กันตพงศ์ บำรุงรักษ์ (เอส) | Click on Clever EP.17
บทสัมภาษณ์ รายการ Click on Clever EP.17
กันตพงศ์ บำรุงรักษ์ (เอส) นักแสดง และนักธุรกิจ
เปิดความสำเร็จของผู้ชายชื่อ เอส กันตพงศ์ ค้นหา Mindset มากกว่า 'นักเรียน' คือ 'นักเรียนรู้'
Q: ผลงานตอนนี้มีอะไรบ้าง?
A: ตอนนี้ที่ออนแอร์อยู่ก็มีเรื่องแม่เบี้ยครับ ซึ่งน่าจะได้ชมกันไป เป็นเรื่องที่ขัดกับบุคลิก ขัดกับความเป็นตัวตน ขัดกับหลายๆ เรื่องที่เราเคยเล่นมา แต่ก็เป็นความท้าทายที่สนุกดีครับ
Q: การเป็นนักแสดงในบทบาทที่ไม่ได้เป็นตัวเรา ขัดกับภาพลักษณ์ มีการปรับความรู้สึกยังไง?
A: ยากมาก พี่ทะเลาะกับบทจริงๆ เพราะอ่านไปด่าไป ทำไมมันทำแบบนี้ ตรรกะบิดเบี้ยวมากเลย คือมันเห็นผิดเป็นถูกได้ขนาดนี้ ทำไมมันทำตามใจขนาดนี้ แต่ในฐานะนักแสดง เราออกไปหน้าจอไม่ใช่เอส กันตพงศ์แล้ว พอเข้าไปตรงนั้นมันคือชนะชล เพราะฉะนั้นต้องเอาความเป็นเอสออกไป แล้วตอนนี้เรากำลังจะสื่อสารให้คุณผู้ชมเข้าใจว่าวิธีคิดของชนะชลมันเป็นแบบนี้ เขาเกิดจากความบิดเบี้ยวของสังคมมา ทำให้ตรรกะและวิธีคิดของเขามันผิดแปลกไปจากคนอื่น แต่ว่าเราจะทำยังไงให้สื่อสารความเป็นชนะชลให้ได้มากที่สุด อันนี้ครับที่ยากมากๆ
Q: เสน่ห์ของบทบาทอาชีพนักแสดง
A: ตอนที่เข้ามาในวงการจริงๆ เลย ตอนแรกเราทำอยู่ด้านอื่น ไม่ได้เกี่ยวกับด้านนี้เลย แต่มันมีความฝันในวัยเด็ก คือพี่ชอบดูหนังมาก แล้วเรารู้สึกว่าทำไมหนังในบ้านเรา หนังที่ทำเงิน หรือหนังที่มันดังๆ ก็แล้วแต่ มันไม่ค่อยมีหนังที่สร้างแรงบันดาลใจ หรือเป็นหนังหรือละครที่ดูแล้วคนดูกลับมาฉุกคิด หรือกลับมามองตัวเองแล้วกลับมารู้สึกว่าสังคมเป็นแบบนี้หรอ หรือตัวเราเป็นแบบนั้นหรอ เราก็รู้สึกว่ามันมีโอกาสมาแล้วนะ แทนที่จะเป็นคนข้างนอกแล้วก็บ่นกับสิ่งที่มันเกิดขึ้น เนี่ยโอกาสที่จะลองเอาตัวเองเข้าไปศึกษาดู ถ้าวันนึงจังหวะจะโคนทุกอย่างมันเหมาะสม เราก็อาจจะมีโอกาสช่วยเปลี่ยนแปลงวงการนี้ได้มากกว่าแค่ในฐานะนักแสดง
ตอนนี้ในฐานะนักแสดง โชคดีอีกอย่างที่ว่า เราอยู่มานาน ก็จะสามารถเลือกบทที่เราจะเล่นได้ประมาณนึง เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราเลือก หลักๆ เราจะเลือกที่สิ่งที่ทำไปแล้วมันต้องสะท้อนอะไรให้คุณผู้ชม
Q: สมัยเป็นนักเรียน ภาพลักษณ์เป็นเด็กเรียน แต่จริงๆ เป็นเด็กยังไง?
