Friday, 3 May 2024
อิหร่าน

‘ซาอุฯ’ กร้าว!! หาก ‘อิหร่าน’ มี ‘อาวุธนิวเคลียร์’ ซาอุฯ ก็จำเป็นต้องหามาประดับกองทัพเช่นกัน

หากอิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง เมื่อนั้น ซาอุดีอาระเบียก็จำเป็นต้องทำแบบเดียวกัน จากคำเตือนของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย ระหว่างให้สัมภาษณ์กับฟ็อกซ์นิวส์ ซึ่งบางช่วงบางตอนได้มีการเผยแพร่เมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา

"ประเทศใดก็ตามที่กำลังมีอาวุธนิวเคลียร์ มันเป็นความเคลื่อนไหวที่แย่ๆ" มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบียกล่าวตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ถามว่า ริยาดจะตอบโต้อย่างไร หากว่า เตหะรานกลายเป็นมหาอำนาจทางนิวเคลียร์ 

"ถ้าหากอิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ ประเทศใดที่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ นั่นหมายความว่าพวกเขากำลังทำสงครามกับที่เหลือของโลกใบนี้"

เจ้าชายกล่าวต่อว่า “เหล่ามหาอำนาจโลกจะมาพร้อมกับมาตรการตอบโต้ร่วมกัน เพราะว่าโลกไม่อาจเห็นอีกหนึ่งฮิโรชิมา ถ้าว่าโลกเห็นประชาชน 100,000 คนต้องตาย คุณจะทำสงครามกับทั้งโลก” 

ทั้งนี้ มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย อ้างถึงกรณีสหรัฐฯ ทิ้งระเบิดปรมาณูใส่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิของญี่ปุ่น ในเดือนสิงหาคม 1945 ใน 2 เหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นห่างกัน 4 วัน และจนถึงปัจจุบัน ยังเป็นแค่การใช้อาวุธนิวเคลียร์เพียงครั้งเดียวของโลกในความขัดแย้งหนึ่ง ๆ

ผู้สื่อข่าวฟ็อกซ์นิวส์ ขอคำตอบตรงกว่านี้จากเจ้าชาย โดยถามว่า “ถ้าอิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ แล้วท่านล่ะ?” ซึ่งในเรื่องนี้ มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย ตอบว่า “ถ้าพวกเขามี เราก็จำเป็นต้องมีเช่นกัน”

อิหร่านซึ่งยังคงอยู่ภายใต้มาตรการคว่ำบาตรของนานาชาติเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ของพวกเขา ปฏิเสธซ้ำ ๆ ต่อคำกล่าวอ้างของสหรัฐฯ อิสราเอลและประเทศอื่น ๆ ว่าพวกเขากำลังหาทางพัฒนาอาวุธปรมาณู

ระหว่างปราศรัยกับสหประชาชาติเมื่อวันอังคาร (19 ก.ย.) ประธานาธิบดีเอบราฮิม ไรซี แห่งอิหร่าน เน้นย้ำว่าเตหะรานจะไม่มีวันสละสิทธิในการมี ‘พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ’ อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่าการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ไม่ได้อยู่ในหลักการด้านการป้องกันตนเองและหลักการทางทหารของอิหร่านแต่อย่างใด

ไรซี บอกด้วยว่าประเทศของเขากระตือรือร้นในการคืนสู่ข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015 หรือ แผนปฏิบัติการร่วมที่ครอบคลุม (Joint Comprehensive Plan for Action หรือ JCPOA) ซึ่งเสนอยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรแลกกับการที่เตหะรานจำกัดกิจกรรมทางนิวเคลียร์ พร้อมเน้นย้ำว่าการถอนตัวฝ่ายเดียวของสหรัฐฯ จากข้อตกลงนี้ ภายใต้การบริหารงานของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นการตอบโต้ที่ไม่เหมาะสม ในขณะที่อิหร่านได้ทำตามพันธสัญญาต่าง ๆ ส่วนหนึ่งในข้อตกลง JCPOA ทุกประการ

เสียงเตือนของมกุฎราชกุมารบิน ซัลมาน มีขึ้นแม้ว่าเมื่อเร็ว ๆ นี้ ซาอุดีอาระเบียและอิหร่าน 2 ชาติที่เป็นคู่อริกันมานาน ปรับท่าทีเข้าหากัน และได้รื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตที่ตัดขาดกันไปนานกว่า 7 ปี เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผ่านการมีจีนเป็นคนกลาง

