Sunday, 19 May 2024
ส่งออก

‘จีน’ ออกมาตรการเร่งพัฒนา ‘การค้าในประเทศ-ระหว่างประเทศ’ เพิ่มคุณภาพการค้า-รักษาเสถียรภาพการเงิน-เสริมระบบเศรษฐกิจ

(12 ธ.ค. 66) สำนักข่าวซินหัว, ปักกิ่ง รายงานว่า คณะรัฐมนตรีจีนออกชุดมาตรการเร่งรัดการพัฒนาเชิงบูรณาการของการค้าภายในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งจำเป็นต่อการสร้างการพัฒนารูปแบบใหม่และการส่งเสริมการพัฒนาที่มีคุณภาพสูง รวมถึงมีบทบาทสำคัญต่อการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ การขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ และการรักษาเสถียรภาพของผู้ประกอบการ

มาตรการเหล่านี้จะยกระดับการปรับปรุงกฎเกณฑ์และระบบการค้า ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งครอบคลุมการกำกับตรวจสอบ การควบรวมมาตรฐานต่างๆ และการอำนวยความสะดวกแก่การหมุนเวียนทรัพยากรการค้า ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศอย่างราบรื่น

นอกจากนั้น มาตรการเหล่านี้จะส่งเสริมการประสานงาน ของช่องทางการตลาดภายในประเทศและระหว่างประเทศ ปรับปรุงสภาพแวดล้อมสำหรับการพัฒนาเชิงบูรณาการ ของการค้าภายในประเทศและระหว่างประเทศ และเร่งรัดการพัฒนาเชิงบูรณาการในหลายด้านสำคัญ

ทั้งนี้ จีนจะเสริมสร้างการสนับสนุนทางการคลังและการเงิน สำหรับการพัฒนาเชิงบูรณาการของการค้าภายในประเทศและระหว่างประเทศเพิ่มเติม

‘ด่านมองโกเลีย’ รับรองรถไฟสินค้าจีน-ยุโรป 3,294 เที่ยวในปี 2023 หนุนขนส่งสินค้านับ 1,000 รายการ ดันระเบียงเศรษฐกิจโตต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 67 สำนักข่าวซินหัว, ฮูฮอต รายงานว่า ‘ด่านเอ้อร์เหลียนฮ่าวเท่อ’ ในเขตปกครองตนเองมองโกเลียในทางตอนเหนือของจีน ได้รับรองการเดินรถไฟสินค้าจีน-ยุโรป ในปี 2023 จำนวน 3,294 เที่ยว เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.8 เมื่อเทียบปีต่อปี

รายงานระบุว่า ด่านเอ้อร์เหลียนฮ่าวเท่อรับรองการขนส่งสินค้านำเข้าและส่งออก ในปี 2023 รวม 4.08 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.5 เมื่อเทียบปีต่อปี และรับรองการขนส่งสินค้า 375,000 ทีอียู (TEU : หน่วยนับตู้คอนเทนเนอร์ยาว 20 ฟุต) เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.4

อนึ่ง ด่านเอ้อร์เหลียนฮ่าวเท่อ เป็นด่านบกขนาดใหญ่ที่สุดบนพรมแดนจีนและมองโกเลีย และเป็นด่านเข้า-ออกแห่งเดียวบนระเบียงตอนกลางของการบริการรถไฟสินค้าจีน-ยุโรป

สินค้าที่ขนส่งโดยรถไฟสินค้าจีน-ยุโรป ซึ่งเดินรถผ่านด่านเอ้อร์เหลียนฮ่าวเท่อ ประกอบด้วย รองเท้าและเสื้อผ้า, ผลิตภัณฑ์จักรกลและไฟฟ้า, ยานพาหนะและชิ้นส่วนรถยนต์ รวมถึงสินค้าโภคภัณฑ์ราว 1,000 รายการ

‘ชาวนากาฬสินธุ์’ หันปลูกแตงโม-ขายเมล็ดส่งนอก โกยเงินล้าน ชี้!! ใช้น้ำน้อย ราคาดีกว่าขายข้าวเปลือก สร้างรายได้ต่อรายสูง

