Sunday, 28 April 2024
สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่3

สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงปรากฏพระองค์ในฐานะกษัตริย์ของสหราชอาณาจักร พร้อมมีพระราชดำรัสแรกอย่างเป็นทางการต่อพสกนิกร

สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 กษัตริย์องค์ใหม่ของสหราชอาณาจักร ทรงมีพระราชดำรัสต่อพสกนิกรเป็นครั้งแรกหลังขึ้นครองราชย์ต่อจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พระมารดาผู้เสด็จสวรรคต

เอเอฟพีรายงานเมื่อวันเสาร์ที่ 10 กันยายน 2565 กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงเสด็จมาประทับที่พระราชวังบักกิงแฮมในกรุงลอนดอนเมื่อวันศุกร์ โดยได้พบปะทักทายพสกนิกรที่มาร่วมไว้อาลัยต่อการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2

หลังจากนั้นในช่วงบ่าย พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงบันทึกเทปพระราชดำรัสแรกอย่างเป็นทางการในฐานะพระประมุของค์ใหม่ของสหราชอาณาจักรและเครือจักรภพ ที่ห้องวาดรูปสีน้ำเงิน (Blue Drawing Room) ของพระราชวังบักกิงแฮม

พระราชดำรัสซึ่งบันทึกไว้ล่วงหน้า ได้ออกอากาศทางโทรทัศน์ของสหราชอาณาจักร เมื่อเวลา 18:00 น. ตามเวลาท้องถิ่น (เที่ยงคืนวันเสาร์ ตามเวลาประเทศไทย) โดยมีใจความสรุปกล่าวว่า...

"วันนี้ข้าพเจ้าพูดกับทุกท่านด้วยความรู้สึกเศร้าโศกอย่างสุดซึ้ง ตลอดชีวิตของสมเด็จพระนางเจ้าฯ ผู้เป็นมารดาอันเป็นที่รักของข้าพเจ้า ทรงเป็นแรงบันดาลใจและเป็นแบบอย่างแก่ข้าพเจ้าและสมาชิกทุกคนในครอบครัวของข้าพเจ้า พวกเราติดหนี้พระคุณของพระองค์อย่างมหาศาล จากความรัก, ความเสน่หา, การสั่งสอน, ความเข้าใจ และแบบอย่างการดำรงชีวิตของพระองค์"

“ควีนเอลิซาเบธทรงดำเนินชีวิตอย่างดี และยึดมั่นในคำสัญญาเหมือนประหนึ่งชะตาที่ต้องรักษาไว้ พวกเราทุกคนเสียใจอย่างสุดซึ้งกับการจากไปของพระองค์ และข้าพเจ้าจะอุทิศชีวิตเช่นเดียวกับพระมารดา เพื่อสานต่อคำสัญญาที่ให้ไว้กับพสกนิกรที่ว่า จักขอรับใช้ไปตลอดชีวิต"

"พวกเราได้รับรู้ว่า ไม่ใช่เพียงแค่พวกเราเท่านั้นที่เศร้าโศก แต่ยังมีผู้คนอีกมากมายในสหราชอาณาจักร, ทุกประเทศที่พระราชินีทรงเป็นพระประมุข, ในเครือจักรภพและทั่วโลก ที่เปี่ยมด้วยความรู้สึกขอบคุณอย่างสุดซึ้งต่อระยะเวลากว่า 70 ปีที่พระมารดาของข้าพเจ้าดำรงพระองค์ในฐานะราชินีผู้รับใช้มวลชนจากหลากหลายชาติ"

"ความทุ่มเทในฐานะราชินีผู้ไม่เคยหวั่นไหว ผ่านช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้า ผ่านช่วงเวลาแห่งความสุขและการเฉลิมฉลอง และผ่านช่วงเวลาแห่งความโศกเศร้าและความสูญเสีย"

