Tuesday, 14 May 2024
สหราชอาณาจักร

'กรณ์' เผย 4 เหตุการณ์ 'รับเสด็จ-เข้าเฝ้า' ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ยกเป็นความทรงจำอันลํ้าค่าอย่างมากในชีวิต

เมื่อ 9 ก.ย.65 นายกรณ์ จาติกวณิช ได้โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก 'กรณ์ จาติกวณิช – Korn Chatikavanij' ระบุว่า...

#QueenElizabeth II กับ ความทรงจำอันล้ำค่าของผม

นับเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของประชาคมโลกต่อการจากไปของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ขอน้อมถวายความอาลัย และเป็นกำลังใจให้เพื่อนชาวสหราชอาณาจักรทุกคนครับ

ผมเองได้มีโอกาสรับเสด็จและเข้าเฝ้าอยู่ 4 ครั้งในแต่ละช่วงบทบาทที่แตกต่างกันไป 

ครั้งแรกตอนผมอายุ 8 ขวบ ผมอยู่โรงเรียนสมถวิล ซอยมหาดเล็กหลวง ตอนนั้นปี 2515 พระองค์ท่านเสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ พวกเราถือธงชาติไทย-อังกฤษ ยืนรับเสด็จพร้อมเพรียง เมื่อขบวนเสด็จเคลื่อนผ่าน ผมและเพื่อนๆ ต่างชะเง้อมองพระพักตร์ริมหน้าต่างรถพระที่นั่ง ใจจริงตอนนั้นผมชะเง้อมองหาในหลวงของเรา แต่ท่านประทับในรถอยู่คนละฝั่ง (ความรู้สึกของเด็กอย่างผมตอนนั้นคือเสียใจอยู่เหมือนกัน) แต่มุมนั้นทำให้ผมมองเห็นควีนเอลิซาเบธชัดเจนมาก พระองค์ท่านทรงพระสรวลและโบกพระหัตถ์ทักทายเด็กๆ อย่างเราตลอดเส้นทาง

ต่อมาตอนอายุ 11 ขวบ ผมมาเรียนอังกฤษใหม่ๆ เป็นช่วงพระราชพิธีเฉลิมฉลอง Silver Jubilee ก็ได้ไปรับเสด็จริมถนนอีกครั้ง ตื่นเต้นดังเดิม แต่คนเยอะมากไม่เห็นอะไรเลย

ครั้งที่ 3 ตอนอายุ 18 ในฐานะหัวหน้านักเรียน (Head Boy) ของโรงเรียน Winchester College ในช่วงพิธีฉลองครบรอบ 600 ปีของโรงเรียน ครั้งนั้นโรงเรียนแจ้งว่า ผมจะได้ร่วมโต๊ะเสวยกับพระองค์ท่าน ตื่นเต้นและดีใจมากกว่าทุกครั้ง

ก่อนเสด็จฯ ประมาณ 1 เดือน สำนักพระราชวังตรวจรายชื่อผู้ร่วมโต๊ะเสวย จากนั้นก็มีสายจากพระราชวังโทรตามหาตัวผมที่โรงเรียน ถามว่า ผมเป็นอะไรกับ Mr.Chatikavanij ที่เคยรับเสด็จเมื่อครั้งเยือนประเทศไทยปี 2515 ซึ่งท่านผู้นั้นคือคุณลุง ‘เกษม จาติกวณิช’ ผู้ก่อตั้งและผู้ว่าการไฟฟ้าฯ คนแรกของไทย ท่านได้รับเสด็จพระองค์ท่าน และพาเยี่ยมชมโครงการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังน้ำตามโครงการพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่9 ของเรา 

เมื่อถึงวันงานพระองค์ท่านตรัสกับผมว่า 'when I was in Thailand, your uncle very kindly took care of me.' ถือเป็นความภาคภูมิใจของครอบครัวและวงศ์ตระกูลของเราอย่างมากครับ

ครั้งสุดท้าย ตอนนั้นอายุ 45 ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ครั้งนั้นประเทศไทยของเราได้รับเชิญเข้าร่วมประชุม G20 เป็นกรณีพิเศษเพื่อช่วยนำเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลก ผมและนายกฯ อภิสิทธิ์ได้เข้าเฝ้า ร่วมกับผู้นำประเทศและรัฐมนตรีคลังจากประเทศชั้นนำของโลก ในพระราชวัง Buckingham Palace 

สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงปรากฏพระองค์ในฐานะกษัตริย์ของสหราชอาณาจักร พร้อมมีพระราชดำรัสแรกอย่างเป็นทางการต่อพสกนิกร

สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 กษัตริย์องค์ใหม่ของสหราชอาณาจักร ทรงมีพระราชดำรัสต่อพสกนิกรเป็นครั้งแรกหลังขึ้นครองราชย์ต่อจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พระมารดาผู้เสด็จสวรรคต

เอเอฟพีรายงานเมื่อวันเสาร์ที่ 10 กันยายน 2565 กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงเสด็จมาประทับที่พระราชวังบักกิงแฮมในกรุงลอนดอนเมื่อวันศุกร์ โดยได้พบปะทักทายพสกนิกรที่มาร่วมไว้อาลัยต่อการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2

หลังจากนั้นในช่วงบ่าย พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงบันทึกเทปพระราชดำรัสแรกอย่างเป็นทางการในฐานะพระประมุของค์ใหม่ของสหราชอาณาจักรและเครือจักรภพ ที่ห้องวาดรูปสีน้ำเงิน (Blue Drawing Room) ของพระราชวังบักกิงแฮม

พระราชดำรัสซึ่งบันทึกไว้ล่วงหน้า ได้ออกอากาศทางโทรทัศน์ของสหราชอาณาจักร เมื่อเวลา 18:00 น. ตามเวลาท้องถิ่น (เที่ยงคืนวันเสาร์ ตามเวลาประเทศไทย) โดยมีใจความสรุปกล่าวว่า...

