Friday, 3 May 2024
TodaySpecial

5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2404 กำเนิด ‘ถนนเจริญกรุง’ ถนนสายหลักที่สร้างให้ชีวิตคนไทยเปลี่ยนแปลงสู่วิถีอันทันสมัย

ถ้าเป็นสายฮิปสเตอร์ ชื่อ ‘ถนนเจริญกรุง’ ในวันนี้ คือถนนที่เต็มไปด้วยร้านค้า คาเฟ่ บูติกโฮเทลเก๋ๆ ที่ผุดขึ้นมาเรียงรายสองฝั่งถนน แต่หากสืบย้อนกลับไป ถนนที่มีความยาวกว่า 8,575 เมตร สายนี้ ได้ชื่อว่า เป็นถนนสายหลักแห่งแรกของประเทศไทย

ถนนเจริญกรุง ถูกดำริให้สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2404 โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นด้วยเหตุที่มีชาวต่างชาติ ได้เข้ามาทำธุรกิจห้างร้าน รวมถึงที่ทำการกงสุลต่างๆ ก็ถูกก่อสร้างขึ้นในย่านนี้ ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ได้ขอให้สร้างถนนสายสำหรับขี่ม้า หรือนั่งรถม้า พระองค์จึงทรงดำริให้มีการสร้างถนนที่มีมาตรฐานขึ้น แล้วเสร็จเมื่อราวปี พ.ศ. 2407

แรกเริ่มเดิมที ผู้คนเรียกถนนสายนี้ว่า ถนนใหม่ ส่วนฝรั่งเรียกว่า นิวโรด (New Road) และชาวจีนเรียกว่า ซินพะโล้ว แปลว่า ถนนตัดใหม่ เช่นกัน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามถนนว่า ‘ถนนเจริญกรุง’ ซึ่งมีความหมายถึง ความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง

ถนนเจริญกรุงในยุคก่อน ได้ชื่อว่าเป็นถนนที่ใหญ่และยาวที่สุด โดยแบ่งเป็น 2 ตอน คือ ถนนเจริญกรุงตอนใน ตั้งแต่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ถึงสะพานดำรงสถิต (สะพานเหล็ก) และถนนเจริญกรุงตอนใต้ ตั้งแต่สะพานเหล็กออกไปนอกกำแพงพระนคร ต่อเนื่องไปถึงตลาดน้อย บางรัก จรดดาวคะนอง (ในปัจจุบัน)

เมื่อมีถนนหลักใหม่และงดงาม จึงนำมาซึ่งวิถีชีวิตของผู้คนสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็น การสร้างอาคาร ห้างร้าน บ้านเรือน ไปตลอดแนวถนน ต่อมามีการติดไฟฟ้านำทางส่องสว่าง และด้วยความสวยงามของท้องถนน ผู้คนจึงรู้จักที่จะออกมาใช้ชีวิตในยามค่ำคืนกันมากขึ้น จนเป็นที่มาของถนนที่ได้ชื่อว่า เป็นถนนที่ไม่มีวันหลับใหล ตราบจนทุกวันนี้ ‘เจริญกรุง’ ก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คน แม้สองข้างทางจะเก่าแก่ไปตามกาลเวลา แต่จิตวิญญาณของถนนที่ได้ชื่อว่า เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทย ก็ยังคงปรากฎอยู่เช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง


ที่มา: https://sites.google.com/site/ibkkgroup3/home/yan-ceriykrung

วันนี้เป็นวันสำคัญ โดยเฉพาะในมุมเรื่องราววัฒนธรรมของชาติ เนื่องจากวันนี้ถูกยกกำหนดให้เป็น ‘วันมวยไทยแห่งชาติ’

โดยที่มาของวันนี้ สืบเนื่องจากกระทรวงวัฒนธรรม เล็งเห็นถึงคุณค่าของศิลปะการต่อสู้อันเก่าแก่ของชาติไทย ซึ่งปัจจุบันได้รับการความเผยแพร่ต่อในระดับนานาชาติ กลายเป็นศาสตร์การต่อสู้และป้องกันตัวที่ทั่วโลกให้การยอมรับ จึงได้มีการประกาศขึ้นทะเบียนมวยไทย เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

