Sunday, 19 May 2024
ส่งออก

ข่าวดีส่งออก!! สิงหาฯ พลิกบวกครั้งแรกในรอบ 11 เดือน รับอานิสงส์ 'เกษตร-อุตฯ' หนุน ส่วนนำเข้าลดลง 12.8%

(26 ก.ย. 66) นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย ในเดือนส.ค.66 ว่า การส่งออกมีมูลค่า 24,279 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 2.6% จากตลาดคาด -3.5 ถึง -5.0% ซึ่งถือว่าเป็นการพลิกกลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 11 เดือน

จากผลของกลุ่มสินค้าเกษตร ที่กลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 4 เดือน และกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ที่กลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 3 เดือน

ขณะที่การนำเข้าเดือนส.ค.มีมูลค่า 23,919 ล้านดอลลาร์ ลดลง 12.8% ส่งผลให้ในเดือนส.ค.66 ไทยเกินดุลการค้า 360 ล้านดอลลาร์

ส่วนการส่งออกของไทยในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ส.ค.) มีมูลค่ารวม 187,593 ล้านดอลลาร์ ลดลง 4.5% การนำเข้า มีมูลค่า 195,518 ล้านดอลลาร์ ลดลง 5.7% ส่งผลให้ในช่วง 8 เดือนแรกปีนี้ ไทยยังขาดดุลการค้า 7,925 ล้านดอลลาร์

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่าการส่งออกของไทยในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ จะขยายตัวเป็นบวกได้ เนื่องจากเป็นช่วงที่มีคำสั่งซื้อเข้ามามากตามวัฎจักร ประกอบกับในช่วงไตรมาส 4 ปี 65 ฐานต่ำ

"คาดว่าการส่งออก ต.ค.-ธ.ค. น่าจะได้เห็นอะไรดีๆ เพราะมีออร์เดอร์เข้ามาเยอะ ซึ่งเป็นไปตาม circle...ส่งออกภาพรวมทั้งปี 1- ถึง 0% น่าจะมีโอกาส ปีนี้เราข้อสอบยาก ถ้าเทียบกับกลุ่มประเทศในอาเซียน ทุกคนคะแนนไม่ดี (ส่งออกติดลบ) แต่เรายังสามารถยืนอยู่แถวหน้าได้" ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ระบุ

‘ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ไทย’ ติดส่งออกอันดับที่ 25 ของโลก ‘ไม้-หวาย-ยางพารา’ จุดแข็งด้านวัตถุดิบของประเทศ

(26 ก.ย.66) นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ทำการวิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจที่น่าจับตามอง ช่วงไตรมาส 3 ของปี 2566 พบว่า หนึ่งในธุรกิจที่มีความโดดเด่น ผลประกอบการดีอย่างต่อเนื่องทั้งในแง่ของรายได้และผลกำไร แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจในอนาคต รวมทั้ง การเข้ามาของนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติ

‘ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์’ เป็นธุรกิจที่มีความโดดเด่นแซงหน้าหลายธุรกิจที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน ปัจจัยสนับสนุนสำคัญ คือ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทั้งจากภาคการบริการและท่องเที่ยว

โดยเฉพาะการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีแนวโน้มดีขึ้น ความต้องการที่พักอาศัยและบ้านหลังที่ 2 เพื่อรองรับการทำงานแบบ hybrid workplace สำหรับชาวไทยรายได้สูงและชาวต่างชาติที่เข้ามาอาศัยในไทย

นโยบายภาครัฐ เช่น การลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง รวมถึงธุรกิจที่อยู่อาศัยในจังหวัดภูมิภาคที่มียอดขายเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ เช่น จังหวัดชลบุรีและระยองที่ได้รับอานิสงส์จากการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)

ส่งผลให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เร่งเข้ามาขยายธุรกิจเพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองและการจ้างงาน จังหวัดภูเก็ตเริ่มมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาซื้ออาคารเพื่อลงทุน เป็นต้น โดยภาพรวมหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศในปี 2565 ปรับขึ้น 14.3% อยู่ที่ 392,858 หน่วย รวมถึง การสร้างและขยายธุรกิจโรงแรมเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศเพิ่มขึ้น

>> 3 ปี ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ รายได้พุ่ง

พิจารณาจากผลประกอบการของธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่า

ปี 2563 ธุรกิจมีรายได้รวม 151,533.16 ล้านบาท ผลกำไร 3,203.34 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้ 164,844.29 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 13,311.13 ล้านบาท หรือ 8.79%) กำไร 2,928.07 ล้านบาท (ลดลง 275.27 ล้านบาท หรือ 8.60%)
ปี 2565 รายได้ 166,576.23 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 1,731.94 ล้านบาท หรือ 1.05%) กำไร 4,563.82 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 1,635.75 ล้านบาท หรือ 55.87%)

จะเห็นได้ว่า ภาพรวมผลประกอบการของธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ ในปี 2563 -2565 รายได้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยรายได้เฉลี่ยปีละกว่า 160,000 ล้านบาท ถึงแม้ว่ารายได้ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่นแต่นับว่ามูลค่าตลาดอยู่ในระดับสูง หากพิจารณาผลประกอบการด้านกำไรในปี 2563-2565 มีความผันผวนบ้าง โดยในปี 2564 มีมูลค่าลดลงเล็กน้อย

ภาพรวมการส่งออกไปตลาดต่างประเทศ ปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกเฟอร์นิเจอร์อันดับที่ 25 ของโลก โดยไทยมีจุดแข็งด้านวัตถุดิบในประเทศ เช่น ไม้ หวาย และยางพารา เป็นต้น แรงงานที่มีความประณีตและเชี่ยวชาญ

จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่า มูลค่าการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ของไทยโดยรวมยังปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปี 2565 มียอดส่งออกรวม 81,179 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 5%

ตลาดหลัก 5 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย และมีการขยายตัวอย่างโดดเด่นในประเทศแถบเอเชียและในกลุ่มอาเซียน เช่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย โดยหากรวมมูลค่าส่งออกเฟอร์นิเจอร์ของทั้งโลกแล้ว ประเทศไทยมีส่วนแบ่งตลาดเพียง 0.7% ซึ่งยังมีช่องว่างให้ขยายตลาดส่งออกได้อีกมาก

>> ต่างชาติสนใจธุรกิจ

ในส่วนของการเติบโตในธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ของนักลงทุนชาวไทยและต่างชาติ พบว่า

ปี 2563 มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ 399 ราย ทุนจดทะเบียน 1,225.11 ล้านบาท
ปี 2564 จดทะเบียน 382 ราย (ลดลง 17 ราย หรือ 4.26%) ทุน 1,052.56 ล้านบาท (ลดลง 172.55 ล้านบาท หรือ 14.09%)
ปี 2565 จดทะเบียน 368 ราย (ลดลง 14 ราย หรือ 3.67%) ทุน 1,362.47 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 309.91 ล้านบาท หรือ 29.45%)

ทั้งนี้ สำหรับปี 2566 (มกราคม – สิงหาคม) มีการจดทะเบียน 315 ราย (เพิ่มขึ้น 42 ราย หรือร้อยละ 15.39% เมื่อเทียบกับปี 2565 (มกราคม – สิงหาคม) ที่มีการจดทะเบียน 273 ราย) ทุน 759.42 ล้านบาท (ลดลง 319.60 ล้านบาท หรือ 29.62% เมื่อเทียบกับปี 2565 (มกราคม – สิงหาคม) ที่มีทุน 1,079.02 ล้านบาท)

ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของคนไทย มีมูลค่าการลงทุน 48,017.18 ล้านบาท คิดเป็น 98.00% ของการลงทุนในธุรกิจทั้งหมด ขณะที่การลงทุนจากต่างชาติสูงสุด คือ จีน มูลค่า 5,606.99 ล้านบาท (0.89%) รองลงมา คือ สิงคโปร์ มูลค่า 2,238.51 ล้านบาท (0.32%) ญี่ปุ่น มูลค่า 479.56 ล้านบาท (0.31%) และอื่นๆ มูลค่า 4,628.19 ล้านบาท (0.48%)

ปัจจุบัน ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ที่ดำเนินกิจการอยู่ในประเทศไทย ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2566 มีจำนวน 6,292 ราย คิดเป็น 0.71% ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ และมีมูลค่าทุน 60,970.43 ล้านบาท คิดเป็น 0.28% ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ในประเทศไทย

ธุรกิจตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร จำนวน 2,377 ราย (37.77%) รองลงมา คือ ภาคกลาง 1,971 ราย (31.32%) ภาคเหนือ 532 ราย (8.46%) ภาคตะวันออก 478 ราย (7.60%) ภาคใต้ 415 ราย (6.60%) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 381 ราย (6.06%) และ ภาคตะวันตก 138 ราย (2.19%)

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ควรมีการปรับตัวให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าและแนวโน้มความต้องการเฟอร์นิเจอร์รูปแบบต่างๆ ของตลาดโลก โดยเฉพาะปัจจุบันที่พฤติกรรมผู้บริโภคและภาคธุรกิจต่างๆ หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ทำให้เกิดกระแส ‘เฟอร์นิเจอร์รักษ์โลก หรือ Green Furniture’ และกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ สำหรับสินค้าเฟอร์นิเจอร์ ถือเป็นโอกาสสำคัญของธุรกิจในการปรับตัวและพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก และเพื่อความยั่งยืนของธุรกิจ ทั้งนี้ ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ของไทยมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่องระยะยาว” อธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้าย 

'ไทย-อิสราเอล' ค้าขายอะไรกันบ้าง?

กลายเป็นข่าวใหญ่ เมื่ออิสราเอลถูกกลุ่มปาเลสไตน์ติดอาวุธหรือ ‘ฮามาส’ โจมตีแบบสายฟ้าแลบด้วยจรวดราว 5,000 ลูกและแรงงานไทยก็ถูกจับเป็นตัวประกันและเสียชีวิตหลายคน

แม้ตอนนี้อิสราเอลจะปิดล้อมฉนวนกาซาได้แล้ว แต่ความขัดแย้งยังคงเป็นฝุ่นตลบ ไม่จางหายโดยง่าย ‘ฮิซบอลเลาะห์’ ซึ่งเป็นกลุ่มมุสลิมชีอะห์ติดอาวุธในเลบานอน ใช้โอกาสชุลมุนนี้เข้าโจมตีทางตอนเหนือของอิสราเอล จนอิสราเอลต้องเร่งระดมพลทหารสำรองอีกกว่า 3 แสนนาย เพื่อรับศึกรอบประเทศ

ถ้าความขัดแย้งบานปลายไปมากกว่านี้ คำถามสำคัญคือ เศรษฐกิจไทยผูกติดกับอิสราเอลมากเพียงใด ไทยนำเข้าสินค้าอะไรจากอิสราเอลมากที่สุด ขณะเดียวกัน ไทยส่งออกอะไรไปอิสราเอลมากที่สุด เพื่อจะได้เตรียมรับมือผลกระทบในสินค้าเหล่านั้น

