Friday, 4 July 2025
สหรัฐอเมริกา

‘ทรัมป์’ โพสต์!! ชมเชย ‘กองกำลังป้องกันประเทศ’ ที่โชว์ผลงาน!! สลายม็อบในแอลเอ อย่างเหี้ยมหาญ

(8 มิ.ย. 68) เพจเฟซบุ๊ก ‘Jaroensook Limbanchongkit Pone’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า …

#ทรัมป์ ปธน. #สหรัฐฯ โพสต์ข้อความชมเชย #กองกำลังป้องกันประเทศ (National Guard) ที่สลายม็อบใน #แอลเอ อย่างเหี้ยมหาญ ว่า

“กองกำลังป้องกันประเทศทำหน้าที่ได้ดีเยี่ยมในลอสแองเจลิส หลังจากเกิดความรุนแรง การปะทะ และความไม่สงบเป็นเวลาสองวัน เรามีผู้ว่าการรัฐ (นิวส์คัม) และนายกเทศมนตรี (บาสส์) ที่ไร้ความสามารถ ซึ่งเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว (แค่ดูวิธีที่พวกเขาจัดการกับไฟป่า และตอนนี้การอนุญาตที่ล่าช้ามากของพวกเขา ใบอนุญาตของรัฐบาลกลางเสร็จสมบูรณ์แล้ว!) ไม่สามารถจัดการกับเรื่องนี้ได้”

“การประท้วงของฝ่ายซ้ายสุดโต่งเหล่านี้ โดยผู้ยุยงและมักเป็นผู้ก่อปัญหาที่ได้รับค่าจ้าง รัฐบาลจะไม่ยอมให้เกิดขึ้น และจากนี้ไป จะไม่อนุญาตให้สวมหน้ากากในการประท้วง คนเหล่านี้ต้องปกปิดอะไร และทำไม???”

“ขอบคุณกองกำลังป้องกันประเทศอีกครั้งสำหรับงานที่ทำได้ดีเยี่ยม"

‘อีลอน มัสก์’ วิวาทเดือด ‘รมว.คลัง’ กลางทำเนียบขาว หลังถูกกดดันเรื่องล้มเหลวลดงบฯ 1 ล้านล้านดอลล์

(9 มิ.ย. 68) สตีฟ แบนอน อดีตหัวหน้ากลยุทธ์ทำเนียบขาวในยุครัฐบาลทรัมป์ เผยว่าอีลอน มัสก์ หัวหน้าหน่วยงานปรับลดงบประมาณรัฐบาลกลาง (DOGE) ได้มีปากเสียงอย่างรุนแรงกับสก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จนถึงขั้นเกิดการปะทะกันในทำเนียบขาว 

โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างการเดินจากห้องทำงานประธานาธิบดีไปยังบริเวณนอกห้องของหัวหน้าคณะทำงานซูซี ไวลส์ โดยมัสก์ถูกกล่าวหาว่าผลักเบสเซนต์ หลังโดนตั้งคำถามถึงความล้มเหลวในการบรรลุเป้าหมายการลดงบประมาณรัฐบาลกลางตามที่เคยสัญญาไว้

เบสเซนต์กล่าวหาว่ามัสก์เคยให้คำมั่นว่าจะลดรายจ่ายภาครัฐลง 1 ล้านล้านดอลลาร์ แต่ทำได้จริงเพียงแค่ประมาณ 1 แสนล้าน และยังไม่มีใครสามารถตรวจสอบได้ว่า เกิดการประหยัดลงจริงหรือไม่ ซึ่งแบนอนกล่าวว่า 

“มัสก์รู้สึกอ่อนไหวกับประเด็นนี้อย่างมากและนั่นนำไปสู่การกระทบกระทั่งอย่างเปิดเผย โดยมีเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวหลายรายอยู่ในเหตุการณ์ แม้หลังเหตุการณ์ ประธานาธิบดีทรัมป์จะออกมาสนับสนุนเบสเซนต์อย่างชัดเจน แต่เบสเซนต์เองก็ไม่มีท่าทีโกรธเคืองส่วนตัว และยังกล่าวชื่นชมผลงานบางส่วนของมัสก์ในภายหลัง”

