Thursday, 16 May 2024
Econbiz

‘OR’ นำร่องใช้รถไฟฟ้าขนาดใหญ่ขนส่งเมล็ดกาแฟดิบ ระยะทางไกล ‘เชียงใหม่-อยุธยา’ รายแรกของไทย

(21 มี.ค. 67) นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) พร้อมด้วย ดร.อารยา คงสุนทร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ไวส์ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) (WICE) และ นายชูเดช คงสุนทร กรรมการผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจกลุ่มบริษัท WICE ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) โครงการทดลองการขนส่งเมล็ดกาแฟดิบ โดยยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นรถบรรทุกขนาดใหญ่ (EV Truck) หรือ Green Logistics for Café Amazon Project ระหว่าง บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไวส์ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) โดยมี นายสุชาติ ระมาศ ผู้อำนวยการใหญ่ OR และ นายธเนศ เมฆินทรางกูร ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ WICE ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องพลังไทย 2 ชั้น M อาคาร 2 อาคาร ปตท. สำนักงานใหญ่

นายดิษทัต เปิดเผยว่า ความร่วมมือกับ WICE ในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการร่วมกันศึกษาและสร้างต้นแบบ (Prototype) ‘กรีน โลจิสติกส์’ (Green Logistics) สำหรับทดลองระบบการขนส่งสินค้าระยะไกลด้วย EV Truck เป็นเจ้าแรกของประเทศไทย เพื่อทดสอบความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยี และความเป็นไปได้ในทางธุรกิจ ซึ่งจะช่วยพัฒนาศักยภาพทางด้านเทคโนโลยีให้แก่ OR ต่อไป 

โดย OR และ WICE จะร่วมกันออกแบบ EV Truck พร้อมทดลองการขนส่ง โดยกำหนดเส้นทางการขนส่ง ‘กรีน คอฟฟี่ บีน รูท’ (Green Coffee Bean Route) เพื่อขนส่งเมล็ดกาแฟดิบจากต้นทางที่โกดังเก็บเมล็ดกาแฟของ OR อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ มายังปลายทางที่โกดังเก็บเมล็ดกาแฟที่ศูนย์ธุรกิจไลฟ์สไตล์คาเฟ่อเมซอน (OASYS) อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยใช้เครือข่ายสถานีชาร์จ EV Station PluZ ของ OR ในเส้นทาง ‘Green Coffee Bean Route’ เป็นจุดพักเพื่อชาร์จไฟของรถขนส่ง เพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้นำในการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในกิจกรรมการขนส่งสินค้า ตลอดจนช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างต้นแบบของการนำห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจสู่ความเป็น Green ทั้งระบบนิเวศของ OR และการพัฒนา Ecosystem ของกาแฟตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาเมล็ดกาแฟแบบยั่งยืน โดยก่อนหน้านี้ OR ได้เปิดจุดรับซื้อและโรงแปรรูปกาแฟคาเฟ่ อเมซอน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นจุดรับซื้อเมล็ดกาแฟกะลาอะราบิกาจากเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อรับซื้อเมล็ดกาแฟจากเกษตรกรโดยตรงในราคาที่เป็นธรรม รวมถึงได้เปิดแผนการดำเนินโครงการอุทยาน คาเฟ่ อเมซอน (Café Amazon Park) ที่จังหวัดลำปาง เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจต้นน้ำของคาเฟ่อเมซอน และเป็นการสร้างแลนด์มาร์กแห่งใหม่ ณ จังหวัดลำปาง เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืน

ดร.อารยา กล่าวว่า สำหรับความร่วมมือ กับ OR ในครั้งนี้ จะส่งเสริมแนวทางการดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG ให้สอดคล้องกับนโยบายและวิสัยทัศน์ของ WICE พร้อมทั้งสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและตั้งใจของบริษัท ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ไปพร้อมกับการดูแลด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมร่วมกัน (Green Logistics) และช่วยสนับสนุนกลยุทธ์ด้าน ESG ของ OR ในการผลักดันการใช้รถไฟฟ้าในการเดินทางและขนส่งให้เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในประเทศ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานอย่างไร้รอยต่อ และมุ่งเน้นให้การใช้ยานยนต์เชื้อเพลิงไฟฟ้า (EV) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของทุกภาคส่วน ซึ่งการให้บริการด้านยานยนต์เชื้อเพลิงไฟฟ้า (EV) เป็นหนึ่งโครงการที่ WICE ได้ริเริ่มและผลักดันมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือกับพันธมิตรและคู่ค้า เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนและพัฒนาระบบขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ ไปสู่ระบบยานยนต์เชื้อเพลิงไฟฟ้า (EV) อย่างแท้จริง

“ความร่วมมือในครั้งนี้ ยังสอดคล้องกับแนวทางการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนผ่าน OR SDG โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้าน ‘G’ หรือ ‘GREEN’ หรือการสร้างโอกาสเพื่อสังคมสะอาด โดยมุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่คุณค่าของ OR รวมทั้งเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาด เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ (Healthy Environment) และบรรลุเป้าหมายของ OR 2030 Goals หรือเป้าหมายขององค์กรในการสร้างโอกาสเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนร่วมกับสังคมชุมชน สิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับผลดำเนินการงานที่ดี” นายดิษทัต กล่าวเสริมในตอนท้าย

หักปากกาเซียน!! 'ตุ๋ย-ปุ้ย' ควงอันดับกระทรวงงบฯ น้อยสุด สวนทางผลงาน 6 เดือนเข้าตา ช่วยย้ำ!! งบต่ำแต่โต ถ้าตั้งใจ

พลันเมื่อตัวเลขงบประมาณ 2567 ของประเทศไทยออกมาแล้วปรากฏว่า สองกระทรวงภายใต้การกำกับดูแลของพรรครวมไทยสร้างชาติ (ตั้งแต่ 1 กันยายน พ.ศ. 2566) ซึ่งได้แก่ กระทรวงพลังงานและกระทรวงอุตสาหกรรม ก็กลายเป็นสองกระทรวงที่ได้รับงบประมาณ 2567 น้อยที่สุดเป็นอันดับ 1 และ 2 ตามลำดับ 

'กระทรวงพลังงาน' ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ 'รองตุ๋ย' พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีตผู้พิพากษา อดีต สส. 7 สมัย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ มีพันธกิจสำคัญ คือ...

1) จัดหาพลังงานให้เพียงพอต่อความต้องการและกำหนดโครงสร้างราคาพลังงานให้มีความเหมาะสม 

2) พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานพลังงานให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ 

3) กำกับกิจการพลังงานให้มีมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัย 

4) ส่งเสริมการผลิต การใช้พลังงานสะอาดและการอนุรักษ์พลังงานเพื่อสอดรับเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน 

และ 5) ส่งเสริมการลงทุนด้านพลังงาน และเตรียมความพร้อมรองรับโอกาสธุรกิจพลังงานในอนาคต ด้วยการบริหารงานอย่างโปร่งใส มีธรรมาภิบาล

ทว่า งบประมาณที่ได้รับการจัดสรรหนนี้ น้อยที่สุดเพียง 1,856 ล้านบาท แต่ต้องรับผิดชอบภารกิจที่สำคัญอันยิ่งใหญ่ เพราะเป็นองค์กรหลักในการกำกับดูแลธุรกิจพลังงานของประเทศซึ่งเป็นต้นทุนและปัจจัยที่มีผลต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศมากที่สุด ด้วยมูลค่าของธุรกิจพลังงานในประเทศมีมูลค่าปีละราวสองล้านล้านบาท มีหน่วยงานระดับกรมในสังกัด 6 หน่วยงาน และรัฐวิสาหกิจที่สำคัญ 2 หน่วยงาน และอีก 1 หน่วยงานที่กำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน 

ถึงกระนั้น หากไล่ทวนผลงานของกระทรวงพลังงานภายใต้ 'รองตุ๋ย' จะพบว่า การออกมาตรการแบบเข้มข้นในช่วง 6 เดือนแรก ได้สร้างความมั่นคงด้านพลังงานแก่ประเทศและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนไทยแบบทันทีทันใด ดังนี้...

1) พลังงานไฟฟ้า ได้ผลักดันการลดค่าไฟฟ้าให้ประชาชนและสามารถตรึงราคาค่าไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องไม่ให้สูงขึ้นตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ มีการเร่งรัดในการแก้ไขปัญหาราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูลและเขื่อนสิรินธรที่ยืดเยื้อมาหลายทศวรรษ 

2) น้ำมัน ทำการช่วยเหลือประชาชนผู้ใช้น้ำมันโดยใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและกลไกทางภาษีด้วยความร่วมมือจากกระทรวงการคลัง เร่งรัดในการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเพลิงยุทธศาสตร์เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานและสร้างเสถียรภาพราคาเชื้อเพลิง มีการออกประกาศให้ผู้ค้าน้ำมันแจ้งข้อมูลต้นทุนน้ำมันเพื่อป้องกันการค้ากำไรเกินควร 

3) ก๊าซ มีการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ (Pool gas) เพื่อให้ต้นทุนก๊าซธรรมชาติในภาพรวมลดลงและเพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซ ติดตามเร่งรัดการขุดเจาะและผลิตก๊าซจากอ่าวไทยเพื่อลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้า มีการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบผู้ใช้ NGV โดยเฉพาะกลุ่มรถแท็กซี่ กลุ่มรถโดยสาร และรถบรรทุกด้วยความร่วมมือจาก ปตท.

