Saturday, 18 January 2025
TodaySpecial

17 ธันวาคม พ.ศ. 2498  วันสวรรคตของ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี  พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

17 ธันวาคม พ.ศ.2498 สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระนามเดิม พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา เสด็จสวรรคต

สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระนามเดิม พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพแต่สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา (เจ้าจอมมารดาเปี่ยม) เป็นพระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชชนนีในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งเป็นสยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรกของไทย รวมทั้งสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ต้นราชสกุลมหิดล ซึ่งเป็นราชสกุลที่สืบราชสันตติวงศ์ของประเทศไทยในปัจจุบัน

นอกจากนี้พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งองค์สภาชนนีสภาอุณาโลมแดง อันเป็นชื่อของสภากาชาดไทยเมื่อครั้งแรกตั้งในต้นรัชกาลที่ 5 เป็นพระองค์แรกและพระองค์เดียว และองค์สภานายิกา สภากาชาดไทย พระองค์ที่ 2 และทรงสร้างสถานพยาบาลขึ้น ปัจจุบัน คือ โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของสภากาชาดไทย

เมื่อพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล พระราชนัดดา เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติเป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงเฉลิมพระนามสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี ขึ้นเป็น สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ตามพระราชสัมพันธ์ของพระองค์กับรัชกาลที่ 8 คือพระอัยยิกา (ย่า) และดำรงพระอิสริยยศนี้จนตลอดพระชนมายุ

สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า มีพระชนม์ชีพยาวนาน 6 รัชกาล ก็ทรงพระประชวรหลังตกจากพระที่นั่งสูง 6 ฟุตกระแทกกับพื้นห้องทำให้พระอัฐิที่คอต้นพระเพลาหัก และต้องรักษานานถึง 3 เดือน ต่อมาอีก 5 ปี ก็ประชวรด้วยมีอาการอักเสบที่พระปับผาสะ

วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2498 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินมายังวังสระปทุมเมื่อเวลาประมาณ 2 ยาม เนื่องจากคณะแพทย์ที่ถวายการรักษาสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้ากราบบังคมทูลว่าพระอาการหนักสุดที่จะแก้ไขแล้ว พระชนมชีพคงจะถึงที่สุดในไม่ช้า ภายในห้องพระบรรทมของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้านั้น พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงยืนอยู่ปลายพระบาท พร้อมด้วยคณะแพทย์และพยาบาลที่เฝ้าพระอาการ ส่วนหน้าห้องพระบรรทมนั้นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ประทับอยู่

นอกจากนั้น ก็มีเสด็จพระองค์วาปีฯ หม่อมเจ้าหลาน ๆ และข้าหลวงหมอบเฝ้าเต็มไปหมด เนื่องจากเป็นที่ทราบกันแล้วว่าพระอาการน่าเป็นห่วงตั้งแต่ 5 ทุ่ม จึงมาคอยส่งเสด็จกันพร้อมหน้าในวาระสุดท้าย หลังจากตีสองชาววังที่เฝ้าอยู่ในที่นั้นทั้งปวงต่างก็ได้ยินเสียงสวดมนต์เบา ๆ ติดต่อกันโดยหาตัวผู้สวดไม่ได้ พอผ่านไปได้ 16 นาที สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าก็เสด็จสวรรคตด้วยพระหทัยวายในพระอาการสงบ เมื่อเวลา 2.16 น. โดยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงถวายบังคม ‘สมเด็จย่า’ อยู่ที่เบื้องปลายพระบาทนั่นเอง สิริพระชนมายุได้ 93 พรรษา 3 เดือน 7 วัน

ในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ที่ประชุมใหญ่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ประกาศยกย่องสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีฯ เป็นบุคคลสำคัญของโลก เนื่องในโอกาสวันครบรอบ 150 ปีวันคล้ายวันพระราชสมภพ ในวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2555 ในฐานะที่ทรงมีผลงานดีเด่นด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์สุขภาพและการอนุรักษ์พัฒนาด้านวัฒนธรรม พร้อมกับบุคคลและเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของโลกอีก 97 รายการ

18 ธันวาคม พ.ศ. 2536 ‘ไทยคม’ ดาวเทียมดวงแรกของไทย ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจร 

วันนี้ เมื่อ 30 ปีก่อน ดาวเทียมไทยคม (THAICOM) ดาวเทียมดวงแรกของไทย ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรจากฐานส่งของบริษัท แอเรียนสเปซ (Arianespace) แห่งฝรั่งเศส ที่เมืองคูรู (Kourou) ประเทศเฟรนช์ เกียนา (French Guiana) ทวีปอเมริกาใต้

