Saturday, 18 May 2024
เศรษฐา_ทวีสิน

ได้ฤกษ์!! 'มอเตอร์เวย์โคราช-บางปะอิน' เปิดวิ่งฟรี 80 กม.  ดีเดย์ 28 ธ.ค.นี้ อนุญาตเฉพาะรถ 4 ล้อเท่านั้น

(7 ธ.ค. 66) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตรวจติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์บางปะอิน - นครนครราชสีมา และความพร้อมที่จะเปิดให้บริการช่วงสีคิ้ว - นครราชสีมา ภายหลังตรวจติดตามฯ และรับฟังบรรยายสรุปข้อมูลโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์บางปะอิน - นครนครราชสีมา นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ตั้งแต่วันที่ 28 ธ.ค. 2566 เป็นต้นไป จะเปิดใช้ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 หรือ มอเตอร์เวย์ M6 หรือ ‘มอเตอร์เวย์โคราช-บางปะอิน’ ฟรีตลอดจนกว่าการก่อสร้าง ‘มอเตอร์เวย์โคราช-บางปะอิน’ จะแล้วเสร็จสมบูรณ์พร้อมเก็บค่าผ่านทางในปี 2568 พร้อมสั่งการให้กระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวง เปิดใช้ มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช ตอน 24 ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอปากช่อง จ.นครราชสีมา ถึง ตอน 40 อำเภอเมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา แบบไปกลับ 4 ช่องจราจร ระยะทาง 77.493 กิโลเมตร เฉพาะรถยนต์ 4 ล้อเท่านั้น ตลอด 24 ชั่วโมง และให้มีจุดบริการห้องน้ำ 1 จุด ช่วง อำเภอปากช่อง - อำเภอสีคิ้ว ที่ กม.147 ทั้งขาเข้าและขาออก

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กรมทางหลวง กำชับสำนักงานทางหลวง และแขวงทางหลวง ที่ดูแล ‘มอเตอร์เวย์โคราช-บางปะอิน’ มอเตอร์เวย์ M6 ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนที่ใช้เส้นทาง ปรับปรุงเส้นทางให้เกิดทัศนวิสัยในการมองเห็นชัดเจน มีการจัดตั้งศูนย์บริการประชาชน เพื่ออำนวยความสะดวก โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานราชการ และเอกชนในพื้นที่ ติดตั้งไฟฟ้าส่องแสงสว่างตลอดเส้นทาง รวมถึงติดตั้งป้ายเตือน ป้ายแนะนำ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน โดยเฉพาะติดตั้งป้ายระหว่างการก่อสร้าง ในช่วงที่ยังมีการก่อสร้าง ต้องมีป้ายเตือน ไฟเตือนให้เป็นไปตามระเบียบ และให้เพิ่มให้มากขึ้นในช่วงที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ

สำหรับความคืบหน้า ‘มอเตอร์เวย์โคราช-บางปะอิน’ ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2566 แผนงานความก้าวหน้าร้อยละ 92.588 ผลงานความก้าวหน้าร้อยละ 93.054 เร็วกว่าแผนร้อยละ 0.466 คาดว่าจะเปิดทดลองให้บริการช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ตั้งแต่ปากช่อง - ทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา ระยะทางประมาณ 80 กิโลเมตร 

ทั้งนี้ งานโยธาจะก่อสร้างเสร็จแล้วปลายปี 2568 โดยจะทดลองวิ่งจริงและเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ ทั้ง 196 กิโลเมตรแบบเก็บค่าผ่านทาง ส่วนโครงการก่อสร้างกำแพงบังสายตาพร้อมวัสดุปิดคลุมแบบสมบูรณ์ 700 เมตร และกำแพงบังตารวม 1,000 เมตร ช่วง กม.140+040.000 ถึง กม.140+345.000 และช่วง กม.141+045.000 ถึง 141+740.000 ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว

>> เส้นทาง ‘มอเตอร์เวย์โคราช-บางปะอิน’ ทั้งโครงการ มีแนวเส้นทางดังนี้ 

แนวเส้นทางโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ‘มอเตอร์เวย์โคราช-บางปะอิน’ มีระยะทางรวมประมาณ 196 กิโลเมตร โดยออกแบบให้มีการควบคุมการเข้าออกอย่างสมบูรณ์ มีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก (ถนนกาญจนาภิเษก) อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และไปสิ้นสุดที่บริเวณทางเลี่ยงเมืองจังหวัดนครราชสีมาด้านตะวันตก อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ระยะทางก่อสร้างรวมทั้งสิ้น 196 กม. หากเดินทางจาก กรุงเทพฯ - โคราช คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ชม.

‘นายกฯ’ ดัน ‘มวยไทย’ ซอฟต์พาวเวอร์เบอร์ 1 ของไทย เล็งต่อยอดอาชีพนักมวย - สร้างรายได้จากทุกมิติ

(8 ธ.ค. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง แถลงภายหลัง นายพิมล ศรีวิกรม์ กรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ด้านกีฬา นำผู้บริหาร One Championship พร้อม ร.ท.สมบัติ บัญชาเมฆ หรือ ‘บัวขาว บัญชาเมฆ’ และคณะ เข้าเยี่ยมคารวะนายกฯ ว่า 

“ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่ามวยไทยเป็นซอฟต์พาวเวอร์อันดับต้นของประเทศไทย เป็นกิจกรรมที่มีคำว่าไทยอยู่ด้วย และมวยไทยให้คุณค่าซอฟต์พาวเวอร์ความเป็นไทยเยอะ ตัวอย่าง ค่ายมวยไทยในประเทศอังกฤษมีประมาณ 5 - 6 พันแห่ง จึงเป็นซอฟต์พาวเวอร์อันดับ 1 ที่ถูกส่งไปทั่วโลก มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล มีการถ่ายทอดสดเป็น live Streaming รวมไปถึงการขายสินค้าและอุปกรณ์ เช่น กางเกงมวย นวม ที่ทำประโยชน์ให้ประเทศไทย กีฬามวยไทยถึงแม้นักมวยจะอายุมากถึง 41 ปี เหมือนนายบัวขาว ถ้ารักษาตัวดี ก็ยังสามารถเป็นความหวังและแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ ที่อยากเข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมมวยไทย 

นอกจากนั้น คนไทยอยากมีอาชีพที่มั่นคง เพราะหากย้อนไป 30 - 40 ปีที่แล้ว อาชีพนักมวยมีระยะสั้น อายุนักมวยที่ขึ้นชกก็สั้นบางคนแค่ 3 - 4 ปี แต่หากดูแลตัวเองดีอายุ 40 - 50 ปี ก็ยังขึ้นชกได้ หากไม่อยากชกต่อก็สามารถเอามวยไทยไปบรรจุในกิจกรรมอื่น เช่น ในวิชาพลศึกษา หรือตั้งค่ายมวยในต่างประเทศ และจะเป็นช่องทางขยายอาชีพให้กับนักมวยไทย เช่นเดียวกับนักฟุตบอล ที่ไปเป็นโค้ด หรือผู้ฝึกสอนให้กับหลายสโมสร เป็นการต่อยอดอาชีพที่มั่นคงสร้างรายได้ต่อไป จากนี้จะเป็นการคิกออฟซอฟต์พาวเวอร์อันดับ 1 ของประเทศได้”

นายเศรษฐา กล่าวว่า “รายการ One Championship มีการถ่ายทอดสดและมีผู้ชมหลายร้อยล้านคน ทำให้แปลกใจ เหตุใดมีผู้ชมจำนวนมาก ทำให้คิดว่ามวยไทยเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่มีศักยภาพสามารถไปได้อีกไกลมาก และทำรายได้ให้ประเทศ โดยเชื่อมโยงไปกับการท่องเที่ยว เช่น เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.ภูเก็ต มีการเข้าแคมป์เรียนมวยไทย ขณะที่เวทีมวยราชดำเนิน เวทีมวยลุมพินี เป็นศูนย์รวมขนาดใหญ่ใครอยากเรียนชกมวยก็มาเยี่ยม จึงต้องมีการส่งเสริม ทั้งนี้ ในวันที่ 22 ธ.ค.จะมีการแข่งขันศึกชิงแชมป์โลกมวยไทย ที่เวทีมวยลุมพินี และถ่ายทอดสดไปทั่วโลก ตนจะถือโอกาสเดินทางไปเยี่ยมชมการแข่งขัน”

ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลมีแนวทางจะผลิตนักมวยอย่างไร เพื่อส่งเสริมให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ นายเศรษฐา กล่าวว่า “ต้องมีหลายด้าน ทั้งการดูเรื่องตรวจคนเข้าเมือง ที่ต้องประสานกระทรวงการต่างประเทศ เพราะมีนักมวยไทยหลายคนอยากไปสอน และตั้งค่ายมวยในต่างประเทศ แต่ใช้วีซ่านักท่องเที่ยวทำให้ผิดกฎการเข้าเมือง ขณะที่คนที่สนใจกิจกรรมมวยไทย และอยากเข้ามาเรียนมวยไทย ทางกระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของไทย ต้องอำนวยความสะดวกให้คนที่เข้ามาคนที่เข้ามา”

เมื่อถามว่า อยากเห็นปลายทางของมวยไทยอย่างไร อยากให้มวยไทยไปทั่วโลก หรือให้นักท่องเที่ยวและนักมวยต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทย นายเศรษฐา กล่าวว่า “ที่ถามมาเป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่เราอยากสร้างรายได้เสริมให้คนที่ต้องการมาทำกิจกรรมมวยไทย ตั้งแต่ผู้ผลิตกางเกงเจ้าของสนามมวย การท่องเที่ยว สำคัญที่สุดคือต่อยอดอาชีพให้นักมวยไทย”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างการให้สัมภาษณ์ นายกฯ ได้โชว์เข็มขัดแชมป์เปี้ยนโลก WBC ขนาดย่อ ที่สวมข้อมือด้านขวาให้ผู้สื่อข่าวบันทึกภาพ ส่วนเข็มขัดของจริง ประธานสภามวยโลกจะเป็นผู้นำมาโชว์ในงานอะเมซซิ่งมวยไทย ที่จัดระหว่างวันที่ 2 - 5 ก.พ. 2567

‘เศรษฐา’ ชี้!! เดินสายทั่วโลก ช่วยดึงดูดนักลงทุนชั้นนำ ยกเคส Google ร่วมไทย นำเทคโนโลยีใหม่เอื้อ ‘ชีวิต-งาน’

‘เศรษฐา’ โชว์วิสัยทัศน์ พร้อมขอบคุณ Google ร่วมมือรัฐบาลไทย นำเทคโนโลยี มาใช้ทำงานในชีวิต เชื่อ AI-Cloud ตอบโจทย์พันธกิจ พัฒนาธุรกิจไทย ลั่น!! วันนี้สวมหมวกรัฐบาล ทำงานเชิงรุก หวังคนไทยกินดีอยู่ดี ย้ำ!! ไม่ทิ้งคนไหนไว้ข้างหลัง