"วันนี้ข้าพเจ้าพูดกับทุกท่านด้วยความรู้สึกเศร้าโศกอย่างสุดซึ้ง ตลอดชีวิตของสมเด็จพระนางเจ้าฯ ผู้เป็นมารดาอันเป็นที่รักของข้าพเจ้า ทรงเป็นแรงบันดาลใจและเป็นแบบอย่างแก่ข้าพเจ้าและสมาชิกทุกคนในครอบครัวของข้าพเจ้า พวกเราติดหนี้พระคุณของพระองค์อย่างมหาศาล จากความรัก, ความเสน่หา, การสั่งสอน, ความเข้าใจ และแบบอย่างการดำรงชีวิตของพระองค์"

“ควีนเอลิซาเบธทรงดำเนินชีวิตอย่างดี และยึดมั่นในคำสัญญาเหมือนประหนึ่งชะตาที่ต้องรักษาไว้ พวกเราทุกคนเสียใจอย่างสุดซึ้งกับการจากไปของพระองค์ และข้าพเจ้าจะอุทิศชีวิตเช่นเดียวกับพระมารดา เพื่อสานต่อคำสัญญาที่ให้ไว้กับพสกนิกรที่ว่า จักขอรับใช้ไปตลอดชีวิต"

"พวกเราได้รับรู้ว่า ไม่ใช่เพียงแค่พวกเราเท่านั้นที่เศร้าโศก แต่ยังมีผู้คนอีกมากมายในสหราชอาณาจักร, ทุกประเทศที่พระราชินีทรงเป็นพระประมุข, ในเครือจักรภพและทั่วโลก ที่เปี่ยมด้วยความรู้สึกขอบคุณอย่างสุดซึ้งต่อระยะเวลากว่า 70 ปีที่พระมารดาของข้าพเจ้าดำรงพระองค์ในฐานะราชินีผู้รับใช้มวลชนจากหลากหลายชาติ"

"ความทุ่มเทในฐานะราชินีผู้ไม่เคยหวั่นไหว ผ่านช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้า ผ่านช่วงเวลาแห่งความสุขและการเฉลิมฉลอง และผ่านช่วงเวลาแห่งความโศกเศร้าและความสูญเสีย"

“ในชีวิตการรับใช้ของพระองค์ พวกเราได้เห็นการดำรงอยู่ของจารีตประเพณีควบคู่กับการยอมรับความก้าวหน้าด้วยความแน่วแน่ ซึ่งทำให้พวกเรายิ่งใหญ่ในฐานะประเทศชาติ อีกทั้งความรัก, ความชื่นชม และความเคารพในฐานะแรงบันดาลใจของสาธารณชน สิ่งเหล่านั้นคือจุดเด่นในรัชสมัยของพระองค์"

"ด้วยศรัทธาและค่านิยมที่เป็นดั่งแรงบันดาลใจ ข้าพเจ้าถูกเลี้ยงดูมาเพื่อทะนุถนอมความรับผิดชอบต่อผู้อื่น และเคารพในประเพณีอันล้ำค่า, เสรีภาพ, ความรับผิดชอบในประวัติศาสตร์อันเป็นเอกลักษณ์ของประเทศและระบบรัฐสภา ด้วยความเคารพอย่างสูงสุด"

"เช่นเดียวกับที่พระราชินีทรงยึดมั่นด้วยความจงรักภักดี บัดนี้ข้าพเจ้าก็สัญญากับตัวเองว่า ข้าพเจ้าจักรักษาหลักการตามรัฐธรรมนูญอันเป็นหัวใจของประเทศชาติไว้ตลอดเวลาที่เหลืออยู่อันพระเจ้าประทานแก่ข้าพเจ้า"

“และไม่ว่าทุกท่านจะอาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักร หรือในอาณาจักรและดินแดนต่างๆ ทั่วโลก ไม่ว่าภูมิหลังหรือความเชื่อของทุกท่านจะเป็นอย่างไร ข้าพเจ้าจะพยายามรับใช้ด้วยความภักดี ด้วยความเคารพ และความรัก ดังที่ข้าพเจ้าได้รับการสั่งสอนมาตลอดชีวิต"

"นี่เป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงสำหรับครอบครัวของข้าพเจ้า เพื่อเป็นเกียรติแก่คามิลลาผู้เป็นภริยาที่เคียงข้างและรับใช้สาธารณะอย่างซื่อสัตย์มาตั้งแต่การอภิเษกของเราเมื่อ 17 ปีที่แล้ว ข้าพเจ้าไว้วางใจในความรักของเธอ และจะเป็นเช่นนั้นตลอดไป ต่อจากนี้ภริยาผู้เป็นที่รักจะต้องรับภาระหน้าที่อันใหญ่หลวงในการช่วยเหลือและเป็นที่พึ่งพาให้กับข้าพเจ้า ข้าพเจ้าขอขอบคุณล่วงหน้ากับการอุทิศตนอย่างมั่นคงต่อหน้าที่ของเธอ"

