Thursday, 16 May 2024
Econbiz

ดัชนีค่าครองชีพของไทย อยู่อันดับที่ 94  ชี้ เศรษฐกิจกำลังดี มีแนวโน้ม น่าลงทุน 

(31 มี.ค.67) Business Tomorrow รายงานว่า ค่าครองชีพไทยอยู่อันดับ 94 จาก 146 ประเทศ อันดับที่ 5 ในกลุ่มอาเซียน

โดยกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า Numbeo ซึ่งเป็นเว็บไซต์ฐานข้อมูลด้านค่าครองชีพโลกที่มีชื่อเสียง ได้จัดทำดัชนีค่าครองชีพ (Cost of Living Index) ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกช่วงต้นปี 2024 พบว่า ดัชนีค่าครองชีพของไทย อยู่ที่ 36% ต่ำกว่าดัชนีเมืองนิวยอร์ก สหรัฐฯ ที่ใช้เป็นฐานเท่ากับ 100% โดยอยู่อันดับที่ 94 จาก 146 ประเทศทั่วโลก ถือว่าอยู่ระดับต่ำ โดยลดลงจาก 40.7% หรืออยู่อันดับที่ 79 จาก 140 ประเทศทั่วโลก ในปี 2023

ประเทศในกลุ่มอาเซียน
อันดับที่ 7 สิงคโปร์ 
อันดับ 48 บรูไน 
อันดับ 87 เมียนมา 
อันดับ 88 กัมพูชา 
อันดับ 94 ไทย
อันดับ 104 ฟิลิปปินส์ 
อันดับ 113 เวียดนาม 
อันดับ 115 มาเลเซีย 
อันดับ 126 อินโดนีเซีย 

ประเทศที่มีค่าครองชีพสูงที่สุดในโลก 3 อันดับแรก 
1.เบอร์มิวดา ภูมิประเทศที่มีข้อจำกัด พึ่งพาการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคจากต่างประเทศ เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ 
2.สวิตเซอร์แลนด์ มีรายได้ต่อหัวสูง มีระบบสวัสดิการที่ดี การเมืองและเศรษฐกิจมีเสถียรภาพ นักท่องเที่ยวต่างชาติเยอะ 
3.หมู่เกาะเคย์แมน หมู่เกาะเคย์แมนเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ถูกจัดว่าร่ำรวยที่สุดในโลก มีชื่อเสียงด้านบริการทางการเงิน และด้วยภูมิประเทศที่เป็นหมู่เกาะในทะเลแคริบเบียน ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมสำหรับชาวต่างชาติ 

ประเทศที่มีค่าครองชีพต่ำที่สุดในโลก 3 อันดับแรก
1.ปากีสถาน มีปัญหาหนี้สินที่อยู่ระดับสูง การคอร์รัปชัน และความไม่มั่นคงทางอาหาร 
2.ไนจีเรีย การเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างอ่อนแรงลงจากปัจจัยต่าง ๆ การขาดแคลนอาหาร และปัญหาความยากจนที่มีแนวโน้มสูงขึ้น 
3.ลิเบีย จัดว่าเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยระดับสูงสุด และเศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแอ 

การจัดทำดัชนีค่าครองชีพ (Cost of Living Index) ดังกล่าว คำนวณจากค่าใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภค อาทิ ค่าอาหาร ค่าเดินทาง เสื้อผ้าและรองเท้า กีฬาและสันทนาการ และค่าสาธารณูปโภค (ไม่รวมค่าเช่าที่อยู่อาศัย) ซึ่งสำรวจข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ อาทิ หน่วยงานภาครัฐ ซูเปอร์มาร์เก็ต ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค โดยเปรียบเทียบกับดัชนีค่าครองชีพของเมืองนิวยอร์ก สหรัฐฯ ซึ่งใช้เป็นฐานอยู่ที่ร้อยละ 100

'6 เดือนรัฐบาล' กระตุ้นเศรษฐกิจไม่เป็นตามหวัง ซ้ำ!! 'เงินดิจิทัลวอลเล็ต' ยังกระทบงบประมาณ 67

'เศรษฐกิจไทย' ยังคงทรงตัว และไม่มีสัญญาณใด ๆ ที่จะส่งผลดี กระตุ้นให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้เพิ่มขึ้น ภาคอสังหาริมทรัพย์ สต็อกบ้าน คอนโด เหลือขายเป็นจำนวนมาก โครงการเปิดขายใหม่ ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล เพิ่มขึ้น 10.80% แต่หน่วยขายได้ กลับลดลง -14.50% เตรียมเข็นมาตรการลดค่าจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์ จาก 2% เหลือ 1% และค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ จาก 1% เหลือ 0.01% โดยขยายสำหรับที่อยู่อาศัยที่มีราคาซื้อขายเกิน 3 ล้านบาท โดยให้สิทธิเฉพาะ 3 ล้านบาทแรก เท่านั้น

ด้านพลังงาน มาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซล ก๊าซหุงต้ม จะสิ้นสุด 31 มีนาคม 2567 คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) คาดการว่า กองทุนน้ำมันฯ จะติดลบในระดับ 100,000 ล้านบาท จึงอาจไม่สามารถขยายเวลาในการตรึงราคาน้ำมันดีเซล ให้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ได้ 

หากจำเป็นต้องตรึงราคาดีเซลต่อ ต้องอาศัยกลไกจากกระทรวงการคลัง โดยการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล มาช่วยตรึงราคาควบคู่กับกลไกกองทุนน้ำมัน 

ส่วนค่าไฟฟ้า มาตรการจะสิ้นสุด 30 เมษายน 2567 ซึ่ง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประชุมเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2567 มีแนวโน้มจะสามารถตรึงฐานค่าไฟได้ต่อ ถึงเดือนสิงหาคม 2567 

ด้านการท่องเที่ยว คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้เห็นชอบการเปิดให้การส่งเสริมการลงทุนใน 'กิจการจัดงานมหกรรมดนตรี กีฬา และเทศกาลนานาชาติ' ที่มีการลงทุนเกิน 100 ล้านบาทในไทย สามารถยื่นขอบีโอไอได้ ได้รับสิทธิ์เว้นอากรขาเข้า อุปกรณ์-เครื่องจักร พร้อมช่วยอำนวยความสะดวกวีซ่า ใบอนุญาตทำงาน เพื่อยกระดับประเทศไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางในการจัดงานระดับโลก (World Class Events) และเป็นศูนย์กลางเมืองท่องเที่ยวของภูมิภาค (Tourism Hub) 