‘อิหร่าน’ ส่งออกยาพุ่ง 3 เท่า สู่ 40 ปท.ทั่วโลก สะท้อนแรงปฏิสัมพันธ์อันดีเชื่อมสู่มนุษยชาติ

อิหร่านส่งออกยาและเวชภัณฑ์เพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าจากปีก่อน ไปยัง 40 ประเทศทั่วโลก

เมื่อไม่นานนี้ ‘Heidar Mohammadi’ ผู้อำนวยการสำนักงานอาหารและยาแห่งอิหร่าน (IFDA) กล่าวสุนทรพจน์เมื่อวันศุกร์ (6 ต.ค.) ที่ผ่านมา ระหว่างการเยือนนิทรรศการระดับนานาชาติด้านเภสัชภัณฑ์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องแห่งอิหร่าน ครั้งที่ 8 (IRANPHARMA EXPO 2023) ‘การส่งออกยาที่เพิ่มขึ้น เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงปฏิสัมพันธ์ที่ดีของอิหร่านกับประเทศเพื่อนบ้าน เราหวังว่าจะพัฒนาการเข้าถึงของประชาชนในภูมิภาค เพื่อเข้าถึงยาที่มีคุณภาพในการประชุมสุดยอด G5 และความร่วมมือระดับภูมิภาค’ เขากล่าวเสริม

ทุกปี ‘IRANPHARMA EXPO’ ซึ่งเป็นงานระดับนานาชาติที่ครอบคลุมในอุตสาหกรรมยา โดยมีผู้ผลิตยา อุปกรณ์และเครื่องจักรทางเภสัชกรรม การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ยา ยาชนิดรีคอมบิแนนท์ ยาสมุนไพร อาหาร และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร บริษัทที่มีความรู้ และผู้จัดจำหน่ายยา ศูนย์วิจัยทางวิทยาศาสตร์และเภสัชกรรม สมาคม และสิ่งพิมพ์และวารสารด้านสุขภาพ

นิทรรศการระดับนานาชาติด้านเภสัชกรรมและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องแห่งอิหร่านครั้งที่ 8 (IRANPHARMA EXPO 2023) จัดขึ้นที่วิทยาเขต Imam Khomeini Grand (Mosala) ในกรุงเตหะราน ระหว่างวันที่ 27-29 กันยายนที่ผ่านมา มีบริษัทในประเทศทั้งหมด 427 บริษัทและบริษัทต่างประเทศอีก 282 บริษัทจาก 33 ประเทศเข้าร่วมงานนิทรรศการครั้งนี้ โดย Mohammadi ถือว่าการเข้าร่วมนิทรรศการนี้จากบริษัทต่างประเทศ เป็นหนึ่งในความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของงานนิทรรศการระดับนานาชาติครั้งนี้

Heidar Mohammadi ผู้อำนวยการสำนักงานอาหารและยาแห่งอิหร่าน (IFDA)

ผู้อำนวยการสำนักงานอาหารและยาแห่งอิหร่าน ยังระบุว่า งานนิทรรศการระดับนานาชาติครั้งนี้เป็นโอกาสอันยอดเยี่ยมในการจัดแสดงศักยภาพ และความสามารถของผู้เชี่ยวชาญและอุตสาหกรรมยาในระดับชาติ สำหรับปีนี้งานนิทรรศการนี้จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่อลังการยิ่งขึ้นและได้รับการเยี่ยมชมจากผู้เข้าชมงานจำนวนมาก โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอิหร่านเข้าเยี่ยมชมงาน Expo และเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับความสามารถของอุตสาหกรรมยาของประเทศ

การส่งออกยาของคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 200 ล้านดอลลาร์ในปีปัจจุบันจากประมาณ 60 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว

“การผลิตยาที่เพิ่มขึ้นได้รับการสนับสนุนจากอุปทานที่มั่นคงสำหรับการส่งออก และการคาดการณ์ของเราสำหรับการส่งออกในปีปัจจุบันอยู่ที่ 200 ล้านดอลลาร์” ผู้อำนวยการสำนักงานอาหารและยาแห่งอิหร่าน กล่าว

ปัจจุบันการผลิตยา อุปกรณ์การแพทย์ และนมผงได้รับการสนับสนุนโดยเงินอุดหนุน ดังนั้นการส่งออกของอิหร่านจึงยังคงจำกัดอยู่ แต่หวังว่าจะสามารถเพิ่มการส่งออกได้มากขึ้นในปีหน้า Mohammadi กล่าวเสริม อ้างถึงการขาดแคลนยา 100 รายการในประเทศ Mohammadi กล่าวกล่าวว่า “ปัจจุบัน เกือบ 1.5% ของความต้องการด้านเภสัชกรรมของประเทศนั้นนำเข้ามา นอกจากการผลิตในประเทศ ซึ่งแล้วเสร็จทันทีที่การผลิตในประเทศตรงตามความต้องการ”

จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา มีการส่งออกยามูลค่าประมาณ 60 ล้านดอลลาร์ในปีปฏิทิน (มีนาคม-มีนาคม ค.ศ. 2022) ตัวเลขนี้อยู่ที่ประมาณ 180 ล้านดอลลาร์ในปี ค.ศ. 2018 อิหร่านนำเข้ายาประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์ต่อปี ปัจจุบันยาที่ผลิตในอิหร่านถูกส่งออกไปยังแคนาดา ญี่ปุ่น และยุโรป

‘Faramarz Ekhteraei’ ประธานสมาคมอุตสาหกรรมยาแห่งอิหร่านกล่าวเน้นว่า 72% ของวัตถุดิบยาของประเทศนั้นผลิตในประเทศ ซึ่งคณะกรรมการบริหารสมาคมผู้ผลิต และผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์แห่งอิหร่านระบุว่า ราว 40% ของการส่งออกยาทั้งหมดของอิหร่านเป็นผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพ

'โรนัลโด้' งานเข้า!! ถูกศาลอิหร่านสั่งลงโทษโบย 99 ครั้ง หลังเผลอเอามือโอบไหล่ 'หญิงอิหร่าน' ที่แต่งงานมีสามีเเล้ว

(14 ต.ค.66) Shargh Daily สื่อท้องถิ่นเปิดเผยว่า ศาลยุติธรรมของ อิหร่าน สั่งลงโทษ คริสเตียโน โรนัลโด้ ด้วยการโบย 99 ครั้ง หลังทำผิดกฎหมายบ้านเมืองด้วยการสัมผัสตัวเพศหญิง

แนวรุกวัย 38 ปี เดินทางมายังกรุงเตหะรานกับ อัล นาสเซอร์ เพื่อแข่งขันศึก เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ ลีก กับทีม เปอร์ซีโปลิส ของอิหร่าน เมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา โดยยอดทีมแห่งซาอุดีอาระเบียเอาชนะไปได้ 2-0 ในเกมนัดแรกของรอบแบ่งกลุ่ม

นอกเหนือจากแมตช์แข่งขัน โรนัลโด้ ได้เดินทางไปพบกับ 'ฟาติมา ฮามามี' ศิลปินวาดภาพชาวอิหร่าน ที่พิการทางร่างกายมากถึง 85%

ปัญหาเกิดขึ้นตอนที่ถ่ายรูปเพราะโรนัลโด้เผลอเอามือไปโอบไหล่ของ ฮามามี่ ซึ่งเธอเเต่งงานมีสามีเเล้ว ซึ่งตามกฎหมายที่เข้มงวดในประเทศอิหร่านการกระทำแบบนี้คือการส่อไปในเชิงชู้สาว

ด้วยเหตุนี้นักกฎหมายหลายคนที่เห็นภาพเกิดความไม่พอใจ นำเรื่องไปฟ้องศาล ซึ่งคำตัดสินก็ออกมาอย่างรวดเร็วคือ โรนัลโด้ ผิดจริงเเละมีคำสั่งให้โบยเขาถึง 99 ครั้ง เเต่คำสั่งนี้จะมีผลก็ต่อเมื่อโรนัลโด้เดินทางไปประเทศอิหร่าน ในอนาคตข้างหน้า

อย่างไรก็ตามมีข่าวลือว่า การลงโทษครั้งนี้จะอนุโลม ถ้าโรนัลโด้ออกมาขอโทษต่อหน้าสาธารณชน

ระทึก!! ‘อิหร่าน’ ขู่ชิงโจมตีอิสราเอลก่อน ใน ‘อีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า’ หลังรัฐยิวตั้งท่าบุกฉนวนกาซา โหมกระพือความขัดแย้งลุกลามหนัก

เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 66 สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน เตือนว่ามีความเป็นไปได้ที่พวกเขาจะชิงโจมตีเล่นงานอิสราเอลก่อน ‘ในอีกไม่ชั่วโมงข้างหน้า’ ส่งสัญญาณแข็งกร้าวถึงอิสราเอล ในขณะที่รัฐยิวเตรียมพร้อม สำหรับเปิดปฏิบัติการจู่โจมทางภาคพื้นบุกเข้าไปยังฉนวนกาซา

