Sunday, 5 May 2024
อินโดนีเซีย

บีโอไอ’ เผย อย่าเพิ่งเชื่อข่าวลือ ปม ‘อีซูซุ’ ย้ายฐานผลิตไปอินโดฯ ยัน!! ยังไม่ชัดเจน ต้องรอตรวจสอบข้อเท็จจริงจากบริษัทแม่ก่อน

วันที่ (8 มิ.ย. 66) กรณีค่ายรถยนต์รายใหญ่ของญี่ปุ่น ‘อีซูซุมอเตอร์’ มีแผนจะย้ายการผลิตรถยนต์ จากโรงงานแห่งหนึ่งในประเทศไทย ไปยังประเทศอินโดนีเซีย โดยจะเริ่มการผลิตอย่างเร็วที่สุดในปี 2567 นั้น ล่าสุดได้มีการสอบถามข้อเท็จจริงเรื่องนี้ไปยัง นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ระบุว่า 

จากกรณีข่าวการย้ายฐานการผลิตของ บริษัท อีซูซุมอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด บีโอไอกำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลที่ชัดเจนไปยังบริษัทแม่ของอีซูซุมอเตอร์ว่า กรณีนี้เป็นจริงหรือไม่อย่างไร แต่ ณ ปัจจุบันบริษัทในไทยยังไม่ทราบเรื่องดังกล่าว 

“ตอนนี้ต้องรอเช็กข้อมูลให้แน่ใจก่อนว่าเป็นอย่างไร เพราะทางอีซูซุในไทยก็ยังไม่ทราบเรื่อง และคงต้องสอบถามไปยังบริษัทแม่ว่าเกิดอะไรขึ้น และหากมีความคืบหน้าจะแจ้งข้อมูลมาอีกครั้ง” นายนฤตม์ ระบุ

เลขาธิการ บีโอไอ ยอมรับว่า ปัจจุบันบริษัท อีซูซุมอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ยังลงทุนผลิตรถยนต์ในประเทศไทย และที่ผ่านมาก็ได้รับสิทธิประโยชน์ในด้านการส่งเสริมการลงทุนจากรัฐบาลได้ไปแล้ว โดยเฉพาะสิทธิประโยชน์การลงทุนเกี่ยวกับการผลิตรถยนต์บรรทุกและรถยนต์กระบะในประเทศไทย

สำหรับกรณีกระแสข่าวการย้ายการลงทุนของ ‘อีซูซุมอเตอร์’ ที่ผ่านมา เนื่องจากนายอากัส กูมิวัง คาร์ตาซัสมิตา รัฐมนตรีอุตสาหกรรมอินโดนีเซีย ได้แถลงข่าวภายหลังพบหารือกับคณะผู้บริหารของบริษัทอีซูซุที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อ 6 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา 

ทั้งนี้ รัฐมนตรีอุตสาหกรรมอินโดนีเซีย ระบุว่า บริษัท อีซูซุ มอเตอร์ ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของญี่ปุ่น มีแผนจะโยกย้ายการผลิตรถยนต์บางส่วนจากโรงงานแห่งหนึ่งในประเทศไทย ไปยังอินโดนีเซีย โดยจะเริ่มการผลิตอย่างเร็วที่สุดในปีหน้า ซึ่งอินโดนีเซียยินดีกับการตัดสินใจดังกล่าว และจะมอบสิทธิประโยชน์พร้อมให้การสนับสนุนการย้ายฐานการผลิต

ปัจจุบัน บริษัท อีซูซุมอเตอร์ มีโรงงานผลิตรถยนต์ 2 แห่งในประเทศไทย ที่จังหวัดสมุทรปราการและฉะเชิงเทรา โดยมีกำลังการผลิตรถยนต์รวมกัน 385,000 คันต่อปี และมีการจ้างงานพนักงานประมาณ 6,000 คน ส่วนในอินโดนีเซีย อีซูซุมีโรงงานผลิตรถยนต์ 1 แห่งที่เมืองคาราวัง

รายงานข่าวระบุด้วยว่า ปัจจุบันอินโดนีเซียเป็นฐานการผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นหลายค่าย อาทิ ฮอนด้า มิตซูบิชิ ซูซูกิ และอินโดนีเซียกำลังผลักดันตนเองให้ก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากมีวัตถุดิบในด้านดังกล่าวจำนวนมาก

'อินโดฯ' สั่งบล็อก X.com ของ 'อีลอน' หลังเข้าใจผิด คิดว่า X เป็น 'เว็บโป๊'

คลั่ง X จนเป็นเหตุ ถึงขนาดที่ อีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้ง SpaceX ได้ตัดสินใจเปลี่ยนโลโก้ และ รีแบรนด์แพลตฟอร์มโซเชียลชื่อดังอย่าง Twitter ด้วยตัวอักษร X พร้อมเปิดเว็บไซต์ X.com เพื่อเป็นช่องทางเข้าถึงบัญชี Twitter ด้วย

แต่ทว่า วันนี้ กระทรวงการสื่อสารและสารสนเทศของอินโดนีเซีย มีคำสั่งให้บล็อกเว็บไซต์ X.com ของอีลอน มัสก์ เสียแล้ว เนื่องจากพบว่า เว็บไซต์ที่มีตัวอักษร X มักถูกใช้ในการเผยแพร่เนื้อหาลามกอนาจาร และ การเล่นพนันผิดกฎหมายในอินโดนีเซีย

อีกทั้งตอนนี้รัฐบาลอินโดนีเซียมีนโยบายปราบปรามเว็บไซท์ที่เผยแพร่หนังโป๊ และ เว็บพนันอย่างหนัก ทำให้ X.com ของอีลอน มัสก์ ติดร่างแหไปด้วย เพราะในระบบตรวจจับของทางการอินโดนีเซียยังเข้าใจว่า X.com คือ 'เว็บโป๊'

ดังนั้น การบล็อก X.com ของรัฐบาลอินโดนีเซีย จะส่งผลให้ผู้ใช้ทวิตเตอร์ในประเทศราว 24 ล้านบัญชี จากประชากรชาวอินโดนีเซียทั้งหมดกว่า 270 ล้านคน ไม่สามารถใช้ Twitter ได้

ทั้งนี้ อุซมาน กันซอง อธิบดีกรมสารสนเทศและการสื่อสารสาธารณะ กล่าวว่าทางรัฐบาลได้ติดต่อทาง X.com และตัวแทนของทาง Twitter เพื่อออกหนังสือชี้แจงถึงกิจการ และเนื้อหาที่จะเผยแพร่บนเว็บไซต์ เพื่อพิจารณาปลดล็อกต่อไป

ฉะนั้น เรื่องนี้จึงถือเป็นอีกหนึ่งความยุ่งยากที่ผู้บริหาร Twitter ต้องจัดการ และสร้างความเข้าใจในตัวตน และ โลโก้ใหม่ล่าสุดแทนสัญลักษณ์นกสีฟ้า แต่ยังไม่อาจหยุดยั้งความหลงใหลในตัวอักษร X ของอีลอน มัสก์ ได้

