วันสำคัญของราชวงศ์อังกฤษ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก 'สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3' การประทานพระราชอำนาจของพระผู้เป็นเจ้าสู่พระมหากษัตริย์

มารู้จักกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3

6 พฤษภาคมนี้ ถือเป็นวันสำคัญยิ่งของราชวงศ์อังกฤษ เพราะจะมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการ ซึ่งจะจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ สะท้อนถึงโบราณราชประเพณีที่มีมาอย่างยาวนานตั้งแต่ ยุคกลางนับย้อนไปได้กว่า 1,000 ปี

คำถามแรกที่ผู้คนอาจสงสัยคือเหตุใดจึงต้องมีการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในเมื่อพระองค์ทรงดำรงพระราชอิสริยยศกษัตริย์อยู่แล้วในปัจจุบัน เนื่องจากถือได้ว่าสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติโดยอัตโนมัติเมื่อ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พระราชมารดาเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 8 กันยายนปีก่อน โดยมีการประกาศการขึ้นครองสิริราชสมบัติอย่างเป็นทางการของพระองค์ในอีก 2 วันหลังจากนั้น ในพิธีที่มีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของราชวงศ์อังกฤษ

ในเวลานั้น สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 มีพระราชดำรัสว่า พระองค์ตระหนักดีถึงมรดกอันยิ่งใหญ่นี้ รวมถึงพระราชภาระและพระราชกรณียกิจอันยิ่งใหญ่ ภายใต้ความรับผิดชอบของพระมหากษัตริย์ ซึ่งได้ตกทอดมาถึงพระองค์ ถ้าเช่นนั้น พระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 6 พฤษภาคม มีความสำคัญอย่างไร อันที่จริงไม่มีข้อกำหนดทางกฎหมายในการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และสถาบันกษัตริย์ในยุโรป ประเทศอื่น ๆ ก็ได้ยกเลิกพระราชพิธีดังกล่าวของตนเองไปแล้ว แต่พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของกษัตริย์พระองค์ใหม่แห่งราชวงศ์วินด์เซอร์ถือว่ามีความสำคัญยิ่งในทางศาสนา

ขณะที่พระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่มีเครื่องราชกกุธภัณฑ์ต่าง ๆ มากมายถือเป็นการยืนยันสถานะของพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ในฐานะประมุขแห่งรัฐ รวมถึงประมุขของนิกายเชิร์ชออฟอิงแลนด์ ทั้งยังมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงให้เห็นว่า พระผู้เป็นเจ้าประทานพระราชอำนาจให้พระมหากษัตริย์

ในการประกอบพิธีทางศาสนาที่นำโดย อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี ผู้นำทางจิตวิญญาณของคริสตจักรอังกฤษ สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะทรงรับการเจิมด้วยน้ำมันศักดิ์สิทธิ์จากเยรูซาเล็ม และรับมอบเครื่องราชกกุธภัณฑ์ตามโบราณราชประเพณี รวมถึงการที่พระองค์จะทรงสวมพระมหามงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดเป็นครั้งแรก ขณะที่พระราชินีคามิลลาก็จะได้รับการสวมพระมหามงกุฎควีนแมรีเช่นกัน

ขั้นตอนต่าง ๆ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกส่วนใหญ่แทบจะไม่เปลี่ยนแปลงไปจากโบราณราชประเพณีที่มีมาตั้งแต่ยุคกลาง มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ถูกใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของราชวงศ์มาตั้งแต่พระเจ้าวิลเลียม ผู้พิชิต เสด็จขึ้นครองราชย์ในปี ค.ศ. 1066

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1953 ถือเป็นครั้งแรกที่มีการถ่ายทอดสดให้ผู้คนรับชมผ่านสถานีโทรทัศน์ มีผู้ชมนับสิบล้านในอังกฤษ

ขณะที่ในยุคแห่งการสตรีมมิ่งและโซเชียลมีเดีย ผู้คนไม่เพียงแต่จะสามารถรับชมพระราชพิธีดังกล่าวแบบสด ๆ ได้จากทั่วทุกมุมโลก และยังสามารถโพสต์รูปอิโมจิมงกุฎที่สร้างขึ้นมาเป็นพิเศษในโอกาสสำคัญโดยเฉพาะได้อีกด้วย

สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ตรัสว่า พระองค์มีแผนที่จะทำให้สถาบันกษัตริย์เล็กลง ส่วนหนึ่งอาจสะท้อนจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระองค์ที่สั้นกว่าเดิม โดยน่าจะอยู่ที่ไม่เกิน 2 ชั่วโมงในมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ และมีแขกที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมในพระราชพิธีเพียง 2,000 กว่าคน หรือเพียงแค่ 1 ใน 4 ของผู้ได้รับเชิญในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระราชมารดาของพระองค์

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี จะเสด็จฯ ไปทรงร่วมพิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ด้วย และยังมีองค์พระประมุขอีกหลายพระองค์ที่เสด็จฯ ไปร่วมในพระราชพิธีดังกล่าวด้วย อาทิ ราชวงศ์เกือบทั้งหมดในยุโรป สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมีเคเซอร์ นัมเกล วังชุก และ สมเด็จพระราชินีเจตซุน เพมา วังชุก แห่งภูฏาน เจ้าชายอากิชิโน มกุฎราชกุมารญี่ปุ่น และ เจ้าหญิงกิโกะ พระชายา

แต่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะไม่เข้าร่วมในพระราชพิธีดังกล่าว ซึ่งเป็นไปตามแนวปฏิบัติตั้งแต่ครั้งอดีต โดยจะมีเพียงนางจิลล์ ไบเดน สุภาพสตรีหมายเลข 1 ของสหรัฐฯ เพียงผู้เดียว 

พิธีบรมราชาภิเษกยังถูกมองว่ามีความสำคัญในฐานะโอกาสที่สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ที่จะแสวงหาการยอมรับจากสาธารณชนท่ามกลางผลสำรวจความเห็นที่สะท้อนถึงการให้การสนับสนุนต่อสถาบันกษัตริย์ที่อ่อนแอลง และเปิดให้ผู้คนที่ยังคงศรัทธาแสดงความชื่นชมของพวกเขา

ซึ่งคาดว่าจะมีผู้คนจำนวนมากมาเฝ้ารออยู่ตลอดสองข้างทางที่ขบวนพระราชพิธีจะเคลื่อนตัวผ่าน รวมถึงมารวมตัวอยู่ด้านหน้าพระราชวังบักกิงแฮมเมื่อสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะเสด็จออก ณ สีหบัญชรเป็นครั้งแรกหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษกผ่านพ้นไปแล้ว 

แม้จะมีกลุ่มต่อต้านราว 1,000 คน ที่บอกว่าพวกเขาเตรียมจะรวมตัวกันประท้วงในเส้นทางที่ขบวนเสด็จฯ เคลื่อนผ่าน แต่สำหรับคนส่วนใหญ่แล้ว นี่เป็นโอกาสที่จะเฉลิมฉลองความเป็นอังกฤษ และแสดงการสนับสนุนต่อสถาบันที่ผู้คนมากมายทั่วโลกหลงใหล

อย่างไรก็ดี มีคำถามถึงค่าใช้จ่ายจากการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่มีรายงานบางชิ้นคาดการณ์ว่าอาจจะสูงถึง 100 ล้านปอนด์ หรือกว่า 4,250 ล้านบาท การเฉลิมฉลองยังมีขึ้นในขณะที่สหราชอาณาจักรกำลังเผชิญกับวิกฤตค่าครองชีพที่หลายคนต้องดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอดในทุกวัน แต่ผู้คนจำนวนมากยังมองว่าพวกเขาจะสามารถสร้างรายได้จากงานฉลองครั้งสำคัญครั้งนี้ ที่จะดึงดูดความสนใจจากทั่วโลกให้รวมศูนย์อยู่ที่สหราชอาณาจักรอีกครั้ง กับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งสำคัญในรอบ 70 ปีของราชวงศ์วินด์เซอร์


ที่มา : https://www.matichon.co.th/foreign/news_3960636