เตหะรานส่งเสียงเตือนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ว่าการรุกรานทางภาคพื้นฉนวนกาซา ที่ถูกปิดล้อมมาช้านาน จะต้องเจอกับการตอบโต้จากแนวหน้าอื่นๆ โหมกระพือความกังวลว่าความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มนักรบปาเลสไตน์ ฮามาสอาจลุกลามขยายวงกว้างมากยิ่งขึ้น ลากประเทศอื่นๆ เข้ามาร่วมวงด้วย

“ความเป็นไปได้ของปฏิบัติการชิงโจมตีก่อนของเครือข่าย ‘Axis of Resistance’ (กลุ่มซึ่งเป็นการผนึกกำลังกันระหว่างกลุ่มก๊กมุสลิมชีอะห์ที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านในอิรัก กับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน) คาดหมายว่าจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า” ‘ฮอสเซน อามีร์ อับดอลลาห์เฮียน’ รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน กล่าวผ่านสถานีโทรทัศน์แห่งรัฐ อ้างถึงการประชุมระหว่งเขากับ ‘ฮัสซัน นาสรัลเลาะห์’ ผู้นำฮิซบอลเลาะห์ เมื่อวันเสาร์ (14 ต.ค.)

ก่อนหน้านี้ในวันจันทร์ (16 ต.ค.) ‘ฮอสเซน อามีร์ อับดอลลาห์เฮียน’ และ ‘อิบราฮิม ไรซี’ ประธานาธิบดีอิหร่าน ต่างบอกว่าเวลาสำหรับการหาทางออกทางการเมืองใกล้หมดลงแล้ว และเตือนเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่สงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาสจะลุกลามสู่แนวหน้าอื่นๆ

‘อามีร์ อับดอลลาห์เฮียน’ ประกาศกร้าวว่าพวกผู้นำ Axis of Resistance จะไม่ยอมให้อิสราเอลทำอะไรตามอำเภอใจในฉนวนกาซา “ถ้าเราไม่ปกป้องฉนวนกาซาในวันนี้ วันพรุ่งนี้เราคงจำเป็นต้องป้องกันสกัดระเบิดฟอสฟอรัสเหล่านี้ จากการพุ่งใส่โรงพยาบาลเด็กทั้งหลายในประเทศของเราเอง”

อิสราเอล ประกาศสงครามกับกลุ่มนักรบ ‘ฮามาส’ ในดินแดนปาเลสไตน์หนึ่งวัน หลังจากพวกนักรบส่งสมาชิกระลอกแล้วระลอกเล่าจากฉนวนกาซา บุกฝ่าแนวป้องกันอันหนาแน่นเข้าไปโจมตีภายในอิสราเอล เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม เข่นฆ่าพลเรือนไปกว่า 1,400 คน ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน

ทางอิสราเอล ตอบโต้กลับด้วยการทิ้งบอมบ์ถล่มฉนวนกาซาเป็นชุดๆ แบบไม่มีหยุด ทั้งจากปฏิบัติการโจมตีทางอากาศและปืนใหญ่ ทำย่านต่างๆ พังราบเป็นหน้ากลอง สังหารชีวิตผู้คนไปอย่างน้อย 2,750 ราย ส่วนใหญ่เป็นพลเรือนเช่นกัน

เบื้องต้น อิหร่านออกมาแสดงความยินดีปรีดาต่อปฏิบัติการจู่โจมของฮามาส แต่ยืนกรานว่าพวกเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

คำเตือนของอิหร่านในวันจันทร์ (16 ต.ค.) มีขึ้นในขณะที่อิสราเอลได้เตรียมการสำหรับเปิดฉากรุกรานทางภาคพื้นเข้าไปยังฉนวนกาซา ท่ามกลางความกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า มีพลเรือนปาเลสไตน์ติดอยู่ในฉนวนที่ถูกทิ้งบอมบ์อย่างหนักแห่งนี้เป็นจำนวนมาก นับตั้งแต่อิสราเอลเปิดปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ

อนึ่งนับตั้งแต่เหตุการณ์ปฏิวัติอิสลามปี 1979 อิหร่านหยิบยกการสนับสนุนปาเลสไตน์เป็นหนึ่งในเสาหลักของอุดมการณ์ของพวกเขา

