Friday, 3 May 2024
อิหร่าน

‘อิหร่าน’ เจ๋ง!! ส่งออกรถแทรกเตอร์ 25 ประเทศทั่วโลก ‘สินค้าคุณภาพสูง-ราคาย่อมเยา’ แต้มต่อการแข่งขัน

เมื่อไม่นานมานี้ Mostafa Vahidzadeh CEO ของ Iran Tractor Manufacturing Company (Tractorsazi) บริษัทผู้ผลิตรถแทรกเตอร์อิหร่าน ประกาศว่า สามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ของบริษัทไปยัง 25 ประเทศทั่วโลก อาทิ ตุรกี อุซเบกิสถาน รัสเซีย คิวบา โคลอมเบีย อิรัก กาตาร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฯลฯ

Vahidzadeh ระบุว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง ราคาที่ค่อนข้างถูก ซึ่งเป็นราคาที่แข่งขันกับประเทศต่าง ๆ ได้นั้น เป็นเหตุผลและปัจจัยหลักในความสำเร็จของการส่งออกผลิตภัณฑ์รถแทรกเตอร์ 

Vahidzadeh กล่าวเสริมว่า ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ (21 มีนาคม - 22 กันยายน 2023) มีการส่งออกรถแทรกเตอร์ของอิหร่าน 1,500 คัน มูลค่า 22 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (2022) 

นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนหล่อขึ้นรูปของรถแทรกเตอร์ยังส่งออกไปยังหลายประเทศในยุโรป อาทิเช่น ตุรกี เยอรมนี และอิตาลี หนึ่งในผลิตภัณฑ์ใหม่ของบริษัทนี้คือ รถไถนาซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีจำหน่ายในบางประเทศเท่านั้น โดยคุณสมบัติของรถไถอเนกประสงค์รุ่นนี้ คือ น้ำหนักเบา มีกำลัง 45 แรงม้า ตัวถังรถสูง และกันน้ำได้

CEO ของบริษัทผู้ผลิตรถแทรกเตอร์ของอิหร่าน (Tractorsazi) ระบุว่า ร้อยละ 92 ของชิ้นส่วนรถแทรกเตอร์สามารถผลิตได้ในประเทศ และอีกร้อยละ 8 มาจากต่างประเทศ เนื่องจากไม่สามารถผลิตในประเทศได้ นอกจากนี้แล้วบริษัทฯ ยังมีสายการผลิตในเวเนซุเอลาและทาจิกิสถานอีกด้วย และจะมีการเปิดตัวสายการผลิตในอีกสองประเทศในเอเชียซึ่งอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของการดำเนินการ

ทั้งนี้ Iran Tractor Manufacturing Company ก่อตั้งขึ้นในเมือง Tabriz ในปี ค.ศ. 1968 โดยเป็นบริษัทร่วมหุ้นพิเศษโดยมีส่วนร่วมกับโรมาเนีย เพื่อผลิตรถแทรกเตอร์และเครื่องจักรอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ ในเมือง Tabriz บนพื้นที่ 400 เฮกตาร์ เริ่มจำหน่ายรถแทรกเตอร์ยี่ห้อ UTB ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1975 การผลิตรถแทรกเตอร์เหล่านี้ค่อย ๆ ยุติลง และเริ่มการผลิตรถแทรกเตอร์ MF แทน ด้วยการเข้ามาร่วมทุนของบริษัท Messi Ferguson จากอังกฤษ เมื่อเวลาผ่านไป ด้วยการปรับเทคโนโลยีการผลิตรถแทรกเตอร์ให้เข้ากับท้องถิ่น ผลิตภัณฑ์ของบริษัทจึงได้รับการผลิตและจำหน่ายภายใต้แบรนด์ ITM ในประเทศ

ในปี ค.ศ. 1996 บริษัท ผู้ผลิตรถแทรกเตอร์อิหร่าน กลายเป็นบริษัทมหาชนและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ในปี พ.ศ. 2008 เพื่อดำเนินการตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ จึงมีการโอนจำหน่ายหุ้นไปยังภาคเอกชน ปัจจุบันบริษัทนี้มีกำลังการผลิตระบุอยู่ที่ราว 30,000 คันต่อปี ได้แก่ รถแทรกเตอร์ในช่วง 38 ถึง 150 แรงม้า ซึ่งรวมถึงรถแทรกเตอร์ขนาดเบา ขนาดกลาง กึ่งหนัก และหนัก คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 95% ของตลาดในประเทศ และยังเป็นผู้ผลิตรถแทรกเตอร์รายใหญ่ที่สุดในตะวันออกกลาง

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บริษัทผู้ผลิตรถแทรกเตอร์ของอิหร่านให้ความสำคัญกับการใช้มาตรการในด้านความพอเพียงมากขึ้นในการผลิตชิ้นส่วนและส่วนประกอบรถแทรกเตอร์เชิงกลยุทธ์ เช่น เพลาหน้า กระปุกเกียร์กลาง ชุดประกอบไฮดรอลิก ฯลฯ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ เช่น การออกแบบและ การผลิตรถแทรกเตอร์ 475, 485, 800 คัน 470 และผลิตภัณฑ์เชิงกลยุทธ์ของรถแทรกเตอร์หนัก การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการเพิ่มผลผลิตของปัจจัยการผลิตสามารถเดินตามเส้นทางแห่งความเป็นเลิศได้ แม้แต่ในช่วงปีเศรษฐกิจที่ยากลำบากไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้

Tractorsazi Industrial Group ในฐานะผู้ผลิตอุปกรณ์การเกษตรรายใหญ่ที่สุดในอิหร่านมีการดำเนินงานยาวนานกว่าห้าทศวรรษ ทั้งยังมีบริษัทดาวเทียม 10 แห่งในประเทศ และอีก 2 บริษัทในต่างประเทศ ด้วยการผลิตรถแทรกเตอร์ที่มีกำลังตั้งแต่ 35 ถึง 150 แรงม้า กลุ่มผู้ผลิตนี้สามารถตอบสนองความต้องการรถแทรกเตอร์ของเกษตรกรชาวอิหร่านได้ถึงร้อยละ 99 และยังมีส่วนร่วมในการผลิตเครื่องยนต์ 71 ประเภทในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และยานยนต์อีกด้วย

‘อิหร่าน’ ผลิตยารักษา ‘โรคหลอดเลือดสมองตีบเฉียบพลัน’ สำเร็จ ขึ้นแท่น ‘ผู้ผลิตรายที่ 2 ของโลก’ รองจากสหรัฐอเมริกา

ปัจจุบันนี้ ‘อิหร่าน’ สามารถผลิตยา ‘Alteplase (Altelyse)’ ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาโรคหลอดเลือดสมองตีบเฉียบพลันได้สำเร็จ โดยกลายเป็นผู้ผลิตรายที่ 2 ต่อจากสหรัฐอเมริกา

ไม่นานมานี้มีพิธีเปิดตัวสายการผลิตยาที่สามารถสลายลิ่มเลือด ช่วยฟื้นฟูการไหลเวียนของเลือดไปยังสมอง และป้องกันภาวะแทรกซ้อนและความพิการในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง โดยบริษัท Arena Life Science ของอิหร่าน

นอกจากนี้ Alteplase ยังใช้สำหรับการรักษาภาวะลิ่มเลือดอุดตันในผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจวายเฉียบพลันและหลอดเลือดอุดตันที่ปอดขนาดใหญ่ที่การไหลเวียนโลหิตมีความไม่แน่นอนอีกด้วย โดยการผลิตยาชนิดนี้ทำให้สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านสามารถประหยัดเงินได้เฉลี่ย 10 ล้านเหรียญต่อปี

