“การศึกษา” นับได้ว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 จำเป็นต้องปรับหลักสูตรและรูปแบบการสอนเป็นการเรียนออนไลน์ แต่ก็ใช่ว่านักเรียนทุกคนจะมีความพร้อม

แต่การเรียนออนไลน์บนหลักสูตรการศึกษาของไทยนั้น นักเรียนจะสามารถเข้าใจในสิ่งที่คุณครูสอนหรือไม่ หลักสูตรของไทยจริง ๆ แล้วมีการวางลักษณะ เนื้อหาการสอน ในรูปแบบการสอนต่อหน้า คุณครูพบปะกับนักเรียน (Onsite) ไม่ได้วางหลักสูตรมาในรูปแบบการเรียนออนไลน์ คุณครูต้องเปลี่ยนจากการสอนมาเป็น “การบรรยาย” ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องย้อนกลับมาคิดว่าจริง ๆ แล้วหลักสูตรการศึกษาในแต่ละวิชานั้นเหมาะสมกับการเรียนในรูปแบบออนไลน์หรือเปล่า ? เราจะต้องปรับเปลี่ยนหลักสูตรหรือไม่ 

ผศ.ดร.สุทัศน์ จันบัวลา อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า “หลักสูตรที่ใช้ในการสอนนั้น แท้จริงแล้วเป็นหลักสูตรที่ใช้สำหรับการเรียนต่อหน้า คุณครูสอนต่อหน้านักเรียน (Onsite) พอมีปัญหาในช่วงสถานการณ์โควิด-19 แล้วนั้น การที่เราเอาหลักสูตรที่ใช้ในห้องเรียนมาปรับใช้เป็นออนไลน์ ก็จะเกิดปัญหาทันที”

“ต้องมีกระบวนการปรับหลักสูตร นั่นคือต้องเปลี่ยน ต้องดีไซน์ ออกแบบการเรียนการสอนในแต่ละรายวิชาใหม่เลย จากโดยทั่วไปเป็นการเรียนการสอนในห้องเรียน มีการวัดผล คือ การสอบกลางภาคและปลายภาค แต่พอมาเป็นการสอนออนไลน์ เราก็ต้องมาปรับหมด อย่างการวัดผล การสอบจะมาใช้รูปแบบการวัดผลแบบที่ทำในห้องเรียนไม่ได้ การศึกษาไทยส่วนใหญ่มันแค่ปรับเปลี่ยนวิธีการสอน โดยที่หลักสูตรเป็นหลักสูตรที่ใช้ในห้องเรียน แต่ผลลัพธ์ไม่ต้องพูดถึงเพราะมันแตกต่างกันอยู่แล้ว เพราะหลักสูตรมันออกแบบให้เรียนในห้อง” 

อีกทั้งการเรียนออนไลน์นั้น เด็กนักเรียนหลาย ๆ คนมีความพร้อมที่จะเรียนจริงหรือไม่ เพราะการเรียนออนไลน์จะต้องมีความพร้อมในเรื่องของอุปกรณ์ รวมไปถึงอินเทอร์เน็ตที่กลายเป็นสิ่งจำเป็นในการเรียน ผู้ปกครองบางคนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ก็ต้องดิ้นรนให้ลูกของตัวเองมีโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ใช้ นักเรียนบางคนก็ต้องเก็บเงินซื้อโทรศัพท์มือสองเพื่อที่จะได้นำมาเรียนออนไลน์ แต่ท้ายที่สุดก็มีการโกงกันเกิดขึ้น เหมือนในข่าวที่มีร้านค้าออนไลน์โกงเงินนักเรียนที่จะซื้อโทรศัพท์มือสอง จนสุดท้ายเกิดความเครียดและเสียชีวิตในที่สุด 

การเรียนออนไลน์นอกจากหลักสูตรรายวิชาที่ยังไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้เข้ากับการเรียนรูปแบบออนไลน์แล้ว ยังมีเรื่องของความพร้อมด้านอุปกรณ์ อีกประเด็นหนึ่งคือ นักเรียนมีความสุขและเข้าใจผ่านการเรียนออนไลน์จริง ๆ หรือไม่ ?

นักเรียนบางคนเกิดความเครียดจากการเรียนออนไลน์ที่ต้องอยู่แต่ที่บ้าน เพื่อไม่ให้ตัวเองเสี่ยงติดเชื้อ ต้องเรียนออนไลน์ผ่านหน้าจอโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ แน่นอนว่าส่งผลเสียในด้านร่างกาย สมาธิก็ยิ่งสั้น รวมไปถึงการเรียนที่หนักติดต่อกันหลายชั่วโมง ไม่ได้เจอสังคม เจอเพื่อนฝูง ทำให้นักเรียนหลาย ๆ คนตัดสินใจลาออกไปทำในสิ่งที่คิดว่าน่าจะได้ประโยชน์มากกว่าการเรียนออนไลน์

นี่ก็เป็นหลายปัจจัยที่ชี้ชัดว่าการเรียนออนไลน์เป็น “วิกฤตทางการศึกษา” อย่างหนึ่ง การเร่งแก้ไขปัญหาการเรียนออนไลน์เป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุด ต้องกลับมาคิดและวางแผน ปรับหลักสูตรกันใหม่เพื่อให้เข้ากับการเรียนรูปแบบออนไลน์ เพราะคาดว่าสถานการณ์โควิด-19 น่าจะอยู่กับเราไปอีกนาน ต้องเร่งแก้ไขเพื่อแก้วิกฤตทางการศึกษาไม่ให้ล้มเหลวไปมากกว่านี้


แหล่งข้อมูล : 
https://www.facebook.com/watch/?v=1040417433380321&extid=NS-UNK-UNK-UNK-IOS_GK0T-GK1C&ref=sharing
https://brandinside.asia/e-learning-challenge-in-covid/
https://thematter.co/quick-bite/online-study-again/132190