A: เป็นเด็ก...เขาเรียกว่า เรียนเพื่อให้ผ่าน แต่โชคดีที่เกรดมันออกมาโอเค เรียกว่าเรียนให้ผ่าน เพื่อนๆ จะชอบมีความเข้าใจว่าพี่เป็นเด็กเรียน เพราะพี่นั่งหน้าห้อง อย่างตอนเอแบค ทุกคนที่เรียนด้วยกันจะบอกว่า เอสเป็นเด็กเรียน นั่งหน้าห้องตลอด ถามตอบกับอาจารย์ตลอด
ความจริงเอแบคมีกฎว่า ถ้าคุณมาสาย 15 นาที 2-3 ครั้งต้องดรอปเลย ทุกคนจะรีบเข้าห้อง เพราะไม่มีใครอยากนั่งหน้าห้อง ทุกคนก็จะไปนั่งหลังห้องเพื่อไม่ให้อาจารย์เรียก แต่พี่ด้วยความไม่ใช่เด็กเรียน เราชอบขอคุณพ่อไปทำงาน ไปฝึกงานช่วงซัมเมอร์ เราก็จะลงวิชาเรียนของเรา อาทิตย์นึงจะเรียนแค่ 3-4 วัน ก็จะอัดเต็มในวันนึงเลย ทำให้ไปเรียนวิชาต่อไปช้า 5-10 นาที เป็นเหตุให้ต้องนั่งหน้าห้อง อาจารย์ก็จะคุยกับคนที่นั่งหน้าห้องนี่แหละ เราก็โอเคได้ ถามตอบกับอาจารย์ เราขี้สงสัยอยู่แล้ว ความจริงไม่ได้เป็นเด็กเรียนเก่งหรือว่าหัวดีอะไรหรอกครับ แต่ด้วยความที่ได้ถามตอบกับอาจารย์ทุกคาบ มันเลยทำให้ไม่ต้องกลับไปอ่านหนังสือที่บ้าน อันนี้เป็นสิ่งที่ช่วยได้เยอะเลย
Q: อะไรทำให้เป็นคนกล้าตั้งคำถาม?
A: อันนี้ต้องขอขอบคุณตอนประถมและมัธยม พี่เป็นเด็กขี้อาย ซึ่งคุณพ่อรู้ดี คุณพ่อเขาจะเอาพี่ไปอยู่ในสถานการณ์ที่พี่ต้องใช้ความกล้าในการคุยกับคน อย่างเช่นคุณพ่อให้เรียนพิเศษภาษาอังกฤษตอนประถม เรียนได้ไม่กี่ครั้งเจอฝรั่งนั่งทานข้าวอยู่ คุณพ่อบอกไหนลองเดินไปสวัสดีเขา แนะนำตัวกับเขาสิลูก แล้วก็ไม่รู้จัก เราก็ทำ
โชคดีอีกอย่างคือ ตอนอยู่ในโรงเรียนเนี่ย อันนี้เป็นอารมณ์คล้ายๆ ตอนอยู่มหาลัยเลย เวลาอาจารย์ฝรั่งเข้ามาในห้อง อาจารย์ก็จะถามว่า มีใครอยากจะมาตอบคำถามข้อนี้บ้าง มีใครอยากจะพูดหน้าห้องบ้าง อย่างที่รู้เด็กไทยก็จะไม่มีใครยกมือ พี่เป็นหัวหน้าห้อง ในเมื่อไม่มีใครออก อ่ะหัวหน้าห้องออกมา โดนแบบนี้ทุกคาบ ทุกชั้นปี ออกไปพูดผิดๆ ถูกๆ โดนเพื่อนหัวเราะ โดนเพื่อนล้อ โดนเพื่อนแซว
แต่อยากจะบอกว่าไอ้ความรู้สึกที่โดนเพื่อนหัวเราะ โดนเพื่อนล้อ โดนเพื่อนแซว ณ ตอนนี้มันจำความรู้สึกอายตอนนั้นไม่ได้แล้ว แต่สิ่งที่มันหลงเหลือที่มันตกผลึกในตัวเราอ่ะ มันคือการกล้าคุยกล้าถามกล้าตอบกล้าซัก พี่เลยว่ามันเป็นความโชคดีของพี่ ที่เพื่อนตอนประถมไม่มีใครกล้า เพื่อนมัธยมไม่มีใครกล้า เพื่อนมหาลัยไม่มีใครกล้า แล้วเราดันไปอยู่ในสถานการณ์ที่จำเป็นต้องกล้า มันเลยเป็นสิ่งที่เราได้มาโดยโชคดี
