอง จนสามารถอ่านงานเขียนชาวตะวันตก และนำมาประยุกต์ในงานพระนิพนธ์ของพระองค์เอง ต่อมาในปี พ.ศ.2439 ทรงเริ่มประชวรด้วยพระอาการพระวัณโรคภายใน และมีพระอาการทรงกับทรุดเรื่อยมา จนเมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2453 ได้สิ้นพระชนม์ลง สิริพระชันษาได้ 54 ปี


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/พระเจ้าบรมวงศ์เธอ_กรมหลวงพิชิตปรีชากร

เรารู้จัก ‘โควิด - 19’ กันมาปีเศษ ๆ แต่หากย้อนเวลากลับไปราว 18 ปีก่อน มีไวรัสที่เป็นสายพันธุ์แรกของ โควิด - 19 เกิดขึ้นมาบนโลกใบนี้ มันมีชื่อว่า SARS ซึ่งในวันนี้เมื่อ 18 ปีก่อน องค์การอนามัย ได้ประกาศให้ ‘โรคซาร์ส’ เป็นโรคระบาดร้ายแรงของโลกชนิดหนึ่ง

โรคซาร์ส (SARS) หรือ กลุ่มอาการทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (Severe Acute Respiratory Syndrome) เป็นโรคที่เกิดจากไวรัสชื่อ SARS-CoV เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศจีนเมื่อช่วงปลายปี พ.ศ. 2545 ความน่ากลัวของโรคซาร์ส คือเมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกาย ผู้ป่วยจะเริ่มมีไข้สูง ปวดเมื่อย หนาวสั่น ท้องเสีย ไอแห้ง หายใจถี่ ซึ่งเป็นลักษณะอาการที่คล้ายกับโรคไข้หวัดทั่วไป

แต่นอกเหนือไปกว่านั้น ผู้ป่วยโรคซาร์สบางคนอาจมีอาการร่วมอื่นๆ เช่น โรคปอดบวม หรือมีการติดเชื้อของปอด ส่วนในกรณีที่เลวร้ายมากๆ ผู้ป่วยอาจมีอาการระบบทางเดินหายใจล้มเหลว ตับวาย หรือแม้แต่หัวใจล้มเหลว เสียชีวิตได้

ไวรัสซาร์ส สามารถแพร่เชื้อได้ด้วยตัวมันเอง โดยมันสามารถแพร่กระจายไปทางอากาศ เข้าสู่ร่างกายคนได้ทั้งทางปาก จมูก และดวงตา ในช่วงปี พ.ศ. 2545 - 2546 ถือเป็นช่วงการระบาดครั้งสำคัญ มีประชาชนในประเทศต่าง ๆ กว่า 24 ประเทศ ติดเชื้อกว่า 8,098 ราย และมีผู้เสียชีวิตกว่า 774 ราย

จึงเป็นที่มาที่องค์การอนามัยโลก ต้องประกาศให้ โรคซาร์ส หรือ โรงทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง เป็นโรคระบาดร้ายแรงในเวลานั้น แต่ต่อมาภายหลัง การระบาดก็ค่อย ๆ คลี่คลายลง นับจากปี พ.ศ.2547 เป็นต้นมา

นับถึงวันนี้ ยังไม่มีวัคซีนตัวไหน ที่ได้รับการยอมรับว่า สามารถรักษาโรคซาร์สได้จริง แต่การระบาดก็ยังไม่หวนกลับมาอีก แต่ต่อมา ก็ปรากฎไวรัสจากสายพันธุ์เดียวกันอย่าง โรคเมอร์ส (Mers-CoV) หรือแม้แต่ โรคโควิด - 19 ที่มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า SARS-CoV-2 ออกมาระบาดชนิดรุนแรง คร่าชีวิตผู้คนไปมากมาย และยังไม่มีทีท่าว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลงเมื่อใด


ที่มา: https://www.catdumb.tv/severe-acute-respiratory-syndrome-378/

ประเทศไทยมีสัตว์มากมายหลายชนิด แต่มีสัตว์ชนิดหนึ่ง ที่ผูกพันกับความเป็นชนชาติไทย มาตั้งแต่ครั้งยุคโบราณ สัตว์ชนิดนั้นก็คือ ช้าง และในวันนี้ของทุก ๆ ปี ยังถูกยกให้เป็น ‘วันช้างไทย’ กำหนดขึ้นมาเพื่อยกย่อง และให้เกียรติสัตว์ประจำชาติชนิดนี้โดยเฉพาะ

‘ช้างไทย’ มีความสำคัญต่อชาติไทยมายาวนาน ในอดีต กษัตริย์ไทยมักใช้ช้างในการออกรบจับศึก หรือในสมัยรัชกาลที่ 2 ยังเคยกำหนดให้ธงชาติไทย เป็นรูปช้างเผือก ด้วยมีความเชื่อว่า ช้างเผือกเป็นสัตว์คู่บารมีของพระมหากษัตริย์

