Sunday, 19 May 2024
อลงกรณ์

“อลงกรณ์”ฉายภาพนโยบายเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งเป้าเศรษฐกิจเติบโตอย่างน้อย5% ภายใต้ 3 นโยบายเรือธง(Flagship Policy)และระบบเศรษฐกิจใหม่พร้อมแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ 1 ล้านล้านและแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอีก1ล้านล้านบาท

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พรรคในฐานะทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ชี้แจงถึงผลการประชุมว่าด้วยแนวทางนโยบายเศรษฐกิจของพรรคประชาธิปัตย์ระหว่างนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคกับทีมเศรษฐกิจวันนี้(29มีนาคม)ว่า พรรคประชาธิปัตย์กำหนดกรอบนโยบายเศรษฐกิจบน3นโยบายเรือธง(Flagship Policy)ได้แก่

 1.เศรษฐกิจฐานราก พรรคประชาธิปัตย์ให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาคการเกษตรและภาคการท่องเที่ยวด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเนื่องจากเป็น2ภาคเศรษฐกิจที่เป็นศักยภาพของประเทศโดยเฉพาะเกษตรถือเป็นดีเอ็นเอ(DNA) ของประเทศครอบคลุมสาขาพืช ประมง และปศุสัตว์ เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวรวมทั้งธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SME)ซึ่งเป็นธุรกิจสร้างงานสร้างอาชีพใหญ่ที่สุดของประเทศ
ตลอดจนการยกระดับภาคแรงงานในทุกสาขาซึ่งถือเป็นเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ

2.เศรษฐกิจมหภาค ทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์กำหนดเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืนไม่น้อยกว่า5%ต่อปีมุ่งกระจายรายได้กระจายความเจริญลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มการลงทุนในประเทศและต่างประเทศ พัฒนาตลาดทุนยุคใหม่ ส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตร อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและ12อุตสาหกรรมใหม่(12 S-Curves) รวมถึงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในภูมิภาคและการลงทุน
โครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ทั้งระบบขนส่งมวลชน ระบบราง ระบบถนน ระบบขนส่งทางน้ำและทางอากาศภายใต้ยุทธศาสตร์เขื่อมไทย เชื่อมโลก ตลอดจนการปูทางสร้างโอกาสด้วยความตกลงการค้าเสรี(FTA-Mini-FTA)โดยเฉพาะความตกลงว่าด้วยหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระดับภูมิภาค(RCEP)

3.เศรษฐกิจทันสมัยหรือเศรษฐกิจอนาคต พรรคประชาธิปัตย์เร่งวางรากฐานใหม่ให้ประเทศโดยสร้างเครื่องยนต์ตัวใหม่ทางเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้แก่เศรษฐกิจดิจิตอล (Digital Economy) เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เศรษฐกิจสูงวัย(Silver Economy) เศรษฐกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy)และเศรษฐกิจคาร์บอน(Carbon Economy) เป็นต้น

“ประชาธิปัตย์” ยินดีพิจารณาข้อเสนอ5ข้อของภาคประชาชนพร้อมเดินหน้าโฉนดชุมชน ธนาคารหมู่บ้าน สิทธิชุมชน สวัสดิการรัฐและกระจายอำนาจ ยืนยันส่งตัวแทนพรรคร่วมเวทีดีเบตธรรมศาสตร์

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคและประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์แถลงวันนี้(1เม.ย.)ว่า พรรคประชาธิปัตย์ยินดีพิจารณาข้อเสนอ5ข้อของภาคประชาชนและจะส่งตัวแทนพรรคร่วมเวทีภาคประชาชนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


