Saturday, 5 July 2025
สหราชอาณาจักร

นายกฯ อังกฤษ ประกาศแผนคุมเข้มการย้ายถิ่นฐาน หวังลดจำนวนผู้อพยพลงหลักแสนภายใน 4 ปี

(13 พ.ค. 68) เซอร์ เคียร์ สตาร์เมอร์ นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร ประกาศแผนปรับกฎวีซ่าและมาตรการตรวจคนเข้าเมืองชุดใหม่ โดยตั้งเป้าลดการย้ายถิ่นฐานลงภายในสี่ปีข้างหน้า พร้อมเน้นว่าระบบใหม่จะ “ยุติธรรม” และ “เลือกสรร” มากขึ้น เพื่อควบคุมการเข้ามาของผู้อพยพอย่างรัดกุม

รัฐบาลสหราชอาณาจักรจะยุติโครงการวีซ่าที่เปิดรับพนักงานดูแลสุขภาพจากต่างประเทศ และบังคับให้นายจ้างจ้างคนในประเทศก่อน พร้อมปรับเกณฑ์คุณสมบัติแรงงานให้เข้มขึ้น เช่น ต้องมีวุฒิปริญญา และยกระดับทักษะภาษาอังกฤษ โดยกระทรวงมหาดไทยคาดว่า แผนนี้อาจลดผู้อพยพได้ปีละราว 100,000 คนภายในปี 2029

นอกจากนี้รัฐบาลเมืองผู้ดีเตรียมขึ้นค่าธรรมเนียมสำหรับนายจ้างที่จ้างแรงงานต่างชาติสูงสุดถึง 6,600 ปอนด์ (ราว 290,749 บาท) และพิจารณาเก็บภาษีใหม่จากนักศึกษาต่างชาติ มหาวิทยาลัยและวิทยาลัยจะถูกตั้งเป้าให้มีอัตราเริ่มเรียนและจบการศึกษาของนักเรียนต่างชาติสูงกว่า 90%

ด้านฝ่ายค้านและภาคธุรกิจวิจารณ์ว่า แผนดังกล่าวอาจกระทบแรงงานภาคดูแลและการศึกษาอย่างรุนแรง ขณะที่นักการเมืองฝ่ายซ้ายกล่าวหารัฐบาลว่ากำลังปลุกปั่นกระแสต่อต้านผู้อพยพ ส่วนพรรคอนุรักษ์นิยมและพรรครีฟอร์มโจมตีว่าแผนยังอ่อนเกินไป 

นายกรัฐมนตรีย้ำว่า แผนทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดจากความหวั่นไหวต่อพรรครีฟอร์ม แต่เป็นเพราะรัฐบาลต้องการควบคุมการย้ายถิ่นฐานอย่างแท้จริง โดยมุ่งเน้นให้สหราชอาณาจักรมีระบบตรวจคนเข้าเมืองที่สมดุล และสนับสนุนการเติบโตภายในประเทศ

‘อังกฤษ’ หั่นสัมพันธ์การค้า ตอบโต้ปฏิบัติการกาซา คว่ำบาตรผู้นำนิคมเวสต์แบงก์–เรียกทูตอิสราเอลพบด่วน

(21 พ.ค. 68) เพจเฟซบุ๊ก ปราชญ์ สามสี โพสต์ข้อความว่า…อังกฤษฟาดแรง! ระงับเจรจาการค้าอิสราเอล-คว่ำบาตรผู้นำตั้งถิ่นฐาน ตอบโต้ความโหดร้ายในกาซา

รัฐบาลสหราชอาณาจักรประกาศระงับการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีกับอิสราเอล พร้อมเรียกเอกอัครราชทูตอิสราเอลเข้าพบ เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อการปฏิบัติการทางทหารที่รุนแรงในฉนวนกาซา และการปิดกั้นความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่ยืดเยื้อกว่า 11 สัปดาห์