ดาวเทียมไทยคม สร้างโดยบริษัท ฮิวจ์ สเปซ แอร์คราฟท์ (Hughes Space Aircraft) ของสหรัฐอเมริกา เพื่อให้บริการสื่อสารผ่านช่องสัญญาณดาวเทียม รองรับการสื่อสารของประเทศที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว สามารถถ่ายทอดทั้งสัญญาณโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง โทรศัพท์ และการสื่อสารข้อมูล มีอายุการใช้งานประมาณ 15 ปี (ถึง พ.ศ. 2551)

ทั้งนี้ ชื่อ ‘ไทยคม’ เป็นชื่อที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน โดยย่อมาจากคำว่า Thai Communications ในภาษาอังกฤษ หรือไทยคม (นาคม) เดิมดาวเทียมดวงนี้อยู่ที่พิกัด 78.5 องศาตะวันออก เรียกชื่อว่า ไทยคม 1 เมื่อย้ายมาอยู่ที่ 120 องศาตะวันออก ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2540 จึงเรียกชื่อใหม่ว่า ‘ไทยคม 1A’

19 ธันวาคม พ.ศ. 2423  วันประสูติ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

19 ธันวาคม พ.ศ. 2423 วันประสูติ ‘เสด็จเตี่ย’ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระบิดากองทัพเรือไทย

พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอลำดับที่ 28 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมารดาคือ เจ้าจอมมารดาโหมด ธิดาของเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ ประสูติเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2423

พระองค์ทรงได้รับถวายพระสมัญญาจากกองทัพเรือว่าเป็น 'พระบิดาของกองทัพเรือไทย' และต่อมาได้แก้ไขเป็น 'องค์บิดาของทหารเรือไทย' เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2544 จากพระราชกรณียกิจของพระองค์ที่ทรงวางรากฐานและพัฒนาปรับปรุงทหารเรือสยามให้เจริญก้าวหน้าตามแบบประเทศตะวันตก

ส่วนกรณีที่นักเรียนนายเรือพากันเรียกพระองค์ว่า 'เสด็จเตี่ย' นั้น พลเรือโท ศรี ดาวราย สันนิษฐานว่า มาจากการที่พระองค์ทรงขัดดาดฟ้าให้นักเรียนนายเรือใหม่ ๆ ที่ฝึกภาคทางทะเลบนเรือหลวงพาลีรั้งทวีปดูเป็นแบบอย่าง ในปี พ.ศ. 2462 หลังจากที่ทอดพระเนตรเห็นนักเรียนเหล่านั้นทำงานนี้ด้วยท่าทางเงอะงะเก้งก้าง โดยตรัสกับพวกนักเรียนเหล่านั้นว่า 'อ้ายลูกชาย มานี่เตี่ยจะสอนให้'

เมื่อช่วงต้นรัชกาลที่ 6 กรมหลวงชุมพรฯ ทรงออกจากราชการซึ่ง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า “…กรมหลวงชุมพรฯ ไม่ทรงสบาย ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตออกเป็นนายทหารกองหนุนอยู่ชั่วคราว ๑ จนถึงปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๖๐ จึงเสด็จกลับเข้ามารับราชการเป็นตำแหน่งจเรทหารเรือ…”

แต่กรณีนี้ ศรัณย์ ทองปาน มีความเห็นต่างออกไปโดยเห็นว่า “…ในช่วงต้นรัชกาลที่ ๖ เกิดเหตุนายทหารเรือผู้หนึ่งเมาสุราในร้านอาหารสันธาโภชน์ ที่ตำบลบ้านหม้อ แล้วเกิดวิวาทกับมหาดเล็กหลวง ทำให้รัชกาลที่ ๖ ทรงพิโรธ ดังความในพระราชหัตถเลขาตอนหนึ่งว่า ‘…ปรากฏชัดว่าได้ฝึกสอนนักเรียนนายเรือในหนทางไม่ดี ทำให้มีจิตฟุ้งซ่านจนนับว่าเสื่อมเสียวินัยและนายของทหาร…สมควรลงโทษเป็นตัวอย่าง’

ประกอบกับมีข่าวลือว่า กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์กับกรมขุนนครสวรรค์วรพินิต กำลังวางแผนก่อกบฏ ชิงราชสมบัติ โดยแม้ว่าพระองค์ทรงออกจากราชการแล้วทางการก็ยังให้ตำรวจท้องที่คอยติดตามการเคลื่อนไหวของพระองค์…”

