Tuesday, 10 December 2024
TodaySpecial

17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2513 วันจดสิทธิบัตร ‘เมาส์’ ครั้งแรกของโลก โดย ‘ดร.ดักลาส อิงเกิลบาร์ต’ ชาวสหรัฐฯ

มีอุปกรณ์มากมายที่ประกอบกันขึ้นมาเป็น ‘คอมพิวเตอร์’ แต่หนึ่งในอุปกรณ์ที่มีความจำเป็น และเกิดมาคู่กัน นั่นคือ ‘เมาส์’

‘เมาส์’ ไม่ใช่ปาก แต่เมาส์ทำหน้าที่คล้าย ๆ ปาก คือคอยคลิกคำสั่งการ เพื่อให้โปรแกรมต่าง ๆ ปฏิบัติงานได้ตามใจเรา 

หากย้อนกลับไปวันนี้เมื่อ 53 ปีก่อน หรือเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2513 (ค.ศ. 1970) ถือเป็นวันที่มีการจดสิทธิบัตรเจ้าอุปกรณ์ที่เรียกว่า ‘เมาส์’ ขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก

‘US3541541’ คือรหัสสิทธิบัตรของมัน แต่คงไม่จดจำเท่าที่มาของการประดิษฐ์อุปกรณ์ชิ้นนี้ ถูกเริ่มสร้างขึ้นมาในช่วงปี 1963 โดยนักประดิษฐ์ที่ชื่อ ดร. ดักลาส อิงเกิลบาร์ต ณ สถาบันวิจัยสแตนฟอร์ด (Stanford Research Institute) ประเทศสหรัฐอเมริกา

แรกเริ่มเดิมที มันถูกออกแบบเป็นเฟือง 2 ตัววางในลักษณะตั้งฉากกัน และเคลื่อนที่ไปแบบ 2 มิติ ก่อนที่ต่อมาจะแทนที่ล้อหมุนด้วยลูกบอล จึงทำให้สามารถหมุนไปได้รอบทิศทาง

‘เมาส์’ กลายเป็นอุปกรณ์ที่มาช่วยอำนวยความสะดวกร่วมกับคีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์ และกลายเป็น ‘ของที่ต้องมี’ บนโต๊ะคอมพิวเตอร์ทุกบ้าน วันนี้เมาส์มีอายุ 53 ปี ก็สุดจะเดาว่าอนาคตข้างหน้า เมาส์จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร หรือไม่

มันอาจจะเป็นอะไรที่มากกว่าเมาส์ไปแล้วก็ได้เมื่อถึงวันนั้น

18 พฤศจิกายน ของทุกปี ถือเป็นวันเกิด ‘มิกกี้ เมาส์’ ตัวการ์ตูนชื่อดังแห่งวอลต์ ดิสนีย์

เชื่อว่าหลายคนคงรู้จัก ‘มิกกี้ เมาส์’ ตัวการ์ตูนชื่อดังขวัญใจของเด็ก ๆ และคนทั่วโลกแน่นอน และวันที่ 18 พฤศจิกายน ของทุกปี ถือเป็นวันเกิดของหนูการ์ตูนชื่อดังแห่งวอลต์ ดิสนีย์

‘มิกกี้ เมาส์’ เป็นตัวการ์ตูนของค่ายวอลต์ ดิสนีย์ ซึ่งถือกำเนิดขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน ค.ศ. 1928 (พ.ศ. 2471) โดยวอลเตอร์ อีเลียส ดิสนีย์ และอับ ไอเวิร์กส เดิมทีพวกเขาเรียกมันว่า ‘มอร์ติเมอร์ เมาส์’ ก่อนจะเปลี่ยนชื่อตัวการ์ตูนนี้ใหม่เป็น ‘มิกกี้ เมาส์’ จากการแนะนำของภรรยาวอลต์ ดิสนีย์ เนื่องจากเธอเห็นว่ามันเป็นชื่อที่ดูจริงจังจนเกินไป

จุดกำเนิดของมิกกี้ เมาส์ เกิดขึ้นขณะที่วอลเตอร์ อีเลียส ดิสนีย์ (ขณะนั้นอายุ 27 ปี) นั่งอยู่บนรถไฟระหว่างทางมุ่งสู่ลอสแอนเจลิส เขาลงมือสเกตช์ภาพคาแรกเตอร์หนูเล็ก ๆ สวมกางเกงสีแดงขึ้นมา โดยมี อับ ไอเวิร์กส ออกแบบรูปร่างลักษณะ หลังจากนั้นในปี ค.ศ. 1928 (พ.ศ. 2471) ‘มิกกี้ เมาส์’ ก็ปรากฏตัวครั้งแรกในหนังการ์ตูนเงียบที่ชื่อว่า ‘Plane Crazy’ แต่ก่อนที่การ์ตูนเรื่องนี้จะออกฉาย ก็เริ่มมีการนำเสียงมาใส่ในภาพยนตร์ ทำให้มิกกี้ เมาส์ เป็นหนังการ์ตูนที่มีการใส่เสียงเรื่องแรกในโลก ในชื่อเรื่องว่า ‘Steamboat Willie’

