Wednesday, 15 May 2024
Econbiz

'สุริยะ' ปลื้ม!! มาตรการค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เดินหน้าทะลุเป้า 5 เดือน 'สีแดง-สีม่วง' ทุบสถิตินิวไฮ ยอดผู้โดยสารเพิ่มต่อคน-เที่ยว 18%

(20 มี.ค.67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติในหลักการในการดำเนินมาตรการอัตราค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 20 บาท หรือ 20 บาทตลอดสาย โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 เป็นต้นมา ในโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง สายนครวิถี (กรุงเทพอภิวัฒน์ - ตลิ่งชัน) และสายธานีรัถยา (กรุงเทพอภิวัฒน์ - รังสิต) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ช่วงเตาปูน - คลองบางไผ่ ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ตามนโยบาย Quick Win ของรัฐบาลนั้น

ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางราง (ขร.) รายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2566 - 14 มีนาคม 2567 พบว่า รถไฟชานเมืองสายสีแดง ทั้งสายกรุงเทพอภิวัฒน์ - ตลิ่งชัน และสายกรุงเทพอภิวัฒน์ - รังสิต มีผู้ใช้บริการเฉลี่ยวันละ 27,683 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้นจากก่อนมีมาตรการฯ 27.97% ที่มีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 21,632 คน-เที่ยว สูงกว่าประมาณการที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 10 - 20% ขณะที่ รถไฟฟ้ามหานคร สายสีม่วง ช่วงเตาปูน - คลองบางไผ่ พบว่า มีผู้ใช้บริการเฉลี่ยวันละ 65,179 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้นจากก่อนมีมาตรการฯ 14.39% ที่มีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 56,979 คน-เที่ยว 

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาภาพรวมทั้งสายสีแดง และสายสีม่วง พบว่า ภายหลังมีมาตรการอัตราค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย มีผู้โดยสารใช้บริการรวมสองสายเฉลี่ยวันละ 92,714 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้น 17.94% จากเดิมก่อนมีมาตรการฯ ทั้งสองสายรวมกัน มีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 78,611 คน-เที่ยว ซึ่งมากกว่าประมาณการที่ตั้งไว้ และยังพบว่า ทั้งสองเส้นทาง มีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้น และมีผู้โดยสารใช้บริการมากสุดตั้งแต่เปิดให้บริการมา (Newhigh) อย่างต่อเนื่อง 

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า การดำเนินมาตรการอัตราค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย ตามนโยบายรัฐบาลนั้น จากการประเมินมูลค่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม พบว่า มาตรการดังกล่าว มีมูลค่าสูงถึงวันละ 2,640,000 บาท และคาดการณ์ว่าจะมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนั้นโครงการดังกล่าวยังเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะ ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้กับประชาชน ลดภาวะมลพิษ และลดการใช้พลังงานภายในประเทศได้อีกด้วย

ขณะเดียวกันยังเป็นการสนับสนุนให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในระดับมหภาคจากการเพิ่มการเดินทางของประชาชน กระตุ้นเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้เท่าเทียมในการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะ โดยกระทรวงคมนาคมได้เร่งผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งภายใน และภายนอกสถานี เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงระบบราง เช่น ถนนสายหลัก ถนนสายรอง ทางเดิน ทางรถจักรยาน เป็นต้น 

นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินโครงสร้างพื้นฐานภายนอกสถานีที่เอื้ออำนวยการเชื่อมต่อระหว่างสถานีกับ ย่านพาณิชยกรรม ย่านที่อยู่อาศัย และบริการสาธารณะต่างๆ รวมทั้งการจัดระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง (Feeder System) สามารถนำผู้โดยสารจากที่พักอาศัยเข้าสู่สถานีระบบขนส่งมวลชนทางราง เช่น รถโดยสารประจำทาง รถรับจ้างโดยสารสาธารณะ ขนส่งมวลชนสาธารณะระบบรางเบา หรือขนส่งมวลชนอื่นที่จะเชื่อมโยงการเดินทางจากใจกลางเมืองสู่พื้นที่รอบนอก เพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสาร สามารถเพิ่มจำนวนผู้โดยสารเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นการเพิ่มรายได้ ลดภาระการชดเชยจากภาครัฐได้ต่อไป

‘พีระพันธุ์’ ปลื้ม!! แหล่งเอราวัณผลิตก๊าซ 800 ล้านลบ.ฟ./วัน แล้ว เชื่อ!! ช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้า - สร้างค่าไฟเป็นธรรมให้ ปชช.