“ส่วนใหญ่พรรคประชาธิปัตย์ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง บางส่วนเป็นนโยบายที่ประกาศไปแล้ว เช่น โฉนดชุมชน ธนาคารที่ดิน การกระจายการถือครองที่ดิน การปฏึรูปที่ดิน การจัดที่อยู่อาศัย 1  ล้านหลัง การออกโฉนดที่ดิน 1 ล้านแปลง การออกกรรมสิทธิ์ทำกินในที่ดินของรัฐทุกประเภท การกระจายอำนาจ การปฏิรูประบบราชการและกระบวนการยุติธรรม นโยบายเพศสภาพและชาติพันธ์ นโยบายรัฐสวัสดิการ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อาจมีรายละเอียดในทางปฏิบัติที่จะต้องประชุมหารือกับภาคประชาชนกันอย่างใกล้ชิดซึ่งพรรคประชาธิปัตย์มีคณะกรรมการนโยบายหลายชุดที่เกี่ยวข้องกับข้อเสนอทั้ง5 รวมทั้งบางประเด็นบางนโยบายที่จะหยิบยกขึ้นหารือเพิ่มเติมกับภาคประชาชนเช่น การปราบปรามการทุจริตที่ภาคประชาชนสามารถมีส่วนร่วมและมีบทบาทสำคัญ การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ การแก้ไขปัญหาหนี้สิน การพัฒนาศึกษาและการสาธารณสุข เป็นต้น


สำหรับข้อเสนอระดับนโยบาย 5 ด้านที่ภาคประชาชนประกอบด้วย ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน ในนามเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด นำโดย นายสมนึก พุฒนวล นางณัฐธยาน์ แท่นมาก นางกันยา ปันกิตติ นางอารี สุขสม นายบุญ แซ่จุง ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ข้อเสนอนโยบายภาคประชาชนต่อพรรคการเมืองต่างๆ ในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง ความว่า เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด (คปบ.) สมาชิกพีมูฟ (P-Move) เป็นเครือข่ายภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการยึดแย่งทรัพยากรธรรมชาติ และไร้โอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรที่จําเป็นในการดำรงชีวิต เป็นกลุ่มขบวนชาวบ้านที่อยู่ในสภาวะของการดิ้นรนต่อสู้เพื่อแสวงหาปัจจัยการผลิตที่พอเพียงต่อการดำรงชีวิต โดยเคลื่อนไหวผลักดันเรื่องของการบริหารจัดการทรัพยากรที่เป็นธรรม สิทธิของประชาชนในทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และ “สิทธิชุมชน” ซึ่งเป็น 1 ใน 8 เครือข่ายขบวนประชาชนจากทั่วประเทศ มีดังนี้

“อลงกรณ์”นำทีมประชาธิปัตย์ลงสมัคร ส.ส.เพชรบุรี ชูนโยบาย”ก้าวใหม่เพชรบุรี ก้าวใหม่ประเทศไทย” มั่นใจประชาชนให้โอกาสประชาธิปัตย์ยกทีม

ภายหลังการสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบเขตเลือกตั้ง จังหวัดเพชรบุรีเช้าวันนี้

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคและประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ในการรณรงค์หาเสียงครั้งนี้เน้นการนำเสนอผลงาน วิสัยทัศน์และนโยบาย”ก้าวใหม่ เพชรบุรี ก้าวใหม่ประเทศไทย”ภายใต้ยุทธศาสตร์”สร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ”ของพรรคประชาธิปัตย์
มั่นใจว่าด้วยความมุ่งมั่นทุ่มเทในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาเพชรบุรีและอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่มั่นคงไม่เคยเปลี่ยนแปลง คนเพชรบุรีจะให้ความเมตตาและมอบความไว้วางใจเลือกผู้สมัคร 
ส.ส.เพชรบุรีทั้ง 3 เขตและเลือกพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเสมือนพรรคคู่บ้านคู่เมืองเพชรบุรีเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

สำหรับทีมผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ประกอบด้วยนายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรัฐมนตรีและอดีตส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อ 6สมัยผู้สมัคร ส.ส.เขต 1 หมายเลย 7 นายกัมพล สุภาแพ่ง
อดีต ส.ส. 2 สมัย ผู้สมัคร ส.ส.เขต 2 หมายเลข 7 และนายอภิชาติ สุภาแพ่ง อดีต ส.ส.4สมัย ผู้สมัคร ส.ส.เขต 3 หมายเลข 7

“อลงกรณ์”ปลื้มส่งออกข้าวไทย 4 เดือน พุ่ง 3.05 ล้านตัน ดันราคาข้าวในประเทศสูง ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้น คาดปี2566 ส่งออกทะลุเป้า7.5ล้านตัน