หากย้อนกลับไปในปี 1999 ที่เป็นยุคที่เรียกว่า dot-com generation ธุรกิจในโลกอินเทอร์เน็ตเฟื่องฟู อีลอน มัสก์ และเพื่อนๆ ได้แก่ แฮริส ฟริคเกอร์, คริสโตเฟอร์ เพยน์ และ เอ็ด โฮ ได้ก่อตั้งเว็บไซต์ที่ชื่อว่า X.com ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยตั้งใจให้เป็นธนาคารออนไลน์เต็มรูปแบบ ที่จะรวมบริการฝาก-ถอน เงินกู้ สินเชื่อ ประกันภัย ไว้ในที่เดียวกัน แม้จะมีหลายคนติงว่า ตัวอักษร X มักถูกโยงให้นึกถึงคอนเทนต์สำหรับผู้ใหญ่ แต่อีลอน มัสก์ ชอบชื่อนี้มาก และยืนยันที่จะเปิดโดเมน ด้วยชื่อนี้ให้ได้

และต่อมา X.com ได้ควบรวมกิจการกับ Confinity Inc. บริษัทซอฟต์แวร์ด้านธุรกรรมการเงิน และได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น Paypal ผู้ให้บริการชำระเงินออนไลน์ในเวลาต่อมา จนมาในปี 2017 อีลอน มัสก์ ยอมควักกระเป๋าซื้อโดเมน X.com คืนมาจาก Paypal ซึ่งเขาได้โพสต์ความรู้สึกผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวของเขาในตอนนั้นว่า ยังไม่มีแผนว่าจะเอาโดเมน X.com มาทำอะไร แต่ชื่อโดเมนนี้มีคุณค่าทางจิตใจกับสำหรับเขา

่มาวันนี้ อีลอน มัสก์ มีแผนสำหรับ X.com ที่จะคืนชีพด้วยการนำมาสวมแทนแบรนด์ Twitter เสียเลย และขั้นต่อไป อีลอน มัสก์ ตั้งใจที่จะต่อยอดให้ Twitter เป็นมากกว่าแพลตฟอร์มโซเชียล โดยเปลี่ยนให้เป็นแอปพลิเคชันที่ทำได้ทุกอย่าง อาทิ บริการชำระเงิน และ ธนาคารดิจิทัล

แต่ปัญหาคือ ภาพจำของคนทั่วไปกับตัวอักษร X ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เพราะมักถูกใช้ในเว็บไซต์ลามกอนาจาร หรือมีเนื้อหาต้องห้าม ผิดกฎหมาย หรือแม้กระทั่งการดูหมิ่นศาสนา ซึ่งถือเป็นเรื่องร้ายแรงในอินโดนีเซีย ประเทศที่มีชุมชนชาวมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในโลก

จึงเป็นเหตุให้ X.com ขออีลอน มัสก์ ถูกเบรกอย่างกะทันหันในอินโดนีเซีย และมีแนวโน้มที่จะถูกจับตาเป็นพิเศษ ถึงเนื้อหาที่เผยแพร่ใน Twitter หลังจากที่สวมแบรนด์ X อีกด้วย

ดังนั้น ความท้าทายของอีลอน มัสก์ จึงไม่ใช่แค่การเปลี่ยนชื่อ Twitter เป็น X อย่างเดียว แต่จำเป็นต้องรีแบรนด์ ภาพลักษณ์ของตัวอักษร X ในสายตาชาวโลกด้วย

‘บิ๊กตู่’ ปลื้ม!! ความร่วมมือ ‘อินโดฯ-มาเลย์-ไทย’ ปี 64 ก้าวหน้า ดัน GDP โต หนุนร่วมพัฒนาทุนมนุษย์-การท่องเที่ยว เชื่อมโยงเศรษฐกิจแบบไร้รอยต่อ

(14 ส.ค. 66) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีต่อผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมของแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย ‘อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย’ (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle : IMT – GT) โดยกว่า 30 ปีที่ผ่านมา อนุภูมิภาคมีพัฒนาการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมาก ช่วยลดช่องว่างการพัฒนาภายในประเทศและอนุภูมิภาค ส่งเสริมบทบาทของประชาชนควบคู่ไปกับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจทั้ง 6 สาขา คือ 1.) สาขาการค้าและการลงทุน 2.) สาขาโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคม 3.) สาขาการท่องเที่ยว 4.) สาขาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 5.) สาขาการเกษตร อุตสาหกรรมการเกษตรและสิ่งแวดล้อม และ 6.) สาขาผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล 

น.ส.รัชดา กล่าวว่า ยังได้ขยายพื้นที่ความร่วมมือครอบคลุม 35 รัฐ และจังหวัดของทั้ง 3 ประเทศ โดยมีมูลค่า GDP ภายในอนุภูมิภาคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 12,790 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2527 เป็น 405,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2564 และมีมูลค่าการค้าระหว่างกันเพิ่มขึ้นจากในปี พ.ศ. 2527 ที่ 97,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 618,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2564

น.ส.รัชดา กล่าวว่า ด้านโครงการความเชื่อมโยงทางกายภาพตามแนวระเบียงเศรษฐกิจทั้ง 6 สาขา มีกว่า 36 โครงการก็มีความก้าวหน้าอย่างมาก คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 57,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยโครงการดังกล่าวมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนอย่างไร้รอยต่อของทั้งสินค้า บริการ และคน อาทิ โครงการรถไฟเชื่อมหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์-กัวลาลัมเปอร์, โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก แห่งที่ 2 (สุไหงโก-ลก-รันเตาปันยัง), โครงการทางด่วนสุมาตรา และการฟื้นฟูการเชื่อมโยงทางอากาศ ภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19

น.ส.รัชดา กล่าวว่า ภายใต้แผนการดำเนินงานระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2565-2569) สาขาความร่วมมือต่างๆ มีความก้าวหน้าอย่างมาก อาทิ โครงการเพื่อพัฒนาเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางพลังงาน การเสริมสร้างการเชื่อมโยง และการฟื้นฟูการท่องเที่ยว ส่วนทิศทางการดำเนินงานในอนาคตนั้น มุ่งเน้นใน 6 ประเด็น เช่น การเพิ่มขีดความสามารถของทุนมนุษย์ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล การพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยว ภายในช่วงปีแห่งการท่องเที่ยว IMT-GT และการเร่งการลงนามกรอบความร่วมมือด้านศุลกากร การตรวจคนเข้าเมือง และตรวจโรคพืชและสัตว์ ระหว่างรัฐบาลอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย เป็นต้น

น.ส.รัชดา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรียินดีที่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ผลักดันความร่วมมืออินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย จนเกิดความสำเร็จที่จับต้องได้ เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ และเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ กว่า 30 ปีนับตั้งแต่ก่อตั้ง IMT-GT ตั้งแต่ปี 2536 ทั้ง 3 ประเทศได้ร่วมกันสร้างความก้าวหน้าที่สำคัญในการพัฒนาการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคและภูมิภาค มีวิสัยทัศน์และเป้าหมายร่วมกัน เพื่อทำให้อนุภูมิภาคนี้มีการบูรณาการ มีนวัตกรรม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และยั่งยืน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เกิดการเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อ