Q: ฝากข้อคิดให้เด็กยุคนี้กล้าออกจาก Comfort Zone กล้าที่จะตั้งคำถาม
A: หน้าแตกให้เยอะที่สุดเท่าที่จะทำได้ตั้งแต่ยังเด็ก ล้มเหลวให้เยอะที่สุดเท่าที่จะทำได้ตั้งแต่ยังเด็ก เป็นบทเรียนที่มีคุณค่าที่สุดที่พี่ได้เรียนรู้มา สมมติถ้าให้ย้อนกลับไปแล้วคุยกับตัวเองตอนเด็กๆ จะบอกว่า เอสหน้าแตกให้เยอะที่สุดเลย เพราะว่าสถานการณ์ที่ทำให้เราหน้าแตกหมายความว่าสถานการณ์ที่เราไม่เก่งในสิ่งใดๆ ก็ตาม หรือสถานการณ์ที่เราทำสิ่งนั้นไม่ดี แล้วมันเกิดอาการหน้าแตก แต่ถ้าเราทำไปเรื่อยๆ ล้มเหลวไปเรื่อยๆ แต่ต้องเรียนรู้กับมันนะครับ รอบนี้ล้มเหลวเพราะอะไร เกิดจากอะไร แก้ใหม่ ไม่เป็นไร ทำมันไปเรื่อยๆ ถูกหัวเราะเยาะให้เยอะที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วพอถึงจุดหนึ่ง จุดนั้นจะใช้เวลาเท่าไหร่แต่ละคนไม่เท่ากัน แต่เมื่อถึงจุดนั้นแล้วเราจะขอบคุณตัวเองครับ
Q: ยกตัวอย่างความล้มเหลว ประสบการณ์ที่เคยเจอ ผ่านมาได้ยังไง?
A: พี่เป็นไมเกรนตั้งแต่ตอน 10 ขวบ แล้วก็เป็น Hyperventilation Syndrome ตอนเป็นไมเกรนเนี่ยคุณหมองงมากว่าทำไมเด็ก 10 ขวบเป็นไมเกรน เพิ่งมารู้ตอนเริ่มโตนะครับว่าเราเป็นคนที่อยากจะทำให้คุณพ่อคุณแม่ถูกใจ อยากจะทำให้เขารัก คุณพ่อคุณแม่วางแพลนอะไรมาให้ก็อยากจะทำให้มันได้ ให้มันได้ดีกว่านั้นอีก เราก็เครียดโดยไม่รู้ตัว
จนอายุ 15 เป็น Hyperventilation คนไทยเรียกโรคมือจีบ ตัวชาทั้งตัว ขยับได้แค่ลูกตา แล้วก็มือจีบอยู่แบบนี้ เป็นตอนวันเกิดเลย 8 เดือน 8 ตอนอายุ 15 ปี ตอนนั้นไปหาหมอ หมอครอบเครื่องช่วยหายใจเพื่อให้ออกซิเจนกับคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดบาลานซ์กัน เพื่อให้กล้ามเนื้อมันคลาย ให้มันหายชา ลองทานยาทุกอย่างครับ ยาแก้ไมเกรนทุกอย่าง ทานจนดื้อยา เลยรู้สึกว่าถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไปอายุ 25 เส้นเลือดในสมองแตกตายชัวร์
ก็เลยเริ่มเข้าหาธรรมะตอนอายุ 15 แต่ก็ยังไม่ใช่ธรรมะที่ถูกทางสักทีเดียว จนมาเจอธรรมะที่ถูกที่ควรจริงๆ ตอนอายุประมาณ 18 ธรรมะของท่านพุทธทาส จากความล้มเหลวตอนนั้นนะครับ ตอนอายุ 10 ขวบ 15 ขวบ แล้วก็ยังมีไมเกรนมาเรื่อยๆ จนมาหายไปโดยไม่รู้ตัวประมาณอายุ 21 จากการที่เราปฏิบัติธรรม เลยมองย้อนกลับไป พี่รู้สึกว่าตรงนั้นมันเป็นจุดดำจุดบอดของชีวิต ช่วงอายุ 10-18 ปีเนี่ย แปดปีนี้โคตรทรมานเลย เป็นหลุมดำของชีวิตที่มันโหดร้ายจริงๆ