การเปิดตัวครั้งแรกของมิกกี้ เมาส์ ในเรื่อง ‘Steamboat Willie’ ในวันที่ 18 พฤศจิกายน ค.ศ. 1928 (พ.ศ. 2471) ทำให้ ‘มิกกี้ เมาส์’ กลายเป็นขวัญใจของเด็ก ๆ จวบจนปัจจุบัน โดยทางนิวยอร์กไทมส์ เคยเขียนชื่นชมว่า ‘มิกกี้ เมาส์’ เป็นผลงานที่มีความคิดสร้างสรรค์เยี่ยมยอดและสนุก เพราะการ์ตูนเรื่องนี้มีจุดเด่นตรงเพลงประกอบที่ไพเราะ มีภาพและฉากที่สวยงาม

ลักษณะเด่นของ ‘มิกกี้ เมาส์’ เป็นเพียงหนูตัวเล็ก ๆ หูกลมใหญ่สีดำ แขนขาเล็กมาก สวมกางเกงเอี๊ยมสีแดง รองเท้าสีเหลือง มีบุคลิกที่มีความอดทนอดกลั้น ฉลาดหลักแหลม มองโลกในแง่ดี และกล้าหาญ ที่สำคัญ ‘มิกกี้ เมาส์’ มีสัญชาตญาณพิเศษในเรื่องของการสืบสวนสอบสวน และด้วยบุคลิกที่โดดเด่นในแง่นี้เองทำให้ตัวการ์ตูนตัวนี้ชอบที่จะใช้เหตุผลเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ โดยไม่ต้องใช้กำลังเข้าสู้ จนสามารถเอาชนะศัตรูที่มีร่างกายที่แข็งแรงกว่า ทำให้ ‘มิกกี้ เมาส์’ สามารถเป็นที่รักและครองหัวใจของเด็ก ๆ และผู้คนทั่วโลกมาเกือบ 100 ปี

19 พฤศจิกายน ของทุกปี กำหนดเป็น ‘วันส้วมโลก’ หรือ ‘วันสุขาโลก’ รณรงค์ให้ตระหนักถึงสุขอนามัยการใช้ส้วม

‘วันส้วมโลก’ (World Toilet Day) หรือวันสุขาโลก ได้ถูกตั้งขึ้นโดยองค์การส้วมโลก (World Toilet Organization หรือ WTO) เป็นองค์การไม่แสวงหาผลประโยชน์ ซึ่งก่อตั้งเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544 กับประเทศสมาชิก 15 ประเทศ เพื่อดำเนินการปรับปรุงส้วมและสุขอนามัยทั่วโลก โดยมุ่งเน้นไปที่ห้องส้วมมากกว่าด้านประปา ซึ่งต้องการให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาของสุขาภิบาล ความสำคัญของความสะอาดของห้องน้ำห้องส้วม และให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของสาธารณสุขมากขึ้น เนื่องจากยังมีผู้คนทั่วโลกอีกมากมายที่ยังใช้ส้วมที่ไม่ได้มาตรฐานอยู่ โดยใช้ความพยายามกว่า 12 ปี ในการดำเนินงาน

จนกระทั่งวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 ในที่ประชุมของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ได้มีมติเห็นชอบให้บรรจุวันส้วมโลกอยู่ในวันของสหประชาชาติ และ กำหนดวันที่ 19 พฤศจิกายน ของทุก ๆ ปี เป็นวันสุขาโลก เพื่อเรียกร้องให้สมาชิกช่วยกันส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และออกนโยบายเพื่อเพิ่มจำนวนผู้ที่สามารถเข้าถึงระบบสุขาภิบาล และหยุดการถ่ายอุจจาระในที่เปิดโล่ง และวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 ได้มีมติอย่างเป็นทางการ เพื่อเน้นย้ำแสดงให้เห็นถึงชะตากรรมของผู้คนถึง 2.5 พันล้านคน ที่ยังไม่มีห้องน้ำขั้นพื้นฐาน ตามที่สหประชาชาติเคยกล่าวไว้ว่า ในบรรดาประชาชน 7 พันล้านคนของโลก มีเพียง 4.5 พันล้านคนเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงห้องสุขาหรือส้วมได้ และมีอีก 1,100 ล้านคน ที่ยังขับถ่ายในที่สาธารณะ ซึ่งคุกคามต่อการสาธารณสุข

นอกจากนี้ ยังมีรายงานขององค์กรการกุศลวอเตอร์เอด (WaterAid) ที่เผยแพร่ออกมาก่อนวันส้วมโลกประจำปี 2018 ระบุว่า ‘เอธิโอเปีย’ ขึ้นแท่นเป็นประเทศที่ขาดแคลนห้องน้ำมากที่สุดในโลก ปัจจุบันชาวเอธิโอเปียส่วนใหญ่ต้องถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระในพื้นเปิดข้างทาง ซึ่งจริง ๆ แล้วมันเป็นการแพร่กระจายเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และพยาธิต่าง ๆ ลงสู่แหล่งน้ำ และคุกคามต่อระบบสาธารณสุขท้องถิ่น ทั้ง ๆ ที่การเข้าถึงห้องน้ำเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน 

