Sunday, 6 July 2025
รัชกาลที่9

3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2529 ในหลวง รัชกาลที่ 9 และ รัชกาลที่ 10 เสด็จฯ ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ รพ.ธรรมศาสตร์ฯ

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) และ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร (ในหลวง รัชกาลที่ 10 พระราชอิสริยยศในขณะนั้น) เสด็จฯ ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต 

สำหรับการจัดตั้งโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ” ซึ่งสร้างขึ้นจากแรงศรัทธาของทายาท มรว.สุวพรรณ สนิทวงศ์, ธนาคารทหารไทย จำกัด, มูลนิธิเพื่อโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โดยเสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2529 โรงพยาบาลก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2530 และเปิดให้บริการประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2530 เพื่อถวายเป็นราชกุศลเนื่องในมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ

ในวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2531 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์ทรงประกอบพิธีเปิดโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติอย่างเป็นทางการ โดยในระยะแรกมีเพียง 2 อาคารที่เปิดให้บริการรักษาพยาบาลแก่ประชาชนทั่วไป คือ

1. อาคาร มรว.สุวพรรณ สนิทวงศ์ เปิดให้บริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉิน ผู้ป่วยนอก และสำนักงานต่างๆ

2. อาคารธนาคารทหารไทย เปิดให้บริการรักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยทุกประเภท

ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2533 โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จึงถูกรวมเข้าเป็นส่วนราชการหนึ่งซึ่งมีฐานะเทียบเท่าสถาน (ภาควิชา) ของคณะแพทยศาสตร์ เช่นเดียวกับสถานวิทยาศาสตร์พรีคลินิก และสถานวิทยาศาสตร์คลินิก โดยมีภารกิจในการให้บริการวิชาการทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขแก่ประชาชนโดยทั่วไป และเป็นแหล่งฝึกปฏิบัติภาคคลินิกของคณะแพทยศาสตร์ด้วย

17 พฤศจิกายน พ.ศ.2499 ในหลวง ร.9 เสด็จฯโรงพยาบาลพระปกเกล้า จ.จันทบุรี อดีตโรงพยาบาลสนามสมัยพิพาทอินโดจีน

เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินเพื่อประกอบพิธีเปิดอาคารผ่าตัดประชาธิปก และทรงเปิดป้ายนาม "โรงพยาบาลพระปกเกล้า" จ.จันทบุรี ซึ่งจัดตั้งขึ้นเป็นอนุสรณ์แด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7

โรงพยาบาลพระปกเกล้า จ.จันทบุรี มีประวัติยาวนาน เริ่มต้นด้วยการก่อสร้างอาคารในปี พ.ศ. 2482 โดยมีขนาดความจุ 50 เตียง เปิดทำการครั้งแรกในชื่อ "โรงพยาบาลจันทบุรี" เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483 โรงพยาบาลแห่งนี้ได้ทำหน้าที่เป็นโรงพยาบาลสนามระหว่างกรณีพิพาทอินโดจีนและให้การรักษาผู้บาดเจ็บกว่า 300 รายจากยุทธนาวีเกาะช้าง ต่อมาในปี พ.ศ. 2497 สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนและได้ริเริ่มขยายโรงพยาบาลผ่านกองทุนของราชวงศ์ กระทั่งในปี พ.ศ. 2498 โรงพยาบาลได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงพยาบาลพระปกเกล้า” หลังการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกใหม่เสร็จสิ้น

ปัจจุบัน โรงพยาบาลพระปกเกล้า จ.จันทบุรี สังกัดคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสามารถรองรับผู้ป่วยได้ถึง 886 เตียง

26 พฤศจิกายน 2518 ในหลวงร. 9 พระราชินี เสด็จฯ ม.รามคำแหง เปิดพระบรมราชานุสาวรีย์และพระราชทานปริญญาบัตรรุ่นแรก

เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช และพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยรามคำแหงรุ่นแรก ณ บริเวณหน้าสำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งถือเป็นวันสำคัญในการก่อตั้งมหาวิทยาลัย

การเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนี้นับเป็นเหตุการณ์ที่ประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อพระราชทานปริญญาบัตรให้แก่บัณฑิต และยังได้พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่บัณฑิตในตอนหนึ่งว่า:

"...มหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดโอกาสให้ผู้ปรารถนาความรู้เข้ามาศึกษาค้นคว้าได้อย่างกว้างขวางและอิสระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ทำงานแล้วสามารถเพิ่มพูนความสามารถทางวิชาการ เพื่อนำไปพัฒนางานและยกระดับหน้าที่การงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

มหาวิทยาลัยมีเป้าหมายสำคัญในการส่งเสริมผู้ศึกษาให้สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ประโยชน์ต่อส่วนรวม เพื่อความเจริญมั่นคงของชาติบ้านเมือง"

ด้วยเหตุนี้ วันที่ 26 พฤศจิกายนของทุกปีจึงถือเป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัยรามคำแหงอย่างเป็นทางการ

27 กุมภาพันธ์ 2514 ในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระราชินี เสด็จฯ จ.อุตรดิตถ์ ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ ‘เขื่อนสิริกิติ์’

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2514 ถือเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญในประวัติศาสตร์ของจังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลาฤกษ์เขื่อนสิริกิติ์ ณ อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ นับเป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่มีบทบาทสำคัญต่อการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย

เขื่อนแห่งนี้เดิมมีชื่อว่า 'เขื่อนผาซ่อม' เนื่องจากตั้งอยู่บริเวณเขาผาซ่อม ตำบลผาเลือด อำเภอท่าปลา โดยเป็นเขื่อนดินขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นเพื่อกั้นแม่น้ำน่าน ซึ่งเป็นหนึ่งในลำน้ำสำคัญของแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อมาเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2511 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระนามาภิไธยของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มาขนานนามใหม่ว่า 'เขื่อนสิริกิติ์' เพื่อเป็นเกียรติแก่พระองค์

เขื่อนสิริกิติ์เป็นเขื่อนดินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีบทบาทสำคัญในการกักเก็บน้ำเพื่อการชลประทาน การผลิตกระแสไฟฟ้า และการป้องกันน้ำท่วม โดยเฉพาะพื้นที่ราบสองฝั่งแม่น้ำน่านตั้งแต่จังหวัดอุตรดิตถ์ลงไป ซึ่งแต่เดิมมักประสบปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำ

รัฐบาลได้วางแผนพัฒนาลุ่มน้ำน่านเป็น 3 ระยะ โดยเขื่อนสิริกิติ์เป็นส่วนหนึ่งของแผนในระยะแรก เพื่อใช้กักเก็บน้ำให้เพียงพอต่อการเกษตรและการผลิตไฟฟ้า ส่วนระยะที่สองและสาม มีการวางแผนก่อสร้างเขื่อนนเรศวรและเขื่อนอุตรดิตถ์เพื่อทดน้ำและกระจายน้ำให้ทั่วถึงมากขึ้น

การก่อสร้างเขื่อนสิริกิติ์เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2511 และแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2515 โดยแบ่งการก่อสร้างออกเป็นสองส่วนหลัก ได้แก่ ส่วนตัวเขื่อนและระบบชลประทาน ซึ่งดำเนินการโดยกรมชลประทาน และส่วนของโรงไฟฟ้า ซึ่งรับผิดชอบโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

ตัวเขื่อนมีโครงสร้างที่แข็งแรง สามารถกักเก็บน้ำได้ในปริมาณมหาศาล และยังมีอุโมงค์ระบายน้ำ อุโมงค์ส่งน้ำเข้าเครื่องกังหันผลิตไฟฟ้า และระบบกระจายน้ำที่ช่วยให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ปัจจุบันเขื่อนสิริกิติ์ยังคงเป็นแหล่งน้ำสำคัญที่ช่วยให้พื้นที่เกษตรกรรมหลายล้านไร่ได้รับน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูก นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความสวยงามและดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยี่ยมชมธรรมชาติรอบเขื่อน รวมถึงศึกษาระบบการจัดการน้ำของไทย