ระหว่างที่ทรงอยู่นอกราชการ กรมหลวงชุมพรฯ ทรงหาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นหมอยา ใช้พระนามว่า 'หมอพร' ในช่วงนี้เองที่กล่าวกันว่า ทรงปราบนักเลงนางเลิ้งได้อยู่หมัด ได้นักเลงมาเป็นลูกน้องด้วย ช่วงเวลานี้กินเวลาราว 6 ปี พระองค์จึงได้กลับเข้ารับราชการกองทัพเรืออีกครั้ง หลังสยามประกาศสงครามกับเยอรมนี

เมื่อได้เสด็จกลับเข้ารับราชการทหารเรือและทรงอุทิศพระองค์ปฏิบัติราชการทหารเรือด้วยพระอุตสาหะวิริยะแล้วก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณเลื่อนพระยศเป็นนายพลเรือโท และนายพลเรือเอก ทั้งยังได้โปรดเกล้าฯ เฉลิมพระอิสริยยศเป็น กรมขุนและกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ตามลำดับ กับได้โปรดเกล้าฯ ให้ทรงดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารเรือ ซึ่งเป็นตำแหน่งบังคับบัญชากำลังพลเทียบเท่าตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือในปัจจุบัน ก่อนที่จะโปรดเกล้าฯ ให้ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรืออันเป็นตำแหน่งสูงสุดในราชการทหารเรือ

ในบั้นปลายพระชนม์ชีพ กรมหลวงชุมพรฯ ได้กราบถวายบังคมลาออกไปรักษาพระองค์ที่มณฑลสุราษฎร์ซึ่งเดิมมีชื่อว่า 'มณฑลชุมพร' อันพ้องกับพระนามกรม และได้ประชวรสิ้นพระชนม์เสียที่นั้น เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2466

20 ธันวาคม พ.ศ. 2510 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯ เปิดมหาวิทยาลัยขอนแก่น

วันนี้เมื่อ 56 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดมหาวิทยาลัยขอนแก่นอย่างเป็นทางการ และทรงปลูกต้นกาลพฤกษ์ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย 

ในครั้งนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมอบพระบรมราโชวาทเนื่องในพิธีเปิดมหาวิทยาลัยขอนแก่นว่า

"...การตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่นขึ้นอีกแห่งหนึ่งนั้น เป็นคุณอย่างยิ่ง เพราะทำให้การศึกษาชั้นสูงขยายออกไปถึงภูมิภาคที่สำคัญที่สุดส่วนหนึ่งของประเทศ ซึ่งต่อไปจะเป็นผลดีแก่การพัฒนา ยกฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนในภูมิภาคนี้เป็นอย่างยิ่ง ความสำเร็จในการตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงเป็นความสำเร็จที่ทุกคนควรจะยินดี..."

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นอุดมศึกษาสถานแห่งแรก ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แม้กำเนิดของมหาวิทยาลัยจะมีแนวความคิดย้อนหลังไปได้ถึงก่อน สงครามโลกครั้งที่สอง แต่การเตรียมการก่อสร้างอย่างจริงจัง กระทำกันในรัฐบาล ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในขณะที่เริ่ม พัฒนาภูมิภาคส่วนนี้ของประเทศ เมื่อ พ.ศ. 2505 การลงมือก่อสร้างเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2507 โดยมีมติจัดตั้งสถาบันการศึกษาชั้นสูง ด้านวิศวกรรมศาสตร์และเกษตรศาสตร์ขึ้นที่บ้านสีฐาน จังหวัดขอนแก่น และเสนอชื่อสถาบันนี้ว่า มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Khon Kaen Institute of Technology มีชื่อย่อ K.I.T. โดยมีสภาการศึกษาแห่งชาติเป็นผู้รับผิดชอบ

ต่อมาในปีพ.ศ. 2508 คณะรัฐมนตรีมีมติให้เปลี่ยนชื่อ เป็นมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ตราพระราชบัญญัติ ‘มหาวิทยาลัยขอนแก่น’ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2509 ซึ่งถือเป็นวันสถาปนาของมหาวิทยาลัย โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2510 

มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นศูนย์รวมทางความคิด สติปัญญาของสังคม และเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาสู่ภูมิภาค ตั้งอยู่บนพื้นที่ซึ่งมีลักษณะเป็นเนินดินลูกคลื่นสีแดง มีชื่อเรียกว่า 'มอดินแดง' บนพื้นที่ประมาณ 5,500 ไร่ นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลศรีนครินทร์ และหน่วยงานเทียบเท่าคณะอีกจำนวนมาก