พระราชพิธีพระบรมศพ สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร หลังเสด็จสวรรคต

พระราชพิธีพระบรมศพ สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร หลังเสด็จสวรรคต

เรื่อง: อนุดี เซียสกุล อดีต Radio Journalist, วิทยุบีบีซีภาคภาษาไทย

พระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ ๒ ของอังกฤษได้มีหมายกำหนดการที่คาดว่าจะดำเนินการตามที่บีบีซีได้รายงาน โดยเริ่มจากวันอาทิตย์ที่ ๑๑ กันยายนไปจนถึงวันที่ ๑๙ กันยายน ซึ่งจะเป็นวันฝังพระบรมศพที่โบสถ์เซนต์จอร์จในพระราชวังวินด์เซอร์

เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ทราบในพระราชพิธีทั้งหมด ผู้เขียนขอเริ่มจากปราสาทบัลมอรัลอันเป็นสถานที่สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๘ กันยายน โดยในวันอาทิตย์ที่ ๑๑ กันยายนเวลา ๑๐ โมงเช้าจะมีการเคลื่อนพระศพโดยรถยนต์จากบัลมอรัลไปตามเส้นทางผ่านเมืองอาเบอดีน, ดันดี และเพิร์ธ เมื่อถึงเมืองปลายทางคือเอดินบะระแล้ว หีบพระบรมศพจะถูกอัญเชิญไปยังท้องพระโรงในพระราชวังฮอลีรูดเฮ้าส์ (The Palace of Holyroodhouse  ซึ่งใช้เวลาในการเดินทางราว ๖ ชั่วโมง มีประชาชนมายืนไว้อาลัยตามสองข้างทางของเมืองที่ขบวนพระศพผ่านอย่างเป็นระเบียบ เจ้าฟ้าหญิงแอนน์และพระสวามีได้เสด็จมากับขบวนรถพระศพด้วย

พระราชพิธีที่เอดินบะระ พระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓, พระราชินีและพระราชวงศ์จะเสด็จพระราชดำเนินตามขบวนพระศพจากพระราชวังฮอลีรูดเฮ้าส์ไปยังมหาวิหาร St. Gile (เซนต์ จิลล์) เพื่อพิธีทางศาสนา หลังจากนั้นจะเปิดให้ประชาชนเข้าถวายความเคารพพระบรมศพเป็นเวลา ๒๔ ชั่วโมง

หมายกำหนดการจากนั้นในวันอังคารที่ ๑๓ เจ้าฟ้าหญิงแอนน์จะเสด็จพร้อมหีบพระศพทางเครื่องบินจากเอดินเบอระกลับสู่พระราชวังบัคกิ้งแฮมในกรุงลอนดอน

พระราชพิธีพระบรมศพอย่างเป็นทางการจะเริ่มขึ้นในวันพุธที่ ๑๔ กันยายนโดยพระราชวงศ์จะเสด็จพระราชดำเนินตามขบวนพระศพจากพระราชวังบัคกิ้งแฮมไปยัง Westminster Hall เพื่อตั้งพระบรมศพเป็นเวลาสี่วันเพื่อเปิดให้ประชาชนเข้าไว้อาลัย

หีบพระบรมศพจะตั้งอยู่บนแท่นคลุมด้วยธงประจำพระมหากษัตริย์ที่เรียกว่า Royal Standard บนหีบพระศพจะมีเครื่องราชกกุธภัณฑ์ อันได้แก่ มงกุฎ ที่เรียกว่า Imperial State Crown, คทา และลูกโลกวางอยู่

รัฐพิธีพระบรมศพ สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ ๒ การแสดงออกถึงความนับถือจากปวงชนชาวอังกฤษ

เรื่อง: อนุดี เซียสกุล อดีต Radio Journalist, วิทยุบีบีซีภาคภาษาไทย

รัฐพิธีพระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ ๒ ของอังกฤษเริ่มขึ้นในวันพุธที่ ๑๔ กันยายนตามเวลาในกรุงลอนดอนคือ ๑๔.๒๒ น.

ขบวนเริ่มด้วยทหารรักษาพระองค์ที่เรียกว่า The Household Cavalry, The Grenadier และ Scots Guards ในเครื่องแบบเต็มยศงดงามนำขบวน ตามด้วยรถปืนใหญ่ที่มีแต่ล้อและรางสำหรับวางหีบพระบรมศพ หลังรถพระบรมศพ เป็นขบวนที่นำโดยพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓, เจ้าหญิงแอนน์, เจ้าชายแอนดรูว์ และเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด เสด็จพระราชดำเนินตาม ในแถวถัดไปคือ เจ้าชายวิลเลียม, เจ้าชายแฮรี่ และพระราชวงศ์ใกล้ชิดพระองค์อื่น ๆ

