Friday, 3 May 2024
มาเลเซีย

‘เศรษฐา’ ขอบคุณ ‘นายกฯ มาเลฯ’ ช่วยเจรจาปล่อยตัวประกันไทย  เล็ง!! ร่วมมือการค้าชายแดน แก้ปัญหาชายแดนใต้ นำพาสันติสุข

(27 พ.ย.66) ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) ดอนเมือง กรุงเทพฯ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ก่อนเดินทางลงพื้นที่ด่านสะเดา จ.สงขลา เพื่อพบกับนายกรัฐมนตรีของมาเลเซียว่า วันนี้หนึ่งในเรื่องที่จะพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย คือ การขอบคุณที่มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือตัวประกันให้ได้รับการปล่อยตัว ซึ่งกำลังจะครบกำหนดเงื่อนไข 24 ชั่วโมงที่ขอให้หยุดยิง จึงจะขอให้นายกรัฐมนตรีของมาเลเซียช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ตัวประกันได้รับการปล่อยตัวทั้งหมด

นายกฯ กล่าวว่า จะมีการดูแลตัวประกันอย่างใกล้ชิด ซึ่งทุกคนปลอดภัยดี โดยภาพรวมถือว่าดี และจะพยายามดำเนินการต่อไป เพื่อนำพาออกมาให้หมด วันนี้เข้าใจว่านายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ จะเดินทางไปรับด้วยตัวเอง ส่วนการปล่อยตัวประกันที่เหลือ เราพยายามทำอยู่ เรื่องนี้ค่อนข้างละเอียดอ่อน ตนจึงไม่อยากพูดไปก่อน ขอให้รอดูต่อไป และจนถึงวันนี้ก็มีการปล่อยตัวประกันทุกวัน ตั้งแต่ 10 คน และ 3-4 คน ตามมา ก็จะพยายามทำต่อไปอย่างต่อเนื่อง วันนี้ฝ่ายความมั่นคง โดยผู้บัญชาการทหารสูงสุด ก็ได้ติดตามอย่างใกล้ชิด และกำชับลงรายละเอียดอย่างมาก ฉะนั้น ขอความกรุณาในการเผยแพร่ข้อมูล ตนไม่อยากพูดเท่าไร เพราะเป็นเรื่องความปลอดภัยของตัวประกันสำคัญที่สุด

อย่างไรก็ตาม นายกฯ กล่าวว่า การลงพื้นที่วันนี้จะมีการพูดคุยถึงความร่วมมือการค้าชายแดน โดยจะติดตามความคืบหน้าเรื่องที่เคยพูดคุยกันไปแล้วเมื่อครั้งพบประกันเมื่อ 1 เดือนที่ผ่านมา รวมทั้งปัญหาชายแดนภาคใต้ ซึ่งทางมาเลเซียเคยมีข้อเสนอมาแล้วครั้งนี้ก็จะพูดคุยในรายละเอียด และการตรวจคนเข้าเมือง ส่วนการเปิดด่านถาวรสะเดาได้เมื่อไหร่นั้นขอพูดคุยในละเอียดในวันนี้ก่อน

นายเศรษฐา กล่าวอีกว่า ในส่วนคณะพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้ ซึ่งหมดวาระพร้อมกับรัฐบาลชุดที่แล้ว จะมีการแต่งตั้งทหารหรือพลเรือนนั้น จะต้องให้หน่วยงานไปพูดคุยกันก่อน

‘มาเลเซีย’ ประกาศแบนเรือสินค้า ‘อิสราเอล’ ไม่ให้จอดเทียบท่า โต้ถล่มกาซา-ชาวปาเลสไตน์ มั่นใจการค้าของประเทศไม่กระทบ

(20 ธ.ค.66) ประเทศมาเลเซีย ได้ประกาศแบนไม่ให้เรือบรรทุกสินค้าสัญชาติอิสราเอลจอดเทียบท่าที่ท่าเรือของมาเลเซีย เพื่อเป็นการตอบโต้การที่อิสราเอลทำการโจมตีใส่ฉนวนกาซาและชาวปาเลสไตน์ ซึ่งมาเลเซียกล่าวว่าเป็นการเพิกเฉยต่อหลักมนุษยธรรมขั้นพื้นฐานและละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้ระบุในแถลงการณ์ว่า “รัฐบาลมาเลเซียได้ตัดสินใจที่จะขัดขวางและไม่อนุญาตให้ ZIM บริษัทขนส่งสินค้าที่มีฐานการดำเนินงานในประเทศอิสราเอล จอดเรือเทียบท่าที่ท่าเรือใดก็ตามของมาเลเซีย” รวมถึงไม่อนุญาตให้เรือลำใดก็ตามที่ติดธงอิสราเอลเข้ามาจอดเทียบท่าในประเทศเช่นกัน