Rouhollah Dehghani รองประธานาธิบดีอิหร่านด้านเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และองค์ความรู้ ซึ่งเข้าร่วมในพิธีดังกล่าวด้วย กล่าวว่า อิหร่านต้องเผชิญกับความท้าทายมากมายในการนำเข้า Alteplase  “ด้วยความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญและช่างเทคนิคของบริษัทที่เน้นการค้นคว้าวิจัยสร้างองค์ความรู้ ยาที่สำคัญและสำคัญมาก ๆ ซึ่งการผลิตถูกผูกขาดโดยบริษัทอเมริกัน สามารถผลิตขึ้นภายในประเทศเพื่อก้าวผ่านมาตรการคว่ำบาตร” 

เขากล่าวสรุปว่า “ปัจจุบัน อิหร่านเป็นที่รู้จักในฐานะประเทศที่สองที่สามารถผลิตยา Alteplase (Altelyse)”

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อิหร่านมีความก้าวหน้าอย่างมากในทางการแพทย์ โดยสินค้าด้านเภสัชกรรมของอิหร่านส่วนใหญ่ใช้ประเทศและการส่งออกไปยังหลายประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

'ทีมวันนอร์ฯ' เฮ!! ฮามาสปล่อยตัวประกันชาวไทยตามสัญญา ภายใต้ 'อิหร่าน' ช่วยเจรจาตรงให้ปล่อยตัวแบบไม่มีเงื่อนไข

(25 พ.ย.66) ดร.เลอพงษ์ ซาร์ยีด นายกสมาคมนักเรียนเก่าไทยอิหร่าน ในฐานะผู้ประสานงานฝ่ายต่างประเทศของประธานสภาผู้แทนราษฎร และหนึ่งในตัวแทนคณะทำงานเจรจากับกลุ่มฮามาสช่วยเหลือตัวประกันไทยในอิสราเอล แถลงข่าวภายหลังจากการเข้ารายงานความคืบหน้าในการช่วยเหลือตัวประกันกับกลุ่มฮามาสต่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยกล่าวว่า ได้รับการรับรองจากกลุ่มฮามาสว่าชาวไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกันนั้น 'ปลอดภัย' และจะได้รับการปล่อยตัวในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

โดย อัลอะราบีญะดีด (Al-Araby Al-Jadeed) สำนักข่าวอาหรับที่มีสำนักงานใหญ่ในลอนดอน รายงานอ้างแหล่งข่าวชาวอียิปต์ที่อยู่วงในการไกล่เกลี่ย เปิดเผยบทบาทของอิหร่านในการเจรจาที่เกี่ยวข้องกับตัวประกันชาวไทยในการควบคุมของฮามาสตามคำขอของทีมเจรจาไทย โดยกลุ่มฮามาสก็พร้อมที่จะปล่อยตัวประกันชาวไทย 23 คน ภายหลังการไกล่เกลี่ยของอิหร่าน

แหล่งข่าวอธิบายว่า ขบวนการฮามาสยืนยันว่าจะปล่อยตัวพวกเขาตามการไกล่เกลี่ยของอิหร่าน โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ

ล่าสุด ดร.เลอพงษ์ ได้เผยข่าวดีว่า คนไทยกลุ่มดังกล่าวได้รับการปล่อยตัวแล้ว

'ปธน.อิหร่าน' เผยความจริง!! รัฐเถื่อนไซออนิสต์ เปิดหน้าชัด จัดการ 'เข่นฆ่า-เหยียด' ชาวปาเลสไตน์ ภายใต้แรงหนุนสหรัฐฯ

เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 66 ซัยยิดอิบรอฮีม ราอีซี ประธานาธิบดีแห่งอิหร่าน กล่าวเนื่องในวันสากลว่าด้วยความเป็นปึกแผ่นสากลแห่งชาวปาเลสไตน์ ระบุว่า…

ด้วยพระนามของพระเจ้าผู้ทรงกรุณาปรานีเสมอ

วันที่ 29 พฤศจิกายนตรงกับวันสากลว่าด้วยความเป็นปึกแผ่นสากลแห่งชาวปาเลสไตน์ข้าพเจ้าในฐานะเป็นตัวแทนของชาวอิหร่านและรัฐบาลของประเทศนี้ ขอประกาศแสดงจุดยืนอันแน่วแน่ของสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านที่มีต่อประชาชนปาเลสไตน์ในการบรรลุอุดมการณ์ที่แท้จริงของพวกเขามาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง

วันที่ 29 พฤศจิกายนเป็นวันแห่งการรำลึกถึงการยึดครองแผ่นดินปาเลสไตน์โดยระบอบอิสราเอลกว่า 70
ปีซึ่งถือเป็นความเจ็บปวดความทุกข์ทรมานของชาวปาเลสไตน์มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการกดขี่ข่มเหงและการไร้ซึ่งความยุติธรรมต่อสิทธิอันชอบธรรมของประชาชาติที่ถูกกดขี่

ปีนี้เราขอระลึกวันนี้ท่ามกลางสถานการณ์ในอาชญากรรมที่โหดร้ายของระบอบรัฐเถื่อนไซออนิสต์ที่เหยียดเชื้อชาติต่อชาวปาเลสไตน์และผู้อาศัยอยู่ในฉนวนกาซา ทำให้ชาวโลกทั้งหลายต่างตื่นตระหนกเป็นอย่างมากและยังจะเป็นการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ที่เต็มไปด้วยการกดขี่และความเกลียดชังต่อระบอบรัฐเถื่อนนี้

การสังหารพลเรือนทั้งการโจมตีโรงพยาบาลและโรงเรียนโบสถ์ชาวคริสต์ การปิดกั้นน้ำอาหารน้ำมันและยารักษาโรคต่อประชาชนในฉนวนกาซา การอพยพและการลี้ภัยหลายแสนคน การสังหารผู้สื่อข่าวและการโจมตีอาคารของหน่วยงานระหว่างประเทศ ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนอยู่ในสายตาของประชาคมโลกขณะที่รัฐบาลชาติตะวันตกอ้างถึงสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะสหรัฐฯและเหล่าพันธมิตรผู้สนับสนุนรัฐเถื่อนที่ยึดครองในการก่ออาชญากรรมเหล่านี้

รัฐเถื่อนไซออนิสต์ได้รุดหน้าประวัติศาสตร์ในอาชญากรทั้งหลายเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาด้วยการสังหารมนุษย์ผู้บริสุทธิ์กว่า 14,000 คนซึ่งกว่า 5,000 คนนั้นเป็นเด็กรวมอยู่ด้วย ท่ามกลางการสังหารเหล่านี้มีเจ้าหน้าที่องค์การสหประชาชาติมากกว่าหนึ่งร้อยคนและการสังหารผู้สื่อข่าวกว่าห้าสิบคน ทั้งหมดเหล่านี้แสดงให้ถึงรากเหง้าอันชั่วร้ายของรัฐเถื่อน ซึ่งไม่เคยยึดมั่นในกฎหมายระหว่างประเทศแม้แต่ข้อเดียวก็ตามและยังก่อการรุกรานอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างโหดร้ายท่ามกลางสายตาของชาวโลกทั้งหลาย

สาธารณรัฐอิสลามอิหร่านขอเน้นย้ำให้เห็นว่าประชาชาติปาเลสไตน์มีสิทธิอันชอบธรรมในการต่อสู้กับเหล่าผู้ยึดครอง และขอประณามอาชญากรรมของรัฐเถื่อนที่สังหารเด็กที่มีต่อประชาชาติที่มีอำนาจและถูกกดขี่ และขอเรียกร้องสมาชิกขององค์การสหประชาชาติและอิสรชนทั้งหมดทั่วโลกให้แสดงปฏิกิริยาเพื่อยุติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และการยึดครอง รวมทั้งการมอบสิทธิอันชอบธรรมให้ประชาชนปาเลสไตน์เป็นผู้กำหนดชะตากรรมของพวกเขาเอง จงรู้ไว้ว่าการกดขี่จะต้องถูกทำลาย และในที่สุดชัยชนะจะเป็นของชาวปาเลสไตน์