มาตรการที่มีในปัจจุบัน ยังคงไม่ทำให้คะแนนนิยมทั้งของรัฐบาล และตัวนายกรัฐมนตรีกระเตื้องขึ้น กับการที่บริหารประเทศมากว่า 6 เดือน ซึ่งจำเป็นต้องเข็นมาตรการเงินดิจิตอลวอลเล็ต เพื่อช่วยให้ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในด้านเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น 

โดยวันที่ 10 เม.ย. 67 จะมีการประชุมคณะกรรมการโครงการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยวาระสำคัญคือการเคาะแหล่งที่มาของเงินในโครงการนี้ ซึ่งขณะนี้มีอยู่ 2 - 3 ทางเลือกระหว่างการใช้เงินกู้ และงบประมาณรายจ่ายประจำปี หลังจากที่ได้ข้อสรุปเรื่องแหล่งเงิน และไทม์ไลน์ในโครงการนี้แล้ว โครงการจะเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการยืนยันว่าโครงการนี้รัฐบาลจะเดินหน้าตามขั้นตอนทางกฎหมายเพื่อให้สามารถแจกเงินได้ทันภายในไตรมาสที่ 4 ของปีก่อนเทศกาลปีใหม่ 2568

ภาวะเศรษฐกิจประเทศไทยที่ยังคงไม่กระเตื้อง อีกสาเหตุหนึ่ง คือ การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า แต่เมื่อการหาแหล่งเงินทุนในโครงการแจกเงินดิจิตอลวอลเล็ต 10,000 บาท ซึ่งเป็นนโยบายหาเสียงที่สำคัญของพรรคเพื่อไทย ที่เข้ามาเป็นรัฐบาล อาจจะต้องไปใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีร่วมด้วย นั่นหมายความว่า งบประมาณประจำปี ที่คาดการณ์ว่าจะมีการเบิกจ่ายตามกรอบงบประมาณ ของหน่วยงานต่าง ๆ ต้องถูกตัดไปใส่ในโครงการดิจิตอลวอลเล็ต เท่ากับว่า เม็ดเงินที่จะออกมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มขึ้นไม่มากตามที่คาดการณ์ เพราะส่วนหนึ่งใช้จากงบประมาณรายจ่ายประจำ ที่จะต้องมีการเบิกจ่ายอยู่แล้ว 

หากเป็นเช่นนี้ ก็คงต้องคิดเผื่อด้วยว่า งบประมาณรายจ่ายประจำปี ของแต่ละหน่วยงาน อาจจะต้องมีการเบิกจ่ายล่าช้าออกไปอีก เพราะทุกหน่วยงานต้องรอจัดสรรการใช้จ่ายในแต่ละโครงการอีกครั้ง ว่าโครงการใด ต้องชะลอเพื่อกันเงินไว้สำหรับโครงการดิจิตอลวอลเล็ต โครงการใดที่จะสามารถเบิกจ่ายได้จริง ส่งผลการเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้า ยิ่งต้องล่าช้าออกไปอีก 

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาในช่วงนี้ แทบจะไม่มีผลต่อเศรษฐกิจในประเทศเท่าใดนัก และกับการที่อาจต้องคาดการณ์ว่า การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 จะล่าช้าออกไปอีก ... ความกดดันที่ก่อตัวเพิ่มขึ้น กำลังถาโถมต่อรัฐบาล และทีมเศรษฐกิจ

ตอนได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 สถานการณ์หนักพอควรแล้ว สถานการณ์ตอนนี้ ก็คงไม่ต่างกัน นโยบายที่ออกมาเพียงเพื่อหาเสียงเพื่อให้ได้เข้าไปนั่งในสภา ถึงเวลาที่ต้องทบทวนกฎกติกา หรือยัง ?

สมาคมภัตตาคารไทย ผุดไอเดีย ‘ฟู้ดพาวเวอร์’  เพื่อเป็นจุดขาย ดึงดูดใจนักท่องเที่ยว

(31 มี.ค.67) นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยว่า สมาคมภัตตาคาร ผู้ประกอบการร้านอาหารและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เตรียมจัดโครงการฟู้ดพาวเวอร์ (FOOD POWER) เพื่อส่งเสริมและผลักดันการรับรู้เมนูอาหารและผู้ประกอบการร้านอาหารของไทยทั่วเมืองไทย ซึ่งในโครงการจะมีการจัดประกวดและคัดเลือกเมนูอาหารที่จะเป็นจุดขายและจูงใจนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก เมื่อมาเมืองไทยต้องสั่งรับประทาน หรือเป็นเมนูอาหารคิดถึง ไม่ว่าจะไปร้านอาหารไทยในต่างประเทศ ก็จะสั่งรับประทาน ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ในกลุ่มอาหาร ที่รัฐบาลกำลังผลักดัน

นางฐนิวรรณ กล่าวต่อว่า สมาคมและกลุ่มร้านอาหาร จะมีการประชุมหารือเพื่อลงในรายละเอียดครั้งที่สองในเดือนเมษายนนี้ หลังจากเทศกาลมหาสงกรานต์ผ่านไป เบื้องต้นจะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการอาหารและร้านอาหาร ในแต่ละภูมิภาค เสนอเมนูและวัตถุดิบที่ใช้ประกอบอาหาร ซึ่งเป็นเมนูอาหารท้องถิ่น และสามารถหาบริโภคได้ทั่วไป ไม่เจาะจงว่าต้องไปที่ร้านนั้นเท่านั้น หรือหาทานได้แค่ท้องถิ่น สำหรับมาตรฐาน สมาคมฯจะร่วมกับหอการค้าไทย ในการจัดทำมาตรฐานร้านอาหารเพื่อการท่องเที่ยว มีหลักเกณฑ์คัดเลือก อาทิ เมนูอาหารอร่อย วัตถุดิบหาได้ในท้องถิ่น สถานที่อำนวยความสะดวก สะอาด ห้องน้ำพร้อม เป็นต้น

“มีคำถามว่าตอนนี้เรา ก็มีหน่วยงานรัฐและองค์กรที่คัดเลือกเมนูและร้านอาหารในชื่อโครงการต่างๆ มากแล้ว แต่ก็มีร้านอาหารส่วนใหญ่ ยังมองว่าเป็นการคัดเลือกเข้าโครงการของหน่วยงานนั้นๆ มีการจำนวน มีข้อจำกัด แต่ละองค์กรมีร้านค้าหรือเมนูไม่กี่ร้อยหรือพันกว่าร้าน เทียบกับร้านอาหารในไทยเปิดกันทั่วไป ทั้งอยู่ในอาคาร นอกอาคาร ในตึกแถว ในห้าง หรือ ริมถนนตามชุมชน กว่า 1 แสนร้านค้า และสตรีทฟู้ดส์ที่เกิดจากคนรุ่นใหม่อีกหลายหมื่นราย อยากให้มีเมนูขึ้นชื่อและเป็นที่นิยมของต่างชาติ ก่อนหน้าเราเคยเสนอใบกะเพรา เป็นวัตถุดิบหลัก จนผัดกะเพรา เป็นที่รู้จักมากขึ้น