ข้ามมาทางฟาก 'กระทรวงอุตสาหกรรม' ซึ่งได้รับงบประมาณ 2567 น้อยที่สุดเป็นอันดับ 2 ราว 4.5 พันล้านบาทนั้น อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีหญิงแกร่ง 'ปุ้ย' พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล สส.นครศรีธรรมราช เขต 10 ผู้เป็นรัฐมนตรีว่าการสตรีคนที่ 2 ของกระทรวงแห่งนี้ 

จะว่าไปบทบาทหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรมไทยที่ผ่านมาส่วนใหญ่ อาจจะเทไปในเชิงรับเสียมากกว่าเชิงรุก ทั้งๆ ที่เป็นองค์กรภาครัฐหลักในกำกับดูและจัดการอุตสาหกรรมของประเทศทั้งระบบ มีหน่วยราชการระดับกรมในสังกัด 8 หน่วย 2 รัฐวิสาหกิจ 12 สถาบันเครือข่าย และ 1 หน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีฯ ซึ่งหน่วยงานทั้งหมดกว่า 20 หน่วยงานนี้ถือเป็นอวัยวะสำคัญในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมที่เป็นแกนหลักของความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศด้วย  

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาผลงานของ 'รมว.ปุ้ย' ในช่วง 6 เดือนที่ผ่าน ก็ทำให้ชื่อของกระทรวงอุตสาหกรรมภายใต้ 'รมว.ปุ้ย' ไม่น้อยหน้ากระทรวงพลังงาน เช่นกัน อาทิ...

1) ให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ดำเนินการกับสินค้านำเข้าราคาถูกและด้อยคุณภาพเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค 

2) ติดตามเร่งรัดผู้ประกอบการในประเทศให้เพิ่มการผลิตแร่ 'โปแตช' วัตถุดิบสำคัญในการผลิตปุ๋ย เพื่อแก้ไขปัญหาปุ๋ยแพงของพี่น้องเกษตรกร 

3) ส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องทั้งนักลงทุนรายใหม่และผู้ประกอบการรายเดิมซึ่งต้องปรับตัวจากการผลิตรถสันดาป 

4) ยกระดับอุตสาหกรรมฮาลาลด้วยมาตรการต่าง ๆ เพื่อยกระดับให้เกิดนวัตกรรมและความหลากหลาย เพิ่มคุณภาพ มาตรฐาน และปริมาณการผลิต 

5) สนับสนุน Green Productivity ทั้งการจัดหาไฟฟ้าสีเขียวด้วยกระบวนการรับรองอย่างมีมาตรฐานและมีปริมาณเพียงพอเพื่อรองรับความต้องการพลังงานสะอาดของภาคอุตสาหกรรม, แก้ปัญหาเรื้อรังในด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นของอุตสาหกรรมน้ำตาล, ส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ให้ตรงกับความต้องการของผู้คนในยุคปัจจุบันเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยไปสู่ยุคใหม่

สนับสนุน SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้นให้ได้รับวงเงินสินเชื่อธุรกิจเพียงพอในการต่อยอดธุรกิจ เป็นกลไกหมุนเวียนรายได้และกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนทั่วประเทศ, ส่งเสริมการสร้างต้นแบบ Smart Farmer สร้างรายได้ ลดค่าใช้จ่ายด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมพลังงาน, เริ่มบังคับใช้มาตรฐานยูโร 5 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 สำหรับรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ช่วยลดมลพิษจากฝุ่น PM2.5 และกำหนดยุทธศาสตร์ของกระทรวงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับโครงการแลนด์บริดจ์เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่

เมื่อเทียบงบประมาณที่ทั้ง 2 กระทรวงได้รับเป็น % กับภาระงานที่ต้องรับผิดชอบแล้ว จะเห็นได้ว่าทั้งสองกระทรวงได้รับงบประมาณน้อยมาก ๆ ทั้ง ๆ ที่ต้องกำกับดูแล รับผิดชอบทำเรื่องราวต่าง ๆ เยอะแยะมากมาย 

โดยกระทรวงพลังงานได้รับงบประมาณเพียง 0.1415% ของมูลค่าธุรกิจพลังงานในประเทศโดยรวม และกระทรวงอุตสาหกรรมยิ่งได้รับงบประมาณน้อยกว่าเพียง 0.045% ของมูลค่าการส่งออกโดยรวมของประเทศเท่านั้น 

จากผลลัพธ์ที่พูดได้ว่า 'สอบผ่าน' ของทั้งสองกระทรวงนี้ สะท้อนให้เห็นว่า คนจากพรรครวมไทยสร้างชาติ ตลอดจนคณะทำงาน และข้าราชการของทั้ง 2 กระทรวง ออกแววสานต่อสายเลือดลุงตู่ที่อยู่และทำเพื่อประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศชาติและประชาชนได้ชัดเจนพอดู 

ยิ่งได้เห็นตัวเลขงบประมาณอันน้อยนิดที่ได้รับ แต่ก็ไม่ได้มีการปรับท่าทีใด แถมยังพร้อมลุยงานตามเป้าหมายต่อทันที ก็ยิ่งดูเป็นนิมิตหมายอันดีของชาติ ที่มีคนกล้าเปลี่ยนแนวคิดและความเชื่อที่มีมาอย่างยาวนานในระบบราชการและการเมืองที่ว่า...

“งานจะสำเร็จได้ต้องมีงบประมาณมากพอเท่านั้น” มาเป็น “หากมี ‘ความตั้งใจ’ แล้ว แม้ ‘งบประมาณจะน้อย’ แต่งานก็สามารถสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีได้”

'กฟผ.' ชี้!! ร้อนปีนี้บิลค่าไฟฟ้าอาจแพงขึ้น แม้รัฐตรึง 4.18 บาทต่อหน่วย หลังหน้าร้อนมาเร็วกว่าเดิม ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่ม อุปกรณ์ทำงานหนัก

(22 มี.ค. 67) นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ กฟผ.คนใหม่ กล่าวว่า ปีนี้หน้าร้อนมาเร็วขึ้น ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว จึงมีแนวโน้มว่าหน้าร้อนนี้จะมีปริมาณการใช้ไฟพีกกว่าปีที่แล้ว แต่ยืนยันว่าค่าไฟฟ้าต่อหน่วยยังเท่าเดิม ตามที่รัฐบาลตรึงไว้ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย แต่การที่บิลค่าไฟฟ้าแพงขึ้นในช่วงหน้าร้อน เพราะเครื่องใช้ไฟฟ้าทำงานหนักขึ้น

ส่วนค่าไฟฟ้าเดือน พ.ค. - ส.ค. 2567 ที่มี 3 แนวทาง โดยค่าไฟฟ้าต่ำสุดอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย และสูงสุดอยู่ที่  5.44 บาทต่อหน่วย ขณะนี้อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนนั้น ผู้ว่าการ กฟผ.กล่าวว่า หากค่าไฟฟ้างวดหน้ายังเก็บในอัตราเดิม คือ 4.18 บาทต่อหน่วย ก็ต้องแบ่งจ่ายคืนหนี้คงค้างให้ กฟผ. 7 งวด งวดละ 14,000 ล้านบาท รวมยอดหนี้คงค้าง 99,689 ล้านบาท ซึ่งหากชำระหนี้คืน กฟผ.ได้หมดภายใน 7 งวดจริง  ก็ไม่มีปัญหาต่อสภาพคล่องของ กฟผ. แต่สิ่งที่ต้องการคือความแน่นอน และความมั่นใจว่าการชำระหนี้จะเป็นไปตามเงื่อนไข ไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เพราะส่งผลกระทบต่อการวางแผนการดำเนินงานของ กฟผ. ความน่าเชื่อถือ และเครดิตเรทติ้งของกฟผ.ด้วย 

“กฟผ. เป็นกลไกหนึ่งของรัฐซึ่งพร้อมสนับสนุนในการดูแลค่าไฟ ซึ่งเป็นต้นทุนของทุกอุตสาหกรรม และเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ โดย กฟผ. สนับสนุนการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ เช่น ก๊าซ ลิกไนท์ ถ่านหิน มาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เพื่อให้ต้นทุนค่าไฟลดลง รวมถึงสนับสนุนนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำของ สปป.ลาว เพราะเป็นพลังงานสีเขียวและราคาถูก เพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกกลุ่มได้รับความเป็นธรรม และสามารถเข้าถึงราคาค่าไฟได้” นายเทพรัตน์ กล่าว

นอกจากนี้ นายเทพรัตน์ ยังเปิดตัวต่อสื่อมวลชนอย่างเป็นทางการครั้งแรก ในฐานะ ผู้ว่าการ กฟผ.คนใหม่ พร้อมชู 5 ภารกิจสำคัญเร่งด่วน ได้แก่

1. รักษาความมั่นคงทางด้านไฟฟ้า เนื่องจากไฟฟ้าเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ มีส่วนในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ 

2. เพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคา ทำให้ราคาไฟฟ้ามีเสถียรภาพ และอยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยนำทรัพยากรที่มีอยู่ เช่น ก๊าซ ลิกไนท์ ถ่านหิน มาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด รวมถึงสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการปรับปรุงโครงสร้างค่าไฟฟ้า 

3. รักษาสมดุลสิ่งแวดล้อม
4. ตอบสนองนโยบายรัฐบาล
5. นำส่งรายได้เข้ารัฐ

เปิด 3 นายทุนระดับบิ๊ก ชิงไลเซนส์ 'เวอร์ชวลแบงก์' ด้าน ธปท.อุบ!! ใครร่อนใบสมัครแล้ว เผยรอลุ้นอีก 6 เดือน

(22 มี.ค.67) ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดให้ยื่นผู้สนใจสมัครประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแบงก์) โดยเปิดให้ยื่นวันแรก (20 มี.ค.)