‘มะกัน’ จ่อส่งระบบ THAAD-ขีปนาวุธแพทริออตเพิ่มในตะวันออกกลาง เพื่อตอบโต้ท่าที ‘อิหร่าน’ หลังสถานการณ์เริ่มทวีความตึงเครียดต่อเนื่อง

(23 ต.ค. 66) สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ประเทศสหรัฐอเมริกาเตรียมที่จะส่งระบบต่อต้านมิสไซล์เพดานบินสูง (THAAD) และระบบป้องกันภัยทางอากาศแพทริออตเพิ่มเติมไปยังภูมิภาคตะวันออกกลาง ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐเมื่อวันที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อเป็นการตอบโต้ต่อการโจมตีใส่กองทัพสหรัฐฯ ในตะวันออกกลางในช่วงที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ ได้มีการส่งเรือบรรทุกอากาศยาน 2 ลำพร้อมเรือสนับสนุน และทหารเรือราว 2,000 คนไปในภูมิภาคตะวันออกกลางในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา และกำลังจับตาความเคลื่อนไหวของกลุ่มที่อิหร่านให้การหนุนหลัง ขณะที่ความตึงเครียดในภูมิภาคดังกล่าวได้พุ่งสูงขึ้น เนื่องจากสงครามระหว่างอิสราเอล-กลุ่มฮามาส

นายลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ระบุในแถลงการณ์ว่า “หลังมีการหารือกันอย่างละเอียดกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำของสหรัฐฯ ถึงท่าทีที่ยั่วยุของอิหร่านในช่วงที่ผ่านมา และกองกำลังตัวแทนของอิหร่านทั่วภูมิภาคตะวันออกกลาง วันนี้ผมได้กำหนดขั้นตอนเพิ่มเติมหลายขั้นตอนเพื่อเสริมท่าทีของกระทรวงกลาโหมในภูมิภาคดังกล่าว”

นอกจากระบบ THAAD และขีปนาวุธแพทริออตแล้ว อาจมีการส่งทหารเข้าไปในภูมิภาคตะวันออกกลางเพิ่มเติมอีกด้วย โดยไม่ได้มีการระบุตัวเลขจำนวนทหารที่แน่ชัด

“ขั้นตอนเหล่านี้จะช่วยสนับสนุนความพยายามในการป้องปรามในภูมิภาค เพิ่มการป้องกันสำหรับกองกำลังของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลาง และช่วยเหลือการป้องกันตนเองของอิสราเอล” นายออสตินกล่าว

โดยคำสั่งดังกล่าวมีขึ้น 2 ปีหลังจากที่รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ถอนระบบป้องกันภัยทางอากาศออกจากภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยให้เหตุผลว่า ความตึงเครียดกับอิหร่านได้คลี่คลายลงแล้ว

อย่างไรก็ดี การโจมตีใส่กองทัพสหรัฐฯ ในประเทศอิรักและซีเรียได้เพิ่มสูงขึ้นหลังสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มติดอาวุธฮามาสได้เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เรือรบของสหรัฐฯ ได้ยิงโดรนหลายลำและขีปนาวุธร่อน 4 ลูกที่ยิงมาจากที่ตั้งของกลุ่มกบฏฮูตีในประเทศเยเมน

‘อิหร่าน’ ส่งออกอาหาร-สินค้าทางการเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 21 ยก ‘อิรัก-อัฟกัน-UAE-รัสเซีย-ปากีฯ’ คู่ค้าด้านอาหารที่สำคัญ

สภาอุตสาหกรรม เหมืองแร่ และการพาณิชย์ของอิหร่าน ประกาศว่า ในช่วงครึ่งปีแรกของปีปฏิทินอิหร่าน 1402 (21 มีนาคม - 22 กันยายน 2566) มีการส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ปศุสัตว์ การประมง และอาหารมากกว่า 3.5 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าราว 2,428 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 21 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ไซยิดรูฮุลลอฮ์ ลาตีฟี โฆษกคณะกรรมการพัฒนาการค้า Khaneh Sanat กล่าวว่า ร้อยละ 94 ของน้ำหนัก และร้อยละ 84 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของประเทศได้ส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านในช่วงเวลาดังกล่าว โดยมี อิรัก อัฟกานิสถาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รัสเซีย และปากีสถาน เป็นจุดหมายปลายทางการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารที่สำคัญที่สุดของอิหร่าน 