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าววันนี้(14 พ.ค.)ว่า เป็นข่าวดีที่การส่งออกข้าวของไทย 4 เดือนแรกของปีนี้ มีปริมาณสูงถึง 3.05 ล้านตัน และความต้องการข้าวในตลาดยังมีต่อเนื่อง ส่งผลทำให้ราคาข้าวในประเทศเกือบทุกประเภทสูงเกินราคาประกันรายได้โดยเฉพาะข้าวเจ้าซึ่งมีปริมาณการผลิตมากที่สุด คาดว่า การส่งออกข้าวของไทยในปี2566 จะทะลุเป้าหมาย 7.5ล้านตันและน่าจะแซงตัวเลขการส่งออกข้าวในปี2565

สำหรับการส่งออกข้าวไทยปี 2565 อยู่ที่ 7.69 ล้านตัน โดยปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้น 22.1% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการส่งออกสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 7.5 ล้านตัน ขณะที่มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 138,451.8 ล้านบาท คิดเป็น 3,970.9 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น 26.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

“ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต เกษตรผลิตพาณิชย์ตลาดเป็นยุทธศาสตร์หลักบนความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อนและกระทรวงพาณิชย์โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ มุ่งทำงานเชิงรุกร่วมกับภาคเอกชน และภาคเกษตรกรมีการพัฒนาพันธุ์ข้าวให้ผลผลิตต่อไร่สูงมีคุณภาพมาตรฐานตรงความต้องการของตลาด การยกระดับข้าวแปลงใหญ่พร้อมกับเพิ่มกิจกรรมส่งเสริมการตลาดในต่างประเทศมากขึ้นรวมทั้งค่าเงินบาทอยู่ในระดับที่แข่งขันได้เป็นปัจจัยสำคัญทำให้การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงปีนี้ ประการสำคัญคือชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้น”นายอลงกรณ์กล่าวในที่สุด.

“อลงกรณ์”ประกาศจุดยืนเคารพเสียงประชาชนเตรียมเสนอพรรคประชาธิปัตย์โหวต”พิธา”เป็นนายกรัฐมนตรีโดยไม่มีเงื่อนไขร่วมรัฐบาล หวังการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลเป็นไปโดยราบรื่นและรวดเร็ว

นายอลงกรณ์ พลบุตร รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ให้ความเห็นเกี่ยวกับท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ในการจัดตั้งรัฐบาลและการเลือกนายกรัฐมนตรีวันนี้(16 พ.ค.)ว่า 
พรรคประชาธิปัตย์ประกาศชัดเจนในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ว่าจะฟังเสียงของประชาชนในการเลือกตั้งเพื่อกำหนดจุดยืนของพรรคหลังทราบผลการเลือกตั้ง

ดังนั้น เมื่อประชาชนกว่า14ล้านคนเลือกพรรคก้าวไกลเป็นอันดับ1ของประเทศทั้งส.ส.แบบเขตเลือกตั้งและส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ดังนั้นพรรคปชป.จะเคารพเสียงของประชาชนด้วยการลงมติสนับสนุนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็นนายกรัฐมนตรีโดยไม่มีเงื่อนไขร่วมรัฐบาล​ หากพรรคก้าวไกลสามารถรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้สำเร็จ

โดยตนจะเสนอแนวทางนี้ต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคชุดรักษาการซึ่งจะมีการประชุมในสัปดาห์หน้ารวมทั้งแกนนำและสมาชิกพรรคทั่วทั้งประเทศ

นายอลงกรณ์ยังกล่าวต่อไปว่า ถึงเวลาที่พรรคประชาธิปัตย์จะต้องช่วยผ่าทางตันที่อาจเกิดขึ้นในการเลือกนายกรัฐมนตรีที่ต้องใช้เสียงสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภาอย่างน้อย 376เสียง  เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านรัฐบาลเป็นไปอย่างราบรื่นและรวดเร็วตามเจตนารมณ์ของประชาชนในการเลือกตั้งที่ผ่านมา

“แม้พรรคประชาธิปัตย์จะโหวตสนับสนุนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล แต่พรรคปชป.ก็พร้อมทำหน้าที่ฝ่ายค้านเพื่อตรวจสอบถ่วงดุลการทำงานของรัฐบาลพรรคก้าวไกลโดยยึดหลักการ 3 ข้อเป็นแนวทางการทำงานของพรรคได้แก่
1.พรรคประชาธิปัตย์ยึดมั่นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 
2.ประชาธิปไตยสุจริต
3.ประชาธิปไตยอิ่มท้องแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของประชาชน”นายอลงกรณ์กล่าวในที่สุด