ทั้งนี้ แหล่งข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า จากที่ ธปท.ได้เปิดให้ผู้สนใจยื่นใบสมัครเข้าคัดเลือกเปิดเวอร์ชวลแบงก์นั้น แต่ ธปท.เพิ่งจัดเวทีให้ผู้สนใจสมัครขอใบอนุญาตดังกล่าว เข้ารับฟังเกณฑ์ต่าง ๆ ไปเมื่อวันที่ 19 มี.ค.ที่ผ่านมา ดังนั้น แม้จะเริ่มเปิดให้ส่งใบสมัครวันแรก (20 มี.ค.) และตามระยะเวลาได้กำหนดปิดรับสมัครวันที่ 19 ก.ย.67 นับเป็นเวลา 6 เดือน ขณะนี้ยังเปิดเผยไม่ได้ว่ามีผู้สมัครจำนวนเท่าไหร่ และมีรายใดที่ได้ยื่นใบสมัครแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากกระทรวงการคลังออกประกาศเรื่องหลักเกณฑ์ฯ การขอและการออกใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารไร้สาขา (เวอร์ชวลแบงก์) ซึ่งมีกลุ่มทุนที่แสดงความสนใจจัดตั้งเวอร์ชวลแบงก์แล้ว 3 ราย ดังนี้

1.นายสารัชถ์ รัตนาวะดี กรรมการ รองประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สำหรับการดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแบงก์) โดย กัลฟ์ จะร่วมมือกับ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จะยื่นใบอนุญาตภายในปี 2567 ด้วยเงินลงทุนเบื้องต้น 5,000 ล้านบาท เนื่องจากกัลฟ์มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ส่วนเอไอเอส ถือมีความพร้อมความเข้าใจในสายธุรกิจดีจากลูกค้า 45 ล้านเลขหมาย ขณะที่กรุงไทยมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจมาก

2.นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบีเอกซ์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภายในสัปดาห์นี้บริษัทจะประกาศพันธมิตรเพิ่มเติมอีก 1 ราย ซึ่งเป็นบริษัทเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีจากประเทศจีนในการยื่นขอใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารไร้สาขา (เวอร์ชวลแบงก์) หลังจากก่อนหน้านี้ได้ลงนามความร่วมมือกับกาเกาแบงก์ (KakaoBank) ผู้นำด้านธนาคารดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเกาหลีใต้

และ 3.นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (กลุ่มซีพี) กล่าวว่า การขอจัดตั้งเวอร์ชวลแบงก์ ปัจจุบันบริษัทอยู่ในขั้นตอนของการเตรียมความพร้อม ส่วนที่จะจับมือกับพันธมิตรรายอื่นเพื่อจัดตั้งเวอร์ชวลแบงก์หรือไม่ ณ วันนี้ยังไม่มี แต่ก็ไม่ได้ปิดกั้น แต่บริษัทในเครือมีความพร้อมอยู่แล้ว และมีพาร์ตเนอร์ชิปที่แข็งแกร่ง คือทรูมันนี่ รวมถึงแอนท์ กรุ๊ป เป็นต้น

ทั้งนี้ หลังจากปิดรับสมัครแล้ว ธปท.ตรวจสอบเอกสารและพิจารณาคัดเลือกแล้วเสร็จจะส่งรายชื่อให้กระทรวงการคลังพิจารณาอีกครั้ง และกระทรวงการคลังจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกในเดือนมิถุนายน 2568 จากนั้นเวอร์ชวลแบงก์จะเปิดให้บริการได้ในปี 2569

'รมว.ปุ้ย' จี้ ‘กรมโรงงาน’ แก้ปมใบ ‘ร.ง.4’ ค้างกว่า 200 ฉบับ ชี้!! หากล่าช้า กระทบต่อภาคการลงทุน-เศรษฐกิจไทย

(22 มี.ค. 67) แหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาคเอกชนหลายแห่งได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก จากปัญหาในการขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) ทั้งในส่วนของประกอบกิจการใหม่ และการขออนุญาตขยายโรงงานล่าช้า

ทั้งนี้ เบื้องต้นรับทราบข้อมูลมาว่า การขอใบอนุญาตทั้ง 2 ประเภทของกรมโรงงานฯ ค้างอยู่ไม่ต่ำกว่า 200 ราย สร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนอย่างมาก ทั้งที่ประเทศไทยตอนนี้ต้องการมูลค่าการลงทุน เพื่อเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ แต่กลับประสบปัญหาเรื่องการขอใบอนุญาตฯ 

อย่างไรก็ดี ต้องการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) แก้ปัญหาเรื่องดังกล่าวนี้อย่างเร่งด่วน เพราะที่ผ่านมาปัญหาการขอใบอนุญาตร.ง.4 เป็นประเด็นร้อนที่นักลงทุนจากทั่วโลกที่เข้ามาลงทุนในไทยร้องเรียนอย่างหนักว่า ขั้นตอนยุ่งยาก มีความล่าช้าอย่างมาก และถูกตราหน้าว่าเป็นปัจจัยถ่วงการลงทุน

“ก่อนหน้านี้ปัญหาใบร.ง.4 เริ่มคลี่คลายลงแล้ว แต่ปัญหานี้เริ่มกลับมาตั้งแต่ปีที่แล้ว และเริ่มหนักขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งที่ก่อนหน้านี้เคยแก้ปัญหากันไปเยอะแล้ว ตอนนี้ไม่เข้าใจว่า ทำไมปัญหากลับมาอีก ทั้งที่รัฐบาลก็ประกาศเรื่องอำนวยความสะดวกนักลงทุน แต่ใบร.ง.4 กลับเป็นตัวถ่วงอย่างหนัก ต้องการให้ กรอ. เร่งแก้ปัญหาโดยด่วน บางรายเอกสารครบถ้วน รอแค่เซ็นใบอนุญาตจากผู้บริหาร แต่ต้องรอมาเป็นปี โดยทุกอย่างดูติดขัดล่าช้าไปหมด ไม่รู้ว่า ติดปัญหาอะไร"

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ต้องการให้เร่งแก้ปัญหา เพราะไม่ต้องการให้ถูกมองเรื่องต้องจ่ายใต้โต๊ะหรือไม่ ถึงจะได้ใบอนุญาตเร็วขึ้น เพราะตอนนี้ยังมองในแง่ดีว่า ไม่น่าจะเป็นเหตุผลนั้น แต่ไม่รู้ว่า ติดอะไร ถ้าต่อไปยังล่าช้าอีก คงต้องยอมรับว่า อดไม่ได้ที่จะต้องมองแบบนั้น

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ได้รับการร้องเรียนเรื่องการขอใบอนุญาตลงทุนมาเช่นกัน โดยตนได้เรียกประชุมในวันที่ 6 มี.ค. ที่ผ่านมา และสั่งการให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และอธิบดี กรอ. รวบรวมข้อมูลการขออนุญาตที่ค้างอยู่ในระบบทั้งหมดว่าอยู่ในระบบนานเท่าไร สาเหตุของการตกค้าง และเรื่องดังกล่าวอยู่ที่ใด

โดยต้องกำหนดแนวทางในการจัดการคำขออนุญาต มาแจ้งตนในการประชุมวันที่ 26 มี.ค. ที่จะถึงนี้  เนื่องจากขัดแย้งกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการอำนวยความสะดวกในการลงทุนให้กับนักลงทุนทุกรายที่ทำทุกอย่างถูกต้องแล้ว  

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นได้เข้าไปตรวจสอบพบว่า ยังตกค้างอยู่ในกระทรวงอุตสาหกรรมกว่าร้อยเรื่อง ไม่สามารถออกให้แก่ภาคเอกชนได้ ซึ่งอาจเกิดจากเอกสารประกอบการพิจารณาไม่ครบถ้วน การรอข้อมูลจากหน่วยงานภายนอก เช่น การขออนุญาตโรงไฟฟ้า หรือโรงแปรรูปไม้ หรืออาจเกิดจากการทำงานที่เป็นการตั้งรับมากกว่าเชิงรุกของเจ้าหน้าที่ 

