Saturday, 27 April 2024
THAMMASAT

บทบาทแห่งธรรมศาสตร์ ผลิต (อนาคต) ชาติ

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอันดับ 3 ของประเทศไทย ! อันดับที่ 561 - 570 ของโลก จากการประกาศผล QS World University Rankings 2021 

จัดอันดับโดย QS Quacquarelli Symonds Limited สถาบันการจัดอันดับมหาวิทยาลัยทั่วโลก โดยพิจารณาจากเกณฑ์การจัดอันดับ อันได้แก่ Academic Reputation (ชื่อเสียงทางวิชาการ)  Employer Reputation (การสำรวจผู้ว่าจ้าง) และ Faculty Student (อัตราส่วนของคณะต่อนักศึกษา) รวมทั้งการอ้างอิงในรายงานวิจัยแยกย่อยแต่ละคณะ 

ปัจจุบันมีคณะเปิดการเรียนการสอนจากทั้งศูนย์รังสิต ท่าพระจันทร์ ลำปาง และพัทยา ทั้งหมด 19 คณะ 4 วิทยาลัย 1 สถาบัน 1 สำนักวิชา จำนวนหลักสูตรทุกระดับจำนวนทั้งสิ้น 297 หลักสูตร เป็นระดับปริญญาตรี 139 หลักสูตร ประกาศนียบัตรบัณฑิต 6 หลักสูตร ปริญญาตรีควบปริญญาโท 4 หลักสูตร  ปริญญาโท 118 หลักสูตร และปริญญาเอก 34 หลักสูตร จัดการศึกษาทั้งภาคกลางวันและภาคค่ำ 

อันดับและหลักสูตรเหล่านี้บ่งบอกถึงการรักษามาตรฐานในทางวิชาการและการบริหารสถาบันทางการศึกษาไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะคณะสายสังคมศาสตร์ อย่างนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์และพาณิชยศาสตร์และการบัญชี 
ก็ยังเป็นที่นิยมอยู่ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนกระทั่งปัจจุบันนี้ 

แม้ว่าห้วงเวลานี้ ในแวดวงการศึกษาอาจจะมีคำถามถึงความจำเป็นของบทบาทของมหาวิทยาลัยอยู่บ้างก็ตาม แต่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือรั้วแม่โดมแห่งนี้ก็ยังคงยืนหยัดพัฒนาต่อไป เพราะหากมองลึกเข้าไปถึงคุณของความมีอยู่ของมหาวิทยาลัย คุณค่าที่นอกจากการบริการวิชาการแล้ว ยังรวมไปถึงสภาพแวดล้อม สังคม ผู้คน และจิตวิญญาณ ซึ่งเมื่อกล่าวถึงจิตวิญญาณของความเป็น “คนธรรมศาสตร์” กลิ่นอายของเสรีภาพ ประชาธิปไตย และการขับเคลื่อนกิจกรรมทางการเมืองก็ลอยขึ้นมาเตะจมูกทันที

นอกจากความโดดเด่นทางวิชาการ และจิตวิญญาณคนธรรมศาตร์แล้ว ธรรมศาสตร์ในศตวรรษที่ 21 นี้ สิ่งที่เห็นได้ชัดในยุคของฮองเฮา หรือ อธิการบดีหญิง รองศาสตราจารย์เกศินี  วิฑูรชาติ คือการพัฒนาสภาพแวดล้อมมหาวิทยาลัยให้น่าอยู่และรักษ์โลก 

จากการตั้งเป้าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งความยั่งยืน ลดการใช้พลาสติก และรักษาสภาพแวดล้อม การเอาจริงเอาจังด้านความยั่งยืนนี้ จึงทำให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับเลือกจาก International Sustainable Campus Network (ISCN) หรือเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนนานาชาติ ให้เป็น Award Winner ประจำปี 2020 ด้าน Cultural Change for Sustainability จากการรณรงค์สร้างวิถีชีวิตที่ปลอดจากการใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้ง (No More Single Use Plastics) นับเป็นครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยไทยได้รางวัลจาก ISCN

ไม่เพียงเท่านั้น ในด้านขยายฐานการผลิตอนาคตของชาติ มหาวิทยาลัยแห่งนี้ยังแตกหน่อ ต่อยอดการบริหารการศึกษาเป็นโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากแนวคิดที่เห็นปัญหาของระบบการศึกษา คือ การเน้นท่องจำมากกว่าทำความเข้าใจ และบรรยากาศของการแข่งขันเพื่อไปสู่ความสำเร็จตามค่านิยมของสังคม 