นอกจากนั้นแล้ว มาเลเซียยังได้แบนไม่ให้เรือลำใดก็ตามที่กำลังเดินทางไปยังอิสราเอล ทำการลงสินค้าที่ท่าเรือของมาเลเซียโดยมีผลในทันที ด้านนายกรัฐมนตรีอิบราฮิมของมาเลเซียมั่นใจว่าการค้าของประเทศจะไม่ได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจดังกล่าว โดยมาเลเซียไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอล

ก่อนหน้านั้น รัฐบาลมาเลเซียได้อนุญาตให้บริษัท ZIM สามารถนำเรือมาจอดเทียบท่าที่ท่าเรือของมาเลเซียได้ในปี 2002 แต่ใบอนุญาตดังกล่าวก็ได้ถูกเพิกถอนออกไปแล้วตามแถลงการณ์ล่าสุดของนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย

‘มาเลเซีย’ หวังคว้าประโยชน์จาก ‘เทคโนโลยีจีน’ ภาคส่วนการบิน เชื่อ!! จะนำโอกาสมาให้ พร้อมก้าวสู่บทบาทห่วงโซ่อุปทานระดับโลก

เมื่อวานนี้ (19 ก.พ.67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เหลียวชินตง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการลงทุน การค้า และอุตสาหกรรมของมาเลเซีย กล่าวว่ามาเลเซียต้องการคว้าประโยชน์จากเทคโนโลยีของจีนในภาคส่วนการบิน เพื่อมีบทบาทมากขึ้นในห่วงโซ่อุปทานระดับโลกในภาคส่วนดังกล่าว

ทั้งนี้ เหลียวชินตง ได้ขึ้นกล่าวที่การประชุมการบินมาเลเซีย-จีน ปี 2024 (Malaysia-China Aviation Forum 2024) ระบุว่า อุตสาหกรรมการบินและอวกาศที่เติบโตอย่างรวดเร็วของจีนจะนำมาซึ่งโอกาสและพลวัตใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่มาเลเซียหวังว่าจะได้รับผลประโยชน์ด้วย

ซึ่ง เหลียวชินตง กล่าวเสริมว่ามาเลเซียมีสถานะที่น่าเชื่อถืออยู่แล้วในด้านวัสดุการบิน รวมถึงการผลิตชิ้นส่วนและส่วนประกอบของเครื่องบิน แต่เราต้องการเดินหน้าทำงานมากกว่านี้และมีส่วนสำคัญมากขึ้นในห่วงโซ่อุปทานระดับโลก

การประชุมฯ เน้นย้ำถึงความร่วมมือที่ผสานรวมความเชี่ยวชาญของจีน และความปรารถนาของมาเลเซียในการเป็นส่วนที่ขาดไม่ได้ในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมการบินและอวกาศระดับโลก

ทั้งนี้ แบบพิมพ์เขียวอุตสาหกรรมการบินและอวกาศของมาเลเซีย ปี 2030 ระบุว่ามาเลเซียตั้งเป้าเป็นประเทศด้านการบินและอวกาศแห่งหลักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นส่วนสำคัญของตลาดโลกภายในปี 2030 โดยคาดการณ์ทำรายได้ต่อปี 5.52 หมื่นล้านริงกิต (ราว 4.16 แสนล้านบาท) และสร้างตำแหน่งงานที่มีรายได้สูงกว่า 32,000 อัตรา

‘มาเลเซีย’ หนุนเรียนสายอาชีพ ด้านเกษตรกรรม เพื่อลดการพึ่งพา สินค้านำเข้าจากต่างประเทศ

(3 มี.ค.67) สำนักข่าวซินหัว เจ้าหน้าที่มาเลเซียระบุ ว่ารัฐบาลมาเลเซียตั้งเป้ากระชับและเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารของประเทศ ด้วยการเพิ่มจำนวนผู้สำเร็จการศึกษาด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษา รวมถึงผู้สำเร็จการฝึกอบรม

โมฮัมหมัด ซาบู รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและความมั่นคงอาหารของมาเลเซีย กล่าวกับผู้สื่อข่าว หลังการเปิดตัวงานแสดงสินค้าเกษตร ว่านอกเหนือจากการดึงดูดนักศึกษาให้มาเรียนด้านเกษตรกรรมกันมากขึ้นแล้ว รัฐบาลมาเลเซียยังมีเป้าหมายส่งเสริมผู้สำเร็จการศึกษาจากสาขาวิชาอื่นๆ หลากหลายแขนงให้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในภาคส่วนนี้