สาธารณรัฐอิสลามอิหร่านขอเน้นย้ำถึงการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องของรัฐอิสลามในอุดมการณ์ของประชาชนปาเลสไตน์ในทุกด้าน และการแสดงให้เห็นถึงการยืนหยัดต่อสู้เป็นสิทธิอันชอบธรรมและการเรียกร้องให้เยาวชนชาวปาเลสไตน์ลุกขึ้นเผชิญหน้ากับอาชญากรรมและการยึดครองของรัฐเถื่อนไซออนิสต์ และเรียกร้องให้ประชาคมโลกเผชิญหน้าอย่างเปิดเผยกับการกระทำของรัฐเถื่อนอาชญากรรายนี้ผู้ปฏิเสธกฎหมายระหว่างประเทศและมติต่าง ๆ ของนานาชาติ

สาธารณรัฐอิสลามอิหร่านเชื่อว่าวิธีการเดียวในการแก้ไขปัญหาปาเลสไตน์คือการยุติการยึดครองแผ่นดินของชาวปาเลสไตน์ และการกลับคืนสู่มาตภูมิของผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ และการมอบสิทธิในการกำหนดชะตาชีวิตให้พวกเขา

ด้วยเหตุนี้ข้อเสนอโครงการของสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านบนพื้นฐานของการกลับสู่มาตภูมิของผู้ลี้ภัยและการลงประชามติระหว่างประชากรหลักรวมทั้ง ชาวมุสลิม ชาวคริสเตียน และชาวยิว ด้วยหลักการประชาธิปไตยและสิทธิระหว่างประเทศ โดยการรับรองขององค์การสหประชาชาติอย่างเป็นทางการและแทนที่โครงการเดิมตามความเหมาะสม

โครงการนี้จะทำให้กรณีปาเลสไตน์ได้รับการแก้ไขตามมุมมองทางกฎหมายและบนพื้นฐานของการมอบสิทธิในการกำหนดชะตากรรมและการกลับคืนสู่มาตภูมิ โดยทำให้ผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์สามารถกลับสู่มาตภูมิของพวกเขา

ท้ายที่สุดนี้ ข้าพเจ้าขอยกย่องต่อความกล้าหาญของขบวนการยืนหยัดต่อสู้ในการปกป้องประชาชนอย่างหาญกล้าและบรรดาเยาวชนที่สร้างความภาคภูมิใจให้ปาเลสไตน์ในการเผชิญหน้ากับการรุกรานของรัฐเถื่อนไซออนิสต์ และขอวิงวอนต่อพระผู้เป็นเจ้าโปรดช่วยเหลือพวกเขา และทรงทำให้พวกเขาได้รับการปลดปล่อยจากการกดขี่ของรัฐเถื่อนผู้ยึดครองด้วยเถิด

ซัยยิดอิบรอฮีมราอีซี
ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน

‘อิสราเอล’ บุกโจมตีทางอากาศใน ‘ซีเรีย’ เด็ดชีวิต!! ที่ปรึกษาระดับสูงกองทัพอิหร่าน

(26 ธ.ค.66) อิสราเอลโจมตีทางอากาศใส่พื้นที่รอบนอกกรุงดามัสกัส เมืองหลวงของซีเรีย เมื่อวานนี้ (25 ธ.ค.) สังหารที่ปรึกษาระดับสูงรายหนึ่งของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน จากการเปิดเผยของแหล่งข่าวด้านความมั่นคง 3 รายและสื่อมวลชนแห่งรัฐอิหร่าน ในเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง สืบเนื่องจากสงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาส

แหล่งข่าวบอกกับรอยเตอร์ว่า ที่ปรึกษารายดังกล่าวก็คือซายเยด ราซี มัวซาวี ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบประสานงานพันธมิตรทหารระหว่างซีเรียกับอิหร่าน

"ผมไม่ขอแสดงความคิดเห็นต่อรายงานข่าวของต่างประเทศ ในเรื่องเหล่านี้หรืออื่นๆ ในตะวันออกกลาง" พล.ร.ต.ดาเนียล ฮาการี โฆษกกองกำลังป้องกันตนเองของอิสราเอลกล่าว ตอบคำถามของผู้สื่อข่าวรายหนึ่ง "แน่นอนว่ากองทัพอิสราเอลมีหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของอิสราเอล"

สถานีโทรทัศน์แห่งรัฐของอิหร่าน แทรกรายงานข่าวปกติ ด้วยการออกอากาศคำแถลงแจ้งว่า มัวซาวี ถูกสังหาร พร้อมให้คำจำกัดความเขาว่าเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาเก่าแก่ที่สุดของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่านในซีเรีย

นอกจากนี้แล้วสถานีโทรทัศน์แห่งรัฐของอิหร่าน ยังระบุด้วยว่า มัวซาวี เป็นหนึ่งในผู้ติดตามของ พล.ต.กาเซ็ม โซไลมานี ผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษคุดส์ (Quds) แห่งกองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติอิหร่าน ซึ่งเสียชีวิตในอิรัก ในปฏิบัติการโดรนโจมตีของสหรัฐฯ เมื่อปี 2020

ฮอสเซน อัคบารี เอกอัครราชทูตอิหร่านประจำดามัสกัสให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์แห่งรัฐ ว่า มัวซาวี มีตำแหน่งหน้าที่การงาน ณ สถานทูต ในฐานะผู้แทนทูต และถูกสังหารโดยจรวดของอิสราเอล ขณะเดินทางจากที่ทำงานมุ่งหน้ากลับบ้าน

เอบราฮิม ไรซี ประธานาธิบดีอิหร่าน กล่าวว่าเหตุลอบสังหารมัวซาวี แสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอในส่วนของอิสราเอล "การกระทำนี้เป็นสัญญาณถึงความผิดหวังและความอ่อนแอของระบอบไซออนิสต์ในภูมิภาค ซึ่งแน่นอนว่าพวกเขาจะต้องชดใช้ราคาแพง"

กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน บอกว่าอิสราเอลจะต้องทุกข์ทรมานจากการสังหารมัวซาวี ซึ่งประดับยศนายพลจัตวาแห่งกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติ "รัฐบาลไซออนิสต์ผู้แย่งชิงและป่าเถื่อน จำเป็นต้องชดใช้อาชญากรรมนี้"

นาสเซอร์ คานานี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศอิหร่าน บอกกับสื่อมวลชนแห่งรัฐว่า "อิหร่านขอสงวนสิทธิ์ในการใช้มาตรการต่างๆ ที่จำเป็น เพื่อตอบโต้การกระทำนี้ ณ เวลาและสถานที่ที่เหมาะสม"

ในส่วนของญิฮาดอิสลามปาเลสไตน์ก็ประณามการสังหารมัวซาวีเช่นกัน โดยเรียกมันว่าเป็นการกระทำที่ขี้ขลาดตาขาว พร้อมเผยว่ามัวซาวี มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนขบวนการต่อต้านในภูมิภาค เช่นเดียวกับประชาชนชาวปาเลสไตน์และเหตุผลของชาวปาเลสไตน์

เป็นเวลานานหลายปีแล้ว ที่อิสราเอลปฏิบัติการโจมตีในสิ่งที่พวกเขาให้คำจำกัดความว่าเป็นเป้าหมายต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับอิหร่านในซีเรีย ประเทศที่อิทธิพลของเตหะรานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ที่อิหร่านให้การสนับสนุนประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ในสงครามกลางเมือง ที่ปะทุขึ้นในซีเรียเมื่อปี 2011

ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงต้นเดือน อิหร่านบอกว่าการโจมตีทางอากาศของอิสราเอล ได้สังหารสมาชิกกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน 2 นายในซีเรีย ที่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางทหารแก่ซีเรีย