ข้อมูลจาก ‘กระทรวงพาณิชย์’ โดยร่วมมือกับกรมศุลกากร ระบุว่า ปี 2566 ตั้งแต่เดือน ม.ค - ส.ค. ไทยมีมูลค่าการค้ากับอิสราเอล 29,288 ล้านบาท โดยเป็นมูลค่าส่งออก 18,562 ล้านบาท และเป็นมูลค่านำเข้า 10,726 ล้านบาท ซึ่งไทยได้เปรียบดุลการค้าอิสราเอล 7,836 ล้านบาท อีกทั้งอิสราเอลนับเป็นคู่ค้าอันดับที่ 40 ของไทย

สำหรับสินค้าที่ไทยค้าขายกับอิสราเอล THE STATES TIMES ได้รวบรวมมาให้แล้ว จะมีอะไรบ้าง มาดูกัน!!

‘สนค.’ เล็งเจาะตลาดอ่าวอาหรับ หวังเพิ่มโอกาสให้การค้าไทย หลัง ‘รถ-ยาง-เครื่องประดับแท้-ไก่-ข้าว’ นำกลุ่มส่งออกโตต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 66 นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ได้วิเคราะห์ตลาดกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ 6 ประเทศ (Gulf Cooperation Council : GCC) ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย, คูเวต, โอมาน, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, กาตาร์ และบาห์เรน เพื่อหาโอกาสสำหรับการเปิดตลาดใหม่เพิ่มเติมตามนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ โดยเน้นตลาดใหม่ ที่มีกำลังซื้อสูง แต่ยังมีมูลค่าการค้ากับไทยไม่มากนัก จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ส่งออกไทยที่จะหาโอกาสขยายการค้าในตลาดใหม่

สนค. พบว่า กลุ่ม GCC ถือเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของภูมิภาคตะวันออกกลาง มูลค่าจีดีพีของกลุ่มประเทศ GCC คิดเป็นสัดส่วน 46.7% ของจีดีพี รวมของภูมิภาคตะวันออกกลาง รวมถึงทุกประเทศมีรายได้ต่อหัวเฉลี่ยสูงกว่าไทย โดยในปี 2565 กาตาร์ เป็นประเทศที่มีรายได้ต่อหัวสูงที่สุดในกลุ่มประเทศ GCC อยู่ที่ 88,046 เหรียญสหรัฐฯ สูงกว่าไทยถึง 12.7 เท่า และมีจำนวนประชากรรวม 58.9 ล้านคน ใกล้เคียงจำนวนประชากรของไทย โดยซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศมีประชากรมากที่สุดในกลุ่มประเทศ GCC คิดเป็น 61% ของประชากรทั้งหมดในกลุ่มประเทศ GCC สำหรับการค้าระหว่างประเทศ แหล่งนำเข้าสำคัญของกลุ่มประเทศ GCC 3 ลำดับแรก คือ จีน, อินเดีย และสหรัฐฯ โดยไทยเป็นแหล่งนำเข้าลำดับที่ 19 คิดเป็น 1.4% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด

แม้ว่าปัจจุบันไทยส่งออกไปยังตลาดกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับได้ไม่มาก แต่สินค้าไทยยังมีโอกาสเข้าถึงตลาดกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับได้อีก จากข้อมูลการส่งออกของไทย 8 เดือนแรกของปี 2566 ไปยังกลุ่มประเทศ GCC มีมูลค่ารวม 4,588 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 4.2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งคิดเป็น 2.4% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดจากไทยไปโลก โดยตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกของไทยไปยังกลุ่มประเทศ GCC 44.6% และ 37.3% ตามลำดับ ซึ่งตลาดส่งออกรองลงมา คือ คูเวต, โอมาน, กาตาร์ และบาห์เรน ตามลำดับ

โดยมีสินค้าส่งออกหลัก เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไฟเบอร์บอร์ด เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เป็นต้น สำหรับในระยะต่อไป สนค. มองว่าไทยมีสินค้าศักยภาพหลายรายการที่มีโอกาสเจาะตลาดในกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับได้เพิ่มเติม โดยสินค้าที่มีศักยภาพในการส่งออกเพิ่มเติม แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ สินค้าดาวเด่น, สินค้าศักยภาพ และสินค้าแนะส่งเสริม โดยมีรายละเอียด ดังนี้

สินค้าดาวเด่น เป็นสินค้าส่งออกหลักของไทยในกลุ่มประเทศ GCC ที่มีแนวโน้มเติบโตดี สะท้อนว่าตลาดยังมีความต้องการ โดยใน 8 เดือนแรกของปี 2566 ประเทศไทยส่งออก ‘รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ’ สัดส่วน 37% ของสินค้าส่งออกไทยไปกลุ่มประเทศ GCC ทั้งหมด ขยายตัวสูงถึง 17.1% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และส่งออก ‘ยางยานพาหนะ’ สัดส่วน 4.1% ขยายตัว 19.8% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยในปี 2565 ไทยครองส่วนแบ่งตลาด รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ในตลาดกลุ่มประเทศ GCC อยู่ที่ 5.6% และ ยางยานพาหนะที่ 7.4% ซึ่ง สนค. มองว่าสินค้าดังกล่าวยังมีโอกาสขยายการส่งออกและขยายส่วนแบ่งตลาดได้อีก

