Friday, 17 May 2024
รัชกาลที่9

13 ธันวาคม พ.ศ. 2541 คุณทองแดง ได้เข้าเฝ้าฯ ถวายตัว เป็นสุนัขทรงเลี้ยงในรัชกาลที่ 9

13 ธันวาคม พ.ศ. 2541 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงรับคุณทองแดง เป็นสุนัขทรงเลี้ยง

คุณทองแดง เป็นลูกของ ‘แดง’ สุนัขจรจัดบริเวณซอยศูนย์แพทย์พัฒนา ถนนพระราม 9 เกิดเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 9 ทรงนำมาเลี้ยงหลังจากเสด็จพระราชดำเนินไปเปิดศูนย์การแพทย์พระราม 9 และนายแพทย์คนหนึ่งนำคุณทองแดงมาทูลเกล้าฯ ถวายให้ทอดพระเนตร คุณทองแดงเกิดหลังลูก ๆ ของคุณมะลิไม่กี่วัน และทรงยกให้คุณมะลิเลี้ยงดู ทองแดง มีพี่น้องรวม 7 ตัว ซึ่งชาวบ้านตั้งชื่อให้ว่าทองแดง เพศเมีย, คาลัว เพศเมีย, หนุน เพศเมีย, ทองเหลือง เพศผู้ ได้ไปอยู่บ้านของข้าราชบริพารคนหนึ่ง, ละมุน เพศเมีย, โกโร เพศเมีย, โกโส เพศเมีย

คุณทองแดงมีลักษณะพิเศษต่างจากลูกสุนัขตัวอื่น คือ มีสายสร้อยรอบคอครึ่งเส้น มีถุงเท้าขาวทั้ง 4 ขา มีหางม้วนขดเป็นวง ปลายหางดอกสีขาว และมีจมูกแด่น ได้เข้าเฝ้าฯ ถวายตัวเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2541 ขณะมีอายุได้ 5 สัปดาห์ ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

20 ธันวาคม พ.ศ. 2510 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯ เปิดมหาวิทยาลัยขอนแก่น

วันนี้เมื่อ 55 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดมหาวิทยาลัยขอนแก่นอย่างเป็นทางการ และทรงปลูกต้นกาลพฤกษ์ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย 

ในครั้งนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมอบพระบรมราโชวาทเนื่องในพิธีเปิดมหาวิทยาลัยขอนแก่นว่า

"...การตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่นขึ้นอีกแห่งหนึ่งนั้น เป็นคุณอย่างยิ่ง เพราะทำให้การศึกษาชั้นสูงขยายออกไปถึงภูมิภาคที่สำคัญที่สุดส่วนหนึ่งของประเทศ ซึ่งต่อไปจะเป็นผลดีแก่การพัฒนา ยกฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนในภูมิภาคนี้เป็นอย่างยิ่ง ความสำเร็จในการตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงเป็นความสำเร็จที่ทุกคนควรจะยินดี..."

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นอุดมศึกษาสถานแห่งแรก ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แม้กำเนิดของมหาวิทยาลัยจะมีแนวความคิดย้อนหลังไปได้ถึงก่อน สงครามโลกครั้งที่สอง แต่การเตรียมการก่อสร้างอย่างจริงจัง กระทำกันในรัฐบาล ฯ พณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในขณะที่เริ่ม พัฒนาภูมิภาคส่วนนี้ของประเทศ เมื่อพุทธศักราช 2505 การลงมือก่อสร้างเริ่มขึ้นในปี 2507 โดยมีมติจัดตั้งสถาบันการศึกษาชั้นสูง ด้านวิศวกรรมศาสตร์และเกษตรศาสตร์ขึ้นที่บ้านสีฐาน จังหวัดขอนแก่น และเสนอชื่อสถาบันนี้ว่า มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Khon Kaen Institute of Technology มีชื่อย่อ K.I.T. โดยมีสภาการศึกษาแห่งชาติเป็นผู้รับผิดชอบ

27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2514 ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ในพิธี วางศิลาฤกษ์ ‘เขื่อนสิริกิติ์’