กลายเป็นปัญหาที่สะสมอยู่ในวัฒนธรรมการศึกษาไทย จนส่งผลให้เด็กและเยาวชนจำนวนไม่น้อยขาดความสุขในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ มองโรงเรียนเป็นเพียงพื้นที่แห่งการแข่งขัน และเติบโตเข้าสู่ระดับอุดมศึกษาโดยปราศจากการค้นพบศักยภาพและความสนใจของตัวเอง 

จึงเป็นที่มาของโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาภายใต้รั้วเหลืองแดงแห่งนี้ เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Active Learning) สร้างวัฒนธรรมการเคารพและเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้เรียน ผู้สอนและผู้ปกครองด้วย

รั้วมหาวิทยาลัยยังคงเป็นดินแดนที่นักเรียนจำนวนมากใฝ่ฝันที่จะก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง แต่ละสถาบันก็จะมีอัตลักษณ์และภาพจำที่แตกต่างกันไป นอกจากอันดับความแข็งแกร่งทางวิชาการแล้ว คุณค่าที่สำคัญของมหาวิทยาลัยที่ทำให้แตกต่าง คือ กลุ่มสังคมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ 

การเข้าถึงโอกาสทางอาชีพการงาน และเปิดโอกาสทางสังคมในการพบเพื่อนใหม่ๆ ให้การศึกษาเป็นตัวนำทางในการยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับอีกหลาย ๆ คน 

“การศึกษา” จึงเป็นความเท่าเทียมแรกของมนุษย์ทุกคนที่ควรจะมีโอกาสเข้าถึง และตลอดระยะเวลา 86 ปี รั้วแม่โดมแห่งนี้ ก็ดูเหมือนว่ากำลังทำหน้าที่นี้อยู่ ดั่งปรัชญาของการตั้งมหาวิทยาลัย ปรากฏตามสุนทรพจน์ ของศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ รายงานต่อผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในครั้งพิธี เปิดมหาวิทยาลัยขึ้น เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2477 ว่า “มหาวิทยาลัยย่อมอุปมา ประดุจบ่อน้ำ บำบัดความกระหายของราษฎร ผู้สมัครแสวงหาความรู้ อันเป็นสิทธิและโอกาส ที่เขาควรมีควรได้ ตามหลักเสรีภาพของการศึกษา”

จุดยืนที่ “ยืนเอง” หรือมีใคร “ชี้จุดยืน” ?

แม้จะผ่านมาแล้วหลายยุค หลายสมัย แต่คำถามตัวใหญ่ๆ ที่มักเกิดขึ้นกับ 'มหาวิทยาลัย' และ 'นักศึกษาธรรมศาสตร์'  คือ การถูก 'ตีตรา' ว่าเป็นกลุ่มเด็กหัวรุนแรงบ้าง หัวก้าวหน้าบ้าง ไม่รักชาติบ้านเมืองบ้าง หรือคิดย้อนแย้งกับบริบทของสังคมและวัฒนธรรมไทยในช่วงหนึ่งๆ บ้าง 

ในความเป็นจริงแล้ว ถ้าจะพูดให้ถูกนี่ไม่ควรเป็นการตีตราใส่  'ผ้าขาวบาง' ที่มี 'ความเป็นอิสระ'  ซึ่งพร้อมคิดต่าง เพราะหากมองในแง่บวก นี่คือหัวคิด ที่กล้าคิดกระตุกสังคมไทยแบบที่คัมภีร์ประชาธิปไตยได้กางไว้ให้เดินตาม

และส่วนตัวมองว่านี่ก็คือจุดเด่นของ 'เด็กธรรมศาสตร์' ที่มีเลือดประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัย 14 ตุลาคม 2516 / 6 ตุลาคม 2519 ไหลเวียนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการออกมาพูดเรื่องการปฏิรูประบบการเมือง สถาบันพระมหากษัตริย์ การศึกษา และอีกมากมาย ถือเป็นเรื่องอันดี ในยุคที่สังคมไทยมัวแต่ 'ถนอมน้ำใจ' กันแบบไม่รู้จบ

และหากพวกเขาเหล่านี้ ลุกออกมาแสดง 'จุดยืน' ทางความคิด แต่คนเห็นต่างกลับไปจำกัดความคิด อันนี้น่าจะเรียกว่า 'สังคมใจแคบ' เสียมากกว่าด้วย

อย่างไรก็ตาม มีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ในหลากหลายเหตุการณ์ที่ธรรมศาสตร์ 'มีซีน' ในสังคม มาพร้อมกับทิศของประชาธิปไตยบนจุดยืนแบบ 'ปัญญาชน' แท้จริงมากเพียงใด...