สำหรับในลำดับแรกจะต้องเร่งเร่งเคลียร์ใบอนุญาตที่ค้างในระบบของกรอ. ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน หากผู้ประกอบการลงทุนรายใดเอกสารไม่ครบ ก็ต้องเร่งแจ้งว่าขาดอะไร รายใดเอกสารถูกต้องครบแล้ว ก็ต้องเร่งให้ใบอนุญาตออกไป

“ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ ต้องผ่านหลายขั้นตอน หลายฝ่าย หลายโต๊ะ หลายคน ทำให้ขาดประสิทธิภาพ เรื่องนี้ตนยอมไม่ได้ ต้องเร่งเคลียร์ เร่งอนุญาตให้แก่นักลงทุนและผู้ประกอบการโดยเร็ว ต่อไปต้องเร่งปรับปรุงกระบวนการพิจารณาออกใบอนุญาตให้เป็นวัน สต็อป เซอร์วิสอย่างแท้จริง เพื่อลดระยะเวลาการออกใบอนุญาต และให้ทุกคำขออยู่ภายในกรอบเวลาของคู่มือการให้บริการประชาชน”

‘WHA Group’ ปลื้ม!! กระแสตอบรับยอดจองหุ้นกู้ล้นเกินเป้ากว่า 3 เท่า ตอกย้ำ!! การเป็นผู้นำในด้าน ‘โลจิสฯ-นิคมอุตฯ-สาธารณูปโภค-พลังงาน’

(22 มี.ค.67) บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น หรือ WHA Group เสิร์ฟข่าวดีอย่างต่อเนื่อง หลังจากสร้างออลไทม์ไฮสูงสุด 2 ปีติดต่อกันเป็นประวัติการณ์สำหรับผลประกอบการปี 2565 และปี 2566 และล่าสุด WHA Group ได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยมจากนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ในการออกหุ้นกู้ ครั้งที่ 1/2567 มูลค่าเสนอขาย 5,000 ล้านบาท + Greenshoe 2,000 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 7,000 ล้านบาท ตอกย้ำถึงความสำเร็จจากความมุ่งมั่นของการเป็นผู้นำใน 4 กลุ่มธุรกิจ ทั้งโลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรม สาธารณูปโภคและพลังงาน ตลอดจนดิจิทัล ทั้งในประเทศไทยและเวียดนาม อีกทั้งยังสะท้อนความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อบริษัทฯ โครงสร้างทางการเงินที่มั่นคง และแผนการขยายธุรกิจที่ชัดเจนและยั่งยืน

ด้านประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม WHA Group ‘จรีพร จารุกรสกุล’ มั่นใจสามารถบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจที่วางไว้ สำหรับปี 2567 และเดินหน้าพัฒนาโซลูชันทางธุรกิจและอุตสาหกรรมเพื่อเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ดึงดูดการลงทุนใหม่ๆ และร่วมสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้ประเทศไทย โดยมีภารกิจสำคัญคือการบรรลุเป้าหมายที่จะเป็น Technology Company อย่างเต็มตัว ด้วยกลยุทธ์ AI Transformation มุ่งสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัล ยกระดับการดำเนินงานด้วยข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ เพื่อคงความเป็นผู้นำในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และต่อยอดโครงการ Digital Transformation ที่มีอยู่กว่า 38 โครงการ 

ทั้งนี้ 4 กลยุทธ์สำคัญของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ในปี 2567 ประกอบด้วย Extend Leadership เร่งขยายธุรกิจต่อเนื่องทั้งในประเทศและตลาดภูมิภาค Embrace Innovation and Technology นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ๆ ที่เป็น New S-curve ให้กับองค์กร Enhance the Prominence on Green and Sustainability เพื่อบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ในปี 2593 (Net-Zero 2050) และ Build High-Performance Organization ด้วยการพัฒนายกระดับด้านเทคโนโลยีดิจิทัลให้เป็นองค์กรสมรรถนะสูง

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA Group เปิดเผยว่า นักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ให้การตอบรับอย่างดีเยี่ยมด้วยยอดจองล้นเกินเป้ากว่า 3 เท่า สำหรับการเสนอขายหุ้นกู้ ครั้งที่ 1/2567 ของบริษัทฯ มูลค่า 5,000 ล้านบาท + Greenshoe 2,000 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 7,000 ล้านบาท หลังจากที่เปิดเสนอขายระหว่างวันที่ 18-20 มีนาคม 2567 ผ่านผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ 3 ราย ประกอบด้วย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารยูโอบี โดยการเสนอขายหุ้นกู้ดังกล่าวได้แบ่งเป็น 3 ชุด โดยหุ้นกู้ชุดที่ 1 จำนวน 2,500 ล้านบาท มีอายุ 3 ปี 6 เดือน หุ้นกู้ชุดที่ 2 จำนวน 2,000 ล้านบาท อายุ 5 ปี และหุ้นกู้ชุดที่ 3 (หุ้นกู้ที่ไม่มีการจ่ายดอกเบี้ย/Zero Coupon Bond) จำนวน 2,500 ล้านบาท อายุ 2 ปี 7 เดือน 30 วัน โดยบริษัทฯ มุ่งมั่นในการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการใส่ใจสิ่งแวดล้อม สังคม และประเทศโดยรวม สำหรับเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ในครั้งนี้ บริษัทฯ จะนำเงินไปชำระคืนหนี้เดิม และ/หรือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน/เงินลงทุน/ค่าใช้จ่ายลงทุน เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของบริษัทฯ

ทั้งนี้ หุ้นกู้ของบริษัทฯ ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ซึ่งได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ A- แนวโน้ม ‘คงที่’ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2567 โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะในการแข่งขันที่แข็งแกร่งของบริษัทฯ จากผลงานที่ได้รับการยอมรับในธุรกิจพัฒนาคลังสินค้า/โรงงานตามความต้องการของลูกค้า (Built-to-suit Warehouse/ Factory) และธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรม นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงฐานรายได้ประจำจำนวนมากที่บริษัทได้รับจากธุรกิจสินทรัพย์ให้เช่า ตลอดจนธุรกิจให้บริการสาธารณูปโภค และเงินปันผลจากการลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้า ตลอดจนความยืดหยุ่นทางการเงินจากการขายสินทรัพย์เข้าทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) อีกด้วย

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล กล่าวเพิ่มเติมว่า จากผลการดำเนินงานในปี 2566 ที่ทุบสถิติใหม่สร้างออลไทม์ไฮสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกปี ซึ่งตอกย้ำถึงความสำเร็จจากความมุ่งมั่นของการเป็นผู้นำใน 4 กลุ่มธุรกิจ ทั้งโลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรม สาธารณูปโภคและพลังงาน ตลอดจนดิจิทัล ทั้งในประเทศไทยและเวียดนาม บริษัทฯ วางกลยุทธ์ปี 2567 เพื่อมุ่งต่อยอดพันธกิจ ‘We Shape the Future’ เสริมศักยภาพทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจให้แข็งแกร่งครบวงจร

ธุรกิจโลจิสติกส์  มุ่งเน้นการสร้างพันธมิตรเชิงกลยุทธ์และขยายธุรกิจในการพัฒนาโครงการ Built-to-Suit และคลังสินค้า/โรงงานคุณภาพสูงทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยมุ่งเน้นที่อุตสาหกรรมที่มีการเติบโตสูง เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า อีคอมเมอร์ซ และอุตสาหกรรมที่เป็น New S-curve นอกจากนี้ยังเสริมศักยภาพด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี และการส่งเสริมแนวปฏิบัติเพื่อความยั่งยืน โดยมีโครงการ Green Logistics ซึ่งจะมีการให้บริการยานยนต์ไฟฟ้า และพัฒนาแอปพลิเคชันที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการยานยนต์ไฟฟ้ารวมถึงแบตเตอรี่เพื่อสนับสนุนและเร่งการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในภาคขนส่งของประเทศ และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยการลดต้นทุนโลจิสติกส์ในระยะยาว รวมถึงการคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติไปพร้อมๆ กัน 

สำหรับ Office Solutions บริษัทฯ ยังมุ่งมั่นพัฒนาโครงการอาคารสำนักงานที่ทันสมัย ปัจจุบันมีโครงการอาคารสำนักงานให้เช่า 5 แห่ง พื้นที่รวมมากกว่า 120,000 ตารางเมตร และเริ่มขยายสู่โครงการพาณิชยกรรมรูปแบบใหม่ๆ

ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม มุ่งรักษาความเป็นผู้นำในประเทศไทยและขยายธุรกิจในเวียดนามให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อรองรับการย้ายฐานทุนและฐานการผลิตที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และพร้อมเดินหน้าพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์อัจฉริยะ (Smart ECO Industrial Estate) โดยขยายขีดความสามารถให้ครอบคลุม 6 องค์ประกอบสำคัญ คือ Smart Services, Smart Mobility, Smart Communication, Smart Power, Smart Water และ Smart Security ภายใต้การบริหารจัดการโดยศูนย์ควบคุมกลาง Unified Operation Center (UOC) และต่อยอดการเป็น Total Solutions Partner ให้กับลูกค้าด้วยการให้บริการแบบครบวงจร  