นายเดวิด แลมมี รัฐมนตรีต่างประเทศของสหราชอาณาจักร กล่าวในรัฐสภาว่า การกระทำของรัฐบาลอิสราเอลในกาซาและเวสต์แบงก์นั้น 'ไม่สามารถยอมรับได้' และ 'ขัดต่อค่านิยมของประชาชนชาวอังกฤษ'

พร้อมกันนี้ สหราชอาณาจักรได้ประกาศคว่ำบาตรบุคคลและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงของผู้ตั้งถิ่นฐานชาวอิสราเอลในเวสต์แบงก์ รวมถึงอดีตนายกเทศมนตรีของนิคม Kedumim และองค์กรที่สนับสนุนการตั้งถิ่นฐานใหม่ในพื้นที่พิพาท

นายกรัฐมนตรีเคียร์ สตาร์เมอร์ กล่าวเสริมว่า "ระดับความทุกข์ทรมานของเด็กๆ ในกาซานั้นไม่สามารถยอมรับได้" และเรียกร้องให้มีการหยุดยิงทันที รวมถึงการเปิดทางให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าสู่พื้นที่

ทางด้านกระทรวงการต่างประเทศของอิสราเอลตอบโต้โดยระบุว่า "แรงกดดันจากภายนอกจะไม่ทำให้อิสราเอลเปลี่ยนเส้นทางในการต่อสู้เพื่อดำรงอยู่และความมั่นคงของตนจากศัตรูที่พยายามทำลายล้าง"

สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนถึงความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างสหราชอาณาจักรและอิสราเอล ท่ามกลางวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่รุนแรงในฉนวนกาซา

ชาวอเมริกันขอสัญชาติอังกฤษพุ่ง ยอดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 20 ปี

(27 พ.ค. 68) ในช่วงปีที่ผ่านมา มีรายงานว่าจำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอเป็นพลเมืองสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 

ข้อมูลจากกระทรวงมหาดไทยของสหราชอาณาจักรระบุว่า ในช่วง 12 เดือนจนถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2568 มีชาวอเมริกันยื่นขอสัญชาติอังกฤษจำนวน 6,618 ราย ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกข้อมูลในปี พ.ศ. 2547 และเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกของปี พ.ศ. 2568 มีการยื่นขอถึง 1,930 ราย เพิ่มขึ้น 12% จากไตรมาสก่อนหน้า

สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดแนวโน้มนี้คือความไม่แน่นอนทางการเมืองในสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการเริ่มต้นวาระที่สองของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ 

ทนายความด้านการย้ายถิ่นฐานระบุว่าผู้คนกำลังย้ายออกจากสหรัฐฯ เนื่องจากความกลัว ความไม่พอใจ และความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยส่วนบุคคล นอกจากนี้ นโยบายการจำกัดการย้ายถิ่นฐานและการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในสหรัฐฯ ยังส่งผลให้ชาวอเมริกันบางส่วนมองหาความมั่นคงและโอกาสใหม่ ๆ ในสหราชอาณาจักร 

รัสเซียขึ้นบัญชีดำ British Council อ้างเป็นภัยต่อความมั่นคงชาติ

(5 มิ.ย. 68) สำนักงานอัยการสูงสุดรัสเซียประกาศเมื่อวันพฤหัสบดีว่า ได้รับรองให้กิจกรรมของ British Council องค์กรนานาชาติของสหราชอาณาจักร เป็น 'กิจกรรมที่ไม่พึงประสงค์' ภายในประเทศ โดยระบุว่าองค์กรนี้แม้จะอ้างตัวว่าเป็นหน่วยงานอิสระ แต่กลับดำเนินงานสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลสหราชอาณาจักร และได้รับเงินสนับสนุนจากกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษ

ด้านหน่วยงานความมั่นคงแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย (FSB) ออกแถลงการณ์แนะประเทศพันธมิตรให้ปิดกิจกรรมของ British Council เช่นกัน โดยอ้างว่าหน่วยงานนี้พยายามรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจของรัสเซียในช่วงปฏิบัติการพิเศษในยูเครน

FSB ยังเปิดเผยเพิ่มเติมว่า ได้ตรวจพบการทำงานด้านข่าวกรองของกองทุน Oxford Russia Fund จากสหราชอาณาจักร ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ถูกจัดให้เป็นองค์กรไม่พึงประสงค์เช่นกัน โดยกล่าวว่าเป็นกิจกรรมแทรกแซงและบ่อนทำลายเสถียรภาพของประเทศ

ท่าทีล่าสุดนี้สะท้อนถึงความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างรัสเซียและสหราชอาณาจักรที่ยังคงเพิ่มขึ้น ท่ามกลางสงครามในยูเครน และข้อกล่าวหาเรื่องแทรกแซงทางการเมืองและข่าวกรองระหว่างประเทศ

สำหรับ British Council เป็นองค์กรระหว่างประเทศของสหราชอาณาจักร ก่อตั้งขึ้นในปี 1934 โดยมีภารกิจหลักในการส่งเสริมความเข้าใจระหว่างประเทศผ่านการแลกเปลี่ยนด้านภาษา วัฒนธรรม และการศึกษา โดยทำงานในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก รวมถึงรัสเซีย ซึ่งเริ่มดำเนินงานในประเทศตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต โดยมีบทบาทในการส่งเสริมภาษาอังกฤษและความร่วมมือทางการศึกษาระหว่างรัสเซียกับสหราชอาณาจักร

ผู้นำสาธารณรัฐเซิร์ปสกา ลั่นไม่เอาผู้อพยพจากอังกฤษ ชี้ สหราชอาณาจักร ควรโยกผู้ย้ายถิ่นไปฝั่งบอสเนียแทน

(12 มิ.ย. 68) ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเซิร์ปสกา มิโลราด โดดิค (Milorad Dodik) กล่าวอย่างชัดเจนว่า เขาปฏิเสธทุกข้อตกลงที่จะนำผู้อพยพมาลงในเขตบริหารของตน ซึ่งรวมถึงข้อเสนอจากรัฐบาลสหราชอาณาจักร โดยให้สัมภาษณ์กับสื่อ RT ว่า สาธารณรัฐเซิร์บ (Republika Srpska) จะไม่ยินยอมให้จัดตั้ง 'ศูนย์พักพิง' สำหรับผู้อพยพจากอังกฤษบนดินแดนของตนอย่างเด็ดขาด

โดดิค กล่าวว่า ข้อเสนอของอังกฤษจริงจังและมีการผลักดันจากกระทรวงต่างประเทศของสหราชอาณาจักร แต่เขาตอบปฏิเสธด้วยหลักการชัดเจนว่า “เราไม่รับผู้อพยพ” และ “พวกเขาไม่ควรนำมาพักไว้ในเซิร์ปสกา พร้อมเตือนว่าหากจะนำผู้อพยพเข้ามา ควรโยกย้ายไปยังเขตสหพันธรัฐของ บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา ไม่ใช่บริเวณของเขา

ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเซิร์บย้ำว่าการย้ายผู้อพยพที่เสนอมานั้น “ยอมรับไม่ได้” และไม่ควรให้สถานะเป็นพื้นที่สำหรับผู้อพยพที่ถูกส่งกลับจากสหราชอาณาจักร โดยชี้ว่า รัฐบาลอังกฤษต้องคำนึงถึงการตัดสินใจที่สร้างปัญหาขึ้นในอนาคต และจะทำให้เกิดความตึงเครียดภายในประเทศของเขา

คำให้สัมภาษณ์ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามต่อสู้ทางการเมืองของโดดิค และยังสะท้อนการใช้ประเด็นผู้อพยพเพื่อเรียกร้องเสถียรภาพหรือชี้ให้ผู้นำตะวันตกเห็นว่า สาธารณรัฐเซิร์บ มีแนวทางต่างจากรัฐบาลกลางบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา

ในขณะที่สหราชอาณาจักรพยายามดำเนินนโยบายส่งผู้อพยพที่เดินทางเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายไปยังประเทศที่ 3 เพื่อบรรเทาภาระภายใน แต่โดดิคแสดงจุดยืนว่า “เซิร์บไม่ใช่ที่รองรับผู้อพยพจากอังกฤษ” และจะไม่ลงนามในความตกลงใด ๆ ที่สนับสนุนการกระทำนั้น

อังกฤษเตรียมรับอากาศร้อนจัด 40°C เป็นเรื่องปกติ นักอุตุฯ ชี้โลกถึงจุดเดือด!! เด็กยุคหน้าเสี่ยงเจอ 50°C

(2 ก.ค. 68) สหราชอาณาจักรกำลังเผชิญคลื่นความร้อนอย่างรุนแรงต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 โดยคาดว่าอุณหภูมิจะพุ่งแตะ 34°C ซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยนักในเดือนมิถุนายน นักอุตุนิยมวิทยาอาวุโส จิม เดล (Jim Dale) เตือนว่าอากาศร้อนจัดระดับ 40°C จะกลายเป็นเรื่องปกติในอังกฤษ และเป็นผลโดยตรงจากวิกฤตโลกร้อนที่กำลังทวีความรุนแรง

จิม เดล ชี้ว่าโลกกำลังเข้าสู่จุดเปลี่ยนสำคัญ อุณหภูมิที่สูงผิดปกติไม่ได้เกิดขึ้นเพียงในอากาศ แต่รวมถึงอุณหภูมิทางทะเลด้วย โดยเฉพาะทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่พุ่งแตะระดับสูงสุดในเดือนมิถุนายน ขณะที่ไฟป่าและน้ำท่วมในหลายประเทศ เช่น ตุรกี ฝรั่งเศส และสเปน ต่างเป็นผลกระทบที่ปฏิเสธไม่ได้ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เขาเปรียบสถานการณ์ปัจจุบันเหมือน “หม้อที่เดือดปุดๆ” ซึ่งอุณหภูมิกำลังสะสมและจะล้นในไม่ช้า โดยระบุว่าในช่วงปี 2022-2024 ทั่วทวีปยุโรปมีผู้เสียชีวิตจากความร้อนเกิน 160,000 ราย และปีนี้อาจจะเพิ่มตัวเลขนั้นอีก โดยเฉพาะในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมที่กำลังจะมาถึง

สำนักงานอุตุนิยมวิทยาอังกฤษและหน่วยงานสาธารณสุขได้ประกาศเตือนภัยความร้อนระดับสีส้มใน 7 พื้นที่ ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าคลื่นความร้อนเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตที่หลีกเลี่ยงได้หากไม่มีภาวะอุณหภูมิสูงติดต่อกันหลายวัน โดยจิม เดล เรียกร้องให้มีการปรับตัวในหลายมิติ ทั้งที่อยู่อาศัย อาหาร และการออกแบบเมืองให้พร้อมรับภูมิอากาศแบบใหม่

นักอุตุนิยมวิทยาอาวุโสรายนี้ย้ำว่า การปฏิเสธสภาวะโลกร้อนว่าไม่ได้เกิดจากมนุษย์นั้นไม่เป็นความจริง พร้อมเตือนว่าอนาคตของเด็กและในเจเนอเรชั่นต่อไป อาจต้องเผชิญอุณหภูมิ 50°C ซึ่งเป็นหายนะต่อระบบโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณสุข และคุณภาพชีวิต พร้อมทิ้งท้ายว่า สิ่งที่เขาเคยเตือนเมื่อ 40 ปีก่อนว่าเกาะบริเตนจะกลายเป็นภูมิอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียน กำลังเป็นจริงในวันนี้ และเราต้องเร่งลงมือก่อนจะสายเกินไป