แต่พอเราโตขึ้นมาเข้าใจชีวิตมากขึ้น พี่ดู๋ สัญญาเคยสัมภาษณ์พี่ในรายการที่นี่หมอชิต ถามว่าถ้าให้ย้อนกลับไปในวัยเด็กแก้ได้อย่างหนึ่งในชีวิต อยากจะแก้อะไร พี่จำได้เลยพี่ตอบพี่ดู๋ไปว่า ผมขอเป็นไมเกรนเร็วกว่านั้นครับ ขอเป็นมันสัก 5-6 ขวบเลย เพื่อมันจะได้เจอทุกข์ ให้มันเป็นหลุมดำ ณ ตอนนั้นแล้วมันจะได้เรียนรู้ได้เร็วขึ้น เราจะได้เป็นคนที่ดีขึ้นในอายุที่มันใช้เวลาน้อยลง อย่างที่บอกถ้ามันเจอความล้มเหลวแล้วเราเรียนรู้กับมัน ไม่ยอมแพ้ พยายามศึกษาและก้าวข้ามมันไป จะทำให้เราพัฒนาตัวเองขึ้น ซึ่งชีวิตพี่เจอเหตุการณ์แบบนั้นมาเยอะ ก็เป็นช่วงที่เป็นหลุมดำแต่ว่าสุดท้ายก็เป็นหลุมดำที่ดี รู้สึกว่ามันให้อะไรเราเช่นกัน
Q: ไม่ใช่เด็กเรียน แต่เป็นนักเรียนรู้ ไม่เชื่อในระบบ Schooling แต่เชื่อใน Education ขยายความหน่อยค่ะ
A: ขอยกคำของ อีลอน มัสก์ ที่บอกว่า Don't confuse schooling with education อย่าสับสนระหว่างการเรียนกับการเรียนรู้ สองสิ่งนี้มันต่างกันลิบเลยนะครับ การเรียนในที่นี้หมายถึงการเรียนในระบบ การเรียนในโรงเรียนในระบบการศึกษาที่เรามีอยู่ ต้องพูดว่ามันไม่ได้สอนให้เราออกมาใช้ชีวิตได้อย่างมีภูมิคุ้มกันในด้านใดๆ เลย นอกจากสอนให้เราเป็นเป็นพนักงานที่ดีเท่านั้นเลย แต่ว่าการเรียนรู้เนี่ยมันเป็นสิ่งที่เราสามารถเรียนรู้ได้ทุกอย่างเลยในชีวิตเรา
อย่างที่เราเห็นที่เราทราบกัน คนที่ประสบความสำเร็จในโลกนี้ ในประเทศนี้หลายๆ คนไม่ได้สำเร็จการศึกษาที่สูงเลยในระบอบการศึกษาปกติ แต่เขาเรียนรู้กับชีวิตของเขา เรียนรู้จากความผิดพลาดทางธุรกิจ เรียนรู้จากความยากลำบากในชีวิต และสิ่งเหล่านี้มันมีค่ามากๆ ที่จะทำให้คนคนนึงสามารถประสบความสำเร็จและมีความสุขในชีวิตได้
พี่อยากเน้นย้ำคำว่าความสุข มากกว่าคำว่าประสบความสำเร็จ การที่เราจะมีความสุขได้เราต้องเป็นคนที่เรียนรู้ชีวิตเป็น การเรียนไม่ได้ทำให้เรามีความสุขได้ คนเราติดกับดักความทุกข์ตรงนี้แหละครับ เราคิดว่าเรียนสูงๆ ไป จบมามีงานทำ มีเงิน มีบ้าน มีครอบครัว มีลูก มีรถ และมีความสุข โจทย์วันนี้มันตั้งผิดหมดเลย เราควรต้องตั้งความสุขก่อน แล้วระหว่างทางเราค่อยทำสิ่งเหล่านั้น อย่างที่บอกไปโจทย์ที่ถูกตั้งมาแล้วนั้นมีสักกี่คนที่ทำตามโจทย์นั้นได้ ไม่อย่างนั้นประชากรความยากจนประเทศไทยคงไม่สูงขนาดนี้