‘ทัพนักกีฬาว่ายน้ำไทย’ ผงาด!! ครองตำแหน่งเจ้าสระ กวาดรวม 90 เหรียญ ในศึก ‘SEA Age Group 2023’

ความเคลื่อนไหวของทัพนักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติไทย ชุดเข้าร่วมการแข่งขัน ‘SEA Age Group Championships 2023’ ที่ประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 24-26 ส.ค.66 โดย พล.อ.เจริญ นพสุวรรณ เลขาธิการสมาคมกีฬาว่ายน้ำแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงผลงานของนักกีฬาทีมชาติไทยในการแข่งขันรายการดังกล่าวว่า…

“สำหรับการแข่งขัน SEA Age Group Championships 2023 เป็นการแข่งขันครั้งที่ 45 ที่เมืองจากาตาร์ ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อระหว่างวันที่ 24-26 ส.ค.66 ได้จบลงด้วยความเรียบร้อยทุกประการ โดยมีแข่งขัน 3 ประเภท ว่ายน้ำ, กระโดดน้ำ และ โปโลน้ำ ผลการแข่งขันในส่วนของว่ายน้ำได้ 17 เหรียญทอง, 29 เหรียญเงิน, 44 เหรียญทองแดง, กระโดดน้ำได้ 2 เหรียญทอง, 1 เหรียญเงิน และโปโลน้ำได้ 1 เหรียญทอง และ 1 เหรียญเงิน”

“โดยภาพรวมของผลการแข่งขันทีมว่ายน้ำไทยเราได้เหรียญรวม 90 เหรียญ ถือว่าเป็นเจ้าสระอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ใหม่ของ เวิลด์อควาติกส์ (World Aquatics) หรือ องค์กรกำกับดูแลเกี่ยวกับกีฬาทางน้ำ ที่เริ่มใช้การวัดที่จำนวนเหรียญรวม หลักเกณฑ์นี้เริ่มใช้ในการแข่งขันชิงแชมป์โลกที่ฟูกูโอกะ ประเทศญี่ปุ่น ที่ผ่านมา จึงถือว่านักกีฬาว่ายน้ำเยาวชนทีมชาติไทยยังครองความเป็นเจ้าสระเป็นปีที่สองติดต่อกันต่อจากปี 2022 ที่แข่งขันกันที่มาเลเซีย”

“นักกีฬาที่ ส.กีฬาว่ายน้ำฯ ส่งเข้าแข่งขันทั้ง 3 ประเภทในครั้งนี้ ทาง ส.กีฬาว่ายน้ำฯ ได้ตัดสินใจพักตัวหลัก 12 คน เพื่อเตรียมไปแข่งขันว่ายน้ำชิงแชมป์โลกเยาวชนในช่วงต้นเดือน ก.ย. 66 รวมถึงการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ในปลายเดือน ก.ย. 66 ด้วย พร้อมกับให้โอกาสนักกีฬาในระดับทีมบี และ ทีมซี ไปร่วมการแข่งขันเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ซึ่งทุกคนทำได้ดี เหรียญรางวัลจึงไปสะสมอยู่ที่เหรียญเงินและเหรียญทองแดงเป็นหลัก”

เลขาธิการสมาคมกีฬาว่ายน้ำแห่งประเทศไทย ยังเปิดเผยต่ออีกว่า “ในส่วนของกีฬากระโดดน้ำได้ดาวรุ่งสาวดวงใหม่แจ้งเกิดในการแข่งขันครั้งนี้ในอุปกรณ์สปริงบอร์ด 1 เมตร และ 3 เมตร คือ น้อง ลิลลี่ ประทีบ ที่คว้า 2 เหรียญทอง และในรุ่นเดียวกันที่ได้อีก 1 เหรียญเงิน เป็นจุดเริ่มต้นในการต่อยอดพัฒนานักกีฬากระโดดน้ำ เพื่อความเป็นเลิศต่อไป”

“สำหรับโปโลน้ำหญิงเป็นไปตามฟอร์ม ที่เป็นหนึ่งในอาเซียนมา 7 ปีติดต่อกัน ส่วนทีมชายก็ถือว่าพัฒนาแบบก้าวกระโดดเป็นอย่างมากภายใน 2 ปีที่ผ่านมา ในระหว่างแข่งขันครั้งนี้ มีการหารือแนวทางการจัดการแข่งขัน SEA Age Group Championships 2024 ครั้งที่ 46 ที่ประเทศไทยจะรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพในปี พ.ศ.2567 โดย ส.กีฬาว่ายน้ำฯ วางเป้าหมายในการครองความเป็นเจ้าสระให้ได้เป็นปีที่ 3 อย่างต่อเนื่อง โดยจะจัดการแข่งขัน 5 ประเภท ประกอบด้วย ว่ายน้ำ, ระบำใต้น้ำ, กระโดดน้ำ, ว่ายน้ำมาราธอน และ โปโลน้ำ ซึ่งชาติสมาชิกในอาเซียนรับทราบในขั้นต้นแล้ว” พล.อ.เจริญ กล่าวทิ้งท้าย

‘อินโดฯ’ เสนอ ‘Golden Visa’ ไม่ต้องยื่นใบพำนักชั่วคราว หวังดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ทั้งสถาบัน-รายย่อยเข้าประเทศ

เมื่อไม่นานนี้ ประเทศอินโดนีเซีย ประกาศโครงการ ‘Golden Visa’ เพื่อดึงดูดนักลงทุนชาวต่างชาติทั้งประเภทบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลพำนักเป็นระยะเวลา 5 - 10 ปีโดยไม่จำเป็นต้องยื่นขอใบอนุญาตพำนักชั่วคราวอีกต่อไป

▪️ เงื่อนไขสำหรับนักลงทุนประเภทบุคคลธรรมดา ที่ประสงค์ขอรับวีซ่าพำนักเป็นระยะเวลา 5 ปี ต้องมีการตั้งบริษัทในอินโดนีเซียด้วยวงเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 2.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และกรณีพำนักระยะเวลา 10 ปี ต้องมีการลงทุนอยู่ที่ 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป

▪ ในกรณีที่ไม่ต้องการจัดตั้งบริษัทใด ๆ ในประเทศอินโดนีเซีย มีเงื่อนไขต้องลงทุนในกองทุนที่สามารถใช้ซื้อพันธบัตรรัฐบาลวงเงินตั้งแต่ 350,000-700,000 ดอลลาร์สหรัฐ

▪️ นักลงทุนประเภทนิติบุคคลกำหนดต้องลงทุน 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยผู้อำนวยการและคณะกรรมการจะได้รับวีซ่าพำนักเป็นระยะเวลา 5 ปี และวีซ่าพำนักเป็นระยะเวลา 10 ปี จะต้องลงทุนเพิ่ม 2 เท่า หรือ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

▪️ ล่าสุดประกาศ นักลงทุนต่างประเทศที่ได้รับสิทธิ Golden Visa เป็นคนแรกของอินโดนีเซีย คือ ‘Sam Altman’ ซึ่งเป็น CEO ของบริษัท Open AI เจ้าพ่อธุรกิจ Chat Bot เจ้าของแพลตฟอร์ม ChatGPT