“ในชีวิตการรับใช้ของพระองค์ พวกเราได้เห็นการดำรงอยู่ของจารีตประเพณีควบคู่กับการยอมรับความก้าวหน้าด้วยความแน่วแน่ ซึ่งทำให้พวกเรายิ่งใหญ่ในฐานะประเทศชาติ อีกทั้งความรัก, ความชื่นชม และความเคารพในฐานะแรงบันดาลใจของสาธารณชน สิ่งเหล่านั้นคือจุดเด่นในรัชสมัยของพระองค์"

"ด้วยศรัทธาและค่านิยมที่เป็นดั่งแรงบันดาลใจ ข้าพเจ้าถูกเลี้ยงดูมาเพื่อทะนุถนอมความรับผิดชอบต่อผู้อื่น และเคารพในประเพณีอันล้ำค่า, เสรีภาพ, ความรับผิดชอบในประวัติศาสตร์อันเป็นเอกลักษณ์ของประเทศและระบบรัฐสภา ด้วยความเคารพอย่างสูงสุด"

"เช่นเดียวกับที่พระราชินีทรงยึดมั่นด้วยความจงรักภักดี บัดนี้ข้าพเจ้าก็สัญญากับตัวเองว่า ข้าพเจ้าจักรักษาหลักการตามรัฐธรรมนูญอันเป็นหัวใจของประเทศชาติไว้ตลอดเวลาที่เหลืออยู่อันพระเจ้าประทานแก่ข้าพเจ้า"

“และไม่ว่าทุกท่านจะอาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักร หรือในอาณาจักรและดินแดนต่างๆ ทั่วโลก ไม่ว่าภูมิหลังหรือความเชื่อของทุกท่านจะเป็นอย่างไร ข้าพเจ้าจะพยายามรับใช้ด้วยความภักดี ด้วยความเคารพ และความรัก ดังที่ข้าพเจ้าได้รับการสั่งสอนมาตลอดชีวิต"

"นี่เป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงสำหรับครอบครัวของข้าพเจ้า เพื่อเป็นเกียรติแก่คามิลลาผู้เป็นภริยาที่เคียงข้างและรับใช้สาธารณะอย่างซื่อสัตย์มาตั้งแต่การอภิเษกของเราเมื่อ 17 ปีที่แล้ว ข้าพเจ้าไว้วางใจในความรักของเธอ และจะเป็นเช่นนั้นตลอดไป ต่อจากนี้ภริยาผู้เป็นที่รักจะต้องรับภาระหน้าที่อันใหญ่หลวงในการช่วยเหลือและเป็นที่พึ่งพาให้กับข้าพเจ้า ข้าพเจ้าขอขอบคุณล่วงหน้ากับการอุทิศตนอย่างมั่นคงต่อหน้าที่ของเธอ"

พระราชพิธีพระบรมศพ สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร หลังเสด็จสวรรคต

พระราชพิธีพระบรมศพ สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร หลังเสด็จสวรรคต

เรื่อง: อนุดี เซียสกุล อดีต Radio Journalist, วิทยุบีบีซีภาคภาษาไทย

พระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ ๒ ของอังกฤษได้มีหมายกำหนดการที่คาดว่าจะดำเนินการตามที่บีบีซีได้รายงาน โดยเริ่มจากวันอาทิตย์ที่ ๑๑ กันยายนไปจนถึงวันที่ ๑๙ กันยายน ซึ่งจะเป็นวันฝังพระบรมศพที่โบสถ์เซนต์จอร์จในพระราชวังวินด์เซอร์

เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ทราบในพระราชพิธีทั้งหมด ผู้เขียนขอเริ่มจากปราสาทบัลมอรัลอันเป็นสถานที่สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๘ กันยายน โดยในวันอาทิตย์ที่ ๑๑ กันยายนเวลา ๑๐ โมงเช้าจะมีการเคลื่อนพระศพโดยรถยนต์จากบัลมอรัลไปตามเส้นทางผ่านเมืองอาเบอดีน, ดันดี และเพิร์ธ เมื่อถึงเมืองปลายทางคือเอดินบะระแล้ว หีบพระบรมศพจะถูกอัญเชิญไปยังท้องพระโรงในพระราชวังฮอลีรูดเฮ้าส์ (The Palace of Holyroodhouse  ซึ่งใช้เวลาในการเดินทางราว ๖ ชั่วโมง มีประชาชนมายืนไว้อาลัยตามสองข้างทางของเมืองที่ขบวนพระศพผ่านอย่างเป็นระเบียบ เจ้าฟ้าหญิงแอนน์และพระสวามีได้เสด็จมากับขบวนรถพระศพด้วย