อิหร่าน ส่งสมาชิกกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติหลายร้อยนาย ในฐานะที่ปรึกษา เข้าไปช่วยฝึกฝนและจัดระบบแก่พวกนักรบติดอาวุธชีอะห์หลายพันคนจากอิรัก อัฟกานิสถานและปากีสถาน เพื่อสนับสนุนรัฐบาลของประธานาธิบดีอัสซาด ในความขัดแย้งในซีเรีย ขณะที่นักรบจากกลุ่มฮิบบอลเลาะห์ในเลบานอน ก็ทำงานใกล้ชิดกับบรรดาผู้บัญชาการทหารของอิหร่านในซีเรียเช่นกัน

‘อิหร่าน’ เดือด!! ประกาศแก้แค้นกลุ่มผู้ก่อการอย่างถึงที่สุด หลังเกิดเหตุลอบวางระเบิดกลางงานรำลึก ‘กาเซม โซเลมานี’

สื่ออิหร่านรายงานข่าวด่วน เหตุลอบวางระเบิดถึง 2 ครั้งในงานรำลึกการเสียชีวิตของนายพล กาเซม โซเลมานี ผู้นำของกองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน (IRCG) ที่เมืองเคอร์มาน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 95 คน รัฐบาลอิหร่านประกาศ จะแก้แค้นกลุ่มผู้ก่อการอย่างถึงที่สุด

ความไม่สงบในภูมิภาคตะวันออกกลางยังคงรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเกิดเหตุระเบิดถึง 2 ครั้ง ใกล้กับอนุสรณ์สถานของนายพล กาเซม โซเลมานี ที่มีการจัดงานรำลึกประจำปีให้กับอดีตผู้นำสูงของกองกำลัง IRCG ที่ถูกลอบสังหารอย่างโหดเหี้ยมด้วยโดรนพิฆาตของสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2020 ขณะกำลังเดินทางเยือนอิรัก โดยงานรำลึกในปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4

สื่ออิหร่านรายงานว่า เหตุระเบิดลูกแรก เกิดขึ้นช่วง 15.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ในบริเวณด้านหน้าสุสานผู้พลีชีพ ใกล้ ๆ กับมัสยิด Saheb al-Zaman ส่วนระเบิดลูกที่ 2 เกิดขึ้นหลังจากนั้น 15 นาที และห่างจากระเบิดจุดแรกเพียง 700 เมตรเท่านั้น โดยมีเจตนาสังหารผู้คนที่กำลังวิ่งหนีอย่างโกลาหลหลังจากเกิดเหตุระเบิดลูกแรก เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 95 ราย และบาดเจ็บมากกว่า 200 คน ถือเป็นการก่อการร้ายครั้งรุนแรงที่สุดในอิหร่าน ในรอบ 42 ปี 

ด้านผู้นำสูงสุดของอิหร่าน อยาตอลเลาะห์ คาเมเนอี สาบานว่าจะล้างแค้น กลุ่มอาชญากรที่ก่อเหตุระเบิดนองเลือดครั้งนี้อย่างถึงที่สุด หลายประเทศ รวมถึงรัสเซียและตุรกี ออกมาประณามการโจมตีดังกล่าว ในขณะที่เลขาธิการสหประชาชาติเรียกร้องให้สอบสวนหาตัวผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งนี้ให้ได้

แต่ ณ ขณะนี้ยังไม่มีกลุ่มก่อการร้ายใด ออกมาแสดงตนอ้างตัวเป็นผู้ความรับผิดชอบ แต่คาดเดาว่าน่าจะเป็นฝีมือของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนอาหรับ หรือกลุ่มผู้ก่อการร้ายจิฮัด และ ISIS เมื่อพิจารณาจากรูปแบบการก่อเหตุ และ การก่อความไม่สงบหลายครั้งในอิหร่านที่ผ่านมา 

แต่ก็มีไม่น้อยที่ตั้งข้อสงสัยว่าอาจเป็นฝีมือของหน่วยลับจากอิสราเอล และ สหรัฐอเมริกา เนื่องจาก อิหร่าน ประกาศตนเป็นปฏิปักษ์กับอิสราเอล และ สหรัฐฯ อีกทั้งยังเป็นประเทศหลักที่ผลักดันให้เกิด กลุ่ม Axis of Resistance - พันธมิตรแห่งการต่อต้าน เพื่อสนับสนุนกลุ่มฮามาส ในการต่อต้านการรุกรานของอิสราเอลในดินแดนปาเลสไตน์

ด้าน แมทธิว มิลเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้ออกมาแถลงผ่านห้องประชุมผู้สื่อข่าวว่า ทั้งสหรัฐอเมริกา และ อิสราเอล ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับการโจมตีในเมืองเคอร์มาน และไม่มีเหตุผลที่ต้องทำด้วย จึงขอให้เลิกสงสัยสหรัฐอเมริกา และ อิสราเอล เสีย 

เชื่อได้ว่า การก่อเหตุระเบิดรุนแรงในงานรำลึกนายพล กาเซม โซเลมานี มีเป้าหมายเพื่อทำลายขวัญของชาวอิหร่าน ที่จะมาเยือนสุสานของเขา แต่รัฐบาลอิหร่านยังยืนยันที่จะจัดงานรำลึกเป็นประจำทุกปี แม้อาจเสี่ยงเป็นเป้าหมายของการก่อเหตุรุนแรง ส่วนหนึ่งก็เพื่อยกย่องผู้นำของกองกำลัง IRCG แต่อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือการตอกย้ำพฤติกรรมก่อการร้ายข้ามชาติของสหรัฐอเมริกาให้ยังอยู่ในความทรงจำของชาวอิหร่านนั่นเอง 

‘กลุ่ม IS’ ยอมรับ!! อยู่เบื้องหลังเหตุระเบิด 2 ครั้ง ในวันงานพิธีรำลึก ‘นายพล กาเซม โซเลมานี’

(5 ม.ค. 67) สื่อต่างประเทศรายงานว่า กลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) ออกมาประกาศอ้างความรับผิดชอบต่อเหตุระเบิด 2 ครั้งซ้อนในพิธีรำลึกครบรอบวันตายของ พล.อ.กาเซม โซเลมานี อดีตผู้บัญชาการหน่วยคุดส์ (Quds) ของอิหร่าน ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตไปเกือบ 100 คน และบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก

ในถ้อยแถลงที่โพสต์เทเลแกรม ไอเอสอ้างว่าสมาชิกนักรบ 2 รายได้จุดชนวนเข็มขัดระเบิดท่ามกลางฝูงชนที่กำลังเข้าร่วมพิธีรำลึก บริเวณสุสานในเมืองเคอร์มาน (Kerman) ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอิหร่านเมื่อวันพุธที่ผ่านมา

พิธีรำลึกครั้งนี้จัดขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 4 ปีการเสียชีวิตของ โซเลมานี ซึ่งถูกกองทัพสหรัฐฯ ส่งโดรนเข้าไปลอบสังหารที่อิรักเมื่อปี 2020

จอห์น เคอร์บีย์ โฆษกทำเนียบขาว บอกกับสื่อมวลชนว่า สหรัฐฯ “ไม่อยู่ในสถานะที่จะตั้งข้อสงสัย” กับคำกล่าวอ้างผลงานของไอเอส ขณะที่เตหะรานประกาศจะแก้แค้นเหตุโจมตีครั้งเลวร้ายซึ่งทำให้มีคนบาดเจ็บล้มตายมากที่สุดในยุคหลังการปฏิวัติอิสลามปี 1979

เหตุระเบิดครั้งนี้นอกจากจะคร่าชีวิตคนไปเกือบร้อย ยังทำให้มีผู้บาดเจ็บอีกไม่ต่ำกว่า 284 คน รวมถึงเด็กๆ

“ทหารของ โซเลมานี จะหยิบยื่นการแก้แค้นที่สาสมต่อพวกเขา” โมฮัมหมัด มอคเบอร์ รองประธานาธิบดีคนที่หนึ่งของอิหร่าน ให้สัมภาษณ์สื่อที่เมืองเคอร์มาน

