Monday, 20 May 2024
รัชกาลที่9

5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 ในหลวง ร.9 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เสด็จฯ โดยรถไฟ เยี่ยมพสกนิกรชาวขอนแก่น

วันนี้ เมื่อ 68 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถไฟพระที่นั่ง เยี่ยมพสกนิกรจังหวัดขอนแก่นเป็นครั้งแรก

ภายหลังจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวง รัชกาลที่ 9 เสร็จสิ้นพระราชภารกิจจาการศึกษาต่อ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์และได้เสด็จนิวัตมาประทับในพระราชอาณาจักรไทยเป็นการถาวรแล้ว จึงกำหนดการ 'เสด็จฯ เยี่ยมราษฎร' ในทุกภูมิภาคทั่วราชอาณาจักรขึ้น 

โดยปฐมแห่งการเสด็จฯ ได้ออกไปทรงเยี่ยมราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภูมิภาคแรก ระหว่างวันที่ 2-20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 

โดยในวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 พระองค์ได้เสด็จฯ โดยรถไฟ เยี่ยมพสกนิกรจังหวัดขอนแก่น เป็นครั้งแรก 

ซึ่งชาวขอนแก่นได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายถนนเส้นทางสายสำคัญเพื่อเป็นอนุสรณ์ และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแด่พระองค์ ในชื่อ 'ถนน 5 พฤศจิกายน'

เมื่อใต้ร่มไม้ใหญ่-ผืนป่า-ลำธาร ก่อกำเนิด 'ชีวิต-ทอแสงส่องให้ทั่วหล้า' แล้วเหตุไฉน จึงมีผู้ชี้นำว่า 'ความมืดมิด' คิดว่าเกิดจากร่มไม้ใหญ่

“ถูกปลูกฝังว่าเราควรอยู่ใต้ร่มไม้ใหญ่ จนสุดท้ายเรามองไม่เห็นแสงเลย #แล้วเมื่อไหร่เราจะเติบโตสักที” คำคมจากศิลปินท่านหนึ่ง ที่กลายเป็นข้อถกเถียงกันพอสมควรว่าหมายถึงอะไร ศิลปินท่านนั้นหิวแสง หรือกำลังพูดถึงการเติบโตแบบไหน 

ที่ผมเกริ่นมาข้างต้นนั้นช่างมันเถอะ คำคมของศิลปินท่านนั้นก็ช่างมันเถอะ!!!

สำหรับผมต้นไม้ใหญ่เป็นสิ่งสำคัญ ร่มไม้ที่มีอยู่คือความร่มเย็น การอยู่ใต้ร่มไม้เราก็เห็นแสงได้ ซึ่งข้อนี้คงขัดกับสิ่งที่ศิลปินท่านนั้นแสดงความคมแบบทื่อ ๆ ไว้

ความสำคัญของต้นไม้ใหญ่ที่ปกคลุมช่วยทำให้พืชพรรณเบื้องล่างชุ่มชื้นไม่โดนแสงแดดแผดเผา ประเทศไทยเราต้องการต้นไม้ใหญ่จำนวนมากเพื่อช่วยฟอกอากาศ ช่วยเก็บกักความชุ่มชื้นไว้ในผืนดิน ช่วยอุ้มชูต้นไม้เล็กให้ค่อย ๆ โตเป็นต้นไม้ใหญ่ 

ร่มไม้ใหญ่ที่ผมนึกถึงและอยากเล่าเรื่องราวคงจะเป็นเมื่อครั้งที่ได้ไปทำฝายทดน้ำที่เรียกว่า ‘ฝายแม้ว’ ที่จังหวัดเชียงใหม่เพื่อถวายแก่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ในปี ๒๕๔๙ 

ครั้งนั้นผมเริ่มต้นด้วยการสำรวจที่พื้นที่ป่าตามเส้นทางชมธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติศรีลานนา ซึ่งในวันนั้นผมได้มีโอกาสสัมผัส ‘ป่า’ ที่อุดมไปด้วยต้นไม้สูงใหญ่ โดยการนำทางของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ เส้นทางธรรมชาติที่คุณห้ามออกนอกทางเป็นอันขาดไม่งั้นหลงป่าแน่นอน 