ลาตีฟี กล่าวด้วยว่า สินค้าส่งออกที่สำคัญที่สุดในกลุ่มผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหาร ได้แก่ ผลิตภัณฑ์นมที่มีมูลค่า 345 ล้านดอลลาร์ มะเขือเทศ มูลค่า 159 ล้านดอลลาร์ และผลิตภัณฑ์ประมงที่มีมูลค่ามากกว่า 140 ล้านดอลลาร์ สินค้าส่งออกอื่น ๆ ของอิหร่านในภาคส่วนนี้ ได้แก่ ถั่วพิสตาชิโอ, แตงโม, ไข่ไก่, หญ้าฝรั่ง, อินทผาลัม, ลูกเกด, มะเขือเทศเข้มข้น, มันฝรั่ง, แอปเปิ้ล และลูกพีช เป็นต้น

โดย ลาตีฟี ได้เน้นย้ำว่า การส่งออกมีความสำคัญอย่างยิ่งในฐานะที่เป็นแรงผลักดันและกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และบรรดาผู้กำหนดนโยบายและบรรดาผู้ผลิตควรคำนึงถึงคุณภาพ ความต่อเนื่องของอุปทาน, ราคาที่สามารถแข่งขันได้ ตลอดจนรสนิยม และความยืดหยุ่นของตลาดเป้าหมาย การจัดระเบียบองค์กรต่าง ๆ อย่างเหมาะสม และการใช้วิทยาการความรู้ที่ทันสมัย, บรรจุภัณฑ์, การขนส่งที่เหมาะสม และการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันก็ให้ความสนใจกับการพัฒนาของตลาดประเทศเพื่อนบ้าน และเพิ่มการส่งออกไปยังตลาดที่ห่างไกล หากดำเนินงานในลักษณะนี้ก็จะสามารถทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเงินตราที่เหมาะสมได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน

อุตสาหกรรมการบิน ‘อิหร่าน’ ก้าวหน้า แม้ถูกคว่ำบาตร สามารถซ่อมบำรุงเครื่องบินได้เอง โดยผู้เชี่ยวชาญในประเทศ

เมื่อไม่นานมานี้ ผู้อำนวยการองค์การการบินพลเรือนแห่งอิหร่าน เปิดเผยว่า แม้จะมีการคว่ำบาตร แต่อุตสาหกรรมการบินของประเทศก็มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมากและการซ่อมบำรุงเครื่องบินที่มีอยู่ก็สามารถดำเนินการต่อไปได้โดยผู้เชี่ยวชาญในประเทศ ปัจจุบันไม่มีการส่งเครื่องบินของอิหร่านไปซ่อมในต่างประเทศ การดำเนินการที่เรียกว่า กระบวนการซ่อมแซมชิ้นส่วนของเครื่องบินที่ต้องซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ เพื่อฟื้นฟูสภาพสำหรับการบินในช่วงสองปีที่ผ่านมา 

เครื่องยนต์เครื่องบิน 31 เครื่องได้รับการซ่อมแซมโดยบริษัทดาเนชบุนยอน โดยวิศวกรอากาศยานผู้เชี่ยวชาญชาวอิหร่าน จนเครื่องบินแบบ ATR จำนวน 3 ลำ และเครื่องบิน A 319 จำนวน 1 ลำ สามารถกลับคืนสู่วงจรการบินปฏิบัติงานได้แล้ว

Mohammad Mohammadi Bakhsh ผู้อำนวยการองค์การการบินพลเรือนแห่งอิหร่าน

โดยเฉลี่ยแล้วการซ่อมเครื่องยนต์เครื่องบินในอิหร่านจะใช้เวลาประมาณ 10 วัน ในขณะที่การส่งเครื่องยนต์ไปซ่อมในต่างประเทศจะใช้เวลามากกว่าสองเดือน ตามที่ผู้อำนวยการองค์การการบินพลเรือนแห่งอิหร่านระบุว่า 