(8 ธ.ค.66)  ที่ห้องแมคโนเลียบอลรูม โรงแรมวอลดอร์ฟ แอสโทเรีย กรุงเทพ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน ‘Google Digital Samart Thailand’ ว่า ขอขอบคุณผู้บริหาร Google และหลายภาคส่วนที่สำคัญ ทั้งภาคธุรกิจประชาชนคนไทยและอีกหลายท่านที่มาร่วมงานในวันนี้ถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่าง Google และรัฐบาลไทยในวันนี้การนำเทคโนโลยี Google มาใช้ในการทำงานและชีวิตประจำวันการพัฒนาขีดความสามารถและการใช้งานจำนวนมากในภาคประชาชนและธุรกิจล้วนเป็นจุดเริ่มต้นสารตั้งต้นของงานในวันนี้

นายกฯ กล่าวว่า วันนี้เป็นครั้งที่ 2 ที่ได้มาพูดในงาน Google ประเทศไทย ครั้งแรกจำได้ดีตอนอยู่ภาคเอกชนเดือนมิถุนายนปีที่แล้วประสบการณ์ของตนและ Google ทำให้ทราบว่านอกจากเป็นผู้นำทางด้านดิจิทัลแล้ว ยังใส่ใจในความแตกต่างความหลากหลายของผู้คนในสังคมหน่วยงานในภาครัฐและภาคธุรกิจขนาดใหญ่ขนาดกลางและขนาดเล็ก วันนี้ตนได้เห็นภาพชัดเจนของโครงการและการลงทุนต่างๆ ของ Google โดยเฉพาะด้าน AI และ Cloud นั้นจะตอบโจทย์พันธกิจ ของ Google ช่วยประเทศไทยและพัฒนาคนไทยและธุรกิจไทยอย่างแน่นอน 

นายกฯ กล่าวว่า วันนี้สวมหมวกใหม่ในฐานะรัฐบาลเราให้ความสำคัญในการทำงานเชิงรุกที่สร้างความอยู่ดีกินดีให้กับพี่น้องประชาชนคนไทย ซึ่งที่ผ่านมาก็พยายามดำเนินนโยบายหลังเร่งด่วนมาโดยตลอด ขณะเดียวกันขอย้ำเสมอว่าประเทศไทยอยู่ท่ามกลางความท้าทายของสภาพเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน และตนได้ออกไปเชิญนักธุรกิจทั่วโลกในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา เป็นที่ประจักษ์ดีว่าเพื่อประกาศให้โลกรู้ประเทศไทยเปิดแล้วสำหรับการทำธุรกิจ และเราจะทำให้ประเทศไทยกลับมาเป็นจุดมุ่งหมายของการลงทุนของนักลงทุนชั้นนำอีกด้วย ยกระดับเศรษฐกิจไทยให้ไปสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลนำ AI และ Cloud เข้ามาพัฒนาการให้บริการพี่น้องประชาชน นำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจมูลค่าสูงด้วยกลยุทธ์การดำเนินการที่กล่าวไปแล้วเราได้ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมในหลายมิติ

“การไปประชุมที่นิวยอร์กเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ได้พบปะกับ ประธานบริหารการลงทุนและประธานบริหารการเงิน ของ Google ซึ่งหารือถึงการทำงานร่วมกันเพื่อยกระดับเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยโดยรวม นับจากนั้นเป็นต้นมา คณะทำงานของทั้งสองฝ่าย ต้องขอขอบคุณทาง Google ประเทศไทยและทีมงานของตนที่ได้ทำงานกันอย่างหนักเชิงรุกร่วมกันอย่างเข้มแข็ง จนบรรลุถึง MOU ความร่วมมืออย่างเป็นทางการ ระหว่างไทยและ Google ที่การประชุมเอเปคกลางเดือนที่ผ่านมาความร่วมมือทั้งสองฝ่ายประกาศร่วมกัน 4 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ การต่อยอดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจดิจิทัล เช่น การลงทุนขยาย Data Center ในประเทศไทยการส่งเสริมการใช้ Cloud และ AI อย่างมีความรับผิดชอบและปลอดภัยเพื่อยกระดับการให้บริการของภาครัฐการวางหลักการเกี่ยวกับนโยบายการใช้งานระบบ Cloud เป็นหลัก หรือที่เรียกว่า Cloud first Policies และการทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงทักษะด้านดิจิทัลได้อย่างมากขึ้น” นายกฯกล่าว

นายกฯ กล่าวต่อว่า รัฐบาลได้ประกาศนโยบายการใช้ระบบ Cloud เป็นหลัก ซึ่งจะเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างแข็งแรงในยุคเศรษฐกิจ AI รัฐบาลได้จัดทำนโยบายและแผนเพื่อเป็นกรอบการขยายงานใช้งาน Cloud และเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีทั้งภาครัฐและเอกชนโดยเน้นการใช้งาน Public Ground ที่มีมาตรฐานในการดูแลข้อมูลของภาครัฐ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจะเป็นผู้เรื่องขับเคลื่อนนโยบาย เน้นบูรณาการด้านเทคโนโลยี Cloud กับการดำเนินงานของภาครัฐ ซึ่งทำให้เกิดผลได้เชิงปฏิบัติโดยเร็ว โดยอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติต่อไป

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้นอกจากจะเร่งให้เกิดการยกระดับการให้บริการในภาครัฐแล้ว ยังยกระดับขีดความสามารถของประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดหมายการลงทุนของระบบ บริษัทชั้นนำของทั่วโลก เรื่องที่ 2 เรากำลังวางแนวทางจัดแผน ในหน่วยงานรัฐและที่เกี่ยวข้องทั้งหมดให้มีมาตรฐานลดความซ้ำซ้อนเพิ่มการป้องกันการคุกคามภัยทางไซเบอร์อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาทางคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์แห่งชาติ ได้มีการคิกออฟการทำงานไปแล้ว ต้นปีหน้าเราจะเห็นแผนการทำงานที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และเรื่องที่ 3 อัปสกิล-รีสกิล ตนยินดีอย่างยิ่งที่ได้เห็นความร่วมมือกับ Google และกระทรวงและหน่วยงานราชการ ซึ่งจะพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากร และหน่วยงานภาครัฐทั้งหมดทำให้การบริการพี่น้องประชาชนได้ดียิ่งขึ้น เริ่มโครงการนำร่องใช้ในงานของภาครัฐ ความร่วมมือดังกล่าว

“ต้องขอบคุณกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่ ในการส่งเสริมผลักดันความร่วมมือกับ Google และบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำอื่นของโลกทั้งในเรื่อง AI Cloud และความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์การดำเนินการเชิงรุกของรัฐบาลยกระดับเศรษฐกิจไทยไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลยุคใหม่ และดีใจที่วันนี้เรามีการร่วมมือกับทาง Google จะทำงานกันต่อไป โดยไม่ทิ้งคนไทยคนไหนไว้ข้างหลัง” นายกฯกล่าว

ด้านนาย Karan Bajwa Vice President Asia Pacific Google Cloud กล่าวว่า จากผลการวิจัยพบว่าหากภาคส่วนและองค์กรต่างๆ ในประเทศไทยนำนวัตกรรม AI มาใช้งานจะสามารถปลดล็อกผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้อย่างน้อย 2.6 ล้านล้านบาท ภายในปี 2573 อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์แบบดั้งเดิมยังขาดความสามารถในการปรับขนาดและความยืดหยุ่น เพื่อรองรับความต้องการด้าน AI ที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ความสามารถของเทคโนโลยี Cloud AI ที่ออกแบบมาเพื่อการใช้งานระดับองค์กร โดยเฉพาะกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรม

ดังนั้น เราจึงได้ร่วมมือกับรัฐบาลไทยในการร่างนโยบาย Go Cloud First เพื่อสร้างแนวทางที่ชัดเจนขึ้นสำหรับองค์กรต่างๆ ในการเข้าถึงความสามารถเหล่านี้อย่างรวดเร็ว ภายใต้ความร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงคมนาคม และสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ เราจะดำเนินการในขั้นตอนต่อไปในการเตรียมความพร้อมให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการแก่ประชาชนในการสร้างและปรับใช้โซลูชั่น Generative AI โดยใช้ความสามารถของ Cloud AI ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการความร่วมมือ โดยมีเป้าหมายทำให้องค์กรต่างๆ ได้รับประโยชน์ที่มีอยู่ Generative AI เพื่อช่วยพลิกโฉมเศรษฐกิจประเทศไทย และสร้างประโยชน์ในวงกว้างต่อคนไทยทุกคนได้อย่างรวดเร็ว

'นายกฯ' ลั่น!! ไม่นิ่งนอนใจ หลัง PM 2.5 รุนแรงขึ้น ชี้!! กองทัพมีส่วนช่วยตลอด-ทุกภาคส่วนร่วมเร่งแก้

(13 ธ.ค. 66) ที่ศูนย์นิทรรศการ และการประชุมไบเทค บางนา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ที่ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงนี้ โดยเฉพาะพื้นที่ กทม.และปริมณฑล จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ว่า “ทราบดีอยู่ และเป็นห่วงอยู่ ได้เรียกเจ้าหน้าที่มาสั่งการว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไป แต่ตรงนี้มันก็เป็นทุกปี ซึ่งเราเองไม่ได้นิ่งนอนใจ น่าจะทราบว่าเราได้มีการคิกออฟไปแล้ว โดยเฉพาะการรณรงค์ไม่เผาป่า เราทราบดีว่าค่าฝุ่นมันจะต้องขึ้นมาสูง ซึ่งเราไม่ได้ยอมแพ้หรือนิ่งนอนใจ จะพยายามที่จะจัดการต่อไป”

ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อมีการคิกออฟไปแล้วในพื้นที่ต่างจังหวัดอย่าง จ.เชียงใหม่ แต่ที่ กทม.มีความแตกต่างกัน จะมีแนวทางหรือเรียกหน่วยงานมาสั่งการเรื่องนี้อย่างไร? นายเศรษฐา กล่าวว่า “จริงๆ มันเกิดจากการเผาด้วย ภาคกลางก็มีการเผาซากของพืชผลผลิตต่างๆ เหมือนกัน ตอนนี้ได้ให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไปดูแลอยู่ด้วย”

เมื่อถามว่า นายกฯ เคยระบุว่าจะให้ทางกองทัพเข้ามาช่วยเหลือ ตอนนี้ทางกองทัพได้เข้ามาดำเนินการอย่างไรบ้าง? นายเศรษฐา กล่าวว่า “กองทัพได้เข้ามาช่วยเหลือตลอด ทางภาคเหนือตนได้คุยกับแม่ทัพภาคที่ 3 และทางผู้บัญชาการทหารสูงสุดเพื่อให้ช่วยดูแลเฝ้าระวังเรื่องการเผาป่า”