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์เขื่อนสิริกิติ์ อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์

เดิมเขื่อนนี้มีชื่อว่า 'เขื่อนผาซ่อม' โดยก่อสร้างปิดกั้นแม่น้ำน่าน บริเวณเขาผาซ่อม ตำบลผาเลือด อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ ภายหลังได้รับพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระนามาภิไธยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มาขนานนามเขื่อนว่า เขื่อนสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2511

6 มีนาคม พ.ศ. 2502 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรภาคใต้เป็นครั้งแรก

วันนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในจังหวัดภาคใต้เป็นครั้งแรก

ปี 2502 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปี เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในจังหวัดภาคใต้เป็นครั้งแรกเริ่มต้นเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2502 เป็นเวลา 20 วัน 

17 พฤษภาคม พ.ศ. 2507 ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ทรงเปิด ‘เขื่อนภูมิพล’ อย่างเป็นทางการ

วันนี้ เมื่อ 59 ปีก่อน ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ทรงเปิดเขื่อนภูมิพลอย่างเป็นทางการ

โครงการสร้างเขื่อนภูมิพล เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2496 โดยในระยะแรกนี้ใช้ชื่อว่า "เขื่อนยันฮี" ถือเป็นเขื่อนคอนกรีตโค้งและเป็นเขื่อนอเนกประสงค์ แห่งแรกของประเทศไทยเลยทีเดียว ต่อมาเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2500 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงได้มีพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระปรมาภิไธยให้ใช้เป็นชื่อเขื่อนนี้ว่า "เขื่อนภูมิพล"

ลักษณะของเขื่อนเป็นเขื่อนคอนกรีตโค้งเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย และเอเชียอาคเนย์ และใหญ่เป็นอันดับ 8 ของโลกในขณะนั้น สร้างปิดกั้นลำน้ำปิงที่บริเวณเขาแก้ว อำเภอสามเงา จังหวัดตาก มีรัศมีความโค้ง 250 เมตร สูง 154 เมตร ยาว 486 เมตรความกว้างของสันเขื่อน 6 เมตร อ่างเก็บน้ำสามารถรองรับน้ำได้สูงสุด 13,462  ล้านลูกบาศก์เมตร

ในหลวง ร.9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์การก่อสร้าง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2504 การก่อสร้างในระยะแรกประกอบด้วย งานก่อสร้างตัวเขื่อน ระบบส่งไฟฟ้า และอาคารโรงไฟฟ้า และสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคมและ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2507 ตามลำดับ

ในหลวง ร.9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเขื่อนอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2507 จากนั้นมาก็ได้มีการพัฒนาปรับปรุงการผลิตกระแสไฟฟ้าเรื่อยมา ๆ และให้ประโยชน์ในด้านชลประทานแก่พื้นที่ถึง 10 ล้านไร่ ต่อปี 

อ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนสามารถจุน้ำได้ 13,462 ล้านลูกบาศก์เมตร เนื้อที่ผิวน้ำประมาณ 300 ตารางกิโลเมตร ความยาวของลำน้ำจากเขื่อนถึงอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ เป็นระยะทาง 207 กิโลเมตร นอกจากประโยชน์ทางด้านพลังงานไฟฟ้าและชลประทานแล้ว เขื่อนภูมิพลยังเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำจืดที่สำคัญอย่างยิ่งของประเทศไทยอีกด้วย สิ้นค่าก่อสร้างในขณะนั้น 2,500 ล้านบาท

19 สิงหาคม พ.ศ. 2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จสู่สวิตเซอร์แลนด์ เพื่อทรงศึกษาต่อ

วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2489 เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จจากสยามสู่สวิตเซอร์แลนด์ เพื่อทรงศึกษาต่อ

ท่ามกลางเสียงโห่ร้องถวายพระพร ระหว่างที่รถพระที่นั่งแล่นผ่าน ฝูงชนส่งเสด็จเดินทางจากสยามประเทศเพื่อไปศึกษาต่อ ณ สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2489 ได้มีเสียงหนึ่งตะโกนแทรกมาเข้าพระกรรณว่า "ในหลวงอย่าทิ้งประชาชน" ในขณะนั้น ทรงนึกตอบในพระทัยว่า "ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้วข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนได้อย่างไร" 

นับเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่อยู่ในพระทัยของในหลวง ร.9 มาโดยตลอด พร้อมกับได้ทรงพระราชนิพนธ์บันทึกประจำวัน ‘เมื่อข้าพเจ้าจากสยาม สู่สวิตเซอร์แลนด์’ พระราชทานแก่หนังสือวงวรรณคดีไทย เพื่อถ่ายทอดความรู้สึกซาบซึ้งพระราชหฤทัยถึงน้ำใจของประชาชน ที่พร้อมใจกันมาส่งเสด็จอย่างมืดฟ้ามัวดินในครั้งนั้น

ในช่วงนั้น บรรยากาศแห่งความเศร้าสลดครอบคลุมชาติไทย มองไปทางไหนมีแต่สีแห่งความทุกข์ คือสีดำเต็มไปหมด ความมหาวิปโยคเพิ่งเกิดขึ้นกับทวยราษฎร์ข้าแผ่นดิน เพราะเพิ่งสูญเสียพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระปิยราชบรมราชกษัตริย์ไปอย่างไม่มีวันกลับ เหลือเพียงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ‘พระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่’ เพียงองค์เดียวเท่านั้นที่จะเป็นความหวังและที่พึ่งของไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ประชาชนได้ทุ่มเทความรัก ความหวงแหนยิ่งถวายแด่พระองค์จนหมดสิ้น

เมื่อถึงวันที่พระองค์ทรงอำลาผืนแผ่นดินไทยไปสู่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อทรงศึกษาต่อ ประชาชนทั้งหลายจึงรู้สึกเปล่าเปลี่ยว เหมือนคนไร้ที่พึ่ง ไร้พระบรมโพธิสมภารที่เคยร่มเย็น ขณะรถยนต์พระที่นั่งค่อย ๆ เคลื่อนอย่างช้า ๆ ผ่านหน้ามหาชนนับหมื่นนับแสนที่มาเฝ้าฯ ส่งเสด็จอยู่ด้วยความจงรักภักดี นาทีนั้นเอง ทุกคนรู้สึกตรงกัน เหมือนดวงใจถูกพรากหลุดลอยไป เกรงว่าพระองค์จะไม่เสด็จนิวัตประเทศไทยอีก เหลือสุดที่ประชาชนจะทนได้ จึงมีเสียงร้องทูลขอสัญญาว่า

"อย่าทิ้งประชาชน..."

"ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนได้อย่างไร"

นั่นคือพระราชสัจจะจากดวงพระราชหฤทัย ที่จะมีพระราชดำรัสกับประชาชนในขณะนั้น  

แม้เครื่องบินพระที่นั่งทะยานขึ้นสู่ฟ้ามหานครแล้ว แต่ถนนทุกสายยังเนืองแน่นด้วยประชาชนที่เฝ้ามอง ‘พระเจ้าอยู่หัว’ จนกระทั่งเครื่องบินลับหายไปจากสายตา พร้อมกับดวงใจของประชาชนที่เฝ้ารอพระองค์กลับมา...เป็นมิ่งขวัญตลอดไป

และเสียงร้องทูลขอสัญญาของประชาชนในวันนั้น ตรึงตราประทับอยู่ในพระราชหฤทัยตลอดมา เป็นสายใจผูกพัน ทำให้ทรงเป็น ‘พระเจ้าอยู่หัวของประชาชนอย่างแท้จริง’

19 ตุลาคม ของทุกปี กำหนดเป็น วันเทคโนโลยีของไทย เทิดพระเกียรติ ร.9 ‘พระบิดาเทคโนโลยีไทย’

วันที่ 19 ตุลาคมของทุกปี กำหนดเป็น วันเทคโนโลยีของไทย เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ในฐานะที่ทรงเป็น ‘พระบิดาแห่งเทคโนโลยีไทย’