พร้อมทั้งแสดงให้เห็นด้วยว่า ประชากร 2.3 พันล้านคนทั่วโลกยังคงขาดแคลนห้องน้ำที่บ้าน มากไปกว่านั้น อีกหนึ่งข้อมูลน่าตกใจจากรายงานคือ เกือบ 1 ใน 5 ของโรงเรียนประถม และ 1 ใน 8 ของโรงเรียนมัธยมทั่วโลกก็ปราศจากห้องน้ำเช่นกัน ทำให้เด็กนักเรียนจำนวน 620 ล้านคน ต้องตกอยู่ท่ามกลางอันตราย

ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจึงให้ความสำคัญกับการสร้างสุขอนามัยของห้องส้วมมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของห้องน้ำห้องส้วมภายในบ้าน และในที่สาธารณะ เช่น ปั๊มน้ำมัน วัด โรงเรียน สำนักงาน และสถานที่ราชการ ฯลฯ เพื่อสกัดไม่ให้การขับถ่ายที่ไร้สุขอนามัยส่งผลเสียกับแม่น้ำ ทะเลสาบ และมหาสมุทรโดยตรง เพราะหวั่นกลัวว่าสิ่งเหล่านี้จะหวนกลับเป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอีก แต่ในปัจจุบันจากการดำเนินงานพัฒนาส้วมและการจัดการสิ่งปฏิกูลในประเทศไทยของกรมอนามัยตลอดหลายปี ก็เผยให้เห็นว่า ในประเทศไทย ครัวเรือนมีส้วมใช้และถูกสุขลักษณะ จำนวน 20.3 ล้านครัวเรือน คิดเป็น 99.8% อีก 0.2% หรือ จำนวน 40,729 ครัวเรือน ยังไม่มีส้วม หรือเป็นส้วมที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและยากลำบากในการเข้าถึงเท่านั้น

20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2482 กำเนิด ‘วงดนตรีสุนทราภรณ์’ ก่อตั้งโดย ‘ครูเอื้อ สุนทรสนาน’

บุคคลสำคัญของโลกที่ได้รับการยกย่อง โดยยูเนสโก และเป็นบุคคลที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากในหลวงรัชกาลที่ 9 มาเป็นเวลายาวนานตราบจนวาระสุดท้ายของบุคคลผู้นี้ คือ ‘ครูเอื้อ สุนทรสนาน’ หรือที่รู้จักกันในนามของ ‘สุนทราภรณ์’ ผู้ก่อตั้งวงดนตรี ‘สุนทราภรณ์’ อันโด่งดัง ซึ่งทุกวันนี้แม้ตัวคุณครูเองจะจากไปหลายปีแล้ว แต่วงดนตรีของท่านก็ยังคงอยู่ รวมทั้งเพลงต่าง ๆ ที่คุณครูแต่งหรือร่วมแต่งไว้กว่า 2,000 เพลง ก็ยังคงความไพเราะและเป็นอมตะ ได้รับการบรรเลงขับร้องจากนักร้องรุ่นหลัง ๆ เรื่อยมา โดยไม่มีวี่แววว่าประชาชนจะหลงลืมเพลงเหล่านี้แต่อย่างใดเลย

ครูเอื้อเกิดเมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2453 ที่อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2524 และได้รับการยกย่องจากยูเนสโก ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ในสาขาวัฒนธรรมดนตรีไทยสากล ในวาระครบรอบ 100 ปีชาตกาล เมื่อ พ.ศ. 2552

ท่านก่อตั้งวงดนตรี ‘สุนทราภรณ์’ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2482 ขณะดำรงตำแหน่งหัวหน้าวงดนตรีกรมโฆษณาการ หรือกรมประชาสัมพันธ์ในปัจจุบัน ครูเอื้อไม่ประสงค์จะใช้วงดนตรีของทางราชการไปรับงานแสดงส่วนตัว จึงได้ดำริจัดตั้งวงดนตรี ‘สุนทราภรณ์’ ขึ้น เพื่อรับบรรเลงตามสถานที่ต่าง ๆ ในเวลานอกราชการ 