‘กระทรวงพลังงาน’ เผยข่าวดี แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณในอ่าวไทย สามารถเพิ่มอัตราการผลิตเป็น 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หลังจากที่ผู้รับสัญญาเร่งดำเนินงาน จนสามารถดำเนินการเพิ่มอัตราการผลิตได้เร็วกว่าแผนที่กำหนด ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ให้ความสำคัญและกำชับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อความเป็นอยู่ของประชาชน

(20 มี.ค. 67) นายพีระพันธ์ุ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า “การเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติของแปลง G1/61 ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในวันที่ 20 มีนาคม 2567 นี้ เป็นการดำเนินการได้เร็วกว่าแผนที่กำหนด ถือว่าเป็นการแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของทั้งภาครัฐ คือ กระทรวงพลังงานโดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และผู้ได้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต คือ บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (ปตท.สผ. อีดี) ในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ

ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยผมและทีมงานได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมแท่นผลิตก๊าซธรรมชาติโครงการ G/61 (แหล่งเอราวัณ) เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อติดตามให้มีการบริหารจัดการและเพิ่มการผลิตปิโตรเลียมอย่างเต็มกำลังให้ได้ปริมาณตามที่กำหนด รวมทั้งมอบหมายให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติกำกับดูแลการดำเนินงานของผู้รับสัญญาอย่างใกล้ชิด เพราะก๊าซธรรมชาติถือเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าของประเทศ

ดังนั้น การเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติ ให้เป็นไปตามเป้าหมาย จะมีส่วนช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าและรักษาระดับค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนได้”

ด้านนายวรากร พรหโมบล อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า “กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ในฐานะที่กำกับดูแลการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศ ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่มาโดยตลอด โดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนผ่านการดำเนินงานของแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61 ซึ่งนับเป็นงานที่มีความท้าทายอย่างมาก เนื่องจากเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการใช้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตในกิจการปิโตรเลียม โดยได้มีการเตรียมโครงสร้างหน่วยงานและบุคลากรของกรมเพื่อรองรับภารกิจการดำเนินงานภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต ตลอดจนการติดตาม กำกับดูแล พร้อมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานต่าง ๆ ของบริษัท ปตท.สผ. อีดี ให้เป็นไปอย่างราบรื่น เพื่อให้การผลิตปิโตรเลียมจากแปลงดังกล่าวเป็นไปตามเป้าหมาย ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

“ทั้งนี้ แหล่งก๊าซธรรรมชาติเอราวัณ นับเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติในทะเลอ่าวไทยที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และเป็นหัวใจสำคัญในการผลิตก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้า

“ซึ่งภายหลังจากนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะยังคงทำงานร่วมกับผู้รับสัญญาอย่างใกล้ชิด เพื่อรักษาระดับการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งดังกล่าวให้มีความต่อเนื่อง และสามารถสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน เพื่อเป็นฐานในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศให้แข็งแกร่งต่อไป”

'ปตท.สผ.' เผย!! เพิ่มการผลิตก๊าซฯ ได้ถึง 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันแล้ว  ตามแนวทาง 'พีระพันธุ์' เพื่อบรรเทาผลกระทบด้านค่าไฟฟ้าให้แก่ ปชช.

(20 มี.ค.67) นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า หลังจากที่ ปตท.สผ. ได้ชนะการประมูลและเป็นผู้ได้รับสิทธิในสัญญาแบ่งปันผลผลิตแปลงสำรวจ G1/61 ในทะเลอ่าวไทย ในปี 2561 จากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน โดยได้ลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิต ในปี 2562 บริษัทฯ ได้เร่งดำเนินงานทุกด้านอย่างเต็มความสามารถ เพื่อเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซฯ ให้ได้ตามแผนงาน โดยได้ปรับปรุงสิ่งติดตั้งและอุปกรณ์ให้มีเสถียรภาพและมีความปลอดภัยสูงขึ้น รวมถึงติดตั้งแท่นหลุมผลิต (wellhead platform) 12 แท่น เจาะหลุมผลิต (production well) เพิ่มกว่า 300 หลุม และวางท่อก๊าซธรรมชาติ เพื่อเพิ่มอัตราการผลิตให้สูงขึ้นตามลำดับ จนถึงระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในวันนี้ (20 มี.ค. 67) เพื่อรองรับความต้องการใช้พลังงานของประชาชน และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

“การเพิ่มการผลิตก๊าซธรรมชาติในโครงการ G1/61 ถือเป็นภารกิจสำคัญของ ปตท.สผ. ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทตระหนักเป็นอย่างยิ่งถึงความสำคัญของก๊าซฯ ในอ่าวไทย ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานหลักที่รองรับความต้องการใช้พลังงานทั้งภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม จึงได้เร่งดำเนินการทุกขั้นตอนเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตก๊าซฯ ให้ได้เร็วที่สุด และในวันนี้ โครงการ G1/61 สามารถผลิตได้ถึงระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งความสำเร็จในครั้งนี้ มาจากความมุ่งมั่นของพนักงานทุกคน รวมทั้ง การสนับสนุนจากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่จะช่วยลดผลกระทบด้านพลังงานให้กับประชาชน และสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ” นายมนตรี กล่าว