เหมือนอย่างต้มยำกุ้ง หรือผัดไทย ส่วนตัวกำลังมองการใช้วัตถุดิบหลักอย่างไก่ และกุ้ง เป็นวัตถุดิบหลักในการคิดเมนูระดับชาติต่อไป เพราะไม่แค่คนมาไทยจะสั่งเมนูจากไก่หรือกุ้ง ยังเป็นส่งเสริมส่งออกวัตถุดิบไก่และกุ้ง ไปทั่วโลกด้วย ต่อไปก็จะต่อยอดเป็นสินค้ากึ่งสำเร็จรูป ประเด็นคือ เมื่อเมนูที่ได้คัดเลือก สามารถปรุงแต่งขายกันทั่วไปแล้ว นักท่องเที่ยวหารับประทานได้ทั่วไป และในราคาปกติทั่วไปด้วย จุดประสงค์เราต้องการให้เป็นเมนูที่โด่งดัง รับรู้เป็นที่นิมของทั่วโลก โดยที่แต่ละภาคจะพัฒนาสูตรเฉพาะของตนเอง เช่น ไก่ย่างไทยพิเศษกว่าประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างไร เป็นต้น” นางฐนิวรรณ กล่าว

นางฐนิวรรณ กล่าวถึงกำลังใช้จ่ายในร้านอาหารว่า สงกรานต์เดือนเมษยนนี้ จะเป็นอีกช่วงที่จะสร้างโอกาสการขายและเพิ่มรายได้กว่าปกติ โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด โดยภาพรวมการเข้าร้านอาหารในปี 2567 นี้ฟื้นตัวแล้วอัตราประมาณ 90% ดีกว่าปีก่อนที่ฟื้นตัวอัตรา 75-80% ที่ยังไม่เต็ม 100% เท่าปีก่อน 2562 ก่อนเกิดโควิด เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นเท่าเดิม ปีนั้นมีถึง 40 ล้านคน ดังนั้นการฟื้นระดับ 90% ถือว่าดีขึ้นมากแล้ว

นางฐนิวรรณ กล่าวต่อว่า บรรยากาศสงกรานต์ปี 2567 นี้ มั่นใจได้ว่าจะคักคักกว่าสงกรานต์หลายปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งจากมหาสงกรานต์ 21 วัน ซึ่งในกรุงเทพฯมักมีคนน้อย งานมหาสงกรานต์ภายใต้ซอฟต์พาวเวอร์ ที่กำหนดเปิดงานใหญ่ช่วงวันที่ 11-16 เมษายน ที่ถนนราชดำเนิน สนามหลวง จะดึงคนไทยและต่างชาติ เที่ยวในไทยมากขึ้น พร้อมกับกิจกรรมหัวเมืองใหญ่จะสร้างบรรยากาศสงกรานต์ไทยปีนี้คึกคักได้มาก สะท้อนจากร้านอาหารทั่วไปมักปิดทำการและเดินทางกลับภูมิลำเนาในต่างจังหวัด ส่วนหนึ่งเตรียมเปิดจำหน่ายในช่วงสงกรานต์

“ข้อกังวลของธุรกิจร้านอาหาร ไม่แค่ลุ้นจำนวนนักท่องเที่ยวจะกลับมาเท่าเดิมในแต่ละเดือน ยังต้องติดตามผลกระทบจากต้นทุนสูง หลังนโยบายให้ปรับค่าจ้างแรงงานรายวัน ราคาดีเซล หรือการสิ้นสุดของมาตรการช่วยค่าไฟ ค่าน้ำ ของภาครัฐ ซึ่งมีผลตรงต่อเงินในกระเป๋าประชาชน และอารมณ์ที่ออกมาร้านอาหารนอกบ้าน ตอนนี้การมีมาตรการกระตุ้นใช้จ่าย ทั้งการลดค่าใช้จ่ายหรือการเติมเงินเข้ากระเป๋า จะเป็นแรงส่งต่อการใช้จ่ายต่อเนื่อง ตอนนี้ทั้งคนซื้อคนขายก็ไม่รู้ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร การลงทุนระดับฐานรากก็ยังลังเลกว่าในอดีตมาก เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องดึงความเชื่อมั่นต่ออนาคตให้มากขึ้น” นางฐนิวรรณ กล่าว

'กรมโรงงานฯ' รับนโยบาย 'รมว.ปุ้ย' อำนวยความสะดวกนักลงทุน  ใช้ระบบออนไลน์อนุมัติ ร.ง.4 ชู!! เร็ว โปร่งใส ดันภาค อุตฯ ไทยโตต่อเนื่อง

(1 เม.ย.67) นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากสถิติข้อมูลการออกใบอนุญาต ร.ง.4 ในปี 2565-2566 พบว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรมมีการออกใบอนุญาตให้ตั้งและขยายโรงงานที่มีขนาดใหญ่จำนวนกว่า 800 โรงงานต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 3 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2563-2564 

โดยเฉพาะในปี 2566 ที่ผ่านมา มีการอนุญาตให้ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ (นอกนิคมฯ) จำนวน 2,598 โรงงาน มูลค่าการลงทุนกว่า 356,140 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 23% เมื่อเทียบกับปี 2565 และเกิดการจ้างงานกว่า 106,631 คน สอดรับกับการที่บีโอไอได้รับคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2566 มูลค่ารวม 8.5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 9 ปี โดยเมื่อพิจารณาเฉพาะมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีการเติบโตสูงถึง 72% จากปีก่อน

นายจุลพงษ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาตามปีงบประมาณ 2567 มีมูลค่าการลงทุนจากการอนุญาตให้ตั้งและขยายโรงงานอุตสาหกรรมนอกนิคมไปแล้วกว่า 255,586.74 ล้านบาท และหากพิจารณาเฉพาะปี 2567 ก็พบว่ามีการลงทุนตั้งและขยายโรงงานอุตสาหกรรมนอกนิคมในช่วง 3 เดือนแรกของปีแล้วกว่า 70,000 ล้านบาท

ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องภายหลังวิกฤตโควิด-19 ซึ่งเป็นผลมาจากการที่นายกรัฐมนตรีและคณะเข้าร่วมเจรจาด้านความร่วมมือกับผู้นำประเทศต่าง ๆ ตลอดจนการพบปะหารือกับภาคธุรกิจ ชักชวนการลงทุน สร้างความเชื่อมั่น จัดกิจกรรมเจรจาธุรกิจและจับคู่ผู้ประกอบการไทยและต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีนโยบาย Ease of doing business โดยให้หน่วยงานที่ออกใบอนุญาต พิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ เพื่อให้การประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมในไทยได้รับความสะดวกรวดเร็ว ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวส่งผลให้เกิดการขยายตัวของการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ

นายจุลพงษ์ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน กรมโรงงานอุตสาหกรรมยังได้ขับเคลื่อนนโยบายของนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่เน้นย้ำให้มุ่งยกระดับการบริหารจัดการภาครัฐเพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ และปรับปรุงกระบวนการทำงานให้เป็นดิจิทัล โดยได้สั่งการให้เร่งนำระบบอนุญาตออนไลน์ (Digital-License) ของกระทรวงอุตสาหกรรมมาใช้งานในทันที เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ประกอบการในการขอรับใบอนุญาตได้อย่างรวดเร็ว โปร่งใส และสามารถตรวจสอบติดตามได้ในทุกขั้นตอน สอดคล้องกับบริบทสังคมดิจิทัลและรองรับการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมที่มีอัตราการลงทุนของโรงงานขนาดใหญ่ในแต่ละปีเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10-20% ตั้งแต่ปี 2563 มาจนถึงปัจจุบัน

"ปัจจุบันมีการยื่นขอรับใบอนุญาต ร.ง.4 เพิ่มเข้ามาอย่างต่อเนื่องและอยู่ระหว่างการพิจารณาของกรมโรงงานอุตสาหกรรม จำนวน 22 โรงงาน แสดงให้เห็นถึงทิศทางและแนวโน้มการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้นขอให้นักลงทุนและผู้ประกอบการมั่นใจและเชื่อมั่นว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรมพร้อมดูแลอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมในทุกมิติ และพร้อมส่งเสริมการตั้งโรงงานที่มีมาตรฐาน เพื่อรองรับการลงทุนและการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของประเทศให้เติบโตคู่ชุมชนอย่างยั่งยืน” นายจุลพงษ์ กล่าวปิดท้าย

‘ห้าดาว’ ร่วมโครงการ ‘ไม่ทอดซ้ำ’ ผลักดันนวัตกรรมสีเขียว ส่งต่อน้ำมันใช้แล้ว ผลิตเป็นเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพแบบยั่งยืน

(1 เม.ย.67) ‘ธุรกิจห้าดาว’ (Five Star) ของ บริษัท ซีพีเอฟ เรสเทอรองท์ แอนด์ ฟู้ดเชน จำกัด ผู้นำธุรกิจจุดจำหน่ายอาหารพร้อมรับประทาน ร่วมสร้างงานสร้างอาชีพให้ผู้ร่วมลงทุน และมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องกว่า 5,000 สาขา ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ บนเส้นทางการสร้างธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนในไทยมานานกว่า 40 ปี ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในโครงการ ‘ไม่ทอดซ้ำ’ จากความร่วมมือระหว่าง บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BSGF กับกรมอนามัย ในฐานะที่ห้าดาวเป็นหนึ่งกลุ่มพันธมิตรการค้า ที่มีอุดมการณ์เดียวกันในการนำน้ำมันพืชใช้แล้วไปรีไซเคิล ผลิตเป็นเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel) หรือ SAF เพื่อลดปัญหาสุขภาพ และสร้างความยั่งยืน โดยมี นายธนพันธ์ นามวิริยะโชติ รองผู้อำนวยการสายงานพัฒนาธุรกิจ เป็นผู้แทนห้าดาว นำทีมร่วมงาน

“ปัจจุบันมีร้านห้าดาวและเถ้าแก่ห้าดาว ร่วมโครงการฯ นี้แล้วกว่า 130 สาขาทั่วกรุงเทพฯ และบางสาขาตั้งอยู่ในสถานีบริการน้ำมันบางจากเอง ตั้งเป้าขยายสาขาเข้าร่วมโครงการฯ ทั้ง 5,000 สาขา ทั่วประเทศ ภายในปี 2567 และเดินหน้าเข้าร่วมโครงการ ‘ไม่ทอดซ้ำ’ ตามเกณฑ์มาตรฐาน MOU การรณรงค์ไม่ใช้น้ำมันทอดซ้ำในครั้งนี้ โดยเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อน CPF ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับทางบางจากในการผลักดันนวัตกรรมสีเขียวและการพัฒนาอย่างยั่งยืน” นายธนพันธ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม โครงการ ‘ไม่ทอดซ้ำ’ เป็นการต่อยอดจากโครงการ ‘ทอดไม่ทิ้ง’ ด้วยการรณรงค์ให้ผู้ประกอบการไม่นำน้ำมันใช้แล้วที่เป็นอันตรายกับสุขภาพมาใช้ทอดอาหารซ้ำ หรือ ‘ไม่ทอดซ้ำ’ เพื่อช่วยขับเคลื่อนและผลักดันด้านอาหารทอดปลอดภัย จากความตระหนักถึงสุขภาพของผู้บริโภค คุณภาพชีวิต รวมถึงด้านสิ่งแวดล้อม จากการกำจัดของเสียอย่างถูกวิธีด้วยการ และช่วยสร้างรายได้เสริมจากการจำหน่ายน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว โดยหลังจาก BSGF รับซื้อน้ำมันใช้แล้ว จะออกใบประกาศนียบัตรให้กับร้านที่จำหน่ายน้ำมันดังกล่าว ว่าเป็นร้านอาหารที่ใช้น้ำมันปรุงอาหารทอดไม่ซ้ำ เพื่อยกระดับมาตรฐานร้านนั้น ๆ โดยการรับรองของกรมอนามัย

สำหรับร้านอาหารที่จะได้รับใบรับรองฯ ต้องผ่าน 3 เกณฑ์สำคัญ ได้แก่ 1. ไม่ใช้น้ำมันทอดซ้ำ 2. ขายน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว นำไปผลิตเป็น SAF อย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 6 เดือน 3. ผ่านการตรวจค่าสารโพลาร์ (Polar compounds) โดยมีค่าสารโพลาร์ไม่เกินร้อยละ 25 ของน้ำหนักน้ำมันตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

ทั้งนี้ การลงนาม MOU โครงการ ‘ไม่ทอดซ้ำ’ มีนายธรรมรัตน์ ประยูรสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน BSGF ร่วมลงนามกับ แพทย์หญิงอัจฉรา ปวะบุตร นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย ภายในงานห้าดาวนำผลิตภัณฑ์ไก่จ๊อห้าดาวที่ปรุงโดยใช้น้ำมันปรุงอาหารแบบทอดไม่ซ้ำไปร่วมออกบูธด้วย

