(4 พ.ย. 67) นางสาววงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 28 ตุลาคม – 3 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมาศูนย์ AOC 1441 (Anti Online Scam Operation Center) ได้มีรายงานเคสตัวอย่างอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวง จำนวน 5 เคส ประกอบด้วย คดีที่ 1 คดีข่มขู่ทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน (Call Center) มูลค่าความเสียหาย 1,480,741 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านทางโทรศัพท์ อ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่เครือข่าย โทรศัพท์AIS แจ้งว่าผู้เสียหายได้ทำการเปิดหมายเลขโทรศัพท์ผิดกฎหมาย และโอนสายไปให้สนทนากับเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรจังหวัดสระแก้ว โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งว่าหมายเลขโทรศัพท์มือถือ และบัญชีธนาคารของผู้เสียหายถูกใช้ในการฟอกเงินคดียาเสพติดในพื้นที่ชายแดน จากนั้นขอตรวจสอบเส้นทางการเงินในบัญชี หากไม่ให้ความร่วมมือจะมีความผิดตามกฎหมาย ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไป ภายหลังการโอนเสร็จไม่สามารถติดต่อได้อีก ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 2 คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล หรือวัตถุประสงค์อื่นๆ มูลค่าความเสียหาย 1,989,574 บาท ผู้เสียหายได้รับข้อความ SMS จากมิจฉาชีพผ่านช่องทางโทรศัพท์แจ้งว่าพัสดุของท่านจัดส่งไม่สำเร็จ เนื่องจากเกิดความเสียหายขึ้น และจะโอนเงินค่าสินค้าคืนให้ Flash Express ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงกดลิงก์ไปจากนั้นเพิ่มเพื่อนทาง Line อัตโนมัติ มิจฉาชีพอ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่ Flash Express ให้ดำเนินการทำตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่เจ้าหน้าที่แนะนำจนเสร็จสิ้นขั้นตอน ต่อมาภายหลังได้รับข้อความ SMS จากธนาคารแจ้งว่ายอดเงินในบัญชีได้ถูกโอนออกไปจนหมด
คดีที่ 3 คดีหลอกลวงให้กู้เงิน มูลค่าความเสียหาย 826,663 บาท ผู้เสียหายพบโฆษณาสินเชื่อกู้เงินง่ายผ่านช่องทาง Facebook ผู้เสียหายสนใจจึงทักไปสอบถามรายละเอียด จากนั้นได้เพิ่มเพื่อนทาง Line มิจฉาชีพให้กรอกข้อมูลและแจ้งว่าให้โอนเงิน เพื่อเป็นค่าประกันสินเชื่อ ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไป แต่ไม่สามารถถอนเงินกู้ออกมาได้ มิจฉาชีพแจ้งว่าผู้เสียหายกรอกข้อมูลส่วนตัวผิดพลาดระบบจึงทำการล็อกรายการไว้ให้โอนเงิน เพื่อขอรหัสแก้ไข ผู้เสียหายจึงโอนเงินไปให้อีกครั้ง จากนั้นไม่สามารถติดต่อได้อีก ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 4 คดีหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มูลค่าความเสียหาย 453,599 บาท ทั้งนี้้ผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านทาง Facebook ชักชวนลงทุนเทรดหุ้น ผู้เสียหายสนใจจึงโอนเงินลงทุนแล้วทำการเทรดมาเรื่อย ๆ ต่อมา ผู้เสียหายต้องการถอนเงินแต่ไม่สามารถถอนได้ มิจฉาชีพแจ้งว่าต้องเสียค่าภาษีและค่าธรรมเนียมก่อน ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไปให้ หลังจากโอนเงินเสร็จก็ยังไม่สามารถถอนเงินได้อีก มิจฉาชีพแจ้งว่าระบบขัดข้องมีปัญหาให้รอก่อน ภายหลังผู้เสียหายได้รับข้อมูลจากเพื่อนว่าเป็นขบวนการมิจฉาชีพ
และคดีที่ 5 คดีหลอกลวงให้รักแล้วโอนเงิน (Romance Scam) มูลค่าความเสียหาย 310,000 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านช่องทาง Facebook ใช้โพรไฟล์เป็นหญิงสาว หน้าตาดีและได้เพิ่มเพื่อนทาง Line จากนั้น VDO Call สนทนากัน ฝ่ายหญิงอ้างว่าพักอาศัยอยู่ต่างประเทศมักใช้คำพูดอ่อนหวานกับตนและแจ้งว่าได้ส่งของขวัญเป็นสร้อยทองข้อมือ ของผู้ชายที่มีมูลค่าหลายล้านบาทมาให้ แต่ต้องโอนค่าภาษีค่าธรรมเนียมและค่าขนส่งไปให้ฝ่ายหญิง ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนไปให้หลายครั้ง จากนั้นตนเริ่มสงสัยจึงขอ VDO Call เพื่อดู สร้อยทองข้อมือที่จะส่งมาให้ ปรากฏว่าฝ่ายหญิงไม่สามารถติดต่อได้อีก ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
สำหรับมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้ง 5 คดี รวม 5,060,577 บาท
ทั้งนี้ผลการดำเนินงานของ ศูนย์ AOC 1441 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึง วันที่ 25 ตุลาคม 2567 มีตัวเลขสถิติผลการดำเนินงานดังนี้ 1. สายโทรเข้า 1441 จำนวน 1,179,500 สาย / เฉลี่ยต่อวัน 3,214 สาย , 2. ระงับบัญชีธนาคาร จำนวน 365,404 บัญชี / เฉลี่ยต่อวัน 1,128 บัญชี , 3. ระงับบัญชีตามประเภทคดีสูงสุด 5 ประเภท ได้แก่ (1) หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 108,237 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 29.62 (2) หลอกลวงหารายได้พิเศษ 89,692 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 24.55 (3) หลอกลวงลงทุน 56,177 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 15.37 (4) หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล 30,151 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 8.25 (5) หลอกลวงให้กู้เงิน 28,598 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 7.83 (และคดีอื่นๆ 52,549 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 14.38)
“จากเคสตัวอย่างจะเห็นได้ว่า มิจฉาชีพ หรือ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ใช้วิธีการหลอกลวงผู้เสียหาย ด้วยการอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ ขณะที่บางเคสเป็นการหลอกลวงให้มีการกู้เงิน รวมทั้งหลอกลวงให้ลงทุนในธุรกิจ ด้วยวิธีการติดต่อโทร หรือผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียอย่าง facebook และ Line ก่อนที่จะหลอกลวงให้มีการติดตั้งแอปพลิเคชันดูดเงิน ทั้งนี้ขอย้ำว่า กรณีการข่มขู่ผู้เสียหายว่ามีการกระทำผิดในอาชญากรรมออนไลน์ ขอให้ผู้เสียหายตรวจสอบข้อมูลจากศูนย์ AOC 1441 เพื่อความแน่ใจ ก่อนที่จะมีการการดำเนินการใดๆ เพื่อความปลอดภัย ด้านกรณีการลงทุนในธุรกิจที่ไม่มีการรับรองโดยหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือ เป็นการเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวง ขณะเดียวกันกรณีที่อ้างมีการแอบอ้างให้บริการสินเชื่อ ควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงความน่าเชื่อถือของบริษัทที่ให้บริการ รวมทั้งการให้รางวัล หรือโอนเงินบำนาญ หรือการทำธุรกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐนั้น ควรตรวจสอบจากหน่วยงานนั้นๆ โดยตรง และควรตระหนักเป็นอันดับแรกว่าการติดต่อโดยตรงจากเจ้าหน้าที่รัฐถึงประชาชน เป็นการติดต่อที่น่าสงสัย ดังนั้นขอให้สอบถามรายละเอียดให้แน่ชัดก่อนให้ข้อมูลส่วนบุคคล และทำการเพิ่มเพื่อนหรือดำเนินการใดๆในโซเชียลมีเดีย นอกจากนี้ควรตรวจสอบการลงทุนในธุรกิจต่างๆ อย่างรอบคอบ และติดต่อสอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสอบถามรายละเอียดให้แน่ชัด หรือติดต่อผ่านทางสายด่วน AOC 1441 เพื่อยืนยันตรวจสอบข้อเท็จจริง” โฆษกกระทรวงดีอี กล่าว
นางสาววงศ์อะเคื้อ กล่าวว่า ขอให้ประชาชนยึดหลัก 4 ไม่ คือ 1. ไม่กดลิงก์ 2.ไม่เชื่อ 3.ไม่รีบ และ 4.ไม่โอน ก่อนที่จะทำธุรกรรมใดๆ อย่ากดเข้าลิงก์เว็บไซต์ หรือดาวน์โหลด และอัปโหลดแพลตฟอร์ม ที่มีการส่งต่อจากช่องทางที่ไม่แน่ใจ โดย กระทรวง ดีอี ได้เร่งดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันภัยอาชญากรรมออนไลน์ ผ่านศูนย์ AOC 1441 เพื่อแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง และหากประชาชนโดนหลอกออนไลน์ โทรแจ้งดำเนินการ ระงับ อายัดบัญชี AOC 1441 จ้งเบาะแส ข่าวปลอม และอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ โทรสายด่วน 1111 (24 ชั่วโมง) หรือ Line ID : @antifakenewscenter และ เว็บไซต์ www.antifakenewscenter.com