▪️ ประเทศอื่น ๆ ที่มีโครงการ Golden Visa ในลักษณะเดียวกันนี้ เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนและบรรดาผู้ประกอบการให้เข้าไปลงทุนและพำนักอาศัยอยู่ในประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ไอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ และสเปน 

‘ศาลอินโดฯ’ สั่งจำคุก ‘ติ๊กต็อกเกอร์สาวมุสลิม’ 2 ปี ปรับอีก 5 แสนบาท ฐานหมิ่นศาสนา หลังโพสต์คลิปสวดมนต์ก่อนกิน ‘หนังหมูทอดกรอบ’

เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 66 สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ศาลอินโดนีเซียได้ตัดสินโทษจำคุก ติ๊กต็อกเกอร์สาวรายหนึ่ง เป็นเวลา 2 ปี ฐานกระทำผิดกฎหมายหมิ่นศาสนา หลังเธอโพสต์คลิปวิดีโอลงติ๊กต็อกที่กลายเป็นไวรัล ขณะเธอกล่าวบทสวดมนต์ ก่อนกินหนังหมูทอดกรอบ

ในเอกสารสำนวนคดีของศาลระบุว่า ‘ลีนา ลุตเฟียวาตี’ หรือรู้จักในชื่อ ‘ลีนา มูเคอร์จี’ อายุ 33 ปี ที่ระบุว่าตนเองเป็นมุสลิม ได้โพสต์วิดีโอลงติ๊กต็อกเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งเธอกล่าวบทสวด ที่แปลความได้ว่า “ในนามของพระเจ้า” ก่อนที่เธอจะกินหนังหมูทอดกรอบหรือแคบหมู

ศาลเมืองปาเลมบัง บนเกาะสุมาตรา ตัดสินลงโทษการกระทำของเธอ โดยวินิจฉัยว่าเธอตั้งใจเผยแพร่ข้อมูลเพื่อปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดชังหรือสร้างความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างบุคคล/กลุ่มคนบนหลักศาสนา นอกจากศาลจะสั่งลงโทษจำคุก 2 ปีแล้ว ยังสั่งปรับเงินเธอจำนวน 250 ล้านรูเปียห์ (ราว 5.85 แสนบาท) ด้วย

หลังการไต่สวนคดี ลีนากล่าวกับผู้สื่อข่าวว่าเธอรู้สึกประหลาดใจกับคำตัดสิน “ฉันรู้ว่าฉันผิด แต่ไม่คิดว่าจะได้รับโทษขนาดนี้”

ทั้งนี้ อินโดนีเซีย เป็นชาติมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเนื้อหมู ถือเป็นสิ่งต้องห้ามในศาสนาอิสลาม ขณะที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า การบังคับใช้กฎหมายหมิ่นศาสนาอันเข้มงวดของอินโดนีเซียนั้น ได้กัดกร่อนชื่อเสียงของการมีความอดทนอดกลั้น และมีความหลากหลายที่มีมานานของปรเทศอินโดนีเซีย

โดยนายอุสมาน ฮามิด ผู้อำนวยการบริหารของกลุ่มแอมเนสตี อินเตอร์เนชันแนล อินโดนีเซีย กล่าวว่า มาตราหมิ่นศาสนาในกฎหมายของอินโดนีเซีย ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด โดยพุ่งเป้าไปที่ชนกลุ่มน้อยและผู้เห็นต่าง สิ่งนี้ขัดแย้งกับพันธกิจระหว่างประเทศของอินโดนีเซียที่เกี่ยวข้องกับการเคารพ และการคุ้มครองเสรีภาพทางความคิด และความเชื่อทางศาสนา ตลอดจนเสรีภาพในการแสดงความเห็นและการแสดงออก

ประธานาธิบดียอดอัจฉริยะ ฉายา ‘บิดาแห่งเทคโนโลยี’ ของอินโดนีเซีย ผู้ปฏิวัติความปลอดภัยและยกระดับประสิทธิภาพระบบการบินของโลก

‘B.J. Habibie’ ประธานาธิบดียอดอัจฉริยะแห่งอินโดนีเซีย

‘ประธานาธิบดี’ เป็นตำแหน่งประมุขของประเทศที่มีการปกครองแบบสาธารณรัฐ (Republic) และในอีกหลายประเทศที่ตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นทั้งตำแหน่งประมุขของประเทศและประมุขฝ่ายบริหาร เช่น สหรัฐอเมริกา สำหรับประเทศใกล้ ๆ บ้านเราที่ตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นทั้งตำแหน่งประมุขของประเทศและประมุขฝ่ายบริหาร ได้แก่ อินโดนีเซีย
.
หากนึกถึงประธานาธิบดีที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ผู้คนอาจนึกถึงประธานาธิบดีเหล่านี้ อาทิ Abraham Lincoln, John F. Kennedy, Nelson Mandela หรือ Barack Obama แต่เชื่อหรือไม่ ว่ามีประธานาธิบดีคนหนึ่งที่ได้รับสิทธิบัตรในสาขาการบินถึง 46 ฉบับ เขาผู้นั้น คือ ‘Bacharuddin Jusuf Habibie’ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘B.J. Habibie’ ประธานาธิบดีคนที่ 3 แห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย (ค.ศ. 1998-1999)

‘ประธานาธิบดี B.J. Habibie’ เกิดเมื่อ 25 มิถุนายน ค.ศ. 1936 จังหวัดซูลาเวซีใต้ ขณะนั้นอินโดนีเซียยังเป็นหมู่เกาะอินเดียตะวันออกของดัตช์ (เนื่องจากเป็นอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์) หลังจากจบการศึกษาสถาบันเทคโนโลยีบันดุง เมืองบันดุง แล้ว ประธานาธิบดี Habibie ได้เดินทางไปยังเมือง Delft ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อศึกษาวิชาการบินและอวกาศที่ Technische Hogeschool Delft (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี Delft) แต่ด้วยเหตุผลทางการเมือง (กรณีพิพาทนิวกินีตะวันตก ระหว่างเนเธอร์แลนด์กับอินโดนีเซีย) เขาจึงต้องย้ายไปศึกษาต่อที่ Technische Hochschule Aachen (มหาวิทยาลัย RWTH Aachen) ในเมือง Aachen ประเทศเยอรมนี ในปี ค.ศ. 1960 ประธานาธิบดี Habibie ได้รับปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมศาสตร์ของเยอรมนี (Diplom-Ingenieur) และยังคงอยู่ในเยอรมนีในตำแหน่งผู้ช่วยวิจัยของ ‘Hans Ebner’ ที่ Lehrstuhl und Institut für Leichtbau, RWTH Aachen เพื่อทำการวิจัยในระดับปริญญาเอก

‘ประธานาธิบดี Habibie’ แต่งงานกับแพทย์หญิง ‘Hasri Ainun’ วันที่ 12 พฤษภาคม ค.ศ. 1962