ทางการอิหร่านยังเรียกร้องให้ผู้คนออกมารวมตัวกันครั้งใหญ่ในวันศุกร์ ซึ่งจะมีการจัดพิธีศพให้แก่เหยื่อจากเหตุระเบิด 2 ครั้งซ้อน

กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติแห่งอิหร่าน (IRGC) ประณามเหตุโจมตีครั้งนี้ว่าเป็นการกระทำอัน “ขี้ขลาดตาขาว” ที่ “หวังสร้างความระส่ำระสาย และบ่อนทำลายความรักและการอุทิศตนที่คนอิหร่านมีต่อสาธารณรัฐอิสลาม”

ประธานาธิบดี เอบราฮิม ไรซี แห่งอิหร่าน ประณามเหตุระเบิดครั้งนี้ว่าเป็น “อาชญากรรมที่ชั่วร้ายและไร้ความเป็นมนุษย์” ขณะที่ อยาตอลเลาะห์ อาลี คอเมเนอี ผู้นำสูงสุดอิหร่านก็ประกาศกร้าวว่าจะต้อง “แก้แค้น”

ด้านคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ได้แถลงประณาม “การก่อการร้ายที่ขี้ขลาดตาขาว” ในอิหร่าน พร้อมแสดงความเสียใจไปยังครอบครัวผู้เสียชีวิต และรัฐบาลอิหร่านด้วย

แม้รายละเอียดเกี่ยวกับตัวผู้บงการและแรงจูงใจในการก่อเหตุยังไม่มีการเปิดเผยแน่ชัด แต่ แอรอน เซลิน (Aeron Zelin) ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวอชิงตันเพื่อนโยบายตะวันออกใกล้ (Washington Institute for Near East Policy) ระบุว่า ตนจะไม่ประหลาดใจเลยหากสุดท้ายพบว่าเป็นฝีมือของกลุ่ม ISIS-Khorasan หรือ ISIS-K ซึ่งเป็นเครือข่ายไอเอสที่มีฐานอยู่ในอัฟกานิสถาน

เซลิน ชี้ว่า รัฐบาลอิหร่านเคยออกมากล่าวหา ISIS-K ว่าอยู่เบื้องหลังแผนโจมตีหลายครั้งที่ถูกสกัดเอาไว้ได้ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่ผู้ที่ถูกจับกุมจะเป็นชาวอิหร่าน ชาวเอเชียกลาง และชาวอัฟกันที่มาจากเครือข่ายไอเอสในอัฟกานิสถาน มากกว่าเครือข่ายไอเอสในอิรักและซีเรีย

กลุ่มไอเอสมีความชิงชังชาวชีอะห์ซึ่งเป็นศาสนาอิสลามนิกายหลักในอิหร่าน และมุสลิมชีอะห์ก็ตกเป็นเป้าหมายโจมตีบ่อยครั้งในอัฟกานิสถาน เนื่องจากไอเอสมองว่าเป็นพวกละทิ้งศาสนา (apostates) อีกทั้งนักรบอิสลามิสต์กลุ่มนี้ก็ข่มขู่โจมตีอิหร่านมานานหลายปีแล้ว

การถูกกลุ่มตอลิบานไล่กวาดล้างส่งผลให้ ISIS-K อ่อนกำลังลงมากในอัฟกานิสถาน และสมาชิกบางส่วนต้องอพยพย้ายไปยังประเทศข้างเคียง ทว่ากลุ่มติดอาวุธกลุ่มนี้ยังคงวางแผนปฏิบัติการภายนอกประเทศอยู่ ตามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ 

‘สถานทูตอิหร่านประจำประเทศไทย’ จัดงาน ‘วันชาติอิหร่าน’ เฉลิมฉลองชัยชนะ 45 ปีการปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน

เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ฯพณฯ Seyed Reza Nobakhti เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ประจำประเทศไทยได้จัดงานวันชาติสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน วันฉลองชัยชนะ 45 ปีการปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน และฉลอง 400 ปี ความสัมพันธ์สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านและราชอาณาจักรไทย ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ

รัฐพิธีเริ่มต้นด้วยเพลงชาติของสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน และเพลงสรรเสริญพระบารมี คำปราศรัยเนื่องในโอกาสวันชาติสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน วันฉลองชัยชนะ 45 ปีการปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน และฉลอง 400 ปี ความสัมพันธ์สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านและราชอาณาจักรไทย โดย ฯพณฯ Seyed Reza Nobakhti และนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาไทยและประธานสภาผู้แทนราษฎร

ฯพณฯ Seyed Reza Nobakhti ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ภาพรวมความสัมพันธ์ระหว่างไทยและอิหร่านว่า “ทั้ง 2 ประเทศมีความสัมพันธ์ที่ราบรื่นและแน่นแฟ้นมากว่า 400 ปี โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีความร่วมมือหลายด้านร่วมกันทั้ง ด้านแรงงาน อุตสาหกรรม เกษตรกรรม การค้า เศรษฐกิจ และ ความร่วมมือด้านวัฒนธรรม และสืบเนื่องจากเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา นายอาลี บาเกรี คานี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศของอิหร่านเดินทางเยือนประเทศไทย ก็ได้มีการหารือร่วมกับตัวแทนจากฝั่งไทยและเป็นที่คาดหวังว่าในอนาคตไทยและอิหร่านจะมีความร่วมมือในอีกหลากหลายมิติมากขึ้นกว่าเดิมด้วย”

ในโอกาสนี้ ฯพณฯ Seyed Reza Nobakhti ได้กรุณาให้เกียรติเชิญ ผู้บริหาร บรรณาธิการ และ ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล นักเขียน สำนักข่าว THE STATES TIMES ด้วย 

โดย ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล ได้เป็นผู้แทนของสำนักข่าว THE STATES TIMES เข้าร่วมรัฐพิธีครั้งนี้ ในวาระนี้สำนักข่าว THE STATES TIMES ขอแสดงความยินดีและขอส่งความปรารถนาดีไปยังประชาชนแห่งสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านขอองค์อัลเลาะห์ (ซบ.) ได้ทรงบันดาลความสันติสุขและความเจริญก้าวหน้าแก่สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน ขอให้ความสัมพันธ์สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านและราชอาณาจักรไทยยั่งยืนตลอดไป

‘SAVAK’ ตำรวจลับของ ‘Shah แห่งอิหร่าน’ สมัยราชวงศ์ปาห์ลาวี องค์กรที่ขึ้นชื่อด้าน ‘การทรมาน’ จนทำให้ชาวอิหร่าน ‘เกลียดชัง-หวาดกลัว’

สืบเนื่องจากที่ผู้เขียนได้โพสต์เล่าเรื่องราวของงานวันชาติสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน วันฉลองชัยชนะ 45 ปีการปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน และฉลอง 400 ปี ความสัมพันธ์สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านและราชอาณาจักรไทยใน FB ดร.โญ มีเรื่องเล่า ของผู้เขียน มีผู้อ่านท่านหนึ่งได้แสดงความคิดเห็นว่า ไม่เห็นด้วยกับงานวันชาติซึ่งเป็นวันฉลองชัยชนะ 45 ปีการปฏิวัติอิสลามของอิหร่านอีกด้วย ซึ่งผู้เขียนจึงได้อธิบายว่า “บริบทของแต่ละประเทศแตกต่างกันครับ บทบาทหน้าที่ของราชวงศ์ก็แตกต่างกันออกไปด้วย บูรพมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่ก่อร่างสร้างชาติมาร่วมพันปี กระทั่งถึงราชวงศ์จักรีสามารถครองคนและครองใจได้ตลอดมาจนถึงทุกวันนี้ ด้วยเพราะพระราชกรณียกิจอันทรงประโยชน์มากมายมหาศาลแก่พสกนิกรทั่วหล้า เอามาเปรียบกันไม่ได้ดอกครับ ทุกวันนี้สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านยังคงยึดมั่นในสถาบันศาสนาอย่างเคร่งครัด ในขณะที่ชาติไทยของเราดำรงคงอยู่ได้ด้วย ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ สามสถาบันหลักอันเป็นที่เคารพรักยิ่งของคนไทยครับ”