นอกจากพระราชวงศ์แล้ว ในแถวถัดไปเป็นข้าราชบริพารที่สนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระราชินีนาถ และข้าราชบริพารของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นเจ้าชายมกุฎราชกุมารร่วมด้วย ขบวนพระบรมศพไม่ยาวนัก เพื่อให้ท่านเห็นภาพชัดเจน บนหีบพระบรมศพคลุมด้วยธงประจำพระองค์ คือ Royal Standard, มีพระมหามงกุฎ ชื่อ The Imperial State Crown และดอกไม้ที่สมเด็จพระราชินีทรงโปรดวางอยู่บนธงเช่นกุหลาบขาว (เมื่อพระบรมศพขึ้นตั้งในเวสต์มินสเตอร์ฮอลล์แล้วจะมีลูกโลกและคทา มาวางเพิ่ม)

ขบวนพระบรมศพเคลื่อนออกจากพระราชวังบัคกิ้งแฮมตรงตามเวลาที่กำหนด สองข้างทางของถนนที่ชื่อว่า The Mall อันเป็นถนนหน้าพระราชวังเนืองแน่นไปด้วยประชาชนหากแต่เงียบกริบ ได้ยินแต่เสียงฝีเท้าของเหล่าทหารรักษาพระองค์

การนำเสด็จพระบรมศพของสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ ๒ ไปตั้งเป็นรัฐพิธีที่ 'เวสต์มินสเตอร์ ฮอลล์' (Westminster Hall) จะผ่านเส้นทางที่เป็นใจกลางกรุงลอนดอนซึ่งนักท่องเที่ยวจะรู้จักกันดี, เช่นผ่าน ตึกขาวสองข้างทางที่เรียกว่า Whitehall, Horse Guards Arch เข้าสู่ Parliament Square

สถานที่ที่เรียกว่า Westminster Hall นี้เป็นห้องโถงที่ใหญ่มากมีเพดานที่สร้างด้วยไม้ขนาดใหญ่มาตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๑ แต่รอดพ้นไฟไหม้มาถึงสองครั้งและที่นี่เคยเป็นพระราชวังมาก่อนคือ Westminster Palace

เมื่อขบวนพระบรมศพมาถึงสถานที่ที่จะตั้งแล้ว ทหารพระจำพระองค์ได้เคลื่อนพระบรมศพไปยังแท่นที่ตั้ง, อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี  ซึ่งเทียบได้กับสมเด็จพระสังฆราชได้ทำพิธีทางศาสนาและพระผู้ใหญ่คนอื่น ๆ

ภายในห้องโถงนี้มีเหล่าขุนนาง นายกรัฐมนตรี ผู้นำฝ่ายค้าน, นักการเมืองระดับสูงจากสกอตแลนด์, เวลส์ และแขกอีกจำนวนมากยืนเรียงรายรอบ ๆ ห้องโถงอย่างเงียบสงบ เมื่อพิธีทางศาสนาและทางทหารเสร็จสิ้นลงแล้ว พิธีสุดท้ายคือ การยืนประจำการเฝ้าพระบรมศพทั้งสี่มุมโดยทหารรักษาพระองค์ซึ่งจะยืนก้มหน้าสงบนิ่งตลอดเวลาจนกว่าจะมีการเคลื่อนพระศพไปประกอบพิธีที่วิหารเวสต์มินสเตอร์ในวันจันทร์หน้า หากแต่จะมีการผลัดเปลี่ยนตัวคนตามเวลาที่กำหนด

พระราชพิธีสุดท้าย สิ้นสุดรัชสมัย 'สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ ๒' สู่ศักราชใหม่ 'พระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓' ด้วยพระชนมายุ ๗๓ ปี

ในวันสุดท้ายของพระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ ๒ ที่จะเกิดขึ้นในวันจันทร์ที่ ๑๙ กันยายนนี้ สำนักพระราชวังบักกิงแฮมได้ให้รายละเอียดกับสื่อมวลว่ามีหมายกำหนดการอะไรบ้าง ซึ่งน่าสนใจอยู่มาก

ผู้เขียนได้อ่านรายงานของบีบีซีภาคภาษาอังกฤษที่เขียนว่า The State Funeral ครั้งนี้ โดยอาจกล่าวได้ว่าเป็นเหตุการณ์พระราชพิธีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเหตุการณ์หนึ่งของประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นต้นมากันเลยทีเดียว

หลังจากการตั้งพระบรมศพเป็นเวลา ๔ วันให้ประชาชนคนทั่วไปได้เข้าถวายสักการะและอาลัยที่เวสต์มินสเตอร์ฮอลล์แล้ว จะมีการเคลื่อนพระบรมศพไปยังวิหารเวสต์มินสเตอร์ที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ ด้วยรถปืนที่เคยใช้เคลื่อนพระบรมศพพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ ๗, พระเจ้าจอร์จที่ ๕ และพระเจ้าจอร์จที่ ๖ มาแล้ว 

ในครั้งนี้จะมีทหารเรือจำนวน ๑๔๒ นาย เป็นคนลากรถปืน (ขอเล่าประวัติการที่ทหารเรือเข้ามามีบทบาทในการลากรถปืนพระบรมศพนี้เริ่มมาตั้งแต่รัชสมัยพระราชินีวิคตอเรีย โดยดั้งเดิมมักจะใช้ม้าเป็นผู้ลาก แต่บังเอิญเกิดเหตุการณ์ในระหว่างพระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระราชินีวิคตอเรียขึ้น โดยม้าที่ใช้ลากเกิดตกใจยกขาหน้าขึ้นจนเกือบทำให้หีบพระบรมศพตก ดังนั้นเมื่อใช้ม้าไม่ได้จึงใช้ทหารเรือที่อยู่ในขบวนเข้ามาลากรถปืนพระบรมศพแทนนับตั้งแต่นั้นมาและเป็นความภาคภูมิใจของเหล่าทหารเรือเป็นอย่างยิ่ง)