หากใครเห็นต่าง คือ ศัตรู ใครเชียร์ตรู คือ พวกพ้อง...ทำไมจึงเกิดมิติเหล่านี้เกิดขึ้นกับเมล็ดพันธุ์แห่งอนาคต ที่ช่วงแรกหลากหลายชนชั้นในสังคมชื่นชมและแอบเชียร์ห่าง ๆ อันนี้คือคำถามตัวโตๆ

ว่ากันตามตรงภายใต้รั้วแม่โดม คงมิได้มีแค่กลุ่มเด็กนักศึกษา แต่มีเหล่าคณาจารย์ / กลุ่มคนที่เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากความพ่ายแพ้ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง และขณะเดียวกันก็มีก้อนเนื้อทางการเมืองที่แสดงจุดยืนบางประการ คอยตีลู่ให้อนาคตของชาติเดินทางหรือไม่ ?

การแสดงออกเชิงก้าวร้าว ตาต่อตา ฟันต่อฟันสไตล์วัยกระเต๊าะ ที่ไม่ควรเกิด มันมาจาก 'จุดยืน' ของเด็กเอง หรือ 'จุดยืน' ของใคร ?

ครั้งหนึ่งเคยมีโอกาสได้คุย สุริยะใส กตะศิลา อดีตแกนนำพันธมิตร ที่วันนี้ผันตัวไปเป็นอาจารย์ในรั้วมหาวิทยาลัยรังสิต

หากลองคิดตามแบบไม่อคติ สิ่งที่ สุริยะ พูดถึงภาพสถาบันการศึกษาแบบไม่เอ่ยสถาบันนั้น น่าสนใจมาก !!

เขาเล่าว่า บทเรียน และประวัติศาสตร์ ทางการเมือง ถูกย้อมด้วยอุดมการณ์กลุ่มบุคคลที่เรียกได้ว่าครูและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การต่อสู้ที่ล้มเหลวทางการเมืองในยุคตัวเองอย่างเข้มข้น หล่อหลอมจนเป็น 'มายาคติ' ให้เด็กในคลาสผูกพัน

โอ้ !! ถ้าเป็นเช่นนั้น น่ากลัวนะ

เพราะหากเป็นเช่นนั้น หมายความว่า 'ซีน' ที่เกิดขึ้นบนเวทีการต่อสู้ทางการเมืองของเด็กรุ่นใหม่ยุคนี้ มันอาจจะไม่ได้มาจาก 'จุดยืน' ของเด็กทั้งหมด แต่ทั้งหมดมาจาก 'จุดยืน' ของใครที่โหดเหี้ยมในการลากเด็กเข้าไปเป็นแขนขาให้ตนแข็งแรงขึ้น

ดร.กิตติธัช ชัยประสิทธิ์ อาจารย์ด้านสถาปัตยกรรม สอนพิเศษด้านปรัชญาการเมือง เคยเล่าว่า เรื่องนี้มันเป็นภาพแบบ 'เดจาวู' โมเดลการเมืองที่เคลื่อนไหวในยุคนี้มันมีมาแล้ว แค่เปลี่ยนตัวละครจากประเทศจีน เป็นประเทศไทย

โดยมีกลุ่มบุคคล ที่เข้ามาปั่นให้คนเกลียดชัง ดูถูก เหยียดหยามกัน ปลุกปั่นให้มวลชนคิดว่าตนเองเป็นคน ‘ หัวก้าวหน้า ’ กว่าคนอื่นในประเทศ แล้วคิดว่าประเทศไม่ก้าวหน้าเพราะมีพวกคนแก่ฉุดรั้ง ต้องจัดการทิ้งไปให้หมด (ทั้ง ๆ ที่คนปลุกปั่นก็ ‘ หงอก ’ พอ ๆ กัน)

โมเดลการเมืองที่ปั่นให้เด็กวัยรุ่นเกลียดชังผู้ใหญ่ เกลียดครูบาอาจารย์ที่คิดต่าง เกลียดพ่อแม่ ถึงขั้นหากทำร้ายหรือทำให้อับอายได้ (เมื่อตนมีอำนาจ) ก็พร้อมจะทำ เพราะมันรู้สึก 'เท่ห์' และมองว่าคนจาก 'โลกเก่า' หรือ 'ล้าหลัง' คือพวกฉุดรั้งสังคม

โมเดลแบบนี้ เกิดขึ้นกับจีนในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม (Cultural Revolution) ระหว่างปี 1967 - 1977 ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร

เพราะสุดท้ายพอหมดช่วงนั้น ทุกคนก็ตาสว่าง แกนนำก็โดนจับ โดนประหาร เด็กวัยรุ่นจีนในวันนั้น วันนี้อายุ 60 - 70 ปี ก็พยายามลืม ๆ ไม่พูดถึงความผิดพลาดที่ตัวเองเคยตกหลุมพราง 'จุดยืน' ที่อาจจะไม่ใช่ของตนในช่วงนั้นอย่างถ่องแท้

เยาวชนในรั้วการศึกษา ณ วันนี้ เหมือนเครื่องมือชั้นดีของกลุ่มที่มี 'จุดยืน' ที่เคยล้มเหลว แล้วเฝ้ารอวันรื้อหรือเปลี่ยนประวัติศาสตร์การเมืองไทยและการเมืองโลก ให้รู้ในมุมที่จำกัดกับผลประโยชน์ในมุมตนเอง แล้วเด็ก ๆ ก็พร้อมคล้อยตามอย่างเพลิดเพลินเป็นตุเป็นตะ

ยกตัวอย่างให้พอขำจากเด็ก ๆ ที่พอได้เคยคุยกันมาบ้าง หลายคนยัง 'ตาใส' ใส่เหตุการณ์กีฬาสี (เหลือง - แดง) และมองว่าการถูกน้ำแรงดันฉีดจนขาถ่างของม็อบคณะราษฎร เป็นการกระทำที่เลวร้ายของประวัติศาสตร์ไทย ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้าช่วงกีฬาสี เขาฉีดกระสุนจริง ปาบึ้มใส่กันจนไส้แตก เด็ก ๆ ก็แค่ทำ 'ตาใส' ใส่ซ้ำอีกรอบ

หรือแม้แต่การตั้งคำถามว่า สถาบันกษัตริย์ มีไว้เพื่ออะไร ทั้ง ๆ ที่ในช่วงอายุ ก็มิได้ทราบและไม่สืบแสวงหาความเป็นมา แล้วปล่อยความคิดที่ยึดไปตาม 'ความคิด' ให้ผู้อื่นชักจูง ทำร้ายจิตใจคนไทยที่รับรู้ดีว่าตลอดช่วงพระชนม์ชีพของสถาบันทรงทำสิ่งใดไว้เพื่อคนไทย

นี่คือ 'จุดยืน' ที่มาพร้อมความเบือนบิดหรือไม่ ? (ไม่มีคำตอบให้ หากสุดท้ายคนรุ่นใหม่มักบอกว่าตนมีความคิดอยู่แล้ว)

อย่างไรเสีย ความคิดของเด็ก ก็เป็นเหมือนผ้าขาว อยู่ที่ใครจะป้ายอะไรเข้าไปใส่ เขาคงไม่ได้จ้องจะอาฆาตแค้น หรือไม่ได้ต้องการจะรื้อถอนโครงสร้างใด ๆ ของสังคมไทย อันนี้เป็นเรื่องที่การันตีได้ 100%

พวกเขาแค่อยากตั้งคำถาม แล้วก็อยากเห็นสังคมไทยที่เขารักดีกว่าเดิม

เพียงแต่มันก็อยู่ที่ว่า 'จุดยืน' ของพวกเขา อยู่บน 'ความคิด' ของเขาแค่ไหน แล้วจุดยืนนั้น ๆ มาจากการคิดพิจารณาข้อมูล เหตุการณ์ ประวัติศาสตร์แบบรอบด้านจริงแท้เพียงใด ?

อันนี้ก็ยากจะให้คำตอบอีกเช่นกัน...


อ้างอิง:

https://www.thaipost.net/main/detail/74529

หมายชูชาติ หรือ หมาย ชังชาติ

สำนักไหนหมายชูประเทศชาติ สำนักนั้นธรรมศาสตร์และการเมือง

ข้อความนี้ตัดถ้อยคำมาจากเพลงประจำมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ทำนองมอญดูดาว) อันเป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพลงแรก ประพันธ์โดยขุนวิจิตรมาตรา เมื่อ พ.ศ. 2478 จากวันที่ก่อตั้งมหาวิทยาลัยในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2477 เพื่อเป็นตลาดวิชาที่ให้การศึกษาด้านกฏหมายและการเมืองแก่ประชาชนทั่วไป จนถึงวันนี้กว่า 87 ปี ที่สำนักนี้สร้างบุคลากรคุณภาพจำนวนมากออกมาขับเคลื่อนประเทศไทย หลายท่านเป็นบุคคลสำคัญของประเทศและของโลก แต่ ณ ปัจจุบัน “สำนักนี้ยังหมายชูประเทศชาติจริงหรือ ?”