Mohammad Reza Pahlavi (Shah of Iran)

จึงขอนำเรื่องราวสาเหตุสำคัญประการหนึ่งอันเป็นสาเหตุการล่มสลายของราชวงศ์  Pahlavi มาบอกเล่าให้ได้ทราบ ระบอบการปกครองของอิหร่านภายใต้ Mohammad Reza Pahlavi (Shah of Iran) เป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งได้รับความสนับสนุนอย่างเต็มที่จากประเทศมหาอำนาจตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา ได้มีการสนับสนุนต่อกษัตริย์ Reza Pahlavi มากมาย ไม่ว่าจะเป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคงและที่ปรึกษาทางทหาร การขายอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยมากมาย อาทิ เครื่องบินขับไล่แบบ F-14 ซึ่งสหรัฐฯ ไม่เคยขายให้กับชาติใดเลย คงมีใช้แต่เพียงกองทัพเรือสหรัฐฯ และกองทัพอากาศอิหร่านเท่านั้น ภายหลังจากการรัฐประหารในอิหร่าน ปี 1953 ด้าน Mohammad Mosaddeq นายกรัฐมนตรีถูกปลดออกจากตำแหน่ง กษัตริย์ Reza Pahlavi ได้ทรงตั้งหน่วยข่าวกรองขึ้นโดยมีอำนาจเช่นเดียวกับตำรวจ เป้าหมายของ Shah คือ การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบอบการปกครองของพระองค์ โดยการจัดวางฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองให้อยู่ภายใต้การสอดแนมและมีการปราบปรามการเคลื่อนไหวของเหล่าบรรดาผู้ที่เห็นต่างอย่างโหดเหี้ยม

นายพล Teymur Bakhtiar 

สำนักงานข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ (CIA) ได้ส่งพันเอกสังกัดกองทัพบกสหรัฐฯ ไปยังอิหร่านในเดือนกันยายน 1953 เพื่อทำงานร่วมกับนายพล Teymur Bakhtiar ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าราชการกรุงเตหะราน (ฝ่ายทหาร) ในเดือนธันวาคม 1953 และเริ่มรวบรวมแกนกลางขององค์กรข่าวกรองใหม่ทันที พันเอกนายดังกล่าวทำงานอย่างใกล้ชิดกับนายพล Bakhtiar และผู้ใต้บังคับบัญชาของเขา โดยจัดระบบสั่งการสำนักงานข่าวกรองใหม่และฝึกอบรมสมาชิกเกี่ยวกับเทคนิคข่าวกรองขั้นพื้นฐาน เช่น วิธีการสอดแนมและการสอบสวน การใช้เครือข่ายข่าวกรอง และการรักษาความปลอดภัยขององค์กร องค์กรนี้เป็นหน่วยข่าวกรองที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพแห่งแรกที่ดำเนินงานในอิหร่าน ความสำเร็จหลักเกิดขึ้นในเดือนกันยายน 1954 เมื่อหน่วยงานของนายพล Bakhtiar สามารถค้นพบและทำลายเครือข่ายขนาดใหญ่ที่ของ Tudeh (พรรคคอมมิวนิสต์ของอิหร่าน) ที่จัดตั้งขึ้นในกองทัพอิหร่านได้สำเร็จ

พลตรี Herbert Norman Schwarzkopf

ในเดือนมีนาคม 1955 CIA ได้ส่งทีมงานซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ของ CIA 5 นายมาแทนที่ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญในการปฏิบัติการลับ การวิเคราะห์ข่าวกรอง และการต่อต้านข่าวกรอง รวมถึงพลตรี Herbert Norman Schwarzkopf (บิดาของพลเอก Norman Schwarzkopf Jr. ผบ.กองกำลังพันธมิตรในยุทธการพายุทะเลทราย) ที่ดำเนินการ ‘ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ของ SAVAK รุ่นแรกเกือบทั้งหมด’ ในปี 1956 หน่วยงานนี้ได้รับการจัดระเบียบใหม่และตั้งชื่อว่า Sazeman-e Ettela'at va Amniyat-e Keshvar (SAVAK) การจัดการต่าง ๆ รวมทั้งการฝึกฝนอบรมถูกแทนที่ด้วยเจ้าหน้าที่ของ SAVAK เองในปี 1965 SAVAK มีอำนาจเซ็นเซอร์สื่อ คัดกรองผู้สมัครเข้าทำงานในหน่วยงานของรัฐ และ ติดตามแหล่งข้อมูลตะวันตกที่เชื่อถือได้ โดยใช้ทุกวิถีทางที่จำเป็น รวมถึงการตามล่า การทรมานเหล่าบรรดาผู้เห็นต่าง หลังปี 1963 Shah ทรงขยายหน่วยงานรักษาความมั่นคงของพระองค์ ซึ่งรวมถึง SAVAK ที่ขยายจนมีจำนวนเจ้าหน้าที่เต็มเวลามากกว่า 5,300 ราย และสายข่าวอีกเป็นจำนวนมาก (ไม่ทราบจำนวน) ในปี 1961 รัฐบาลอิหร่านได้ปลดนายพล Teymur Bakhtiar ซึ่ง ผู้อำนวยการคนแรกของหน่วยงานนี้ออก และต่อมาเขาก็กลายเป็นผู้เห็นต่างทางการเมืองของรัฐบาลอิหร่าน ในปี 1970 เจ้าหน้าที่ SAVAK ได้ลอบสังหารเขา โดยทำให้ปฏิบัติการดังกล่าวเป็นเหมือนอุบัติเหตุ

นายพล Hassan Pakravan

นายพล Hassan Pakravan ผู้อำนวยการ SAVAK ตั้งแต่ปี 1961 ถึง 1966 เขามีชื่อเสียงในด้านความอ่อนโยนและมีเมตตา เช่น รับประทานอาหารร่วมกับอยาตุลลอฮ์ Khomeini เป็นประจำทุกสัปดาห์ ขณะที่โคไมนีถูกกักบริเวณในบ้าน และต่อมาได้เข้าแทรกแซงเพื่อป้องกันการประหารชีวิตของอยาตุลลอฮ์ Khomeini โดยให้เหตุผลว่า เรื่องดังกล่าวจะ ‘ทำให้ประชาชนทั่วไปของอิหร่านโกรธเคือง’ อย่างไรก็ตาม หลังการปฏิวัติอิหร่าน นายพล Pakravan กลับเป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่กลุ่มแรก ๆ ของ Shah ที่ถูกรัฐบาลของอยาตุลลอฮ์ Khomeini ประหารชีวิต นายพล Pakravan ถูกแทนที่ในปี 1966 โดยนายพล Nematollah Nassiri ซึ่งเป็นนายทหารใกล้ชิดของ Shah และมีการจัดระบบใหม่และมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นเมื่อเผชิญกับกลุ่มติดอาวุธฝ่ายซ้ายและกลุ่มอิสลามิสต์ที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนความไม่สงบทางการเมือง รวมถีงเป็นผู้จุดชนวนแงความเกลียดชังของชาวอิหร่านต่อ Shah 