21 ธันวาคม พ.ศ. 2525 พิธีสมโภช พระศรีศากยทศพลญาณ พระประธานพุทธมณฑล

วันนี้ เมื่อ 41 ปีก่อน พิธีสมโภช ‘พระศรีศากยทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์’ พระประธานพุทธมณฑล ซึ่งคนทั่วไปนิยมเรียกกันว่า ‘พระใหญ่’ หล่อด้วยโลหะสำริด ประดิษฐานเป็นพระประธานพุทธมณฑล อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 

พระพุทธรูปพระประธานพุทธมณฑลที่พุทธมณฑลแห่งนี้ ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ว่า ‘พระศรีศากยะทศพลญาณประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์’ ซึ่งสร้างขึ้นบริเวณใจกลางพุทธมณฑล ในโอกาสเฉลิมฉลองที่พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาครบ 25 พุทธศตวรรษ โดยมีต้นแบบจากอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ซึ่งออกแบบไว้ที่ความสูง 2.14 เมตร แต่ภายหลังมีความต้องการให้มีความหมายเป็นที่ประจักษ์ จึงออกแบบให้มีความสูงที่ 15.875 เมตร น้ำหนัก 17,543 กิโลกรัม

ตัวองค์พระมีโลหะสำริดเป็นส่วนประกอบสำคัญ 137 ชิ้น เริ่มสร้างขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2523 และแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2525 ในการจัดสร้างได้แบ่งตัวองค์พระพุทธรูปออกเป็น 6 ส่วนคือ ส่วนพระเศียร (ศีรษะ) ส่วนพระอุระ (อก) ส่วนพระพาหา (แขน) ข้างซ้าย พระนาภี (ท้องถึงสะดือ) ส่วนพระพาหา (แขน) ข้างขวา พระเพลา (ขา) ส่วนพระบาท (เท้า) และส่วนฐานบัวรองพระบาท

เดิมที ในสมัยรัฐบาลของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปี พ.ศ. 2498 นั้น ได้มีแนวคิดในการจัดสร้างปูชนียสถานขึ้นเพื่อเป็นพุทธานุสรณียสถาน เนื่องในวโรกาสมหามงคลที่พระพุทธศาสนาเวียนมาบรรจบครบรอบ 2,500 ปี รัฐบาลในขณะนั้นจึงได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ไปทรงประกอบรัฐพิธีก่อฤกษ์พุทธมณฑล ณ บริเวณที่จะก่อสร้างองค์พระพุทธรูปในปัจจุบันนี้

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2524 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จทรงเททองพระเกตุมาลา และได้ประกอบพิธีเชื่อมประกอบพระเศียรกับองค์พระพุทธรูป และเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2525 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จประกอบพิธีสมโภชพระศรีศากยะทศพลญาณประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ และทรงเปิดพุทธมณฑลให้ประชาชนได้เข้านมัสการพระพุทธรูปและใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของการสร้างตั้งแต่นั้นเป็นมา

22 ธันวาคม พ.ศ. 2431 สยาม เสียดินแดนครั้งที่ 8 หลังเสีย ‘สิบสองจุไท’ ให้ฝรั่งเศส

วันนี้เมื่อ 135 ปีก่อน สยามต้องสูญเสียดินแดนสิบสองจุไทและหัวพันห้าทั้งหกให้กับฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2431 พื้นที่ 87,000 ตร.กม. ในสมัยรัชกาลที่ 5 ปัจจุบันเป็นดินแดนในประเทศเวียดนามและลาว

‘สิบสองจุไท’ คือดินแดนทางตะวันออกเฉียงเหนือของลาวและติดกับทางตะวันตกเฉียงเหนือของญวน เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยดั้งเดิมของตระกูลชาติพันธุ์ไทน้อย ซึ่งประกอบไปด้วย ชาวไทดำ (หรือลาวโซ่ง หรือผู้ไท), ไทขาว และไทพวน (หรือลาวพวน) มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 12 เมือง มีเจ้าปกครองทุกเมือง จึงเรียกกันว่า ‘สิบสองจุไท’ หรือ ‘สิบสองเจ้าไท’ เมืองเอกของสิบสองจุไทคือ ‘เมืองแถง’ หรือ ‘เมืองแถน’ (ปัจจุบันคือเมืองเดียนเบียนฟู ของประเทศเวียดนาม)

ด้านใต้ของสิบสองจุไทลงมาคือดินแดน ‘หัวพันทั้งห้าทั้งหก’ เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยดั้งเดิมของชาวไทแดง ไทขาว ไทดำ ไทพวน แต่เดิมประกอบด้วย 5 หัวเมือง ต่อมาเพิ่มอีกหนึ่งหัวเมือง เป็น 6 หัวเมือง แต่ละหัวเมืองปกครองพื้นที่นาหนึ่งพันผืน จึงเรียกว่า ‘หัวพันทั้งห้าทั้งหก’ เมืองเอกของหัวพันทั้งห้าทั้งหกคือ ‘เมืองซำเหนือ’ ปัจจุบันอยู่ในแขวงหัวพัน ประเทศลาว