“อลงกรณ์”หวังประเทศเดินหน้าตามครรลองประชาธิปไตย วอนหยุดปลุกระดมสร้างความเกลียดชังหวั่นซ้ำรอย 6 ตุลาฯ.19

นายอลงกรณ์ พลบุตร รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เขียนเฟสบุ๊ควันนี้เรื่อง “ สปิริตประชาธิปไตย Spirit of Democracy “อย่างน่าสนใจโดยมีใจความดังนี้

“สปิริตประชาธิปไตย Spirit of Democracy” ประชาธิปไตยเป็นระบอบการเมืองการปกครองที่เรียบง่ายและมีสปิริต ประชาชนเลือกตั้งเสร็จ ใครชนะก็เป็นรัฐบาล ใครแพ้ก็เป็นฝ่ายค้าน

พรรคก้าวไกลชนะได้เสียงอันดับ1มีสิทธิ์และความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาลโดยต้องรวมเสียงให้ได้เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร แต่ถ้าทำไม่ได้ก็เป็นสิทธิ์ของพรรคเพื่อไทยอันดับ2และพรรคภูมิใจไทยอันดับ3ในการจัดตั้งรัฐบาลต่อไป ผมหวังว่าวุฒิสมาชิกจะสนับสนุนแนวทางนี้ของสภาผู้แทนราษฎรในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

เมื่อจัดตั้งรัฐบาลได้มีนายกรัฐมนตรีแล้วก็ให้ทำงาน 4 ปี  ฝ่ายค้านทำหน้าที่ถ่วงดุลตรวจสอบรัฐบาล 
แต่ละฝ่ายมีโอกาสทำงานเท่ากันในการพิสูจน์ผลงานแล้วตัดสินด้วยคะแนนเสียงของประชาชนในการเลือกตั้งครั้งต่อไปประชาธิปไตยต้องมีสปิริต รู้แพ้รู้ชนะเหมือนแข่งกีฬา 

ถ้าเราไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง แล้วเราจะให้ประชาชนมาออกเสียงลงคะแนนทำไม การยอมรับผลการเลือกตั้งเป็นหลักการสำคัญในระบอบประชาธิปไตย ที่น่าวิตกคือมีการปล่อยข่าวเฟคนิวส์ข่าวดีลลับข่าวฐานทัพอเมริกัน ข่าวอเมริกาหนุนหลัง ข่าวรัฐบาลแห่งชาติ ข่าวเลือกตั้งโมฆะมีคลิปปลุกระดมสร้างความเกลียดชังมุ่งดิสเครดิตฝ่ายตรงข้ามออกมาถี่ยิบทั้งในสื่อหลักสื่อโซเชียล เหมือนการปลุกผีคอมมิวนิสต์ในเหตุการณ์6ตุลา2519   

ข่าวสารเหล่านี้สร้างความความแตกแยกในบ้านเมือง ไม่เป็นผลดีต่อประเทศชาติ อย่าให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยประชาธิปไตยไม่ได้สร้างด้วยความเกลียดชังแต่สร้างด้วยการเคารพในความเห็นต่างอย่างมีเหตุผลด้วยสันติวิธีและขันติธรรม การเปลี่ยนผ่านอำนาจจากรัฐบาลหนึ่งสู่อีกรัฐบาลหนึ่งควรเป็นไปโดยราบรื่นและรวดเร็วประเทศกำลังเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจอย่าซ้ำเติมด้วยวิกฤติการเมือง หนทางเดียวคือช่วยกันทำให้ประเทศของเราเดินไปข้างหน้าตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยครับ

‘อลงกรณ์’ ฟันธง ‘พิธา’ รอดคดีหุ้นไอทีวี เชื่อ จบในชั้นกกต. ภายใน 45 วัน

นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรัฐมนตรีและอดีตส.ส.หลายสมัยเขียนเฟซบุ๊กวิเคราะห์คดีหุ้นไอทีวี ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์เรื่อง “กรณีหุ้นไอทีวี จบในชั้น กกต. เรื่องง่ายๆไม่มีอะไรซับซ้อน” โดยสรุปว่านายพิธาไม่ได้เป็นเจ้าของหุ้นไอทีวี จึงไม่เข้าข่ายการกระทำความผิดตามมาตรา151 และชี้ว่าคดีนี้จะจบลงในชั้น กกต. ภายใน45วันโดยมีข้อความดังนี้