โมฮัมหมัด ให้ข้อมูลว่า เป้าหมายสำคัญของกระทรวงฯ ในปีนี้คือการพัฒนาอุตสาหกรรม 4 ประเภทที่มีความสำคัญ ได้แก่ ข้าวและข้าวเปลือก ไก่ เป็ดและไข่เป็ด หอมแดง และสับปะรด

สำหรับโครงการริเริ่มเกี่ยวกับข้าวที่เปิดตัวในปีนี้ ตั้งเป้าเพิ่มระดับการพึ่งพาข้าวในประเทศให้แตะอย่างน้อยร้อยละ 80 เพื่อลดการพึ่งพาสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ในอีก 10 ปีข้างหน้า

อนึ่ง งานแสดงสินค้าเกษตรข้างต้นจัดขึ้นเป็นเวลา 3 วัน โดยเป็นเวทีว่าด้วยความยั่งยืนของระบบนิเวศด้านการจัดหาอาหาร และเวทีเพื่อการนำเสนอนวัตกรรม แนวปฏิบัติ และเทคโนโลยีต่างๆ ในภาคการเกษตร

ครบรอบ 10 ปี เที่ยวบิน MH 370 สาบสูญ 'มาเลเซีย' เตรียมรื้อแผนค้นหาใต้ทะเลลึกอีกครั้ง

รัฐบาลมาเลเซียเตรียมพิจารณาแผนการค้นหาซากเครื่องบินโบอิ้ง 777 ของมาเลเซีย แอร์ไลน์ เที่ยวบิน MH 370 ที่หายสาบสูญไปจากจอเรดาร์ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2014 ขณะออกจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ มุ่งหน้าสู่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน พร้อมผู้โดยสารและลูกเรือรวม 239 ชีวิต อย่างเป็นปริศนาจนถึงวันนี้ ที่กำลังจะครบรอบ 10 ปีของเหตุโศกนาฏกรรมดังกล่าวก็ยังไม่สามารถหาซากเครื่องบินพบ 

ทางการมาเลเซีย เคยประสานความร่วมมือกับหลายชาติ ทั้งจีน และ ออสเตรเลีย พยายามค้นหาเครื่องบิน MH 370 มาโดยตลอด 

แต่ทว่า พื้นที่ในการค้นหากว้างขวางมากถึง 1.2 แสนตารางกิโลเมตร ครอบคลุมน่านน้ำตั้งแต่ชายฝั่งออสเตรเลียตะวันตก ไปจนถึงมหาสมุทรอินเดีย และ เอเชียกลาง และใช้เวลาสำรวจนานมากกว่า 2 ปีตั้งแต่ปี 2017 - 2019 ทุ่มเทงบประมาณถึง 130 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4.68 พันล้านบาท) แต่ก็ยังหาเครื่องบิน MH 370 ไม่พบ ทิ้งไว้แต่เพียงความสิ้นหวังของครอบครัวผู้โดยสาร และ ลูกเรือ ที่หายสาบสูญไปพร้อมกับเที่ยวบินมรณะ 

แต่มาวันนี้ แอนโธนี โลค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้กล่าวในงานรำลึกครบรอบ 10 ปี โศกนาฏกรรมเที่ยวบิน MH 370 ว่า รัฐบาลมาเลเซียยังคงมีความมุ่งมั่นที่จะค้นหา และ การค้นหาจะต้องดำเนินต่อไปอย่างแน่นอน 

พร้อมกล่าวว่า ตอนนี้กำลังพิจารณาแผนการของ บริษัทสำรวจพื้นผิวใต้ทะเลของสหรัฐอเมริกา Ocean Infinity ที่ได้ยื่นเสนอโครงการค้นหา MH 370 ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ทีมสำรวจก่อนหน้าประสบความล้มเหลวไปแล้วถึง 2 ครั้ง 

รัฐมนตรี โลค กล่าวว่า ตอนนี้ โครงการครั้งใหม่ของ Ocean Infinity กำลังได้รับการพิจารณาในสภา โดยบริษัทสำรวจของสหรัฐฯ ยินดีรับประกันผลงานแบบ ‘ไม่เจอ ไม่ต้องจ่าย’ แต่ถ้าหาเจอ ทางรัฐบาลมาเลเซียถึงจะจ่ายค่าบริการสำรวจให้แก่ Ocean Infinity เป็นเงิน 70 ล้านดอลลาร์ ซึ่งคาดหวังว่า การค้นหาครั้งใหม่จะเริ่มต้นได้ในเร็ว ๆ นี้

แต่สำหรับครอบครัว และ ญาติมิตรผู้สูญเสีย หลังจากผ่านมา 10 ปี พวกเขาคิดอย่างไรกับการติดตามหาเครื่องบินมาเลเซีย แอร์ไลน์ ที่สาบสูญ 