นายพล Nematollah Nassiri

จุดเปลี่ยนในชื่อเสียงของ SAVAK ในด้านความโหดร้ายที่โหดเหี้ยมมีรายงานว่ามีการโจมตีที่ทำการทหารในหมู่บ้าน Siahkal แคสเปียนโดยกลุ่มมาร์กซิสต์ติดอาวุธกลุ่มเล็ก ๆ ในเดือนกุมภาพันธ์ 1971 อีกทั้งมีข่าวว่า เจ้าหน้าที่ของ SAVAK ได้ทรมานจนอยาตอลเลาะห์ Muhammad Reza Sa'idi นักบวชชีอะห์จนเสียชีวิต ในปี 1970 ตามคำบอกของ Ervand Abrahamian นักประวัติศาสตร์การเมืองชาวอิหร่านซึ่งระบุว่า หลังจากการโจมตีครั้งนั้น เจ้าหน้าที่สอบสวนของ SAVAK ถูกส่งไปต่างประเทศเพื่อรับการฝึกอบรมทางวิทยาศาสตร์เพื่อป้องกันการเสียชีวิตที่ไม่พึงประสงค์จาก 'การใช้กำลังอย่างโหดเหี้ยม' ซึ่งประกอบด้วย Bastinado (การเฆี่ยนตรงฝ่าเท้า) การบังคับให้อดนอน การขังเดี่ยวอย่างยาวนาน การไฟฉายส่องนาน ๆ การยืนขาเดียวเป็นเวลาหลายชั่วโมง การถอนเล็บ งู (นิยมใช้กับผู้หญิง) การช็อตไฟฟ้าด้วยตราประทับสัตว์ (ซึ่งมักจะสอดเข้าทางทวารหนั​​ก) การจี้ด้วยบุหรี่ การนั่งบนเตาร้อน การหยดน้ำกรดเข้ารูจมูก การจับกดน้ำ การข่มขู่ทรมานต่าง ๆ และการใช้เก้าอี้ไฟฟ้าที่มีหน้ากากโลหะขนาดใหญ่เพื่อปิดเสียงกรีดร้อง (อุปกรณ์นี้เรียกว่า Apollo แคปซูลอวกาศของสหรัฐอเมริกา) นอกจากนี้ นักโทษยังถูกทำให้อับอายจากการข่มขืน การปัสสาวะรด และการถูกบังคับให้ยืนเปลือยกาย 

Bastinado (การเฆี่ยนตรงฝ่าเท้า)

แม้จะมีวิธีการ 'ทางวิทยาศาสตร์' ใหม่ แต่การทรมานที่เลือกยังคงเป็นวิธีการดั้งเดิมที่ใช้ในการตีฝ่าเท้า ‘เป้าหมายหลัก’ ของการทารุณกรรมโดยการใช้วิธี Bastinado คือ “การค้นหาคลังอาวุธ สถานที่หลบซ่อน และสอบเค้นหาผู้สมรู้ร่วมคิด” Abrahamian ประเมินว่า SAVAK (รวมถึงตำรวจและทหารหน่วยอื่น ๆ) สังหารฝ่ายต่อต้านไปราว 368 คน รวมทั้งผู้นำขององค์กรต่อต้านในเมืองใหญ่ ๆ (องค์กร Fedai Guerrillas แห่งประชาชนอิหร่าน, Mujahedin ของประชาชนแห่งอิหร่าน) เช่น Hamid Ashraf ระหว่างปี 1971–1977 และมีการประหารชีวิตนักโทษทางการเมืองมากถึง 100 คน ระหว่างปี 1971 ถึง 1979 ซึ่งเป็นยุคที่มีความรุนแรงที่สุดในระหว่างการดำรงอยู่ของ SAVAK ภายในสิ้นปี 1975 กวี นักประพันธ์ อาจารย์ ผู้กำกับละคร และผู้สร้างภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงจำนวน 22 คน ถูกจำคุกเนื่องจากการวิพากษ์วิจารณ์ระบอบการปกครองของ Shah และอีกหลายคนถูกทำร้ายร่างกายเนื่องจากปฏิเสธที่จะร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ การปราบปรามผ่อนคลายลงเนื่องจากการประชาสัมพันธ์และการตรวจสอบโดย ‘องค์กรระหว่างประเทศและหนังสือพิมพ์ต่างประเทศจำนวนมาก’ และเมื่อ จิมมี คาร์เตอร์ ขึ้นเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา และเขาได้หยิบยกประเด็นสิทธิมนุษยชนในรัฐจักรวรรดิแห่งอิหร่านขึ้นมา ทำให้สภาพภายในเรือนจำเปลี่ยนไปในชั่วข้ามคืน ผู้ต้องขังขนานนามสิ่งนี้ว่าเป็นรุ่งอรุณของระบอบ ‘Jimmykrasy’

ส่วนหนึ่งของภาพผู้ที่เสียชีวิตและสูญหายด้วยฝีมือเจ้าหน้าที่ของ SAVAK

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาคำถามเกี่ยวกับจำนวนเจ้าหน้าที่ของ SAVAK เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันโดยนักประวัติศาสตร์และนักวิจัยหลายคน เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่าอิหร่านไม่เคยเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานลับ นักประวัติศาสตร์จำนวนมากให้ตัวเลขที่ขัดแย้งกันสำหรับจำนวนบุคลากรของ SAVAK ตั้งแต่ 6,000 ถึง 60,000 คน ในการให้สัมภาษณ์ครั้งหนึ่งของ Shah เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 1974 Shah ตรัสว่า พระองค์เองก็เขาไม่ทราบจำนวนเจ้าหน้าที่ของ SAVAK ที่แน่นอน อย่างไรก็ตามพระองค์ทรงประเมินว่า จำนวนเจ้าหน้าที่ของ SAVAK ทั้งหมดคงจะน้อยกว่า 2,000 คน สำหรับคำถามเกี่ยวกับ ‘การทรมานและความโหดร้าย’ ของ SAVAK Shah ทรงตอบว่า รายงานของหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับ ‘ความเด็ดขาดและความโหดร้ายของ SAVAK’ เป็นการโกหกและการใส่ร้าย เอกสารแผ่นพับที่เผยแพร่หลังการปฏิวัติอิสลามระบุว่า มีชาวอิหร่าน 15,000 คนเป็นเจ้าหน้าที่อย่างเป็นทางการของ SAVAK ไม่รวมถึงสายข่าวที่ไม่เป็นทางการอีกเป็นจำนวนมาก

ในช่วงที่มีอำนาจสูงสุด SAVAK มีพลังที่แทบไม่มีขีดจำกัด ดำเนินการศูนย์กักขังของตนเอง เช่น เรือนจำเอวิน นอกเหนือจากการรักษาความปลอดภัยภายในประเทศแล้ว ภารกิจของ SAVAK ยังขยายไปถึงการสอดแนมชาวอิหร่านในต่างประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร โดยเฉพาะนักศึกษาที่ได้รับเงินทุนจากรัฐบาล นอกจากนั้นแล้ว SAVAK ยังร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับ CIA โดยส่งสายลับไปยังนครนิวยอร์กเพื่อแบ่งปันและหารือเกี่ยวกับกลวิธีในการสอบสวน นิตยสารไทม์เขียนในช่วงเวลาแห่งการโค่นล้มพระเจ้าชาห์เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 1979 โดยบรรยายถึง SAVAK ว่าเป็น ‘หน่วยงานที่ชาวอิหร่านทั้งเกลียดชังและหวาดกลัวที่สุดมายาวนาน’ ซึ่ง ‘ได้’ ทำการทรมานและสังหารศัตรูของ Shah ไปหลายพันคน นักวิทยาศาสตร์อเมริกันยังพบว่ามีความผิดฐาน ‘ทรมานและประหารชีวิตนักโทษการเมืองหลายพันคน’ และกลายเป็นสัญลักษณ์ของ ‘การปกครองของ Shah ระหว่างปี 1963-79’ รายการวิธีการทรมาน SAVAK  ได้แก่ ‘การช็อตไฟฟ้า การเฆี่ยนตี การทุบตี การเหยียบแก้วที่แตก และการเทน้ำเดือดลงในทวารหนัก การมัดตุ้มน้ำหนักไว้ที่ลูกอัณฑะ และการถอนฟันและถอดเล็บ’

พิพิธภัณฑ์ ‘Ebrat’ ในอดีตเรือนจำ Towhid ใจกลางกรุงเตหะราน
เป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเอกสารและเรื่องราวความโหดร้ายของ SAVAK