'มิตซูบิชิ' ยกทัพ ยานยนต์รุ่นใหม่ บุกมอเตอร์โชว์ จัดใหญ่ทั้งบูธ ขนทัพ ‘เอ็กซ์แพนเดอร์-ปาเจโร’ ดึงดูดสายลุยทุกเส้นทาง

เมื่อไม่นานมานี้ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย ขนทัพยานยนต์รุ่นใหม่คุณภาพสูง ภายใต้แนวคิด ที่มุ่งเน้นความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นำโดย มิตซูบิชิ เอ็กซ์แพนเดอร์ เอชอีวี และ เอ็กซ์แพนเดอร์ ครอส เอชอีวี ร่วมด้วย มิตซูบิชิ ปาเจโร สปอร์ต ใหม่ รุ่นปี 2024 พร้อมจัดเต็มโปรโมชั่นพิเศษ ดอกเบี้ย 0% และข้อเสนออื่น ๆ อีกมากมายที่งาน บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 45 พร้อมตอกย้ำ ดีเอ็นเอผู้นำด้านมอเตอร์สปอร์ตและจิตวิญญาณแห่งการแข่งขันแรลลี่ ด้วยการจัดแสดงรถแข่ง ออล-นิว ไทรทัน แรลลี่คาร์ พร้อมลงสู้ศึกเอเชีย ครอสคันทรี แรลลี่ หรือ ‘AXCR 2024’

ไฮไลท์ภายในงานปีนี้ ได้แก่ มิตซูบิชิ เอ็กซ์แพนเดอร์ เอชอีวี และ เอ็กซ์แพนเดอร์ ครอส เอชอีวี รถยนต์ระบบขับเคลื่อนฟูลไฮบริด รุ่นแรกของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่พร้อมมอบประสบการณ์การขับขี่ใหม่ในแบบ Mitsubishi e:MOTION เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังและมั่นใจในทุกเส้นทาง จากการผสาน 3 สุดยอดเทคโนโลยีอันเป็นเอกลักษณ์ ได้แก่ ระบบขับเคลื่อนฟูลไฮบริด (HEV System) มอบการขับขี่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และน่าตื่นเต้นเร้าใจ ให้ความคล่องตัว ด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าจากระบบขับเคลื่อนฟูลไฮบริด ซึ่งได้รับการถ่ายทอดและพัฒนามาจากความสำเร็จของระบบรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด (PHEVs) โหมดการขับขี่ 7 รูปแบบ (7 Drive Mode) ที่พัฒนาขึ้นใหม่ ซึ่งผู้ขับขี่สามารถเลือกปรับโหมดการขับขี่ ได้ตามต้องการ ให้สมรรถนะการขับขี่ที่ปลอดภัย มั่นใจได้ในทุกเส้นทาง ลุยได้ในทุกสภาพถนน และ ระบบควบคุมการขับเคลื่อนและสมดุลขณะเข้าโค้ง (Active Yaw Control: AYC) เทคโนโลยีที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส มอบการขับขี่ที่ปลอดภัยและมั่นใจ ควบคุมรถได้อย่างคล่องตัวโดยเฉพาะขณะเข้าโค้ง 

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการนำเทคโนโลยีระบบขับเคลื่อนฟูลไฮบริดที่อยู่ภายในรถยนต์เอ็กซ์แพนเดอร์ เอชอีวี และ เอ็กซ์แพนเดอร์ ครอส เอชอีวี มาจัดแสดงให้ชมแบบเอ็กซ์คลูซีฟอีกด้วย การจัดแสดงนี้ จะเผยให้เห็นความประณีตในการออกแบบเครื่องยนต์ มอเตอร์ ชุดแบตเตอรี่ และชิ้นส่วนขับเคลื่อนที่มอบสมรรถนะขับขี่และการควบคุมอันเหนือชั้น ในแบบ Mitsubishi e:MOTION

อีกหนึ่งไฮไลท์ของงานนี้ ได้แก่ มิตซูบิชิ ปาเจโร สปอร์ต ใหม่ รุ่นปี 2024 มาพร้อมขุมกำลังใหม่ 'ไฮเปอร์พาวเวอร์' (Hyper Power) เครื่องยนต์ดีเซลคอมมอนเรล วีจี เทอร์โบ อินเตอร์คูลเลอร์ เทอร์โบ 4 สูบ ความจุ 2.4 ลิตร พร้อมหัวฉีดอิเล็กทรอนิกส์แบบคอมมอนเรลเจเนอเรชันใหม่ ทรงพลังและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยมาตรฐานไอเสียระดับยูโร 5 (Euro 5) สร้างพละกำลังสูงสุด 184 แรงม้า ที่ 3,500 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 430 นิวตันเมตร ที่ 2,250 - 2,500 รอบต่อนาที ส่งกำลังด้วยระบบเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด ใหม่ ประสานการทำงานกับเครื่องยนต์ได้อย่างลงตัว ตอบสนองการขับขี่ได้อย่างยอดเยี่ยม พร้อมประหยัดน้ำมันมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจัดแสดง รถออล-นิว ไทรทัน แรลลี่คาร์ ที่ทีมมิตซูบิชิ แรลลี่อาร์ท จะใช้ลงแข่งในการแข่งขัน เอเชีย ครอสคันทรี แรลลี่ หรือ AXCR 2024 เพื่อท้าทายความสำเร็จอีกครั้ง ด้วยสถิติแชมป์อันดับ 1 การแข่งขัน AXCR 2022 และรางวัลชนะเลิศประเภททีม ในปี 2023 โดย รถแข่ง ออล-นิว ไทรทัน แรลลี่คาร์ สร้างขึ้นจากรถกระบะ ออล-นิว มิตซูบิชิ ไทรทัน ที่ผลิตในไทย รุ่นเดียวกับที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาด มาพร้อมเครื่องยนต์ใหม่ ให้ขุมพลังแรงเร็วเต็มสมรรถนะ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

ผู้สนใจสามารถชมรถยนต์ มิตซูบิชิ ทุกรุ่นได้ที่บูธ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย A09 ภายในงาน บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 45 ณ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 1-3 เมืองทองธานี 

กาสิโน Chapter ใหม่ของการท่องเที่ยวไทย ไว้ใจรัฐ!! ทำเพื่อประโยชน์คนไทยในวงกว้าง

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'กาสิโน Chapter ใหม่ของการท่องเที่ยวไทย' เมื่อวันที่ 7 เม.ย.67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