เมื่อถามว่า จะต้องมีการพูดคุยกับภาคอุตสาหกรรม ภาคคมนาคมขนส่งด้วยหรือไม่? นายเศรษฐา กล่าวว่า “วันนี้ก็เป็นการให้องค์ความรู้อย่างหนึ่ง ซึ่งในการสัมมนาวันนี้ก็เป็นการทำให้ทุกคนทราบว่าปัญหานี้มันเกิดขึ้นกับทุกภาคส่วน ทุกคน ดังนั้น ทุกคนต้องมีส่วนในการร่วมรับผิดชอบที่จะทำให้มันน้อยลงไป”

ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้รับรายงานเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือประสานเพื่อให้มีการลดการเผาหรือไม่? นายกฯ กล่าวว่า “เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก ทั้งเมียนมาและสปป.ลาวก็เป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งเราก็พูดมาทุกปี ซ้ำแล้วซ้ำอีก เจอแล้วเจออีก แต่ทาง สปป.ลาวเราคุยกันดีมาตลอดเวลา ซึ่งมันไม่ได้เกี่ยวเฉพาะ สปป.ลาวอย่างเดียว ยังมีภาคเอกชนไปจ้างให้มีการปลูกพืชผลที่นั่นด้วยเช่นกัน จึงมีการพูดว่าถ้าอย่างนั้นถ้าจะนำพืชผลเข้ามาขายในประเทศไทย ถ้ามีการเผาที่เป็นซากหรืออยู่ที่ สปป.ลาวก็ต้องเสียภาษี เพราะฉะนั้นจะต้องมีการบริหารจัดการตรงนี้ให้ได้ และต้องพูดคุย ถือเป็นเรื่องที่รุนแรงพอสมควร ส่วนที่เมียนมาก็ต้องให้ฝ่ายทหารเข้าไปพูดคุยด้วย ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเขาเผาป่าแต่สร้างปัญหาในบ้านเรา แต่เราไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามพูดคุยตลอดเวลา”

เมื่อถามถึงมาตรการภาษีที่จะเก็บจากผู้ประกอบการ? นายกฯ กล่าวว่า “สมมติว่ามีการไปปลูกข้าวโพดที่ สปป.ลาว  และมีการนำกลับเข้ามา แล้วถ้าเราพิสูจน์ได้ว่ามีการเผาก็จะมีการเรียกเก็บภาษีเพิ่มกับผู้ประกอบการ และนำเงินดังกล่าวมาช่วยในการหยุดไฟป่าหรือการบำบัดซากพืชผลการเกษตรไปพัฒนาทำอย่างอื่นได้ เช่น เรื่องของการขนส่ง และเชื่อว่าทุกคนจะขานรับในการข้อเสนอดังกล่าว เพราะปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่ ทั้งเจ้าของกิจการ ลูกหลาน ต่างได้รับผลกระทบด้วยกันทั้งสิ้น เชื่อว่าทุกคนพยายามแก้ปัญหาเรื่องนี้กันอยู่”

‘นายกฯ เศรษฐา’ ยัน!! กดค่าไฟต่ำกว่า 4.20 บ./หน่วย เร่งดูเรื่องโครงสร้าง-แผนบูรณาการ ‘ลดค่าไฟ’ ระยะยาว

(13 ธ.ค. 66) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ได้ตอบคำถามเวที Dailynews Talk 2023 ที่ส่วนหนึ่งจากคำถามคนไทย : ความคืบหน้ามาตรการนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท, เงื่อนไขมีอย่างไรบ้าง, แจกแบบถ้วนหน้าหรือเฉพาะกลุ่ม, งบประมาณ 5.6 แสนล้านบาท เอามาจากไหน?

นายกฯ เศรษฐาตอบ : ตามที่ได้ออกแบบผ่านกลไกให้ตรวจสอบได้ ผ่านทั้งคณะกรรมการกฤษฎีกา ผ่านสภาฯ เพื่อให้ฝ่ายบริหารถูกซักถาม และให้สังคมหมดข้อกังวล โดยจะเริ่มอย่างเร็วที่สุดในเดือนพ.ค.67 แต่ในความคิดของผมอยากให้เร็วกว่านี้ แต่เพื่อให้ถูกต้อง และสบายใจ จะเริ่มเงินดิจิทัลได้คือ เดือนพ.ค.67

ส่วนแหล่งเงินที่ใช้ในโครงการเงินดิจิทัลนั้น นายกฯ ตอบว่า จะออกเป็นพ.ร.บ.เงินกู้ แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเงินดิจิทัลวอลเล็ตอย่างเดียว โดยจะมีการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้วยอีก 100,000 แสนล้านบาท เพื่อนำไปดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทย และทำควบคู่กันไปกับดิจิทัลวอลเล็ต

ขณะที่เงื่อนไขดิจิทัลวอลเล็ตที่ออกมา คือ ต้องไม่มีเงินฝากเกิน 500,000 บาท และเงินเดือนต้องไม่เกิน 70,000 บาท เป็นข้อคิดเห็นโดยนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่ควรได้ทั้งหมด คนรวยไม่ควรได้ ซึ่งตอนนี้ล่าช้าออกไปเพราะกำลังดูว่า คนรวยคืออะไร แค่ไหนถึงรวย ยังไม่มีใครบอกได้ ถึงจุดหนึ่งต้องฟันธงใครได้หรือไม่ได้อย่างไร

ด้านหนี้สาธารณะที่จะเพิ่มขึ้นนั้น ยอมรับว่าจะเพิ่มขึ้นบ้าง จากหนี้สาธารณะ 62% เป็น 64.8% ต่อจีดีพี ซึ่งยังอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง โดยจะเป็นหนี้สาธารณะส่วนหนึ่ง มีการใช้หนี้ต่อไป แต่ก็มีเรื่องการกระตุ้นลงทุนต่างประเทศ เปิดการลงทุน การค้า เพื่อให้มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) สูงขึ้น และทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะลดลงได้ เป็นหนึ่งในอีกหลายนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม

“เงินดิจิทัลกว่า 5 แสนล้านบาท ตัวคูณทางเศรษฐกิจ ทางผู้ว่าการธปท.ได้ให้ความเห็น ผมก็เห็นด้วยและถูกต้อง ถ้ามีเงินเยอะ ถ้าแจกคนรวยไป ผลคูณต่อเศรษฐกิจจะต่ำ ถ้าคนรายได้น้อยจะมีตัวคูณต่อเศรษฐกิจสูง แต่อีกมิติหนึ่งคือ ถ้าเริ่ม 1 พ.ค.67 มีกว่า 5 แสนล้านบาท จะส่งผลดีต่อภาคอุตสาหกรรมเพราะจะเร่งการผลิต มีรายได้เพิ่ม มีผลิตผลเพิ่มขึ้น เชื่อว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ และต้องใช้ให้หมดภายใน 6 เดือน จำกัดพื้นที่ จะมีความเจริญในพื้นที่ ภายใน 1 อำเภอ ซึ่งจากที่ลงพื้นที่มั่นใจว่าประชาชนต้องการส่วนนี้”

คนไทยถาม : ชาวบ้านอยากให้รัฐบาลลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ค่าน้ำมัน / ค่าก๊าซหุงต้ม / ค่าไฟฟ้า มากกว่าในปัจจุบันได้หรือไม่ / เพราะอะไร?

นายกฯ เศรษฐาตอบ : ในเรื่องราคาน้ำมันปรับตามราคาตลาดโลกอยู่แล้ว ส่วนเรื่องค่าไฟในเวลานี้กำลังดูแลด้านพลังงานให้ประชาชนอยู่ จะดูแลให้ค่าไฟต่ำกว่า 4.20 บาทต่อหน่วย เชื่อว่าภาคอุตสาหกรรมจะพอใจ เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องดูแลพี่น้องประชาชน จะทำอย่างเต็มที่ ในเบื้องต้นค่าไฟจะต่ำกว่าหน่วยละ 4.20 บาท และในระยะยาวต้องดูเรื่องโครงสร้างทั้งหมดและต้องบูรณาการร่วมกัน

“ไม่ใช่แค่เรื่องค่าไฟ โดยต้องสนับสนุนให้เกิดพลังงานสะอาดเป็นเรื่องสำคัญ ต้องการสนับสนุนให้พี่น้องประชาชนทำโซลาร์รูฟ ทำแล้วสามารถนำมาขายได้ และทำให้พลังงานสะอาดขึ้นด้วย ในเรื่องพลังงานไม่ใช่แค่ค่าไฟ แต่เป็นเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย”

สุดท้ายในเรื่องสำคัญที่ทุกคนตั้งตารอ คือ ใกล้จะปีใหม่แล้ว ท่านนายกฯ มี ‘ของขวัญพิเศษ’ ให้กับคนไทยทั้งประเทศได้เซอร์ไพรส์ไหม?

นายกฯ เศรษฐาตอบ : ผมว่ารัฐบาลนี้มาจากการเลือกตั้งของพี่น้องประชาชน เพราะฉะนั้น ความสุขของพี่น้องประชาชน สิ่งที่ประชาชนอยากได้ ทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ตระหนักดีถึงเรื่องนี้ จริง ๆ ไม่ใช่แค่ขึ้นค่าแรง ราคาพืชผล อากาศสะอาด เท่านั้น เพราะเป็นหน้าที่ของรัฐบาล เป็นสิ่งที่รัฐบาลนี้ต้องทำให้ได้

“ให้คำมั่นว่ารัฐบาลนี้จะเอาความต้องการของพี่น้องประชาชน จะเอาปัญหาพี่น้องประชาชนเป็นที่ตั้ง ครม.ทุกท่านจะทำงานอย่างเต็มที่เต็มความสามารถ จะนำปัญหาต่าง ๆ ที่พูดคุยกันในพื้นที่เอามาแก้ไขทุกปัญหาของพี่น้องประชาชนให้ได้”

‘นายกฯ’ ลั่น!! 4 ปี ปัญหายาเสพติดต้องหมดไป เตรียมประกาศเผายาบ้าครั้งใหญ่ 26 ธ.ค.นี้

(13 ธ.ค.66) ที่ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล ถนนเพลินจิต เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ร่วมงานเสวนาหัวข้อ ‘คนไทยถาม นายกฯ เศรษฐาตอบ’ ในงาน เดลินิวส์ ทอล์ก 2023 (Dailynews Talk 2023) 

เมื่อถามถึงมาตรการปราบปราม ทำไมยาบ้าราคาถูกปราบปรามไม่หมดและหาได้ง่าย และบางพื้นที่ขายเม็ดละ 30 บาท? นายกฯ กล่าวว่า “เป็นคำถามที่เราคาดหวังอยู่แล้วว่าต้องมีมาตลอดเวลาที่ลงพื้นที่เรื่องปัญหายาเสพติดแบ่งเป็น 2 ทาง คือ เรื่องซัพพลาย ที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน เราต้องตัดซัพพลายให้ได้ก่อน โดยทหารและฝ่ายความมั่นคงจะต้องตัดซัพพลายตรงนี้ หลังจากนั้นเมื่อจับและยึดได้ ตามกฎหมายเก่ามีประเด็นว่ากว่าจะเผาได้ใช้เวลานานมาก ต้องมีการพูดคุย จับมาได้ก็มีการย้ายถิ่นฐานการเก็บรักษายาบ้าไปอย่างน้อย 2 - 3 สเต็ป สังคมจึงมีข้อกังขาว่าระหว่างที่มีการย้ายมีการรั่วไหลออกไปอีกหรือไม่ ก็มีการพูดคุยกันว่าต่อไปนี้จับได้พิสูจน์ได้ให้เก็บไว้แล้วเผาทันที...