เราเดินกันมาได้ราว ๆ ครึ่งชั่วโมง เดินพูดคุยกันแบบสบาย ๆ แม้จะเส้นทางจะมีความลำบากอยู่บ้าง เพราะเป็นทางขึ้น ๆ ลง ๆ แคบบ้าง กว้างบ้าง แต่ไม่มีความรู้สึกว่าร้อนเกินไป หรือเย็นเกินไป ด้วยร่มไม้จากป่าที่ปกคลุม พร้อมกับการได้รู้จักพันธุ์ต้นไม้ไม่คุ้นหู อย่าง น้ำเต้าพระฤาษี แต่ที่สำคัญกว่าผมได้พบกับความจริงที่สำคัญอย่างนึง

เจ้าหน้าที่อุทยานถามผมขณะเดินว่าสังเกตเห็นอะไรในป่าบ้างไหม ? คุณเห็นต้นไม้ที่หนาแน่นมีลักษณะยังไงบ้าง ? ผมนี่งงเลย มันก็ป่า มีต้นไม้แน่น แล้วมันยังไง ? 

ต้นไม้ที่หนาแน่นนั้น หากสังเกตดี ๆ มันมีความเป็นระเบียบเป็นบางส่วน คำว่า ‘บางส่วน’ ที่ว่ามันกินพื้นที่ ‘บางส่วน’ ของภูเขาที่ผมกำลังมองเห็นไม่ใช่บางส่วนเล็ก ๆ แต่มันเป็นบางส่วนที่ค่อนข้างกว้าง ป่าที่เห็นรวม ๆ จะเป็นป่าไม้เต็ง ส่วนที่เป็นระเบียบแทรกอยู่เป็นต้น ‘สัก’ ซึ่งก็มีอยู่ไม่น้อยโดยเฉพาะแถวๆ ริมห้วย

ป่าไม้ ‘สัก’ ที่เห็นเป็นระเบียบแต่ปกคลุมไปอย่างกว้างขวางนั้น เจ้าหน้าที่บอกผมว่าแต่เดิมมันเคยเป็นที่ ‘หัวโล้น’ เป็นวง ๆ อยู่ท่ามกลางภูเขา เพราะเกิดจากแผ้วถางทำไร่เลื่อนลอย ลักลอบตัดไม้ และน่าจะขยายวงไปมากกว่านี้ แต่พื้นที่ ‘หัวโล้น’ เหล่านี้ค่อย ๆ หายไปเพราะได้รับการปลูกป่าทดแทน จากการสังเกตของบุคคลผู้หนึ่งที่ได้นั่งเฮลิคอปเตอร์ผ่านไปเมื่อประมาณสัก ๑๐ กว่าปีก่อน

ป่าที่ถูกปลูกขึ้นเพื่อทดแทนป่าที่หายไป โดยเป็นการปลูกพันธุ์ไม้ที่ไม่ได้รบกวนระบบนิเวศเดิม ช่วยรักษาความชุ่มชื้นหน้าดิน และตลอดทางที่เดินผ่านจะเห็นทางน้ำขนาบไปด้วย แม้จะไม่มีน้ำแต่ก็มีความชุ่มน้ำอย่างเห็นได้ชัด

บางส่วนที่มีลำน้ำไหลผ่านผมก็จะเห็นฝายแม้วที่ทำขึ้นจากไม้ไผ่และก้อนหิน ขนาบสองฝั่งลำน้ำเล็กๆ ด้วยต้นไม้ใหญ่ปกคลุม 