ผมติดตามเรื่องหุ้นไอทีวี และมีความเห็นส่วนตัวในฐานะอดีต ส.ส.และอดีตรัฐมนตรี
จึงขออนุญาตแสดงความเห็นตามข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงในข้อเขียนสั้นๆเรื่อง
”กรณีหุ้นไอทีวี จบในชั้น กกต. เรื่องง่าย ๆ ไม่มีอะไรซับซ้อน” ดังนี้ครับ

“กรณีหุ้นไอทีวี จบในชั้น กกต.
เรื่องง่าย ๆ ไม่มีอะไรซับซ้อน”

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มีการระบุไว้ในมาตรา 98(3) ซึ่งว่าด้วยคุณสมบัติที่ห้ามลงสมัคร ส.ส. โดยระบุว่า “ห้ามเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ”

ดังนั้นกฎหมายลูกคือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 แก้ไขเพิ่มเติม 2566 จึงบัญญัติมาตรา 151 ความว่า “..ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่า ตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร …(ลักษณะต้องห้ามเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นสื่อ)

กรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ถือครองเป็นเจ้าของหุ้นไอทีวี จะเข้าข่ายการกระทำความผิดตามมาตรา 151ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 แก้ไขเพิ่มเติม 2566 หรือไม่ เรื่องนี้มีหลายมุมมอง แต่สำหรับผมมีความเห็นดังนี้ครับ

1.ประเด็นหุ้นไอทีวี.ไม่มีอะไรซับซ้อนเพราะมีคำถามเดียวที่ต้องพิสูจน์คือ หุ้นไอทีวี เป็นของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หรือเป็นของกองมรดกที่นายพิธาเป็นผู้จัดการมรดก เป็นปมสำคัญที่สุด

2.การพิจารณาข้อกฎหมายเรื่องหุ้นไอทีวี ของนายพิธาคือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์โดยเฉพาะ บรรพ 6 ว่าด้วยมรดก

3.จากการประมวลข้อเท็จจริงอย่างรอบคอบโดยปราศจากอคติจากทุกฝ่ายได้ความว่า นายพิธาถือหุ้นในนามผู้จัดการมรดกไม่ใช่ถือในนามส่วนตัวและในฐานะทายาทได้สละมรดกแล้วซึ่งมีผลว่าไม่ได้เป็นเจ้าของหุ้นตั้งแต่ปี2550 

4.เมื่อพิจารณาข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงจึงสรุปได้ว่า นายพิธาไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 151 

5.ดังนั้นประเด็นเรื่องหุ้นไอทีวี จะปิดสำนวนในชั้น กกต. ภายใน 30 วันหรือ 45 วัน
การพิจารณาประเด็นหุ้น ไอทีวี. ต้องยึดหลักความยุติธรรมโปร่งใสเป็นบรรทัดฐานในการวินิจฉัย อย่าทำให้เป็นคดีการเมือง

ผมสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งแข่งขันกับนายพิธาและพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา แต่เป็นหน้าที่ที่เราต้องช่วยผดุงความยุติธรรมเมื่อเห็นว่ามีความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้นกับใครก็ตามแม้แต่คู่แข่งทางการเมือง เพราะความยุติธรรมที่เที่ยงธรรมจะไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกในบ้านเมือง การบริหารประเทศด้วยหลักนิติรัฐและนิติธรรมสำคัญที่สุดสำหรับประเทศไทยในวันนี้และวันข้างหน้าครับ.
 