จุดเริ่มต้น วันเทคโนโลยีของไทย มาจากเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2515 หรือเมื่อ 51 ปีที่แล้ว เมื่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ได้ทรงควบคุมบัญชาการและอำนวยการสาธิตฝนเทียมสูตรใหม่เป็นครั้งแรกของโลก ณ เขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี โดยใช้สนามบินบ่อฝ้าย อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นฐานปฏิบัติการ และประสบความสำเร็จฝนตกตามเป้าหมายอย่างแม่นยำ ซึ่งสร้างความประทับใจให้แก่คณะผู้แทนรัฐบาลสิงคโปร์และผู้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเป็นอย่างมาก

การสาธิตฝนเทียมในครั้งนั้นถือเป็นต้นกำเนิดเทคโนโลยีฝนหลวงที่พัฒนาเป็นการทำฝนเทียมของ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ทำอยู่ในปัจจุบัน และเพื่อจารึกไว้เป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ รัฐบาลจึงมีมติให้เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และกำหนดให้วันที่ 19 ตุลาคมของทุกปีเป็น ‘วันเทคโนโลยีของไทย’ เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดีและรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอด 

พระองค์ได้ทรงศึกษาค้นคว้าวิจัย และทรงนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ตลอดจนเป็นการแสดงเทคโนโลยีที่คิดค้นประดิษฐ์ และพัฒนาโดยคนไทย เพื่อเป็นการกระตุ้นให้สาธารณชนเกิดความเชื่อมั่นและเข้าร่วมพัฒนาเทคโนโลยีของไทย นอกจากนี้ พระองค์ยัง ยังทรงศึกษาค้นคว้าวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ก่อกำเนิดเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากมายอีกด้วย

22 ตุลาคม พ.ศ. 2499 ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงผนวช ได้พระสมณนามว่า ‘ภูมิพโลภิกขุ’

วันนี้เมื่อ 67 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ได้พระสมณนามว่า ‘ภูมิพโลภิกขุ’

ก่อนที่จะถึงวันพระราชพิธีทรงผนวช ในวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2499 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีพระราชทานกระแสพระราชดำรัสในการที่จะทรงผนวชแก่พระบรมวงศานุวงศ์ คณะองคมนตรี คณะทูต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ข้าราช ซึ่งเข้าเฝ้าฯ ณ พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย แจ้งข้อพระราชดำริที่จะบรรพชาอุปสมบท และขอให้ทุกฝ่ายสมัครสมานกันรักษาประเทศ ทรงขอบใจรัฐบาลที่รับภาระเตรียมการบรรพชาอุปสมบท

ครั้นเสร็จพระราชพิธีภายใน พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัยแล้ว จึงเสด็จฯ มายังพระที่นั่งสุทไธสวรรค์พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จออกสีหบัญชร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสว่า

“ข้าพเจ้ามีความยินดีที่ท่านทั้งปวงได้มาประชุมกัน ณ ที่นี้ ขอถือโอกาสแจ้งดำริ ที่จะบรรพชาอุปสมบทให้อาณาประชาราษฎรทราบทั่วกัน

อันพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาประจําชาติของเรา ตามความอบรมที่ได้รับมาก็ดี ตามศรัทธาเชื่อถือส่วนตัวของข้าพเจ้าก็ดี เห็นเป็นศาสนาที่ดีศาสนาหนึ่ง มีคําสั่งสอนให้คนประพฤติตนเป็นคนดี ทั้งเพรียบพร้อมด้วยบรรดาสัจธรรมอันชอบด้วยเหตุผลน่าเสื่อมใสยิ่งนัก ข้าพเจ้าเคยคิดอยู่ว่า ถ้าโอกาสอำนวยก็น่ารักได้อุปสมบทในพระศาสนาตาม ประเพณีสักเวลาหนึ่ง ซึ่งมักเป็นทางสนองพระเดชพระคุณพระราชบุพการีตามคตินิยมอีกโสดหนึ่งด้วย 