(19 ม.ค.67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามบรรยากาศการประกอบอาชีพของเกษตรกรชาว จ.กาฬสินธุ์ ทั้งพื้นที่รับน้ำชลประทานโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว พบว่ามีการทำนาปรังหรือนาฤดูแล้งเต็มพื้นที่ ขณะที่พื้นที่นอกเขตชลประทาน มีการเพาะปลูกพืชอายุสั้น พืชตระกูลแตงเป็นจำนวนมาก โดยใช้น้ำจากแหล่งธรรมชาติที่มีอยู่อย่างเพียงพอ

นางประนอม ภูเต้านา อายุ 45 ปี เกษตรกรบ้านขมิ้น เลขที่ 95 หมู่ 5 ต.นาดี อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า พื้นที่นาอยู่นอกเขตชลประทาน แต่ก็อยู่ใกล้กับหนองเลิงไก่โอก แหล่งน้ำสาธารณะประจำตำบลนาดี ซึ่งปีนี้มีปริมาณน้ำเป็นจำนวนมาก เพียงพอต่อการสูบขึ้นมาหล่อเลี้ยงแปลงแตงโม และแปลงแตงแคนตาลูป ที่เพาะปลูกประมาณ 2 ไร่

นางประนอม กล่าวอีกว่า ที่เลือกเพาะปลูกพืชตระกูลแตง 2 ชนิด เพราะว่าอายุสั้น ใช้น้ำน้อย ทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศร้อนแล้งได้ดี อายุ 4 เดือนเก็บผลผลิตจำหน่าย ที่สำคัญมีบริษัทของเอกชนเข้ามาส่งเสริม มีประกันราคาแน่นอน โดยเป็นแตงลูกผสม จำหน่ายเมล็ดส่งต่างประเทศ ก.ก.ละ 1,600-2,000 บาท ปลูกมาประมาณ 20 ปี รายได้เฉลี่ยรายละ 5 หมื่นบาท ซึ่งรายได้สูงกว่าปลูกข้าวนาปรังและพืชฤดูแล้งชนิดอื่น

นางประนอม กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อราคาขายเมล็ดแตงโมและเมล็ดแตงแคนตาลูปสูง โดยที่ผ่านมาได้กำไรทุกปี ขณะที่ราคาขายข้าวเปลือกยังตกต่ำ รายได้ไม่คุ้มทุน เพราะปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ยเคมี ค่าแรง ค่าเก็บเกี่ยวสูง ดังนั้น ในปีนี้จึงพบว่าพี่น้องเกษตรกรชาวนาในหมู่บ้าน หันมาปลูกแตงโม และแตงแคนตาลูปลูกผสม เพื่อขายเมล็ดต่างประเทศกับบริษัทเอกชนถึง 20 ราย ที่หากเฉลี่ยได้กำไรไร่ละ 5 หมื่น ก็จะมีรายได้ในภาพรวมถึง 1 ล้านบาททีเดียว

‘สื่อฮ่องกง’ ชี้ ‘ทุเรียนไทย’ กำลังเสียแชมป์เจ้าตลาดในแดนมังกร หลัง ‘เวียดนาม-ฟิลิปปินส์’ แข่งส่งออก ซ้ำ!! ‘จีน’ หันมาผลิตเอง

เมื่อวานนี้ (21 ม.ค. 67) หนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์รายงานว่า ภายในแค่ 3 ปี จีนประสบความสำเร็จสามารถปลูกทุเรียนได้เองเพิ่มกำลังการผลิตจาก 50 ตัน มาอยู่ที่ 500 ตัน ภายในปีหน้า

"การบริโภคทุเรียนภายในประเทศคาดจะสามารถเพิ่มการผลิต 250 ตันปีนี้ แต่ภายในปีหน้าจะสามารถมีกำลังการผลิตมหาศาลโดยกำลังการผลิตสามารถแตะ 500 ตัน” เฟง ซูจี (Feng Xuejie) ผู้อำนวยการสถาบันผลไม้เขตอากาศร้อนชื้น (Institute of Tropical Fruit Trees) ประจำสถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรไห่หนาน (Hainan Academy of Agricultural Sciences)

ปีที่ผ่านมา มณฑลไห่หนานประสบความสำเร็จสามารถผลิตทุเรียนได้ถึง 50 ตัน ซึ่งเฟงมองว่ายังไม่เพียงพอต่อความต้องการทุเรียนอย่างสูงของผู้บริโภคชาวจีน