สินค้าศักยภาพ เป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพ แต่มีส่วนแบ่งของไทยในตลาดกลุ่มประเทศ GCC ต่ำกว่าส่วนแบ่งของไทยในตลาดโลก ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ซึ่งปี 2565 ไทยครองส่วนแบ่งในตลาดกลุ่มประเทศ GCC อยู่ที่ 1.1% เปรียบเทียบกับส่วนแบ่งของไทยในตลาดโลกที่ 4.3% ขณะที่การส่งออกใน ช่วง 8 เดือนแรกปี 2566 ขยายตัวที่ 1.4% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และ เครื่องประดับแท้ ซึ่งไทยครองส่วนแบ่งในตลาดกลุ่มประเทศ GCC อยู่ที่ 1.9% เปรียบเทียบกับส่วนแบ่งของไทยในตลาดโลกที่ 5% ขณะที่การส่งออกในช่วง 8 เดือนแรกปี 2566 เพิ่มขึ้น 14.5% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

สินค้าแนะส่งเสริม เป็นสินค้าที่ตลาดมีความต้องการ แต่กลุ่มประเทศ GCC ยังนำเข้าจากไทย ค่อนข้างน้อย หรือมูลค่าการนำเข้าจากไทยมีไม่ต่อเนื่อง จึงเป็นสินค้าไทยที่แนะนำให้เข้าไปเปิดตลาดใหม่ ได้แก่ ‘ไก่’ และ ‘ข้าว’ อย่างไรก็ดี การเข้าสู่ตลาดใหม่ในสินค้าดังกล่าวเป็นเรื่องที่ท้าทายทั้งจากคู่แข่งทางการค้าเดิม ที่มีส่วนแบ่งตลาดค่อนข้างสูง และมาตรฐานสินค้าและกฎระเบียบในกลุ่มประเทศที่ค่อนข้างสูงกว่ากลุ่มประเทศอื่น

“ตลาดกลุ่มประเทศ GCC เป็นตลาดที่น่าจับตามอง แต่ไทยยังมีการค้ากับประเทศเหล่านี้ค่อนข้างน้อย มีโอกาสเข้าสู่ตลาดนี้ได้อีกมาก นอกจากนี้ ไทยมีสินค้าที่มีศักยภาพหลายรายการที่สามารถเข้าไปเจาะตลาดกลุ่มนี้เพิ่มเติม จากการวิเคราะห์ด้วย ‘Data Analytics Dashboard’ แม้ปัจจุบัน ไทยจะส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไปยังกลุ่มประเทศ GCC เป็นหลัก หรือมากกว่า 88% ของมูลค่าการส่งออกจากไทย แต่จะเห็นได้ว่าไทยมีศักยภาพเจาะตลาดสินค้าเกษตรและอาหารด้วย โดยเฉพาะสินค้าไก่และข้าว

ซึ่งปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์ อยู่ระหว่างการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทยกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คาดว่าจะสรุปผลการเจรจาได้ในปี 2566 นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย ดีขึ้นอย่างมากหลังการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างกัน อีกครั้ง กระทรวงพาณิชย์มีแผนเจรจา FTA ระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศ GCC ในอนาคตอีกด้วย” นายพูนพงษ์ กล่าว

‘เวียดนาม’ ยิ้ม!! ‘ทุเรียน’ ผงาด 9 เดือนแรก ปี 66 แหล่งรายได้ใหญ่สุดในหมู่ ‘ผัก-ผลไม้’ ส่งออก

เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 66 สำนักข่าวซินหัว, ฮานอย เผยว่า สำนักข่าวท้องถิ่นของเวียดนามรายงานว่า มูลค่าการส่งออกทุเรียนของเวียดนาม ในช่วง 9 เดือนแรก (มกราคม-กันยายน) ของปี 2023 ทะลุ 1.63 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 5.89 หมื่นล้านบาท) ส่งผลให้ทุเรียนกลายเป็นแหล่งรายได้เงินตราต่างประเทศขนาดใหญ่ที่สุด ในอุตสาหกรรมผักและผลไม้ของเวียดนาม

สำนักงานศุลกากรเวียดนามระบุว่า ตัวเลขข้างต้นสูงกว่าตัวเลขจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าถึง 14 เท่า

รายงานระบุว่า ยอดส่งออกทุเรียนแซงหน้าขนุน, แก้วมังกร, แตงโม, กล้วย และลิ้นจี่ จนขึ้นแท่นเป็นอันดับหนึ่ง ครองสัดส่วนร้อยละ 38.7 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของอุตสาหกรรมดังกล่าว

ปัจจุบัน ‘จีน’ ยังคงเป็นตลาดส่งออกทุเรียนที่สำคัญของเวียดนาม โดยเวียดนามมีพื้นที่เพาะปลูกทุเรียน 422 แห่ง และโรงบรรจุหีบห่อทุเรียน 153 แห่งที่ได้รับสิทธิส่งออกทุเรียนสู่จีน

อนึ่ง มูลค่าการส่งออกผักและผลไม้ของเวียดนาม ช่วงเดือนมกราคม-กันยายน สูงถึง 4.21 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 1.52 แสนล้านบาท) ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 72.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

‘อิหร่าน’ ส่งออกอาหาร-สินค้าทางการเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 21 ยก ‘อิรัก-อัฟกัน-UAE-รัสเซีย-ปากีฯ’ คู่ค้าด้านอาหารที่สำคัญ