คำว่า ‘สุนทราภรณ์’ ได้มาจากการนำนามสกุลท่อนแรกของท่าน คือ ‘สุนทร’ มาสนธิกับชื่อสุภาพสตรีอันเป็นที่รักของท่าน ได้แก่ ‘อาภรณ์’ (กรรณสูต) กลายเป็น ‘สุนทราภรณ์’ ซึ่งเป็นทั้งชื่อวงดนตรีและนามแฝงในการขับร้องเพลงของท่านควบคู่กันไป เพลงของสุนทราภรณ์มีทุกแนว นับตั้งแต่เพลงปลุกใจ, เพลงสดุดีเทิดพระเกียรติ, เพลงประจำสถาบันต่าง ๆ, เพลงรัก, เพลงคติธรรมชีวิต ไปจนถึงเพลงรำวงและลีลาศอันสนุกสนาน หลาย ๆ เพลงยังคงความอมตะ และได้รับความนิยมสืบเนื่องจนกลายเป็นสมบัติของชาติเคียงคู่สังคมไทยตราบเท่าทุกวันนี้ ได้แก่ เพลงเทศกาลต่าง ๆ เช่น เริงสงกรานต์, รำวงสงกรานต์, รำวงลอยกระทง, สวัสดีปีใหม่, รื่นเริงเถลิงศก, รำวงปีใหม่ ฯลฯ เป็นต้น

ไม่เพียงแต่จะเป็นที่รู้จักในประเทศไทยเท่านั้น เพลง ‘รำวงลอยกระทง’ ของท่านยังเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ในฐานะเพลงสัญลักษณ์เพลงหนึ่งของประเทศไทย และเล่ากันว่าในการเสนอชื่อท่านต่อยูเนสโก เพื่อให้ยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลกนั้น หากผลงานของบุคคลสำคัญเป็นที่รู้จักในต่างประเทศด้วย ก็จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ ทางฝ่ายไทยจึงแนบเทปเพลง ‘รำวงลอยกระทง’ ไปด้วย เมื่อเปิดขึ้นคณะกรรมการพิจารณาก็ยิ้มทันที เพราะรู้จักเพลงนี้กันทุกคน

ครูเอื้อ สุนทรสนาน ได้รับพระราชทานเพลงพระราชนิพนธ์ ‘มหามงคล’ จากในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นเพลงเปิดวงในโอกาสฉลองครบรอบปีที่ 20 แห่งการตั้งวง เมื่อพ.ศ. 2502 และทางวงดนตรีสุนทราภรณ์ก็ได้อัญเชิญบรรเลงเป็นเพลงเปิดวงแม้จนทุกวันนี้

เมื่อครั้งวงดนตรีสุนทราภรณ์มีอายุครบ 30 ปี ใน พ.ศ. 2512 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานพระราชวโรกาสให้ครูเอื้อ สุนทรสนาน นำนักร้อง นักดนตรี และนักเรียนจากโรงเรียนสุนทราภรณ์การดนตรี เข้าเฝ้า ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ทรงพระสุหร่าย ทรงเจิม และพระราชทานเหรียญเสมาทองคำ ‘ภปร.’ แก่หัวหน้าวง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นพ้นแก่ครูเอื้อ

ในงานฉลอง 70 ปี ของการตั้งวงดนตรีสุนทราภรณ์ เมื่อ พ.ศ. 2552 นายแก้วขวัญ วัชโรทัย เลขาธิการพระราชวังใน พ.ศ.ดังกล่าว ได้กล่าวไว้ว่า “วงดนตรีสุนทราภรณ์ถือเป็นวงในพระราชสำนัก เพราะได้บรรเลงดนตรีถวายต่อเนื่องเป็นเวลาหลายสิบปี” 

เมื่อครูเอื้อถึงแก่กรรม ก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงศพด้วยพระองค์เอง ณ วัดเทพศิรินทราวาส นับเป็นศิลปินคนที่ 2 และคนสุดท้ายที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระองค์

21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2527 ‘เขาทราย แกแล็คซี่’ เจ้าของฉายา ‘ซ้ายทะลวงไส้’ คว้าเข็มขัดแชมป์โลกรุ่นซูเปอร์ฟลายเวท WBA มาครอง

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2527 หรือเมื่อ 39 ปีก่อน ‘สุระ แสนคำ’ หรือ ‘เขาทราย แกแล็คซี่’ ได้คว้าเข็มขัดแชมป์โลกมาครอง ซึ่งได้สร้างความปลื้มปีติให้แก่ชาวไทยทั้งประเทศ เมื่อ ‘เขาทราย แกแล็คซี่’ ยอดนักมวยขวัญใจชาวไทย ชนะน็อก ยูเซปิโอ เอสปินัล นักมวยชาวโดมินิกัน ซึ่งเป็นรองแชมป์โลก WBA อันดับ 2 ในรุ่นซูเปอร์ ฟลายเวท ในขณะนั้นได้สำเร็จ ทำให้ ‘เขาทราย แกแล็คซี่’ คว้าตำแหน่งแชมป์โลก รุ่นจูเนียร์แบนตั้มเวท WBA มาครอง โดยเป็นตำแหน่งแชมป์โลกครั้งแรกของเขาทราย และเป็นแชมป์โลกคนที่ 9 ของไทย