ครอบครัวผู้เสียชีวิตบางกลุ่ม เรียกร้อง และ ยืนยันให้รัฐบาลมาเลเซียค้นหาเครื่องบินจนเจอ เพื่อให้เกิดความกระจ่างในกระบวนการยุติธรรม 

อาทิ นาย ไป๋ จง ชาวจีนผู้สูญเสียภรรยาจากเหตุโศกนาฏกรรม กล่าวหนักแน่นว่า ไม่ว่าจะผ่านไป 10 ปี 20 ปี หรือนานกว่านั้น ก็ยังคงต้องการคำตอบจากเหตุการณ์ดังกล่าว และเชื่อว่าเราจะสามารถค้นพบความจริงได้ในสักวันหนึ่ง

ในขณะที่ เกรซ นาธาน ทนายความมาเลเซียผู้สูญเสียแม่ไปกับเหตุการณ์ครั้งนั้น กล่าวว่าเธอรู้สึกยินดีที่ได้ยินว่าจะมีการเริ่มโครงการค้นหาซากเครื่องบินอีกครั้ง แต่ก็ควรอยู่ในโลกความจริง และไม่ต้องการให้รัฐบาลเสียงบประมาณเป็นพัน ๆ ล้านไปกับการพยายามค้นหาโดยเปล่าประโยชน์ 

แต่หากมองในอีกแง่หนึ่ง การผลักดันให้มีการค้นหา MH 370 จนสำเร็จก็เพื่ออนาคตของอุตสาหกรรมการบิน เพราะ MH370 จะไม่ถูกทิ้งเป็นประวัติศาสตร์ แต่จะนำไปสู่อนาคตของการวางมาตรฐานความปลอดภัยในการบิน เป็นเครื่องเตือนใจที่จะทำให้ผู้ที่รับผิดชอบนึกถึงทุกครั้งก่อนนำเครื่องบินขึ้นสู่ท้องฟ้า 

ซึ่งเชื่อว่า ปริศนา MH 370 ถูกค้นพบ และ คลี่คลายได้อย่างแน่นอนในสักวันหนึ่ง

ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลา สนธิกำลังกับตำรวจปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ รวบเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย

ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.อิทธิพล อิทธิสารรณชัย ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ผบช.สตม.) , พล.ต.ต.มานัด ศรีวงษา รอง ผบช.สตม. , พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ รอง ผบช.สตม. , พล.ต.ต.ทรงโปรด สิริสุขะ ผบก.ตม.6 นำกำลัง ตม.จว.สงขลา ผนึกกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.สะเดา , เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) บช.ก , เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ. คลองแงะ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.6 กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) บช.ก. เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2567 เวลาประมาณ 14.50 น. ได้ร่วมกันจับกุม MR.CHEONG KOK WAI  อายุ 43 ปี สัญชาติ มาเลเซีย  

เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลา ได้รับการประสานว่ามีบุคคลต้องสงสัยตามหมายจับ ผ่านพรมแดนเข้ามายังประเทศไทย จึงขอให้ตำรวจ สภ.สะเดา ตั้งจุดสกัด ต่อมาได้พบรถเก๋งยี่ห้อ Mercedes-benz  ติดแผ่นป้ายทะเบียน WA868W จึงตามไปถึงบริเวณแยกไฟแดงควนสะตอ เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจึงได้หยุดรถและแสดงตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจสอบ พบ MR.CHEONG KOK WAI สัญชาติมาเลเซีย ได้เชิญตัวมายัง สภ.สะเดา ตรวจสอบพบหมายจับดังกล่าว สอบถาม MR.CHEONG KOK WAI ผู้ถูกจับกุมให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และไม่ขอให้การในชั้นจับกุม

พ.ต.อ.ชินวุฒิ ตั้งวงษ์เลิศ ผกก.ตม.จว.สงขลา กล่าวว่า การจับกุมในครั้งนี้ ผบช.สตม.มีนโยบายให้เข้มงวดคัดกรองตรวจสอบประวัติบุคคล ไม่ให้มีผู้กระทำความผิดกฎหมายเข้ามาสร้างความเสียหายแก่ประเทศไทยได้ จึงขอฝากข้อมูลถึงประชาชน หากพบเบาะแสสามารถแจ้งได้ที่สายด่วนสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง 1178

‘สิงคโปร์-มาเลเซีย’ เตือนเยาวชน ‘ยาดมชูกำลัง’ ไม่มีจริง เสี่ยงติดโรคทางเดินหายใจ แถมส่งเสริมให้ติดบุหรี่ด้วย

รัฐมนตรีสาธารณสุขสิงคโปร์ สั่งสอบเข้ม ‘ยาดมชูกำลัง’ หรือ ‘Energy Stick’ ที่กำลังฮิตอย่างมากในหมู่วัยรุ่น-วัยเรียนชาวสิงคโปร์และมาเลเซียอยู่ในขณะนี้ ว่าจะมีผลเสียต่อร่างกาย และจิตใจผู้ใช้ ส่งเสริมพฤติกรรมติดบุหรี่ในอนาคตหรือไม่?