ในปี ค.ศ. 1962 ประธานาธิบดี Habibie ได้ลาหยุดเพื่อเดินทางกลับอินโดนีเซียเป็นเวลา 3 เดือน ช่วงเวลานี้เองที่ เขาได้พบกับแพทย์หญิง ‘Hasri Ainun’ เพื่อนในวัยเด็กสมัยมัธยมต้นและมัธยมปลายที่ SMA Kristen Dago (โรงเรียนมัธยม Dago Christian) เมืองบันดุง ทั้งสองได้เข้าพิธีสมรสในวันที่ 12 พฤษภาคม ค.ศ. 1962 และเดินทางกลับเยอรมนี หลังจากนั้นไม่นาน Habibie และภรรยาของเขา ก็ได้ตั้งรกรากในเมือง Aachen ในช่วงเวลาสั้น ๆ ก่อนที่จะย้ายไปยังเมือง Oberforstbach ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1963 โดยพวกเขาได้ให้กำเนิดลูกชาย คือ ‘Ilham Akbar Habibie’

ต่อมา ประธานาธิบดี Habibie ได้ร่วมงานกับบริษัทค้าหุ้นการรถไฟ ‘Waggonfabrik Talbot’ ซึ่งเขาได้เป็นที่ปรึกษาในการออกแบบตู้รถไฟ ในปี ค.ศ. 1965 ประธานาธิบดี Habibie ทำวิทยานิพนธ์ในสาขาวิศวกรรมการบินและอวกาศ และได้รับคะแนน ‘ดีมาก’ ทำให้เขาได้รับ ‘Doktoringenieur’ (Dr.-Ing.) ในปีเดียวกันนั้น เขายอมรับข้อเสนอของ Hans Ebner ที่จะวิจัยต่อเกี่ยวกับ Thermoelastisitas และทำงานด้าน Habilitation แต่เขาปฏิเสธข้อเสนอที่จะเข้าร่วมกับ RWTH ในตำแหน่งศาสตราจารย์ วิทยานิพนธ์ของเขานั้นยังดึงดูดข้อเสนอการจ้างงานจากบริษัทต่าง ๆ เช่น Boeing และ Airbus ซึ่งประธานาธิบดี Habibie ก็ได้ปฏิเสธอีกครั้ง

‘ประธานาธิบดี Habibie’ ได้ร่วมงานกับ ‘Messerschmitt-Bölkow-Blohm’ ในเมือง Hamburg ที่นั่น เขาได้พัฒนาทฤษฎีเกี่ยวกับอุณหพลศาสตร์ การก่อสร้าง และอากาศพลศาสตร์ที่เรียกว่า ‘อุณหพลศาสตร์’ (Habibie Factor) เขามีส่วนในการพัฒนาเครื่องบินโดยสาร ‘Airbus A-300B’ ในปี พ.ศ. 2517 ต่อมาเขาได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นรองประธานบริษัท ในปี ค.ศ. 1974 ‘ประธานาธิบดี Suharto’ ได้ขอให้เขากลับไปยังอินโดนีเซีย โดยเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมและพัฒนาประเทศ

ในตอนแรก ประธานาธิบดี Habibie ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยพิเศษของ ‘Ibnu Sutowo’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทน้ำมันของรัฐ Pertamina และประธานหน่วยงานเพื่อการประเมินและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี (Badan Pengkajian dan Penerapan Teknologi (BPPT)) อีก 2 ปีต่อมา เขาได้รับการแต่งตั้งเป็น CEO ของ ‘Industri Pesawat Terbang Nurtanio’ (IPTN) หรือ ‘Nurtanio Aircraft Industry’ โดยในขณะนั้นเป็นรัฐวิสาหกิจแห่งใหม่ของอินโดนีเซีย ซึ่งในปี ค.ศ. 1985 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘Industri Pesawat Terbang Nusantara’ (Nusantara Aircraft Industry หรือ ‘IPTN’) และเป็นที่รู้จักในชื่อ ‘Indonesia Aerospace’ (PT. Dirgantara Indonesia) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000


เครื่องบินโดยสาร ‘N-250 Gatotkaca’ ซึ่งถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นต้นแบบเพียง 2 ลำ

ในปี ค.ศ. 1978 เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงการวิจัยและเทคโนโลยี (Menteri Negara Riset dan Teknologi, Menristek) แต่ยังคงมีบทบาทสำคัญใน ‘เชิงกลยุทธ์’ ของ IPTN โดยในช่วงทศวรรษ 1980 IPTN เติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก โดยเชี่ยวชาญด้านการผลิตเฮลิคอปเตอร์และเครื่องบินโดยสารขนาดเล็ก และกลายเป็นผู้ผลิตเครื่องบิน ซึ่งรวมถึงเฮลิคอปเตอร์แบบ Puma และเครื่องบิน CASA และเป็นผู้บุกเบิกออกแบบและสร้างเครื่องบินโดยสารขนาดเล็ก ‘N-250 Gatotkaca’ ในปี ค.ศ. 1995 แต่โครงการนี้ประสบความล้มเหลวในเชิงพาณิชย์ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินของอินโดนีเซีย ประธานาธิบดี Habibie ได้นำแนวทางที่เรียกว่า ‘เริ่มต้นที่จุดสิ้นสุดและสิ้นสุดที่จุดเริ่มต้น’ วิธีการนี้ องค์ประกอบต่าง ๆ เช่น การวิจัยขั้นพื้นฐาน จะเป็นสิ่งสุดท้ายที่ต้องให้ความสำคัญ ในขณะที่การผลิตเครื่องบินจริงถือเป็นวัตถุประสงค์แรกที่สำคัญที่สุด

ไม่ถึง 3 เดือน หลังจากการเข้ารับตำแหน่งรองประธานาธิบดีคนที่ 7 เมื่อ 11 มีนาคม พ.ศ. 2541 ประธานาธิบดี Habibie ก็ต้องเข้ารับตำแหน่งต่อจากประธานาธิบดี Suharto ซึ่งลาออกหลังจากดำรงตำแหน่งมา 32 ปี ในระหว่างการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเพียงจุดสังเกตในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคการปฏิรูป

เมื่อขึ้นเป็นประธานาธิบดี เขาได้เปิดให้กฎหมายสื่อและพรรคการเมืองของอินโดนีเซียมีอิสระเสรีมากขึ้น และจัดการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยก่อนกำหนดถึง 3 ปี ซึ่งส่งผลให้การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของเขาสิ้นสุดลง ด้วยวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี 517 วันและรองประธานาธิบดี 71 วัน ซึ่งถือว่าสั้นที่สุดในประวัติศาสตร์ของอินโดนีเซีย

ขณะที่ดำรงตำแหน่งนั้น ประธานาธิบดี Habibie ต้องประสบพบเจอกับปัญหาหลายประการ ได้แก่
• การเรียกร้องให้ปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย
• การถูกโจมตีว่าเขาไม่สามารถก้าวพ้นจากอำนาจของประธานาธิบดี Suharto ได้
• ไม่มีฐานการเมืองมาสนับสนุนอย่างจริงจัง กล่าวคือ ‘พรรคกลการ์’ (Golkar : Partai Golongan Karya) ของอดีตประธานาธิบดี Suharto ไม่ได้ให้การสนับสนุนเขา 
• การลดจำนวนที่นั่งในรัฐสภาของทหาร และห้ามข้าราชการทำกิจกรรมทางการเมือง ทำให้กองทัพอินโดนีเซียก็ไม่ให้การสนับสนุนเขา
• เรื่องทุจริตอื้อฉาวเกิดขึ้นเกี่ยวกับธนาคารบาหลี ซึ่งมีการกล่าวหาว่าลูกชายของเขามีส่วนเกี่ยวข้อง