เหมือนเช่นการเคลื่อนพระบรมศพในวันพุธที่ ๑๔ พระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓, เจ้าหญิงแอนน์, เจ้าชายแอนดรูว์ และเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด จะเสด็จพระราชดำเนินตามพระบรมศพพร้อมกับเจ้าชายวิลเลี่ยม ซึ่งได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าชายมกุฎราชกุมาร, เจ้าชายแฮร์รี่ และปีเตอร์ ฟิลิปส์ พระโอรสของเจ้าหญิงแอนน์ ไปยังวิหาร

เนื่องจากเป็นงานรัฐพิธีของประมุขของประเทศ สำนักพระราชวังบักกิงแฮม จึงได้เชิญแขกต่างประเทศมาร่วมในงานด้วย ซึ่งส่วนหนึ่งจะเป็นพระประมุขและทรงเป็นพระญาติของสมเด็จพระราชินี อาทิ พระเจ้าแผ่นดินในยุโรป, หรือพระประมุขของประเทศในเอเซีย, ประธานาธิบดี, ผู้นำประเทศหรือผู้แทนทั้งหมด จำนวน ๒,๐๐๐ คน และในจำนวนนี้จะเป็นแขกบุคคลที่มีบทบาทสำคัญและทำคุณงามความดีของประเทศอังกฤษเข้าร่วมด้วยจำนวน ๒๐๐ คน

มีการเปิดเผยจากสำนักพระราชวังบักกิงแฮมว่า ในขั้นตอนของพระราชพิธีพระบรมศพนี้นั้น ทางสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ ๒ ตอนที่ยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ได้ทรงทราบในรายละเอียดด้วยและสิ่งหนึ่งที่พระองค์ได้ทรงให้เพิ่มคือ ทรงให้มีการเป่าปี่สก็อตปิดท้ายในพระราชพิธีในวิหารเวสต์มินสเตอร์

ซึ่งท่านผู้อ่านอาจได้เห็นขบวนนำพระบรมศพที่ยิ่งใหญ่สง่างามของเหล่าทหารปี่สก็อต, ทหารไอริช, ทหารอากาศและทหารอาสากูรข่า ส่วนสองข้างทางก็จะมีทหารเรือ, นาวิกโยธิน และทหารกองเกียรติยศยืนเรียงรายและมีวงดนตรีของทหารบรรเลงกันบ้างแล้ว

สำนักพระราชวังได้ประกาศเส้นทางที่ขบวนพระบรมศพจะเคลื่อนผ่านหลังพิธีในวิหารเวสต์มินสเตอร์ออกมาแล้วโดยจะเป็นเส้นทางภายในกลางกรุงลอนดอนและเส้นทางไปยังพระราชวังวินด์เซอร์ อันเป็นสถานที่สุดท้ายที่จะมีพระราชพิธีสำคัญที่สุดในโบสถ์ เซนต์ จอร์จ คือการส่งดวงพระวิญญาณและพิธีการฝังพระศพ

คาดว่าในวันนั้นจะมีการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ให้ชมกันจนจะเสร็จสิ้นพระราชพิธีและเป็นการสิ้นสุดรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ ๒ โดยสิ้นเชิง

อังกฤษจะเริ่มศักราชใหม่ของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่อย่างไร ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลง 

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ ถึงพร้อมทั้งสติปัญญา – ประสบการณ์ เชื่อไร้ปัญหา ยุค ‘อังกฤษ’ ผลัดแผ่นดิน

เรื่อง: อนุดี เซียสกุล อดีต Radio Journalist, วิทยุบีบีซีภาคภาษาไทย

“The king is dead, long live the king” พระราชพิธีพระบรมศพของสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ ๒ ของอังกฤษผ่านพ้นไปแล้ว และก็เป็นธรรมดาที่จะต้องมีการจับจ้องมองว่าพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่จะเป็นอย่างไร

แน่นอนพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ คงจะต้องถูกเปรียบเทียบกับแผ่นดินในยุคสมเด็จพระชนนีในการดำเนินพระราโชบายต่างๆ ซึ่งพระองค์คงได้ตระหนักดีแล้ว ดังนั้นในวันที่สถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่อย่างเป็นทางการ พระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ จึงทรงให้คำมั่นสัญญาว่าจะรักษาแนวปฏิบัติเหมือนเช่นที่พระมารดาได้ทรงทิ้งไว้ให้ คือการวางพระราโชบายที่ฉลาดคงเส้นคงวาอย่างไม่มีที่ติตลอด ๗๐ ปีของการครองราชย์สมบัติ