สภาอุตสาหกรรม เหมืองแร่ และการพาณิชย์ของอิหร่าน ประกาศว่า ในช่วงครึ่งปีแรกของปีปฏิทินอิหร่าน 1402 (21 มีนาคม - 22 กันยายน 2566) มีการส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ปศุสัตว์ การประมง และอาหารมากกว่า 3.5 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าราว 2,428 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 21 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ไซยิดรูฮุลลอฮ์ ลาตีฟี โฆษกคณะกรรมการพัฒนาการค้า Khaneh Sanat กล่าวว่า ร้อยละ 94 ของน้ำหนัก และร้อยละ 84 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของประเทศได้ส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านในช่วงเวลาดังกล่าว โดยมี อิรัก อัฟกานิสถาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รัสเซีย และปากีสถาน เป็นจุดหมายปลายทางการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารที่สำคัญที่สุดของอิหร่าน 

ลาตีฟี กล่าวด้วยว่า สินค้าส่งออกที่สำคัญที่สุดในกลุ่มผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหาร ได้แก่ ผลิตภัณฑ์นมที่มีมูลค่า 345 ล้านดอลลาร์ มะเขือเทศ มูลค่า 159 ล้านดอลลาร์ และผลิตภัณฑ์ประมงที่มีมูลค่ามากกว่า 140 ล้านดอลลาร์ สินค้าส่งออกอื่น ๆ ของอิหร่านในภาคส่วนนี้ ได้แก่ ถั่วพิสตาชิโอ, แตงโม, ไข่ไก่, หญ้าฝรั่ง, อินทผาลัม, ลูกเกด, มะเขือเทศเข้มข้น, มันฝรั่ง, แอปเปิ้ล และลูกพีช เป็นต้น

โดย ลาตีฟี ได้เน้นย้ำว่า การส่งออกมีความสำคัญอย่างยิ่งในฐานะที่เป็นแรงผลักดันและกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และบรรดาผู้กำหนดนโยบายและบรรดาผู้ผลิตควรคำนึงถึงคุณภาพ ความต่อเนื่องของอุปทาน, ราคาที่สามารถแข่งขันได้ ตลอดจนรสนิยม และความยืดหยุ่นของตลาดเป้าหมาย การจัดระเบียบองค์กรต่าง ๆ อย่างเหมาะสม และการใช้วิทยาการความรู้ที่ทันสมัย, บรรจุภัณฑ์, การขนส่งที่เหมาะสม และการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันก็ให้ความสนใจกับการพัฒนาของตลาดประเทศเพื่อนบ้าน และเพิ่มการส่งออกไปยังตลาดที่ห่างไกล หากดำเนินงานในลักษณะนี้ก็จะสามารถทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเงินตราที่เหมาะสมได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน

'ส่งออกผลไม้ไทย' ช็อก!! 'สับปะรดภูแล' โดนจีนแบนเป็นครั้งแรก กุมขมับ!! ยังไม่รู้สาเหตุชัด หวั่น!! อาจกระทบอาชีพปอกสับปะรด

(2 พ.ย.66) นายสัญชัย ปุรณะชัยคีรี นายกสมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย เผยว่า ขณะนี้สับปะรดภูแล ที่ตัดแต่งส่งออกไม่ได้ โดนจีนแบน กำลังเช็กกันอยู่ว่าเกิดจากสาเหตุอะไร แต่มีการสันนิษฐานเบื้องต้นในหมู่วงการว่าจะเกิดจากสุขอนามัยหรือไม่ หรือเกิดจากสาเหตุอะไรกันแน่ ตอนนี้เกษตรกรจังหวัดเชียงรายเริ่มเดือดร้อนกันแล้ว เพราะส่งออกไม่ได้ แต่โชคดีสับปะรดผลผลิตเริ่มจะออก คาดว่าผลผลิตจะออกมามากในเดือนธันวาคม ไปจนถึงกุมภาพันธ์ ปี 67 จะเป็นช่วงที่ผลผลิตจะออกมามาก พอถึงตรงนั้นจะกลายเป็นปัญหาใหญ่

“ปกติประเทศไทยมีการส่งออกสับปะรดทุกวัน แล้วพอเกิดปัญหาทำให้ส่งออกไม่ได้ สับปะรดต้องทะลักเข้าในประเทศ และจะกระทบกับคนที่มีอาชีพปอกสับปะรดในกลุ่มนี้หลายพันคนในอำเภอภูแล จังหวัดเชียงรายตกงาน เพราะจะเหลือคนที่ผลิตแค่ในประเทศเท่านั้น ก็มีปัญหาเพราะคนกินน้อยกว่าส่งออก”

นายสัญชัย กล่าวว่า การแก้ไขก็จะต้องรีบหามาตรการ และให้ค้นหาความจริงว่าจีนแบนด้วยเหตุผลอะไร และเร่งให้มีการเจรจา ต้องทำอย่างไร เพราะก่อนหน้านี้ทุเรียนแกะเนื้อผลสด ก็มีการแบนไปแล้ว เพราะถือว่าอยู่ในรูปอาหาร จึงทำให้สันนิษฐานที่ทำให้โดนแบน คือ 1.) อยู่ในหมวดอาหารหรือไม่ ต้องเปลี่ยนพิกัดอาหาร พอเข้าอาหาร ก็ต้องเข้าในเรื่องสุขอนามัย ซึ่งถ้าเป็นเรื่องอาหาร ไทยก็ยังไม่ได้รับการรับรองจากจีน และ 2.) ตรวจเจอเชื้อแบคทีเรีย หรือสุขอนามัยของตัวพืชเองอาจจะไม่ได้ จึงคิดว่าจะมาจาก 2 ประเด็นนี้หรือไม่