นอกจากนี้ กระทรวงวัฒนธรรมยังได้ร่วมกับหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องอีกหลายฝ่าย ผลักดันให้มีการสถาปนา ‘วันมวยไทย’ โดยเลือกเอาวันขึ้นเสวยราชสมบัติของสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 (สมเด็จพระเจ้าเสือ) แห่งราชอาณาจักรอยุธยา คือวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2245 เป็นวันมวยไทย

เหตุที่เลือกเอาวันเสวยราชสมบัติของสมเด็จพระเจ้าเสือ เนื่องจากพระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถในศิลปะการต่อสู้ประเภทนี้ ครั้งหนึ่งขณะที่ยังดำรงตำแหน่งเป็นหลวงสรศักดิ์ ทรงเคยชกต่อยกับพระยาวิไชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ขุนนางฝรั่งในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมาแล้ว

สมเด็จพระเจ้าเสือยังทรงวางระบบการคัดเลือกชายฉกรรจ์มาฝึกมวยไทยในราชสำนัก โดยเป็นพระอาจารย์ด้วยพระองค์เอง และทรงคิดตำรับท่าแม่ไม้มวยไทยซึ่งเรียกว่ามวยไทยตำรับพระเจ้าเสือ ตำราแม่ไม้มวยไทยที่เก่าแก่ที่สุด ต่อมายังได้ถูกบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรในสมัยรัชกาลที่ 5 อีกด้วย

มวยไทยถือเป็นศิลปะการต่อสู้และศาสตร์การป้องกันตัวของชนชาติไทยที่เป็นเอกลักษณ์ ควรค่าแก่การอนุรักษ์และเผยแพร่แก่คนรุ่นหลังให้ได้สืบต่อและรักษาเอาไว้ตราบนานเท่านาน

7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2500 ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จทำพิธีเปิด ‘เขื่อนเจ้าพระยา’ เขื่อนทดน้ำขนาดใหญ่ที่ทำประโยชน์ให้พื้นที่เกษตรภาคกลางมากว่า 64 ปี

วันนี้เมื่อกว่า 64 ปีมาแล้ว เป็นวันสำคัญเมื่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จพระราชดำเนินไปในการทำพิธีเปิด ‘เขื่อนเจ้าพระยา’ ซึ่งเป็นเขื่อนทดน้ำแห่งแรกของประเทศไทย

กล่าวถึงเขื่อนเจ้าพระยา เริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. 2495 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2500 โดยเป็นเขื่อนทดน้ำ ที่ไม่ใช่สำหรับกักเก็บน้ำ สร้างขวางแม่น้ำเจ้าพระยา ทำหน้าที่ยกระดับน้ำให้สูงขึ้น +16.50 เมตร จากระดับน้ำทะเล เพื่อส่งน้ำเข้าไปยังลำคลอง ในพื้นที่การเกษตร ทั้งฝั่งซ้ายและขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา

โดยที่มาของเขื่อนเจ้าพระยานี้ เกิดจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานแนวทางการบรรเทาและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเรื่องน้ำให้กับพสกนิกร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อการอุปโภค บริโภค บรรเทาอุทกภัย และแก้ไขปัญหาน้ำทะเลหนุน จึงเป็นที่มาของการสร้างเขื่อนเจ้าพระยาแห่งนี้

ผ่านมากว่า 64 ปีแล้ว ในวันนี้ เขื่อนเจ้าพระยาก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งในการทำประโยชน์ให้พื้นที่ภาคกลาง โดยเฉพาะพื้นที่การเกษตรที่ได้รับประโยชน์จากเขื่อนแห่งนี้มาตลอดกว่า 7.5 ล้านไร่

วันนี้เมื่อปีที่แล้ว เกิดเหตุระทึกขวัญที่ผู้คนทั้งประเทศต่างติดตามกันตลอดทั้งวัน เมื่อสถานีข่าวแทบทุกสำนัก รายงานข่าวว่า มีชายผู้หนึ่งนำอาวุธชนิดร้ายแรง ไล่กราดยิงผู้คนจนถึงแก่ความตายเป็นว่าเล่น

เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นที่จังหวัดนครราชสีมา โดยผู้ก่อเหตุมีชื่อว่า จ่าสิบเอก จักรพันธ์ ถมมา เป็นทหารสังกัดกองพันสรรพาวุธ ค่ายสุรธรรมพิทักษ์ จังหวัดนครราชสีมา เจ้าตัวเกิดบันดาลโทสะ ยิงหัวหน้าสังกัดของตัวเองตาย ก่อนจะบุกเข้าไปขโมยอาวุธร้ายแรงในค่ายเพิ่มเติม แล้วออกเที่ยวไล่ยิงผู้คนที่ผ่านไปมา

ต่อมาเขาเดินทางไปยังห้างเทอมินอล 21 โคราช แล้วนำอาวุธกราดยิงผู้คน พร้อมกับใช้เฟซบุ๊กในการจับความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่ภายนอก และจับตัวประกันเอาไว้ 16 คน

เมื่อเวลาผ่านไปกว่าค่อนคืน เจ้าหน้าที่ตัดสินใจนำกำลังบุกเข้าไปช่วยเหลือตัวประกันในห้าง พร้อมยิงปะทะกับคนร้าย สุดท้ายคนร้ายถูกวิสามัญได้ในที่สุด เจ้าหน้าที่สามารถเข้าควบคุมสถานการณ์เอาไว้ได้ก่อนฟ้าสางของวันใหม่

จากเหตุการณ์ระทึกขวัญกว่า 17 ชั่วโมงนี้ มีผู้เสียชีวิตกว่า 31 ราย (นับรวมทั้งเจ้าหน้าที่, ประชาชน และผู้ก่อเหตุ) และมีจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บอีกกว่า 57 ราย นับเป็นเหตุการณ์รุนแรงที่หลายฝ่ายต้องหันกลับทบทวนเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย ตลอดจนดูแลคนใกล้ตัวเรื่องปัญหาสภาพจิตใจ เพื่อไม่ให้ก่อเหตุการณ์ร้ายๆ และสังคมต้องพบกับความสูญเสียเช่นนี้อีก

9 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1895 126 ปี กำเนิด ‘วอลเล่ย์บอล’ หนึ่งในกีฬายอดฮิตของผู้คนทั่วโลก

หากจะไล่เรียง ‘กีฬามหาชน’ ที่คนไทยชื่นชอบ หนึ่งในนั้นต้องมี ‘กีฬาวอลเล่ย์บอล’ อย่างแน่นอน โดยเฉพาะทีมวอลเล่ย์บอลหญิงทีมชาติไทย ที่สร้างผลงานจนเป็นที่ยอมรับ รวมทั้งครองใจแฟนๆ กีฬาชาวไทยมานับ 10 ปี ซึ่งวันนี้มีความสำคัญกับกีฬาชนิดนี้ เนื่องจากเป็นวันกำเนิด ‘กีฬาวอลเล่ย์บอล’ ขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก

ย้อนเวลากลับไปกว่า 126 ปี กีฬาวอลเล่ย์บอลเกิดขึ้นโดยนายวิลเลี่ยม จี. มอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายพลศึกษาของสมาคม Y.M.C.A (Young Men’s Christian Association) ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีความประสงค์อยากให้มีกีฬาในร่มไว้เล่นกันในช่วงฤดูหนาว

นายวิลเลี่ยมได้นำตาข่ายกลางสนามของกีฬาเทนนิส มาใช้เป็นส่วนประกอบในกีฬาชนิดใหม่ที่เขาคิดค้นขึ้น และประดิษฐ์ลูกบอลแบบใหม่ ให้มีขนาด 25 - 27 นิ้ว รวมทั้งกำหนดน้ำหนักไว้ที่ 8 - 12 ออนซ์ พร้อมตั้งกติกาให้มีผู้เล่นข้างละ 6 คน สามารถตีลูกบอลได้ข้างละ 3 ครั้ง เพื่อให้ข้ามไปยังอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งทีแรกเขาตั้งชื่อให้มันว่า มินโทเนตต์ (Mintonette)