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงปลายวาระการทำงาน 5 เดือนของมัสก์ในตำแหน่ง “พนักงานพิเศษของรัฐบาล” ซึ่งเขาได้รับมอบหมายให้ทำการตัดลดงบประมาณและยุบหน่วยงานภาครัฐที่ไม่จำเป็น อย่างไรก็ตาม ผลงานของเขากลับถูกวิจารณ์อย่างหนักจากทั้งสาธารณชนและรัฐสภา รวมถึงการฟ้องร้องจากกลุ่มสิทธิพลเมืองเกี่ยวกับการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของประชาชนโดยไม่ได้รับความยินยอม นอกจากนี้ ความนิยมส่วนบุคคลของมัสก์ก็ตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ภาพลักษณ์ของ Tesla และ SpaceX เองก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วย

แม้มีกระแสข่าวลือว่ามัสก์ถูกลดบทบาทในรัฐบาลจากกรณีการเข้าถึงข้อมูลลับด้านความมั่นคงและข้อกล่าวหาเรื่องการใช้สารเสพติดระหว่างการหาเสียง แต่ในการแถลงข่าวร่วมกับทรัมป์หลังประกาศลาออก มัสก์กลับกล่าวติดตลกถึงรอยฟกช้ำใต้ตาว่าเกิดจากการเล่นกับลูกชายวัย 5 ขวบ ไม่เกี่ยวกับเหตุวิวาทในทำเนียบขาว 

ด้านโฆษกทำเนียบขาวระบุเพียงว่า “ความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติในการทำงานตามนโยบายที่มีเอเนอร์จี้” และทุกฝ่ายยังคงปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประชาชนตามเจตนารมณ์ของประธานาธิบดีทรัมป์

มหาวิทยาลัยญี่ปุ่น 87 แห่ง ยื่นมือช่วย นักศึกษาต่างชาติที่ถูกแบนในสหรัฐฯ

(10 มิ.ย. 68) มหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นจำนวน 87 แห่งเตรียมมาตรการช่วยเหลือนักศึกษาต่างชาติในสหรัฐอเมริกา หลังจากคำสั่งห้ามมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดรับนักศึกษาต่างชาติของรัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ตามการเปิดเผยของกระทรวงศึกษาธิการญี่ปุ่นและองค์การบริการนักเรียนญี่ปุ่นเมื่อวันศุกร์

โดยในส่วนของผู้มีสิทธิ์รับความช่วยเหลือและรูปแบบการช่วยเหลือจะแตกต่างกันไปในแต่ละมหาวิทยาลัย โดยมหาวิทยาลัยโทโฮคุประกาศรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีสำหรับบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ ที่ประสบปัญหาการเรียนต่อ โดยจะรับเข้าเป็นนักศึกษาไม่ประจำ (nondegree) และยกเว้นค่าธรรมเนียมการศึกษา รวมถึงค่าลงทะเบียน

นอกจากนี้ หลายมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นพร้อมเปิดรับนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้ ไม่จำกัดสัญชาติหรือสถาบันที่กำลังศึกษาอยู่ ทั้งในฐานะนักศึกษาเต็มเวลา หรือนักศึกษาเฉพาะกิจ นอกจากนี้ บางแห่งยังเสนอการยกเว้นค่าเล่าเรียนและจัดที่พักในหอพักให้อีกด้วย

ทั้งนี้ องค์การบริการนักเรียนญี่ปุ่นระบุว่า ยังมีอีก 5 มหาวิทยาลัยที่อยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการช่วยเหลือ และจะมีการอัปเดตข้อมูลอย่างต่อเนื่องต่อไป

สหรัฐฯ เลิกทุ่มงบช่วยยูเครน ในปี 2026 ชูแนวทางเจรจากับรัสเซีย แทนการส่งอาวุธ

(11 มิ.ย. 68) พีท เฮกเซธ รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ แถลงต่อสภาคองเกรสว่า รัฐบาลทรัมป์เตรียมลดงบประมาณช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครนในร่างงบประมาณกลาโหมปี 2026 โดยให้เหตุผลว่าสหรัฐฯ ต้องให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของตนเองท่ามกลางปัญหาทั่วโลกที่แข่งขันกัน

รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ระบุอีกว่า รัฐบาลชุดนี้มีมุมมองต่อความขัดแย้งในยูเครนต่างจากอดีต โดยมองว่า “การเจรจาเพื่อยุติสงครามอย่างสันติ” คือแนวทางที่เป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย และกับสหรัฐฯ เอง อย่างไรก็ตาม เขาไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดว่าการปรับลดจะมีขนาดมากน้อยเพียงใด

ท่าทีล่าสุดนี้เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ที่รัสเซียเพิ่มการโจมตีทางอากาศใส่ยูเครน โดยเฉพาะในกรุงเคียฟ ขณะที่ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ได้ร้องขอระบบป้องกันภัยทางอากาศจากสหรัฐฯ โดยเสนอซื้อด้วยเงินของยูเครนแทนการรับความช่วยเหลือ

ทั้งนี้ ตั้งแต่รัสเซียเปิดฉากรุกรานเต็มรูปแบบในปี 2022 สหรัฐฯ ได้ให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครนมากกว่า 66,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 2,376 ล้านบาท) แต่รัฐบาลทรัมป์ได้ระงับแพ็กเกจช่วยเหลือใหม่ทั้งหมดตั้งแต่เริ่มวาระสองในเดือนมกราคม และมีท่าทีแข็งกร้าวต่อยูเครนมากขึ้น ทั้งยังถอนตัวจากเวทีหารือด้านความมั่นคงร่วมกับพันธมิตรหลายครั้งในระยะหลัง

‘ทรัมป์’ ประกาศสงครามการค้ากับจีนจบลง แต่ยังตรึงภาษีสินค้านำเข้าไว้ที่ 55%

(12 มิ.ย. 68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่าสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนได้ 'จบแล้ว' โดยมีการคงอัตราภาษีสินค้าจีนไว้ที่ 55% โดยไม่ปรับเพิ่มอีก อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์และค้าปลีกเตือนว่า ความเสียหายต่อห่วงโซ่อุปทาน เศรษฐกิจ และผู้บริโภคสหรัฐฯ ยังไม่สิ้นสุด

อัตราภาษีที่สูงถึง 55% ทำให้บริษัทในสหรัฐฯ หลายพันแห่งเผชิญความเสี่ยง โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่สามารถแบกรับต้นทุนหรือตั้งราคาขายเพิ่มได้ ส่งผลให้ผู้บริโภคเป็นฝ่ายรับภาระต้นทุนแทน ซึ่งอาจกระทบต่อราคาสินค้าช่วงเปิดเทอมและเทศกาลปลายปี

ขณะเดียวกัน ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนล่าสุดแสดงการเพิ่มขึ้นของราคาที่ต่ำกว่าคาด แต่ความไม่แน่นอนของนโยบายภาษีทำให้ผู้ประกอบการยังคงระวังต่อแผนสั่งสินค้านำเข้า โดยเฉพาะจากจีนและสหภาพยุโรป ซึ่งกำลังเผชิญความลังเลจากผู้นำเข้าสหรัฐฯ

ภาคขนส่งและโลจิสติกส์ยังไม่ฟื้นตัว โดยปริมาณการขนส่งทั้งทางรถบรรทุกและรถไฟลดลงจากปีก่อนอย่างต่อเนื่อง ดัชนีการจองตู้คอนเทนเนอร์ทะเล (Ocean TEU Index) แสดงว่าปี 2025 มีปริมาณการขนส่งน้อยกว่าปีก่อนถึง 14% ซึ่งถือเป็นสัญญาณล่วงหน้าถึงความต้องการผู้บริโภคที่ลดลง

ในขณะที่อุตสาหกรรมโลจิสติกส์พยายามเร่งนำเข้าสินค้าช่วงระยะเวลาชั่วคราวที่รัฐบาลสหรัฐฯ ยกเว้นหรือชะลอการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ก่อนหมดเขตกลางเดือนสิงหาคม ปัญหาการสะสมของตู้คอนเทนเนอร์เปล่าที่ท่าเรือลอสแอนเจลิสและลองบีชยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญ ซึ่งอาจทำให้ผู้ส่งออกในสหรัฐฯ ประสบปัญหาขาดแคลนตู้สำหรับส่งสินค้า