54 ปีผ่านไป นับตั้งแต่พิธีวางศิลาฤกษ์ในวันนั้น เขื่อนสิริกิติ์ยังคงทำหน้าที่เป็นแหล่งน้ำหล่อเลี้ยงชีวิตของประชาชน และเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของพระราชกรณียกิจที่ทรงคุณค่าของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

14 เมษายน พ.ศ. 2520 ในหลวง รัชกาลที่ 9 พร้อมด้วยสมเด็จพระพันปีหลวง เสด็จฯ เยี่ยมชมเขื่อนลำตะคอง จ. นครราชสีมา

วันนี้เมื่อ 48 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง เยี่ยมชมเขื่อนลำตะคอง อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา

ทรงประทับบ้านพักรับรองบนเขื่อนลำตะคอง ของกรมชลประทาน สร้างความปลาบปลื้ม ปิติให้กับข้าราชการ และพสกนิกรที่มารอรับเสด็จในครั้งนั้น โดยในช่วงที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเสด็จเยี่ยมชมเขื่อนลำตะคอง ในครั้งนั้น พระองค์ท่านทรงชี้แนะเรื่องการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนลำตะคอง ให้ทางกรมชลประทาน นำไปจัดการบริหารน้ำให้กับเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งเป็นภาพประวัติศาสตร์ของเขื่อนลำตะคอง และชาวจังหวัดนครราชสีมา

สำหรับเขื่อนลำตะคอง ตั้งอยู่ที่ ตำบลคลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ เริ่มสร้างในปี พ.ศ. 2507 แล้วเสร็จในปี 2512 โดยกรมชลประทาน ได้มีโครงการทดและส่งน้ำลำตะคอง เพื่อช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกทั้ง 2 ฝั่งลำตะคอง ในพื้นที่อำเภอเมือง กับบางส่วนของอำเภอขามทะเลสอ และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งเป็น 1 ใน 16 แห่ง ที่กรมชลประทานได้เลือกไว้ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ

28 เมษายน พ.ศ. 2493 ‘วันพระราชพิธีสมรส’ ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ กับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ แบบอย่างแห่งความรักและความผูกพัน วันประวัติศาสตร์ของราชวงศ์จักรีไทย

ในวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ณ วังสระปทุม ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ของราชวงศ์จักรีและประเทศไทย

พระราชพิธีครั้งนี้ได้รับความสนใจจากประชาชนและสื่อมวลชนในประเทศอย่างกว้างขวาง เนื่องจากเป็นการเฉลิมฉลองการรวมกันของสองพระองค์ที่ถือเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงและความสุขให้แก่ประเทศชาติ โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ได้รับการยกย่องเป็นพระราชินีนาถและทรงมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนพระราชกรณียกิจต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ทั้งสองพระองค์ทรงถือเป็นแบบอย่างของความรักชาติและความทุ่มเทในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนและความเจริญรุ่งเรืองของประเทศไทย การพระราชพิธีสมรสในครั้งนี้ถือเป็นสัญลักษณ์ของความรักและความผูกพันระหว่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระราชินี

เหตุการณ์ดังกล่าวมีความสำคัญไม่เพียงแต่ในด้านการเมืองและการปกครองเท่านั้น แต่ยังแสดงถึงการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเสาหลักของการปกครองและสังคมไทยที่ยาวนานและมั่นคง

‘หมอสุรันต์’ เผยภาพประทับใจ ‘จัตุรัส ร.9’ กลางบอสตัน ตั้งแท่นหินแกรนิตจารึกประวัติ กษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักของชาวโลก

(25 พ.ค. 68) ทพ.สุรันต์ จันทร์พิทักษ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ แบ่งปันเรื่องราวสุดแสนประทับใจ หลังเดินทางไปประเทศสหรัฐอเมริกา โดยโพสต์ผ่านเฟสบุ๊กว่า…