แล้วไม่ใช่แค่ประเทศไทย ทุกประเทศในโลก อเมริกาเองก็ดีครับ ซึ่งคนที่คิดค้นระบบการศึกษาเนี่ยคือ ร็อคกี้ เฟลเลอร์ ถ้าทุกวันนี้ยังมีชีวิตอยู่ก็น่าจะรวยที่สุดในโลก เขาเป็นคนที่คิดค้นระบบการศึกษาขึ้นมา ที่เราใช้กันทุกวันนี้ ต้องบอกว่าตอนนั้นที่เขาคิดขึ้นมาเนี่ย จะบอกว่าเขาผิดก็ไม่ใช่ ซึ่งเขาเป็นคนพูดเองนะว่าเขาคิดค้นมาเพื่อต้องการพนักงานที่ดี เขาไม่ได้ต้องการนักคิด เขาไม่ต้องการ thinker เขาต้องการ worker เขาต้องการคนมาทำงานในโรงงานของเขา เขาก็เลยตั้งโรงเรียนขึ้นมาเพื่อสอนคนให้มาเป็นพนักงานในโรงงานเขา สอนคนให้มันเป็นพนักงานบริษัทเขา นี่คือจุดประสงค์ของระบบของการเรียนในโรงเรียน ซึ่งเราใช้กันมาเป็นหลายร้อยปีแล้วไม่เคยถูกเปลี่ยนแปลงเลย มันเลยทำให้พี่ไม่เชื่อในระบอบการศึกษาในระบบเลยครับ
Q: วันนี้มีลูกแล้ว วางแผนโรงเรียนแบบไหนให้ลูก มองเห็นปัญหาระบบการศึกษาไทยเป็นอย่างไร?
A: ก่อนลูกคลอดคุยกับภรรยาว่าอยากให้คุณลูกสาวเรียนที่เยอรมัน เพราะที่นั่นระบบการศึกษาเปิดโอกาสให้เด็กได้เลือกอิสระมากๆ เลยครับ ตั้งแต่ชั้นปฐมวัยจนถึงการศึกษาระดับ ม.ปลายเลย เราก็อยากให้เขาเรียนที่นั่น แต่คุณภรรยาบอกว่าอยากอยู่เมืองไทย เพราะถ้าลูกเรียนที่นู่นมีโอกาสเป็นไปได้สูงที่เขาต้องไปอยู่กับลูก เขาอยากใช้ชีวิตที่เมืองไทย พี่ก็โอเค ถ้าอย่างนั้นก็มาเมืองไทยแล้วลองมาดูซิว่าในเมืองไทยเรามีช้อยส์ มี option อะไรบ้าง ณ ตอนนี้ก็ต้องเรียนตามตรงว่าก็ยังไม่เจอ option ที่ชอบเลย
สรุปง่ายๆ คือต้องเป็นโรงเรียนที่สอนให้เด็กมีต้นทุนความรู้ คุณครูต้องมีหน้าที่เป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจ ปัญหาของระบบการศึกษาเรา School สอนเด็กว่า What to think แต่ Education หรือการเรียนรู้เนี่ยสอนว่า How to think ต่างกันลิบ ซึ่งสำคัญมาก โรงเรียนทุกวันนี้ยัดเยียดกรอบความคิดให้เด็ก สอนว่าต้องคิดยังไง แต่ว่าสิ่งที่ควรจะเป็นคือต้องสอนเด็กว่าคิดอย่างไร เราทำอย่างไรถึงจะมีความคิดนี้ออกมาได้ เราจะเห็นว่าทำไมประเทศในโซนตะวันตกถึงมีนวัตกรรมใหม่ๆ ทำไมถึงมีสินค้าใหม่ๆ ขึ้นมาได้ เพราะเขาสอนให้เด็กคิดแก้ปัญหา เขาไม่ยัดเยียดความคิด แต่ระบบการศึกษาเราสอนว่า What to think ต้องคิดอย่างนี้ มันคือแบบนี้ หนังสือสอนแบบนี้ แต่สิ่งที่เราต้องสอนคือ How to think และสร้างแรงบันดาลใจให้เขาไปคิดเองครับ
Q: มองเรื่องการศึกษาในโลกอนาคตอย่างไร?