พระราชพิธีที่เอดินบะระ พระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓, พระราชินีและพระราชวงศ์จะเสด็จพระราชดำเนินตามขบวนพระศพจากพระราชวังฮอลีรูดเฮ้าส์ไปยังมหาวิหาร St. Gile (เซนต์ จิลล์) เพื่อพิธีทางศาสนา หลังจากนั้นจะเปิดให้ประชาชนเข้าถวายความเคารพพระบรมศพเป็นเวลา ๒๔ ชั่วโมง

หมายกำหนดการจากนั้นในวันอังคารที่ ๑๓ เจ้าฟ้าหญิงแอนน์จะเสด็จพร้อมหีบพระศพทางเครื่องบินจากเอดินเบอระกลับสู่พระราชวังบัคกิ้งแฮมในกรุงลอนดอน

พระราชพิธีพระบรมศพอย่างเป็นทางการจะเริ่มขึ้นในวันพุธที่ ๑๔ กันยายนโดยพระราชวงศ์จะเสด็จพระราชดำเนินตามขบวนพระศพจากพระราชวังบัคกิ้งแฮมไปยัง Westminster Hall เพื่อตั้งพระบรมศพเป็นเวลาสี่วันเพื่อเปิดให้ประชาชนเข้าไว้อาลัย

หีบพระบรมศพจะตั้งอยู่บนแท่นคลุมด้วยธงประจำพระมหากษัตริย์ที่เรียกว่า Royal Standard บนหีบพระศพจะมีเครื่องราชกกุธภัณฑ์ อันได้แก่ มงกุฎ ที่เรียกว่า Imperial State Crown, คทา และลูกโลกวางอยู่

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ ถึงพร้อมทั้งสติปัญญา – ประสบการณ์ เชื่อไร้ปัญหา ยุค ‘อังกฤษ’ ผลัดแผ่นดิน

เรื่อง: อนุดี เซียสกุล อดีต Radio Journalist, วิทยุบีบีซีภาคภาษาไทย

“The king is dead, long live the king” พระราชพิธีพระบรมศพของสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ ๒ ของอังกฤษผ่านพ้นไปแล้ว และก็เป็นธรรมดาที่จะต้องมีการจับจ้องมองว่าพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่จะเป็นอย่างไร

แน่นอนพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ คงจะต้องถูกเปรียบเทียบกับแผ่นดินในยุคสมเด็จพระชนนีในการดำเนินพระราโชบายต่างๆ ซึ่งพระองค์คงได้ตระหนักดีแล้ว ดังนั้นในวันที่สถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่อย่างเป็นทางการ พระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ จึงทรงให้คำมั่นสัญญาว่าจะรักษาแนวปฏิบัติเหมือนเช่นที่พระมารดาได้ทรงทิ้งไว้ให้ คือการวางพระราโชบายที่ฉลาดคงเส้นคงวาอย่างไม่มีที่ติตลอด ๗๐ ปีของการครองราชย์สมบัติ

ผู้เขียนคิดว่าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ คงจะไม่ประสบปัญหาในการดำรงตำแหน่งองค์พระประมุขพระองค์ใหม่ของอังกฤษเท่าใดนักเพราะ ด้วยเหตุที่ว่าพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ด้วยพระชนม์มายุ ๗๓ ชันษา นับว่าเป็นการขึ้นครองราชย์ที่มีพระชนมายุมากที่สุดของอังกฤษ เพราะฉะนั้นท่านจึงได้สะสมและเผชิญเรื่องราวต่างๆมาไม่น้อยแล้ว บวกกับความเฉลียวฉลาดของพระองค์เองและการมีพระมารดาเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด คาดกันว่าในรัชสมัยของพระองค์คงจะราบรื่น