‘Energy Stick’ หรือ ‘ยาดมชูกำลัง’ ที่กำลังแพร่หลายในท้องตลาดสิงคโปร์ มาในรูปแบบคล้ายกล่องยาดมหลอดคู่ มีขนาดพอๆ กับกล่องไม้ขีดไฟ และมีสีสันสดใส แถมยังมีหลากหลายกลิ่นให้เลือก ทั้งกลิ่นมินท์, แตงโม, องุ่น, ส้ม, มะนาว และอื่นๆ อีกมากมาย อีกทั้งยังเคลมสรรพคุณ สูดดมแล้วมีแรง แก้ง่วง เหมาะสำหรับ นักเรียน นักศึกษา ที่ต้องอ่านหนังสือหนักตอนกลางคืน หรือ คนทำงาน OT หรือผู้ที่ต้องขับรถนานๆ ที่อาจเกิดอาการง่วงซึมระหว่างเดินทาง

เบื้องต้น ทางผู้ผลิตแจ้งส่วนประกอบในยาดมชูกำลังว่า มีเพียงส่วนผสมของน้ำมันหอมระเหย และสารสกัดจากธรรมชาติที่ปลอดภัยเท่านั้น อีกทั้งยังมีราคาถูก สามารถหาซื้อได้ทั่วไปเพียงหลอดละไม่เกิน 1.5 เหรียญสิงคโปร์ (ประมาณไม่เกิน 37 บาท) บวกกับกลยุทธ์การโฆษณาผ่านโซเชียลมีเดีย ที่สนับสนุนให้สูดดมก่อนไปเรียนหนังสือ หรือไปทำงานทุกวัน ทำให้ตาตื่น จนเป็นที่นิยมในกลุ่มเด็กวัยรุ่นอย่างมาก 

อย่างไรก็ตาม ทางหน่วยงานด้านสาธารณสุขในสิงคโปร์ ก็ได้ออกมาเตือนถึงผลเสีย หากสูดดม Energy Stick เป็นประจำว่า อาจเสี่ยงต่อเยื่อโพรงจมูกอักเสบ และโรคทางเดินหายใจได้ รวมทั้งตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับสารประกอบในยาดมประเภทนี้บางยี่ห้อ อาจมีส่วนผสมของนิโคติน หรือ กัญชา ที่จะกระตุ้นให้ผู้ใช้มีความกระปรี้กระเปร่า ตาตื่น มีแรงทำกิจกรรมมากขึ้น ตามคำเคลมโฆษณา

ด้านผู้เชี่ยวชาญบางคนชี้ว่า แม้ยาดมชูกำลัง จะไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมายเช่นเดียวกับบุหรี่ไฟฟ้า และอาจไม่มีผลข้างเคียงหากใช้สูดดมในระยะสั้น แต่ถ้าใช้การใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดอาการติดได้

สำหรับเจ้า Energy Stick ก็ไม่ได้เป็นปัญหาแค่ในสิงคโปร์เท่านั้น หากยังเป็นปัญหาในตลาดมาเลเซียด้วยเช่นกัน เมื่อ อัมราฮี บวัง ประธานสมาคมเภสัชกรแห่งมาเลเซีย ออกมาเตือนว่า ยาดมชูกำลังมีส่วนผสมบางอย่างที่คล้ายกับสารในบุหรี่ไฟฟ้า ต่างกันแค่ตรงที่ไม่มีการเผาไหม้ รวมถึงรูปแบบการใช้งาน ที่เป็นหลอดยาดมคู่ สำหรับสอดเข้าไปในโพรงจมูกทั้งสองข้างพร้อมกัน ทำให้รับสารระเหยโดยตรงเข้าสู่ปอดในปริมาณมาก และอาจเป็นด่านแรกที่จะกระตุ้นพฤติกรรมผู้บริโภคไปสู่การทดลองสูบบุหรี่ไฟฟ้า และ บุหรี่ทั่วไปในกลุ่มเยาวชนในเวลาต่อมาได้ 