เพราะหากเรามองช่วงเวลาที่เปลี่ยนผ่าน บริบทโดยรวมของขบวนการนักศึกษาที่ผลักดันความชอบธรรมของสังคมพร้อมด้วยคณะอาจารย์ผู้ปลูกฝังสำนึกของธรรมศาสตร์นั้นเปลี่ยนไปมาก สังเกตได้จาก “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” ในวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2563 ซึ่งไม่ทราบว่าจะไม่ทนอะไร ? เพราะบรรยากาศวันนั้นทุกประเด็นที่เรียกร้องโดยนักศึกษา มีแต่ความย้อนแย้ง หยาบคาย ไม่สร้างสรรค์ กักขฬะ ตื้นเขินทางปัญญาและความคิดเป็นอย่างยิ่ง

โดยเฉพาะข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ 10 ข้อ ก็รับมาอ่านบนเวทีทั้ง ๆ ที่ไม่ทราบมาก่อนว่าจะมี และไม่ทราบว่ามาจากใคร ร่วมไปถึงอีกหลาย ๆ ภาพกิจกรรมบนเวที ที่ละเมิดขอบเขตทางกฏหมายอย่างชัดเจน แสดงให้เห็นความจริงอันน่ารันทดว่านักศึกษาธรรมศาสตร์บางส่วนได้กลายเป็นหุ่นเชิดไร้สมองไปเสียแล้ว นอกจากนั้นการแสดงความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัยก็ช่างมักง่าย อาจารย์ระดับรองอธิการบดี ออกมาแก้ต่างเรื่องการชุมนุมว่า “ไม่ทราบมาก่อนว่าจะมีการทำผิดกฏหมายเกิดขึ้น” แต่จะดำเนินมาตรการต่าง ๆ ตามบทบาทและหน้าที่ของมหาวิทยาลัย

สุดท้ายก็ไม่มีสิ่งใดที่แสดงถึงการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว ไม่น่าเชื่อเลยว่านี่คือมหาวิทยาลัยที่เริ่มโดยนักกฏหมายและมุ่งเน้นสอนให้คนรู้กฏหมาย แต่เมื่อมีคนทำผิดกฏหมายซึ่งหน้า กลับปิดตาทั้งสองข้างแล้วบอกว่าตนไม่เคยรู้มาก่อน ภาษาชาวบ้านเขาเรียกว่า “ตอแหล” เช่นนี้แล้ว สำนักนี้หมายชูประเทศชาติจริงหรือ ? แล้วจะชูด้วยอะไร ?

เหลืองของเราคือธรรมประจำจิต แดงของเราคือโลหิตอุทิศให้ อีกหนึ่งวรรคทองของธรรมศาสตร์อันหมายถึง สำนึกในความเป็นธรรมและความเสียสละเพื่อสังคม วรรคทองนี้คงไม่อยู่ในใจของคณาจารย์ที่ประท้วงหยุดสอนแต่ยังรับเงินเดือน ขู่ว่าจะลาออกแต่ก็กลับคำ คณาจารย์หน้าเดิมที่ไม่เคยสร้างประโยชน์อื่นใดให้สังคมนอกจากการแก้มาตรา 112 ทั้งยังสอนสั่งสอนลูกศิษย์ด้วยความบิดเบี้ยวทางความคิด ให้พวกเขาเติบโตอย่างต่ำตม จริยธรรมและสำนึกความเป็นธรรมศาสตร์ของอาจารย์พวกนี้หายไปไหน ?  

นอกจากนี้ยังมี อีแอบระดับอดีตอธิการบดี รองอธิการบดีและนักวิชาการทางกฏหมายที่บิดเบือนกฏหมายตามใจ ปลูกฝังและชักใยอยู่เบื้องหลังมายาวนาน คอยบงการให้นักศึกษามาลงถนน มาแสดงเสรีภาพอันบ้าคลั่ง วิพากษ์และระรานทุกคนที่เห็นต่าง นี่หรือ “ธรรมะ” ที่อาจารย์ธรรมศาสตร์บางจำพวก สอนแก่ลูกศิษย์ ส่วน “แดง” ที่แทน “โลหิต” นั้น อีแอบ กลุ่มเดิมคงมุ่งหวังให้เกิดการนองเลือด เลือดของนักศึกษาที่เรียกว่า “ลูกศิษย์” เพื่อเป็นปัจจัยในการป้ายสีและสร้างความไม่ชอบธรรม ให้เกิดกับสถาบันอันเป็นที่เคารพรักของปวงชนชาวไทย อีแอบพวกนี้ ยังสุมไฟแห่งความแตกแยก ทำลายสำนึกในความเป็นธรรมและเสียสละเพื่อสังคมอันเป็นรากฐานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปจนหมด

ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน วลีอมตะ สะท้อนชัดซึ่งหลักการของประชาคมและจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ แต่จากแถลงการณ์ล่าสุดที่อ้างว่ามาจากผู้บริหารและคณาจารย์ธรรมศาสตร์รวมไปถึงแถลงการณ์ขององค์การนักศึกษาและชุมนุมต่าง ๆ ที่ปราศจากคนลงนามรับผิดชอบ ประกอบกับบรรดาอาจารย์ล้มเจ้าที่ทยอยเปิดตัวออกมาพล่ามข้อกฏหมายที่เป็นประโยชน์เพียงฝ่ายตน บิดเบือนทุกเรื่องอย่างไร้มโนสำนึก กดดันให้ศาลพิจารณาการประกันตัวเพื่อปล่อยตัวนักศึกษาผู้ทำผิดซ้ำซาก เหยียบย่ำระบบยุติธรรม เหยียบย่ำหัวใจของประชาชนคนอื่น ๆ หรือประชาชนของธรรมศาสตร์วันนี้จะมีแค่ พริษฐ์ ชิวารักษ์ และ ปณัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ประชาชนที่ธรรมศาสตร์รักคือใคร ? คือคนประเภทไหนในประเทศนี้ ?

เราเชื่อว่า คนดีและจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ ยังคงมีอยู่ แต่แสงไม่เคยส่องไปถึงพวกเขาเพราะเรามัวแต่หลงอยู่กับสีที่คนเลวสาดอยู่ทุกวัน จนภาพของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลับกลายไปหมดแล้วอย่างน่าอนาถใจ

“ดาวม็อบ” แสงสว่างจากธรรมศาสตร์

ปีนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีอายุครบ 87 ปี แต่ดูเหมือนช่วง 2-3 ปีหลังมานี้ ‘ธรรมศาสตร์จะร้อนแรง’ เป็นพิเศษ อย่างที่หลายคนติดตามข่าวสาร ไม่ว่าจะเป็นม็อบสารพัดม็อบก็ดี เหล่าแกนนำม็อบก็ดี อาจารย์ และรวมถึงผู้สนับสนุนจากหลายฝั่งหลายฝ่ายก็ดี พอเชื่อมโยงกันให้ดี ๆ อ้าว ! ถนนทุกสาย วิ่งเข้า วิ่งออก จากคำว่า ‘ธรรมศาสตร์’ แทบทั้งสิ้น ?!

เสมือนเป็น ‘โมเดลลิ่งการเมือง’ ดาวม็อบจากคณะนั้น อาจารย์ผู้เป็นแนวหลังจากคณะนี้ หรือศิษย์ผู้พี่ที่คอยให้กำลังใจจากคณะโน้น และอีกบลา ๆ ๆ

มันอาจจะร้อนแรงดี สำหรับคนกลุ่มหนึ่ง แต่มันก็เป็นเครื่องหมายคำถาม สำหรับคนอีกหลาย ๆ กลุ่ม ที่ต่างตั้งคำถามกลับมาระดับเบา ๆ ถึงหนักมาก ‘ที่นี่เป็นมหาวิทยาลัย บ่มเพาะการศึกษาเป็นพื้นฐาน แต่ที่กำลังทำและเป็นอยู่นั่น มันคืออิหยัง ?’

เรื่องทุกอย่างล้วนมีที่มา เมื่อมีผล ก็ต้องมีเหตุ ย้อนกลับไปเดย์วัน หรือวันแรกของการก่อตั้งมหาวิทยาลัย ด้วยชื่อก็ชัดเจนในตัวระดับหนึ่ง แต่เดิมชื่อของมหาวิทยาลัย คือ ‘มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง’ ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2477 จากเจตนารมย์ของ ศ.ปรีดี พนมยงค์

ในครั้งนั้น ทั้งอาจารย์ปรีดี และคณะราษฎร มีมุ่งหมายที่จะ ‘ยกระดับ’ การศึกษาของประชาชน เพื่อให้สอดคล้องกับระบอบการปกครองของประเทศที่เพิ่งเปลี่ยนใหม่ ดังตามประกาศของคณะราษฎร บางท่อนบางตอนที่ว่า ‘การที่ราษฎรยังถูกดูหมิ่นว่ายังโง่อยู่ ไม่พร้อมกับระบอบประชาธิปไตยนั้น เป็นเพราะขาดการศึกษา ที่พวกเจ้าปกปิดไว้ไม่ให้เรียนเต็มที่ 