แม้จะมีข้อตกลงเบื้องต้นกับจีน แต่ภาคธุรกิจยังรอการอนุมัติขั้นสุดท้ายจากทั้งสองผู้นำ และจับตาว่าจะมีการเจรจาใด ๆ เพิ่มเติมหรือไม่ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จึงยังเลือก 'รอดูท่าที' ก่อนจะเดินหน้าลงทุนหรือสั่งสินค้าเพิ่มเติมจากต่างประเทศในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

‘เนทันยาฮู’ ขอบคุณทรัมป์หนุนอิสราเอล ย้ำชัดโลกต้องไม่ปล่อยให้อิหร่านมีนิวเคลียร์

(13 มิ.ย. 68) นายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล แถลงผ่านวิดีโอขอบคุณ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ สำหรับจุดยืนที่ชัดเจนและสนับสนุนอิสราเอลมาโดยตลอด โดยเฉพาะการยืนกรานไม่ให้อิหร่านครอบครองอาวุธนิวเคลียร์

เนทันยาฮู กล่าวว่า “ผมขอบคุณเขาสำหรับการสนับสนุนอันแน่วแน่ตลอดช่วงเวลาที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี” พร้อมย้ำว่าทรัมป์คือผู้นำที่แสดงจุดยืนซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าโลกไม่ควรปล่อยให้อิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ได้

นายกรัฐมนตรีอิสราเอลยังกล่าวถึงสถานการณ์ล่าสุดว่า แม้จะมี 'วันที่ยากลำบาก' รออยู่ แต่ก็ยังมี 'วันที่ยิ่งใหญ่' ที่กำลังจะมาถึง โดยสิ่งที่อิสราเอลทำในวันนี้จะถูกจารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ว่าเป็น “การต่อสู้ระหว่างความดีและความชั่ว ระหว่างแสงสว่างและความมืด”

เนทันยาฮูยังส่งสารไปยังชาวอิหร่านโดยตรงว่า “ระบอบอิหร่านคือภัยคุกคามต่ออารยธรรม ไม่ใช่แค่อิสราเอล พวกเขาหนุนหลังการก่อการร้าย ข่มเหงประชาชนของตนเอง และมุ่งมั่นครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ เราไม่อาจยืนดูอยู่เฉยได้”

ทั้งนี้ คำแถลงดังกล่าวมีขึ้นในช่วงที่ทั่วโลกจับตาการเผชิญหน้าระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน ขณะที่ผู้นำอิสราเอลยังคงเดินหน้าสื่อสารผ่านเวทีระหว่างประเทศถึงภัยคุกคามจากเตหะราน และความจำเป็นในการดำรงจุดยืนร่วมกันกับชาติตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา

สื่อเตหะรานยัน แม่ทัพระดับสูง-นักวิทย์อิหร่านดับ หลังจาก 'อิสราเอล' เปิดฉากถล่มฐานนิวเคลียร์

(13 มิ.ย. 68) อิสราเอลประกาศเปิดฉากโจมตี (preemptive strike) ต่ออิหร่าน โดยรัฐมนตรีกลาโหมอิสราเอล อิสราเอล คัตซ์ (Israel Katz) ระบุว่า เป็นปฏิบัติการเพื่อสกัดกั้นภัยคุกคามจากโครงการนิวเคลียร์ของเตหะราน

กองทัพอิสราเอล (IDF) แถลงว่ายุทธการระลอกแรกเสร็จสิ้นแล้ว โดยมุ่งเป้าโจมตีเป้าหมายทางทหารหลายจุดทั่วอิหร่าน รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านนิวเคลียร์ ขณะเดียวกันสื่อทางการอิหร่านรายงานว่า แม่ทัพระดับสูง 2 นาย ของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (IRGC) คือ ฮอสเซน ซาลามี (Hossein Salami) และ โกลาม-อาลี ราชิด (Gholam Ali) เสียชีวิตจากการโจมตีทางอากาศ