ผู้เขียนคิดว่าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ คงจะไม่ประสบปัญหาในการดำรงตำแหน่งองค์พระประมุขพระองค์ใหม่ของอังกฤษเท่าใดนักเพราะ ด้วยเหตุที่ว่าพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ด้วยพระชนม์มายุ ๗๓ ชันษา นับว่าเป็นการขึ้นครองราชย์ที่มีพระชนมายุมากที่สุดของอังกฤษ เพราะฉะนั้นท่านจึงได้สะสมและเผชิญเรื่องราวต่างๆมาไม่น้อยแล้ว บวกกับความเฉลียวฉลาดของพระองค์เองและการมีพระมารดาเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด คาดกันว่าในรัชสมัยของพระองค์คงจะราบรื่น

อย่างไรก็ดี เนื่องจากในระหว่างที่เป็นองค์รัชทายาท พระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ ทรงปรากฏพระนิสัยที่เรียกกันว่า inveterate interferer and meddler คือ มักที่จะเข้าไปแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องต่างๆในประเทศเช่น สิ่งแวดล้อม,การเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรม(GM crops), โบราณคดี หรือการก่อสร้างแฟลตสวัสดิการของรัฐบาล เป็นต้น คือทรงเห็นอย่างไรก็ให้ความเห็นออกไปเช่นนั้นถือว่าก้าวก่ายฝ่ายบริหารอันอาจเป็นปัญหาระหว่างสองสถาบัน และด้วยพระนิสัยดังนี้ เมื่อถูกสัมภาษณ์ในรายการสารคดีของบีบีซีในปี ค.ศ. ๒๐๑๘ ผู้สื่อข่าวถามว่าเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้วจะยังทรงวิพากษ์วิจารณ์ให้ความเห็นในเรื่องต่างๆอีกหรือไม่ “No it won’t.  I’m not that stupid. I do really that it is a separate exercise being sovereign. So of course I understand entirely how that should operate” 

ทรงตอบว่า พระองค์ไม่โง่ที่จะทำเช่นนั้น เพราะทรงตระหนักดีว่าการทรงงานขององค์รัชทายาทและพระมหากษัตริย์นั้นแตกต่างกัน และทรงทราบเป็นอย่างดีว่าควรจะวางพระองค์อย่างไร

เช่นนี้ก็คงทำให้คนหมดสงสัยว่าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ จะทรงทำหน้าที่พระประมุขของประเทศเพียงเท่านั้น ส่วนหากมีพระประสงค์ที่จะให้ความคิดเห็นอย่างไรในเรื่องใดก็สามารถที่จะทำได้ด้วยการสนทนากับนายกรัฐมนตรีที่จะต้องเข้าเฝ้าประจำทุกสัปดาห์ได้

5 ความท้าทาย พิสูจน์กึ๋นนายกฯ หนุ่ม 'ริชี ซูนัค' ภายใต้รัฐบาลใหม่ ความหวังใหม่ที่ประชาชนรอชม

"I will place economic stability and confidence at the heart of this government's agenda.
“เสถียรภาพและความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจคือหัวใจของนโยบายของรัฐบาลชุดนี้”

นี่เป็นส่วนหนึ่งของคำปราศัยยาวหกนาทีของนายกรัฐมนตรีคนใหม่หมาด ๆ ของอังกฤษอย่าง นายริชี ซูนัค หน้าบ้านเลขที่ 10 ถนนดาวท์นิ่ง ซึ่งจะเป็นที่พักของเขาหลังจากนี้

นายริชีแถลงต่อสื่อมวลชนหลังจากที่เข้าเฝ้าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ในตอนเช้าของวันอังคารที่ 25 กันยายนที่มีรับสั่งให้เขาจัดตั้งรัฐบาล นายริชีรู้ดีว่าการล่มสลายภายใน 45 วันของรัฐบาลของนางลิซ ทรัสส์มาจากอะไร เขาจึงบอกกับคนอังกฤษว่า รัฐบาลของเขาจะมีความซื่อสัตย์, เป็นมืออาชีพและรับผิดชอบในทุกระดับ และชาวอังกฤษจะได้รับความเชื่อมั่นนี้

พร้อมกันนี้นายริชียังให้คำมั่นสัญญาต่อไปว่า การบริการทางสาธารณะสุขจะมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น, โรงเรียนจะดีกว่าเดิม, ถนนหนทางจะปลอดภัย, การควบคุมชายแดนของประเทศจะรัดกุมยิ่งขึ้น, คุ้มครองรักษาสิ่งแวดล้อม, ให้การสนับสนุนกองทัพ,ยกระดับและเสริมสร้างเศรษฐกิจที่จะก่อให้เกิดโอกาสของการออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป อันจะนำไปสู่การลงทุนทางธุรกิจ, การคิดค้นสิ่งใหม่และการสร้างงาน

สิ่งที่นายริชีกล่าวมา ตามภาษาอังกฤษที่ว่า it’s too good to be true มันดูจะดีเกินจริงไปหน่อยมั้ย ซึ่งเขาก็ดูจะรู้ดี จึงย้ำว่า...

"ข้าพเจ้ายืนอยู่ต่อหน้าท่านขณะนี้และพร้อมที่จะนำประเทศของเราไปสู่อนาคต จะทำให้ความต้องการของท่าน (ให้ความสำคัญของประชาชน) อยู่เหนือการเมือง, และสร้างรัฐบาลที่แสดงให้เห็นถึงความมีประสิทธิภาพพรรคการเมืองดังเช่นพรรคของข้าพเจ้า"

"So I stand here before you, ready to lead our country into the future, to put your needs above politics, to reach out and build a government that represents the very best traditions of my party.”