และนับตั้งแต่ข้าพเจ้าได้ขึ้นครองราชสมบัติสืบสันตติวงศ์มาเป็นเวลาช้านานพอสมควรแล้ว น่าจะเป็นโอกาสที่จะทําตามความตั้งใจไว้นั้นได้แล้วประการหนึ่ง อนึ่ง การที่สมเด็จพระสังฆราชซึ่งทรงมีพระคุณูปการในส่วนตัวข้าพเจ้าได้หายประชวรในครั้งหลังนี้ ก่อให้เกิดความปิติยินดีแก่ข้าพเจ้าเป็นอันมาก มาคํานึงเห็นว่า ถ้าในการที่ข้าพเจ้าจะอุปสมบทนี้ ได้พระองค์ท่านเป็นพระอุปัชฌาย์ด้วยแล้ว ก็จะเป็นการแสดงออกซึ่งความศรัทธา เคารพ ของข้าพเจ้าที่มีอยู่ในพระองค์ท่านได้อย่างเหมาะสมด้วยอีกประการหนึ่ง อาศัยเหตุเหล่านี้จึงได้ตกลงใจจะอุปสมบทในวันที่ 22 เดือนนี้

ส่วนกิจการบ้านเมืองนั้นก็หวังว่า ในระยะเวลาที่ข้าพเจ้าบวชนี้คงไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดขัดข้อง โดยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร ข้าพเจ้าก็ได้แต่งตั้งสมเด็จพระราชินีเป็นผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ไว้แล้ว ขอท่านทั้งหลายจงช่วยกันรักษาความสงบสุขในกิจการบ้านเมืองของเราให้ดําเนินไปด้วยดีเถิด

ขอคุณพระศรีรัตนตรัย ได้อภิบาลคุ้มครองท่านทั้งหลายให้มีความสุขสวัสดี ขอทุกๆ ท่านจงมีส่วนได้รับกุศลความดีงามอันจักพึงมีจากการที่ข้าพเจ้าเข้าอุปสมบทในพระศาสนาครั้งนี้โดยทั่วกัน เทอญ”

สำหรับพระราชพิธีทรงผนวชในครั้งนั้น สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นพระราชอุปัชฌาจารย์ เมื่อเสร็จพิธีแล้วพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงได้รับสมญานามจาก ว่า ‘ภูมิพโล’

ในระหว่างที่ทรงดำรงสมณเพศ ทรงปฏิบัติพระราชกิจ เช่นเดียวกับพระภิกษุทั้งหลายอย่างเคร่งครัด เช่น เสด็จลงพระอุโบสถทรงทำวัตรเช้า-เย็น ตลอดจนทรงสดับพระธรรมและพระวินัย นอกจากนี้ยังได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจพิเศษอื่นๆ เช่น เสด็จฯ ไปทรงรับบิณฑบาต จากพระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน เสด็จฯ ไปทรงรับบิณฑบาต ณ วังสระปทุม เสด็จฯ ไปทรงนมัสการพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม เสด็จฯ ไปทรงรับบิณฑบาตจากประชาชนทั้งในบริเวณถนนพระสุเมรุ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และสี่แยกราชเทวี ถนนเพชรบุรี เป็นต้น

26 ตุลาคม พ.ศ. 2560  พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ  พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 

วันนี้ เมื่อ 6 ปีก่อน มีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งเป็นพระราชพิธีที่รัฐบาลไทยจัดขึ้น เพื่อแสดงความอาลัยเป็นครั้งสุดท้าย ภายหลังการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จัดขึ้น ณ พระเมรุมาศ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ระหว่างวันที่ 25 - 29 ตุลาคม พ.ศ. 2560 

วันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2560 เป็นวันถวายพระเพลิง คณะรัฐมนตรีจึงกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการเป็นกรณีพิเศษ

สำหรับการดำเนินการพระราชพิธีฯ นั้น คณะทำงานทุกฝ่ายได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มีการสร้างพระเมรุมาศและอาคารประกอบ เช่น พระที่นั่งทรงธรรม ศาลาลูกขุน เป็นต้น ส่วนการบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถ ราชยาน และเครื่องประกอบพระราชพิธีนั้น ได้มีการซ่อมแซมพระมหาพิชัยราชรถ พระยานมาศสามลำคาน ราชรถน้อย และพระที่นั่งราเชนทรยาน เพื่อให้พร้อมใช้ในพิธีจริง