ในที่สุดสถานบันเทิงครบวงจรก็ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรแบบไร้เสียงคัดค้าน แต่กระแสคัดค้านน่าจะมาจากสังคมนอกสภา สังคมที่ท่านนายกรัฐมนตรีเรียกว่าเป็นสังคมอีแอบ

นับเป็นครั้งแรกของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยที่จะมีการลงทุนขนาดใหญ่ หรือ Mega Project ในรอบหลายปี การท่องเที่ยวไทยพึ่งพาแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและโบราณสถานเป็น Tourist Attractions มาโดยตลอด จนสถานที่เหล่านั้นเริ่มสึกหรอและเสื่อมทรามลงไปจากความแออัดของนักท่องเที่ยว รัฐบาลในอดีตได้รับรายได้มหาศาลจากภาคการท่องเที่ยว แต่ละเลยที่จะส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเพื่อยกระดับสถานที่ท่องเที่ยวให้เป็นระดับโลก

ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญของประเทศและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โครงการสถานบันเทิงครบวงจร นอกจากจะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนครั้งใหญ่ใน Man-made Attractions แล้ว ยังเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยสู่สากล และการท่องเที่ยวเชิง MICE (Meeting Incentive Convention and Exhibition) ซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงธุรกิจที่ใช้จ่ายเงินสูง และสร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศอื่น ๆ มาแล้ว

แน่นอน ผลกระทบทางสังคมที่หลายฝ่ายวิตกกังวล ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องเตรียมรับมือ แต่ก็ไม่สมควรที่จะหวาดกลัวไปตามแรงกดดันของสังคมอีแอบ เพราะปัจจุบันสังคมไทยก็อยู่กับอบายมุขอยู่แล้ว เพียงแต่เป็นอบายมุขที่ผิดกฎหมาย การนำอบายมุขเหล่านี้ขึ้นมาบนดิน อาจทำให้รายได้ของเจ้าหน้าที่ที่รับส่วยอยู่ในปัจจุบันลดลงหรือหมดไป แต่ก็กลายมาเป็นรายได้ของรัฐบาล ซึ่งสามารถนำไปใช้เพื่อประโยชน์ของประชาชนในวงกว้างต่อไป

ส่วนกลุ่มเปราะบางทางสังคมซึ่งอาจได้รับผลกระทบ เชื่อว่ารัฐบาลเตรียมมาตรการรองรับอยู่แล้ว และกลุ่มรากหญ้าที่ต้องการเล่นการพนันที่ถูกกฎหมายแต่ไม่สามารถเข้าถึงกาสิโนในสถานบันเทิงได้นั้น ก็สามารถใช้เทคโนโลยีดิจิตอลออนไลน์เข้ามาเสริมการให้บริการและการเข้าถึงในระดับรากหญ้า แต่ทั้งนี้จะต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลอย่างเคร่งเครียดของรัฐบาล

ประเทศไทยสูญเสียโอกาสและรายได้ไปนานหลายสิบปี ครั้งนี้จึงเป็นวาระสำคัญของประเทศที่คนไทยทุกคนจะร่วมกันผลักดันให้ประเทศเป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวอย่างแท้จริง

'เจ้าของชายสี่' สยายปีก!! ปรับภาพลักษณ์แบรนด์ พัฒนาสินค้าใหม่ พร้อมพูดติดตลก หวังเข้า 'ตลท.' เพื่อป้องกันลูกๆ ทะเลาะกัน

(1 เม.ย.67) นายพันธ์รบ กำลา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ชายสี่ คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า กว่า 30 ปี ของ ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยวจนถึงวันนี้เมื่อธุรกิจเติบโตขึ้นอย่างมาก ประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถึงเวลาที่จะต้องยกระดับธุรกิจและองค์กรให้สอดรับและเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลง จึงเปิดโอกาสให้ผู้บริหารมืออาชีพรุ่นใหม่ เข้ามาเติมไฟให้กับธุรกิจ เดินหน้าสู่การทรานส์ฟอร์มภายใต้ชื่อ 'ชายสี่ คอร์ปอเรชั่น' ส่งมอบอาหารและบริการที่ดียิ่งขึ้นให้กับลูกค้า และพร้อมขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตต่ออย่างมั่นคงและยั่งยืน

โดยปัจจุบัน ชายสี่ คอร์ปอเรชั่น มีแบรนด์สตรีตฟู้ดในเครือ รวม 7 แบรนด์ ได้แก่ ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว, ชายสี่พลัส, ชายใหญ่ข้าวมันไก่, พันปีบะหมี่เป็ดย่าง, อาลีหมี่ฮาลาล, ไก่หมุนคุณพัน, ลูกชิ้นทอดโอ้มายก๊อด รวมทุกแบรนด์กว่า 4,500 สาขา และยังมีอาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุงและพร้อมทานภายใต้แบรนด์ชายสี่โกลด์ พร้อมด้วยเครื่องปรุงเพื่อจำหน่ายอีกกว่า 200 รายการ ซึ่งทุกแบรนด์สินค้าในเครือต่างได้รับการยอมรับในด้านคุณภาพที่สดใหม่ วัตถุดิบส่งตรงจากศูนย์การผลิตและกระจายสินค้าทั้งหมด 7 แห่งทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ รวมถึงรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ และราคาที่เข้าถึงได้จากทั้งผู้ขายและผู้บริโภค ทำให้ชายสี่เป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่งและเป็นที่รักของคนไทย

ด้านนายอนุชิต สรรพอาษา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชายสี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ชายสี่ คอร์ปอเรชั่น มีพื้นฐานธุรกิจที่แข็งแกร่ง มีศักยภาพสร้างการเติบโต โดยหลังจากผ่านวิกฤต โควิด-19 ที่ผ่านมา เรากลับมาเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 เป็นปีที่เราสร้างยอดขายได้สูงสุดในประวัติกาล โดยมีรายได้รวม 1,085 ล้านบาท และยังเติบโตอย่างแข็งแกร่งในปี 2566 เช่นกัน

ล่าสุดในปี 2565-2566 บริษัทฯ ได้เริ่มสู่การทรานส์ฟอร์มธุรกิจ ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี การบริหารต้นทุนอย่างชาญฉลาด รวมถึงการปรับโครงสร้างการบริหารงาน โดยให้โอกาสคนรุ่นใหม่เข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ 

"จากทั้งหมดที่ได้ลงมือทำ เราสามารถสร้างยอดขายได้กว่า 1.1 พันล้านบาท และการเติบโตของกำไรได้มากกว่า 100% สะท้อนถึงศักยภาพในการปรับปรุงรากฐานขององค์กรให้แข็งแกร่งทั้งทางด้านการเงิน และการปฏิบัติการเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต โดยเรากำลังเดินหน้าสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม ผ่านการดำเนินธุรกิจภายใต้ 3 กลยุทธ์ ที่มุ่งสนับสนุนให้ชายสี่ คอร์ปอเรชั่น เติบโตได้อย่างยั่งยืน"