ธุรกิจสาธารณูปโภค ยังคงมุ่งเน้นธุรกิจผลิตภัณฑ์น้ำมูลค่าเพิ่ม และขยายการให้บริการน้ำทุกประเภทในโครงการนิคมใหม่ๆ ของ WHA และนอกนิคมของ WHA ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงเดินหน้าพัฒนา Smart Water Platform และมองหาโอกาสขยายธุรกิจใหม่ๆ อาทิ โซลูชันสิ่งแวดล้อม และสาธารณูปโภคสำหรับอุตสาหกรรมอื่น มุ่งพัฒนาการให้บริการใหม่ๆ ที่ครบวงจร

ธุรกิจไฟฟ้า บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าขยายการลงทุนในการพัฒนานวัตกรรมและโซลูชันด้านพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียน พร้อมทั้งการหาโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจเพื่อสร้าง New S-Curve อาทิ สถานีชาร์จ EV รองรับธุรกิจ Green Logistics ระบบกักเก็บพลังงานแบบแบตเตอรี่ (BESS : Battery Energy Storage Systems) การซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) และเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage : CCUS)

ธุรกิจดิจิทัล เดินหน้ายกระดับการพัฒนาองค์กรและบุคลากรของบริษัทฯ มุ่งสู่การเป็น Technology Company ในปี 2567 โดยเดินหน้าในการนำเทคโนโลยีมาขับเคลื่อนองค์กร ภายใต้ภารกิจ ‘Mission To The Sun’ ผ่าน 9 โครงการในการทรานสฟอร์มธุรกิจสู่ดิจิทัล อาทิ โครงการ Green Logistics ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาแพลตฟอร์มที่รวมบริการต่างๆ (Geen Mobility Platform) สำหรับลูกค้ายานยนต์ไฟฟ้าภาคธุรกิจ อาทิ การบริหารยานพาหนะ (Fleet Management) การวางแผนเส้นทาง (Route Optimization) และการเชื่อมโยงโครงข่ายสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า (EV Roaming) เป็นต้น และโครงการ Digital Health Tech ได้พัฒนาแอปพลิเคชัน WHAbit ที่ช่วยให้สามารถจัดการสุขภาพแบบองค์รวม ซึ่งทางบริษัทฯ มีแผนเริ่มต้นการให้บริการแอปพลิเคชันแก่ลูกค้าในอุตสาหกรรมในช่วงครึ่งแรกของปี

พร้อมกันนี้ บริษัทฯ ยังได้ตั้งเป้าดำเนินธุรกิจตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างสมบูรณ์ภายในปี 2593 ผ่านการดำเนินงานภายใต้ 3 หลักการ ได้แก่ Design & Resource, Green Products และ Operation Excellence เพื่อส่งเสริมการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดในระบบนิเวศของบริษัทฯ

นอกจากนี้ บริษัทฯ เตรียมแผนการขายทรัพย์สินของบริษัทฯ เข้ากองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าดับบลิวเอชเอ พรีเมี่ยม โกรท (กองทรัสต์ WHART) และกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล (กองทรัสต์ WHAIR) ภายในไตรมาส 4/2567 ซึ่งคาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้ตามแผนและเป้าหมายที่วางไว้

สุดท้ายนี้ ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ยังคงมุ่งมั่นในการพัฒนาและยกระดับศักยภาพในทุกด้านเพื่อการเติบโตของทุกกลุ่มธุรกิจอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน สอดคล้องกับพันธกิจ ‘WHA: WE SHAPE THE FUTURE’ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างอนาคตที่มั่นคงและยั่งยืนให้กับผู้คน สังคม และประเทศไทย

เปิดใจ 'วิชัย ทองแตง' ลั่น!! ขอใช้ทั้งชีวิตจากนี้ตามรอย 'ศาสตร์พระราชา' พร้อมผุด 'หยุดเผา-เรารับซื้อ' แก้โลกเดือด แถมช่วยเกษตรกรมีรายได้ยั่งยืน

รายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ คุณวิชัย ทองแตง ทนายคนดังสู่มหาเศรษฐีของไทย ที่ให้ความสำคัญกับปัญหาโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในปัจจุบัน ในหัวข้อ 'บุกตลาดคาร์บอนเครดิต แก้ปัญหาโลกเดือด'

คุณวิชัย กล่าวว่า ในเรื่องสิ่งแวดล้อมจำเป็นต้องกระตุ้นเตือนในทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเดิมครอบครัวของตนเป็นครอบครัวที่ปลูกฝังเรื่องรักษาสิ่งแวดล้อมมายาวนาน โดยหลักง่ายๆ ที่วิชัยใช้สอนลูกหลาน คือ 4R ได้แก่ Rethink, Recycle, Reuse และ Reduce 

- Rethink ต้องคิดใหม่ว่าโลกใบนี้ห้อมล้อมเรา เราต้องอยู่กับโลกใบนี้ให้ได้ 
- Recycle การนำเอาวัสดุสิ้นเปลืองที่ใช้งานแล้วมา 'แปรรูป' กลับเอามาใช้ใหม่ได้ 
- Reuse ง่ายกว่าเรื่องใดๆ เพียงแค่นำมาใช้ซ้ำอีกครั้งโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการอะไร 
- ส่วน Reduce พยายามใช้ทรัพยากรให้น้อยหรือลดการใช้ เมื่อมาถึงเวลานี้ไม่ใช่เรื่องโลกร้อนธรรมดาแล้วแต่เป็นโลกเดือด

เมื่อถามว่า อะไรเป็นแรงผลักดันทำให้คุณวิชัยสนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อม? คุณวิชัยตอบว่า "ผมจะไม่เพิกเฉยกับเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมนี้ ปัจจุบันครอบครัวเราได้ตั้งมูลนิธิหนึ่งน้ำใจขึ้นมา เพื่อช่วยเหลือเด็กผู้ด้อยโอกาสตามชายแดน โดยปัจจุบันได้สร้างโรงเรียน 19 แห่ง ซึ่งล้วนเดินทางยากลำบากมาก 

"ขณะเดียวกัน ในช่วงตลอดระยะเวลา 19 ปี ที่ทีมงานของเราได้ขึ้นลงไปสำรวจในพื้นที่ต่างๆ อย่างต่อเนื่องนั้น ก็ทำให้ได้รับรู้ปัญหาอื่นที่ควบคู่ ผ่านความรู้สึกของชาวบ้านที่พูดถึงมหันตภัยสิ่งแวดล้อมของโลกใบนี้ ซึ่งเราก็ช่วยเท่าที่ช่วยได้ แต่พอจังหวัดเชียงใหม่เกิดปัญหามีค่าฝุ่น PM 2.5 ขึ้นอันดับหนึ่งของโลก ผมรับไม่ได้ เลยพูดคุยถึงแนวคิด 'โครงการหยุดเผา เรารับซื้อ' ซึ่งโครงการนี้เกิดขึ้นเนื่องจากมองเห็นว่าอะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ชาวบ้านเผาป่า เราก็เลยคิดว่าทำอย่างไรให้ชาวบ้านหยุดเผา"

คุณวิชัย เผยว่า "วิธีที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหานี้ คือ แปลงเป็นเงิน เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้นไปในตัว โดยนำสิ่งที่จะเผา เช่น วัสดุทางการเกษตรทั้งต้นทั้งซังมาขายให้กับเรา ด้วยการให้นักธุรกิจในพื้นที่รวบรวมจากชาวบ้านแล้วส่งมาที่โรงงาน จากนั้นทางโรงงานก็จะแปรรูปเป็นชีวมวลอัดเม็ด (Biomass Pallets) ส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น"

คุณวิชัย มองว่า ตรงนี้ถือเป็นการสร้างวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยมองไปที่ตลาดต่างประเทศ ซึ่งมีตลาดขนาดใหญ่และมีความต้องการสูงในเรื่องนี้ เช่น ประเทศญี่ปุ่นประเทศเดียวก็มีความต้องการ 10 ล้านตันต่อปีแล้ว และต้องการเซ็นสัญญายาวล่วงหน้า 20 ปี 

"หัวใจของธุรกิจนี้คือ ต้องมีวัสดุเหลือใช้มากพอเข้ามาป้อนโรงงาน จึงอยากให้นักธุรกิจในท้องถิ่นได้มีส่วนช่วยในการรวบรวมเศษวัสดุมาให้เรา ส่วนความคืบหน้าของโครงการฯ ตอนนี้เรามีหนึ่งโรงงานที่ อำเภอจอมทอง ส่วนโรงงานที่สองน่าจะเกิดขึ้นที่ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่"

คุณวิชัย เล่าอีกว่า "รู้สึกเสียดายที่โครงการนี้เกิดขึ้นได้ช้า เพราะหลักๆ เราใช้โมเดลที่ไม่ได้พึ่งพางบประมาณของรัฐบาลเลย โดยระดมทุนสร้างโรงงานมูลค่า 300 ล้านบาท รับซื้อแบบไม่จำกัด ซึ่งการรับซื้อก็ช่วยสร้างความยั่งยืนในระดับหนึ่ง แต่เราต้องเติมความยั่งยืนให้กับชาวบ้านอีกว่า เงินของชาวบ้านจะสามารถเพิ่มพูนงอกเงยขึ้นได้อีกอย่างไร...

"อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ผมได้คุยกับทาง กฟผ. แล้ว ถ้าเราสามารถสร้างโรงงานพร้อมกันได้ 10 แห่ง ภายในปี พ.ศ. 2568 ปัญหาเรื่อง PM 2.5 ก็น่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งนอกจากทางภาคเหนือแล้ว ตอนนี้เรามีการขยายไปทางภาคใต้ด้วย เช่น การพัฒนาสนามกอล์ฟรูปแบบ Carbon Neutral ที่จังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นสนามกอล์ฟ Carbon Neutral อันดับที่ 2 ของเอเชียรองจากประเทศสิงคโปร์ และทีมงานยังได้ศึกษาต้นปาล์มด้วยว่าสามารถนำมาทำ Pallets ได้ไหมสรุปว่าสามารถทำได้ก็จะขยายความร่วมมือและต่อยอดต่อไป"

เมื่อถามถึงภาพรวมของตลาดคาร์บอนเครดิตในไทย? คุณวิชัยกล่าวว่า "องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการเดินหน้าเป็นอย่างดี และมีการสร้างแพลตฟอร์มซื้อขายตลาดคาร์บอนเครดิตขึ้นเช่นกัน ผมได้เจอนักธุรกิจสิงคโปร์กลุ่มหนึ่ง ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากกองทุน 'เทมาเส็ก' หรือกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของสิงคโปร์ โดยกำลังทำแพลตฟอร์มด้านคาร์บอนเครดิตระดับเอเชีย จึงอยากขอให้ไทยมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มนี้ ซึ่งเขาก็ตอบรับและเข้ามาประชุมแล้ว เรียกว่ามีโอกาสสูงที่จะได้ร่วมมือกัน เพราะทางสิงคโปร์เองก็ต้องการคาร์บอนเครดิตอีกมาก ถือเป็นโอกาสของประเทศไทย"

เมื่อถามถึงทิศทางการเติบโตคาร์บอนเครดิตในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป? คุณวิชัยกล่าวว่า "ผมมองเห็นการเติบโต เราสามารถแปลงวิกฤตเป็นโอกาสและสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นกับเกษตรกรไทยทั่วประเทศได้ วัตถุดิบทางการเกษตรที่เหลือใช้หลายอย่างสามารถแปลงเป็นภาชนะที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมได้ ยกตัวอย่าง บริษัท บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) ภายใต้ชื่อแบรนด์ 'เกรซ' สามารถนำวัสดุทางการเกษตรที่เหลือใช้ เช่น ซังข้าว, ข้าวโพด, อ้อย และอื่นๆ มาแปลงเป็น ถ้วยชาม หลอด รักษ์โลก เราจึงพยายามเชื่อมโยงบริษัทฯ นี้กับพื้นถิ่นที่เรากำลังจะสนับสนุนด้านคาร์บอนเครดิต...

"เมื่อก่อนเราผลิตเพื่อทดแทนพลาสติก แต่ไม่สามารถทดแทนได้หมดเนื่องจากราคาสูง ปัจจุบันสามารถทำราคาได้ใกล้เคียงกับพลาสติกแล้ว ต่างกันแค่ 20-30% และสามารถเคลมคาร์บอนเครดิตได้ สร้างความยั่งยืนได้ เมื่อย่อยสลายสามารถกลายเป็นปุ๋ยได้ และยังฝังเมล็ดพันธุ์พืชท้องถิ่นไว้ในผลิตภัณฑ์ทำให้กลายเป็นต้นไม้ได้อีก สามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวได้ ซึ่งเป็นความคิดของคนไทยที่น่าภาคภูมิใจ...

"ส่วนการขยายไปยัง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เกิดจากได้ทราบแนวคิดของโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ซึ่งจะเชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยกับมาเลเซีย เลยมีแนวคิดนำคาร์บอนเครดิตลงไปแนะนำในท้องถิ่น ซึ่งถ้า SEC เกิดขึ้นจริง พื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็มีศักยภาพสูงพอที่จะสามารถลงทุนพัฒนาได้ในอนาคต"

เมื่อถามถึงเรื่อง BCG? คุณวิชัย เผยว่า "เราสนใจมานานแล้ว นักธุรกิจควรเน้นเรื่อง ESG (Environmental, Social, Governance) เป็นหลักโดยเฉพาะกองทุน ESG ต้องเชื่อมโยงกับกองทุนเหล่านี้ให้เร็วที่สุด ซึ่งเราก็พึ่งเริ่มทำ โดยพยายามถ่ายทอดความรู้ในเรื่องนี้ในการบรรยายให้กับธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์และนอกตลาดหลักทรัพย์ให้สนใจเรื่องนี้ เพื่อให้ธุรกิจนั้นเป็น ESG ด้วยหลักคิดง่ายๆ 4 ประการ ได้แก่ Net Zeo, Go Green, Lean เหลื่อมล้ำ, ย้ำร่วมมือ เป็นการสร้างคุณค่าใหม่ให้กับประเทศตาม Passion ของผม เกษตรกรต้องไม่จน"

เมื่อถามถึงความคืบหน้าจากโครงการ 'กวี คีตา อัมพวาเฟส' ที่ผ่านมา? คุณวิชัย กล่าวว่า โครงการนี้เกิดจากแรงบันดาลใจเนื่องจากตนเป็นเขยสมุทรสงคราม มีความผูกพันกับแม่น้ำแม่กลอง ชอบธรรมชาติและใส่ใจในสิ่งแวดล้อม โดยมีวัตถุประสงค์สร้างโมเดล Cultural Carbon Neutral Event แห่งแรกของไทยและของโลก ด้วยการจัด Event วัฒนธรรมและสอดแทรกเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้าไปด้วย 

"ผมอยากให้เกิดโมเดลแบบนี้ไปทั่วประเทศ จึงเกิดการต่อยอดโดยหลานทั้งสองของผม อายุ 16 ปีและอายุ 14 ปี ที่มีความคิดอยากทำตาม Passion ของปู่ ในเรื่องสิ่งแวดล้อม Carbon Neutral ให้ยั่งยืนต่อเนื่องกับอัมพวาจริงๆ ก็เลยมีแนวคิดเปลี่ยนเรือในคลองอัมพวา จากเรือสันดาปใช้พลังงานน้ำมัน เป็นเรือใช้พลังงานไฟฟ้า โดยจะเริ่มจากคลองเฉลิมพระเกียรติ หรือคลองบางจาก ใน Concept Net Zero อัมพวา อย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งหลานๆ เกิดความสำนึกต่อการรักษ์โลกใบนี้ก็ถือว่าเป็นความภูมิใจอย่างหนึ่งแล้ว...

"ขณะเดียวกัน ก็มี 'สวนสมดุล' ที่เกิดจากลูกชายคนเล็กของผม ที่ขอไปเป็นเกษตรกรตามรอยศาสตร์พระราชา ทุกตารางนิ้วในสวนเป็น Organic ทั้งหมด ไม่ใช้สารเคมีเลย โดยมุ่งหวังสร้างผลิตภัณฑ์มาตรฐานไทยขึ้นมาซึ่งคุณภาพไม่ได้ด้อยกว่าออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เช่น ครีมอาบน้ำ น้ำยาล้างจาน เป็นต้น รวมถึงยังเลี้ยงผึ้งชันโรง และตั้งรัฐวิสาหกิจชุมชนอย่างแท้จริง"

เมื่อพูดถึงศาสตร์พระราชาถูกมาใช้ในการบริหารธุรกิจอย่างไร? คุณวิชัยกล่าวว่า "หลังจากผมประกาศว่าเมื่อผมอายุครบ 70 ปี อยากทำตาม Passion ตัวเอง 3 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ 1.เกษตร 2.การศึกษา 3.ร้านค้าปลีกโชห่วยที่ได้รับความเดือดร้อน ผมก็ได้เดินสายบรรยายไปทั่วประเทศ แต่ทุกครั้งที่เดินสาย ถ้ามีโอกาสผมจะพูดถึงปรัชญาของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่มีความลึกซึ้งถ้าเรียนรู้และนำไปปรับใช้อย่างแท้จริงแล้ว เราจะไม่ได้เพียงการดำรงชีวิตที่อยู่ได้ แต่เรายังสามารถสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจที่ตัวเองทำ...