สำหรับแผนงานต่อไป ปตท.สผ. มีแผนที่จะติดตั้งแท่นหลุมผลิตเพิ่มเติมอีกปีละประมาณ 8 แท่นและเจาะหลุมผลิตเพิ่มอีกประมาณ 300 หลุมต่อปี โดยในปี 2567 บริษัทจะใช้เงินลงทุนในโครงการ G1/61 เป็นจำนวนกว่า 30,000 ล้านบาท เพื่อให้โครงการ G1/61 เป็นหนึ่งในโครงการของ ปตท.สผ. ที่เป็นหลักในการเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศในระยะยาวต่อไป

ทั้งนี้ แผนการเร่งโครงการ G1/61 ดังกล่าว ได้รับการกระตุ้นโดย นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่กำชับให้ภาคเอกชนต้องผลิตได้อยู่ในระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ภายในวันที่ 1 เมษายนนี้ เพื่อช่วยลดผลกระทบด้านค่าไฟฟ้า และเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ

‘ไทย’ คว้าอันดับ 2 ‘กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา’ ที่น่าลงทุนที่สุดในเอเชีย แซงหน้า!! ‘เวียดนาม’ หลัง Milken Institute ของสหรัฐฯ จัดทำขึ้น

(20 มี.ค.67) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า จากการประกาศผลดัชนีโอกาสด้านการลงทุนระดับโลก (Global Opportunity Index) หรือ GOI ซึ่งจัดทำโดย Milken Institute สหรัฐอเมริกา พบว่า ไทยครองอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย (Emerging and Developing : E&D) ที่น่าลงทุนที่สุด (https://milkeninstitute.org/report/global-opportunity-index-2024) 

ด้าน โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ดัชนี GOI จัดทำขึ้นเพื่อให้ข้อมูลแก่นักลงทุนทั่วโลกที่มองหาโอกาสในการลงทุนในต่างประเทศ และให้ข้อมูลแก่ประเทศต่างๆ ที่ต้องการปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ โดยดัชนีนี้อิงตามตัวชี้วัด 100 รายการ แบ่งออกเป็น 5 หมวดหมู่ ได้แก่

1. การรับรู้ทางธุรกิจ
2. พื้นฐานทางเศรษฐกิจ
3. บริการทางการเงิน
4. โครงสร้างเชิงสถาบัน
5. มาตรฐานและนโยบายระหว่างประเทศ 

ทั้งนี้ ประเทศไทย อยู่ในอันดับ 2 ในกลุ่ม E&D ในภูมิภาคเอเชีย โดยอันดับ 1-5 กลุ่ม E&D ในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ มาเลเซีย ไทย จีน อินโดนีเซีย และเวียดนาม

ส่วนในอันดับโลก ไทยอยู่ในอันดับ 37 ทั้งนี้ กลุ่ม E&D ในภูมิภาคเอเชีย รายการการรับรู้ทางธุรกิจไทยอยู่อันดับ 21 ในพื้นฐานทางเศรษฐกิจ อยู่อันดับ 22 บริการทางการเงินอันดับ 29 โครงสร้างเชิงสถาบันอันดับ 51 และมาตรฐานและนโยบายระหว่างประเทศอันดับ 68 โดยประเทศที่น่าลงทุนที่สุดในโลกได้แก่ เดนมาร์ก

โดยตามรายงาน ประเทศในกลุ่ม E&D ในภูมิภาคเอเชีย มีผลประกอบการที่ดีกว่าภูมิภาคอื่น ดึงดูดเงินทุนมากกว่าครึ่งหนึ่ง (53.2%) ไหลเข้าสู่ประเทศ E&D ระหว่างปี 2018-2022 เพิ่มส่วนแบ่งใน E&D มากขึ้น 7.3% จาก 45.9% ระหว่างปี 2013-2017

“นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ กำหนดนโยบายให้ทันสมัย สอดคล้องจูงใจนักลงทุน รวมทั้งพัฒนาและอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน (Ease of doing Business) อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ไทยเป็นที่สนใจจากนักลงทุนต่างชาติ พร้อมกับได้ออกไปรับฟังว่าสิ่งสำคัญที่นักลงทุนรายใหญ่ระดับโลกต้องการคืออะไร เพื่อปรับกระบวนทัศน์ และยุทธศาสตร์ของไทยให้ตอบรับกับความต้องการของนักลงทุนรายใหญ่ พร้อมกันนี้ Message สำคัญที่นายกรัฐมนตรีส่งต่ออย่างต่อเนื่องคือ ประเทศไทยเปิดแล้ว พร้อมรองรับการลงทุน และเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่จะลงทุนในประเทศไทย” นายชัย กล่าว

‘บางกอกเคเบิ้ล’ เปิดแผนกลยุทธ์ปี 67 ทุ่มงบกว่า 500 ล้านบาท ขยายกำลังผลิต ‘สายไฟฟ้า-สายเคเบิ้ล’ หวังรองรับการเติบโตในอนาคต