แม้ในช่วงแรก การศึกษาที่ว่า จะมุ่งเน้นที่วิชากฎหมายและการเมือง แต่เป็นเรื่องเข้าใจได้ เพราะในเวลานั้น การจะหาครูบาอาจารย์ หรือที่เรียกว่า ‘ผู้รู้’ นั้น คงไม่ใช่เรื่องง่าย ทว่าต่อมา ในช่วงปี พ.ศ. 2495 ชื่อมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ก็ถูกเปลี่ยน โดยตัดคำว่า วิชา และการเมืองออก เหลือไว้เพียง ‘มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์’ พร้อมการขยับขยายภาควิชาและคณะเรียนให้มากขึ้น

ไม่ว่าเบื้องลึก เบื้องหลัง จะเป็นอย่างไร นั่นเป็นเรื่องของอดีต แต่สิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมคือ เมื่อมีวิชาให้เรียนมากขึ้น ประชาชนก็จะได้รู้มากขึ้น และกว้างขึ้น แต่ถึงกระนั้น ไม่ว่าจะธรรมศาสตร์ชื่อสั้น หรือธรรมศาสตร์ชื่อยาว ภาพที่ถูกติดเอาไว้ เหมือนรักไม่ยอมเปลี่ยนแปลง นั่นก็คือ การเมือง

ธรรมศาสตร์ กับ การเมือง อยู่คู่กันมาอย่างแยกไม่ออก

ไม่แปลก หากจิตวิญญาณของการสร้างแต่แรกเริ่ม จะยังคงอบอวลอยู่ในสถานที่แห่งนี้ มองในมิติกลับกัน การมีสถานที่ที่เป็นอัตลักษณ์สำคัญให้กับเรื่องใด ๆ ถือเป็นความสำเร็จของผู้สร้าง และกับสถานที่แห่งนั้น รวมทั้งกับคนรุ่นหลังไว้เพื่อศึกษา

เพียงแต่ เมื่อเวลาผ่านไป ภาพที่ติดกับมหาวิทยาลัย กลับถูกนำไปใช้ในบริบททางการเมืองอีกมากมาย ดีร้ายสลับกันไปอย่างแยกไม่ออก แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดและแข็งแรงขึ้นเรื่อย ๆ คือ ‘แบรนด์ธรรมศาสตร์‘ ที่ผูกติดกับการเมือง หากว่ากันในโลกการตลาด ถ้าแบรนด์แข็งแรง จะหยิบจับโฆษณาอะไรก็ทำได้โดยง่าย เพียงแต่ปัญหาสำคัญคือ คนที่หยิบจับแบรนด์ไปทำอะไรนั้น เอาไปทำเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองแค่ไหน อย่างไร ?

จึงเป็นที่มาของ ‘ธรรมศาสตร์ร้อนแรง’ ในวันนี้

ประวัติศาสต์ในอดีตมักสะท้อนเรื่องราวอยู่เสมอว่า มีกลุ่มคนไม่กี่คนนักหรอก ที่มักก่อปัญหาให้กับคนหมู่มาก ฉันใดฉันนั้น เวลานี้จึงมีไม่กี่คนนักหรอก ที่กำลัง ‘สุมไฟ’ ให้กับสถาบัน โดยสวนทางเจตนารมย์แรกเริ่ม ในการก่อตั้งขึ้นมาไปสิ้น

‘โง่เพราะขาดการศึกษา...’ แต่พอฉลาดขึ้นมา จึงทำแบบนี้หรือ ?

ปัจจุบัน ‘ธรรมศาสตร์’ มีคณะที่เปิดทำการสอนกว่า 19 คณะ มีวิทยาลัยและสถาบันที่แยกย่อยลงไปอีกมากมาย และประการที่สำคัญ มีบัณฑิตที่ผลิตออกไปนับแสนนับล้านคน คงเป็นการไม่ยุติธรรมเอาเสียเลย หากคนที่ได้ชื่อว่า เป็นศิษย์ร่วมสถาบัน คนที่ถูกประสิทธิ์ประสาทวิชาจากสถาบันแห่งนี้ คนที่เดินออกไปทำคุณประโยชน์ให้กับสังคมในบริบทอื่น ๆ อีกมากมาย จะถูกปรามาสว่า เป็นธรรมศาสตร์แบบเดียวกัน