แต่ประธานาธิบดี Habibie ก็ได้รับเสียงชื่นชมจากนานาชาติ ในเรื่องการจัดการกับปัญหา ‘ติมอร์ตะวันออก’ แม้ว่า ประธานาธิบดี Habibie จะไม่เห็นด้วยกับการให้ติมอร์ตะวันออกเป็นเอกราช แต่เขาเห็นสมควรว่า ชาวติมอร์ตะวันออกควรลงประชามติเลือกว่าจะอยู่กับอินโดนีเซียต่อไปหรือเป็นเอกราช ซึ่งท้ายที่สุด ชาวติมอร์ตะวันออกก็ต้องการเป็นอิสระ ประธานาธิบดี Habibie จึงให้เอกราชแก่ติมอร์ตะวันออก จนทำให้ชาวอินโดนีเซียส่วนใหญ่ไม่พอใจ ด้วยมองเป็นการสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นในชาติ

รัฐบาลของประธานาธิบดี Habibie ทำให้เศรษฐกิจของอินโดนีเซียมีเสถียรภาพ เมื่อเผชิญกับวิกฤติการเงินในเอเชีย และความวุ่นวายในช่วง 2-3 เดือนสุดท้ายของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ของประธานาธิบดี Suharto รัฐบาลของประธานาธิบดี Habibie มีท่าทีประนีประนอมต่อชาวอินโดนีเซียเชื้อสายจีน ซึ่งตกเป็นเป้าหมายในการจลาจลในปี ค.ศ. 1998 เนื่องจากความเหลื่อมล้ำของสถานะทางชนชั้นในเรื่องเศรษฐกิจ ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1998 ประธานาธิบดี Habibie ได้ออก ‘คำสั่งของประธานาธิบดี’ ห้ามใช้คำว่า ‘pribumi’ และ ‘non-pribumi’ เพื่อแยกแยะความแตกต่างระหว่างชาวอินโดนีเซียพื้นถิ่น และชาวอินโดนีเซียที่ไม่ใช่ชนพื้นถิ่น

และสิ่งที่ผู้คนไม่ค่อยทราบกันเกี่ยวกับตัวประธานาธิบดี B.J. Habibie ก็คือ เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรผู้ค้นพบทฤษฎีที่ก้าวล้ำ ซึ่งปฏิวัติความปลอดภัยและประสิทธิภาพของเครื่องบิน จนได้รับฉายาว่า ‘Mr.Crack’ เนื่องจากความเป็นอัจฉริยะ ที่สามารถออกแบบวิธีคิดคำนวณรอยแตกร้าวบนโครงสร้างโลหะของเครื่องบิน ประธานาธิบดี Habibie มีระดับ IQ (Intelligence Quotient) ประมาณ 200 ซึ่งสูงกว่า IQ ของ ‘ประธานาธิบดี John Quincy Adams’ ที่มีระดับ IQ ประมาณ 175 ซึ่งนับว่าสูงที่สุดในบรรดาประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทุกคน

นอกจากนั้นแล้ว ประธานาธิบดี Habibie ยังได้รับเลือกให้เป็นประธานคนแรกของ ‘สมาคมปัญญาชนมุสลิมแห่งอินโดนีเซีย’ (ICMI) ในปี ค.ศ. 1990 และเนื่องจากเขามีส่วนร่วมในการออกแบบและสร้างเครื่องบินเป็นลำแรกในประเทศอินโดนีเซีย จึงได้รับตำแหน่ง ‘บิดาแห่งเทคโนโลยี’ ของอินโดนีเซียด้วย

เครื่องบินโดยสารแบบ R-80 ขนาด 80 ที่นั่งที่ออกแบบและผลิตโดย ‘Regio Aviasi Industri’ (RAI) 

ในปี ค.ศ. 2012 เขาได้ก่อตั้ง ‘Regio Aviasi Industri’ (RAI) บริษัทผลิตเครื่องบิน ซึ่งกำลังพัฒนาเครื่องบินโดยสารแบบ R-80 ขนาด 80 ที่นั่ง และได้รับคำสั่งซื้อแล้ว 150 ลำ

ประธานาธิบดี Habibie ผู้เป็นยอดอัจฉริยะทางวิศวกรรมการบิน เป็นประธานาธิบดีของสาธารณรัฐอินโดนีเซียได้เพียงสมัยเดียว เพราะความอัจฉริยะทางวิทยาศาสตร์ รวมไปถึงตรรกะแห่งความจริงและความถูกต้องทั้งหมดทั้งมวลนั้น ไม่สามารถเอาชนะทางการเมืองได้ และทุกประเทศบนโลกใบนี้ส่วนใหญ่แล้วก็มักเป็นเช่นนั้น

พิธีฝังศพของ ‘ประธานาธิบดี B.J. Habibie’ ณ สุสานวีรบุรุษ Kalibata

ช่วงต้นเดือนกันยายน ค.ศ. 2019 เขาเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลทหารบก Gatot Soebroto เนื่องจากเขาเป็น ‘โรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม’ และถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 2019 เพื่อเป็นการไว้อาลัยต่อการจากไปของประธานาธิบดี Habibie รัฐบาลอินโดนีเซียได้ประกาศให้ไว้ทุกข์ทั้งประเทศเป็นเวลา 3 วัน (12-14 กันยายน ค.ศ. 2019) และประกาศลดธงชาติอินโดนีเซียครึ่งเสา

ประธานาธิบดี B.J. Habibie เป็นประธานาธิบดีของอินโดนีเซียคนแรกที่ได้รับการฝัง ณ สุสานวีรบุรุษ Kalibata เคียงข้างหลุมฝังศพของแพทย์หญิง ‘Hasri Ainun Habibie’ ผู้เป็นภรรยาของเขา


อนุสาวรีย์ของ ‘ประธานาธิบดี B.J. Habibie’ ใกล้กับท่าอากาศยาน Jalaluddin จังหวัด Gorontalo

‘อินโดนีเซีย’ มีแผนสั่งแบนห้ามซื้อขายสินค้าบน ‘เฟซบุ๊ก-TikTok’ หลังพบขายของประชันราคา ทำให้ผู้ค้าในตลาดทั่วไปรับผลกระทบ

เมื่อไม่นานมานี้ รอยเตอร์รายงาน ว่า ผู้ช่วยรัฐมนตรีพาณิชย์อินโดนีเซียแถลงต่อรัฐสภาอินโดนีเซีย ว่า รัฐบาลแดนอิเหนามีแผนที่จะสั่งห้ามการซื้อขายบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียทั้งเฟซบุ๊ก TikTok และอื่นๆ

รัฐมนตรีอินโดนีเซียหลายคนออกมาแสดงความเห็นว่า ผู้ค้าบนโซเชียลมีเดียใช้เล่ห์ทางราคาส่งผลกระทบต่อผู้ขายในตลาดปกติทั่วไปภายในประเทศ