โดยข้อแตกต่างระหว่างยาดมทั่วไป และ ยาดมชูกำลัง สำหรับในมาเลเซียคือ ผลิตภัณฑ์ยาดมทั่วไปจะต้องขึ้นทะเบียนเพื่อตรวจสอบกับสำนักงานคณะกรรมการเภสัชกรรมแห่งชาติก่อน จึงสามารถจำหน่ายได้ทุกช่องทาง แม้ในร้านขายยา แต่สำหรับ Energy Stick นั้นยังไม่มีการขึ้นทะเบียน และจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์เท่านั้น ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญในมาเลเซียได้เรียกร้องให้แบนยาดมชูกำลัง พร้อมทั้งถอดโฆษณา และช่องทางจำหน่ายออกจากแพลตฟอร์มออนไลน์โดยทันที จนกว่าจะผ่านขั้นตอนการขึ้นทะเบียน ตรวจสอบส่วนประกอบอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

เช่นเดียวกับ ดร.เซวา ตู เวิน หัวหน้าแผนกโรคระบบทางเดินหายใจและผู้ป่วยวิกฤติ ของโรงพยาบาล Singapore General Hospital ที่ชี้ว่า ผู้ผลิต พยายามสื่อสารกับผู้บริโภคให้หลงเข้าใจว่า ยาดมชูกำลัง มีความเป็นธรรมชาติมากกว่า และ มีผลดีต่อสุขภาพมากกว่า เมื่อเทียบกับบุหรี่ไฟฟ้า 

แต่จริงๆ แล้ว มีงานวิจัยจำนวนมากบ่งชี้ว่า สารแต่งกลิ่นบางชนิดมีก็เป็นพิษต่อระบบทางเดินหายใจได้ แล้วยังทำให้การทำงานของเซลล์ภูมิคุ้มกันทางเดินหายใจบกพร่อง และสร้างความเสียหายต่อเซลล์เหมือนกัน

ดังนั้น วัยรุ่นหยุดคิดสักนิด อย่าเพิ่งหลงเชื่อคำเคลมแรงๆ เพราะแค่ดมแล้วมีแรง ในราคาไม่กี่สิบบาท ไม่มีอยู่จริง 

ฟองสบู่ Forest City เมืองใหม่แห่งอนาคตในมาเลเซีย โครงการยักษ์ 3.6 แสนล้าน ที่กำลังกลายเป็นเมืองร้าง

หากนับย้อนหลังไปเมื่อปี พ.ศ. 2559 ชาวมาเลเซียจำนวนไม่น้อย น่าจะตื่นเต้นกับโครงการพัฒนาเมืองใหม่ ระดับเมกะโปรเจกต์ที่ชื่อว่า ‘Forest City’ ซึ่งเป็นโครงการร่วมทุนระหว่าง 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ บริษัท เอสพลานาด แดงกา 88 ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลมาเลเซีย และ ‘คันทรี การ์เดน’ บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อันดับต้น ๆ ของจีน ในเขตพื้นที่ของรัฐยะโฮร์ ที่เชื่อมต่อกับสิงคโปร์ ด้วยงบประมาณก่อสร้างสูงถึง 1 หมื่นล้านเหรียญ (ประมาณ 3.6 แสนล้านบาท) 

โดยโครงการนี้ ถูกนำเสนอโดยรัฐบาลจีนเป็นครั้งแรกราวๆ ปี พ.ศ. 2549 ที่หวังจะให้เป็นส่วนหนึ่งในแผน Belt and Road Initiatives มีเป้าหมายยกระดับพื้นที่ในเขตรัฐยะโฮร์ ให้กลายเป็นศูนย์กลางธุรกิจใหม่ ครบครันด้วย อาคารสำนักงาน, ห้างสรรพสินค้า, ที่อยู่อาศัย และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่สามารถรองรับประชากรได้ถึง 7 แสนคน 

และยังเป็นโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของ บริษัท คันทรี การ์เดน อีกด้วย หลังจากมีการนำเสนอ โครงการมานานถึง 10 ปี Forest City ก็ได้รับการอนุมัติก่อสร้างโดย อดีตนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2578 

แต่ทว่า วันนี้ Forest City ที่ผู้สร้างโปรโมตว่าจะกลายเป็นเมืองสวรรค์ในฝันของคนมีอันจะกิน มีแววจะกลายเป็นเมืองร้าง (Ghost Town) ไปเสียแล้ว เมื่ออาคารหลายแห่งสร้างแล้วเสร็จไปกว่าครึ่ง แต่กลับมีคนที่มาอยู่จริงน้อยมาก 

วันนี้เราจึงเห็นแต่ภาพตึกสูงระฟ้า เรียงรายเต็มพื้นที่หน้าชายหาด ยาวเหยียดเป็นกิโลของ Forest City ที่ถูกทิ้งร้าง มืดมิด เงียบเหงา ไร้ผู้คน และรถรา นอกจากเสียงจิ้งหรีดเรไรดังสนั่นทั่วบริเวณ