นอกจากนี้ยังมีการจัดสร้างราชรถ ราชยานขึ้นมาใหม่ คือ ราชรถปืนใหญ่และพระที่นั่งราเชนทรยานน้อย รวมทั้งประติมากรรมประกอบพระเมรุมาศในพระราชพิธีครั้งนี้ได้มีการปรับปรุงให้มีความร่วมสมัย โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (พระนามาภิไธยในขณะนั้น) ทรงเป็นองค์วินิจฉัยในการจัดสร้างพระเมรุมาศ
 

‘ในหลวง ร.๙’ เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมประชาชนภาคอีสาน จุดเริ่มต้น ‘จอมพล ป. พิบูลสงคราม’ ร่วงหล่นจากตำแหน่ง

พอถึงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ภาพประวัติศาสตร์หนึ่งที่จะวนมาให้เราได้ระลึกถึงกัน ก็คือการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรภาคอีสานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ในหลวงรัชกาลที่ ๙) ระหว่างวันที่ ๒ - ๒๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๘ หลังจากที่พระองค์ได้เสด็จฯ เยี่ยมเยียนราษฎรในภาคกลางมาแล้วในเดือนกันยายนปีเดียวกัน ซึ่งในครั้งนั้นถือว่าเป็นการเสด็จฯ ครั้งประวัติศาสตร์ เพราะไม่เคยมีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดเสด็จฯ ทั่วทั้งภาคอีสานมาก่อน จะมีก็เพียง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ที่เคยเสด็จฯ ประพาสต้น จังหวัดนครราชสีมาโดยทางรถไฟเป็นการส่วนพระองค์ 

การเสด็จพระราชดำเนินประพาสอีสานและประเทศไทยในครั้งนั้นเกิดขึ้นจากการสนับสนุนของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น 

ทำไม ? จอมพล ป. จึงสนับสนุนการเสด็จฯ ทรงเยี่ยมราษฎร ต่างจังหวัด ของรัชกาลที่ ๙ 

สืบเนื่องจากรัฐบาลพม่าโดยนายกรัฐมนตรีอูนุ ได้กราบบังคมทูลเชิญในหลวงรัชกาลที่ ๙ เยือนสหภาพพม่าเพื่อทรงเปิดการประชุมสังคายนาพระไตรปิฎก ‘ฉัฏฐสังคายนา’ แต่ด้วยการกราบบังคมทูลเชิญในครั้งนั้นถือว่าไม่เป็นทางการเนื่องจากไม่ได้เป็นการเชิญโดยประมุขประเทศคือประธานาธิบดีบาอู พระองค์จึงทรงปฏิเสธ 

แต่จอมพล ป.เองก็ต้องการใช้การเสด็จฯ เยือนพม่าในคราวนี้ เพื่อสนับสนุนนโยบายการต่างประเทศ และการเมืองภายในประเทศของตน ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงตระหนักดีว่า พระองค์สามารถใช้เรื่องนี้ต่อรองทางการเมืองกับรัฐบาลได้ โดยพระองค์มีพระราชประสงค์จะเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรในต่างจังหวัดเป็นการแลกเปลี่ยนกับการเสด็จฯ เยือนพม่าตามความต้องการของรัฐบาล

การต่อรองนี้เกิดขึ้นบนพื้นฐานที่ จอมพล ป. ต้องการฟื้นฟูบทบาทและกระชับความสัมพันธ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์ เนื่องจากมองว่าตนเองกำลังสู่ขาลง และการใช้ประโยชน์จากสถาบันฯ จะเป็นโอกาสที่ตนจะมีฐานทางการเมืองที่มั่นคงมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นนอกเหนือจากการเสด็จพระราชดำเนินในที่ต่างๆ แล้ว จอมพล ป.ยัง สนับสนุนให้ฟื้นฟูกรมกองและพระราชพิธีต่างๆ ที่ถูกยุบไปโดยคณะราษฎรขึ้นมาอีกครั้ง แม้บางอย่างจะเป็นไปในแบบย่นย่อก็ตาม