หากพูดถึงชื่อ ‘เขาทราย แกแล็คซี่’ ฉายาที่คุ้นหูคนไทยคงไม่พ้น ‘ซ้ายทะลวงไส้’ อันมีที่มาจากการเป็นนักมวยถนัดซ้าย ที่มาพร้อมกับหมัดซ้ายที่หนักหน่วง และการชกตัดลำตัวที่ยอดเยี่ยม ในขณะที่ฉายาที่สื่อต่างประเทศมอบให้ คือ The Thai Tyson หรือ ไมค์ ไทสัน เมืองไทย

นอกจากนี้การสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวงการนักมวยไทยของเขานั้น ยังดังไกลในระดับโลก เพราะหลังจากการครอบแชมป์ตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2527 เขาก็ได้ป้องกันแชมป์ไปถึง 19 ครั้งด้วยกัน ทุบสถิติแซงหน้านักชกเอเชียคนไหน ๆ และเทียบเท่ากับ เอวเซบิโอ เปรโดซา อดีตแชมป์โลก WBA รุ่นเฟเธอร์เวท

จากการบันทึกข้อมูลสถิติการชกของเขาทรายโดย Boxing Writers Association of America (BWAA) และนักประวัติศาสตร์มวยโลกได้บันทึกข้อมูลว่า เขาทรายทำสถิติการชกไว้ทั้งหมด 50 ครั้ง ชนะ 49 ครั้ง โดยชนะน็อกถึง 43 ครั้ง แพ้คะแนนเพียง 1 ครั้ง และในการป้องกันแชมป์ 19 ครั้ง เป็นการชนะน็อกถึง 16 ครั้ง มีเพียง 3 ครั้งที่ชนะคะแนน

ซึ่งในวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2534 เขาทรายได้ประกาศแขวนนวมในฐานะแชมป์โลกผู้ไม่เคยแพ้ใคร ตลอดระยะเวลาที่ครองตำแหน่ง 2,628 วัน หรือ 7 ปี 2 เดือน 30 วัน เหตุนี้เองจึงทำให้เขาทราย ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติเข้าสู่หอเกียรติยศ International Boxing Hall of Fame ประเภท Modern ในปี พ.ศ. 2542 จากการพิจารณาของ Boxing Writers Association of America (BWAA)

อีกทั้งได้รับการบรรจุชื่อในหอเกียรติยศนักมวยโลก ณ เมืองคานาสโตตา รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งนับว่าเป็นหอเกียรติยศอันทรงเกียรติ ที่จารึกชื่อบุคคลสำคัญในวงการสังเวียนผ้าใบและมีความยิ่งใหญ่ของวงการมวยโลก

22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 ‘จอห์น เอฟ. เคนเนดี’ ผู้นำสหรัฐฯ คนที่ 35 ถูกลอบสังหาร ขณะเดินทางไปหาเสียงเลือกตั้ง

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 เกิดเหตุการณ์ที่สร้างความตื่นตกใจให้กับคนทั้งโลก เมื่อ ‘จอห์น เอฟ. เคนเนดี’ ประธานาธิบดีลำดับที่ 35 แห่งสหรัฐอเมริกา ได้ถูกลอบสังหารขณะเดินทางไปหาเสียงเลือกตั้ง ปธน. ภายในรถเปิดประทุน โดยมีภรรยานั่งอยู่ด้านข้าง โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นในเวลา 12.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ เดลลีย์พลาซา เมืองแดลลัส รัฐเท็กซัส

โดยจากการสืบสวนของคณะกรรมการวอร์เรน ซึ่งกินเวลา 10 เดือน ระหว่าง พ.ศ. 2506 - 2507 การสืบสวนของคณะกรรมการสมาชิกผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ว่าด้วยการลอบสังหารประธานาธิบดี (HSCA) ระหว่าง พ.ศ. 2519 - 2522 และการสืบสวนของรัฐบาล สรุปว่าประธานาธิบดีถูกลอบสังหารโดย 'ลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์’

ซึ่งในเวลาต่อมา ออสวอล์ดถูกฆาตกรรมโดย แจ๊ค รูบี้ ก่อนที่เขาจะต้องขึ้นศาล ในช่วงแรกที่มีการเปิดเผยผลการสืบสวน ข้อสรุปนี้ได้รับการยอมรับจากสาธารณชนอเมริกัน แต่ในภายหลัง ผลสำรวจที่มีการจัดทำขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2509 - 2547 เปิดเผยว่าชาวอเมริกันประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์มีความเชื่อตรงกันข้ามกับข้อสรุปที่ได้จากการสืบสวนดังกล่าว

ดังนั้นการลอบสังหารในครั้งนี้ยังคงเป็นประเด็นการอภิปรายในวงกว้าง และก่อให้เกิดประเด็นเรื่องทฤษฎีสมคบคิดและการจัดฉากอย่างนับไม่ถ้วน จนกระทั่ง พ.ศ. 2522 คณะกรรมการสมาชิกผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ว่าด้วยการลอบสังหารประธานาธิบดี ค้นพบว่ารายงานการสืบสวนของเอฟบีไอและคณะกรรมการวอร์เรนมีข้อบกพร่องอย่างร้ายแรง 