รายงานยังระบุว่า นักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ชั้นนำของอิหร่าน 2 คน ได้แก่ โมฮัมหมัด-เมห์ดี เทห์รานชี (Mohammad Mehdi Tehranchi) และ ฟาเรย์ดูน อับบาซี (Fereydoun Abbasi) ก็เสียชีวิตในเหตุการณ์ด้วย ขณะที่มีเสียงระเบิดรุนแรงในหลายเมือง เช่น เตหะราน นาทานซ์ คอนดาบ และโครัมอาบาด รวมถึงมีรายงานผู้เสียชีวิตในอาคารที่พักอาศัยในกรุงเตหะราน

นายกรัฐมนตรีอิสราเอล เบนจามิน เนทันยาฮู กล่าวผ่านวิดีโอว่า เป้าหมายของปฏิบัติการนี้ คือการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานนิวเคลียร์ โรงงานผลิตขีปนาวุธ และศักยภาพทางทหารของอิหร่าน โดยจะดำเนินต่อไป “ตราบเท่าที่ยังจำเป็น” พร้อมกับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ

ด้านสหรัฐฯ รัฐมนตรีต่างประเทศ มาร์โก รูบิโอ ยืนยันว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโจมตีครั้งนี้ โดยอิสราเอลเป็นฝ่ายดำเนินการฝ่ายเดียว ทั้งนี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ระบุว่าใกล้บรรลุข้อตกลงกับอิหร่าน และยังไม่ต้องการให้มีการปะทะรุนแรงในตะวันออกกลาง เพราะอาจทำลายโอกาสของการเจรจาโดยตรงที่กำลังดำเนินอยู่ระหว่างวอชิงตันและเตหะราน

นักวิชาการแฉ สหรัฐฯ สั่งอพยพคนก่อนอิสราเอลถล่ม เชื่อรู้แผนซัดอิหร่าน แถมให้ไฟเขียวโจมตีฐานนิวเคลียร์

(13 มิ.ย. 68) จากเหตุการณ์อิสราเอลเปิดฉากโจมตีอิหร่านอย่างหนัก ใช้เครื่องบินรบกว่า 200 ลำถล่มเป้าหมายกว่า 100 จุด โดยมุ่งทำลายโครงสร้างนิวเคลียร์และสังหารผู้นำทางทหารระดับสูงของอิหร่าน ซึ่งนักวิเคราะห์ระบุว่า ปฏิบัติการครั้งนี้แน่นอนว่า อิสราเอลประสานงานกับสหรัฐฯ ล่วงหน้า

ดร.เกร็ก ไซมอนส์ (Dr. Greg Simons) นักวิชาการด้านสื่อจากมหาวิทยาลัยนานาชาติแดฟโฟดิล ของบังคลาเทศ ชี้ว่าการที่สหรัฐฯ สั่งอพยพเจ้าหน้าที่สถานทูตจากอิรักและอ่าวเปอร์เซียก่อนการโจมตี แสดงให้เห็นว่าวอชิงตันรับรู้และอาจให้ไฟเขียวต่อแผนการดังกล่าว แม้สหรัฐฯ จะออกมาปฏิเสธแล้วก็ตาม

นักวิชาการยังระบุอีกว่า อิสราเอลต้องการสกัดความพยายามเจรจานิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่าน เหมือนที่เคยทำสำเร็จมาแล้วในก่อนหน้านี้ โดยที่สหรัฐฯ ยังอยากหันไปโฟกัสกับจีน แต่กลับถูกพันธมิตรอย่างอิสราเอลและยูเครนดึงกลับสู่ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง

สำหรับนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ดร.ไซมอนส์มองว่า เขา “ทำสงครามเพื่อหนีคดี” เพราะหากสันติภาพเกิดขึ้น โอกาสที่เขาจะถูกจับกุมในคดีทุจริตทางการเมืองย่อมเพิ่มขึ้น ทั้งยังวิจารณ์สหรัฐฯ ว่าให้การสนับสนุนอย่างไม่ลืมหูลืมตา โดยกล่าวว่า “อิสราเอลจุดไฟที่ดับเองไม่ได้ แล้วหวังให้วอชิงตันช่วยจ่ายค่าเสียหายแทน”