“สำหรับราคาและรสชาติของทุเรียนภายในประเทศในอนาคตนั้นขอให้เฝ้ารอ” เฟง กล่าวเสริม

ซึ่งกลายเป็นที่ฮือฮาไปทั่วเมื่อ ‘ปักกิ่ง’ ปีที่ผ่านมาประสบความสำเร็จสามารถออกผลผลิตทุเรียนปลูกเองภายในประเทศที่มณฑลไห่หนานได้

หนังสือพิมพ์ฮ่องกงรายงานว่า ผู้บริโภคทุเรียนในจีนมองทุเรียนโดยเฉพาะคนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อต่างมองผลไม้เปลือกแข็งหนามแหลมและมีรสชาติที่หอมหวานไม่เหมือนใครว่าเป็นเสมือนรางวัล ซึ่งทุเรียนนั้นขึ้นชื่อว่าเป็น ‘ราชาผลไม้’

หนังสือพิมพ์ฮ่องกงชี้ต่อว่า การนำเข้าทุเรียนปีที่แล้วสูงลิ่ว แต่ทว่าปักกิ่งซึ่งเป็นผู้ซื้อรายใหญ่เริ่มกระจายการซื้อทุเรียนไปยังหลายแหล่งเพื่อให้ตรงตามความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภคชาวจีนภายในประเทศ ซึ่งจากแต่เดิมเคยนำเข้าทุเรียนจาก ‘ไทย’ เพียงเจ้าเดียว โดยปักกิ่งได้นำเข้าทุเรียนจาก ‘เวียดนาม’ และ ‘ฟิลิปปินส์’ ส่งผลทำให้ไทยกำลังสูญเสียความเป็นเจ้าตลาดทุเรียนในจีนไปอย่างช่วยไม่ได้

อ้างอิงข้อมูลจากตัวเลขทางการของสำนักงานศุลกากรจีนพบว่า จีนนำเข้าทุเรียนทั้งหมด 1.4 ล้านตันภายใน 12 เดือนแรกของปี 2023 สูง 69% จากปีก่อนหน้า

ขณะที่ไทยซึ่งอดีตเคยเป็นเจ้าการตลาดการส่งออกทุเรียนไปจีน มียอดการส่งออกตกจากเกือบ 100% ในปี 2021 มาอยู่ที่ 95.36 ในปี 2022 และเหลือแค่ 67.98% มาจนถึงเดือนธันวาคมปี 2023

อ้างอิงข้อมูลวันที่ 11 เม.ย ปี 2566 จากกรมการส่งออก การผลิตทุเรียนไทยต่อปีที่ 1,480,000 ตัน และสายพันธุ์ที่ปลูกและส่งออกคือ ชะนีหมอนทอง ก้านยาว กระดุมพวงมณี

กรมการส่งออกพบว่า ‘ทุเรียนฟิลิปปินส์’ ที่ส่งออกไปจีนเป็นพันธุ์ปูยัต (Puyat) มีลักษณะเนื้อสีทอง กลิ่นหอมแรงและรสชาติเข้มข้น

สมาคมอุตสาหกรรมทุเรียนดาเวา (DIADC) ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบัน มณฑล/เขต ที่ปลูกทุเรียนของฟิลิปปินส์มีจำนวน 47 แห่ง พื้นที่ปลูกทุเรียนรวมประมาณ 160 ตารางกิโลเมตร ผลผลิต 100,000 ตันต่อปี สายพันธุ์ทุเรียนที่สามารถปลูกได้ในฟิลิปปินส์คือ ชะนี, หมอนทอง, alcon fancy, arancillo และ puyat

ส่วน ‘ทุเรียนเวียดนาม’ ที่ส่งเข้าไปตีตลาดจีนและแซงหน้าไทยได้นั้นเป็น ‘พันธุ์หมอนทอง’ (Ri6 หมอนทอง 6) จากจ.ดักลัก ซึ่งก็เป็นสายพันธุ์เดียวกันกับทุเรียนไทยที่ส่งออกมายังตลาดจีน

