พระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ ถึงพร้อมทั้งสติปัญญา – ประสบการณ์ เชื่อไร้ปัญหา ยุค ‘อังกฤษ’ ผลัดแผ่นดิน

เรื่อง: อนุดี เซียสกุล อดีต Radio Journalist, วิทยุบีบีซีภาคภาษาไทย

“The king is dead, long live the king” พระราชพิธีพระบรมศพของสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ ๒ ของอังกฤษผ่านพ้นไปแล้ว และก็เป็นธรรมดาที่จะต้องมีการจับจ้องมองว่าพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่จะเป็นอย่างไร

แน่นอนพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ คงจะต้องถูกเปรียบเทียบกับแผ่นดินในยุคสมเด็จพระชนนีในการดำเนินพระราโชบายต่างๆ ซึ่งพระองค์คงได้ตระหนักดีแล้ว ดังนั้นในวันที่สถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่อย่างเป็นทางการ พระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ จึงทรงให้คำมั่นสัญญาว่าจะรักษาแนวปฏิบัติเหมือนเช่นที่พระมารดาได้ทรงทิ้งไว้ให้ คือการวางพระราโชบายที่ฉลาดคงเส้นคงวาอย่างไม่มีที่ติตลอด ๗๐ ปีของการครองราชย์สมบัติ

ผู้เขียนคิดว่าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ คงจะไม่ประสบปัญหาในการดำรงตำแหน่งองค์พระประมุขพระองค์ใหม่ของอังกฤษเท่าใดนักเพราะ ด้วยเหตุที่ว่าพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ด้วยพระชนม์มายุ ๗๓ ชันษา นับว่าเป็นการขึ้นครองราชย์ที่มีพระชนมายุมากที่สุดของอังกฤษ เพราะฉะนั้นท่านจึงได้สะสมและเผชิญเรื่องราวต่างๆมาไม่น้อยแล้ว บวกกับความเฉลียวฉลาดของพระองค์เองและการมีพระมารดาเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด คาดกันว่าในรัชสมัยของพระองค์คงจะราบรื่น

อย่างไรก็ดี เนื่องจากในระหว่างที่เป็นองค์รัชทายาท พระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ ทรงปรากฏพระนิสัยที่เรียกกันว่า inveterate interferer and meddler คือ มักที่จะเข้าไปแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องต่างๆในประเทศเช่น สิ่งแวดล้อม,การเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรม(GM crops), โบราณคดี หรือการก่อสร้างแฟลตสวัสดิการของรัฐบาล เป็นต้น คือทรงเห็นอย่างไรก็ให้ความเห็นออกไปเช่นนั้นถือว่าก้าวก่ายฝ่ายบริหารอันอาจเป็นปัญหาระหว่างสองสถาบัน และด้วยพระนิสัยดังนี้ เมื่อถูกสัมภาษณ์ในรายการสารคดีของบีบีซีในปี ค.ศ. ๒๐๑๘ ผู้สื่อข่าวถามว่าเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้วจะยังทรงวิพากษ์วิจารณ์ให้ความเห็นในเรื่องต่างๆอีกหรือไม่ “No it won’t.  I’m not that stupid. I do really that it is a separate exercise being sovereign. So of course I understand entirely how that should operate” 

ทรงตอบว่า พระองค์ไม่โง่ที่จะทำเช่นนั้น เพราะทรงตระหนักดีว่าการทรงงานขององค์รัชทายาทและพระมหากษัตริย์นั้นแตกต่างกัน และทรงทราบเป็นอย่างดีว่าควรจะวางพระองค์อย่างไร

เช่นนี้ก็คงทำให้คนหมดสงสัยว่าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ จะทรงทำหน้าที่พระประมุขของประเทศเพียงเท่านั้น ส่วนหากมีพระประสงค์ที่จะให้ความคิดเห็นอย่างไรในเรื่องใดก็สามารถที่จะทำได้ด้วยการสนทนากับนายกรัฐมนตรีที่จะต้องเข้าเฝ้าประจำทุกสัปดาห์ได้

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ ทรงสำเร็จการศึกษาจาก Trinity College มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในระหว่างที่ทรงเป็นมกุฎราชกุมาร ทรงตั้งมูลนิธิที่ชื่อว่า the Prince’s Trust ขึ้นเพื่อช่วยสนับสนุนองค์กรการกุศลของพระองค์ ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์,เป็นองค์ประธานและสมาชิกขององค์การและหน่วยงานการกุศลต่างๆถึงกว่า ๔๐๐ แห่ง, นอกจากนี้ยังทรงเขียนหนังสือและร่วมเขียนกับนักเขียนคนอื่นๆถึง ๒๐ เล่ม ทรงโปรดการทำสวนอยู่ไม่น้อย

ความสนพระทัยของพระองค์ในเรื่องต่างๆทำให้ได้เห็นปัญหา หรือความคืบหน้าของสังคมอังกฤษอย่างชัดเจน บวกกับการเป็นมกุฎราชกุมารมาตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๖๙ ทรงตระหนักดีว่าหน้าที่ต่อไปของพระองค์คือเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ด้วยเหตุนี้การขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ คงไม่ใช่เรื่องยากลำบากในการที่จะทรงงานด้านต่างๆ และการที่ทรงสืบทอดงานของพระราชมารดาที่ได้ดำเนินมาด้วยดีอันเป็นรากฐานที่มั่นคง

สถาบันพระมหากษัตริย์ของอังกฤษจะยังคงยั้งยืนต่อไป หรือจะแปรเปลี่ยนไปเช่นไร ขึ้นอยู่กับสถานการณ์โลกและในประเทศ และตัวผู้ที่ประกอบเป็นสถาบัน 


อ้างอิง: the mirror, Wikipedia