A: ถึงแม้ว่าตอนนี้มันจะดูริบหรี่ แต่พี่เชื่อว่าโลกในอนาคตอันใกล้นี้ การศึกษาจะต้องเป็นการสอนให้เด็กมีเป้าหมาย สอนเพื่อไปถึงเป้าหมายของเด็กเลย การศึกษาต้องเป็นเฉพาะทาง
แล้วพี่เชื่อว่าอันนี้สำคัญมาก ไม่ว่าลูกของพี่ หรือเด็กเยาวชนในอนาคตจะเลือกเรียนสายไหนหรืออยากเป็นอะไรก็ตาม สิ่งที่เขาต้องเรียนและมีความรู้คือ ความรู้ทางด้านการเงิน สำคัญมากๆ financial knowledge สำคัญมาก เพราะไม่ว่าคุณจะทำงานอะไร เป็นผู้ประกอบการหรืออะไรก็แล้วแต่ ถ้าคุณไม่มีความรู้ด้านการเงิน คุณจะจัดการกับเงินที่คุณหามาไม่ได้ แล้วคุณก็จะไม่สามารถรักษาเงินของคุณเพื่อสร้างความมั่งคั่งเพื่อไปส่งต่อให้อีก Generation หนึ่ง เพราะแค่รักษาไว้ใน Generation แค่คุณคนเดียว คุณยังทำยากเลย
ในระบบการเรียนของเราไม่ได้สอนเรื่องนี้ ไม่เฉพาะประเทศไทย แทบทุกประเทศไม่มีการพูดถึงสิ่งเหล่านี้ เชื่อว่าในอนาคตจะต้องเริ่มมีสิ่งเหล่านี้เข้ามาเป็นสิ่งควบคู่กันไป สอนให้เด็กถึงเป้าหมายบวกกับความรู้ทางด้านการเงินครับ
Q: วางแผนชีวิตต่อจากนี้เป็นอย่างไรต่อไป?
A: ยังสนุกกับการทำงานในวงการบันเทิง แต่ว่าจะไปในสเต็ปไหนต่อ จะในฐานะนักแสดง หรือในฐานะไหนเนี่ยก็ต้องดูกันต่อไป แต่ในวงการบันเทิงยังไงก็ยังไม่ทิ้งแน่นอนครับ
Q: ฝากข้อคิดสำหรับน้องๆ หรือใครก็ตามที่อยากเริ่มต้นเป็นนักเรียนรู้แบบเอส กันตพงศ์
A: ก็อยากจะฝากกับทุกๆ คนเลยนะครับว่า สิ่งที่สำคัญไม่ใช่การเรียน แต่คือการเรียนรู้ ซึ่งการเรียนรู้เราสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิตเลยนะครับ แล้วก็ไม่ได้หมายความว่าเราต้องอยู่ในระบบการศึกษา เราถึงจะเรียนรู้ได้ วันนี้เรามีโอกาสหรือไม่มีโอกาสในการเรียนในระดับการศึกษาก็แล้วแต่ ผมรู้สึกว่ามันไม่ได้สำคัญเลย แต่เราต้องห้ามหยุดเรียนครับ เรียนในที่นี้อาจไม่ได้หมายถึงการอ่านหนังสือ หรือทางวิชาการ เรียนรู้จากความผิดพลาดในชีวิตก็เป็นครูที่สำคัญมากๆ
เรียนรู้จากเรื่องง่ายๆ อย่างเช่น การอกหัก การถูกปฏิเสธ เราลองมาเรียนรู้ว่าอารมณ์ตรงนั้นที่มันเกิดขึ้นกับเราเวลาเราถูกปฏิเสธ เวลาอกหัก เรามีวิธีจัดการกับอารมณ์ตรงนี้ยังไง แล้วเราชอบไหมในสิ่งที่เราจัดการมันอยู่ ถ้ารู้สึกว่าเราทำมันได้ไม่ดีพอ ทำยังไงมันถึงจะดีขึ้น แล้วถ้าเราทำแบบนี้ ถามตัวเองแบบนี้เรื่อยๆ ตลอดเวลา เราก็จะเป็นคนที่พัฒนาตัวเองขึ้นไปเรื่อยๆ
ที่สำคัญอย่ากลัวที่จะล้มเหลว อย่ากลัวที่จะถูกหัวเราะเยาะ ผมอยากจะสนับสนุนให้ทุกคนล้มเหลวให้ได้มากที่สุด ให้ได้เยอะที่สุด ตั้งแต่อายุน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ด้วยซ้ำ เพราะว่าถ้าคุณล้มเหลวแล้ว และคุณเรียนรู้กับมัน เราจะเป็นคนที่เก่งขึ้น และเป็นคนที่ดีขึ้นในทุกๆ วันแน่นอนครับ
.
.
.
.