นี่ถือเป็นคำมั่นสัญญาของนายกรัฐมนตรีหนุ่มวัย 42 ปีเชื้อสายอินเดียต่อประเทศที่เขาบอกว่ามีบุญคุณที่ต้องตอบแทน

ว่าแต่รัฐบาลของนายริชีจะมีหน้าตาอย่างไร?

บีบีซีภาษาอังกฤษได้รวบรวมมาให้ดู ซึ่งก็ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก นายเจเรมี่ ฮันท์ยังคงเป็นรมต.คลังต่อไป, นายโดมินิค ลัปป์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี และ รมต.ยุติธรรม, นางซูเอลล่า บลาเวอแมน กลับมาเป็นรมต. มหาดไทย หลังจากประกาศลาออกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เนื่องจากเธอยอมรับผิดว่าใช้อีเมล์ส่วนตัวส่งเอกสารราชการให้คนรู้จัก ข่าวบอกว่าเธออาจเป็นเป้าของพรรคฝ่ายค้านที่จะโจมตีรัฐบาล, รมต.ต่างประเทศ และ รมต.กลาโหมคนเดิมไม่เปลี่ยน เช่นเดียวกับนางเพนนี มอร์ด้อนน์ ผู้ที่ลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคกับนายริชชี่ แต่ต้องถอนตัวออกเพราะคะแนนเสียงไม่พอ เธอยังคงได้ตำแหน่งประธานสภาสามัญเช่นเดิม 

แต่มีตำแหน่งหนึ่งที่คนค่อนข้างแปลกใจคือ นายไมเคิล โกรฟ  Michael Gove กลับมาเป็นรมต. ที่เรียกว่า The Levelling Up Secretary โดยตำแหน่งนี้ พรรคคอนเซอร์เวทีฟตั้งขึ้นมาไม่นานนักและนายโกรฟ เคยเป็นมาก่อนและถูกนายบอริส จอนห์สันไล่ออกเพราะความขัดแย้งที่นายโกรฟขอให้นายบอริสลาออกหลังจากความผิดพลาดหลายอย่าง ซึ่งหน้าที่ของ รมต.นี้ คือ ทำหน้าที่ที่จะลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจนในประเทศ

เหล่านี้ ก็เป็นไปตามกฎที่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีสามารถแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีได้ 22 คน

อย่างไรเสีย พรรคเลเบอร์ก็วิจารณ์คณะรัฐมนตรีชุดใหม่นี้ว่าส่วนใหญ่ก็หน้าเดิมๆ ที่หน้าเดิมนี้อาจตีความหมายได้ว่า นายริชีต้องการประนีประนอมภายในพรรคให้เกิดความสามัคคี แต่รมต.ที่จะทำให้รัฐบาลอยู่รอดปลอดภัยก็คือ นายเจเนมี่ ฮันต์ ผู้ที่จะต้องเสนอแผนงบประมาณชุดเล็ก Mini-budget ต่อสภาในวันที่ 31 ต.ค. นี้

'ไบเดน' เรียกชื่อนายกฯ ใหม่อังกฤษผิด จาก 'ริชี ซูนัค' เป็น 'ราชี ซานุก'

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เอ่ยชื่อ ริชี ซูนัค นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษผิดพลาดในวันจันทร์ (24 ต.ค.) ระหว่างแสดงความคิดเห็นกรณีที่เขาได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนี้ เหตุเลอะเลือนล่าสุดที่พบเห็นบ่อยครั้งขึ้นของผู้นำสหรัฐฯ

ระหว่างกล่าวปราศรัยในวาระเทศกาลดิวาลี หรือเทศกาลแห่งแสงสว่างของอินเดีย ไบเดน ยกย่องการขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรของ ซูนัค นักการเมืองเชื้อสายอินเดีย ว่าเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ ที่มีความสำคัญอย่างแท้จริง

"เราได้รับข่าวว่า ราชี ซานุก (Rashee Sanook) ตอนนี้ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี" ผู้นำสหรัฐฯกล่าว "อย่างที่พี่น้องผมมักพูดว่า ไม่น่าเชื่อเลย"

ในวันอังคาร (25 ต.ค. 65) ซูนัค กล่าวขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการ หลังเข้าเฝ้าฯ กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 หลังจากพระองค์ทรงตอบรับการลาออกของอดีตนายกรัฐมนตรี ลิส ทรัสส์ อย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ ทรัสส์ มีเวลาอยู่ในตำแหน่งเพียงแค่ 44 วัน กลายเป็นนายกรัฐมนตรีที่ครองตำแหน่งสั้นที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ

ซูนัค อดีตรัฐมนตรีคลังวัย 42 ปีและผู้จัดการกองทุนเฮลจ์ฟัน เป็นบุคคลผิวสีและชาวฮินดูรายแรกที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของสหราชอาณาจักร เขาคว้าชัยในศึกชิงตำแหน่งผู้นำพรรคอนุรักษนิยมหลัง เพนนี มอร์ดันท์ คู่แข่งคนสำคัญ รวบรวมคะแนนเสียงจากบรรดาส.ส.ของพรรคอนุรักษ์นิยมได้ไม่มากพอ ในขณะที่อดีตนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน อีกหนึ่งคู่แข่ง เลือกที่จะถอนตัวไปก่อนหน้านี้