‘อลงกรณ์’ ชูสปิริต ‘ปชป.’ ลุยเดินหน้าปฏิรูปพรรคอย่างมีเอกภาพ เชื่อ!! การเปลี่ยนผ่าน ‘ผู้นำพรรค’ ครั้งนี้ จะราบรื่นเรียบร้อย

(5 ก.ค. 66) นายอลงกรณ์ พลบุตร รักษาการรองหัวหน้าพรรคและผู้สมัครหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าววันนี้ว่า การประชุมใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ในวันอาทิตย์ที่ 9 กรกฎาคมนี้ จะเป็นไปโดยราบรื่นไม่มีปัญหา โดยดำเนินการในกรอบของข้อบังคับและธรรมเนียมปฏิบัติของพรรค ซึ่งผ่านการเลือกหัวหน้าพรรคมา 8 ท่านแล้ว ครั้งนี้เป็นการเลือกหัวหน้าพรรคคนที่ 9 ในช่วงเวลา 78 ปีของพรรคและเป็นอีกครั้งหนึ่งที่พรรคประชาธิปัตย์จะแสดงให้เห็นถึงความเป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชน

ทั้งนี้ มีความหวังว่าจะมีผู้สมัครหัวหน้าพรรคท่านอื่นๆประกาศตัวก่อนวันประชุมใหญ่เพื่อให้สมาชิกได้ทราบล่วงหน้าถึงแนวคิด จุดยืนนโยบายแบบตรงไปตรงมาเปิดเผย ที่ขอติติงเรื่องเดียว คือ ไม่ควรให้ใครไปล่ารายชื่อแล้วออกแถลงการณ์สนับสนุนคนนั้นคนนี้ เพราะตัวแทนสมาชิกหลายคนอึดอัดใจที่ต้องลงชื่อด้วยความเกรงใจ ถ้าแต่ละคนทำแบบเดียวกันทุกภาค ความแตกแยกแบ่งฝ่ายจะเกิดขึ้น พฤติกรรมแบ่งกลุ่มแบ่งพวกแบบนี้ควรเลิกได้แล้ว เราต้องการเอกภาพ การเปลี่ยนผ่านผู้นำพรรคจะได้ราบรื่นเรียบร้อย

นอกจากนี้ขอขอบคุณทุกเสียงสนับสนุนและกำลังใจที่มอบให้ตนจากทุกภาคส่วน ทั้งที่เป็นสมาชิกและไม่เป็นสมาชิก ทั้งที่อยู่ในประเทศและในต่างประเทศโดยเฉพาะภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาชน ภาคเกษตรกร เพื่อนข้าราชการ ผู้นำท้องถิ่น ภาคการเมือง อดีตรัฐมนตรี อดีตส.ส. อดีตผู้สมัคร ส.ส.อดีตกรรมการบริหารพรรค สาขาพรรค ตัวแทนพรรครวมทั้งเพื่อนนักการเมืองต่างพรรค 

“ผมเชื่อมั่นว่าด้วยสปิริตประชาธิปัตย์ สมาชิกพรรคทุกคนจะร่วมมือเดินหน้าปฏิรูปพรรค พร้อมสนับสนุนคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่และหัวหน้าพรรคคนใหม่ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามที่ได้รับเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่พรรคในวันที่ 9 กรกฎาคมนี้ 

พรรคประชาธิปัตย์ต้องการผู้นำที่มีจุดยืนประชาธิปไตย มีภาวะผู้นำที่เข็มแข็ง มีวิสัยทัศน์ก้าวหน้า มีศักยภาพสามารถฟื้นฟูปฏิรูปพรรค และสร้างความเป็นเอกภาพในพรรค เพื่อให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นสถาบันทางการเมืองที่แข็งแกร่งในอุดมการณ์และเป็นพรรคการเมืองทางเลือกหลักของประชาชนอีกครั้งหนึ่ง” นายอลงกรณ์กล่าวในที่สุด

ซอฟต์พาวเวอร์ไทยกระหึ่มแดนมังกร “อลงกรณ์”นำ“สมาคมการค้าไทย-จีนฯ.”จับมือศูนย์สุขภาพแพทย์แผนจีน“เหอเซียงกง”เปิดบริการนวดไทยสมุนไพรไทยแพทย์แผนไทยตั้งเป้าปีนี้ขยาย100สาขาในจีน

นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานมูลนิธิเวิลด์วิว ไครเมท อดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศคนที่1และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยวันนี้ภายหลังนำคณะสมาคมการค้าไทย-จีนและเศรษฐกิจเอเซียร่วมการประชุมว่าด้วยการพัฒนาด้านนวัตกรรมและความร่วมมือเกี่ยวกับสุขภาพและสปาระหว่างไทย-จีนที่เมืองเซิ่นเจิ้น มณฑลกวางตุ้งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าในการประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 2,500 คนได้แก่กลุ่มผู้ให้บริการด้านสุขภาพ ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าเพื่อสุขภาพ  นักวิจัยทางด้านผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและนักลงทุนด้านนวัตกรรมเพื่อสุขภาพและฝ่ายไทยมีนางสาวอภิญญา ปราโมช นายกสมาคมฯ นายเมฆินทร์ เอี่ยมสะอาด และนางสาวประจงจิต พลายเวช รองประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมฯ

ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาความร่วมมือพัฒนาต่อยอดระบบการนวดแบบแพทย์แผนไทยผสมผสานกับการนวดแบบแพทย์แผนจีนมาให้บริการในการดูแลสุขภาพให้กับชาวจีนอย่างเต็มรูปแบบโดยตนได้กล่าวในที่ประชุมว่าประเทศไทยมีระบบการแพทย์แผนไทย ที่มุ่งเน้นการนำผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรมาแปรรูปเป็นสมุนไพรไทย มีการอนุรักษ์การนวดตามแบบฉบับโบราณที่ตกทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นและการดูแลสุขภาพแนววิถีธรรมชาติบำบัด ซึ่งกล่าวได้ว่าการนวดตามแบบแพทย์แผนไทยได้รับการยอมรับและเป็นที่ชื่นชอบในระดับสากล ซึ่งองค์กร UNESCO ได้ขึ้นทะเบียนนวดแผนไทยในบัญชีมรดกนวดไทย” หรือ “Nuad Thai, Traditional Thai Massage” ในบัญชีรายชื่อตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้แห่งมวลมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity – RL) เมื่อเดือนธันวาคม 2562หวังว่าอุตสาหกรรมสุขภาพ เทคโนโลยีการแพทย์ และวัฒนธรรมทางการแพทย์ของไทยซึ่งเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของไทยจะสามารถขยายตลาดได้มากยิ่งขึ้นและเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในประเทศจีน 

นายอลงกรณ์ อดีตประธานคณะกรรมการบริหารนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์กล่าวว่า
“เราได้หารือความร่วมมือกับกลุ่มบริษัทเหอเซียงกงผู้นำศูนย์สุขภาพในมณฑลกวางตุ้งซึ่งแสดงควาเชื่อมั่นและเห็นพ้องต้องกันที่จะนำระบบการนวดแบบการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทยมาให้บริการผสมผสานกับแพทย์แผนจีนในการดูแลสุขภาพให้กับฐานลูกค้าในมณฑลกวางตุ้งและมณฑลอื่นๆ อย่างเต็มรูปแบบโดยเริ่มจากกลุ่มเหอเซียงกงซึ่งมีศูนย์สุขภาพตามศาสตร์การนวดแบบแพทย์แผนจีนมากกว่า 50 สาขาในมณฑลกวางตุ้งและมีโครงการขยายสาขาในประเทศจีนให้ครบ 100 แห่งภายในปี 2567“

“อลงกรณ์”วิพากษ์พรรคประชาธิปัตย์ในมุมที่มองไม่เห็น(Unseen Democrat Party)กับปัญหาภัยคุกคามของโลกและโอกาสของไทย

วันนี้(13 ก.พ.) นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตเลขาธิการCALDได้โพสต์ข้อเขียนวิพากษ์พรรคประชาธิปัตย์กับปัญหาภัยคุกคามของโลกและโอกาสของไทยในหัวข้อเรื่อง “พรรคประชาธิปัตย์ :มุมที่มองไม่เห็น Unseen Democrat Party”ในเฟสบุ๊คซึ่งเป็นเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับบทบาทระหว่างประเทศของพรรคประชาธิปัตย์ที่ควรค่าต่อการรับรู้ของสังคมไทยในฐานะพรรคการเมืองเก่าแก่ของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยนายอลงกรณ์เขียนข้อความดังต่อไปนี้

“พรรคประชาธิปัตย์ :มุมที่มองไม่เห็น Unseen Democrat Party”