รอยเตอร์ชี้ว่า ปัจจุบันกฎหมายของอินโดนีเซียยังไม่ครอบคลุมในการซื้อขายโดยตรงบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย

“โซเชียลมีเดียและอีคอมเมิร์ซยังไม่สามารถรวมกันได้” เจอร์รี ซัมบัวกา (Jerry Sambuaga) ผู้ช่วยรัฐมนตรีพาณิชย์อินโดนีเซียแถลงต่อหน้ารัฐสภา พร้อมกันนี้เขายังใช้ตัวอย่างผู้ขายใช้การขายของไลฟ์สดบน TikTok เป็นตัวอย่างให้เห็น

เขากล่าวต่อว่า “การแก้ไขข้อกฎกำหนดทางการค้านั้นกำลังดำเนินการที่จะมีการสั่งห้ามอย่างเข้มงวดและชัดเจนต่อสิ่งนี้”

TikTok ได้กล่าวแถลงตอบโต้ว่า “การแบ่งแยกโซเชียลมีเดียและการซื้อขายทางออนไลน์ออกจากแพลตฟอร์มเดียวจะเป็นการทำลายการสร้างสรรค์ และทางแพลตฟอร์มหวังว่า รัฐบาลอินโดนีเซียจะเปิดโอกาสพื้นที่ให้บริษัท”

โฆษก TikTok ประจำอินโดนีเซียกล่าวผ่านแถลงการณ์วันพุธ (13 ก.ย.) มีใจความว่า “มันจะเป็นการเสียโอกาสสำหรับผู้ค้าอินโดนีเซียและต่อผู้บริโภคทั้งหลาย”

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา TikTok ที่มีผู้ขายถึง 2 ล้านคนในแดนอิเหนาได้เคยออกมาประกาศก่อนหน้าว่า ทางแพลตฟอร์มยังคงไม่มีแผนเปิดธุรกิจข้ามพรมแดนในอินโดนีเซียหลังเจ้าหน้าที่แดนจาการ์ตาได้เคยออกมาเปรยว่า หากทำเช่นนั้นจะส่งผลให้สินค้าจีนทะลักเข้ามาในอินโดนีเซีย

อ้างอิงข้อมูลจากบริษัทที่ปรึกษา Momentum Works พบว่า อินโดนีเซียที่มีประชากรมากกว่า 270 ล้านคน คิดเป็นเกือบ 52 พันล้านดอลลาร์สำหรับธุรกรรมอีคอมเมิร์ซแค่ในปีที่ผ่านมา

และจากจำนวนทั้งหมดพบว่า 5% อยู่บน TikTok โดยเฉพาะการขายผ่านไลฟ์สตรีม

CNN รายงานเพิ่มเติมว่า บริษัทกำลังอยู่ระหว่างการทดลองฟอร์แมตใหม่ของการช้อปปิ้งในหลายตลาด เป็นต้นว่าในอังกฤษ และหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ล่าสุด (12 ก.ย.) พบว่า ByteDance เปิดตัว TikTok Shop ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มวิดีโอคลิปสั้นสำหรับธุรกิจสำหรับช่องทางอีคอมเมิร์ซในสหรัฐฯ ที่มีผู้ใช้มากกว่า 150 ล้านยูสเซอร์

ที่ดูเหมือนเป็นการชนกับบริษัทออนไลน์ยักษ์ใหญ่สหรัฐฯ ‘แอมะซอน’ เพราะอ้างอิงจาก engadget พบว่าภายใน TikTok Shop นั้นจะรวมไปถึง Shop Tab สำหรับผู้ค้าที่จะสามารถแสดงสินค้า และวิดีโอที่เกี่ยวข้องจากลูกค้าที่จะทำให้ผู้สร้างได้รายได้ค่าคอมมิชชันและโฆษณาสำหรับธุรกิจ

นอกเหนือจากนี้พบว่า TikTok ยังเปิดบริษัทโลจิสติกส์ขนส่งของตัวเองเพื่อตอบสนองชื่อ Fulfilled by TikTok คล้ายกับ Fulfilled by Amazon ที่จะเชื่อมกับโกดังสินค้าและการขนส่งสำหรับผู้ค้าที่จดทะเบียน

ทั้งนี้ ในการให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ Nico Le Bourgeois ได้เปิดเผยว่า TikTok Shop นั้นมีผู้ค้าลงทะเบียนแล้วกว่า 200,000 ราย และผู้สร้างสรรค์ไม่ต่ำกว่า 100,000 รายที่ได้เข้าสู่การไลฟ์สตรีมขายสด

Engadget รายงานว่าปัจจุบัน Shop Tab นั้นเปิดให้ผู้ใช้ 40% จากทั้งหมดและคาดว่ารูปแบบเต็มที่จะเปิดให้ผู้ใช้ทั้งหมดในสหรัฐฯ จะมาถึงได้เร็วสุดภายในต้นตุลาคมนี้

CNN รายงานว่า TikTok มีเป้าหมายที่จะเพิ่มยอดขายทางอีคอมเมิร์ซให้ได้ 4 เท่าภายในสิ้นปี คาดว่าจะแตะ 20 พันล้านดอลลาร์ 

'อินโดนีเซีย' ได้ฤกษ์ เปิดตัว 'Whoosh' รถไฟหัวกระสุนสายแรกในอาเซียน

อินโดนีเซีย ตัดริบบิ้น เปิดตัว Whoosh รถไฟความเร็วสูงหัวกระสุนสายแรกของภูมิภาคอาเซียน เส้นทางจาการ์ตา - บันดุง ด้วยความเร็วเต็มสปีด 350 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นแท่นรถไฟความเร็วสูงที่วิ่งเร็วที่สุดในอาเซียน 

Whoosh ถือเป็นโครงการพัฒนาเส้นทางรถไฟ ระดับเมกาโปรเจกต์ ที่ใช้งบประมาณสูงถึง 7.3 พันล้านดอลลาร์ ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลจีน และเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Belt and Road Initiative ด้วยเช่นกัน

โดยเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายแรก เชื่อมต่อกรุงจาการ์ตา กับ บันดุง เมืองเศรษฐกิจสำคัญทางเกาะชวาตะวันตก ที่ได้รับฉายาว่าเป็น ซิลิคอน วัลลีย์ แห่งอินโดนีเซีย รวมระยะทางกว่า 150 กิโลเมตร ที่สามารถย่นเวลาเดินทางจากเดิม 3-3.5 ชั่วโมง เหลือเพียง 40 นาทีเท่านั้น

และนับเป็นโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระดับเรือธงของประธานาธิบดี โจโค วิโดโด แห่งอินโดนีเซีย ที่เคยตั้งเป้าว่าจะเร่งให้แล้วเสร็จภายในปี 2019 แต่เนื่องด้วยปัญหาการจัดสรร เวนคืนที่ดิน วิกฤติ Covid-19 และ ค่าเงินที่ทำให้งบประมาณบานปลาย ทำให้โครงการล่าช้ากว่าเป้าหมายมาก 