1. พัฒนามาตรฐานแฟรนไชส์ ผ่านการปรับปรุงระบบการบริหารแฟรนไชส์และการบริการทั้งหมดให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าและสร้างความภักดีของลูกค้าที่มีต่อแบรนด์ โดยใช้ประโยชน์จากศูนย์การผลิตและจัดส่งที่มีอยู่ทั่วประเทศไทยในการเข้าถึงคู่ค้าและควบคุมคุณภาพแฟรนไชส์

2. พัฒนาผลิตภัณฑ์เพิ่มเติมตามความต้องการของตลาด โดยให้ความสำคัญกับการทำวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้เหมาะสมและตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงช่องทางการจัดจำหน่ายที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าเข้าถึงผลิตภัณฑ์ได้โดยง่าย ทั้งร้านอร่อยริมทาง ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ และช่องทางออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันนอกจากแบรนด์สตรีตฟู้ดทั้ง 7 แบรนด์แล้ว เรายังมีสินค้าพร้อมทานที่จำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ

3. พัฒนาพันธมิตรเพื่อขยายธุรกิจร่วมกัน ร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความชำนาญเฉพาะทางเพื่อต่อยอดองค์ความรู้ ในการพัฒนาธุรกิจร่วมกัน รวมถึงการการเข้าซื้อกิจการต่างๆ ที่มีศักยภาพ โดยล่าสุดได้มีการเข้าซื้อกิจการร้านก๋วยเตี๋ยวชื่อดังเมืองกรุงเก่า 'เสือร้องไห้' และแบรนด์เบเกอรี่ที่เป็นที่นิยมของกลุ่มนักท่องเที่ยว 'บริกซ์' โดยในการเข้าซื้อกิจการได้ใช้รูปแบบที่จะยังคงสัดส่วนผู้ถือหุ้นเดิม เพื่อให้เจ้าของแบรนด์ยังได้ใช้ความเชี่ยวชาญของตนในการบริหารและพัฒนาแบรนด์ต่อได้ อีกทั้งยังสร้างโอกาสในการขยายธุรกิจไปต่างประเทศ โดยอยู่ระหว่างการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับ Cabalen Group กลุ่มธุรกิจอาหารยักษ์ใหญ่ของประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อส่งมอบตำนานความอร่อยสู่สากล

“บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการรีแบรนด์ ปรับภาพลักษณ์ใหม่ให้ทันสมัย สอดรับกับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ ขึ้นเป็นผู้นำร่วมขับเคลื่อนองค์กร ผ่านโปรแกรมพัฒนาบุคคลสู่ความสำเร็จ พร้อมจัดสวัสดิการพนักงานให้ทัดเทียมองค์กรชั้นนำ ชายสี่ฯ เชื่อมั่นว่าการทรานส์ฟอร์มครั้งใหญ่ผ่านกลยุทธ์หลักนี้ จะส่งเสริมและยกระดับให้บริษัทฯ ก้าวขึ้นเป็นแบรนด์แถวหน้าในธุรกิจอาหารของไทยและเติบโตได้ไร้ขีดจำกัด” นายอนุชิต กล่าวสรุป

ทั้งนี้ ช่วงหนึ่ง นายพันธ์รบ กำลา ได้เผยถึงอนาคตในการเตรียมพร้อมนำธุรกิจเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ภายใต้ 2-3 ปีข้างหน้าแบบติดตลกในงานแถลงข่าวด้วยว่า...

“ผมกลัวว่า ลูกจะฆ่ากันตายก่อน กลัวเป็นตลาดเลือด แล้วโลโก้ชายสี่มันแบ่งครึ่งกันไม่ได้ ถ้าเอาเข้าตลาดหุ้นฯ ลูกจะได้ไม่ต้องทะเลาะกัน รวมถึงต้องการระดมทุนเพื่อให้ธุรกิจเติบโตต่อไปได้แบบยั่งยืน”

‘บิทคับ’ ดำเนินการว่าจ้างที่ปรึกษาทางการเงิน เตรียมยื่นเข้าเทรดหุ้น IPO ใน SET ปี 2568

สื่อนอกเผย กระดานเทรดบิทคับ มีแผนเสนอขายหุ้น IPO ในตลาดหุ้นไทยภายในปี 2568 หลังกระแสบิทคอยน์ และตลาดคริปโตฟื้นตัวกลับมาสู่ช่วงเฟื่องฟูอีกครั้ง โดยราคาบิทคอยน์ปรับตัวพุ่งสูงขึ้นระดับ $70000 ต่อเหรียญบิทคอยน์ 

เมื่อไม่นานมานี้ นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Bitkub Capital Group กล่าวกับสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า มีแผนที่จะนำ บิทคับ ออนไลน์ ซึ่งเป็นแพล็ตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของไทย เข้าจดทะเบียนซื้อขายหุ้น IPO ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือ ตลท. ภายในปี 2568 โดยขณะนี้อยู่ในช่วงของการว่าจ้างที่ปรึกษาทางการเงิน

ขณะที่ในส่วนของงวดบัญชีผลประกอบการล่าสุด บริษัทมีกำไรประมาณ 80% โดยปี 2564 บิทคับมีรายได้ 5,510 ล้านบาท กำไร 2,545 ล้านบาท ขณะที่ปี 2565 บริษัทมีรายได้ 2,846 ล้านบาท และกำไร 341 ล้านบาท

โดยก่อนหน้านี้ได้ขายหุ้นจำนวน 9.2% ให้กับ Asphere Innovation เป็นมูลค่าประมาณ 600 ล้านบาท เท่ากับมูลค่าทั้งกิจการ 6,500 ล้านบาท (ขณะที่บริษัท Asphere หรือชื่อเดิมคือ Asiasoft หรือ AS ซึ่งประกอบธุรกิจด้านซอต์ฟแวร์และการให้บริการเกมออนไลน์ในตลาดหุ้นไทย

ทั้งนี้จากความต้องการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อเก็งกำไรเพิ่มขึ้น ควบคู่ไปกับการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาบิทคอยน์ ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 57% แล้วในในปี 2567 นี้

ในขณะที่ดัชนี CoinDesk20 ซึ่งเป็นตัวชี้วัดตลาดคริปโตในวงกว้างเพิ่มขึ้น 49% เมื่อเดือนที่แล้ว ทำให้จำนวนบัญชีที่ใช้งานในประเทศพุ่งถึงระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 บลูมเบิร์กกล่าว โดยอ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (SEC) ของประเทศไทย