"แต่ยังไม่ได้บทสรุปชัดเจนว่าเกิดจากสาเหตุอะไร ซึ่งได้สอบถามไปยังทูตเกษตร แต่ยังไม่ได้คำตอบเลย เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้สงสัยว่ามีใครออกมาพูดกันบ้างหรือยังว่าจะหาแนวทางแก้ไขอย่างไร เพราะถ้ารอปล่อยเวลาไปแล้วสุดท้ายพ่อค้าก็จะตกเป็นจำเลยอีกเช่นเคยเวลามีปัญหา ไม่อยากให้เกิดซ้ำรอยเดิม" นายสัญชัย กล่าวทิ้งท้าย

‘กระทรวงพาณิชย์’ ประกาศหมัดเด็ด ‘5 ด้าน’ ดันยอดส่งออกไทยปี 67 ทะลุ 10 ล้านล้าน

(16 พ.ย.66) ที่กระทรวงพาณิชย์ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงผลการประชุมร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อทำแผนการผลักดันการส่งออกของไทยในปี 2567 โดยภายหลังการหารือ ที่ประชุมได้รับทราบการตั้งเป้าหมายการส่งออกของไทยปีหน้า

เบื้องต้น ประเมินว่า จะขยายตัว 1.99% หรือประมาณ 2% โดยมีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 287,754 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 10 ล้านล้านบาท

นายภูมิธรรม ระบุว่า ในปี 2567 กระทรวงพาณิชย์จะรักษารับการเติบโตในปีที่ผ่านมาให้เป็นบวกต่อไป หลังจากเห็นสัญญาณการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยหนุนน่าจะมาจากกรณีเหตุการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล น่าจะจบลงในระยะเวลาอันใกล้ เพื่อให้การค้าระหว่างประเทศกลับมาอยู่ในสถานการณ์ปกติมีความเสี่ยงเกิดขึ้น

พร้อมกันนี้ยังได้ประกาศแผนการเร่งรัดการส่งออกของไทย โดยได้กำหนดแนวทางการดำเนินงาน 5 ด้าน ดังนี้ 

1.เปิดประตูโอกาสทางการค้าสู่ตลาดใหม่ ควบคู่การรักษาตลาดเดิม 

โดยเดินสายสร้างสัมพันธ์ทั่วโลก เร่งผลักดันการเจรจา FTA ขยายการค้าไปยังเมืองรอง แผน 100 วัน ได้สร้างมูลค่าการสั่งซื้อรวมกันแล้วกว่า 490 ล้านบาท จากการผลักดันสินค้าไทยไปจัดแสดง ณ งาน CAEXPO ในหนานหนิงและงาน CIIE ในเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน และประเทศไทยได้ถูกเพิ่มในระบบ E-visa ของประเทศซาอุดิอาราเบียเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

โดยแผน 1 ปี จะมีกิจกรรม Goodwill จำนวน 24 กิจกรรม กิจกรรมเปิดตลาดเชิงรุก มี Trade Mission 17 กิจกรรม ในประเทศมัลดีฟส์ อาเซียน ยุโรป UK รัสเซีย งานแสดงสินค้าไทย 12 กิจกรรม ในจีน อินเดีย ศรีลังกา ปากีสถาน บังกลาเทศ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม กัมพูชา รวมถึงการขยายการค้าไปยังเมืองรอง 6 กิจกรรม 

พร้อมทั้งจัดทำ MOU กับเมืองรองเพิ่ม เช่น แอฟริกา (โจฮันเนสเบิร์ก โมซัมบิก) จีน (กว่างซีจ้วง เจ้อเจียง ซานซี เฮยหลงเจียง ฝูเจี้ยน) ภายใต้ยุทธศาสตร์ ‘การค้าเชิงรุกรายมณฑลจีน’ และต่อยอด MOU ที่ลงนามแล้ว รวมไปถึงการขยายช่องทางการค้าใหม่ๆ เช่น การเจาะธุรกิจ Horeca ในยุโรปและเร่งสรุปผลการเจรจา FTA กับคู่เจรจาต่าง ๆ 

2.ทูตพาณิชย์ ทำงานเชิงรุก

โดยร่วมทำงานกับพาณิชย์จังหวัดให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น เชื่อมโยงสินค้าท้องถิ่นสู่ตลาดโลก โดยได้มอบนโยบายต่อทูตพาณิชย์ในการเร่งหาช่องทางการค้าใหม่ๆ เช่น การค้นหา Influencer ทั้งในไทยและต่างประเทศที่มีผู้ติดตามมากเพื่อเพิ่มการรับรู้สินค้าไทย และใช้ร้านอาหาร Thai Select เป็นเสมือนที่จัดแสดงสินค้าภูมิปัญญาไทยและช่องทางส่งออกวัตถุดิบอาหารและเครื่องปรุงรสของไทย 

รวมทั้งบูรณาการทำงานเชิงรุกร่วมกันระหว่างทูตพาณิชย์ พาณิชย์จังหวัด และทัพหน้าของไทยในต่างแดน อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ BOI เพื่อช่วยขับเคลื่อนการส่งออกของไทย โดยในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 นี้ นายกรัฐมนตรีจะมอบนโยบายการทำงานให้กับทูตทั่วโลก โดยกระทรวงพาณิชย์จะนำเสนอการขับเคลื่อนนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกต่อนายกรัฐมนตรี สำหรับแผน 1 ปีจะดำเนินการหาช่องทางการจัดจำหน่ายใหม่ๆ ทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ให้มากขึ้น เพื่อขยายส่วนแบ่งตลาดสินค้าไทย ในประเทศประจำการเขตอาณาและเพิ่มบทบาททูตพาณิชย์ ให้เป็นคู่คิดของผู้ประกอบการ SMEs ‘พาณิชย์คู่คิด SMEs’ เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs โดยเฉพาะรายเล็กให้สามารถส่งออกได้เพิ่มมากขึ้น