กลูฮุท บินซาร์ ปันด์จัยตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงประสานงานกิจการทางทะเลอินโดนีเซีย กล่าวว่า เส้นทางรถไฟหัวกระสุน จาการ์ตา - บันดุง ได้เปิดให้บริการแบบทดลองฟรีแล้วตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกันยายน จนถึงกลางเดือนตุลาคมปีนี้ ก่อนจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในเดือนหน้า

เส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายนี้ ถือเป็นการยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างอินโดนีเซีย และจีน ซึ่ง นายกรัฐมนตรีจีน หลี่ เฉียง และ โจโค วิโดโด ผู้นำอินโดนีเซีย เคยได้มาร่วมทดลองนั่งรถไฟหัวกระสุนรุ่นล่าสุดในช่วงงานประชุมอาเซียน ที่อินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพมาแล้ว ด้านผู้นำอินโดนีเซียเปรยว่า อาจใช้ขบวนรถไฟหัวกระสุนนี้ต้อนรับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่จะมีกำหนดการมาเยือนอินโดนีเซียในไม่ช้านี้ 

ส่วนค่าโดยสารรถไฟสายนี้ ยังไม่ยืนยันตัวเลขแน่ชัด แต่คาดว่าราคาตั๋วเที่ยวเดียว น่าจะอยู่ที่ราคา  2.5 - 3.5 แสนรูปียะฮ์ (590 - 830 บาท) เมื่อเทียบกับค่ารถโดยสารในเส้นทางปกติ ต่อเที่ยว ราคา 46,600 รูเปียะห์  (110 บาท) นับว่าค่าโดยสารรถไฟหัวกระสุนยังมีราคาแพงอยู่มากสำหรับชาวอินโดนีเซียทั่วไป 

แต่ทั้งนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียคาดหวังว่า เส้นทางรถไฟความเร็วสูงนี้จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของประชาชน ที่ช่วยประหยัดเวลา ปลอดภัย เชื่อถือได้ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเชื่อม 2 เมืองเศรษฐกิจหลักของอินโดนีเซียเข้าด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ 

‘กรุงศรีฯ’ ซื้อกิจการ ‘Home Credit’ พร้อมถือหุ้น 75% ในอินโดนีเซีย เพื่อขยายธุรกิจ-เชื่อมโยงความต้องการลูกค้าอาเซียน ตั้งเป้าโตปีละ 5%

(3 ต.ค. 66) นายเคนอิจิ ยามาโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จํากัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารกรุงศรีฯ ประกาศความสำเร็จในการเข้าซื้อกิจการและถือหุ้นในสัดส่วน 75% ของ ‘PT. Home Credit Indonesia’ (Home Credit Indonesia) ซึ่งเป็นผู้เล่นรายสำคัญในธุรกิจสินเชื่อผู้บริโภคในอินโดนีเซีย มีเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ ขณะเดียวกัน PT Adira Dinamika Multi Finance, Tbk (Adira Finance) บริษัทในเครือ Bank Danamon หนึ่งในสมาชิกของ MUFG ได้เข้าถือหุ้นในสัดส่วน 9.83% ของ Home Credit Indonesia ด้วย

ความสำเร็จในครั้งนี้ทำให้กรุงศรีฯ เติบโตอย่างแข็งแกร่งในฐานะธนาคารแห่งภูมิภาค (Regional Bank) และมีเครือข่ายธุรกิจครอบคลุม 5 ประเทศในอาเซียน สอดคล้องกับกลยุทธ์ตามแผนธุรกิจระยะกลางของกรุงศรีฯ ที่ต้องการขยายและสร้างความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจเพื่อเชื่อมโยงความต้องการของลูกค้าทั่วทั้งอาเซียน

“กรุงศรีฯ ยังคงขยายธุรกิจไปยังประเทศต่าง ๆ เพื่อเชื่อมโยงความต้องการของลูกค้าในอาเซียน ซึ่งจากความสำเร็จในการเข้าซื้อกิจการ Home Credit Indonesia ครั้งนี้ ทำให้มีธุรกิจครอบคลุม 5 ประเทศในอาเซียน ประกอบด้วย สปป.ลาว, กัมพูชา, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม และอินโดนีเซียเป็นประเทศล่าสุด และยังมีสำนักงานตัวแทนซึ่งตั้งอยู่ในเมียนมาด้วย นอกจากนี้ ความสำเร็จในครั้งนี้ยังช่วยสร้างความแข็งแกร่งของกรุงศรีฯ ในฐานะธนาคารแห่งภูมิภาคอาเซียนให้ชัดเจนขึ้น”

นายเคนอิจิกล่าวว่า อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ซึ่งคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 5.0% ต่อปีในช่วง 5 ปีนับจากนี้ อีกทั้งยังมีอัตราการบริโภคภาคเอกชนที่แข็งแกร่ง ขณะที่ Home Credit Indonesia นับเป็นหนึ่งในผู้เล่นสำคัญในตลาดและประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจในอินโดนีเซียมาเป็นเวลาราว 10 ปี ปัจจุบันนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลาย ด้วยจำนวนผู้ลงทะเบียนใช้งานแอปพลิเคชันกว่า 17 ล้านรายและฐานลูกค้ากว่า 6 ล้านราย

โดยหลังจากนี้ เรามุ่งมั่นที่จะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดและกรุงศรีฯ จะใช้ความเชี่ยวชาญในด้านสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคและการบริหารจัดการความเสี่ยงในการขยายเครือข่ายพันธมิตรใหม่ ๆ สร้างความเติบโตให้กับฐานลูกค้า รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ ๆ ให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในอินโดนีเซียมากยิ่งขึ้น

“เรายินดีเป็นอย่างยิ่งกับความสำเร็จในการเข้าซื้อกิจการ Home Credit Indonesia ในครั้งนี้ สำหรับ Adira Finance นี่คือก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่ความร่วมมือเชิงกลยุทธ์เพื่อให้เราสามารถเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น และเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ นอกจากนี้ ความสำเร็จในครั้งนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงการผสานความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมระหว่าง Adira Finance และบริษัทในเครือ MUFG ในการนำเสนอบริการที่เหมาะสมให้กับลูกค้าและพันธมิตรทางธุรกิจ” Dewa Made Susila, President Director, Adira Finance กล่าว

“สิ่งนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นถึงความสำเร็จและความแข็งแกร่งของ Home Credit Indonesia นับตั้งแต่ดำเนินธุรกิจในประเทศอินโดนีเซีย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 Home Credit ได้นำเสนอบริการทางการเงินที่เข้าถึงง่ายและหลากหลายอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าและยกระดับความเป็นอยู่ของผู้คนกว่า 6 ล้านคนทั่วประเทศ และความมุ่งมั่นของเราในการสร้างสัมพันธ์ระหว่างผู้ประกอบการรายย่อย ผู้ให้บริการรายหลัก และลูกค้านั้นได้ส่งผลให้เกิดอิโคซิสเต็มส์ที่ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่มีความรับผิดชอบ น่าเชื่อถือ และมีราคาที่เหมาะสม” Animesh Narang, Chief Executive Officer, Home Credit Indonesia กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top