คณะกรรมการฯ ยังสรุปด้วยว่ามีการยิงปืนใส่ไม่ต่ำกว่า 4 นัด ซึ่งเป็นไปได้สูงว่าอาจมีฆาตกรสองคน และทฤษฎีสมคบคิดดังกล่าวเกิดขึ้นจริง อย่างไรก็ดี ผลการศึกษาในภายหลัง ซึ่งรวมถึงผลการศึกษาของสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐอเมริกาได้ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความถูกต้องของหลักฐานที่คณะกรรมการฯ ใช้เพื่อสนับสนุนทฤษฎีกระสุนสี่นัดดังกล่าว

แต่แล้ว ในวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2560 คดีการลอบสังหารในครั้งนี้ก็ดูเหมือนจะกระจ่างขึ้น เมื่อประธานาธิบดีโดนัลน์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ได้มีคำสั่งให้หอจดหมายเหตุแห่งชาติสหรัฐฯ เปิดเผยเอกสารเกี่ยวกับคดีลอบสังหาร ปธน.จอห์น เอฟ เคนเนดี ที่ยังไม่เคยเปิดเผยกว่า 2,800 ชิ้น ตามที่ได้เคยกล่าวผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่าจะเปิดเผยข้อมูลในวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2560

แต่ก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ขึ้น เมื่อประธานาธิบดีทรัมป์ ตัดสินใจวินาทีสุดท้าย ไม่เปิดเผยข้อมูลลับเกี่ยวกับคดีดังกล่าวอีกกว่า 300 ชิ้น เพราะหน่วยข่าวกรองกลาง หรือซีไอเอ และสำนักงานสอบสวนกลาง หรือเอฟบีไอ ขอให้มีการเก็บข้อมูลบางส่วนต่อไป เนื่องจากมีข้อกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยการเปิดเผยคาดว่าจะมีการพิจารณาถึงความเหมาะสมต่อไปอีก 6 เดือน หรือประมาณช่วงเดือนเมษายน พ.ศ. 2561

เหตุการณ์สะเทือนโลกครั้งนี้จึงนับเป็น เหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ที่ชาวโลกยังคงจดจำ ต่อการจากไปของประธานาธิบดีหนุ่ม ‘จอห์น เอฟ. เคนเนดี’ ที่สร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติมากมาย อีกทั้งยังเป็นคดีที่ยังคงมีถูกตั้งข้อสงสัยและยังไม่ได้รับความกระจ่างอย่างแท้จริงจากเอกสารบางส่วนที่ยังไม่เปิดเผย มาจนถึงทุกวันนี้

23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 ‘ทามาก็อตจิ’ สัตว์เลี้ยงดิจิทัล ไอเท็มสุดฮิตยุค 90 วางขายครั้งแรก

วันนี้เมื่อ 27 ปีก่อน ‘ทามาก็อตจิ’ สัตว์เลี้ยงดิจิทัลคลายเหงาสำหรับเด็ก ๆ เพื่อนซี้ 8 บิต หนึ่งในไอเท็มสุดฮิตในยุค 90 ถูกวางจำหน่ายเป็นวันแรก

หากเอ่ยถึงของเล่น วัยเยาว์ยุค 90s เชื่อว่าหลายคนคงจะนึกถึงเจ้า ‘ทามาก็อตจิ’ (Tamagotchi) สัตว์เลี้ยงดิจิทัลสีขาวดำในก้อนไข่ ของเล่นสุดฮิตที่ใครก็อยากมีติดกระเป๋าเอาไว้เล่นยามว่าง อย่างแน่นอน

ทามาก็อตจิ เป็นของเล่นที่คิดค้นและร่วมมือโดย อากิฮิโระ โยโคอิ (Akihiro Yokoi) ประธานบริษัท Wiz ซึ่งเป็นบริษัทออกแบบของเล่นให้กับผู้ผลิตรายใหญ่ กับ อากิ มาอิตะ (Aki Maita) นักการตลาดของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Bandai ของญี่ปุ่น

อากิฮิโระ โยโคอิ ได้รับแรงบันดาลใจและปิ๊งไอเดียในการสร้างเจ้าของเล่นขนาดพกพานี้จาก ‘โฆษณาทางโทรทัศน์’ ซึ่งปรากฏเรื่องราวของเด็กชายคนหนึ่งที่ไม่สามารถพา ‘เต่า’ สัตว์สุดที่รักของเขาไปท่องเที่ยวด้วยกันได้ 

เมื่อได้เห็นโฆษณาดังกล่าว บวกกับโยโคอิ เป็นคนที่ชื่นชอบสัตว์เลี้ยง เขาจึงตัดสินใจจะผลิตเกมที่ช่วยเสริมสร้างความรับผิดชอบให้กับเจ้าของสัตว์เลี้ยง พวกเขาจะต้องดูแลพวกมันแบบเรียลไทม์ โดยสัตว์ในเกมจะนอนหลับในตอนกลางคืน และจะมีเสียง บี๊บ! ตอนที่พวกมันหิว ทั้งยังมีการสร้างพฤติกรรมและใช้ยารักษาโรคให้กับพวกมันอีกด้วย 