จัตุรัสภูมิพลอดุลยเดช ตั้งอยู่ในเมืองเคมบริดจ์ จัตุรัสแห่งนี้ตั้งขึ้นเพื่อระลึกถึงในหลวงรัชกาลที่9 อันเป็นที่รักที่เทิดทูนของปวงชนชาวไทย

พระองค์เสด็จพระราชสมภพที่โรงพยาบาล เมาท์ ออเบิร์น(Mount Auburn Hospital) เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวในโลกที่พระราชสมภพบนแผ่นดินอเมริกา นายกเทศมนตรีเมืองเคมบริดจ์ จึงขอพระราชทานนามว่า “จัตุรัสภูมิพลอดุลยเดช” เพื่อเป็นเกียรติแก่เมืองเคมบริดจ์

เหตุที่ทรงเสด็จพระราชสมภพที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเนื่องมาจากสมเด็จพระบรมราชชนกได้ทรงศึกษาวิชาการแพทย์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

โดยเช่าอพาร์ทเม้นท์ใกล้ๆมหาวิทยาลัย เป็นที่พำนักอยู่กับสมเด็จพระบรมราชชนนี (หม่อมสังวาลย์มหิดล ณ อยุธยาในขณะนั้น) ซึ่งต่อมาเจ้าชายพระองค์นี้ทรงเติบใหญ่เป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่งแห่งราขวงศ์จักรี

บนแท่นหินแกรนิตกลางจัตุรัส มีอักษรโลหะบันทึกบอกเรื่องราวการเสด็จพระราชสมภพของพระองค์ Hampton Hotel Boston,Massachusetts, United States Of America 22May 2025 10°C(Feel like6°C),Rainy 07.05A.M. “เพราะโลกมันกว้าง เราจึงอยากแบ่งปัน”

20 มิถุนายน พ.ศ. 2520 ในหลวง ร.๙ ทรงแปลวรรณกรรมระดับโลก ‘นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ’ นิยายแห่งความเสียสละ

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2520 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงเริ่มแปลวรรณกรรมระดับโลกเรื่อง 'นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ' หรือ 'A Man Called Intrepid' ผลงานของเซอร์วิลเลียม สตีเวนสัน (Sir William Stevenson) ซึ่งเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์จากชีวิตจริงของ 'Intrepid' หัวหน้าหน่วยข่าวกรองลับของอังกฤษในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้มีบทบาทสำคัญในการต่อต้านลัทธินาซีของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเห็นว่าเนื้อหาในวรรณกรรมเล่มนี้มีคุณค่าและประโยชน์ต่อมนุษยชาติ จึงทรงตั้งพระราชหฤทัยแปลผลงานจากต้นฉบับภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เอง โดยเริ่มจากหน้าแรกในปี 2520 และทรงใช้เวลาแปลต่อเนื่องด้วยพระราชวิริยะอุตสาหะจนแล้วเสร็จในวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2523 รวมระยะเวลากว่า 2 ปีครึ่ง

เนื้อหาในนิยายแสดงให้เห็นถึงจิตใจแห่งความเสียสละ ความกล้าหาญ และการอุทิศตนเพื่อส่วนรวม ผ่านบุคคลที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเงียบงันโดยไม่หวังชื่อเสียง ซึ่งสอดคล้องกับพระราชดำริและหลักการทรงงานในพระองค์ตลอดรัชสมัย จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทรงเลือกวรรณกรรมเล่มนี้มาแปล

ด้วยความยาวกว่า 600 หน้า 'นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ' กลายเป็นวรรณกรรมที่ทรงคุณค่าทั้งในด้านสาระและแรงบันดาลใจ ผู้อ่านแม้ต้องใช้เวลานานในการอ่าน แต่ก็ไม่รู้สึกเบื่อ ด้วยกลวิธีการถ่ายทอดของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่งดงาม ลุ่มลึก และเปี่ยมด้วยความเข้าใจในต้นฉบับอย่างถ่องแท้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top