ในช่วง 20 เดือนที่ผ่าน มีการนำเข้าเครื่องบิน 60 ลำ เข้ามาในประเทศ จนถึงขณะนี้มีการใช้งานไปแล้ว 30 ลำ เน้นว่า ไม่ว่าจะมีการคว่ำบาตรอย่างไรก็ตาม เราต้องพอเพียงและสร้างศักยภาพความสามารถให้กับตนเอง นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้กับอุตสาหกรรมการบินของอิหร่าน วันนี้เรายืนหยัดด้วยลำแข้งของตัวเอง และสำหรับประเทศที่เป็นมิตรบางประเทศที่เราได้ซ่อมเครื่องบินของพวกเขาในประเทศของเราเองหรือแม้แต่เป็นประเทศที่ใหญ่ๆก็ตาม จึงทำให้เรามีความหวัง ผู้อำนวยการองค์การการบินพลเรือนแห่งอิหร่านยังชี้ให้เห็นว่า ก่อนหน้านี้เราประสบปัญหาร้ายแรงในด้านน้ำมันหล่อลื่นหรือน้ำมันเครื่องสำหรับเครื่องบิน บริษัทที่มีชื่อเสียงของโลกไม่ยอมขายน้ำมันเครื่องสำหรับเครื่องบินให้กับอิหร่าน แต่ด้วยความร่วมมือของบริษัทดาเนชบุนยอน ในช่วงเวลาอันสั้นเราไม่เพียงแต่เป็นผู้จัดหาสำหรับความต้องการของเราเพียงเท่านั้น แต่เรากลายเป็นผู้ส่งออกน้ำมันเครื่องสำหรับเครื่องบินอีกด้วย

‘ผู้นำสูงสุดอิหร่าน’ ปลุกกลุ่มประเทศมุสลิม ร่วมกันบอยคอต ‘อิสราเอล’ ระงับการค้าทุกด้าน โต้ตอบสถานการณ์สงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์

(2 พ.ย. 66) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน ว่า ‘อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี’ ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน กล่าวเมื่อวันพุธ (1 พ.ย.) ที่ผ่านมา เรียกร้องความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของรัฐบาลในโลกมุสลิม ในการร่วมมือกันระงับการค้าขายกับ ‘รัฐไซออนิสต์’ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อเพลิง อาหารและสินค้าจำเป็นอื่น

ขณะเดียวกัน คาเมเนอี กล่าวอย่างตรงไปตรงมาถึงสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส ว่าเป็นประเทศ ‘ที่มีรัฐบาลต่อต้านปาเลสไตน์’

ด้าน พล.จ.เรซา การาอี อัชเตียนี รมว.กลาโหมอิหร่าน กล่าวว่า “บางประเทศในยุโรปที่ช่วยเหลืออิสราเอล ควรขับเคลื่อนนโยบายอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้สร้างความโกรธเคืองแก่ชาวมุสลิม”

ทั้งนี้ นายนาสเซอร์ คานานี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศอิหร่าน กล่าวเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านั้น ถึงการที่ทหารอเมริกันในอิรักและซีเรีย ตกเป็นเป้าหมายของการโจมตีทางทหารโดยกองกำลังหลายกลุ่มบ่อยครั้งขึ้น เป็นผลจาก ‘นโยบายต่างประเทศของรัฐบาลวอชิงตันที่ผิดพลาด’ หนึ่งในนั้น คือ การสนับสนุนอิสราเอลในการทำสงครามกับกลุ่มฮามาส

4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2522 กลุ่มหัวรุนแรงชาวอิหร่านเข้ายึดสถานทูตสหรัฐฯ จับนักการทูต - พลเมืองสหรัฐฯ เป็นตัวประกันนาน 444 วัน

ช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2522 (ค.ศ. 1979) นักศึกษาชาวอิหร่านราว 300 - 500 คน ได้บุกฝ่ากองกำลังของนาวิกโยธินสหรัฐฯ ที่คุ้มกันอยู่ที่สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำกรุงเตหะราน เข้าไปจับกุมตัวประกัน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลอเมริกันส่งตัวพระเจ้าชาห์ โมฮัมเมด เรซา ปาห์เลวี (Mohammad Reza Pahlavi) ที่กำลังรักษาโรคมะเร็งอยู่ที่สหรัฐฯ กลับไปดำเนินคดีในอิหร่าน 

โดยเหตุการณ์ในตอนแรก กลุ่มนักศึกษาได้จับเจ้าหน้าที่อเมริกัน 52 คน เป็นตัวประกัน และยืนยันว่า รัฐบาลสหรัฐฯ จะต้องส่งตัวพระเจ้าชาห์กลับมา แต่สหรัฐฯ ปฏิเสธคำเรียกร้องโดยอ้างว่า พระเจ้าชาห์กำลังรักษาตัวอยู่ นักศึกษาจึงเรียกร้องให้รัฐบาลอิหร่านตัดความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ทันทีและยกเลิกการขายน้ำมันให้

ขณะที่ทางสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดี จิมมี่ คาร์เตอร์ ได้ตอบโต้ด้วยการให้อายัดทรัพย์สมบัติของอิหร่านทั้งหมดในสหรัฐฯ (ประมาณ 2 แสนล้านบาท) และก็ได้ส่งกองทัพเรือเข้าไปประชิดที่ทะเลอาหรับ