โยโคอิตั้งชื่อของเล่นที่สามารถเลี้ยงสัตว์ได้ทั่วทุกที่ว่า ‘ทามาก็อตจิ’ หรือภาษาอังกฤษคือ Tamagotchi ซึ่งมาจากคำว่า Tamago แปลว่า ไข่ และ Uotchi แปลว่าดูนาฬิกาหรือนาฬิกาข้อมือในภาษาญี่ปุ่น เหตุที่ตั้งชื่อนี้เพราะในตอนแรกจะออกแบบให้ทามาก็อตจิสวมใส่เป็นนาฬิกาข้อมือ ก่อนจะกลายมาเป็นพวงกุญแจห้อยไปมาได้

ต่อมา โยโคอิได้นำความคิดนี้ไปขายให้กับบริษัท Bandai และได้มาอิตะมาช่วยเหลือ ดูแล และทำการตลาดให้กับเจ้าทามาก็อตจิตัวนี้ให้ประสบความสำเร็จมากที่สุด

เมื่อทุกอย่างเป็นไปตามคาด บริษัท Bandai ก็ตัดสินใจออกขายเจ้าก้อนไข่สุดคาวาอี้ในญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 (ค.ศ. 1996) และอเมริกาในปี 1997 ก่อนที่ทามาก็อตจิจะกลายมาเป็น ‘ของเล่น’ ในวัยเด็กที่หลายคนยังคงนึกถึง

24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ในหลวง ร.9 เสด็จฯ ทางชลมารค เปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์

วันนี้เมื่อ 13 ปีก่อน ถือเป็นวันสำคัญของเมืองไทย เมื่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคไปทรงเปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ รวมถึง สะพานภูมิพล 1 และสะพานภูมิพล 2 ทั้งหมดเป็นโครงการในพระราชดำริที่ทรงตั้งใจแก้ปัญหาให้กับประชาชน

โดยที่มาของการสร้างประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ เกิดขึ้นจากการทรงเห็นว่า สภาพของแม่น้ำเจ้าพระยาเดิมมีลักษณะไหลวนคดเคี้ยว โดยเฉพาะบริเวณรอบพื้นที่บางกระเจ้า ที่มีความยาวถึง 18 กิโลเมตร ส่งผลให้การระบายน้ำที่ท่วมพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานครเป็นไปได้ช้า ไม่ทันเวลาน้ำทะเลหนุน

จึงมีพระราชดำริให้พัฒนาใช้คลองลัดโพธิ์ ซึ่งเดิมมีความตื้นเขินและมีความยาวราว 600 เมตร ให้เป็นประตูระบายน้ำที่หลากและน้ำที่ท่วมสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อให้ลงสู่ทะเลทันที และจะปิดคลองลัดโพธิ์เมื่อน้ำทะเลหนุน เพื่อหน่วงน้ำทะเลไม่ให้ขึ้นลัดเลาะไปตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยาที่คดโค้งถึง 18 กิโลเมตรด้วยกัน

ในส่วนของสะพานภูมิพล 1 และ 2 ทรงมีพระราชดำริให้จัดสร้างเพื่อรองรับการขนถ่ายและลำเลียงสินค้าจากท่าเรือกรุงเทพ ไปยังพื้นที่อุตสาหกรรมใน จ.สมุทรปราการ และพื้นที่อื่น ๆ ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาการจราจร โดยเฉพาะรถบรรทุกขนาดใหญ่จากแหล่งอุตสาหกรรม เพื่อให้มีช่องทางเลี่ยงออกจากใจกลาง กทม. สู่ต่างจังหวัดได้ทันที

ทั้งหมดคือพระราชประสงค์เพื่อแก้ปัญหาและยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยให้ดียิ่งขึ้น จากวันนี้และในอนาคตสืบไป...

25 พฤศจิกายน ของทุกปี วันวชิราวุธ (วันคล้ายวันสวรรคต) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

วันวชิราวุธ (วันสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า) ตรงกับวันที่ 25 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (1 มกราคม พ.ศ. 2423 - 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468) เป็นพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 6 ในราชวงศ์จักรี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้น 2 ค่ำ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2423 เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 29 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสวยราชสมบัติเมื่อวันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม ปีจอ พ.ศ. 2453 และเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 รวมพระชนมายุ 45 พรรษา เสด็จดำรงราชสมบัติรวม 15 ปี