กระทั่งเมื่อปี ค.ศ. 1896 จึงถูกเปลี่ยนชื่อเป็น วอลเล่ย์บอล และกลายเป็นกีฬายอดฮิตในอเมริกาในช่วงเวลาไม่นานนัก ผ่านมาถึงปี ค.ศ. 1964 กีฬาวอลเล่ย์บอลก็ได้ถูกบรรจุเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกีฬาโอลิมปิคฤดูร้อน ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งครั้งนั้น ทีมวอลเล่ย์บอลหญิงทีมชาติญี่ปุ่น และทีมวอลเล่ย์บอลชายแห่งสหภาพโซเวียต (ชื่อเดิมของรัสเซีย) ก็ได้ครองเหรียญทองโอลิมปิคเป็นหนแรก

ส่วนในประเทศไทยนั้น มีการตั้งสมาคมวอลเล่ย์บอลสมัครเล่นแห่งประเทศไทยขึ้น ในปี พ.ศ.2500 ก่อนที่จะกีฬาชนิดนี้ จะได้รับความนิยมมากขึ้นเป็นลำดับ และกลายเป็นกีฬาที่คนไทยให้ความสนใจทุกครั้งที่มีการแข่งขันในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะทีมวอลเล่ย์บอลหญิงทีมชาติไทย ที่นอกจากจะสร้างผลงานจนเป็นทีมในระดับหัวแถวของโลกแล้ว ครั้งหนึ่งยังเคยสร้างเหตุการณ์ ‘วอลเล่ย์บอลไทยฟีเวอร์’ มีผู้คนต่อแถวซื้อตั๋วเข้าชมการแข่งขันของพวกเธอยาวเป็นกิโลเมตรมาแล้ว

นอกจากเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ที่คอยดูแลความปลอดภัยให้กับผู้คนในประเทศแล้ว ยังมีอีกหนึ่งบุคลากรที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน นั่นคือ ‘อาสารักษาดินแดน’ ซึ่งวันนี้ ครบรอบ 67 ปี ของการก่อตั้งกองอาสารักษาดินแดน และถูกยกให้เป็น ‘วันอาสารักษาดินแดน’ อีกด้วย

หลายคนอาจคุ้นเคยกับภาพเหล่าบุคลากรที่แต่งตัวเครื่องแบบคล้ายทหาร และเรียกกันจนติดปากว่า อส. ซึ่งที่มาของอาสารักษาดินแดนนี้ ต้องย้อนกลับไปเมื่อสมัยรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนากองเสือป่าขึ้นเป็นครั้งแรก โดยให้เป็นกองพลอาสาสมัครเพื่ออบรมข้าราชการและประชาชนให้รู้จักรักชาติ รู้จักหน้าที่ในการป้องกันรักษาประเทศชาติ

ต่อมา ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ออก พรบ.กำหนดหน้าที่คนไทยในเวลารบ พ.ศ. 2481 และ พรบ.ให้อำนาจในการเตรียมการป้องกันประเทศ พ.ศ. 2484 ทั้งนี้เพื่อฝึกอบรมคนไทยให้รู้จักหน้าที่ในการป้องกันประเทศในเวลาสงคราม ด้วยกฎต่างๆ เหล่านี้เอง จึงทำให้มีบุคลากรเข้ามารับการฝึกอบรม จนค่อยๆ พัฒนากลายเป็นกำลังสำรองที่มีความพรั่งพร้อมในการป้องกันประเทศ ตลอดจนช่วยเหลือทุกข์สุขของประชาชนไปอีกทาง

เวลาผ่านมาอีกราว 13 ปี ก็ได้มีการประกาศใช้ พรบ.กองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497 ขึ้น ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2497 พร้อมทั้งกำหนดให้วันดังกล่าว เป็นวันอาสารักษาดินแดน ไปด้วยเช่นกัน

ปัจจุบันมีการเปิดรับสมัครบุคคลทั้งชายและหญิง เพื่อเข้ารับการอบรมเป็นอาสารักษาดินแดน โดยในวันนี้มีเจ้าหน้าที่ อส.อยู่กว่า 26,531 คน ประจำอยู่ 971 กองร้อยทั่วประเทศ คอยทำหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยและอำนวยความสะดวกกับประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ถือเป็นกำลังสำรองที่มีความสำคัญและสร้างคุณประโยชน์กับประเทศชาติมาโดยตลอด


ที่มา: https://th.wikipedia.org/, https://hilight.kapook.com/view/97447, https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_2568141