(20 มี.ค.67) บริษัท สายไฟฟ้าบางกอกเคเบิ้ล จำกัด (BCC) ผู้นำด้านเทคโนโลยีการผลิตสายไฟฟ้าและสายเคเบิ้ลชั้นนำในภูมิภาค เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน เผยแผนกลยุทธ์ปี 2567 ซึ่งมุ่งเน้นการขยายตลาดทั้งในประเทศและในภูมิภาคอาเซียน เพื่อรองรับความต้องการด้านพลังงานและเทรนด์ของพลังงานหมุนเวียน โดยเพิ่ม

โดยงบลงทุนกว่า 500 ล้านบาท ขยายกำลังการผลิตสายไฟฟ้าชนิดแรงดันปานกลางและแรงดันสูงพิเศษเป็น 2 เท่า และเพิ่มยอดจำหน่ายสายโซลาร์เซลล์หรือสายเคเบิ้ล PV (Photovoltaic Cable) เป็น 3 เท่า พร้อมตั้งเป้ารายได้เติบโตกว่า 30% และขยายส่วนแบ่งตลาดเป็น 35% ตอกย้ำความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมสายไฟฟ้าและสายเคเบิ้ล ด้วยผลิตภัณฑ์คุณภาพมาตรฐานระดับโลก ที่รองรับทุกการใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ด้าน นายพงศภัค นครศรี กรรมการบริหาร บริษัท สายไฟฟ้าบางกอกเคเบิ้ล จำกัด (BCC) เปิดเผยว่า “เพื่อให้สอดรับกับความต้องการใช้สายไฟฟ้าและสายเคเบิ้ลที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ตามทิศทางการขยายตัวทางเศรษฐกิจและนโยบายภาครัฐ ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค การใช้พลังงานหมุนเวียน รวมถึงพลังงานทางเลือกอย่างพลังงานแสงอาทิตย์ ในปีนี้ BCC จึงได้กำหนดแผนการดำเนินงานที่ท้าทายการเติบโตของธุรกิจยิ่งกว่าที่ผ่านมา โดยวางงบลงทุนไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท เพื่อขยายกำลังการผลิตในกลุ่มสายไฟฟ้าชนิดแรงดันปานกลางและแรงดันสูงพิเศษเป็น 2 เท่า และเพิ่มสัดส่วนยอดขายในประเภทสายโซลาร์เซลล์เป็น 3 เท่า พร้อมตั้งเป้ารายได้เติบโต ไม่น้อยกว่า 30% และส่วนแบ่งการตลาด 35%”

ทั้งนี้ ความต้องการไฟฟ้าทั่วโลกคาดว่าจะเติบโตเป็น 3 เท่าในอีก 30 ปีข้างหน้านับจากปี 2563 รวมถึงเทรนด์ ESG และ Net Zero เป็นการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานจากแหล่งดั้งเดิมไปสู่พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น สอดคล้องกับทิศทาง

การใช้พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งคาดว่าในปี 2567 จะขยายตัวเฉลี่ยประมาณ 3.5% และเพิ่มขึ้น 3.3% ในอีก 3 ปีข้างหน้า สอดรับกับนโยบายภาครัฐ เช่น แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) ฉบับใหม่ แผนการใช้ ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) และเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ตลอดจนการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมรถยนต์พลังงานสะอาด ซึ่งมีความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) และสถานีชาร์จไฟฟ้าสาธารณะเพิ่มสูงขึ้น

ปัจจุบันมูลค่าตลาดรวมของอุตสาหกรรมสายไฟฟ้าและสายเคเบิ้ลในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 55,000 ล้านบาท โดย BCC ครองส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 25% สัดส่วนรายได้หลักของธุรกิจส่วนใหญ่มาจากการขายภายในประเทศ แบ่งเป็นกลุ่มธุรกิจก่อสร้างและอาคาร 31% กลุ่มอุตสาหกรรม 26% กลุ่มไฟฟ้าและพลังงาน 23% และอื่น ๆ 19% โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา BCC มีรายได้จากการดำเนินงานทั้งสิ้น 12,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.3% (Double-digit growth) เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่มีรายได้ 11,400 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นการเติบโตที่สูงที่สุดในรอบ 60 ปี

สำหรับการขยายตลาดในต่างประเทศ ตลาดหลักของ BCC อยู่ในแถบภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา โดยเจาะกลุ่มธุรกิจรีเทล ตลาดค้าส่ง และโครงการภายใต้การสนับสนุนของภาครัฐ โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา BCC มียอดขายในเมียนมากว่า 1,000 ล้านบาท ทำให้บริษัทฯ ก้าวขึ้นครองส่วนแบ่งการตลาดสูงสุดในเมียนมาและสปป.ลาว นอกจากนี้ มีการส่งออกไปยังสิงคโปร์ จีน ฟิลิปปินส์ อินเดีย เม็กซิโก และออสเตรเลีย