“โดยในวันที่ 26 ธ.ค.จะมีการประกาศเผายาเสพติดครั้งใหญ่ หลังจากที่เราได้ประกาศไปแล้ว และได้ไปคุยกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งประเทศลาวและกัมพูชา ได้มีการพูดคุยกันอย่างซีเรียสว่าทุกคนเห็นพ้องกันว่าต้องขจัดออกไป เราจะมีแผนงานอย่างไรให้ทำไปแล้วเท่าไหร่ ทั้งนี้ ผู้ที่ติดคุก 85% เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดทั้งหมด ฉะนั้นเป็นเรื่องที่เราต้องเห็นใจและเราต้องบูรณาการในการที่ผู้เสพ เป็นผู้ป่วยและไม่ใช่คืนเขากลับบ้านจะต้องมีวิธีการที่เราจะจะต้องให้เขามีอาชีพที่เหมาะสมและพูดคุยกับครอบครัวเขาว่าจะดูแลรักษาอย่างไรไม่ให้เขากลับไปเสพใหม่อย่างไร”

เมื่อถามต่อว่า การจัดการกับปัญหายาเสพติดมี KPI ว่าอีก 4 ปีรัฐบาลเศรษฐาจะพลิกโฉมการแก้ปัญหายาบ้าอย่างไร? นายกฯ กล่าวว่า “ที่บอกว่าปัญหาลดไป 50% หรือหมดไปพบว่าความจริงแล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราจะต้องให้เคพีไอว่าภายใน 4 ปีนี้จะต้องหมดไป”

เมื่อถามถึงนโยบายปราบผู้มีอิทธิพลและอาวุธเถื่อนกระบวนการถึงไหนแล้ว? นายกฯ กล่าวว่า “เรื่องอาวุธเถื่อน ตนว่าเรื่องนี้ถ้าไปดูที่ต่างประเทศหลายประเทศ โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเคสตัวอย่างที่จริง เขามีธุรกิจขายอาวุธปืนหรือผลิตอาวุธปืนเป็นธุรกิจที่ใหญ่มาก หลายรัฐบาลของสหรัฐไม่สามารถจัดการปัญหาอาวุธปืนและการยิงกันได้ เพราะภาคธุรกิจใหญ่กว่า เช่นที่เท็กซัสมีอุตสาหกรรมที่ใหญ่มาก ถ้าใครบอกว่าจะแบนเรื่องการเข้าถึงอาวุธปืนได้ง่าย รับรองว่าคนนั้นไม่ได้เป็นประธานาธิบดี แต่ที่ประเทศไทย ตนมองว่าเป็นปัญหาที่ง่ายมาก เพราะเราไม่อยู่อุตสาหกรรมปืน... 

“ฉะนั้นตรงนี้ก็เป็นวาระหนึ่งที่เรามีการพูดคุยกันว่าให้มีการเข้าถึงอาวุธปืนทั้งเหตุการณ์ที่ พารากอน ซึ่งฝ่ายความมั่นคงก็ได้ออกกฎหมายช่วยจัดการในเรื่องนี้ หลายคนมองว่า นักท่องเที่ยวจีนที่หลายท่านบอกว่าเดินทางเข้ามาในประเทศประเทศไทย เพราะการเข้าถึงอาวุธปืนของเรายังสูงอยู่เราก็ยอมรับเรื่องเหล่านี้และต้องแก้ไข ซึ่งเรื่องของอาวุธเถื่อนเป็นอะไรที่เรายอมรับไม่ได้ต้องไปดูที่กฎหมาย และเรื่องของผู้มีอิทธิพลเป็นเรื่องที่มีมาหลาย 10 ปีแล้ว ซึ่งก็หลายคนก็บอกว่าเรื่องการแก้ไขหนี้นอกระบบ เรื่องยาเสพติดก็มีผู้มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลังชัดเจนการที่เราแถลงนโยบายไปแล้ว โดย รมว.มหาดไทย และ รมช.มหาดไทย ประกาศชัดเจนว่าเราไม่ยอมรับของการมีผู้มีอิทธิพล เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นที่จังหวัดนครปฐมเราก็มีการบริหารจัดการ เราไม่ยอมรับอยู่แล้ว”

‘นายกฯ’ หารือ ‘รมว. METI ญี่ปุ่น’ ขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการลงทุนในอุตฯ ยานยนต์ EV และพลังงานสะอาด

(15 ธ.ค. 66) ที่โรงแรม Imperial Hotel Tokyo กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ผู้สื่อข่าวรายงานภารกิจของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในการเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 14 - 18 ธันวาคมว่า เช้าวันเดียวกันนี้นายกรัฐมนตรี พบหารือกับนายไซโต เค็น (H.E. Mr. Saito Ken) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (Ministry of Economic, Trade and Industry: METI) ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น

โดยนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง METI ต่างยินดีต่อความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ที่ใกล้ชิด โดยเฉพาะความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยภาคเอกชนญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมายาวนาน ซึ่งนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า ไทยให้ความสำคัญกับความร่วมมือทางการค้าและลงทุนกับญี่ปุ่น จึงได้จัดสัมมนา Investment Forum เพื่อนำเสนอนโยบายส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการลงทุนในไทยให้ญี่ปุ่นได้รับทราบ

นายกรัฐมนตรี ใช้โอกาสนี้ กล่าวเชิญชวนมาร่วมมือในโครงการ Landbridge เพื่อเพิ่มทางเลือกในการขนส่งให้แก่ภูมิภาค ช่วยขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาค รวมถึงเชิญชวนภาคเอกชนญี่ปุ่นให้มาร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย 

จากนั้นทั้งสองฝ่าย ได้หารือถึงความร่วมมือด้านยานยนต์ โดยนายกรัฐมนตรีจะพบปะกับผู้ประกอบการยานยนต์ของญี่ปุ่น 7 ราย เพื่อให้ความมั่นใจว่า รัฐบาลพร้อมดูแลอุตสาหกรรมยานยนต์สันดาปของญี่ปุ่น ควบคู่ไปกับการพัฒนา EV และยานยนต์สมัยใหม่ รวมทั้งไทยออกมาตรการใหม่เพื่อส่งเสริมการลงทุนในสาขายานยนต์ หวังว่าจะช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ICE ของญี่ปุ่นในไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระยะเปลี่ยนผ่าน

ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวง METI ชื่นชมในนโยบายการส่งเสริมการลงทุนของไทย และขอบคุณที่ไทยดูแลเอกชนญี่ปุ่นที่มาลงทุนในไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยพร้อมสนับสนุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น ให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น และยินดีร่วมมือกันในกรอบ Asia Zero-Emission Community (AZEC) เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน ควบคู่กับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน รวมถึงยังได้เสนอข้อริเริ่มในการจัดตั้งกลไก energy and industrial dialogue เพื่อร่วมกันพัฒนาแหล่งพลังงานสีเขียวกับไทย

'รมว.ศก.ญี่ปุ่น' ยาหอมไทย!! พร้อมหนุน 'ความสัมพันธ์-การลงทุน' ทุกด้าน หลัง 'นายกฯ เศรษฐา' โชว์วิชัน-ชวนลงทุนไทย ต่อหน้า 500 นักธุรกิจญี่ปุ่น

(15 ธ.ค. 66) ที่โรงแรมอินพีเรียลโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นายไซโต เค็น (H.E. Mr. Saito Ken) รมว.เศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อช่วงเย็นวันที่ 14 ธ.ค. เข้าเยี่ยมคารวะนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง 

จากนั้น นายเศรษฐา กล่าวปาฐกถาในงานสัมมนา 'Thailand-Japan Investment Forum' ที่จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มีนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯ และรมว.การต่างประเทศ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคมเข้าร่วมงานด้วย โดยมีนายไซโต รวมถึงนักลงทุนจากญี่ปุ่นเข้าร่วมงานกว่า 500 คน ซึ่งเป็นการสัมนาใหญ่ระหว่างสองประเทศด้านเศรษฐกิจครั้งแรกหลังสถานการโควิด-19 คลี่คลาย

โดยนายกฯ เศรษฐา กล่าวปาฐกถาตอนหนึ่งว่า ขอบคุณและถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้กล่าวถึงนโยบายเศรษฐกิจและการพัฒนาที่รัฐบาลไทยเร่งดําเนินการเพื่อเสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและยกระดับศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีโลก โดยไทยและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ทางการทูตอันดีและยาวนานกว่า 136 ปี ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศได้พัฒนาก้าวหน้าขึ้นทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ, การค้า, การลงทุน และสังคม ได้แก่...