แม้ ‘การเมือง’ จะเป็นเรื่องของทุกคน แต่เรา หรือแม้แต่มหาวิทยาลัย ก็ไม่จำเป็นต้องมี ‘การเมือง’ อยู่ตลอดเวลา เพียงแต่แค่รู้ว่า หน้าที่อันจริงแท้นั้น ควรทำอะไร และวางบทบาทอย่างไรให้ถูกที่ ถูกเวลา และเหมาะสมตามบริบทสังคม

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีอายุ 87 ปี โลกหมุนรอบตัวเองมา 31,755 รอบ มีผู้คนหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านสถานที่แห่งนี้มานับไม่ถ้วน วันนี้ชาวธรรมศาสตร์เชิดหน้ามองตึกโดม ที่ผ่านวันเวลาและความปวดร้าวทางการเมืองมาหลายต่อหลายครั้ง ตึกเก่าหลังแรกของสถาบันยังคงอยู่ คนต่างหากที่เปลี่ยนไป ไม่มีอะไรจีรัง แม้แต่การเมือง...

ธรรมศาสตร์ ทำ-ปะ-สาด ได้ทุกยุค ทุกสมัย

โดยเล็งเห็นว่าการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ขณะนั้นมีจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยเพียงแห่งเดียว เมื่อมีการ เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยใน พ.ศ.2475 ประเทศชาติ มีความจำเป็นต้องมีบุคคล ที่มีความรู้ ทางกฎหมาย การปกครอง และสังคม มารับใช้ประเทศชาติโดยด่วน จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย วิชาธรรมศาสตร์ และการเมือง พ.ศ.2476 เพื่อเปิดสอนในวิชาแขนงดังกล่าว

เมื่อพระราชบัญญัติผ่านสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ได้มีพิธี เปิดมหาวิทยาลัยขึ้น เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2477 โดยผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นผู้กระทำพิธีเปิด และ ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้รับแต่งตั้งเป็นบุคคลสำคัญของมหาวิทยาลัยคนแรกของมหาวิทยาลัย (และเป็นบุคคลสำคัญของมหาวิทยาลัยคนเดียว เพราะต่อมาได้เปลี่ยนชื่อ ตำแหน่ง เป็นอธิการบดี)

ปรัชญาของการตั้งมหาวิทยาลัย ปรากฏตามสุนทรพจน์ ของศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ รายงานต่อผู้สำเร็จราชการ แทนพระองค์มีดังนี้

“... มหาวิทยาลัยย่อมอุปมา ประดุจบ่อน้ำ บำบัดความกระหายของราษฎร ผู้สมัครแสวงหาความรู้ อันเป็นสิทธิและโอกาส ที่เขาควรมีควรได้ ตามหลักเสรีภาพของการศึกษา...”

จากคำกล่าว ของ ปรีดี พนมยงค์ เหมือนการสร้างปราสาทอันยิ่งใหญ่สำหรับประชาธิปไตยของประเทศไทย คือการสร้างความรู้ให้กับประชาชนคนไทย ธรรมศาสตร์ จึงวนเวียนกับการพัฒนาประชาธิปไตยของไทยมาโดยตลอด 87 ปี ที่ผ่านมา ต้องมีส่วนเกี่ยวข้องไม่มากก็น้อยมาโดยตลอด

ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนฉันให้รักประชาชน

ธรรมศาสตร์ ดินแดนแห่งเสรีภาพ ทุกตารางนิ้ว

“ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง ฉันจึงมาหาความหมาย ฉันหวัง เก็บอะไร ไปมากมาย สุดท้าย ให้กระดาษ ฉันแผ่นเดียว…”

เหลืองของเรา คือ ธรรมประจำจิต แดงของเรา คือ โลหิตอุทิศให้

ธรรมศาสตร์ ไม่มีระบบรุ่นพี่รุ่นน้อง แต่จะเรียกว่าเพื่อนใหม่ เพราะถือว่าทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน

วันสถาปนามหาวิทยาลัย คือ 27 มิถุนายน 2477 (ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว)

นักศึกษาไม่จำเป็นต้องใส่ชุดนักศึกษามาเรียนก็ได้ แต่อาจจะยกเว้นบางวิชา แต่ตอนนี้ได้มีการรณรงค์ให้แต่งชุดนักศึกษา

มีผู้เคยกล่าวไว้ว่า ประวัติศาสตร์การเมืองไทย ก็คือประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์

ไม่ว่า ธรรมศาสตร์ จะเป็นเช่นไร ...ธรรมศาสตร์ ก็ ทำ-ปะ-สาด ให้กับผู้มีอำนาจได้ทุกยุค ทุกสมัย...


อ้างอิง

https://teen.mthai.com/education/102409.html

https://www4.tu.ac.th/index.php/th/408-th-th/teach/280-his


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top