ด้วยการวิจัยและพัฒนาที่ไม่หยุดนิ่ง ทำให้ BCC เติบโตอย่างแข็งแกร่งด้วยผลิตภัณฑ์สายไฟฟ้าและสายเคเบิ้ล ที่ตอบโจทย์การใช้งานในตลาดทั้ง 4 ชนิด ได้แก่ ชนิดแรงดันต่ำ แรงดันปานกลาง แรงดันสูง และแรงดันสูงพิเศษ รองรับความต้องการของทั้ง 7 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักทั้งภายในและต่างประเทศได้อย่างลงตัว ได้แก่ กลุ่มธุรกิจก่อสร้างและอาคาร (Construction & Building) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) กลุ่มอุตสาหกรรม (Industrial) กลุ่มธุรกิจยานยนต์ (Automotive) กลุ่มจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า (Distribution) กลุ่มการส่งพลังงานไฟฟ้า (Transmission) และกลุ่มพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy)

ปัจจุบัน BCC ถือเป็นเจ้าตลาดในธุรกิจผลิตสายไฟฟ้าและสายเคเบิ้ล ด้วยผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมทุกการใช้งาน โดดเด่นด้วยคุณภาพมาตรฐานระดับสูง ในราคาที่แข่งขันได้ การส่งมอบที่รวดเร็ว โดยเป็นผู้ผลิตสายไฟฟ้าและสายเคเบิ้ลเพียงรายเดียวในประเทศไทยที่อยู่ในสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กขององค์การสหประชาชาติ (UN Global Compact Network Thailand: UNGCT) เครือข่ายการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในโลก

“BCC มุ่งมั่นแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ เพื่อการเติบโตของธุรกิจอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน จากการขยายฐานลูกค้าทั้งใน และต่างประเทศ ในอุตสาหกรรมสายไฟฟ้าและสายเคเบิ้ล เช่น โครงสร้างพื้นฐาน โครงการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน ท่าอากาศยาน และท่าเรือ ควบคู่กับการบริหารจัดการต้นทุนวัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพ เดินหน้าพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ผสานความเชี่ยวชาญทางวิศวกรรม เพื่อส่งมอบสายไฟฟ้าและสายเคเบิ้ลมาตรฐานระดับสูง รองรับการเติบโตของตลาดไฟฟ้าและพลังงาน พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้น” คุณพงศภัค กล่าวสรุป

ทั้งนี้ บริษัท สายไฟฟ้าบางกอกเคเบิ้ล จำกัด (BCC) ผู้นำเทคโนโลยีการผลิตสายไฟฟ้าและสายเคเบิ้ลระดับภูมิภาค เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน มุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์สายไฟฟ้าและสายเคเบิ้ลด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ด้วยคุณภาพมาตรฐานระดับโลก ครอบคลุมทุกการใช้งาน ผสานความเชี่ยวชาญทางวิศวกรรม เพื่อการส่งมอบที่รวดเร็ว ในราคาที่แข่งขันได้ ตลอดระยะเวลา 60 ปี BCC ในฐานะผู้บุกเบิกธุรกิจผลิตสายไฟฟ้าและสายเคเบิ้ลรายแรกของประเทศ พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจเติบโตเคียงข้างการพัฒนาประเทศและภูมิภาคอาเซียน เพื่อรองรับการเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

'รมว.ปุ้ย' ชวนยล!! เสน่ห์แห่ง 'ผ้ายกเมืองนคร' ผลิตภัณฑ์ผ้านครศรีฯ ที่ลือชื่อมาแต่ครั้งโบราณ

เมื่อวานนี้ (20 มี.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึง 'ผ้ายกเมืองนคร' ผ้าดีจากเมืองคอนที่สร้างชื่อกระฉ่อนในวงการผ้าไทย ว่า...

"มีคนถามปุ้ยมาค่ะ 'ผ้ายกเมืองนคร' ทำอย่างไรให้ขึ้นชื่อลือชากระฉ่อนในวงการผ้าไทย นี่เลยค่ะ ปุ้ยใช้ผ้ายกเมืองนครจากนครศรีธรรมราช บ้านเราค่ะ 

"ต้องเล่าความเป็นมาก่อนนะคะ ผ้ายกเมือง เป็นผ้าจากฝีมือการทอผ้าของชาวเมืองนครศรีธรรมราช มีชื่อนามปรากฏในประวัติศาสตร์เรื่องราวต่างๆ มานับร้อยปี เป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ 'ผ้ายกเมืองนคร' 

"สมัยก่อนชาวเมืองนครศรีธรรมราชนิยมนุ่งผ้าโจงกระเบน รวมถึงข้าราชการกรมเมือง ข้าราชการศาลและราษฎรทั่วไปนุ่งกันอยู่เสมอ โดยเฉพาะเจ้านายฝ่ายหญิงของเมืองนครฯ แต่โบราณ จะนุ่งผ้ายกจีบเวลาออกรับแขกบ้านแขกเมือง หรือไปทำการงานพิธีบุญต่างๆ และมีผ้ายกสำคัญที่ชื่อ 'ผ้ายกขาวเชิงทอง' ใช้นุ่งในพิธีการถือพิพัฒน์สัตยาของข้าราชการเมืองนครศรีธรรมราช  