อย่างไรก็ตาม หลังจากได้เจรจาเพื่อให้ปล่อยตัวประกันอย่างต่อเนื่อง จนถึงวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2524 อิหร่านจึงได้ปล่อยตัวประกันที่จับไว้ กินระยะเวลารวม 444 วัน

วิกฤตดังกล่าวยังนำไปสู่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ต่ออิหร่าน ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศอ่อนแอลงจนถึงปัจจุบัน

ย้อนอดีตการยึดสถานทูตสหรัฐฯ ในประเทศอิหร่าน เมื่อ ‘เตหะราน’ เชื่อ ‘สหรัฐฯ’ กำลังเข้ามาแทรกแซง ปท.

มองต่างมุม ‘กรณีการยึดสถานทูตสหรัฐฯ ณ กรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน’

การยึดสถานทูตสหรัฐฯ ณ กรุงเตหะราน ของนักศึกษาอิหร่าน เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2522 นั้น รัฐบาลสหรัฐฯได้ยืนยันว่า กิจกรรมของสถานทูตสหรัฐฯในอิหร่านเป็นเรื่องปกติ โดยอธิบายว่า การเคลื่อนไหวของนักศึกษามหาวิทยาลัยชาวอิหร่านที่ยึดสถานทูตว่าไร้เหตุผลและละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ อ้างตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว ในอนุสัญญาเวียนนาปี 1963 มีข้อปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับสถานทูตต่างประเทศ และเอกสิทธิ์คุ้มครองของสถานทูตต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม อนุสัญญายังได้ระบุด้วยว่า เมื่อสถานทูตของประเทศใดที่ได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครองนี้ จะต้องปฏิบัติตามในสองประเด็นนี้ด้วย

อุปกรณ์สื่อสารภายในสถานสหรัฐฯซึ่งทางการอิหร่านเชื่อว่า 
มีขีดความสามารถในการดักฟังการสื่อสารของทางการอิหร่าน

ประเด็นแรกคือ การเคารพต่อกฎหมายของประเทศเจ้าบ้านที่สถานทูตนั้น ๆ ตั้งอยู่ ดังนั้นแม้ว่า สถานทูตสหรัฐฯจะมีเอกสิทธิ์คุ้มครอง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสถานทูตสหรัฐฯจะสามารถละเมิดกฎหมายของประเทศเจ้าบ้านได้

Operation Eagle Claw ยุทธการกรงเล็บอินทรี เพื่อช่วยเหลือตัวประกันอเมริกัน
แต่ไม่ประสบความสำเร็จ และกลับต้องประสบความสูญเสียอย่างหนักแทน
อ่านได้ที่ https://www.facebook.com/doctoryothin/posts/pfbid0PS3swT2M1fRC5JnuEFE3APpDQjagekjPAf7XM8wMNo93ZX5Go2cv3VBad8rtvmJal

ประเด็นที่สองคือ เจ้าหน้าที่ทางการทูตอเมริกันไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในของประเทศเจ้าบ้าน เจ้าหน้าที่ทางการทูตอเมริกันได้ละเมิดประเด็นเหล่านี้ในอิหร่านมาหลายปีแล้ว (เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ทางการทูตอเมริกันยังคงปฏิบัติอยู่จนทุกวันนี้)

เริ่มจากประการแรกรัฐบาลสหรัฐฯให้การสนับสนุนการก่อรัฐประหารในอิหร่าน ปี พ.ศ. 2496 จนเกิดการเปลี่ยนรัฐบาลของอิหร่าน ประการต่อมา มีเอกสารหลายร้อยฉบับที่พิสูจน์ถึงการแทรกแซงกิจการภายในของอิหร่านโดยรัฐบาลสหรัฐฯ

แม้ว่า การยึดสถานทูตสหรัฐฯ ณ กรุงเตหะราน จะไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง แต่ขบวนการนักศึกษาอิหร่านเชื่อว่า อาคารนั้นไม่ใช่สถานทูตจริง ๆ เพราะกิจกรรมมากมายหลายอย่างในอาคารนั้นบ่งบอก และหลายคนเชื่อว่าหากไม่ยึดสถานทูตสหรัฐฯ อาจเกิดการรัฐประหารในอิหร่านขึ้นซ้ำอีก ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลอเมริกันยังคงสนับสนุนชาห์ปาเลวีต่อ แม้หลังจากการล่มสลายของระบอบการปกครองของพระองค์จนกระทั่งสิ้นพระชนม์


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top