1.คือความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศระหว่างไทยกับญี่ปุ่นที่มีกว่า 136 ปี เป็นมิตรแท้ที่มีความสัมพันธ์กันในทุกระดับ ทั้งราชวงศ์, รัฐบาลและภาคธุรกิจไปถึงภาคประชาชน มีบริษัทญี่ปุ่นลงทุนในไทยกว่า 6,000 บริษัท มีชาวญี่ปุ่นในไทย 80,000 คน

2. รัฐบาลมีแนวทางในการผลักดันเศรษฐกิจไทย วันนี้รัฐบาลมีแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ทั้งเศรษฐกิจใหม่, เศรษฐกิจดิจิทัล, เศรษฐกิจสีเขียว, อุตสาหกรรมเอไอ, การวิจัย และพัฒนาสตารท์อัปให้เติบโตในเวทีโลก ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายญี่ปุ่นที่เน้นเทคโนโลยีคุณภาพเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่บริษัทใหญ่ไปจนถึงบริษัทท้องถิ่น หวังว่าไทยจะเป็นจุดมุ่งหมายของพวกท่าน แม้เศรษฐกิจไทยจะชะลอตัว แต่รัฐบาลก็มีมาตรการกระตุ้น อัดเงินเข้าระบบ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว โครงสร้างพื้นฐาน 

ขณะที่ด้านการค้าญี่ปุ่นซึ่งเป็นคู่ค้าลำดับต้นๆ เชื่อว่าจะขยายได้อีกซึ่งครอบคลุมสินค้าได้หลากหลาย ส่วนด้านการลงทุนมีโครงการบีโอไอก็มีการส่งเสริมกว่า 4,000 โครงการ โดยการลงทุนญี่ปุ่นมีส่วนผลักดันให้เศรษกิจไทยโตอย่างต่อเนื่อง ขอขอบคุณนักลงทุนญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญกับประเทศไทย เป็นเวลา 50 ปีที่อุตสาหกรรมญี่ปุ่นขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย 

เราไม่ลืมและสนับสนุนให้แข่งขันเติบโตได้เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยีใหม่ พร้อมๆ ไปกับการส่งเสริมซอฟต์เพาเวอร์สู่ระดับสากล ด้วยการทูตเชิงวัฒนธรรม พัฒนา 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ต่อยอดภูมิปัญหา เป็นโอกาสต่อยอดของญี่ปุ่นในการพัฒนา เกมส์ ภาพยนต์ หรืออนิเมชัน ซึ่งเชื่อมั่นว่าความพร้อมด้าน Creative Industry ของไทยไม่เป็นรองใคร พิสูจน์ได้โดยรางวัลต่างๆ ทั่วโลกที่สร้างด้วยฝีมือคนไทย

ด้านอุตสาหกรรมพลังงาน ไทยมีเป้าหมายในการเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2065 จึงเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่ขอเชิญชวนญี่ปุ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ไปด้วยกัน โดยประเทศไทยมีความพร้อมด้านพลังงานสะอาด (Clean Energy) และกำลังต่อยอดอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง เช่น Green Hydrogen ที่จะกลายเป็นแหล่งพลังงานแห่งอนาคต

3. ด้านแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สําคัญของไทย รัฐบาลให้ความสำคัญกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งทางถนน, ทางน้ำ, ทางราง และทางอากาศ ยกระดับระบบคมนาคมขนส่งของ โดยมีหลายภาคส่วนที่มีความร่วมมือกับทางญี่ปุ่น ซึ่งนอกเหนือจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกอีอีซีแล้ว ขณะนี้รัฐบาลยังมุ่งมั่นที่จะผลักดันโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์) ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม มูลค่าเงินลงทุนเบื้องต้นกว่า 4 ล้านล้านเยน เพื่อสร้างเส้นทางการค้าการขนส่งใหม่ของโลกที่เชื่อมโยงมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย ด้วยท่าเรือ, ระบบราง และระบบถนน ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญของภูมิภาคและระดับโลก จึงขอเชิญชวนให้ภาคเอกชนญี่ปุ่นเข้าร่วมศึกษาและลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ เสริมสร้างความเชื่อมโยงและซัพพลายเซนในภูมิภาคให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

“สุดท้ายนี้ ผมในนามรัฐบาลไทยให้ความเชื่อมั่นว่า รัฐบาลมุ่งมั่นจะยกระดับเศรษฐกิจ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เดินหน้าขยายการเจรจาเอฟทีเอ กับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก และเร่งปรับปรุงบริการภาครัฐเพื่อทำให้การประกอบธุรกิจมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น ซึ่งวันนี้ประเทศไทยเปิดกว้างสำหรับการลงทุนจากทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนจากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นนักลงทุนรายใหญ่รายสำคัญของไทยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ไทยพร้อมสนับสนุนการลงทุนจากญี่ปุ่นทั้งรายเดิมและรายใหม่ และพร้อมร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนญี่ปุ่นในการยกระดับอุตสาหกรรม เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจใหม่ ตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อความก้าวหน้าของทั้งสองประเทศต่อไป” นายกฯ เศรษฐา กล่าว

ด้านนายไซโต กล่าวปาฐกถา ตอนหนึ่งว่า ประเทศญี่ปุ่นกับประเทศไทยเป็นพันธมิตรสำคัญร่วมสร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรมมาโดยตลอด มีอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นหลักบนพื้นฐานความไว้วางใจที่สั่งสมมายาวนานของทั้งสองประเทศ ปีนี้ครบรอบ 50 ปี แห่งมิตรภาพญี่ปุ่นอาเซียน ความร่วมมือที่ผ่านมาได้สะสมความร่วมมือและสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมาโดยตลอด เพื่อสร้างอนาคตร่วมกันในอีก 50 ปีข้างหน้า โดยจะมุ่งเน้นใน 3 ประเด็น คือ...

1. การสร้างอุตสาหกรรมในอนาคต เปิดสายงานที่ญี่ปุ่นถนัด เช่น พลังงานสะดาด รถยนต์ในยุคต่อไป การบินและอวกาศ รวมถึงการแพทย์ขั้นสูง 

2. ความมั่นคงด้านพลังงาน และลดคาร์บอนไปพร้อมกับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ซึ่งหวังว่าการประชุมครั้งนี้จะผลักดันความร่วมมือให้เป็นรูปธรรมในการลดคาบอน เพราะญี่ปุ่นกำลังดำเนินการกับไทยอยู่หลายโครงการ 

และ 3. คือการพัฒนาบุคคลที่เป็นพื้นฐานความร่วมมือเพื่อสร้างอนาคต มีการเริ่มโครงการแลกเปลี่ยนนักธุรกิจรุ่นเยาว์ เพื่อให้มีความสัมพันธ์ร่วมกันเหมือนที่เรามีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่มั่นคงและความไว้วางใจซึ่งกันและกันตั้งแต่รุ่นก่อน

นายไซโต กล่าวอีกด้วยว่า อย่างไรก็ตามในส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์ ผู้ผลิตญี่ปุ่นได้เข้ามาไทยในช่วงปี 1960 ตั้งแต่นั้นมา 60 ปี มีการสร้างงานร่วมกันในอุตสาหกรรมนี้อย่างมั่นคง แต่วันนี้อุตสาหกรรมยานยนต์มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ มีการลงทุนของสหรัฐอเมริกาและจีนเพิ่มมากขึ้น การแข่งขันระดับโลกทวีความรุนแรง ญี่ปุ่นต้องการให้อาเซียนโดยเฉพาะไทยที่ถูกขนาดนามว่าดีทรอยต์อาเซียนที่แข็งแกร่ง เป็นที่สร้างยานยนต์ในยุคต่อไปเพื่อให้แข่งขันในโลกได้ เพราะนอกเหนือจากรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว ยังมีรถยนต์ไฮโดรเจน และเอสทานอล ที่ต้องพัฒนาในเรื่องเหล่านี้ และต้องจับตาดูการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลกและพัฒนายานยนต์เชิงกลยุทธ์ และจับตาตลาดส่งออกยุโรป ที่ต้องการลดคาร์บอนในกระบวนการผลิต ซึ่งจะต้องตอบสนองในเรื่องดังกล่าว และอยากทำงานให้ครอบคลุมกับประเทศไทย โดยร่วมมือกับนายเศรษฐา และรัฐบาลไทยสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ของสองประเทศ และเร่งสร้างศูนย์การผลิตและการส่งออกรถยนต์อันดับหนึ่งของโลกในยุคต่อไป และไม่ใช่แค่รถยนต์แต่ยังจะทำงานแข็งขันเพื่อกระชับความสัมพันธ์การลงทุนของทั้งสองประเทศในด้านต่าง ๆ ด้วย

‘พิธา’ วิเคราะห์ผลงาน 100 วันแรก ‘รบ.เศรษฐา’ มีตั้งแต่ ‘คิดดีทำได้’ ไปจนถึง ‘คิดอย่างทำอย่าง’

(15 ธ.ค. 66) ที่อาคารอนาคตใหม่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงข่าววาระ 100 วัน วิเคราะห์ผลงานรัฐบาลเศรษฐา พร้อมชงข้อเสนอที่ต้องปรับปรุงสำหรับการทำงานของรัฐบาลสำหรับปี 2567 ข้างหน้า

พิธา ระบุว่า 100 วันแรกเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมาก ในการสะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการรักษาสัญญาที่มีไว้ให้กับประชาชนก่อนที่จะมาเป็นรัฐบาล ในฐานะโรดแมปในการบริหาร ตามงาน และการสั่งงานของรัฐบาล และในฐานะการบริหารความคาดหวังและความเชื่อมั่นของประชาชนและนักลงทุนจากต่างประเทศ ด้วยข้อจำกัดทั้งเรื่องเวลาและงบประมาณแผ่นดิน รัฐบาลทั่วโลกจึงจำเป็นจะต้องมีโรดแมปว่า 100 วันแรกจะมีการขับเคลื่อนอย่างไรได้บ้าง

สำหรับภาพใหญ่ พรรคก้าวไกลวิเคราะห์ผลงานของรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ในช่วง 100 วันแรกด้วยระบบ ‘5 คิด’ ซึ่งสะท้อนให้เห็นทั้งข้อดีและข้อด้อยของการทำงานที่ผ่านมา ประกอบด้วย...

1) “คิดดีทำได้” คือการบริหารผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล ซึ่งต้องชื่นชมรัฐบาลและขอบคุณไปยังกระทรวงการต่างประเทศในการตั้งทีมเจรจา รวมถึงทีมเจรจาของทางรัฐสภาที่นำโดยอาจารย์วันนอร์ ที่ทำให้คนที่ถูกลักพาตัวไปได้รับการปล่อยตัว 23 คน การเยียวยาอนุมัติงบประมาณ 50,000 บาทต่อราย และการออกสินเชื่อเพื่อให้แรงงานไทยสามารถคืนถิ่นได้

แต่สิ่งที่อยากฝากรัฐบาลให้ทำต่อ คือการช่วยเหลือตัวประกันที่ยังอยู่กับฮามาสอีก 9 คน รวมถึงการอนุมัติเงินเยียวยาและการส่งต่อให้กับพี่น้องแรงงาน และหวังว่าสิ่งที่ได้ทำไปแล้วนี่จะเป็นการถอดบทเรียน ในกรณีที่เกิดความรุนแรงในพื้นที่อื่นของโลกอีกในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นในการอพยพ การขนแรงงานกลับประเทศ การช่วยเหลือพี่น้องแรงงานในเรื่องเกี่ยวกับเงินทองค่าใช้จ่าย ก็หวังว่ารัฐบาลจะสามารถต่อยอดและทำเรื่องนี้ให้ดีขึ้นได้ในภายภาคหน้า

2) “คิดไปทำไป” โดยเฉพาะนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งตนเข้าใจว่าในการทำนโยบายบางครั้งจำเป็นที่จะต้องมีความยืดหยุ่นและไม่สามารถที่จะคิดจบในครั้งเดียว เราเห็นด้วยกับความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นและการพัฒนาเทคโนโลยี แต่งบประมาณที่ใช้จำนวนมากมายถึง 500,000 ล้านบาทไม่ควรที่จะกระทบพื้นที่ทางการคลังในการแก้ไขปัญหาที่แท้จริงของบ้านเมือง