สหรัฐฯ สั่งเพิกถอนวีซ่า Bob Vylan ปมตะโกน ‘Free Palestine’ ตำรวจอังกฤษเปิดสอบสวนทางการ ฐานยุยงเกลียดชัง

(2 ก.ค. 68) แร็ปเปอร์แนวพังก์สัญชาติอังกฤษ บ็อบ ไวแลน (Bob Vylan) จุดกระแสร้อนกลางเวที Glastonbury Festival หลังตะโกนคำว่า “Free Palestine” (ปลดปล่อยปาเลสไตน์) และ “Death to the IDF” (ความตายจงมีแก่กองทัพอิสราเอล) ระหว่างการแสดงสดที่ถ่ายทอดผ่านช่อง BBC โดยคำพูดดังกล่าวถูกมองว่าเป็นการปลุกปั่นเกลียดชัง กระทบต่อความมั่นคงและอาจเข้าข่ายยุยงให้เกิดความรุนแรง

แม้กองทัพอิสราเอล (IDF) จะปฏิเสธให้ความเห็นโดยกล่าวสั้น ๆ ว่า "ไม่มีความเห็นในเรื่องนี้" แต่สถานทูตอิสราเอลในลอนดอนออกแถลงการณ์ว่า “รู้สึกกังวลอย่างลึกซึ้ง” ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ประกาศเพิกถอนวีซ่าของศิลปินโดยทันที พร้อมระบุว่า “ผู้ที่ยกย่องความรุนแรงและความเกลียดชังไม่ควรได้รับการต้อนรับในอเมริกา”

ตำรวจท้องถิ่นเอวอน (Avon) และ ซอมเมอร์เซ็ท (Somerset) ได้เปิดการสอบสวนอย่างเป็นทางการในข้อหาละเมิดกฎหมายด้านความสงบเรียบร้อย โดยย้ำว่า “ไม่มีที่ว่างในสังคมสำหรับถ้อยคำแห่งความเกลียดชัง” ขณะที่ BBC ซึ่งออกอากาศสดในเหตุการณ์ดังกล่าว ยอมรับว่ามีเนื้อหา “รุนแรงและไม่เหมาะสม” พร้อมถอดคลิปการแสดงออกจากแพลตฟอร์ม iPlayer และเริ่มทบทวนขั้นตอนการควบคุมเนื้อหา

ด้านนายกรัฐมนตรีอังกฤษ เซอร์ เคียร์ สตาร์เมอร์ (Sir Keir Rodney Starmer) และรัฐมนตรีหลายคน ออกมาประณามการกระทำว่าเป็น “วาจาแห่งความเกลียดชังที่น่ารังเกียจ” และเรียกร้องให้ BBC แสดงความรับผิดชอบอย่างชัดเจนมากขึ้น พร้อมทั้งผลักดันให้ดำเนินคดีตามกฎหมาย หากพบว่ามีความผิดชัดเจนจากการเผยแพร่เนื้อหาที่ยุยงปลุกปั่น

อย่างไรก็ตาม บ็อบ ไวแลน ยังคงยืนยันจุดยืน โดยโพสต์ข้อความบนอินสตาแกรมว่า “ผมพูดในสิ่งที่ผมเชื่อ” และเรียกร้องให้เยาวชนกล้าลุกขึ้นพูดความจริงเพื่อการเปลี่ยนแปลง ในขณะที่ทีมผู้จัดเทศกาล Glastonbury แถลงว่า “คำพูดของ Bob Vylan ข้ามเส้นความเหมาะสมไปไกลมาก” พร้อมย้ำว่าทางเทศกาลต่อต้านการยกย่องความรุนแรง การเหยียดเชื้อชาติ และการยุยงให้เกิดความเกลียดชังในทุกรูปแบบ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top