กลับมาเรื่องของการเสด็จพระราชดำเนินประพาสอีสานกันต่อ จากการต่อรองที่เกิดขึ้น ทำให้ จอมพล ป. กุลีกุจอในการวางแผนการเสด็จฯ ของในหลวง ร.๙ ไว้ ๓ ภาค คือ ภาคอีสาน, ภาคกลาง และภาคเหนือตลอดช่วงฤดูแล้งของปี ๒๔๙๘ โดยก่อนที่พระองค์จะเสด็จฯ เยือนภาคอีสาน พระองค์ทรงขอให้รัฐบาลจัดแผนการเสด็จฯ ไปยังบางจังหวัดในภาคกลาง ซึ่งจอมพล ป. ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้รับสนองพระบรมราชโองการทันทีพร้อมอนุมัติเงินจำนวน 260,000 บาท เพื่อใช้ในการซ่อมแซมที่ประทับ ค่าใช้จ่ายในการเสด็จฯ และค่าพระกระยาหาร … เรียกว่าใจป้ำสุดๆ 

ข่าวการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรภาคอีสานได้แพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว การร่ำลือปากต่อปากก็ทำให้แพร่ไปอย่างทั่วถึง ประชาชนแม้ในถิ่นทุรกันดารต่างหอบเสื่อหอบหมอน ข้าวปลาอาหาร จูงลูกจูงหลาน ชักชวนกันมาเฝ้า ทั้งในตัวเมืองที่กำหนดเป็นสถานที่รับเสด็จฯ หรือตามเส้นทางเสด็จผ่านทางถนนและทางรถไฟ อย่างที่สถานีรถไฟนครราชสีมา มีราษฎรมาเฝ้ารับเสด็จเป็นแสนคน โดยเดินทางมาจากอำเภอต่างๆ ทำให้โรงแรมในเมืองทุกแห่งเต็มหมดจนต้องพักกันตามศาลาวัด

“บารมีของในหลวงองค์นี้ล้นเหลือนัก” 
“เหมือนฟ้ามาโปรด” 
“แต่นี้ไปความแห้งแล้งจะหมดไปจากอีสานละ”  
“ฮ้อนปานใดก็ฮีดได้ ขอเห็นเจ้าอยู่หัวคักๆ เถอะ” 

คำเหล่านี้คือ คำพูดจากประชาชนเมื่อในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้เสด็จฯ โดยมีภาพจำตลอดสองข้างทางที่เสด็จฯ นั้น คลาคล่ำไปด้วยผู้คนที่อยากจะชื่นชมพระบารมี แม้มืดค่ำก็ไม่ได้มีความย่อท้อ ทั้งยังตั้งโต๊ะบูชาเรียงรายไว้เป็นแถว จุดธูปเทียน ทำให้แสงเทียนแวววาวอยู่ในความมืดทั้งสองฟากถนน เป็นภาพที่งดงาม ประชาชนต่างนั่งพนมมือขณะที่รถพระที่นั่งผ่าน

ในวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๔๙๘ ประวัติศาสตร์ชาติไทยต้องจารึกว่าพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่เสด็จฯ ไปสักการะพระธาตุพนม และภาพประวัติศาสตร์นึงที่เกิดขึ้น ณ จังหวัดนครพนมนี้ก็คือภาพที่ ในหลวง ร.๙ ทรงหยุดพระราชดำเนินที่แม่เฒ่าตุ้ม จันทนิตย์ วัย ๑๐๒ ปี และโน้มพระองค์ลงจนพระพักตร์แทบแนบชิดศีรษะแม่เฒ่า แย้มพระสรวลด้วยความเมตตา พระหัตถ์แตะมือกร้านของแม่เฒ่าด้วยความอ่อนโยนถือได้ว่าเป็นภาพประวัติศาสตร์ ซึ่งแสดงถึงความอ่อนโยนของพระองค์ ที่ทรงน้อมพระองค์ลงสู่ราษฎร อันเป็นข้อหนึ่งในทศพิธราชธรรมสำหรับพระมหากษัตริย์