ขณะที่ ไบเดน กำลังขบคิดว่าจะลงสมัครกลับมาดำรงตำแหน่งอีกสมัยหรือไม่ในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดี 2024 ตัวเขาเองกลับถูกวิพากษ์วิจารณ์เหน็บแนมอย่างกว้างขวาง จากอาการหลงลืมต่างๆนานา ที่ตอกย้ำความกังวลเกี่ยวกับสภาพร่างกายและสุขภาพจิตของเขา

ในวันจันทร์ (24 ต.ค. 65) เช่นกัน ไบเดน มีท่าทีเหมือนคนหลงทิศ เดินกลับอาคารหลักไม่ถูก หลังออกมาร่วมพิธีปลูกต้นไม้ที่สนามหญ้าทางทิศใต้ของทำเนียบขาว จนเจ้าหน้าที่ต้องชี้ทาง แนะให้เขาเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง

เมื่อเดือนที่แล้ว ไบเดน ก็เพิ่งแสดงอาการหลงและสับสน หลังจากเสร็จสิ้นการกล่าวสุนทรพจน์ในนิวยอร์ก

ประธานาธิบดีรายนี้ ซึ่งจะอายุครบ 80 ปีในเดือนหน้า หันรีหันขวางอยู่บนเวที ดูเหมือนกำลังมึนงงว่าจะลงจากเวทีอย่างไร ระหว่างนั้นพิธีกรได้กล่าวขอบคุณ ซึ่งดึงดูดความสนใจของ ไบเดน กลับไปยังพิธีการบนเวทีแทน

ในเดือนกันยายน ไบเดน สร้างความสับสนแก่สักขีพยานและเจ้าหน้าที่อีกครั้ง หลังจู่ๆเขาก็เดินออกจากโพเดียม ขณะกำลังกล่าวปราศรัยเกี่ยวกับหายนะภัยจากเฮอร์ริเคนเอียน ที่สำนักงานใหญ่ของสำนักงานจัดการภาวะฉุกเฉินของรัฐบาลกลาง(FEMA)

‘ริชี ซูแน็ก’ สั่งปลด ปธ.บริหารพรรคอนุรักษ์นิยม เซ่นปมข่าวฉาว หลบเลี่ยงภาษีนับล้านปอนด์

ริชี ซูแน็ก นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ออกคำสั่งด่วนในวันนี้ (30 ม.ค. 66) ให้ปลด นาย นาดิม ซาฮาวี ประธานบริหารพรรคอนุรักษ์นิยม ที่เป็นพรรคแกนนำหลักของรัฐบาลในปัจจุบัน หลังจากที่หน่วยงานอิสระได้สืบสวน และชี้มูลว่า นาย นาดิม ซาฮาวี ทำผิดจริยธรรมทางการเมืองอย่างร้ายแรง ในกรณีหลบเลี่ยงภาษีนับล้านปอนด์ขณะดำรงตำแหน่งบริหารในรัฐบาล 

นอกจากจะเคยมีข้อครหาในการหลบเสี่ยงภาษีแล้ว นาฮิม ซาฮาวี ยังมีเจตนาปกปิดความผิด ไม่แจ้งข้อมูลการเสียภาษีของตนอย่างโปร่งใส จึงเป็นเหตุให้ ริชี ซูแน็ก นายกรัฐมนตรี ที่ถูกกดดันอย่างหนักจากข่าวอื้อฉาวของคนระดับประธานพรรคอนุรักษ์ ตัดสินใจปลด นาฮิม ซาฮาวี ออกจากตำแหน่งในวันนี้ 

สำหรับ นาย นาฮิม ซาฮาวี เป็นนักการเมืองอังกฤษ เชื้อสายเคิร์ด ที่เกิดในกรุงแบกแดด ประเทศอิรัก ก่อนที่ครอบครัวจะย้ายถิ่นมาตั้งรกรากในอังกฤษในช่วงปีแรกๆ ที่ซัดดัม ฮุสเซน อดีตผู้นำอิรักเรืองอำนาจ และเริ่มเข้าสู่การเมืองอังกฤษจากการเป็นแกนนำในการช่วยเหลือชาวเคิร์ดที่ได้รับผลกระทบจากสงครามอ่าวเปอร์เซีย ในปี 1991

ส่วนจุดเริ่มต้นของข่าวฉาวเกี่ยวกับการหลบเลี่ยงภาษีของ นาฮิม ซาฮาวี เกิดขึ้นในปี 2000 ที่เขาได้ร่วมก่อตั้งสำนักโพลที่ชื่อ YouGov กับนาย สตีเฟน เชคสเปียร์  

และต่อมาเขาได้โอนหุ้น YouGov ของเขาให้แก่บริษัท Balshore Investments ที่จดทะเบียนในยิบรอลตาร์ หนึ่งในดินแดนโพ้นทะเลของสหราชอาณาจักร และเป็นดินแดนที่ขึ้นชื่อในเรื่องการให้สิทธิพิเศษด้านภาษีแก่นักลงทุนต่างประเทศ ที่มักใช้ในการหลบเลี่ยงภาษี และยังพบด้วยว่า ผู้เป็นเจ้าของ Balshore Investments เป็นบิดา-มารดาของ นาย นาฮิม ซาฮาวี เอง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top