ช้างไทย ยังปรากฎในพระราชพิธีสำคัญของชาติ เช่น เมื่อสมัยแรกเริ่มการตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ ช้างคือพาหนะสำคัญที่อัญเชิญพระพุทธมณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต มาสถิตย์ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม นอกจากนี้ในงานพระราชพิธีต่าง ๆ อาทิ พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา, งานพระราชพิธีฉัตรมงคล ยังมีการนำช้างเผือกมาแต่งเครื่องคชาภรณ์ เพื่อประกอบพระเกียรติยศด้วยเสมอ

เวลาผ่านไป ช้างยังถูกนำมาใช้ในกิจการต่าง ๆ มากมาย และยังคงผูกพันกับสังคมไทยมาตลอด วันนี้ถือเป็น ‘วันช้างไทย’ จึงอยากให้คนไทยพร้อมใจกันระลึกถึงความสำคัญของสัตว์คู่บ้านคู่เมืองชนิดนี้ ยิ่งในเวลานี้ ที่มีโรคโควิด-19 ระบาดหนัก ปางช้างในประเทศไทยหลายแห่ง ประสบกับภาวะขาดแคลนอาหาร เนื่องจากปริมาณนักท่องเที่ยวที่เข้าเยี่ยมชมลดลงอย่างมาก

วันนี้ในฐานะ ‘วันช้างไทย’ จึงขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งต่อความช่วยเหลือ โดยสามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ สมาคมสหพันธ์ช้างไทย https://www.thaielephantalliance.org/ เพื่อร่วมสมทบทุน และเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยช้างไทยด้วยกัน


ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/870544, https://idgthailand.com/elephant_day-2018/

หากย้อนกลับไปเมื่อกว่า 60 ปีก่อน มีนักสื่อสารมวลชนคนหนึ่งที่ถือได้ว่า เป็นผู้บุกเบิกวงการข่าว และหนังสือพิมพ์ของเมืองไทย เขาคนนั้นคือ 'อิศรา อมันตกุล'

อิศรา อมันตกุล เกิดเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2464 จบชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ก่อนจะเริ่มต้นการทำงานด้วยการเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ ต่อมา นายอิศราได้เข้าสู่แวดวงหนังสือพิมพ์ ด้วยการเป็นนักข่าวให้กับหนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษ และหนังสือพิมพ์ประชามิตร ตามลำดับ

เมื่อเวลาผ่านไป นายอิศรายังเป็นทีมงานในหนังสือพิมพ์อีกหลายฉบับ กระทั่งได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือพิมพ์บางกอกเดลิเมล์ (หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ในปัจจุบัน) โดยในช่วงปี พ.ศ. 2501 เกิดการรัฐประการ นำโดยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ หนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่ถูกปิด และนายอิศรา ในฐานะบรรณาธิการหนังสือพิมพ์บางกอกเดลิเมล์ รวมทั้งบรรณาธิการหนังสือพิมพ์อื่น ๆ อีกหลายฉบับ ต่างถูกจับ ด้วยข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์

นายอิศรา ถูกคุมขังอยู่เกือบ 6 ปี จึงถูกปล่อยตัวออกมา และกลับเข้าทำงานในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์อีกครั้ง โดยตลอดชีวิตการทำงาน นายอิศรา อมันตกุล ถือเป็นนักสื่อสารมวลชนที่เป็นที่ยอมรับในเรื่องการนำเสนอข่าวสารที่ตรงไปตรงมา เจ้าตัวเคยดำรงตำแหน่งเป็นนายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยคนแรก และดำรงตำแหน่งติดต่อกันเป็นเวลาถึง 3 ปี

ในช่วงท้ายของชีวิต นายอิศราล้มป่วยด้วยโรคมะเร็งที่ลิ้น ใช้เวลารักษาตัวอยู่ราว 10 เดือน ก่อนจะเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2512 แต่ถึงแม้ตัวจะจากไป ชื่อเสียงและผลงาน ในฐานะนักสื่อสารมวลชนคนสำคัญ ก็มิได้เลือนหายไป

โดยหลังจากที่นายอิศราเสียชีวิตไปไม่นาน ได้มีการก่อตั้ง ‘มูลนิธิอิศรา อมันตกุล’ ขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ และต่อมา ยังใช้ชื่อ ‘อิศรา อมันตกุล’ เป็นชื่อในการมอบรางวัลให้กับนักข่าวและนักสื่อสารมวลชนรุ่นหลัง ที่มีผลงานดีเด่น เป็นประจำทุกปีอีกด้วย


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/อิศรา_อมันตกุล

วันนี้เมื่อกว่า 163 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระราชกำเนิด ‘หนังสือราชกิจจานุเบกษา’ สิ่งพิมพ์ที่เรียกว่า มีความสำคัญ และอยู่คู่กับประเทศไทยมาอย่างยาวนาน