"ผู้ที่เข้าพิธีถือน้ำจะต้องนุ่งผ้ายกขาวเชิงทองเรียกว่าหรือเรียกอีกชื่อว่า 'ผ้าสัมมะรส' และยังมีผ้ายกทองซึ่งมีด้ายทำจากทองคำ จะใช้สำหรับเฉพาะเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในรั้วในวังหรือเจ้าพระยาเท่านั้น ซึ่งมีบันทึกตรงกันหลายแหล่งว่าเจ้าพระยานครได้ส่งผ้ายกเข้ามาถวายเจ้านายในเมืองหลวง ส่วนผ้ายกธรรมดาก็ใช้กันโดยทั่วไป

"ปัจจุบันผ้ายกเมืองนคร เป็นที่นิยมมากค่ะ เป็นผ้าที่มีความเป็นมายาวนานอยู่ในวัฒนธรรมของชาวนครศรีธรรมราช มีคุณลักษณะพิเศษคือ สามารถนำมาออกแบบตัดเย็บได้อย่างหลากหลาย ทั้งชุดสวมใส่เพื่อความสวยงามทั่วไป ชุดเครื่องแต่งกายที่มีระเบียบแบบแผน หรือพิธีการสำคัญต่างๆ ผ้ายกเมืองนครจะโดดเด่นมากค่ะ หรือจะเป็นชุดสูททางการเช่นที่ปุ้ยจะนิยมนำมาใช้เสมอมาแบบนี้ ทำนองนี้ค่ะ 

"ช่างตัดเย็บ นักออกแบบสามารถออกแบบได้อย่างหลากหลายตามสมัยค่ะ"

‘BWG-ETC’ 2 หุ้นธุรกิจขยะอุตสาหกรรมน่าจับตามอง หลังปิดดีลหมื่นล้าน ลงทุนโรงไฟฟ้าขยะอุตฯ-ผลิตเชื้อเพลิง

เรียกว่าเป็นหุ้นธุรกิจขยะอุตสาหกรรมคู่หูดูโอ้ ที่น่าจับตาจริง ๆ สำหรับ หุ้นบมจ.เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน (BWG) และบมจ.เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ (ETC) เพราะล่าสุดได้ประกาศบิ๊กดีล จนกลายเป็น talk of the town ในการผนึกร่วมลงทุนกับ GULF จำนวน 12 โครงการ และโครงการลงทุนโรงงานผลิตเชื้อเพลิง SRF จำนวน 3 โครงการ เพื่อลุยลงทุนโรงไฟฟ้าขยะ-ผลิตเชื้อเพลิง SRF 20,800 ล้านบาท จนถูกยกให้เป็นผู้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมเบอร์ 1 ของประเทศไปแล้ว 

เรียกว่ามาเหนือเฆมจริง ๆ และแว่ว ๆ ว่าหลังจากนี้จะเข้าสู่โหมดจัดกระบวนทัพการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะตามแผนที่วางไว้ สู่การเริ่มทยอยรับรู้รายได้ตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป 

สงสัยว่างานนี้ FC นั่งคำนวณบวกลบคูณหารรายได้ที่จะเข้าทยอยตามสัดส่วนของทั้ง 12 โครงการ     กันแล้ว เพราะหากทุกโปรเจกต์แล้วเสร็จทั้ง BWG และ ETC คงเปิดกระเป๋ารับทรัพย์กับแบบคึกคักกันอย่างแน่นอน 

แบบนี้สินะที่เขาเรียกว่า ‘ขยะอุตสาหกรรมทองคำที่น่าลงทุน’

‘ผู้ว่าฯ กฟผ.’ แนะ!! รัฐฯ ควรเคาะ ‘ค่าไฟ’ ปีละ 1 ครั้ง หวังลดภาระประชาชน - เอื้อเอกชนในการคิดต้นทุน

เมื่อวานนี้ (20 มี.ค.67) ที่สำนักงานใหญ่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ กฟผ. คนใหม่ (คนที่ 16) เปิดเผยถึงทิศทางการดำเนินงานของ กฟผ. และแนวทางการบริหารงาน ว่า ระยะเวลา 1 ปี 4 เดือน ในฐานะผู้ว่าการ กฟผ. จะเร่งเดินหน้า 5 ภารกิจสำคัญ คือ 1.รักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้า 2.บริหารจัดการค่าไฟฟ้าให้เป็นธรรมและแข่งขันได้ 3.ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมาย Carbon Neutrality ของประเทศ 4.ดำเนินการตามนโยบายภาครัฐ และ 5.เป็นแหล่งรายได้สำคัญของรัฐ โดย กฟผ. เป็นกลไกของรัฐเพื่อดำเนินนโยบายด้านพลังงานและขับเคลื่อนเศรษฐกิจในการพัฒนาประเทศ ในช่วงที่ประเทศไทยเดินหน้าเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดด้วยการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ระบบไฟฟ้าต้องมีประสิทธิภาพและความมั่นคงสูง พร้อมส่งต่อไฟฟ้าที่มีคุณภาพไฟไม่ตก ไม่ดับ ควบคู่กับการดูแลค่าไฟฟ้าให้สามารถแข่งขันได้และเป็นธรรม เพื่อเป็นปัจจัยดึงดูดนักลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ

นายเทพรัตน์ กล่าวว่า นอกจากนี้อยากให้ภาครัฐพิจารณาปรับรูปแบบการคำนวณค่าไฟของประเทศให้ต่ำและนิ่งกว่านี้ จากปัจจุบันค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) จะคำนวณตามต้นทุนเชื้อเพลิงทุก 4 เดือน ทำให้ค่าไฟขึ้นลงผันผวน กระทบต่อค่าครองชีพประชาชน การคำนวณต้นทุนของภาคเอกชน ซึ่งปกติเอกชนจะโควทต้นทุนที่สูงที่สุดของปีและเมื่อค่าไฟถูกลงก็ไม่ได้ลดราคาสินค้าลง ดังนั้นหากเป็นไปได้ควรกำหนดค่าไฟให้ต่ำและนิ่งอาจคำนวณทุก 1 ปี เพื่อให้ทุกภาคส่วนรับรู้ต้นทุนระยะยาว เพราะราคาพลังงานขึ้นลงเป็นปกติ สามารถหักลบกัน เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับคนไทยทั้งประเทศแน่นอน

นายเทพรัตน์ กล่าวว่า ปัจจุบัน กฟผ.รับภาระค่าไฟแทนประชาชนอยู่ที่ 99,689 ล้านบาท คาดว่าค่าไฟงวดใหม่ เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2567 ที่อยู่ระหว่างรับฟังความเห็นจากประชาชนจะสรุปตัวเลขที่ 4.18 บาทต่อหน่วย โดย กฟผ.จะได้เงินคืน 7 งวด งวดละ 14,000 ล้านบาท หรือ 20.51 สตางค์ต่อหน่วย คาดหวังอัตราค่าไฟหลังจากนี้ กฟผ.จะได้เงินคืนรูปแบบนี้ทั้ง 7 งวดเพื่อบริหารสภาพคล่อง กฟผ. โดยปี 2567 กฟผ.ตั้งงบลงทุนไว้ที่ประมาณ 30,000 ล้านบาท เน้นลงทุนปรับปรุงระบบสายส่ง และโซลาร์ลอยน้ำ และปัจจุบัน กฟผ.มีสัดส่วนผลิตไฟฟ้าประมาณ 30% ของการผลิตทั้งประเทศ

‘อ.พงษ์ภาณุ’ แนะรัฐหาแรงจูงใจเอกชน ลุยธุรกิจลดโลกร้อน ปั้นระบบนิเวศให้พร้อม สู่การสร้างเงินจากสภาพภูมิอากาศ

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'การเงินเพื่อสภาพภูมิอากาศ' (Climate Finance) เมื่อวันที่ 24 มี.ค.67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า…

การกำหนดราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) โดยการเก็บภาษีคาร์บอน และการใช้กลไกตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต จะเป็นกุญแจสำคัญสู่เป้าหมาย Net Zero แต่การเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกสีเขียว (Green Transition) ได้อย่างราบรื่นจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากภาคการเงินการคลังไม่ช่วยระดมทรัพยากรมาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน บุคลากร และเทคโนโลยี ที่จำเป็นต่อการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว

ประการแรก ด้วยข้อจำกัดของทรัพยากรของรัฐบาล เงินลงทุนส่วนใหญ่จึงต้องมาจากภาคเอกชน ภาครัฐต้องจัดโครงสร้างสิ่งจูงใจ (Incentive Structure) ที่เอื้อให้เอกชนกล้าลงทุนในโครงการ/อุตสาหกรรมที่ลดโลกร้อน การเก็บภาษีคาร์บอนและคาร์บอนเครดิตเป็นก้าวแรก ที่สำคัญกว่านั้นคือ การยกเลิกการอุดหนุนคาร์บอน (Carbon Subsidies) ที่มีอยู่มากมายในปัจจุบัน

ประการที่สอง การจัดทำข้อมูลสารสนเทศ การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการปล่อยคาร์บอนอย่างเป็นมาตรฐานและมีการรับรอง รวมทั้งการจัดกลุ่ม/นิยามกิจกรรมที่ลดโลกร้อน (Green Taxonomy) จะช่วยให้ตลาดการเงินและสถาบันการเงินทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและจัดสรรทรัพยากรอย่างตรงเป้ามากขึ้น

ตลาดการเงินและธนาคารพาณิชย์เริ่มนำผลิตภัณฑ์สีเขียวมาให้บริการบ้างแล้ว สินเชื่อเพื่อความยั่งยืนของธนาคารพาณิชย์หลายแห่งเริ่มเป็นที่นิยม กองทุน ESG มีจำนวนมากขึ้นและได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ แม้ว่ายังไม่ชัดเจนว่าหลักเกณฑ์ ESG ของตลาดกับเป้าหมายการลดคาร์บอนจะตรงกันหรือไม่ หรือบางทีอาจขัดแย้งกันด้วยซ้ำ และอาจนำไปสู่การฟอกเขียว (Greenwashing)