3. ส่งเสริม SOFT POWER เป้าหมายรุกสู่เวทีโลก 

ด้วยการเพิ่มมูลค่าสินค้า/บริการไทยด้วยแบรนด์ นวัตกรรม และการออกแบบ และส่งเสริมสู่ตลาดโลก โดยมีเป้าหมายในกลุ่มสินค้าสำคัญ ได้แก่ อาหาร ดิจิทัล คอนเทนต์ มวลไทย ท่องเที่ยว หนังสือ และเกม ล่าสุดจากการนำผู้ประกอบการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอาหาร Anuga ที่เยอรมนี สร้างมูลค่า 5,318.05 ล้านบาท และกลุ่มดิจิทัลคอนเทนต์ สร้างรายได้กว่า 2,620.13 ล้านบาท 

ทั้งนี้ในระหว่างเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม 2566 นี้ จะจัดงาน Muay Thai Global Power ณ ไอคอนสยาม การร่วมงาน Asia TV Forum and Market ที่สิงคโปร์ รวมทั้งในวันนี้ได้มีพิธีลงนามความร่วมมือ 3 ฝ่าย ระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ เชื่อมโยงการค้าและการท่องเที่ยวไว้ด้วยกัน 

สำหรับแผน 1 ปี จะมีการเปิดตัว SOFT POWER Global Brand จำนวน 9 กิจกรรม ทั้งในส่วนของการ re-branding Thai select, เครื่องหมาย Thailand Trust mark, Demark เป็นต้น การส่งเสริมดิจิทัลคอนเทนต์ 19 กิจกรรม กลุ่มสินค้าอาหาร 76 กิจกรรม หนังสือ 2 กิจกรรม และสนับสนุนนักออกแบบไทยผ่านโครงการต่างๆ 

4.ปรับปรุงการทำงานของภาครัฐให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล 

โดยปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรค ปรับบทบาทเป็นรัฐสนับสนุน โดยแผน quick win 100 วันที่ได้ดำเนินการไปแล้ว อาทิ การปรับปรุง พ.ร.บ. สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯ พ.ศ.2537 การปรับปรุงเว็บไซต์กรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ การหารือกับภาคเอกชนร่วม ยกร่างแผนเร่งรัดการส่งออกและการค้าชายแดน quick win 100 วัน 

ส่วนแผน 1 ปี จะเดินหน้าทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน ในการแก้ไขปัญหา/อุปสรรคทางการค้า โดยต่อยอดคณะทำงานร่วมกระทรวงพาณิชย์

5. ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ 

เริ่มตั้งแต่การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล การค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียว โดยแผน quick win 100 วันที่จะดำเนินการ เช่น การจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ 2 (ปี 2566 - 2570) การจัดเจรจาการค้าธุรกิจออนไลน์ และการส่งเสริมการขายสินค้า TOP Thai บนแพลตฟอร์มออนไลน์พันธมิตร อาทิ Shopee ในมาเลเซีย และ Rakuten ในญี่ปุ่น 

การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ อาทิ การสัมมนาเสริมสร้างทรัพย์สินทางปัญญาผู้ส่งออกไทย และการเสวนา export 5 F รวมทั้งการยกระดับศักยภาพการแข่งขันของประเทศ อาทิ นำผู้ประกอบการร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ Automechanika ที่ยูเออี งาน APPEX ที่สหรัฐฯ และงาน Medica ที่เยอรมนี 

ส่วนกิจกรรมที่ได้ดำเนินการแล้ว ทั้ง การจัด Virtual Showroom และ Online Business Matching  ในสินค้าเกษตรแปรรูปและอาหารกลุ่ม BCG สร้างมูลค่า 5.30 ล้านบาท และงานแสดงสินค้า AUTOMECHANIKA DUBAI 2023 มีผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมกว่า 30 ราย มูลค่าการสั่งซื้อ 2,991.27 ล้านบาท

ขณะเดียวกันในปีนี้ได้เตรียมแผนงานรองรับไว้กว่า 300 กิจกรรม อาทิ การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล 8 กิจกรรม เช่น การตั้งร้าน Top Thai บน Amazon ของอังกฤษ การขยายความร่วมมือกับ LetsTango.com ในยูเออี การส่งเสริมการขายกับแพลตฟอร์มพันธมิตร การส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียว 14 กิจกรรม 

โดยจะนำผู้ประกอบการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมสีเขียวในยุโรป ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา การยกระดับศักยภาพการแข่งขันของประเทศ 108 กิจกรรม โดยการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติในไทยและการนำผู้ประกอบการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ พร้อมกับการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ 177 กิจกรรม เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการในด้านการค้าระหว่างประเทศ

‘จีน’ จ่อขึ้นแท่น ‘ผู้ส่งออกรถยนต์’ รายใหญ่สุดของโลกปีนี้ หลัง 10 เดือนแรกยอดแตะ 3.9 ล้านคัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 59.7

เมื่อวานนี้ (18 พ.ย.66) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เจ้าหน้าที่สภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของจีน รายงานว่าจีนจะกลายเป็นผู้ส่งออกยานยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลกภายในปีนี้อย่างแน่นอน ขณะปริมาณการส่งออกยานยนต์ของจีน ช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคมของปีนี้ สูงแตะ 3.9 ล้านคัน