ดินแดนทั้งสองแห่งข้างต้นนี้ เคยปกครองตนเองเป็นอิสระ จนกระทั่ง ‘อาณาจักรล้านช้าง’ ปัจจุบันคือประเทศลาว ถือกำเนิดขึ้น แล้วขยายอิทธิพลเข้าครอบครองดินแดนทั้งสอง ต่อมาเมื่อถึงรัชสมัย ‘สมเด็จพระเจ้าตากสิน’ อาณาจักรล้านช้างทั้งหมดก็ได้กลายเป็นประเทศราชของไทย ดังนั้นดินแดนสิบสองจุไท และหัวพันทั้งห้าทั้งหก จึงตกเป็นของไทยไปด้วย

เมื่อถึงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ราวปี พ.ศ.2408 พวก ‘จีนฮ่อ’ หรือชาวจีนอพยพซึ่งส่วนหนึ่งเป็นพวก ‘กบฏไท่ผิง’ ที่พ่ายแพ้สงครามต่อราชสำนักชิง ได้พากันหลบหนีจากตอนใต้ของจีนลงมายึดครองพื้นที่รอยต่อระหว่างแดนจีนกับญวน หลังจากนั้นได้บุกยึดลงมาจนถึงดินแดนสิบสองจุไท หัวพันทั้งห้าทั้งหก และ ‘เมืองพวน’ (ปัจจุบันคือแขวงเชียงขวาง ประเทศลาว)

ต่อมาใน สมัยรัชกาลที่ 5 กองกำลังจีนฮ่อที่ตั้งอยู่เมืองพวนได้แบ่งออกเป็น 2 ทัพ เพื่อบุกเข้าตีเมืองเวียงจันทน์และหนองคาย กับบุกเข้าตีเมืองหลวงพระบางหลาย กระทั่งในปี พ.ศ. 2428 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงส่งกองทัพใหญ่ไปปราบกบฏฮ่ออีกครั้ง โดยรับสั่งให้ ‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม’ ทรงนำทัพไปปราบกบฏฮ่อทางเมืองพวน แล้วให้ ‘พระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต)’ นำทัพไปปราบกบฏฮ่อทางหัวพันทั้งห้าทั้งหก กองทัพไทยสามารถเอาปราบกบฏฮ่อได้อย่างราบคาบในปลายปี พ.ศ. 2430

การปราบกบฏฮ่อครั้งหลังสุดนี้ แม้กองทัพไทยจะได้รับชัยชนะ แต่ก็เกิดข้อพิพาทกับทางฝรั่งเศสขึ้น โดยในเวลานั้นฝรั่งเศสได้ขยายอิทธิพลเข้ายึดครองดินแดนญวนไว้ได้แล้ว และฝรั่งเศสยังอ้างว่าดินแดนสิบสองจุไทและหัวพันทั้งห้าทั้งหกเป็นเมืองขึ้นของญวน ดังนั้นจึงต้องตกเป็นสิทธิของฝรั่งเศสด้วย เมื่อกองทัพไทยรุกไล่กบฏฮ่อจนเข้ามาถึงดินแดนสิบสองจุไท ทางฝรั่งเศสจึงกล่าวหาว่า กองทัพไทยบุกรุกดินแดนของฝรั่งเศสโดยพลการ ทำให้ฝรั่งเศสต้องส่งกองทัพจากแดนญวนเข้ามาขับไล่กบฏฮ่อด้วย แล้วตั้งประจันหน้ากับกองทัพไทยอยู่ที่เมืองแถง

พระยาสุรศักดิ์มนตรีเปิดการเจรจากับ ‘โอกุสต์ ปาวี’ (Auguste Pavie) รองกงสุลฝรั่งเศสประจำหลวงพระบาง แม้ต่างฝ่ายต่างยืนยันสิทธิเหนือดินแดนสิบสองจุไทและหัวพันทั้งห้าทั้งหก และต้องการให้อีกฝ่ายถอนกำลังทหารออกไป แต่ฝรั่งเศสมีกองทัพที่แข็งแกร่งกว่าไทย และดินแดนพิพาทยังอยู่ใกล้กับญวนมากกว่าไทย หากเกิดสงครามขึ้นจริงก็ยากที่ไทยจะเป็นฝ่ายชนะ