หนังสือราชกิจจานุเบกษา เป็นหนังสือลงประกาศใช้กฎหมายและข่าวสำคัญต่าง ๆ ของชาติบ้านเมือง เริ่มจัดพิมพ์ขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทั้งนี้เพื่อเป็นการประกาศข่าวสาร และป้องกันความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ตามพระราชปรารภ โดยจัดตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอเดอ ของหมอบรัดเลย์

ปัจจุบันหนังสือราชกิจจานุเบกษา ยังถูกตีพิมพ์ติดต่อกันมาโดยตลอด ถือเป็นสิ่งพิมพ์ที่มีอายุยาวนานที่สุดของประเทศไทย โดยมีสำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เป็นผู้รับผิดชอบจัดพิมพ์ และเผยแพร่เป็นรายสัปดาห์

ทั้งนี้เนื้อหาที่ปรากฏในหนังสือ แบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ประเภทแรก คือ การบอกข้อราชการ และข่าวต่าง ๆ ส่วนประเภทที่สอง คือ แจ้งความ ประกาศ พระราชบัญญัติ และกฎหมายต่าง ๆ โดยตามธรรมเนียมปฏิบัติ สามารถสมัครเป็นสมาชิกรับหนังสือราชกิจจานุเบกษาได้ตั้งแต่ เดือนกันยายนถึง 30 พฤศจิกายน ของทุกปี

ผ่านมาจนถึงวันนี้ กว่า 163 ปีมาแล้ว ที่หนังสือราชกิจจานุเบกษา ยังคงตีพิมพ์เผยแพร่ข่าวสารสำคัญ นอกจากจะเป็นสิ่งพิมพ์ฉบับสำคัญของประเทศ ยังเป็นเสมือนบทบันทึกเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์มากมาย ทั้งเรื่องการเมือง การปกครอง ขนบประเพณี ตลอดจนวิวัฒนาการทางภาษา และการพิมพ์ ที่คนรุ่นหลัง สามารถใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงที่มีความน่าเชื่อถือ และมีความแม่นยำเป็นอย่างมากอีกด้วย


ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/878787

หลายคนคุ้นเคยกับอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ด หรือบริการอาหารจานด่วน ซึ่งหากย้อนเวลากลับไป วันนี้เมื่อ 36 ปีที่แล้ว เมืองไทยมีแบรนด์ฟาสต์ฟู้ดชื่อดังมาเปิดสาขาเป็นครั้งแรก นั่นคือ แมคโดนัลด์

ร้านแมคโดนัลด์ เปิดบริการอย่างเป็นทางการในประเทศไทย สาขาแรกที่อาคารอมรินทร์พลาซา บริเวณสี่แยกราชประสงค์ โดยการนำเข้ามาของ เดช บุลสุข นักธุรกิจ อดีตผู้ก่อตั้ง บริษัท แมคไทย จำกัด และเป็นผู้บริหารร้านแมคโดนัลด์ในยุคแรกเริ่ม

แมคโดนัลด์ ถือเป็นร้านอาหารสาขาข้ามชาติในยุคแรก ๆ ที่เข้ามาดำเนินกิจการในประเทศไทย ก่อนที่จะมีร้านในลักษณะแฟรนไชส์เกิดขึ้นในประเทศอีกมากมาย และทำให้กระแสการบริโภคอาหารประเภทบริการจานด่วน หรือ ฟาสต์ฟู้ด กลายเป็นที่นิยม และเป็นส่วนหนึ่งในวิถีการบริโภคของคนไทยมาโดยตลอด

สำหรับแบรนด์ แมคโดนัลด์ ต้นกำเนิด ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อปี ค.ศ. 1948 (หรือ พ.ศ. 2491) เป็นร้านแฮมเบอร์เกอร์ที่ตั้งอยู่ในเมืองเล็ก ๆ ในรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยมีจุดขายคือการนำระบบการบริการที่รวดเร็วเข้ามาใช้ จนกลายเป็นต้นกำเนิดของร้านอาหารแบบฟาสต์ฟู้ดนับแต่นั้นเป็นต้นมา

ปัจจุบัน แมคโดนัลด์ มีสาขามากกว่า 30,000 สาขา ใน 121 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย โดยสาขาแรกในประเทศไทย จัดเป็นประเทศที่ 35 ของโลก และถึงวันนี้ มีสาขาแมคโดนัลด์ที่เปิดทำการในประเทศไทยอยู่กว่า 245 สาขา และยังคงครองใจคนรักแฮมเบอร์เกอร์ จากอดีตจนถึงปัจจุบัน


ที่มา:

https://www.mcdonalds.co.th/aboutUs?lang=th,

https://th.wikipedia.org/wiki/แมคโดนัลด์


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top