หวังเซี่ย หัวหน้าสภาย่อยด้านยานยนต์ของสภาส่งเสริมฯ กล่าวคำข้างต้นที่งานจัดแสดงยานยนต์นานาชาติแห่งกว่างโจว ครั้งที่ 21 โดยหวังเผยว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ของจีนได้ก้าวสู่ความเป็นสากลอย่างแข็งแกร่ง แม้สภาพแวดล้อมระหว่างประเทศมีความซับซ้อน

อนึ่ง ปริมาณการส่งออกยานยนต์ของจีนในไตรมาสแรก (มกราคม-มีนาคม) ของปีนี้ รวมอยู่ที่ 1.07 ล้านคัน ซึ่งแซงหน้าญี่ปุ่นจนกลายเป็นผู้ส่งออกยานยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลกครั้งแรก ส่วนปริมาณการส่งออกในช่วงสิบเดือนแรกของปีนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 59.7 เมื่อเทียบปีต่อปี รวมอยู่ที่ 3.92 ล้านคัน

ราคาส่งออกยานยนต์ต่อคันในช่วงสามไตรมาสแรก (มกราคม-กันยายน) ของปีนี้ เพิ่มขึ้นเป็น 137,000 หยวน (ราว 685,000 บาท) จาก 85,000 หยวน (ราว 425,000 บาท) ในปี 2014

หวัง กล่าวว่า มูลค่าการส่งออกของห่วงโซ่อุตสาหกรรมยานยนต์จีนในปี 2001 อยู่ที่เพียง 1.56 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5.52 หมื่นล้านบาท) ครองส่วนแบ่งโลกเพียงร้อยละ 0.65 แต่มูลค่าดังกล่าวในช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคมของปีนี้สูงเกือบ 1.22 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.31 ล้านล้านบาท) คิดเป็นร้อยละ 5.5 ของทั้งหมดทั่วโลก

หวัง เสริมว่า ตลาดยานยนต์ของจีนจะมีการเติบโตใหม่ๆ ตามการดำเนินชุดนโยบายเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและส่งเสริมการบริโภค รวมถึงการทยอยฟื้นตัวของความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

‘สศช.’ ชี้!! ส่งออก ‘ไทย’ โตต่อเนื่อง คาด ปี 67 บวกถึง 3.8% ตั้งเป้า ดันไทยสู่ฮับยานยนต์ ชิงส่วนแบ่งการตลาดมหาอำนาจ

(24 พ.ย. 66) นางสาวอานันท์ชนก สกนธวัฒน์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และการวางแผนเศรษฐกิจมหภาค สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า อัตราการขยายตัวของปริมาณการค้าโลก ปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวที่ 3.2% ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนหลักที่มองว่าการส่งออกไทยปีหน้า จะสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง คาดการณ์บวกที่ 3.8% กลับมาเป็นพระเอกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยโตระหว่าง 2.7-3.7% ได้ ภายใต้อัตราแลกเปลี่ยนจะอยู่ประมาณ 34-35 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ เป็นผลจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่กลับมาเกินดุลมากขึ้น รวมถึงแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะเห็นช่วงกลางปี 2567 เป็นต้นไป

นางสาวอานันท์ชนก กล่าวว่า ในเชิงการค้าระหว่างประเทศ หากมีการแบ่งขั้วประเทศระหว่างประเทศมหาอำนาจสหรัฐฯ และ จีนนั้น ต้องประเมินข้อมูลสัดส่วนการนำเข้าสินค้าระหว่างทั้ง 2 ประเทศ ที่ผ่านมาปรับลดลงในเชิงสัดส่วน แต่มีการนำเข้าสินค้าจากประเทศอาเซียนไปยังสหรัฐฯ มากขึ้น อาทิ เกษตรแปรรูปจากสิงคโปร์ สิ่งทอเครื่องนุ่งห่มจากเวียดนาม ขณะที่ไทยเป็นยานยนต์และชิ้นส่วนอยู่ กุญแจสำคัญคือ ไทยจะทำอย่างไรในการช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดจากความขัดแย้งของประเทศมหาอำนาจได้ เพื่อสร้างโอกาสในการส่งออกไทยต่อไป

“ปัจจัยสนับสนุนในปี 2567 คือ การบริโภคภายในประเทศที่แม้เริ่มเห็นการชะลอตัวลง แต่ก็ยังบวกกว่า 3% เทียบกับฐานที่สูงกว่า 7% รวมถึงการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าปีนี้จะมีต่างชาติเข้ามา 28 ล้านคน ขณะนี้สะสมแล้วเกือบ 24 ล้านคน ส่วนอีก 4 ล้านคนในช่วงที่เหลือของปีนี้ มองว่าน่าจะสามารถทำได้

ส่วนที่กังวลเป็นเรื่องคุณภาพของนักท่องเที่ยวมากกว่า เนื่องจากขณะนี้ประเทศที่กลับมาเป็นตลาดระยะใกล้ แต่ประเทศระยะไกลที่มีการใช้จ่ายสูง ยังต้องสนับสนุนต่อไป ปัจจัยเสี่ยงและข้อจำกัดเป็นเรื่องงบประมาณภาครัฐที่ล่าช้า หนี้ครัวเรือนและหนี้ธุรกิจ ภัยแล้ง ปริมาณน้ำฝนที่หากปี 2567 ความรุนแรงมากขึ้น อาจส่งผลกระทบกับสินค้าเกษตรได้ รวมถึงเศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอตัวมากกว่าคาดไว้” นางสาวอานันท์ชนก กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top