สหรัฐฯ ไม่ควรเข้าร่วมสงครามกับอิหร่านในทุกระดับ การต่อสู้ระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่านก็ไม่มีอะไรจะเป็นคุณ กับสหรัฐฯ ได้

(14 มิ.ย. 68) เพจเฟซบุ๊ก ‘Jaroensook Limbanchongkit Pone’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า …

ทักเกอร์ คาร์ลสัน (Tucker Carlson) สื่อใหญ่มะกัน ผู้สนับสนุนทรัมป์มาโดยตลอดและพิธีกรรายการโทรทัศน์คนล่าสุดของทรัมป์ ได้ออกมาวิจารณ์ทรัมป์อย่างเปิดเผย หลังจากที่อิสราเอลโจมตีอิหร่าน 

โดยระบุว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทรัมป์ 'สมรู้ร่วมคิด' กับอิสราเอลในการโจมตีอิหร่าน

พร้อมเรียกร้องให้ทรัมป์ “ทิ้งอิสราเอล” และ “ปล่อยให้อิสราเอลสู้สงครามของตนเอง”

“สหรัฐฯ ไม่ควรเข้าร่วมสงครามกับอิหร่านในทุกระดับ ไม่ว่าจะด้วยเงินทุน อาวุธจากสหรัฐฯ หรือกำลังทหารในพื้นที่ ไม่ว่า 'พันธมิตรพิเศษ' ของเราจะพูดอะไรก็ตาม การต่อสู้ระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่านก็ไม่มีอะไรจะเป็นคุณกับสหรัฐฯ ได้”

วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ โทษ ‘เนทันยาฮู’ จุดชนวนสงครามอิหร่าน เตือนวอชิงตันอย่าตกหลุมพรางอิสราเอล

(17 มิ.ย. 68) เบอร์นี แซนเดอร์ส (Bernie Sanders) สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐฯ ออกมาแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมา ระบุว่านายกรัฐมนตรีอิสราเอล เบนจามิน เนทันยาฮู เป็นผู้เริ่มต้นความขัดแย้งกับอิหร่านในครั้งนี้ พร้อมเตือนว่าสหรัฐฯ ไม่ควรถูกลากเข้าไปมีส่วนร่วมทั้งทางการทหารและทางการเงิน

แซนเดอร์สโพสต์บนแพลตฟอร์ม X ว่า “เนทันยาฮูเป็นคนเปิดฉากสงครามนี้ด้วยการโจมตีอิหร่าน” พร้อมระบุว่าเนทันยาฮูมีส่วนในการลอบสังหารอาลี ชามคานี หัวหน้าคณะเจรจานิวเคลียร์ของอิหร่าน ซึ่งเป็นการจงใจบ่อนทำลายการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่าน

เขายังกล่าวเสริมว่า “สหรัฐฯ ต้องไม่ถูกลากเข้าไปในสงครามที่ผิดกฎหมายของเนทันยาฮูอีก ไม่ว่าจะเป็นในเชิงทหารหรือการสนับสนุนทางการเงิน” โดยแซนเดอร์สเป็นหนึ่งในนักการเมืองสหรัฐฯ ที่วิจารณ์นโยบายทางทหารของเนทันยาฮูในฉนวนกาซาอย่างสม่ำเสมอ

ขณะที่ สถานการณ์ความตึงเครียดเริ่มปะทุขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา หลังอิสราเอลเปิดปฏิบัติการโจมตีทางอากาศและโดรนถล่มหลายพื้นที่ทั่วอิหร่าน รวมถึงเป้าหมายด้านการทหารและนิวเคลียร์ ส่งผลให้อิหร่านตอบโต้ด้วยการยิงขีปนาวุธกลับอย่างหนักหน่วง

ทางการอิสราเอลระบุว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 24 ราย และบาดเจ็บอีกหลายร้อยคนจากการโจมตีของอิหร่าน ขณะที่ฝ่ายอิหร่านเผยว่าการถล่มของอิสราเอลทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 224 ราย และบาดเจ็บมากกว่า 1,000 คน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top