‘อิสรภาพ’ เป็นความชอบธรรมของมนุษย์ทุกคนบนโลกนี้ ซึ่งหากย้อนกลับไปในวันนี้เมื่อ 31 ปีก่อน ผู้ชายที่ชื่อ เนลสัน แมนเดลา ได้รับการปล่อยตัวจากการถูกคุมขังมายาวนานกว่า 27 ปี และต่อมา เขาก็ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ในที่สุด

กล่าวถึง เนลสัน แมนเดลา เขาเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ในฐานะนักเคลื่อนไหวเพื่อการต่อต้านการถือผิวในประเทศแอฟริกาใต้ โดยมีส่วนร่วมในกิจกรรมการต่อต้านในทุก ๆ วิธี ครั้งหนึ่งเขาเคยเป็นผู้นำกองกำลังติดอาวุธของพรรคสมัชชาแห่งชาติแอฟริกา ทำให้ในเวลาต่อมา ต้องถูกจำคุกเป็นเวลาทั้งสิ้น 27 ปี

กระทั่งเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1990 เนลสัน แมนเดลา ก็ได้รับอิสรภาพ ในเวลาคาบเกี่ยวกันนั้น การถูกคุมขังของเขาก็ถูกให้เป็นกรณีตัวอย่างของความอยุติธรรมของนโยบายถือผิว ที่ทั่วโลกต้องหันกลับมาไตร่ตรอง เมื่อเวลาผ่านไป เนลสัน แมนเดลา ก็ตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้ง ก่อนที่เขาจะก้าวสู่การเป็นประธานาธิบดีประเทศแอฟริกาใต้ในช่วงปี ค.ศ. 1994 - 1999 โดยเป็นประธานาธิบดีคนแรกของแอฟิกาใต้ที่ได้รับเลือกตั้งตามกระบวนการทางประชาธิปไตยอย่างถูกต้อง

แมนเดลา ถือเป็นผู้นำที่ประชาชนแอฟิกาใต้ให้ความเคารพนับถือ เขาเคยได้รับรางวัลโนเบลเมื่อ ปี ค.ศ.1993 และภายหลังที่ลงจากตำแหน่ง ยังถูกยกย่องให้เป็น รัฐบุรุษอาวุโสของประเทศ แมนเดลาเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ค.ศ. 2013 ยังความสูญเสียมาสู่ประชาชนขาวแอฟริกาใต้ รวมถึงผู้คนบนโลกนี้ ที่ต้องสูญเสียบุรุษที่มีความสามารถ และเป็นสัญลักษณ์ของความเท่าเทียมกันของผู้คนทั้งโลก


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B8%A5%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%99_%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%A5%E0%B8%B2

วันสำคัญของผู้คนที่มีเชื้อสายจีนเวียนมาอีกครั้ง กับเทศกาลตรุษจีน วันคล้ายวันขึ้นปีใหม่ ที่มีประวัติศาสตร์ ที่มา ประเพณี และรวมถึงพิธีกรรม อันเป็นเอกลักษณ์มายาวนาน

วันตรุษจีนนั้นมีมานานกว่า 100 ปี หรือกว่าศตวรรษมาแล้ว สืบค้นที่มากันว่า แรกเริ่มของวันตรุษจีนนั้น เกิดขึ้นเพื่อตั้งใจที่จะฉลองฤดูใบไม้ผลิ เนื่องจากช่วงก่อนเทศกาลตรุษจีน ประเทศจีนปกคลุมไปด้วยหิมะ ไม่สามารถทำการเกษตรได้ เมื่อเข้าถึงฤดูใบไม้ผลิ ชาวจีนจึงได้กำหนดให้วันแรกของฤดูใบไม้ผลิในแต่ละปี เป็นวันสำคัญที่เรียกว่า วันตรุษจีน

เอกลักษณ์สำคัญในวันตรุษจีนนั้นมีหลายประการ อาทิ การทำความสะอาดบ้านเรือน เพื่อขจัดเอาโชคร้ายออกไป ประตูหน้าต่างประดับประดาด้วยกระดาษและคำอวยพรที่มีความหมายของการอยู่ดีมีสุข ร่ำรวย และอายุยืน