ตามรายงานของกรมการส่งออกระบุว่า จุดแข็งของทุเรียนเวียดนามคือ ระยะทางที่สั้นและเวลาการขนส่งน้อยแค่ 2 ชม. ถึงด่านจีน ทำให้ทุเรียนเวียดนามยังคงรักษาคุณภาพได้เป็นอย่างดี

เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์รายงานว่า บรรดาผู้ส่งออกทุเรียนเวียดนามไปจีนนั้นเริ่มตั้งแต่เกือบ 0% ไปอยู่ที่ 4.63% ที่ 188.1 ล้านดอลลาร์ในปี 2022, และเพิ่มไปอยู่ที่ 31.82 % ใน 11 เดือนแรกของปี 2023 มีมูลค่าอยู่ที่ 2.1 พันล้านดอลลาร์ เบียดการส่งออกทุเรียนจากไทย

ขณะที่บรรดาผู้ส่งออกทุเรียนในมาเลเซียต่างพยายามผลักดันข้อตกลงในปีนี้เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีของความสัมพันธ์จีน-มาเลเซีย ไซมอน ชิน (Simon Chin) ผู้ก่อตั้งบริษัทส่งออก DKing กล่าว

ปัจจุบันมาเลเซียได้รับอนุญาตให้ส่งออกทุเรียนแช่แข็งไปจีนเท่านั้น

ชินแสดงความเห็นกับสื่อฮ่องกงว่า “ปัจจุบันพวกเรากำลังอยู่ระหว่างการเจรจากับจีนเพื่อหาลู่ทางการส่งออกผลไม้สด เช่นเดียวกับที่ไทยและเหมือนเช่นที่ฝ่ายไทยทำ”

อย่างไรก็ตามในแง่รายได้ การส่งออกทุเรียนไทยมาจีนนั้นยังคงเพิ่มในปีที่ผ่านมาเนื่องมาจากความต้องการสูงของตลาดผู้บริโภคจีนในเมืองระดับการที่เริ่มจะมีมากขึ้น แซม ซิน (Sam Sin) ผู้อำนวยการพัฒนาประจำ S&F Produce Group ที่มีฐานอยู่ในฮ่องกงชี้

ส่งออกข้าวไทย 66 ทะลุ 8.76 ล้านตัน สูงสุดในรอบ 5 ปี ผลจากความต้องการในตลาดโลกพุ่ง-อินเดียชะลอส่งออก

(1 ก.พ.67) นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ส่งออกในปี 2566 ส่งออกข้าวได้ 8.76 ล้านตัน สูงสุดในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2561 เพิ่มขึ้น 13.62% เมื่อเทียบจากปีที่ผ่านมา เป็นการส่งออกเกินกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ 8 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 178,136 ล้านบาท หรือประมาณ 5,144 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 28.43% เมื่อเทียบปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากความต้องการในตลาดโลกสูง การชะลอส่งออกข้าวของอินเดีย และปัญหาโลกร้อน

ขณะที่เป้าหมายการส่งออกข้าวในปี 2567 กรมการค้าต่างประเทศร่วมกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยคาดการณ์ สรุปร่วมกันว่าจะส่งออกได้ปริมาณ 7.5 ล้านตัน

ล่าสุดข้อมูลใบอนุญาตส่งออกข้าวของกรมการค้าต่างประเทศ พบว่าตั้งแต่วันที่ 1-30 มกราคม 2567 มีปริมาณ 1,122,358 ตัน เพิ่มขึ้น 43.96% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีปริมาณการขออนุญาตส่งออกข้าวอยู่ที่ 779,654 ตัน

>>ปัจจัยหนุนส่งออกข้าว 2567

โดยปัจจัยที่คาดว่าจะส่งผลต่อการส่งออกข้าวไทยในปีนี้ คือผลผลิตข้าวของไทยที่คาดว่าจะลดลงจากปีก่อน 5.87% ซึ่งเป็นผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ และการส่งออกที่อาจเผชิญกับการแข่งขันและความท้าทายหลายประการ เช่น ปริมาณผลผลิตข้าวโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากกว่าปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ทำให้ปริมาณอุปทานข้าวโลกเพิ่มขึ้น การนำเข้าข้าวของประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มปรับตัวลดลง ส่วนหนึ่งเกิดจากความนิยมของการบริโภคข้าวลดลง อาทิ จีน ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ทำให้การแข่งขันทางด้านราคารุนแรงขึ้น