ในสาขาพลังงาน ซึ่งเป็นสาขาที่ปล่อยคาร์บอนมากที่สุด ปัจจุบันยังมีโครงสร้างที่พึ่งพา Fossils อยู่ค่อนข้างสูง กล่าวคือ การผลิตพลังงานไฟฟ้าในไทยยังอาศัยก๊าซธรรมชาติและถ่านหินเป็นตัวขับเคลื่อนถึงกว่า 80% และใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นสัดส่วนน้อย ดังนั้นภาคพลังงานจึงมีความจำเป็นต้องลงทุนอีกเป็นจำนวนมาก ทั้งจากภาครัฐในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและระบบสายส่ง และภาคเอกชนในรูปแบบโรงไฟฟ้า IPP SPP และ VSPP รวมทั้งเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้วย

การลงทุนและการแบ่งรับภาระความเสี่ยงระหว่างรัฐกับเอกชนร่วมกันในรูปแบบ PPP น่าจะเป็นทางออกสำคัญ IPP และ SPP เป็นโมเดลความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกับเอกชนที่ประสบความสําเร็จมาแล้วในภาคพลังงาน มีความเป็นไปได้ที่จะขยาย PPP ในโครงการลดคาร์บอนในสาขาอื่นๆ ด้วย

ตลาดการเงินและสถาบันการเงินระหว่างประเทศมีเครื่องมือทางการเงินมากมายที่สามารถเสริมทรัพยากรในประเทศได้ รัฐบาลประเทศร่ำรวยประกาศใน COP 28 สนับสนุนงบประมาณแก่ประเทศกำลังพัฒนา 100,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มีบริการพิเศษที่จะช่วยส่งเสริมการลงทุนในโครงการลดคาร์บอนในประเทศกำลังพัฒนา

ประการสุดท้าย ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่โลกสีเขียว ย่อมมีกลุ่มเปราะบางที่อาจไม่สามารถรับมือกับผลกระทบได้ จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะนำรายได้ที่จัดเก็บได้เพิ่มเติมจากภาษีคาร์บอนไปช่วยเป็นมาตรการรองรับทางสังคมแก่กลุ่มคนเหล่านี้

‘กฟผ. - Metlink’ แลกเปลี่ยนความรู้เทคโนโลยีดักจับก๊าซคาร์บอนฯ ปักหมุด!! วิธี ‘ไครโอเจนิค’ เล็งต่อยอดใช้งานในโรงไฟฟ้าของ กฟผ.

เมื่อวันที่ (20 มี.ค.67) นายทิเดช เอี่ยมสาย รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน เป็นผู้แทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมลงนามสัญญารักษาความลับ Confidentiality Agreement (CA) ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและองค์ความรู้เทคโนโลยีการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยวิธีไครโอเจนิค (Cryogenic Carbon Capture: CCC) กับนายประพันธ์ อัศวพลังพรหม กรรมการและประธานบริหาร ผู้แทนจาก บริษัท เมทลิงค์ อินโฟ จํากัด (Metlink Info Co.,Ltd) โดยมีนายฉัตรชัย มาวงศ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิศวกรรมและก่อสร้างโรงไฟฟ้า กฟผ. และนายนิพนธ์ ลิ่มบุญสืบสาย ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เมทลิงค์ อินโฟ จํากัด ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ อาคาร 50 ปี กฟผ. สำนักงานใหญ่ จ.นนทบุรี

นายทิเดช เอี่ยมสาย รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน กฟผ. กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า เป็นก้าวสำคัญในการขยายองค์ความรู้ด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้กว้างขึ้น โดยการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยวิธีไครโอเจนิคหรือความเย็นยิ่งยวด Cryogenic Carbon Capture: CCC เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่น่าสนใจ สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดเพื่อใช้กับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ได้ในอนาคต และเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ Triple S: Sink ของ กฟผ. ด้วยวิธี ‘การดักจับ ใช้ประโยชน์และกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture Utilization and Storage: CCUS)’ ซึ่งจะตอบโจทย์แผน EGAT Carbon Neutrality ที่มีเป้าหมายเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 

นายประพันธ์ อัศวพลังพรหม กรรมการและประธานบริหาร ตัวแทนจาก บริษัท Metlink เปิดเผยว่า ความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยให้ กฟผ. สามารถบรรลุเป้าหมายของ CCUS ด้วยต้นทุนที่ต่ำ โดยการดักจับคาร์บอนด้วยวิธีความเย็นยิ่งยวด เป็นเทคโนโลยีทางเลือกในการดักจับคาร์บอน และกำลังได้รับการพัฒนาเพื่อใช้งานในโรงไฟฟ้า สามารถแข่งขันได้ในเชิงต้นทุน และคาร์บอนไดออกไซด์ที่ได้จากการดักจับมีความบริสุทธิ์เกือบ 100% จึงมีศักยภาพที่จะนำไปใช้งานได้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม และทางการแพทย์ เป็นต้น


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top