ในที่สุดเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2431 ตัวแทนฝ่ายไทยกับฝรั่งเศสจึงได้ทำสัญญาร่วมกันที่เมืองแถง โดยมีเงื่อนไขว่า ในระหว่างที่ยังหาข้อยุติไม่ได้นั้น ทหารฝรั่งเศสจะตั้งอยู่ที่สิบสองจุไท และทหารไทยจะตั้งอยู่ที่หัวพันทั้งห้าทั้งหก ต่างฝ่ายต่างจะไม่ล่วงล้ำเขตแดนกัน

นับแต่นั้นไทยก็เสียสิทธิเหนือดินแดนสิบสองจุไทไปให้กับฝรั่งเศส และสูญเสียดินแดนสิบสองจุไทกับหัวพันทั้งห้าทั้งหกไปอย่างสมบูรณ์เมื่อเกิด ‘วิกฤติการณ์ ร.ศ.112’ หรืออีก 5 ปีต่อมา

23 ธันวาคม พ.ศ. 2491 ‘โตโจ ฮิเดกิ’ อดีตนายกรัฐมนตรี ญี่ปุ่น ถูกประหารชีวิต ในฐานะอาชญากรสงคราม

โตโจ ฮิเดกิ (Tojo Hideki) คือนักการทหารและนักบริหารที่มีความสามารถเป็นที่ยอมรับ เขาได้รับการแต่งตั้งให้รับตำแหน่งผู้บัญชาการกรมทหารราบที่ 1 ในปี 1928 (พ.ศ. 2471) ซึ่งมีส่วนสำคัญในการปราบกลุ่มกบฏ “ยังเติร์ก” ในปี 1936 (พ.ศ. 2479) ก่อนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับบัญชาใหญ่กองทัพญี่ปุ่นในแมนจูเรียในปีต่อมา

ตำแหน่งหน้าที่ของ โตโจ ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วนับแต่นั้นมา ในปี 1938 (พ.ศ. 2481) เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสงคราม และเขาก็ได้เป็นหัวแรงสำคัญที่ผลักดันให้ญี่ปุ่นเข้าเป็นภาคีของกลุ่มอักษะสำเร็จในปี 1940 (พ.ศ. 2483) ปีเดียวกันกับที่เข้าได้ขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงสงครามเต็มตัว จากนั้นอีกเพียงหนึ่งปี เขาก็ได้ครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจาก ฟูมิมาโระ โคโนเอะ โดยยังยึดเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงสงครามต่อไป

โตโจ นอกจากจะเป็นข้าราชการที่ได้ชื่อเรื่องการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เขายังเป็นนักการทหารที่มีนโยบายก้าวร้าวที่สุดในบรรดาผู้นำญี่ปุ่น เขาคือผู้นำประเทศเข้าสู่สงครามกับสหรัฐฯ ด้วยการบุกโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ในวันที่ 7 ธันวาคม 1941 (พ.ศ. 2484) ซึ่งเบื้องต้นได้ทำให้ญี่ปุ่นขยายอิทธิพลไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแปซิฟิกตะวันตก

ในปี 1944 (พ.ศ. 2487) โตโจ ก้าวขึ้นมาดูแลกิจการของกองทัพทั้งหมดโดยตรงในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุด แต่เมื่อญี่ปุ่นพ่ายแพ้ให้กับฝ่ายสัมพันธมิตรในสมรภูมิหมู่เกาะมาเรียนา (Mariana Islands) เขาก็ถูกปลดจากตำแหน่งในวันที่ 16 กรกฎาคม 1944 ก่อนที่เขาและรัฐมนตรีทั้งคณะจะประกาศลาออกในอีกสองวันถัดมา และถูกกันไม่ให้เข้ามามีส่วนในการใช้อำนาจบริหารประเทศอีก

หลังจากที่ญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามอย่างเป็นทางการ โตโจพยายามใช้ปืนยิงตัวตายในวันที่ 11 กันยายน 1945 (พ.ศ. 2488) แต่ไม่สำเร็จ เขาได้รับการรักษาและมีชีวิตรอดมาได้

ปีถัดมา โตโจถูกดำเนินคดีในความผิดฐานก่ออาชญากรรมสงคราม โดยศาลทหารระหว่างประเทศภาคพื้นตะวันออกไกล (International Military Tribunal for the Far East) หรือศาลอาชญากรสงคราม กรุงโตเกียว ซึ่งศาลได้ตัดสินว่าเขามีความผิดให้ต้องโทษประหารชีวิต