อย่างไรก็ตามกระดานเทรดบิทคับ ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคม เนื่องจาก ‘ไบแนนซ์ ไทยแลนด์’ ซึ่งเป็นบริษัทแลกเปลี่ยนคริปโตที่ใหญ่ที่สุดในโลกตามปริมาณการซื้อขาย ซึ่งเป็นหนึ่งในส่วนของธุรกิจดิจิทัลครบวงจรของ ‘กัลฟ์ อินโนวา’ ได้เปิดให้บริการอย่างเป้นทางการ

ทั้งนี้หากย้อนกลับไปในปี 2565 ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ยื่นเสนอซื้อกิจการของบิทคับ ออนไลน์ ในสัดส่วน 51% มูลค่ากว่า 17,850 ล้านบาท แต่ท้ายที่สุดแล้วดีลดังกล่าวก็ถูกยกเลิกไป หลังจากที่บิทคับถูกสำนักงาน ก.ล.ต. สั่งปรับจากความผิดในการสร้างออเดอร์ปริมาณการซื้อขายปลอม และทาง SCB ประเมินว่ามูลค่าหุ้นที่จะลงทุนนั้น ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ด้วยมูลค่าที่แพงกว่าความเป็นจริงมากเกินไป 

และต่อมาทาง SCB ได้จัดตั้งศูยน์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลและยื่นขอใบอนุญาติกับทางสำนักงาน ก.ล.ต. ในชื่อบริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด (InnovestX Securities Co., Ltd. ชื่อย่อ INVX (เดิมชื่อ บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์​ จำกัด)) บริษัทภายใต้กลุ่ม SCBX ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2538 ปัจจุบันให้บริการการลงทุนทุกรูปแบบ อาทิ หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ กองทุน ตราสารหนี้ รวมถึงสินทรัพย์ดิจิทัล ผ่านผู้แนะนำการลงทุน และแพลตฟอร์ม ‘InnovestX Super App’

‘นายกฯ’ หนุน!! ผลักดันสินค้าศิลปหัตถกรรมไทย มุ่งสู่สายตานานาชาติ ช่วยกระจายรายได้ให้ ปชช.

(2 เม.ย.67) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ความสำคัญ มุ่งผลักดันอุตสาหกรรมศักยภาพสาขาศิลปะในฐานะ Soft Power ไทยสู่สายตานานาชาติ เพื่อกระตุ้นกระแสความนิยมชื่นชอบสินค้าไทย และประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของรัฐบาลที่จะเพิ่มโอกาสการสร้าง และกระจายรายได้ให้กับประชาชน ควบคู่กับการธำรงรักษาเอกลักษณ์ และพัฒนาต่อยอดศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย ให้ดำรงอยู่ยั่งยืน

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ The Support Arts and International Centre of Thailand (SACIT) พบว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยในปี 2566 เติบโตถึง 340,820 ล้านบาท โดยสินค้าศิลปหัตถกรรมที่ไทยส่งออกมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องประดับแท้ทำด้วยทอง (91,161 ล้านบาท) เครื่องประดับแท้ทำด้วยเงิน (56,060 ล้านบาท) เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน (46,850 ล้านบาท) เครื่องใช้สำหรับเดินทาง (22,982 ล้านบาท) และเสื้อผ้าสำเร็จรูปทำจากฝ้าย (17,719 ล้านบาท) และประเทศ/เขตบริหารพิเศษ ที่มีมูลค่าการส่งออกสินค้าศิลปหัตกรรมไทยมากที่สุด อันดับที่ 1 ได้แก่ สหรัฐอเมริกา (94,203 ล้านบาท) อันดับที่ 2 ฮ่องกง (26,764 ล้านบาท) อันดับที่ 3 ญี่ปุ่น (21,232 ล้านบาท) อันดับที่ 4 เยอรมนี (20,147 ล้านบาท) และอันดับที่ 5 สหราชอาณาจักร (16,357 ล้านบาท)

นายชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การจำหน่ายสินค้าศิลปหัตกรรมไทยผ่านช่องทางของ SACIT ในปี 2566 มีมูลค่าถึงกว่า 291 ล้านบาท และมีการจำหน่ายสินค้าศิลปหัตถกรรมไทย ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย และเครื่องใช้และเครื่องประดับตกแต่ง ซึ่งไม่รวมอาหาร เครื่องดื่ม สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหารและยา ทั้งในไทยและต่างประเทศทาง online และ offline ตามโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ เป็นมูลค่ารวมกว่า 1.16 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ SACIT พร้อมยกระดับสินค้าศิลปหัตกรรมไทยสู่การเติบโตในตลาดโลกอย่างยั่งยืนผ่านการจัดงาน ‘sacit Craft Power: แนวโน้มหัตถกรรมร่วมสมัย’ ที่นำเสนอความรู้และทิศทางในการต่อยอดสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยในทุกสาขาแก่ผู้ประกอบกิจการสินค้าทั่วประเทศให้สามารถมองแนวโน้มสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยในอนาคตได้อย่างชัดเจน และพัฒนาสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลกมากยิ่งขึ้น

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า รัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ประสงค์ให้ประเทศในยุโรป เป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญในการเผยแพร่ Soft Power ด้านงานศิลปะของไทย โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก ได้ร่วมสนับสนุนให้ผู้มีความสามารถด้านภาพวาดที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย นำผลงานมาจัดแสดงภายใต้ชื่อ ‘Bangkok Series’ และ ‘Muay Thai Series’ ณ Manes Gallery กรุงปราก เมื่อวันที่ 14 - 25 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งนับว่าเป็นการนำเสนอมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมไทยและอัตลักษณ์ความเป็นไทยให้กับนานาชาติผ่านการนำเสนอผลงานศิลปะ

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ยินดีที่กระแสความเป็นไทยเพิ่มมูลค่าสินค้าไทยเป็นความสำเร็จที่ทำให้ มูลค่าส่งออกสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยมีปริมาณการเจริญเติบโตสูง พร้อมขอบคุณทุกความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการสนับสนุนกระบวนการ Soft Power ไทยด้านศิลปะที่ร่วมกันสร้างสรรค์จนทำให้สามารถดึงดูดผู้บริโภคจากทั่วโลกได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมเน้นย้ำการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างสร้างสรรค์ด้วย Soft Power โดยเชื่อมั่นว่าการบูรณาการร่วมมือการทำงานจากทุกภาคอย่างเข้มแข็ง จะพัฒนาศักยภาพของประเทศไทยให้แข็งแกร่งได้ยิ่งขึ้นในเวทีโลก


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top