"ในหลวงท่านไม่ได้ปฏิเสธเรื่องเทคโนโลยี แต่แนวคิดท่านทำให้คนเริ่มบาลานซ์เทคโนโลยีกับวิถีชีวิตจริง วิถีเกษตรกรรมที่สามารถสร้างผลตอบแทนมาที่ตัวเราได้โดยไม่ต้องต่อต้านเทคโนโลยี แต่ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ อย่างเด็กเกษตรที่ผมเคยบรรยายก็ได้ตระหนักถึงปรัชญานี้ ผมจึงมีโครงการมาตรฐานการเกษตรที่ชลบุรีบ้านเกิดผม โดยจะแนะนำเทรนด์เรื่องการบริหารฟาร์มและสร้างหลักสูตรที่เรียกว่า 'เกษตรหัวขบวน' เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมาให้เข้าใจเรื่องการบริหารจัดการฟาร์ม เข้าใจแผนงานการตลาดและความต้องการของตลาดในปัจจุบัน"

เมื่อถามถึงเป้าหมายสำคัญของ คุณวิชัย ที่สอดคล้องไปกับฉายา Godfather of Startup ว่าคืออะไร? คุณวิชัย เผยว่า ปัจจุบันนี้ต้องยอมรับว่าเด็กไทยเก่งมาก แต่ขาดเวทีในการแสดงความสามารถ ซึ่งตนประกาศว่ากำลังตามหายูนิคอร์นตัวใหม่ วันนี้จึงขอฝากถึงทุกภาคส่วน เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่มากขึ้น เพื่อที่จะทำให้ไทยพบช้างเผือกในป่าลึก กล้าคิด กล้าทำ กล้านำเสนอ ซึ่งจะสร้างความภาคภูมิใจให้ประเทศไทยได้ในอนาคต ขณะเดียวกันก็ฝากถึงนักธุรกิจที่อยากประสบความ ก็ต้องยึดหลัก กล้าคิด กล้าทำ กล้ารับผิดชอบ ด้วย

"สิ่งหนึ่งที่เด็กไทยมักจะขาดก็คือความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในกระบวนการต่างๆ เช่น Collaboration, Connectivity, M&A ในการเริ่มต้นอย่าคิดว่าเก่งคนเดียวต้อง Collaboration ถ้าเก่งบวกเก่ง กลายเป็นซุปเปอร์เก่งเลย เราต้องทำให้สินค้าบริการให้ครบวงจร อย่ามอง Hedge Fund อย่างเดียว อาจไม่ยั่งยืน และต้องมีเป้าหมายยิ่งใหญ่ อย่าทำผ่านๆ ไป เป้าหมายจะไปที่ไหน ต้องเขียน Roadmap อย่างไร ถามว่าคุณวิชัยเคยล้มเหลวไหม คุณวิชัยตอบว่า เยอะมาก จำไว้เลยนะครับว่าไม่มีใครสำเร็จอย่างเดียว และไม่มีใครล้มเหลวอย่างเดียว ความล้มเหลว คือ บทเรียนที่คุ้มค่าให้เราเรียนรู้ได้เสมอ อย่ากลัวความล้มเหลว"

คุณวิชัย ฝากทิ้งท้ายบทสัมภาษณ์นี้อีกด้วยว่า "ประเทศนี้ให้ผมมาเยอะแล้ว ผมต้องสร้างคน สร้างธุรกิจใหม่ๆ พร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้า เพื่อคืนให้กับสังคม คืนให้กับประเทศชาติจนกว่าชีวิตผมจะหาไม่ ซึ่งเวลาผมไปบรรยายต้องให้ผู้ฟังช่วยปฏิญาณไปกับผมด้วยเสมอ คือ 1.เราจะไม่ใช้เทคโนโลยีเพื่อโกงหรือหลอกลวงผู้อื่น 2.เราจะเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์สังคมที่ดีมีคุณธรรม 3.เราจะแบ่งปันความรู้และโอกาสให้แก่ผู้ที่ด้อยกว่า เป็นสิ่งที่ผมอยากปลูกฝังระบบคุณธรรมให้กับคนรุ่นใหม่ต่อไป"

‘รมว.ปุ้ย’ ห่วงใย เอสเอ็มอี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สั่งการ SME D Bank เร่งช่วยเหลือ ผู้ประกอบการในพื้นที่

(23 มี.ค.67) ตามที่ได้เกิดเหตุก่อความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้หลายจุด ในช่วงวันศุกร์ที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา ในเขตจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา ส่งผลกระทบต่อสถานประกอบการ SMEs ในพื้นที่ดังกล่าวหลายรายได้รับความเสียหาย นั้น 

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ร่วมกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหาย สำรวจความต้องการของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ และเร่งให้ความช่วยเหลือในทุกด้านที่กระทรวงสามารถให้ได้

“เบื้องต้น ทราบข้อมูลจากหน่วยงานในพื้นที่ว่า มีผู้ประกอบการจำนวน 7 ราย ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา รู้สึกเป็นห่วงและเห็นใจผู้ประกอบการในพื้นที่ โดยได้มอบให้ SME D Bank กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด เข้าไปตรวจสอบและสอบถามผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทุกราย สำหรับในส่วนของ SME D Bank สามารถพิจารณาให้ความช่วยเหลือเยียายา ด้านการเงิน อาทิ การพักชำระหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ การให้สินเชื่อ Soft Loan พิเศษ แก่ผู้ได้รับผล กระทบ ส่วนกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม มีศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 สามารถเข้าไปช่วยเหลือในด้านเทคนิค การตลาด และเงินทุนหมุนเวียน โดยจะเร่งให้ทุกหน่ายในสังกัดกระทรวง บูรณาการกับพื้นที่เพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว

GAC AION เปิดตัวรถไฟฟ้า AION Y Plus 410 Premium เคาะราคาน่าสน 'ต่ำล้าน' ตั้งเป้าทะยานผู้นำตลาด EV ไทย

(25 มี.ค.67) บริษัท ไอออน ออโตโมบิล เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้จัดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า GAC AION อย่างเป็นทางการ ขอแนะนำรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ล่าสุด AION Y Plus 410 Premium ราคาจำหน่ายอย่างเป็นทางการ 859,900 บาท ทางเลือกใหม่ของรถยนต์เอสยูวีไฟฟ้าสุดคุ้มค่า ที่มาพร้อมฟีเจอร์และฟังก์ชันช่วยเหลือการขับขี่อัจฉริยะครบครัน ตอกย้ำความเป็นผู้นำรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย 

นอกจากนี้ AION Y Plus 490 Premium ที่เปิดตัวไปก่อนหน้านี้ ยังมาพร้อมราคาพิเศษ และของสมนาคุณมากมาย เฉพาะในงาน Motor Show 2567 เท่านั้น

AION Y Plus 410 Premium รถเอสยูวีไฟฟ้า ออกแบบมาเพื่อตอบรับทุกไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต มอบสุนทรียภาพในการขับขี่และการโดยสาร โดดเด่นด้วยดีไซน์ภายนอกที่ดูล้ำสมัย พื้นที่ภายในห้องโดยสารกว้างขวาง นั่งโดยสารสะดวกสบายในทุกตำแหน่ง มาพร้อมมิติตัวถังขนาดใหญ่ ด้วยความยาว 4,535 มิลลิเมตร ความกว้าง 1,870 มิลลิเมตร ความสูง 1,650 มิลลิเมตร และมีความสูงใต้ท้องรถ 150 มิลลิเมตร

AION Y Plus 410 Premium ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า 150kW ให้กำลังสูงสุด 204 แรงม้า และแรงบิด 255 นิวตัน-เมตร พร้อมด้วยแบตเตอรี่เทคโนโลยี Magazine Battery ขนาด 50.66 kWh มอบระยะทางวิ่งสูงสุด 410 กิโลเมตร

AION Y Plus 410 Premium มาพร้อมกับระบบช่วยเหลือการขับขี่และฟีเจอร์ความปลอดภัยมากมาย อาทิ…

>> ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน (ACC with Stop&Go)
>> ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติอัจฉริยะ (ICA)
>> ระบบแจ้งเตือนก่อนการชนด้านหน้า (FCW)
>> ระบบช่วยเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติ (AEB)
>> ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติเมื่อความเร็วต่ำ (TJA)
>> ระบบช่วยเตือนเมื่อรถออกนอกเลน (LDW)
>> ระบบช่วยรักษาช่องทางเดินรถ (LKA)
>> ระบบเบรกมือไฟฟ้า (EBP)
>> ระบบช่วยเบรกอัตโนมัติ Auto Brake Hold
>> ภาพพาโนรามา 360 องศารอบตัวรถ
>> ถุงลมนิรภัยคู่หน้า, ถุงลมนิรภัยด้านข้างคนขับและผู้โดยสารตอนหน้า และม่านถุงลมนิรภัยด้านข้าง

นอกจากนี้ AION Y Plus 410 Premium ยังมาพร้อมกับฟีเจอร์อำนวยความสะดวกมากมาย อาทิ…

>> ระบบจ่ายไฟฟ้าสู่อุปกรณ์ไฟฟ้าภายนอก VTOL
>> เบาะนั่งคนขับปรับด้วยระบบไฟฟ้า 6 ทิศทาง
>> เบาะนั่งผู้โดยสารด้านหน้าปรับด้วยระบบไฟฟ้า 4 ทิศทาง
>> ที่ชาร์จโทรศัพท์แบบไร้สาย
>> ระบบนำทางและฟังเพลงผ่านอินเทอร์เน็ต
>> ระบบสั่งการด้วยเสียงรองรับภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
>> ระบบควบคุมรถระยะไกลผ่านแอปพลิเคชัน
>> ไฟสร้างบรรยากาศภายในห้องโดยสาร 32 สี รองรับการเปลี่ยนแปลงตามจังหวะดนตรี