ที่ผ่านมา นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตมีการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอย่างน้อย 4 ครั้ง แสดงให้เห็นอาการของการคิดไปทำไป ก่อนเลือกตั้งมีการอธิบายว่าจะใช้เงินจากงบประมาณแผ่นดินโดยไม่ต้องมีการกู้ แต่พอเป็นรัฐบาลก็บอกว่าจะใช้งบประมาณนอกจากธนาคารออมสิน แต่หลังจากนั้นกฤษฎีกาก็บอกว่าผิด พ.ร.บ.ออมสิน ไม่สามารถใช้เงินจากธนาคารออมสินได้ ก็เลยเกิดการเปลี่ยนครั้งที่สองในเรื่องที่มาของเงิน จำเป็นต้องใช้เงินจากงบผูกพัน ซึ่งต่อมาธนาคารแห่งประเทศไทยก็บอกว่าผิด พ.ร.บ.เงินตรา ทำให้ต้องคิดไปทำไปในครั้งที่สาม เป็นการใช้งบประมาณบวกกับ พ.ร.บ.เงินกู้ แต่ก็มีการเปลี่ยนอีกเป็นครั้งที่สี่มาสู่การใช้เงินจาก พ.ร.บ.เงินกู้ 100% 

ทั้งนี้ ถ้าดูการเปลี่ยนครั้งที่สี่เทียบกับสิ่งที่ได้สัญญาก่อนเลือกตั้งไว้ ก็จะเห็นได้ถึงความแตกต่างกันอย่างชัดเจน นี่คือการคิดไปทำไป ซึ่งไม่ได้มีแค่เรื่องที่มาของงบประมาณเท่านั้น เรื่องของการใช้เทคโนโลยีก็เช่นกัน ก่อนเลือกตั้งบอกจะใช้ซุปเปอร์แอปและเทคโนโลยีบล็อกเชน ผ่านไปก็บอกจะใช้แอปฯ เป๋าตังและจะใช้บล็อกเชนเป็น Backup เป้าหมายจาก 56 ล้านคนก็เปลี่ยนมาเหลือ 50 ล้านคน จากที่จะเริ่มช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ก็เปลี่ยนไปเป็นเริ่มที่เดือนพฤษภาคม 2567 เป็นต้น

พิธา กล่าวต่อไปว่า ดิจิทัลวอลเล็ตเป็นนโยบายที่ใช้งบประมาณสูง เป็นการไปเบียดบังงบประมาณส่วนที่สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาเรื่องอื่นๆ ในระยะยาวต่อได้ แต่รัฐบาลกลับไม่ได้คิดอย่างตกผลึกและมีการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ทำให้เกิดความสับสนในสังคมและในกลุ่มของตลาดทุนด้วยเช่นเดียวกัน

ดังนั้น สิ่งที่เราคาดหวังจากรัฐบาล คือการมี “แผนสอง” ในกรณีที่ดิจิทัลวอลเล็ตไม่สามารถทำได้หรือติดปัญหาในการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ในปีหน้ารัฐบาลควรที่จะมีความชัดเจนและไม่มีการปรับเปลี่ยนอีกแล้วถ้ายังยืนยันจะทำดิจิทัลวอลเล็ต แต่ถ้าไม่ได้เป็นดิจิทัลวอลเล็ตก็ควรจะเกาให้ถูกที่คันและเลือกที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนจากทางรัฐบาลเอง

“อย่าลืมว่าจีดีพีมาจากการบริโภค บวกการลงทุนภาคเอกชน บวกการลงทุนภาครัฐ บวกส่งออก ลบนำเข้า ไม่จำเป็นที่จะต้องกระตุ้นจากการบริโภคอย่างเดียว การลงทุนก็สำคัญ การบริหารการส่งออกในช่วงเศรษฐกิจโลกแบบนี้ก็สำคัญ เพราะฉะนั้น เรามีวิธีการกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากกว่าสิ่งที่ทำอยู่ ในกรณีที่ไม่สามารถทำได้ก็ควรที่จะมีแผนสองได้แล้ว” พิธากล่าว

3) “คิดสั้นไม่คิดยาว” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายของประชาชนอย่างค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน หรือค่าเดินทางจากการขนส่งสาธารณะ สิ่งที่รัฐบาลได้ทำไปแล้วในระยะสั้นมีทั้งการลดค่าไฟลงมาอยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย ตั้งแต่เดือนกันยายนถึงธันวาคม โดยใช้วิธีการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ แบกภาระหนี้ค่าเชื้อเพลิง ในขณะเดียวกันเมื่อไม่นานมานี้ก็มีมติของคณะกรรมการพลังงานออกมา เคาะค่าไฟอยู่ที่ 4.68 บาท เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 เป็นต้นไป เพื่อที่จะชำระหนี้ที่แบกไว้ในอดีต ซึ่งนายกรัฐมนตรีออกมาบอกว่าสูงเกินไปและต้องการลดลงมาอยู่ที่ 4.20 บาท นี่แสดงให้เห็นว่าหลายครั้งที่นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการในการประชุม ครม. แต่ไม่ได้มีการตามงานต่อ ว่าในการที่จะลดให้ได้ถึงราคาที่เป้าหมายนั้นต้องทำอย่างไรบ้างและข้าราชการต้องทำอย่างไรบ้าง อีกสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว คือการลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าเหลือ 20 บาทตลอดสายสำหรับรถไฟสายสีม่วงและสายสีแดง โดยมีประชาชนที่ได้รับผลประโยชน์ประมาณ 80,000 คน หรือเพียง 5% ของผู้ใช้รถไฟฟ้าทั้งหมด

แต่สิ่งที่ควรจะเป็นและเราคาดหวังจากรัฐบาล ในส่วนของค่าพลังงาน ก็คือการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติระหว่างโรงงานไฟฟ้าและโรงงานปิโตรเคมี ถ้าสามารถหาค่าเฉลี่ยหรือเอาก๊าซที่ถูกกว่าให้โรงไฟฟ้าใช้ผลิตให้กับประชาชน ก็จะสามารถลดค่าไฟลงได้ถึง 70 สตางค์ต่อหน่วย รวมถึงการเจรจากับผู้ประกอบการรายใหญ่ ในกรณีค่าพร้อมจ่ายที่เกิดขึ้นแม้ไม่มีการผลิตไฟ ที่ประชาชนยังจะต้องจ่ายค่าพร้อมจ่ายอยู่ประมาณ 15 สตางค์ต่อหน่วย ขณะเดียวกันปีหน้ารัฐบาลควรประกาศทบทวนการอนุญาตโรงงานไฟฟ้าขนาดใหญ่ในการผลิตกำลังไฟสำรองที่ไม่มีความจำเป็น และควรกระจายโอกาสในการผลิตพลังงานสะอาดผ่านโซลาร์เซลล์ให้มากขึ้น

ในส่วนของค่าโดยสาร สิ่งที่สำคัญคือการคมนาคมสาธารณะไม่ได้มีแค่รถไฟ ถ้าเรามองภาพใหญ่คนส่วนใหญ่จำนวนมากยังใช้รถเมล์และเรือ การทำให้การขนส่งสาธารณะมีความสะดวก การพัฒนาระบบตั๋วร่วม ฯลฯ ก็เป็นสิ่งที่น่าจะคิดยาวเพื่อแก้ปัญหาให้คนกลับมาใช้ขนส่งสาธารณะมากขึ้น แต่ถ้าจะมองในแง่ของรถไฟเพียงอย่างเดียว สิ่งที่รัฐบาลจะเกาแล้วถูกที่คันก็คือรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีเขียว และแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ที่มีผู้ใช้งานจำนวนมากที่สุด

4) “คิดใหญ่ทำเล็ก” โดยเฉพาะนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญในการเพิ่มความคิดสร้างสรรค์และความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทย ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วคือการตั้งคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ การเคาะงบประมาณ 5,164 ล้านบาทสนับสนุน 11 อุตสาหกรรม การเสนอตั้ง THACCA (Thailand Creative Content Agency) การเสนอตั้งศูนย์บ่มเพาะอัพสกิล-รีสกิล สำหรับแรงงาน 20 ล้านคน โดยมีเป้าหมายปีแรกที่ 1 ล้านคน และการทำวินเทอร์เฟสติวัลและสงกรานต์ตลอดเดือนเมษายน

ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่ในสิ่งที่ควรจะเป็นและเป็นสิ่งที่รัฐบาลได้เคยสัญญาไว้กับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ คือการเพิ่มเสรีภาพในการสร้างคอนเทนต์สร้างสรรค์ เช่น การเสนอแก้ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ การเพิ่มสิทธิเสรีภาพในกาสร้างสรรค์ผลงาน ที่รัฐบาลให้สัญญาไว้ว่าจะทำใน 100 วันแรกที่เป็นรัฐบาล การตั้ง THACCA ถ้าต้องการที่จะทำจริงๆ ต้องเรียนรู้จากสิ่งที่รัฐบาลเกาหลีทำกับ KOCCA นั่นคือการตั้งด้วย พ.ร.บ. ไม่ใช่แค่การพูดถึงว่าจะตั้งสถาบันส่งเสริมขึ้นมา รัฐบาลควรที่จะใช้เวลา 100 วันแรกที่ผ่านไปแล้วในการยื่น พ.ร.บ. ตั้ง THACCA เพื่อจะได้เห็นภาพได้ชัดว่าการบริหารจัดการสถาบันอันใหม่มีอำนาจรองรับ และสามารถทำให้คนที่อยู่ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์มองเห็นได้ว่า THACCA กับสิ่งที่มีอยู่เดิมในการบริหารจัดการเศรษฐกิจสร้างสรรค์จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร

ทั้งนี้ การแก้กฎหมายอาจใช้เวลานาน แต่การเสนอเข้าไปก็จะทำให้เห็นถึงความตั้งใจของว่ารัฐบาล ว่าจะทำงานอย่างไรต่อไป อีกทั้งยังมีกฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศในระดับกระทรวงที่สามารถเสนอลดขั้นตอนการขออนุญาตกองถ่ายหรือในการจัดเฟสติวัลได้ ซึ่งสามารถทำได้ทันทีโดยอำนาจของ ครม. และอำนาจของรัฐมนตรี นี่ก็เป็น Quick Win ที่เราอยากเห็นจากการดำเนินงานของรัฐบาล รวมถึงการสนับสนุนการรวมตัวของแรงงานฟรีแลนซ์ที่อยู่ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์หรือกระทั่งสื่อมวลชน ที่ พ.ร.บ.แรงงาน ของพรรคก้าวไกลได้เสนอเข้าไปสู่สภาฯ แล้ว ถ้ามีการพิจารณาตรงนี้จะทำให้คนทำงานฟรีแลนซ์สามารถรวมตัวกันและเรียกร้องสวัสดิการ เพื่อให้มีแรงผลักดันในการสร้างผลงานที่สร้างสรรค์ต่อไป