พรรคประชาธิปัตย์มีหลายมุมที่มองเห็นและมีหลายมุมที่มองไม่เห็นหรือหลายคนไม่เคยรู้

ความเป็นพรรคการเมืองเก่าแก่ที่สุดของประเทศมีอายุกว่าเจ็ดทศวรรษเป็นสถาบันทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยในฐานะพรรคการเมืองของประเทศไทยได้มีบทบาทในความร่วมมือกับองค์กรทางการเมืองระหว่างประเทศหลายองค์กร

ตัวอย่างเช่นการเป็นพรรคการเมืองที่ร่วมก่อตั้งและเป็นสมาชิกของสภาพรรคการเมืองเสรีนิยมและประชาธิปไตยแห่งเอเชีย (CALD) หรือการเป็นสมาชิกขององค์กรเสรีนิยมนานาชาติ(LI: Liberal international) โดยพรรคประชาธิปัตย์มีบทบาทอย่างสำคัญในการสนับสนุนและส่งเสริมอุดมการณ์ประชาธิปไตยในแนวทางเสรีนิยมทั้งในมิติของอุดมการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจรวมถึงประเด็นความท้าทายใหม่ๆของโลกเช่น ปัญหาภาวะโลกร้อนปัญหาความมั่นคงทางอาหารปัญหาความยากจน ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ทุกประเทศจะต้องร่วมมือกันในการรับมือและร่วมกันแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะในระดับนโยบายทางการเมืองซึ่งแต่ละพรรคการเมืองในภูมิภาคต่างๆทั่วโลก ล้วนแล้วแต่มีหน้าที่ไม่ว่าในฐานะรัฐบาลหรือฝ่ายค้านในการตอบโจทย์ประเด็นสำคัญๆเหล่านี้ 
สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ยังมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้นำขององค์กรพรรคการเมืองระหว่างประเทศในฐานะประธานและเลขาธิการCALD เช่นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ นาย อลงกรณ์พลบุตร นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ และนายเกียรติ สิทธิอมร รองประธานองค์กรเสรีนิยมนานาชาติ เป็นต้น

ดังนั้นความร่วมมือภายใต้องค์กรทางการเมืองนานาชาติจะช่วยให้เกิดพลังอย่างมีพลวัตมากขึ้นโดยเฉพาะในช่วง 30 กว่าปีที่ผ่านมา คนของพรรคประชาธิปัตย์ทั้งคนรุ่นใหม่และรุ่นใหญ่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในระดับนโยบายผ่านกิจกรรมต่างๆกับพรรคการเมืองในทวีปอเมริกาทวีปยุโรปและทวีปเอเชียทั้งที่มีแนวคิดและปรัชญาทางการเมืองสอดคล้องกันและแตกต่างกันอย่างไร้พรมแดน

โลกวันนี้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า จากปัญหาสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยี รวมทั้งปัญหาประชากรที่เพิ่มขึ้น ปัญหาความขัดแย้งและสงครามในภูมิภาคต่างๆรวมถึงภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและโรคระบาดที่เกิดขึ้นเช่น โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อทุกชีวิตและทุกประเทศ

ดังนั้นความร่วมมือไม่ว่าในระดับรัฐต่อรัฐ ประชาชนต่อประชาชนและพรรคการเมืองต่อพรรคการเมืองจึงเป็นแพลตฟอร์มที่พรรคประชาธิปัตย์ ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องกว่า 30 ปีที่ผ่านมาโดยส่งผ่านภารกิจจากหัวหน้าพรรค นายชวน หลีกภัย นายบัญญัติ บรรทัดฐาน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นาย จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์จนถึงนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ด้วยความเชื่อมั่นว่า พรรคประชาธิปัตย์ต้องมีบทบาทสำคัญและความรับผิดชอบต่อการแก้ไขปัญหาและรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ที่เป็นทั้งภัยคุกคามและโอกาสประการสำคัญคือ เราไม่สามารถอยู่อย่างโดดเดี่ยวและเราไม่อาจที่จะละทิ้งความรับผิดชอบที่มีต่อประเทศและโลกของเรา ทั้งรุ่นนี้และรุ่นต่อไปในอนาคต.

อลงกรณ์ พลบุตร
อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
อดีตเลขาธิการCALD
จาการ์ตา , อินโดนีเซีย
13 กุมภาพันธ์ 2567
 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top