อย่างไรก็ดี เนื่องจากในระหว่างที่เป็นองค์รัชทายาท พระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ ทรงปรากฏพระนิสัยที่เรียกกันว่า inveterate interferer and meddler คือ มักที่จะเข้าไปแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องต่างๆในประเทศเช่น สิ่งแวดล้อม,การเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรม(GM crops), โบราณคดี หรือการก่อสร้างแฟลตสวัสดิการของรัฐบาล เป็นต้น คือทรงเห็นอย่างไรก็ให้ความเห็นออกไปเช่นนั้นถือว่าก้าวก่ายฝ่ายบริหารอันอาจเป็นปัญหาระหว่างสองสถาบัน และด้วยพระนิสัยดังนี้ เมื่อถูกสัมภาษณ์ในรายการสารคดีของบีบีซีในปี ค.ศ. ๒๐๑๘ ผู้สื่อข่าวถามว่าเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้วจะยังทรงวิพากษ์วิจารณ์ให้ความเห็นในเรื่องต่างๆอีกหรือไม่ “No it won’t.  I’m not that stupid. I do really that it is a separate exercise being sovereign. So of course I understand entirely how that should operate” 

ทรงตอบว่า พระองค์ไม่โง่ที่จะทำเช่นนั้น เพราะทรงตระหนักดีว่าการทรงงานขององค์รัชทายาทและพระมหากษัตริย์นั้นแตกต่างกัน และทรงทราบเป็นอย่างดีว่าควรจะวางพระองค์อย่างไร

เช่นนี้ก็คงทำให้คนหมดสงสัยว่าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ จะทรงทำหน้าที่พระประมุขของประเทศเพียงเท่านั้น ส่วนหากมีพระประสงค์ที่จะให้ความคิดเห็นอย่างไรในเรื่องใดก็สามารถที่จะทำได้ด้วยการสนทนากับนายกรัฐมนตรีที่จะต้องเข้าเฝ้าประจำทุกสัปดาห์ได้

วันสำคัญของราชวงศ์อังกฤษ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก 'สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3' การประทานพระราชอำนาจของพระผู้เป็นเจ้าสู่พระมหากษัตริย์

มารู้จักกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3

6 พฤษภาคมนี้ ถือเป็นวันสำคัญยิ่งของราชวงศ์อังกฤษ เพราะจะมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการ ซึ่งจะจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ สะท้อนถึงโบราณราชประเพณีที่มีมาอย่างยาวนานตั้งแต่ ยุคกลางนับย้อนไปได้กว่า 1,000 ปี

คำถามแรกที่ผู้คนอาจสงสัยคือเหตุใดจึงต้องมีการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในเมื่อพระองค์ทรงดำรงพระราชอิสริยยศกษัตริย์อยู่แล้วในปัจจุบัน เนื่องจากถือได้ว่าสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติโดยอัตโนมัติเมื่อ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พระราชมารดาเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 8 กันยายนปีก่อน โดยมีการประกาศการขึ้นครองสิริราชสมบัติอย่างเป็นทางการของพระองค์ในอีก 2 วันหลังจากนั้น ในพิธีที่มีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของราชวงศ์อังกฤษ

ในเวลานั้น สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 มีพระราชดำรัสว่า พระองค์ตระหนักดีถึงมรดกอันยิ่งใหญ่นี้ รวมถึงพระราชภาระและพระราชกรณียกิจอันยิ่งใหญ่ ภายใต้ความรับผิดชอบของพระมหากษัตริย์ ซึ่งได้ตกทอดมาถึงพระองค์ ถ้าเช่นนั้น พระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 6 พฤษภาคม มีความสำคัญอย่างไร อันที่จริงไม่มีข้อกำหนดทางกฎหมายในการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และสถาบันกษัตริย์ในยุโรป ประเทศอื่น ๆ ก็ได้ยกเลิกพระราชพิธีดังกล่าวของตนเองไปแล้ว แต่พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของกษัตริย์พระองค์ใหม่แห่งราชวงศ์วินด์เซอร์ถือว่ามีความสำคัญยิ่งในทางศาสนา