เรื่องของ 11 อุตสาหกรรมที่รัฐบาลได้พูดไว้ เรื่องของอาหารเป็นหนึ่งในนั้น สิ่งที่เป็นควิกวิน (Quick Win) ที่รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสามารถทำได้เลยก็คือการแก้กฎกระทรวงให้เกิดสุราก้าวหน้า แก้แค่ว่าการผลิตแอลกอฮอล์นั้นไม่สามารถที่จะใช้กฎหมายในการกีดกันด้วยเงินทุน จำนวนผู้ผลิต หรือจำนวนแรงม้า ก็สามารถที่จะทำให้ผู้ประกอบการที่มีเรื่องราว ความคิดสร้างสรรค์ ภูมิปัญญา สามารถที่จะเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณเลย

สุดท้ายสิ่งที่เกาหลีได้ทำในการสร้าง K-Wave คือการทำคูปองเปิดโลก 2,000 บาท ในการกระตุ้นอุปสงค์ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ดนตรี หนังสือ พิพิธภัณฑ์ ฯลฯ ได้ทันที รวมถึงการเพิ่มรอบฉายของภาพยนตร์ไทย สามารถเพิ่มรอบฉาย 30% ของรอบฉายที่อยู่ในโรงหนังทั้งหมด สามารถเพิ่มทั้งในแง่อุปทานและอุปสงค์ของอุตสาหกรรมนี้ได้โดยเร็ว ภายใน 100 วันแรกเช่นเดียวกัน

5) “คิดอย่างทำอย่าง” เป็นเรื่องเกี่ยวกับนโยบายการเมือง ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในการแก้รัฐธรรมนูญ คือการตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางในการทำประชามติ ซึ่งก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะทำประชามติกี่รอบและคำถามจะเป็นอย่างไร และยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมี สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง 100% หรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจพอสมควร เพราะในการทำงานร่วมกันในฐานะฝ่ายค้านร่วมระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลในอดีตที่ผ่านมา ก็ค่อนข้างชัดเจนว่าเราเห็นตรงกัน 90% ไม่ว่าจะเป็นที่มาของ สสร. หรือกระบวนการทำประชามติ แน่นอนว่าอาจจะมี 5-10% ที่อาจจะเห็นต่างกันบ้างในรายละเอียด แต่พอพรรคเพื่อไทยเข้าสู่อำนาจกับขั้วตรงข้ามที่ไม่อยากเห็นการแก้รัฐธรรมนูญ การปฏิรูปกองทัพ ฯลฯ ก็เกิดความไม่ชัดเจน เกิดความคิดอย่างทำอย่างขึ้น

ในขณะที่สิ่งที่ควรจะเป็นนั้น ค่อนข้างชัดเจนว่าจากการศึกษาในรัฐสภาครั้งที่เเล้ว รวมถึงการพูดคุย ดีเบต ทำสัญญาประชาคมกับประชาชนในการหาเสียงที่ผ่านมา การทำประชามติควรที่จะมี 1+2 คำถาม คือจะให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดย สสร. หรือไม่, สสร. ควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดหรือไม่ และ สสร. ควรมีอำนาจพิจารณาแก้ร่างรัฐธรรมนูญทุกหมวดหรือไม่ ซึ่งจะทำให้เกิดการรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน ในการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดความยุติธรรมการเข้าถึงอำนาจอย่างตรงไปตรงมา

พิธา กล่าวต่อไป ว่าสุดท้ายนี้ตนอยากเสนอความคาดหวังต่อรัฐบาลในปีหน้าที่สะท้อนมาจากประชาชน ในปีหน้าจะมีปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาสังคมเรื่องใหญ่ๆ ที่เป็นเรื่องร้อนที่รัฐบาลต้องแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการลงทุนในเมกะโปรเจกต์อย่างแลนด์บริดจ์ การปฏิรูปการศึกษา ปัญหาเรื่อง pm2.5 ปัญหาภัยแล้งที่ปีหน้าน่าจะหนักเป็นประวัติการณ์

1) เราต้องการเห็นโรดแมป 1 ปี ที่สะท้อนให้เห็นว่าวิสัยทัศน์ เป้าหมาย และแผนในการปฏิบัติคืออะไร โรดแมปที่ดีก็คือการมีแผนที่ชัดเจนในการทำงาน ให้ประชาชนสามารถติดตามได้ มีเป้าหมาย KPI ที่ชัดเจน

2) มีกระบวนการทำงานที่เป็นมืออาชีพในการผลักดัน จะมีเป้าหมายอย่างไรและจะมีกระบวนการไปถึงเป้าหมายนั้นอย่างไร

3) การทำงานของรัฐบาลผสมที่ต้องทำงานให้เป็นเอกภาพมากกว่านี้

4) การศึกษาโครงการสำคัญๆ อย่างละเอียด เช่น เมกะโปรเจกต์อย่างแลนด์บริดจ์ ต้องมีความชัดเจนและมีระยะเวลาที่ชัดเจน

“หากทำได้ตามนี้ ก็มั่นใจว่าจะทำให้การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลในปีหน้าสามารถเรียกความเชื่อมั่น และแสดงความมุ่งมั่นให้ประชาชนได้เห็นถึงความตั้งใจของรัฐบาล ที่จะรักษาสัญญาที่มีไว้กับประชาชนในการหาเสียง รวมทั้งสามารถบริหารได้ดีขึ้น และสุดท้ายก็จะสามารถเรียกความเชื่อมั่นจากทางประชาชนทั้งในประเทศและนอกประเทศได้ไม่มากก็น้อย” พิธากล่าว

ทั้งนี้ หลังการแถลงจบลง สื่อมวลชนได้ถามพิธาว่าให้คะแนนรัฐบาลใน 100 วันแรกผ่านหรือไม่ผ่าน ซึ่งพิธาระบุว่า ผ่านบ้างไม่ผ่านบ้าง มีบางเรื่องที่ทำได้ดีแล้วก็ขอให้ทำต่อ บางเรื่องที่ทำแล้วยังมีข้อที่จะต้องพัฒนาปรับปรุงก็หวังว่ารัฐบาลจะรับฟังข้อเสนอของฝ่ายค้านอย่างสร้างสรรค์ และฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชน

นอกจากนี้ ยังมีการถามถึงการคาดการณ์สถานการณ์เศรษฐกิจในปี 2567 ซึ่งพิธาระบุว่าตามที่มีสื่อมวลชนวิเคราะห์ออกมา ปีหน้ารัฐบาลมีความท้าทายทั้งในเรื่องการเติบโตของจีดีพี เรื่องดิจิทัลวอลเล็ตที่อยู่ในกฤษฎีกา การกระตุ้นการท่องเที่ยวที่ทำรายได้รวมไม่ถึง 4 แสนล้านบาทตามเป้าหมาย ถึงแม้จะมีนักท่องเที่ยวกลับมาแล้วถึง 27 ล้านคนแล้วก็ตาม การกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน ที่คาดไว้ว่าในระดับประเทศอื่นจะอยู่ที่ 60% แต่ประเทศไทยกลับมาแค่ 40% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่านโยบายฟรีวีซ่ายังไม่เพียงพอ

คำตอบจึงขึ้นอยู่กับการทำงานของรัฐบาล ถ้าฟังประชาชนและฟังเพื่อนนักการเมืองบ้าง ว่ารัฐบาลควรจะต้องทำงานอย่างมีโรดแมป มีแผน 1 ปี และมีแผนปฏิบัติการได้แล้ว แต่ละไตรมาสจะทำอะไรบ้าง กฎหมายสำคัญที่จะต้องยื่นเข้าสู่สภาเพื่อให้รัฐบาลสามารถทำงานได้คืออะไรบ้าง

“ผมเห็นหลายครั้งว่ารัฐบาลเน้นเรื่องเกี่ยวกับการแก้ปัญหาปากท้อง แต่ พ.ร.บ. ที่เกี่ยวข้องต่างๆ ที่จะสามารถยื่นเข้าไปก็ยังไม่เห็นภาพตรงนี้ ก็ไม่แน่ใจว่าจะสามารถทำอะไรให้เป็นเรื่องของการแก้ทางโครงสร้างหรือการแก้ทางต้นตอได้ เพราะต้องยอมรับว่าปัญหาเศรษฐกิจหลายเรื่องไม่ได้มีแต่เพียงแค่เรื่องการขาดงบประมาณหรือขาดวิสัยทัศน์ แต่มีกฎหมายเก่าที่ไม่เอื้ออำนวย ตรงนี้ก็อยากเห็นความชัดเจนในหลายๆ ด้านในการทำงานปีหน้า” พิธากล่าว

'เศรษฐา-สุริยะ' โชว์จุดแข็ง 'แลนด์บริดจ์' โน้มน้าวใจนักลงทุนญี่ปุ่น  ลด 'ต้นทุน-เวลา' ขนส่ง เล็งให้สัมปทานยาว 50 ปี คืนทุนใน 24 ปี

(18 ธ.ค. 66) ที่ห้องซากุระ โรงแรมอิมพีเรียล โตเกียว นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เป็นประธานการเปิดสัมมนางานภาพรวมของโครงการแลนด์บริด์จ และโอกาสทางธุรกิจ ซึ่งมีบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นเกือบ 30 บริษัทให้ความสนใจร่วมเข้ารับฟัง โดยมีนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯ และรมว.ต่างประเทศ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมด้วย

โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณทุกคนที่เข้าร่วมงาน ‘Thailand Landbridge Roadshow’ ในวันนี้ ซึ่งโครงการแลนด์บริดจ์เป็นโครงการที่รัฐบาลไทยได้ริเริ่มขึ้น จากโอกาสและศักยภาพของไทยที่จะเป็นศูนย์กลางการค้าและการขนส่งของภูมิภาค และในอนาคตอาจจะเป็นศูนย์กลางการค้าและการขนส่งอีกแห่งหนึ่งของโลก

นายกฯ ยังได้นำเสนอข้อมูลของโครงการว่าทวีปเอเชียมีมูลค่าการส่งออกและนำเข้าสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 40% รองลงมาเป็นทวีปยุโรปที่มีมูลค่าการส่งออกและนำเข้าอยู่ที่ประมาณ 38% ซึ่งการค้าขายส่วนใหญ่จะอาศัยการขนส่งทางเรือเป็นหลัก เนื่องจากขนส่งได้ในปริมาณมากและประหยัดที่สุด และการเดินเรือสินค้าระหว่างเอเชียกับยุโรปนั้นส่วนใหญ่จะใช้เส้นทางผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งช่องแคบมะละกาจัดได้ว่าเป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าทางทะเลหลักในภูมิภาค โดยตู้สินค้าผ่านช่องแคบมะละกามีสัดส่วนร้อยละ 25 ของจำนวนตู้สินค้าที่ขนส่งทั่วโลก และการขนส่งน้ำมันผ่านช่องแคบมะละกามีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 60 ของการขนส่งน้ำมันทั่วโลก 