นอกจากนี้ยังมีการไหว้เจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อความเป็นสิริมงคล และมีมื้ออาหารที่สะท้อนถึงความดีงามกับชีวิตต่อไป เช่น กินกุ้ง เพื่อให้ชีวิตรุ่งเรือง กินเป๋าฮื๊อ หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตที่ดี กินสาหร่ายจะนำความร่ำรวยมาให้ ฯลฯ

วันตรุษจีนยังถูกจัดแบ่งออกเป็น 3 วัน คือ วันจ่าย วันไหว้ และวันเที่ยว และอีกหนึ่งกิจกรรมที่ถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น นั่นคือ การแจกอั่งเปา โดยมีธรรมเนียมว่า ผู้ใหญ่ที่ผ่านการแต่งงานและทำงานมีรายได้แล้ว จะมอบซองสีแดง (ที่มีเงินจำนวนหนึ่งข้างใน) ให้กับเด็ก ๆ ที่มีอายุต่ำกว่า หรือยังไม่ได้ทำงาน พร้อมกล่าวสวัสดีปีใหม่

ซึ่งสีแดงของอั่งเปานั้นมีความหมายถึงโชคดี และเงินที่ใส่ในซองอั่งเปานั้น ส่วนใหญ่มักนิยมให้ลูกหลานเก็บสะสมไว้ใช้ในภายภาคหน้า เหมือนเป็นกลวิธีสอนให้เด็ก ๆ รู้จักเก็บออมเพื่อความมั่นคงในอนาคตของตัวเอง

ถึงตรงนี้ The States Times ก็ขอกล่าวคำว่า ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้ คิดสิ่งใดขอให้ทุกท่าน สมปรารถนา...

วันนี้เป็นวันสำคัญที่ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ เมื่อ ‘ประเทศสยาม’ (ชื่อเดิมประเทศไทย) ต้องเสียดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขง ให้กับประเทศฝรั่งเศส ตามสนธิสัญญาสยาม - ฝรั่งเศส ทั้งนี้เพื่อปกป้องผืนแผ่นดินเมืองจันทบุรี และต้องการให้ทหารฝรั่งเศสถอนกำลังออกจากพื้นที่

วันนี้เป็นวันสำคัญที่ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ เมื่อ ‘ประเทศสยาม’ (ชื่อเดิมประเทศไทย) ต้องเสียดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขง ให้กับประเทศฝรั่งเศส ตามสนธิสัญญาสยาม - ฝรั่งเศส ทั้งนี้เพื่อปกป้องผืนแผ่นดินเมืองจันทบุรี และต้องการให้ทหารฝรั่งเศสถอนกำลังออกจากพื้นดังกล่าว

โดยหากสืบย้อนกลับไป ตามหน้าบันทึกทางประวัติศาสตร์ การถูกคุกคามของนักล่าอาณานิคมจากตะวันตกนั้น เริ่มต้นมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่มีทวีความรุนแรงมากขึ้น ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยในเวลานั้น เป็นทั้งประเทศอังกฤษ และฝรั่งเศส ที่แผ่อิทธิพลเข้ามา

การเสียดินแดนให้กับฝรั่งเศสเริ่มต้นเมื่อราวปี พ.ศ. 2430 เมื่อฝรั่งเศสเข้าครอบครองดินแดนสิบสองจุไทย จากนั้นใน ปี พ.ศ. 2436 ฝรั่งเศสก็รุกคืบมาทางเขตฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง จนเป็นที่มาของการปะทะกันของเรือรบไทยกับฝรั่งเศส นำไปสู่ความเสียหายและการถูกปิดอ่าว ทางการไทยไม่อยากให้เหตุการณ์ลุกลามบานปลาย จึงจำยอมต้องเสียดินแดนในส่วนดังกล่าวกว่า 140,000 ตารางกิโลเมตรไป พร้อมทำสนธิสัญญาต่อกัน

กระทั่งเวลาผ่านไป ฝรั่งเศสกลับไปยอมคืนพื้นที่เมืองจันทบุรี ที่ยึดเอาไว้เป็นประกันตามที่ตกลงกันในสัญญา โดยทำการยึดเอาไว้นานกว่า 10 ปี จนเมื่อเข้าสู่ปี พ.ศ. 2446 ฝรั่งเศสประกาศจะยอมถอนทหารออกไปจากจันทบุรี หากไทยยอมยกพื้นที่ดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขง ตรงข้ามเมืองหลวงพระบาง และทางใต้ตรงข้ามเมืองปากเซ ให้เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน

และแล้วในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2446 ไทยก็ยอมยกพื้นที่ดังกล่าวให้กับฝรั่งเศส เพื่อรักษาเมืองจันทบุรี และยุติปัญหาสัญญากับทางฝรั่งเศสลง

แม้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าว ประเทศสยามจะถูกคุกคามจากนักล่าอาณานิคมตะวันตกอย่างหนัก แต่ด้วยพระปรีชาสามารถของพระมหากษัตริย์ไทย ตลอดจนขุนนาง ข้าราชการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอีกมากมาย ก็ทำให้การสูญเสียในครั้งนั้น เป็นไปโดยน้อยที่สุด ทั้งนี้เพื่อยังคงรักษาอธิปไตยแห่งความเป็น ‘สยามประเทศ’ เอาไว้อย่างดีที่สุด


ที่มา: http://saranukromthai.or.th/sub/book/book.php?book=4&chap=9&page=t4-9-infodetail03.html

‘วันแห่งความรัก’ อีกหนึ่งวันสำคัญที่คู่รักทุกคู่ เพื่อนฝูง พี่น้อง หรือคนในครอบครัว จะมอบความรัก ความปรารถนาดีให้แก่กัน โดยวันนี้มีที่มาตั้งแต่ ค.ศ. 496 หรือเมื่อ 1,525 ปีมาแล้ว

ประวัติศาสตร์ของ ‘วันวาเลนไทน์’ เริ่มมาตั้งแต่ยุคจักรวรรดิโรมัน โดยมีเรื่องเล่ากันว่า เคยมีนักบุญนามว่า เซนต์วาเลนไทน์ หรือ วาเลนตินัส เป็นนักบุญที่คอยจัดพิธีแต่งงานให้กับคู่รักมากมาย แต่กลับกลายเป็นความผิดรุนแรง เนื่องจากในยุคนั้นทางการมีคำสั่งห้ามบุรุษเพศแต่งงาน เพราะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พวกเขาไม่ยอมออกไปร่วมรบกับกองทัพ

จากความผิดนี้เอง ทำให้วาเลนไทน์ต้องถูกจองจำ แต่แล้วเขาก็เกิดไปตกหลุมรัก จูเลีย ลูกสาวของผู้คุมขังเข้า ความรักของทั้งคู่งอกงามผ่านลูกกรงขัง แต่แล้วเมื่อเวลาผ่านไป จากความผิดของวาเลนไทน์ ทำให้เขาได้รับโทษถึงขั้นประหารชีวิต คืนก่อนหน้านั้นเอง เขาได้ส่งจดหมายฉบับสุดท้ายถึงจูเลีย ลงท้ายว่า ‘From Valentine’ เป็นสัญลักษณ์ของความรักอันชั่วนิรันดร์ ซึ่งภายหลังการเสียชีวิต ศพของเขาได้ถูกนำไปเก็บเอาไว้ในโบสถ์ ณ กรุงโรม เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 270

ด้วยความรัก ความเมตตา และความกล้าหาญ เวลาผ่านมานับร้อยปี เรื่องเล่าของนักบุญคนนี้ ทำให้มีคนยกให้วันที่ 14 กุมภาพันธ์ เป็นวันที่ระลึกถึงความยิ่งใหญ่ของความรัก โดยตั้งชื่อวันนี้ว่า วันวาเลนไทน์

แม้จะเป็นวันสากลที่ผู้คนทั่วโลกต่างรู้จัก แต่กิจกรรมในวันวาเลนไทน์ของแต่ละประเทศก็มีความแตกต่างกันไปในเชิงสัญลักษณ์ บางที่มอบดอกไม้แสดงความรัก บางแห่งมอบช็อคโกแลตบอกความในใจ และอีกมากมาย แต่โดยรวมแล้ว วันนี้ถือเป็นวันที่ทุกคนมอบความรัก ความปรารถนาดีให้แก่กัน ไม่เฉพาะแค่คู่รัก แต่ยังหมายรวมถึงคนโสด พี่น้อง พ่อแม่ และสมาชิกในครอบครัวด้วยนั่นเอง


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%99%E0%B9%8C


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top