ขณะที่ไทยยังมีต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูง ทำให้ราคาข้าวไทยสูงกว่าประเทศผู้ผลิตและประเทศผู้ส่งออก เช่น จีน เวียดนาม และอินเดีย

>>อินโดนีเซียซื้อข้าวลดลง อินเดียกลับมาส่งออก

นอกจากนี้ มีสัญญาณว่าอินโดนีเซียอาจซื้อข้าวน้อยกว่าปีที่ผ่านมา เพราะมีข้าวค้างสต๊อกจากปี 2566 ค่อนข้างมาก ขณะที่จีนมีการผลิตข้าวมากขึ้น และเริ่มปรับเปลี่ยนจากการเป็นผู้นำเข้าข้าวให้เป็นผู้ผลิตข้าวที่เพียงพอต่อการบริโภคของประชากรและอาจส่งออกในอนาคต

นอกจากนี้ อินเดียอาจประกาศยกเลิกการระงับการส่งออกข้าวขาว ซึ่งจะทำให้ภาคเอกชนของอินเดียกลับมาส่งออกข้าวได้เสรีตามปกติ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวล้วนเป็นความท้าทายต่อการส่งออกข้าวไทย

>>แผนรับมือส่งออกข้าว

นายรณรงค์กล่าวว่า สำหรับแนวทางการรับมือกับความท้าทายในการขายข้าวให้ประเทศคู่ค้าในประเด็นที่ราคาข้าวไทยสูงกว่าราคาข้าวของประเทศผู้ส่งออกราย เนื่องมาจากต้นทุนการผลิตที่สูง

ดังนั้น จึงจำเป็นที่ไทยต้องเร่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทยในตลาดโลกโดยพัฒนาพันธุ์ข้าวให้มีผลผลิตต่อไร่สูงไม่ควรน้อยไปกว่าผลผลิตข้าวต่อไร่ของประเทศผู้ส่งออกอื่น ซึ่งปัจจุบันมีผลผลิตต่อไร่สูงกว่าไทยทั้งสิ้น ประกอบกับพันธุ์ข้าวต้องมีความต้านทานโรคและแมลงเพื่อลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยและการกำจัดแมลง

ทั้งนี้ หากไทยไม่มุ่งเน้นพัฒนาปรับปรุงในเรื่องดังกล่าวจะทำให้ไทยเสียเปรียบในการแข่งขันทางการค้าข้าวในตลาดโลกในที่สุด

>>อัดกิจกรรมส่งเสริมส่งออกข้าว

กรมการค้าต่างประเทศพร้อมเดินหน้าทำงานใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนรวมทั้งสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เพื่อส่งเสริมและผลักดันการส่งออกข้าวไทย ตามนโยบาย ‘รักษาตลาดเดิม เพิ่มตลาดใหม่ ในการส่งออกไปต่างประเทศ’

โดยกิจกรรมหลักที่จะจัดขึ้นในปีนี้ ประกอบด้วย การจัดงานประชุมข้าวนานาชาติ ‘Thailand Rice Convention (TRC) 2024’ ในเดือนพฤษภาคม 2567 ซึ่งเป็นงานประชุมใหญ่ที่ผู้เชี่ยวชาญในวงการค้าข้าวโลกมาพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ตลาดข้าวโลกและเจรจาธุรกิจระหว่างกัน

รวมทั้งจะมีการจัดงาน TRC สัญจร ลงพื้นที่เพื่อให้ข้อมูลแนวโน้มความต้องการข้าวในตลาดโลกแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถผลิตข้าวได้ตรงกับความต้องการของตลาดมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ กรมมีแผนเดินทางไปกระชับความสัมพันธ์และขยายตลาดข้าวกับแอฟริกาใต้ ฮ่องกง ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นตลาดข้าวที่สำคัญอันดับต้น ๆ ของไทย รวมทั้งการเจรจาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) กับรัฐบาลอินโดนีเซียและจีน รวมถึงประเทศอื่นที่มีความประสงค์ขอซื้อข้าวในรูปแบบ G to G ตลอดจนการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่สำคัญ และจัด Thai Rice Roadshow ประชาสัมพันธ์ข้าวไทยในตลาดจีนด้วย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top