ซึ่งช่องแคบมะละกามีปริมาณการเดินเรือที่คับคั่ง และแออัดมากที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง ทำให้ปริมาณการขนถ่ายตู้สินค้า หรือตู้คอนเทนเนอร์ที่เกิดขึ้นในท่าเรือต่างๆ ที่อยู่บริเวณช่องแคบมะละกามีอยู่ประมาณ 70.4 ล้านตู้ต่อปี และจำนวนเรือที่เดินทางผ่านช่องแคบมะละกามีประมาณ 90,000 ลำต่อปี คาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2030 ปริมาณเรือจะเกินกว่าความจุของช่องแคบมะละกา และจะประสบปัญหาตู้สินค้าจำเป็นต้องรอที่ท่าเรือ เพื่อรอเรือเข้ามาทำการขนถ่ายตู้สินค้า ทำให้เกิดค่าเสียโอกาส และการเพิ่มขึ้นของต้นทุนจากความล่าช้า

นายกฯ กล่าวอีกว่า ไทยได้เห็นโอกาสในการพัฒนาเส้นทางที่ช่วยบรรเทาผลกระทบ โดยใช้ทำเลที่ตั้งที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในใจกลางคาบสมุทรอินโดจีน ที่สามารถพัฒนาให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย ไทยจึงเชื่อว่าโครงการแลนด์บริด์จเป็นเส้นทางเลือกที่สำคัญ ที่จะรองรับการขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้น โดยมีความได้เปรียบของเส้นทางที่ประหยัดกว่า เร็วกว่า และปลอดภัยกว่า เมื่อเปรียบเทียบต้นทุนและระยะเวลาสำหรับการขนส่งตู้สินค้าผ่านแลนด์บริดจ์ กับผ่านช่องแคบมะละกาแล้วนั้น พบว่า กลุ่มเป้าหมายหลักของเรือขนส่งตู้สินค้าที่จะเข้ามาใช้แลนด์บริดจ์ ได้แก่ เรือขนส่งตู้สินค้าขนาดกลาง (Feeder) ที่ขนส่งตู้สินค้าระหว่างประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดีย

ทั้งนี้ ในปัจจุบันการขนส่งตู้สินค้าจากประเทศผู้ผลิตในกลุ่มเอเชียตะวันออก อาทิ ญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ ไปยังประเทศผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียกลาง และตะวันออกกลาง ตู้สินค้าส่วนใหญ่จะถูกขนส่งมาโดยเรือขนาดใหญ่ (Mainline) แล้วมาเปลี่ยนถ่ายตู้สินค้าลงเรือ (Feeder) ที่ท่าเรือในช่องแคบมะละกา เพื่อขนส่งไปยังประเทศผู้บริโภค ซึ่งในอนาคตเมื่อมีโครงการแลนด์บริดจ์ ตู้สินค้าเหล่านั้นจะเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากประเทศผู้ผลิตโดยใช้เรือ Feeder แล้วมาเปลี่ยนถ่ายตู้สินค้าลงเรือ Feeder อีกลำที่ แลนด์บริดจ์ ซึ่งจะสามารถประหยัดต้นทุนขนส่งได้อย่างน้อย 4% และประหยัดเวลาได้ 5 วัน

นายกฯ กล่าวต่อว่า สำหรับสินค้าซึ่งผลิตจากประเทศผู้ผลิตในแถบทะเลจีนใต้ เช่น จีนด้านตะวันออก ไต้หวัน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มายังประเทศผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียกลาง และตะวันออกกลาง ส่วนใหญ่จะใช้การขนส่งโดยเรือ Feeder แล้วมาถ่ายลำที่ท่าเรือในช่องแคบมะละกา ไปลงเรือ Feeder อีกลำ เพื่อขนส่งตู้สินค้าไปยังประเทศผู้บริโภค ซึ่งเมื่อมีโครงการแลนด์บริดจ์ ตู้สินค้าเหล่านั้นจะมาถ่ายลำที่แลนด์บริดจ์ ซึ่งจะสามารถประหยัดต้นทุนขนส่งได้อย่างน้อย 4% และประหยัดเวลาได้ 3 วัน

นายกฯ กล่าวอีกว่า ในกลุ่มสินค้าอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ผลิตขึ้นในประเทศไทย ลาว กัมพูชา เมียนมา และประเทศจีนตอนใต้ สามารถขนถ่ายตู้สินค้าผ่านโครงข่ายคมนาคมทางบกของไทย ไปออกที่ แลนด์บริดจ์ ด้วยเรือ Feeder ไปยังประเทศผู้บริโภคต่าง ๆ เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ประเทศในเอเชียกลาง และประเทศในตะวันออกกลาง โดยโครงการแลนด์บริดจ์ จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายจากเดิมได้มากถึง 35% และประหยัดเวลาได้มากถึง 14 วันดังนั้น เฉลี่ยแล้วการขนส่งตู้สินค้าในทุกเส้นทางดังกล่าว ผ่านแลนด์บริดจ์ จะช่วยลดระยะเวลาการเดินทางได้ 4 วัน และลดต้นทุนได้ 15% ซึ่งจากการคาดการณ์ปริมาณตู้สินค้าทั้งหมดที่จะผ่านท่าเรือฝั่งตะวันตกของโครงการแลนด์บริดจ์ จะอยู่ที่ประมาณ 19.4 ล้านตู้ และผ่านท่าเรือฝั่งตะวันออกจะอยู่ที่ประมาณ 13.8 ล้านตู้ หากเทียบเป็นสัดส่วนกับจำนวนตู้สินค้าทั้งหมดที่ผ่านท่าเรือต่าง ๆ ในช่องแคบมะละกา จะคิดเป็นสัดส่วนเพียง 23%

นายกฯ กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวเป็นการประมาณการแบบขั้นต่ำ และพิจารณา การเชื่อมโยงสินค้าที่เกิดจากเรือ Feeder มาต่อเรือ Feeder เท่านั้น ยังไม่รวมโอกาสที่เรือขนาดใหญ่ หรือ Mainline จะเข้ามาเทียบท่าในโครงการแลนด์บริดจ์ในอนาคต ทั้งนี้ ในส่วนของการขนส่งน้ำมันดิบจากภูมิภาคตะวันออกกลาง พบว่าในปัจจุบันมีการขนส่งน้ำมันดิบอยู่ที่ประมาณ 19 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยที่ 56% หรือประมาณ 10.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน จะขนส่งผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งหากใช้ แลนด์บริดจ์เป็นจุดกระจายน้ำมันดิบในภูมิภาค จะประหยัดต้นทุนขนส่งได้อย่างน้อย 6% 

อีกทั้งในการลงทุนโครงการดังกล่าว นักลงทุนจะได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาโครงการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจในภาคบริการ ธุรกิจภาคการขนส่งและโลจิสติกส์ ธุรกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการเงินและการธนาคาร โดยผลประโยชน์จะเกิดขึ้นกับธุรกิจในภาคเกษตรกรรม และธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมในกลุ่ม New S-curves ที่จะได้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามโครงการแลนด์บริดจ์ จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ในภาพรวม โดยคาดว่าจะเกิดการสร้างงานในพื้นที่จำนวนไม่น้อยกว่า 280,000 อัตรา และคาดว่า GDP ของประเทศไทยจะเติบโตถึง 5.5% ต่อปี หรือประมาณ 6.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อมีการพัฒนาโครงการอย่างเต็มรูปแบบ

“ผมเชื่อมั่น และเชิญชวนให้ญี่ปุ่นร่วมลงทุนในโอกาสครั้งสำคัญที่ไม่เคยมีมาก่อนในการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ระดับภูมิภาค ทั้งในเชิงพาณิชย์ และเชิงยุทธศาสตร์ที่เชื่อมโยงมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย เพื่อความเติบโตในเศรษฐกิจร่วมกัน” นายกฯ กล่าว

ด้านนายสุริยะ กล่าวถึง 2 เหตุผลสำคัญ 1. ข้อได้เปรียบของที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของ Landbridge ประเทศไทยตั้งอยู่ใจกลางภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโครงข่ายคมนาคมในไทยได้รับการพัฒนาเชื่อมโยงกับเครือข่ายการขนส่งของประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ทำให้ประเทศไทยเป็นประตูสำหรับการนำเข้าและส่งออกของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค

2. โครงการแลนด์บริดจ์ เป็นการแก้ปัญหาความแออัดในช่องแคบมะละกา ซึ่งมีสาเหตุมาจากจำนวนเรือบรรทุกตู้สินค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี และเนื่องจากข้อจำกัดด้านความจุของช่องแคบ เรือจึงต้องเข้าคิวเป็นเวลานานก่อนที่จะสามารถผ่านช่องแคบ และเดินทางต่อไปยังจุดหมายปลายทาง ดังนั้น โครงการแลนด์บริดจ์ จะช่วยลดระยะทาง ลดเวลา และลดต้นทุนการขนส่ง

นายสุริยะ กล่าวต่อถึงแผนการดำเนินโครงการ ได้มีการวางแผนการพัฒนาทั้งโครงการเป็น 4 ระยะ เริ่มตั้งแต่ปีค.ศ. 2025 ถึง ค.ศ. 2040 รูปแบบการหาผู้มาลงทุนและดำเนินการจะเป็นการประมูลแบบนานาชาติ(International Biding) โดยมีระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี เป็นสัญญาเดียว ส่วนกลุ่มนักลงทุนที่มาดำเนินการโครงการ ต้องเป็นกลุ่มนักลงทุนที่มีศักยภาพ ประกอบด้วย สายการเดินเรือ ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ ผู้ประกอบการและบริหารท่าเรือ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และนักลงทุนภาคอุตสาหกรรม โดยไทยจะออกกฏหมายใหม่ เพื่อพัฒนาโครงการและพื้นที่โดยรอบโดยเฉพาะ การอำนวยความสะดวกการจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนและจากการศึกษาความคุ้มค่าการลงทุนโครงการดังกล่าวผู้ลงทุนจะคืนทุนใน 24 ปี โดยคิดจากรายได้ของการขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือเท่านั้น ยังไม่รวมผลตอบแทนผลตอบแทนที่จะมาจากด้านอื่นๆไม่ว่าจะเป็นนิคมอุตสาหกรรมการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงธุรกิจอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้นักลงทุนญี่ปุ่นหลายรายคุ้นเคยในประเทศไทยโครงการนี้จะทำให้น่าลงทุนยิ่งขึ้น และการลดโชว์ในครั้งนี้ เพื่อนำเสนอศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางขนส่งตู้สินค้าทางทะเลของภูมิภาค และอาจเป็นศูนย์กลางแห่งหนึ่งของโลก


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top