‘ในหลวงรัชกาลที่๙’ คือบุคคลผู้นั่งเฮลิคอปเตอร์ผ่านไปในวันนั้น พระองค์ทรงสังเกตเห็นความแหว่งของป่า สีของป่าที่ดูเหมือนคนป่วย พระราชดำริในการปลูกป่าในภาคเหนือเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผสมกับการสร้างฝายแม้วเพื่อชะลอและกักเก็บน้ำให้เกิดประโยชน์ต่อการเกษตร เจ้าหน้าที่ท่านนั้นบอกกับผม 

นอกจาก ‘ป่าไม้’ จริง ๆ ที่พระองค์ทรงปลูกแล้ว พระองค์ยังทรง ‘ปลูกป่าในใจ’ ให้เกิดขึ้นใจของปวงชนด้วย ผมก็เป็นหนึ่งคนที่จดจำความร่มเย็นจากป่าที่พระองค์ทรงปลูกไว้ได้อย่างเต็มหัวจิตหัวใจ ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งของพระองค์ที่ว่า

“…ควรจะปลูกต้นไม้ในใจคนเสียก่อน แล้วคนเหล่านั้นก็จะพากันปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดินและรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง...” 

เรื่องออกจากร่มไม้ใหญ่หรือเรื่องการเติบโต หากยังไม่รู้จัก และจะออกจากร่มไม้ก็ช่างมันเถอะนะครับ ส่วนเจ้าหน้าที่ท่านนั้นก็ได้พูดคุยกับผมมาอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นเพื่อนกัน และส่งข่าวคราวหากันอยู่บ่อย ๆ และเราเห็นตรงกันครับว่า...

บ้านเราต้องมีต้นไม้ มีป่า มีน้ำ แล้วเราถึงจะมี ‘ชีวิต’ ครับ

24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ในหลวง ร.9 เสด็จฯ ทางชลมารค เปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์

วันนี้เมื่อ 13 ปีก่อน ถือเป็นวันสำคัญของเมืองไทย เมื่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคไปทรงเปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ รวมถึง สะพานภูมิพล 1 และสะพานภูมิพล 2 ทั้งหมดเป็นโครงการในพระราชดำริที่ทรงตั้งใจแก้ปัญหาให้กับประชาชน

โดยที่มาของการสร้างประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ เกิดขึ้นจากการทรงเห็นว่า สภาพของแม่น้ำเจ้าพระยาเดิมมีลักษณะไหลวนคดเคี้ยว โดยเฉพาะบริเวณรอบพื้นที่บางกระเจ้า ที่มีความยาวถึง 18 กิโลเมตร ส่งผลให้การระบายน้ำที่ท่วมพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานครเป็นไปได้ช้า ไม่ทันเวลาน้ำทะเลหนุน

จึงมีพระราชดำริให้พัฒนาใช้คลองลัดโพธิ์ ซึ่งเดิมมีความตื้นเขินและมีความยาวราว 600 เมตร ให้เป็นประตูระบายน้ำที่หลากและน้ำที่ท่วมสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อให้ลงสู่ทะเลทันที และจะปิดคลองลัดโพธิ์เมื่อน้ำทะเลหนุน เพื่อหน่วงน้ำทะเลไม่ให้ขึ้นลัดเลาะไปตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยาที่คดโค้งถึง 18 กิโลเมตรด้วยกัน

ในส่วนของสะพานภูมิพล 1 และ 2 ทรงมีพระราชดำริให้จัดสร้างเพื่อรองรับการขนถ่ายและลำเลียงสินค้าจากท่าเรือกรุงเทพ ไปยังพื้นที่อุตสาหกรรมใน จ.สมุทรปราการ และพื้นที่อื่น ๆ ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาการจราจร โดยเฉพาะรถบรรทุกขนาดใหญ่จากแหล่งอุตสาหกรรม เพื่อให้มีช่องทางเลี่ยงออกจากใจกลาง กทม. สู่ต่างจังหวัดได้ทันที

ทั้งหมดคือพระราชประสงค์เพื่อแก้ปัญหาและยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยให้ดียิ่งขึ้น จากวันนี้และในอนาคตสืบไป...


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top