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระอัจฉริยภาพและทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจในหลายสาขา ทั้งด้านการเมืองการปกครอง การทหาร การศึกษา การสาธารณสุข การต่างประเทศ และที่สำคัญที่สุดคือด้านวรรณกรรมและอักษรศาสตร์ ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทร้อยแก้วและร้อยกรองไว้นับพันเรื่อง กระทั่งทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาเมื่อเสด็จสวรรคตแล้วว่า ‘สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า’ พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ใน พระราชวงศ์จักรีพระองค์แรกที่ไม่มีวัดประจำรัชกาล แต่ได้ทรงมีการสถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวงหรือวชิราวุธวิทยาลัยในปัจจุบัน ขึ้นแทน ด้วยทรงพระราชดำริว่าพระอารามนั้นมีมากแล้ว และการสร้างอารามในสมัยก่อนนั้นก็เพื่อบำรุงการศึกษาของเยาวชนของชาติ จึงทรงพระราชดำริให้สร้างโรงเรียนขึ้นแทน

สำหรับพระราชกรณียกิจที่สำคัญ พระองค์นั้นได้เป็นผู้ให้พระราชทานกำเนิดกิจการลูกเสือไทยขึ้น ซึ่งพระราชกรณียกิจที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่ได้ทรงริเริ่มและพัฒนาไว้ล้วนแต่เป็นรากฐานที่สำคัญซึ่งนำไปสู่ความเจริญของประเทศ

26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518 ในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระพันปีหลวง เสด็จฯ พระราชทานปริญญาบัตร ม.รามคำแหงรุ่นแรก

วันนี้ เมื่อ 48 ปีก่อน ‘ในหลวงรัชกาลที่ 9’ และ ‘สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ’ เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยรามคำแหงรุ่นแรก 

พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกของมหาวิทยาลัยรามคำแหง เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518 มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้ดำเนินการขอพระราชทานกราบบังคมทูลเชิญ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จประกอบพิธีพระราชทานปริญญาบัตร พร้อมพิธีเปิดพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราชด้วย ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กำหนดวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518 เป็นวันเสด็จพระราชดำเนินในพิธี โดยใช้สถานที่จัดพิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรก คือ บริเวณหน้าสำนักหอสมุดกลาง

หลังจากพิธีเปิดพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จโดยรถยนต์พระที่นั่งไปทางด้านหลังสำนักหอสมุดกลาง เสด็จขึ้นหอสมุดกลางทางประตูด้านหลัง เสด็จเข้าห้องรับรอง อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ทูลเกล้าฯ ถวายครุยปริญญานิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และรองอธิการบดีทูลเกล้าฯ ถวายครุยปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ทางสังคมวิทยา แด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 

จากนั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงฉลองพระองค์ครุย แล้วทรงลงปรมาภิไธยและพระนามาภิไธยในสมุดเยี่ยมของมหาวิทยาลัย เมื่อถึงหมายกำหนดการพิธีพระราชทานปริญญาบัตร พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเสด็จพระราชดำเนินเข้าเวทีที่ประทับ ทรงบูชาพระรัตนตรัย แล้วเสด็จประทับพระราชอาสน์ ที่หน้าสำนักหอสมุดกลาง

นายกสภามหาวิทยาลัย ได้ขอพระราชทานพระราชวโรกาสกราบบังคมทูลสดุดี พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง อธิการบดีเชิญปริญญาบัตรนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและรองอธิการบดีเชิญปริญญาบัตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางสังคมวิทยาขึ้นทูลเกล้าฯ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

จากนั้น เป็นการเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรตามลำดับ ได้แก่ คณะนิติศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ คณะมนุษยศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ และคณะเศรษฐศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2517 หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานปริญญาบัตรแล้ว ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่บัณฑิต ความตอนหนึ่งว่า...

“มหาวิทยาลัยรามคำแหงนี้เป็นมหาวิทยาลัยในแบบที่ให้โอกาสแก่ ผู้ปรารถนาวิชาความรู้ ให้เข้ามาศึกษาค้นคว้าวิทยาการต่าง ๆ ได้อย่างกว้างขวาง และอย่างอิสระจึงอำนวยประโยชน์ได้มาก ในด้านสนับสนุนส่งเสริมบุคคลทั่วไป และโดยเฉพาะผู้ที่ทำงานแล้ว ให้ได้ฟื้นฟูเพิ่มพูนความสามารถของตนทางด้านวิชาการ เพื่อนำไปปรับปรุง การงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และยกฐานะหน้าที่ให้สูงขึ้น มหาวิทยาลัยมีความมุ่งหมายสำคัญประการหนึ่งที่จะส่งเสริม ผู้ที่เข้ามาศึกษาดังนี้ผู้ที่สำเร็จการศึกษาแล้วทุกคนควรจะได้มองเห็น และควรที่จะได้น้อมนำมาเป็นคติในการดำเนินชีวิต และการงานต่อไป โดยทำความตั้งใจและความเพียรให้มั่นคง ในอันที่จะฝึกฝนและปรับปรุงตนเอง ในการทำงานให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพ และสำคัญที่สุดควรจะได้พยายาม หาทางนำความคิดวิทยาการซึ่งอุตส่าห์ฝึกฝนศึกษามาได้ด้วยยากนั้นมาใช้ ให้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อความ เจริญมั่นคงของชาติบ้านเมืองของเรา”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top