ขณะที่พระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่มีเครื่องราชกกุธภัณฑ์ต่าง ๆ มากมายถือเป็นการยืนยันสถานะของพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ในฐานะประมุขแห่งรัฐ รวมถึงประมุขของนิกายเชิร์ชออฟอิงแลนด์ ทั้งยังมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงให้เห็นว่า พระผู้เป็นเจ้าประทานพระราชอำนาจให้พระมหากษัตริย์

ในการประกอบพิธีทางศาสนาที่นำโดย อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี ผู้นำทางจิตวิญญาณของคริสตจักรอังกฤษ สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะทรงรับการเจิมด้วยน้ำมันศักดิ์สิทธิ์จากเยรูซาเล็ม และรับมอบเครื่องราชกกุธภัณฑ์ตามโบราณราชประเพณี รวมถึงการที่พระองค์จะทรงสวมพระมหามงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดเป็นครั้งแรก ขณะที่พระราชินีคามิลลาก็จะได้รับการสวมพระมหามงกุฎควีนแมรีเช่นกัน

ขั้นตอนต่าง ๆ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกส่วนใหญ่แทบจะไม่เปลี่ยนแปลงไปจากโบราณราชประเพณีที่มีมาตั้งแต่ยุคกลาง มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ถูกใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของราชวงศ์มาตั้งแต่พระเจ้าวิลเลียม ผู้พิชิต เสด็จขึ้นครองราชย์ในปี ค.ศ. 1066

‘BLACKPINK’ รับพระราชทานเครื่องราชฯ จากคิงชาลส์ที่ 3 ในฐานะทูตสิ่งแวดล้อม COP 26 ที่ทำให้เยาวชนตระหนักถึง

(23 พ.ย.66) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร ทรงเปิดพระราชวังบักกิงแฮม ณ กรุงลอนดอน เพื่อจัดงานเลี้ยงต้อนรับการมาเยือนอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดี ยุน ซอก-ยอล และภริยา คิม กอน-ฮี พร้อมกับแขกพิเศษอย่างศิลปินเกิร์ลกรุ๊ปชื่อดังระดับโลกอย่าง 4 สาว วง 'BLACKPINK' เนื่องในโอกาสกระชับความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ ทั้งนี้ 4 สาว 'BLACKPINK' ที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานเลี้ยงระดับ State Banquet นี้ ยังได้รับพระราชดำรัสชื่นชมจากคิงส์ชาร์ลส์อีกด้วย

ล่าสุดอินสตาแกรมของสำนักพระราชวังสหราชอาณาจักร เผยแพร่คลิปทั้งสี่สาวได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ MBE-Member of the Most Excellent Order of the British Empire ในฐานะทูตสิ่งแวดล้อม COP 26 จากสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 และทรงมีพระราชปฏิสันถารกับทั้ง 4 สาวอย่างเป็นกันเอง โดยตรัสว่า “เราหวังว่าเราจะได้ชมการแสดงสดของพวกคุณบ้างในบางโอกาส”

โดยพระเจ้าชาลส์ที่ 3 ชื่นชมทั้ง 4 สาวเนื่องจากเป็นเหมือนตัวแทนที่จะทำให้เยาวชนตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม และยินดีที่จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยรักษาความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมไปสู่สายตาผู้ฟังทั่วโลก และชื่นชมที่พวกเขาจัดลำดับความสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ เช่นเดียวกับการเป็นซูเปอร์สตาร์ระดับโลก

สำนักพระราชวังอังกฤษ ระบุว่า สมาชิกวง 'BLACKPINK' ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จักรวรรดิบริติช ในบทบาทของผู้สนับสนุน COP26 สำหรับการประชุมสุดยอดสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติที่จัดขึ้นที่เมืองกลาสโกว์ในปี 2021


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top