AION Y Plus 410 Premium มีสีภายนอก 7 สี ได้แก่ Lucky Gold, Vitality Green, Speedy Silver, Liberty Ash, Elegant Gray, Pure White, Glamour Black และสีทูโทนทั้งหมด 3 สี ได้แก่ Lucky Gold with Black Roof, Vitality Green with Black Roof และ Pure White with Black Roof พร้อมด้วยสีภายในห้องโดยสาร 5 สี ได้แก่ Enchanted Forest, Fairy Wonderland, Rosy Coastline, Azure Ocean และ Subtle Lavender

พิเศษ!! สำหรับลูกค้าที่จองรถยนต์ไฟฟ้า AION Y Plus 410 Premium และ AION Y Plus 490 Premium ภายในงาน บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 45 ระหว่างวันที่ 27 มีนาคม ถึงวันที่ 7 เมษายน 2567 จะได้รับโปรโมชันและสิทธิประโยชน์ ดังนี้...

*** AION Y Plus 410 Premium ราคาจำหน่าย 859,900 บาท
>> ฟรี!! ประกันภัยชั้น 1 นาน 1 ปี
>> ฟรี!! Home Charger พร้อมค่าบริการติดตั้ง
>> ฟรี!! ฟิล์มรถยนต์รอบคัน
>> ฟรี!! พรมปูพื้น
>> ฟรี!! ค่าจดทะเบียน

*** AION Y Plus 490 Premium ราคาพิเศษ 949,900 บาท (โปรพิเศษ เฉพาะในงานมอเตอร์โชว์ 2024: เมื่อรับรถภายใน 30 เมษายน 2567 และขึ้นทะเบียนเปลี่ยนเป็นป้ายขาวภายใน 31 พฤษภาคม 2567)
>> ฟรี!! ชุดแคมปิ้งสุดล้ำ ประกอบด้วย สายชาร์จ VTOL, เตียงเบาะลม, เต็นท์ และสายชาร์จฉุกเฉิน
>> ฟรี!! ประกันภัยชั้น 1 นาน 1 ปี
>> ฟรี!! Home Charger พร้อมค่าบริการติดตั้ง
>> ฟรี!! ฟิล์มรถยนต์รอบคัน
>> ฟรี!! พรมปูพื้น
>> ฟรี!! ค่าจดทะเบียน

ทั้งสองรุ่น รับเพิ่ม!!!
>> ฟรี!! รับประกันชิ้นส่วนไฟฟ้าหลัก (แบตเตอรี่ไฟฟ้า, มอเตอร์ไฟฟ้า, และอุปกรณ์ควบคุมไฟฟ้า) 8 ปีหรือ 200,000 กิโลเมตร (อย่างใดอย่างหนึ่งถึงก่อน)
>>ฟรี!! รับประกันคุณภาพตัวรถ 8 ปี หรือ 160,000 กิโลเมตร (อย่างใดอย่างหนึ่งถึงก่อน)
>> ฟรี!! บริการช่วยเหลือฉุกเฉินฟรีตลอด 24 ชั่วโมง นาน 8 ปี

พร้อมรับข้อเสนอสินเชื่อพิเศษ ดอกเบี้ยเริ่มต้น 1.98% หรือเลือกผ่อนสบาย 84 เดือน หรือเลือกดาวน์น้อยเพียง 5% เท่านั้น 

EEC เปิด 'ศูนย์เครือข่ายพลังสตรี อีอีซี' นำร่อง!! สร้างกลไกมีส่วนร่วมชุมชน เชื่อมประโยชน์การลงทุนสู่การพัฒนาพื้นที่และชุมชนอย่างยั่งยืน

(25 มี.ค. 67) ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี ร่วมกับนายชัยพร แพภิรมย์รัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นางธัญรัตน์ อินทร รองเลขาธิการสายงานพื้นที่และชุมชน สกพอ. และนายวีกิจ มานะโรจน์กิจ นายอำเภอบางละมุง เข้าร่วมกิจกรรมเปิดศูนย์เครือข่ายพลังสตรี อีอีซี นำร่อง ณ ศูนย์เรียนรู้วิถีชาวนาภูมิปัญญาชุมชน ตำบลหนองปลาไหล จังหวัดชลบุรี เพื่อเป็นเสมือนตัวแทน อีอีซี ในการสร้างการรับรู้และความเข้าใจ บอกเล่าถึงประโยชน์และความคืบหน้าในการพัฒนาพื้นที่ อีอีซี ให้กับชุมชนในอำเภอบางละมุง รวมทั้งเป็นศูนย์กลางดำเนินกิจกรรมของเครือข่ายพลังสตรี อีอีซี ซึ่งเป็นกลไกหลักและเป็นตัวแทนของ อีอีซี ในการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี

ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการ อีอีซี กล่าวว่า ศูนย์เครือข่ายพลังสตรี อีอีซี จะช่วยเป็นแกนกลางในการผลักดันให้สินค้าและบริการของชุมชนเป็นส่วนหนึ่งใน Supply Chain ของนักลงทุน ซึ่งเป็นแนวทางการดำเนินงานสำคัญในปัจจุบัน ในการส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงประโยชน์จากการลงทุนมาสู่การพัฒนาพื้นที่ และชุมชนอย่างยั่งยืน ผ่านกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมจากกลุ่มพลังสตรี อีอีซี ที่ได้ร่วมเป็นกระบอกเสียงสำคัญสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่ ได้รับข่าวสารและข้อมูลที่ถูกต้อง เข้าถึงประโยชน์จากการพัฒนาอีอีซีได้อย่างทั่วถึง และถือเป็นช่องทางสำคัญในการรับฟังความคิดเห็น และรับฟังข้อมูล เกี่ยวกับอีอีซี รวมถึงจะสนับสนุนให้กลุ่มพลังสตรี อีอีซี ได้รวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมประโยชน์ต่อสาธารณในพื้นที่ เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อให้สามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้ รวมถึง สกพอ. ก็มีกิจกรรมในการสนับสนุนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหรือวิสาหกิจเพื่อสังคมผ่านกลไกความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายต่างๆ

เพื่อให้เครือข่ายพลังสตรี อีอีซี ได้มีบทบาทเพิ่มขึ้นในการเตรียมความพร้อมการนำประโยชน์จากการลงทุนในพื้นที่ให้สามารถยกระดับเศรษฐกิจชุมชน สร้างโอกาสให้แก่สินค้าชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น และการท่องเที่ยวของชุมชนให้มีมาตรฐาน รองรับการเข้ามาใช้จ่ายของคนที่มาทำงานใน อีอีซี มีศูนย์กลางในการพบปะทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน

สกพอ. ได้จัดตั้งศูนย์เครือข่ายพลังสตรี อีอีซี นำร่องในชุมชน จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ ศูนย์เรียนรู้วิถีชาวนาภูมิปัญญาชุมชน ตำบลหนองปลาไหล อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอปลวกแดง ตำบลปลวกแดง อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง และชมรมผู้สูงอายุดอกลำดวน มัสยิดดารุ้ลดอยร็อต ตำบลหมอนทอง อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา ทั้งนี้ ปัจจุบันมีเครือข่ายพลังสตรี อีอีซี รวมกว่า 600 คน เป็นตัวแทนสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน และร่วมกับอีอีซี ในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ร่วมกันพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิต ตลอดจนรายได้ของชุมชนอย่างต่อเนื่อง

สำหรับที่ตั้ง ศูนย์เครือข่ายพลังสตรี อีอีซี ณ ศูนย์เรียนรู้วิถีชาวนาภูมิปัญญาชุมชน ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชนที่สะท้อนความโดดเด่นด้านการทำนาด้วยภูมิปัญญาการปลูกข้าวที่มีมาตั้งแต่อดีต ปัจจุบันเขตพื้นที่ ต.หนองปลาไหล มีพื้นที่นาประมาณ 190 ไร่ แม้ว่าปัจจุบันจะมีพื้นที่ทำนาลดลง แต่ชาวบ้านยังคงอนุรักษ์และสืบสานอาชีพการทำนา ด้วยการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้วิถีชาวนาภูมิปัญญาชุมชน เพื่อเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่และผู้ที่สนใจได้เข้ามาเรียนรู้ เป็นอีกหนึ่งเส้นทางท่องเที่ยวด้านการเกษตร ที่นักท่องเที่ยวสามารถร่วมกิจกรรมได้ อาทิ ทดลองดำนา เกี่ยวข้าว ชมดนตรีพื้นบ้าน ทดลองทำอาหารพื้นบ้านจากวัตถุดิบท้องถิ่น เป็นต้น


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top