การเสด็จฯ เยือนต่างจังหวัดได้เปิดโอกาสให้ประชาชนร้องทุกข์ต่อในหลวงรัชกาลที่ ๙ โดยตรงแทนที่จะยื่นเรื่องผ่านส่วนราชการ ทำให้ข้าราชการได้ตื่นตัวเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ มากขึ้น เรียกได้ว่าไม่เคยเกิดขึ้นผ่านระบบการปกครองของพรรคการเมืองหรือคณะราษฎรที่ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองตั้งแต่ ๒๔๗๕ เป็นต้นมา และในการเสด็จฯ เยือนภาคอีสานในครั้งนี้ รัชกาลที่ ๙ ยังได้ทรงพบกับ กระต่าย โดนสโสฤทธิ์ และ ผุย ชนะนิกร นายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรลาว ซึ่งเดินทางข้ามชายแดนมาเข้าเฝ้าฯ พระองค์ที่หนองคายด้วย โดยนายกฯ ลาว ถึงกับประหลาดใจที่คนไทยให้การต้อนรับในหลวงอย่างที่เขาไม่เคยเห็นมาก่อนในชีวิตนี้ 

แต่คนที่น่าจะประหลาดใจที่สุดน่าจะเป็น จอมพล ป. พิบูลสงคราม เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยือนราษฎรภาคอีสานในครั้งนี้ สำหรับในหลวงรัชกาลที่ ๙ ถือว่าเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์พระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักของประชาชนให้แก่พระองค์ และสำหรับจอมพล ป. แล้ว การสนับสนุนการเสด็จฯ ในครั้งนี้อาจเป็นนโยบายทางการเมืองที่ผิดพลาด เพราะนอกจากจะไม่สามารถสร้างความนิยมชมชอบตัวเขาในหมู่ประชาชนได้แล้ว กลับกลายเป็นว่าความชอบธรรมทางการเมืองและสังคมของจอมพล ป. กำลังถูกท้าทายจากบทบาทใหม่ของรัชกาลที่ ๙ ซึ่งเป็นที่นิยมชมชอบของประชาชน ซึ่งกลายเป็นชนวนที่ต่อมาจอมพล ป. ลดงบประมาณการเสด็จพระราชดำเนินภาคเหนือของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ลง 

พร้อมด้วยทัศนคติของจอมพล ป. ที่มีต่อในหลวงรัชกาลที่ ๙ นั้น ‘ย่ำแย่ลง’ ตามอุปนิสัยของท่านจอมพล ที่เรียกได้ว่า ‘ขี้อิจฉา’ โดยเฉพาะจุดแตกหักเกิดขึ้นหลังจากงาน ‘งานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ’ หนังสือพิมพ์ที่ควบคุมโดย จอมพล ป. และ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์  ที่ชื่อว่า ‘ไทเสรี’ ได้ลงข่าวโจมตีพระราชวงศ์อย่างหยาบคาย (เป็นการพาดหัวข่าวในลักษณะหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ)

กระแสของสังคมได้โต้กลับหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นอย่างรุนแรง รวมทั้งการอภิปรายโจมตีรัฐบาลอย่างหนักหน่วง ทำให้ความนิยมในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่เป็นมาอย่างยาวนาน เสื่อมลงไปอีก ทั้งยังสร้างความโกรธแค้นชิงชัง จอมพล ป. ให้เกิดขึ้นกับประชาชน จนเกิดเป็นการทำรัฐประหารยึดอำนาจจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๐ ที่มีนักวิชาการตกขอบชอบยกเหตุการณ์นี้ว่าเกิดขึ้นจากในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทั้งๆ ที่องค์พระมหากษัตริย์ในสมัยจอมพล ป. แทบจะไม่มีพระราชอำนาจใดๆ เลย และบริบททางสังคมและการเมืองในสมัยนั้นต้องการมิ่งขวัญของปวงชนมากกว่าผู้นำเผด็จการที่ชอบแอบอ้างตนและหวังการใช้ประโยชน์จากองค์พระมหากษัตริย์


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top