SAVAK ถูกปิดตัวลงไม่นานก่อนการโค่นล้ม Shah และการขึ้นสู่อำนาจของอยาตุลลอฮ์ Ruhollah Khomeini ในการปฏิวัติอิหร่านเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 1979 หลังจากการจากไปของ Shah ในเดือนมกราคม 1979 เจ้าหน้าที่ส่วนกลางและสายข่าวกว่า 3,000 คนของ SAVAK ตกเป็นเป้าหมายของการแก้แค้น อย่างไรก็ตาม Hossein Fardoust อดีตเพื่อนร่วมชั้นวันเด็กของ Shah ซึ่งเป็นรองผู้อำนวยการของ SAVAK จนกระทั่งเขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าผู้ตรวจราชการของจักรวรรดิอิหร่าน หรือที่รู้จักในชื่อหน่วยข่าวกรองพิเศษ เพื่อตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับสูง รวมถึงผู้อำนวยการของ SAVAK แต่ต่อมา Fardoust ได้เปลี่ยนข้างระหว่างการปฏิวัติและสามารถรักษาเจ้าหน้าที่ของ SAVAK จำนวนมากไว้ได้ ตามคำกล่าวของ Charles Kurzman นักเขียนซึ่งระบุ SAVAK ไม่เคยถูกปิด เพียงแค่เปลี่ยนชื่อและผู้นำ และดำเนินการต่อด้วยหลักปฏิบัติเดิม และมี ‘เจ้าหน้าที่’ ที่ปฏิบัติงานเช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง SAVAK ถูกแทนที่ด้วย ‘ที่ใหญ่กว่ามาก’ SAVAMA (Sazman-e Ettela'at va Amniat-e Melli-e Iran) หรือที่รู้จักในชื่อว่ากระทรวงข่าวกรองและความมั่นคงแห่งชาติของอิหร่าน ภายหลังการปฏิวัติอิหร่าน มีการเปิดพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งขึ้นในอดีตเรือนจำ Towhid ใจกลางกรุงเตหะรานที่เรียกว่า ‘Ebrat’ เป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเอกสารและเรื่องราวความโหดร้ายของ SAVAK แน่นอนว่า ไม่มีสถาบันหลักใด ๆ ในโลกนี้จะสามารถดำรงคงอยู่ได้โดยปราศจากความรัก ความศรัทธา ของประชาชนคนส่วนใหญ่ในสังคมนั้น ๆ ซึ่งเกิดจากความวิริยะ อุตสาหะ ความเมตตากรุณา ของสมาชิกในสถาบันหลักนั้น ๆ และกลายเป็นพลังแห่งความจงรักภักดีที่ยิ่งใหญ่ดังเช่นที่ปรากฏให้เห็นในบ้านเมืองของเราอยู่เสมอมาและจะดำรงคงอยู่เช่นนี้ตลอดไป 

ความผิดพลาดครั้งใหญ่ของ ‘อิสราเอล’ หลังลาก ‘อิหร่าน’ เข้ามาอยู่ในวงสงคราม


ถ้อยแถลงประณามการโจมตีอันโหดร้ายของอิสราเอลต่อสถานเอกอัครรัฐทูตสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน ณ กรุงดามัสกัส ประเทศซีเรีย ของกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน

กลายเป็นประเด็นลุกลามขึ้นมาในโลกทันที หลังจากกระทรวงการต่างประเทศของสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน ได้ประณามการโจมตีด้วยขีปนาวุธของ ‘รัฐบาลอิสราเอล’ อย่างผิดกฎหมายที่อาคารส่วนกงสุลของสถานทูตสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านในกรุงดามัสกัส ด้วยถ้อยคำที่รุนแรงที่สุด ในตอนเย็นของวันจันทร์ที่ 1 เมษายน 2024

นั่นก็เพราะการโจมตีแบบกำหนดเป้าหมายในสถานที่ทางการทูตแห่งนี้ ซึ่งมีที่ปรึกษาทางทหารด้านต่อต้านการก่อการร้ายของสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านหลายคนพักอาศัยอยู่ โดยทุกคนนั้นยังได้รับความคุ้มครองทางการทูต ภายหลังกำลังเข้าร่วมพิธีละศีลอดในช่วงเดือนรอมฎอนอันศักดิ์สิทธิ์อยู่ในอาคารดังกล่าว

ดังนั้น จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า การโจมตีที่น่ารังเกียจและน่าอับอายนี้ จะเป็นการละเมิดเอกสิทธิและความคุ้มกันของเจ้าหน้าที่ทางการทูตและสถานที่ โดยเฉพาะสถานทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านในกรุงดามัสกัส และละเมิดกฎระเบียบระหว่างประเทศอย่างชัดเจน รวมถึงอนุสัญญาเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูต ค.ศ. 1961 อนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม ค.ศ. 1973 การลงโทษอาชญากรรมที่กระทำต่อบุคคลที่ได้รับการคุ้มครองระหว่างประเทศ รวมถึงตัวแทนทางการทูต และกฎบัตรสหประชาชาติ 

ฉะนั้น รัฐบาลและองค์กรระหว่างประเทศทั้งหลาย จึงสมควรต้องออกแสดงความไม่พอใจและประณามการกระทำอันชั่วร้ายที่เป็นการรุกรานและการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศครั้งนี้ โดยคาดหวังว่าสหประชาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติและเลขาธิการสหประชาชาติ ที่น่าจะต้องรีบออกมาตอบสนองอย่างรวดเร็วกับการกระทำของอิสราเอล ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ หากวิเคราะห์การโจมตีของอิสราเอลในครั้งนี้ กำลังสะท้อนให้เห็นถึงความสิ้นหวัง ทำอะไรไม่ถูก และความงุนงงทางยุทธศาสตร์ของอิสราเอล อันเป็นผลจากความล้มเหลวทางการทหาร การเมือง และศีลธรรมในฉนวนกาซา หลังจากหกเดือนของสงครามอาชญากรรมอันโหดร้าย ล้วนล้มเหลวในการบรรลุชัยชนะใดๆ ต่อขบวนการต่อต้าน ตลอดจนประเทศปาเลสไตน์ที่อดทนและยืดหยุ่น

ย้อนกลับไป อิสราเอล ล้มเหลวในการยุติความกล้าหาญของชาวปาเลสไตน์ และเริ่มหันไปใช้กลยุทธ์ที่น่าอับอาย อย่างการสังหารหมู่ สตรี เด็ก และพลเรือนชาวปาเลสไตน์ ที่ถูกปลิดชีพไปแล้วหลายหมื่นคน ภายใต้ความล้มเหลวในการพยายามขยายขอบเขตสงครามที่อันตรายและไม่ฉลาด จนเริ่มกลายเป็นการทำลายสันติภาพในภูมิภาค โดยมีประเทศอื่นร่วมเป็นเหยื่อ 

อย่างไรก็ตาม สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน คงไม่เหมือนปาเลสไตน์ และมีความเป็นไปได้ที่ต่อจากนี้จะทำให้ผู้รุกราน (อิสราเอล) กลายเป็นเป็ดง่อยและต้องเสียใจกับอาชญากรรมครั้งล่าสุดอย่างถึงที่สุด เพื่อตอบโต้อาชญากรรมที่ชั่วร้ายนี้

นั่นก็เพราะการกระทำของผู้นำแห่งอิสราเอลในครั้งนี้ กำลังกระตุกปฏิบัติการพายุอัลอักซอ และความแน่วแน่อย่างกล้าหาญของประเทศปาเลสไตน์ที่ถูกกดขี่แต่ทรงอำนาจในฉนวนกาซาในช่วงหกปีที่ผ่านมา ภายใต้แรงหนุนแห่งสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน ที่อาจทำให้ปาเลสไตน์ไม่มีวันถอยแม้แต่ก้าวเดียวต่อจากนี้...ซวยแล้ว!!


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top