ชาวมาเลเซียบางส่วน ที่เข้ามาจับจอง ซื้อห้องพักใน Forest City ในช่วงเปิดโครงการด้วยความหวังว่าจะได้อยู่ในย่านสังคมเมืองใหม่อนาคตไกล ต่างรู้สึกผิดหวัง และ ต้องการย้ายออกเพราะเริ่มไม่ไหวจะทนกับบรรยากาศอันแสนวังเวง ถ้าจะมีข้อดีเพียงอย่างเดียวใน Forest City ณ ขณะนี้ คือ ความเงียบสงบสำหรับคนที่ต้องการปลีกวิเวกอย่างแท้จริง

สาเหตุที่โครงการยักษ์ Forest City ผิดเป้าค่อนข้างไกล แถมมีโอกาสที่จะกลายเป็นเมืองผีที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนนั้น เกิดจากหลายปัจจัย 

และสิ่งที่ประเมินพลาดที่สุดอย่างแรกคือ การเจาะกลุ่มเป้าหมายในช่วงเปิดโครงการ ที่เน้นไปยังกลุ่มลูกค้าชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่มีฐานะตั้งแต่ระดับกลาง - สูง เป็นหลัก ที่กำลังมองหาสินทรัพย์ลงทุนในต่างแดน แทนที่จะเป็นชาวมาเลเซียทั่วไป จึงทำให้โครงการนี้ถูกวิพากษ์ วิจารณ์จากชาวมาเลเซียจำนวนมากว่าเป็นการสร้างเมืองเพื่อผลประโยชน์ของคนจีนเป็นสำคัญมากกว่าชาวมาเลเซียเจ้าของประเทศ 

เมื่อเน้นไปที่ตลาดจีน โครงการนี้จึงได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดของ Covid-19 ที่รัฐบาลจีนมีนโยบายปิดเมืองนานนับปี ทำให้ชาวจีนส่วนใหญ่เดินทางออกนอกประเทศไม่ได้ อีกทั้งภาวะเศรษฐกิจของจีนที่ยังถดถอยหลังวิกฤติการระบาด จึงทำให้ยอดขายอสังหาริมทรัพย์ของ Forest City ไม่เป็นไปตามเป้าหมายอย่างที่คาดการณ์ไว้

อีกทั้งปัญหาด้านการเงินของ บริษัทคันทรี การ์เดน ที่เป็นหนึ่งในผู้ลงทุนหลักในโครงการนี้ จากวิกฤตฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์จีน ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลอย่างมากต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และ ประชาชนทั่วไปที่กำลังพิจารณาเช่า-ซื้อ ทรัพย์สินในโครงการ Forest City กับอนาคตที่คาดเดาได้ยากว่า คันทรี การ์เดน จะกลับมาฟื้นสภาพ รอดพ้นจากภาวะหนี้สินในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของตนได้เมื่อไหร่ 

รวมถึงปัจจัยด้านกำลังซื้อของชาวจีนที่ไม่เหมือนเดิม จากที่ประเมินในช่วงก่อนวิกฤติ Covid-19 ทำให้ Forest City จำเป็นต้องเปลี่ยนกลยุทธการตลาดหลายครั้ง จากการสร้างเมืองใหม่เพื่ออยู่อาศัยของกลุ่มนักธุรกิจชั้นนำ ที่เน้นไปที่เศรษฐีชาวจีนเป็นหลัก ถูกเปลี่ยนมาเป็นเมืองเพื่อการท่องเที่ยวพักผ่อนชายทะเลระยะสั้นสำหรับนักท่องเที่ยวทั่วไป ทั้งชาวจีน และ มาเลเซีย ซึ่งสามารถกระตุ้นยอดจองโรงแรม ที่พักในเมืองได้บ้าง แต่ก็ไม่สามารถลบล้างภาพเมืองร้างขนาดมหึหาออกไปได้

ล่าสุด เมื่อ สิงหาคม 2566 นายกรัฐมนตรี อันวาร์ อิบราฮิม ก็ออกมาช่วยสนับสนุนโครงการ Forest City อีกครั้งด้วยการประกาศยกระดับพื้นที่เมืองนี้ให้กลายเป็น ‘เขตการเงินพิเศษ’ เพื่อจูงใจนักลงทุนด้านการเงิน และ แรงงานทักษะสูงเข้ามาช่วยกู้เมือง โดยมีการเสนอสิทธิพิเศษด้านวีซ่า และ ภาษีในอัตราพิเศษ และยังสนับสนุนให้มีการจัดงานอีเวนต์ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ โดยหวังที่จะปลุกเมืองนี้ให้กลับมาเป็นเขตเศรษฐกิจใหม่ ให้สมกับเป้าหมายและเม็ดเงินที่ลงทุนไปแล้วมากมายมหาศาล