วันที่ 23 ธันวาคม 1948 (พ.ศ. 2491) ฮิเดกิ โตโจ ถูกประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ และแม้ว่าเขาจะถูกตัดสินว่าเป็นอาชญากรสงคราม และมีผู้ประท้วงจำนวนมากที่เห็นว่าเขาคือผู้ที่นำหายนะมาให้ญี่ปุ่น แต่ชื่อของเขาก็ยังได้รับการยกย่องในฐานะนายทหารที่สละชีพเพื่อพระจักรพรรดิ ในศาลเจ้ายาสุกุนิ

24 ธันวาคม พ.ศ. 2483 ประเทศไทย ประกาศเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ จากวันที่ 1 เมษายน เป็นวันที่ 1 มกราคม

รัฐบาลไทยโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ออกประกาศเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จากวันที่ 1 เมษายน เป็นวันที่ 1 มกราคม ตั้งแต่ พ.ศ. 2484 เป็นต้นไป เพื่อให้สอดคล้องกับบรรดานานาอารยประเทศ ดังนั้นปี พ.ศ. 2483 จึงมีเพียง 9 เดือน

ประเพณีวันขึ้นปีใหม่ของไทย ในสมัยโบราณมาเราถือว่า วันแรม 1 ค่ำเดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ อันต้องด้วยในทางพระพุทธศาสนา ซึ่งถือเหมันตฤดูเป็นการเริ่มต้นปี และในสมัยโบราณนั้น วันขึ้นปีใหม่ ได้นับถือคติของพราหมณ์ คือใช้วันที่ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 เป็นวันขึ้นปีใหม่ และเป็นเช่นนั้นตลอดมา จวบจนกระทั่งปี พ.ศ. 2432 แห่งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่มาเป็นวันที่ 1 เมษายน ทั้งนี้ก็เนื่องจากทางราชการได้นิยมใช้หลักทางสุริยคติ แต่ก็ยังคล้องต้องตามคติพราหมณ์อยู่นั่นเอง เพราะเดือน 5 ก็ตรงกับเดือนเมษายนเรื่อยมา

ต่อมาทางราชการได้ประกาศเปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่ เนื่องจากมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติปฏิทิน พ.ศ.2483 และพระราชบัญญัตินั้นเริ่มใช้ได้เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2483 รัฐบาลจึงประกาศใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ ดังนั้นในปี พ.ศ.2483 จึงมีเพียง 9 เดือนเท่านั้น คือเดือนเมษายนถึงเดือนธันวาคม เพื่อให้สอดคล้องกับปฏิทินของนานาประเทศ มีหนังสือประกาศใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ของ ไทยอย่างเป็นทางการ ณ วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ.2483 โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ และการใช้วันที่ 1 มกราคมเป็นวันขึ้นปีใหม่ จะทำให้เข้าสู่ระดับสากลที่ใช้อยู่ในประเทศที่เจริญแล้วทั่วโลก 

ทั้งนี้ประเทศไทยจึงถือเอาวันที่ 1 มกราคม ของทุกปี เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยตั้งแต่ นั้นจวบจนกระทั่งทุกวันนี้ ถึงแม้ว่าวันที่ 1 มกราคม จะถือปฏิบัติเป็นวันขึ้นปีใหม่อย่างเป็นทางการแล้วก็ตาม แต่คนไทยส่วนใหญ่ก็ยังคงถือว่า วันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยด้วยเช่นเดียวกัน

25 ธันวาคม พ.ศ. 2514 ในหลวง รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ เยี่ยมราษฎร ชาวเขาเผ่ามูเซอ บ้านผาหมี จ.เชียงราย

วันนี้เมื่อ 52 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎร ชาวเขาเผ่ามูเซอ ณ หมู่บ้านผาหมี หมู่ที่ 15 ต.แม่สาย อ.แม่สาย จ.เชียงราย พร้อมพระราชทานเหรียญที่ระลึกสำหรับชาวเขา ที่มีเลขโค้ด 6 หลัก เพื่อใช้แทนเลขบัตรประชาชน

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎร ชาวเขาเผ่ามูเซอ ณ หมู่บ้านผาหมี หมู่ที่ 15 ต.แม่สาย อ.แม่สาย จ.เชียงราย

การเสด็จพระราชดำเนินของในหลวงรัชกาลที่ 9 ไม่เพียงเป็นการเสด็จฯ ไปทรงส่งเสริมให้ชาวเขาปลูกพืชต่าง ๆ ทั้งกาแฟ ลิ้นจี่ แมคคาเดเมีย รวมถึงนำวัวพระราชทานให้เลี้ยง พร้อมหาจุดรับซื้อให้ ทำให้ชาวเขาเหล่านั้นไม่ต้องปลูกฝิ่น ทำไร่เลื่อนลอย และมีชีวิตความเป็นอยู่ของดีขึ้นเท่านั้น…แต่ยังเป็นการยืนยันว่า ชาวเขาเผ่ามูเซอทุกคนก็คือคนไทย ไม่ใช่คนเร่ร่อนไร้สัญชาติ 