ดังคำกล่าวที่ว่า ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน โปรเจกต์ 20 ปี อย่าง Forest City ก็เช่นกัน ที่อาจต้องใช้เวลาต่อจากนี้อีกสักระยะ ว่าเมืองแห่งนี้ จะกลายเป็นเมืองใหม่ของมนุษย์ หรือ เป็นจะเพียงสุสานของซากตึก

‘โซเชียลมาเลฯ’ ถาม!! ‘เหตุใด? น้ำมันในไทยแพง แต่อาหารถูก’ ตอบ!! เพราะไทยทำเกษตร-ผลิตอาหารเอง-ต้นทุนขนส่งทางถนนต่ำ

(1 เม.ย. 67) เพจ ‘World Forum ข่าวสารต่างประเทศ’ โพสต์ข้อความเรื่อง ‘ไวรัสในมาเลเซีย เกี่ยวกับค่าน้ำมันและอาหารในประเทศไทย’ โดยระบุว่า…

“ไวรัล ในมาเลเซีย 🇲🇾

**คำถาม ราคาน้ำมันในประเทศไทย ‘แพง’ แต่ทำไม อาหารถึง ‘ถูก’.......? อธิบายหน่อย

✍️จากความเห็นส่วนใหญ่ 

1.ประเทศไทย ประสบผลสำเร็จเรื่องการเกษตร ผู้ส่งออกอาหาร และวัตถุดิบ มาเลเซียต้องนำเข้า แม้แต่อาหารสัตว์ **ไทยมีพื้นที่ลุ่ม ปลูกอาหารได้ทั้งปี

2.มาเลเซีย แบ่งเป็น 2 ฝั่ง ผู้ผลิต +ต้นทุนการขนส่งไปอีกฝั่ง 

3.มาเลเซีย เสียค่าผ่านทางถนน - ไทยฟรี เมื่อคำนวนระยะจ่ายแล้วไม่ต่างกันเท่าไหร่ 

4.ในช่วงปี 2000 มาเลเซีย มุ่งเน้นไปที่ อุตสาหกรรมไฮเทค จนลืมสานต่ออุตสาหกรรมการเกษตร  ทำให้ภาคผลิตการเกษตรลดลงอย่างมาก

✍️#คุณมีความเห็นอย่างไร”

'มาเลเซีย' เตรียมลดการอุดหนุนราคาน้ำมันเบนซินในปีนี้ หลังขาดดุลงบประมาณ 5% ของ GDP และทำมูลค่าริงกิตดิ่ง

(17 เม.ย.67) ภายหลังราคาพลังงานพุ่งแรงหลังความตึงเครียดระหว่างอิสราเอลกับอิหร่านเสี่ยงลุกลามเป็นสงคราม สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานอ้าง ราฟิซี รามลี รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจมาเลเซียว่า มาเลเซียเตรียม ‘ลดการอุดหนุน’ ราคาน้ำมันเบนซินในปีนี้ เพื่อลดการขาดดุลงบประมาณ

โดย ราฟิซี รามลี กล่าวว่า รัฐบาลต้องบริหารผลกระทบจากนโยบายอุดหนุนราคาพลังงาน พร้อมกับพิจารณาความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อด้วย

สำหรับสาเหตุที่รัฐบาลหันมาลดการอุ้มราคาน้ำมัน เป็นเพราะการขาดดุลงบประมาณของประเทศพุ่งแตะ 5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในปี 2566 จนกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน และส่งผลให้มูลค่าสกุลเงินริงกิตของมาเลเซียใกล้แตะระดับต่ำสุดในรอบ 26 ปี ซึ่งเป็นระดับที่อ่อนค่าที่สุดนับตั้งแต่วิกฤติการเงินในเอเชียเมื่อปี 2541

รัฐบาลตั้งเป้าหมายในปีนี้ว่า จะลดภาวะขาดดุลงบประมาณจาก 5% ของจีดีพีลงเหลือ 4.3% ของจีดีพี โดยเริ่มจากลดการอุดหนุนน้ำมันเบนซิน RON95 ซึ่งเป็นประเภทเบนซินราคาถูกที่สุด และชาวมาเลเซียใช้มากที่สุดด้วย โดยในปีที่แล้วรัฐบาลใช้งบประมาณไปกับการอุดหนุนเหล่านี้มากถึง 81,000 ล้านริงกิต หรือราว 622,000 ล้านบาท 

นอกจากนี้ มาเลเซียยังเผชิญยอดส่งออกที่หดตัวลงเป็นเดือนที่สองในเดือนมี.ค. และเมื่อปลายปีที่แล้ว ยอดส่งออกประเทศก็ลดลงติดต่อกัน 10 เดือน ซึ่งสะท้อนภาวะส่งออกอ่อนแอนับตั้งแต่วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปี 2551


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top