เนื่องด้วยในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงนำ ‘เหรียญที่ระลึกสำหรับชาวเขา’ ซึ่งตรงกลางคือตัวย่อ ‘ชร’ (หมายถึงจังหวัดเชียงราย) ตามด้วยหมายเลขโค้ด 6 หลัก สำหรับใช้แทนเลขบัตรประชาชน พระราชทานแก่ชาวเขาบ้านผาหมีด้วย 

ทั้งนี้ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานเหรียญที่ระลึกแก่ชาวเขาตามจังหวัดต่าง ๆ ประมาณ 20 จังหวัด ในปี พ.ศ. 2506 รวมทั้งหมดกว่า 200,000 เหรียญ โดยทุกเหรียญจะมีอักษรย่อของจังหวัด พร้อมหมายเลขประจำเหรียญตอกกำกับ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการสำรวจสำมะโนประชากรและการพิสูจน์สัญชาติเพื่อทำบัตรประชาชนให้กับชาวเขา

26 ธันวาคม พ.ศ. 2547  ครบรอบ 19 ปี ‘สึนามิ’ ถล่มไทย หายนะครั้งรุนแรงจากภัยธรรมชาติ

26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 หรือ วันนี้เมื่อ 19 ปีที่แล้ว ประเทศไทยต้องเผชิญกับหายนะครั้งรุนแรง จากคลื่นยักษ์ที่เรียกว่า ‘สึนามิ’ ที่คร่าชีวิตผู้คนกว่า 2 แสนราย ใน 14 ประเทศในเอเชีย

เหตุการณ์วิปโยคในครั้งนั้น เริ่มต้นเมื่อเวลา 07.58 น. (ตามเวลาประเทศไทย) เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง ศูนย์กลางอยู่บริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ห่างจากจังหวัดภูเก็ต ประมาณ 580 กิโลเมตร ที่ละติจูด 3.4 องศาเหนือ ลองจิจูด 95.7 องศาตะวันออก ขนาดความรุนแรง 8.9 ริกเตอร์ ส่งผลกระทบเกือบทุกจังหวัดในภาคใต้ รวมถึงอาคารสูงหลายแห่งในกรุงเทพมหานคร

ในเวลา 08.30 น. เกิดแผ่นดินไหวรู้สึกได้อีกครั้ง ศูนย์กลางอยู่บริเวณรัฐฉาน ประเทศพม่า ห่างจากจังหวัดเชียงใหม่ ประมาณ 200 กิโลเมตร ที่ละติจูด 20.76 องศาเหนือ 98.04 องศาตะวันออก มีขนาดประมาณ 6.4 ริกเตอร์ ทำให้เกิดความสั่นสะเทือนในหลายจังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ ลำปาง เชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน

แผ่นดินไหวที่มีจุดศูนย์กลางบริเวณเกาะสุมาตรา ที่เกิดขึ้นใต้น้ำ ก่อให้เกิดคลื่นน้ำขนาดใหญ่ ที่เรียกว่า ‘สึนามิ’ (TSUNAMI) ส่งผลกระทบต่อสถานที่ท่องเที่ยวบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย อาทิ หาดป่าตอง หาดกมลา หาดกะรน รวมถึงหาดในยาง ซึ่งเป็นที่ตั้งของสนามบินนานาชาติภูเก็ต รวมถึงประเทศอินโดนีเซีย อินเดีย ศรีลังกา มาเลเซีย อย่างรุนแรง

เหตุการณ์สึนามิถล่มไทย 6 จังหวัดภาคใต้ จังหวัดภูเก็ต จังหวัดพังงา จังหวัดระนอง จังหวัดกระบี่ จังหวัดตรัง และจังหวัดสตูล ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 5,400 คน บาดเจ็บกว่า 8,000 คน และสูญหายอีกจำนวนมาก

บ้านเรือนประชาชน รีสอร์ต และโรงแรม ตลอดจนระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ อาทิ ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ถนน มูลค่าความเสียหายหลายพันล้านบาท

ขณะที่ อินโดนีเซียเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด จากหายนะในครั้งนั้น มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 167,000 ราย หรือใกล้เคียง 200,000 ราย และมีหลายชีวิตมากที่ถูกคลื่นกลืนหายไปในทะเล ไม่มีทางพบร่าง นับเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ร้ายแรงที่สุดของอินโดนีเซีย รวมถึงไทย ศรีลังกา อินเดีย และอีกหลายชาติ รวม 14 ประเทศ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top