‘สิงคโปร์-มาเลเซีย’ เตือนเยาวชน ‘ยาดมชูกำลัง’ ไม่มีจริง เสี่ยงติดโรคทางเดินหายใจ แถมส่งเสริมให้ติดบุหรี่ด้วย

รัฐมนตรีสาธารณสุขสิงคโปร์ สั่งสอบเข้ม ‘ยาดมชูกำลัง’ หรือ ‘Energy Stick’ ที่กำลังฮิตอย่างมากในหมู่วัยรุ่น-วัยเรียนชาวสิงคโปร์และมาเลเซียอยู่ในขณะนี้ ว่าจะมีผลเสียต่อร่างกาย และจิตใจผู้ใช้ ส่งเสริมพฤติกรรมติดบุหรี่ในอนาคตหรือไม่?

‘Energy Stick’ หรือ ‘ยาดมชูกำลัง’ ที่กำลังแพร่หลายในท้องตลาดสิงคโปร์ มาในรูปแบบคล้ายกล่องยาดมหลอดคู่ มีขนาดพอๆ กับกล่องไม้ขีดไฟ และมีสีสันสดใส แถมยังมีหลากหลายกลิ่นให้เลือก ทั้งกลิ่นมินท์, แตงโม, องุ่น, ส้ม, มะนาว และอื่นๆ อีกมากมาย อีกทั้งยังเคลมสรรพคุณ สูดดมแล้วมีแรง แก้ง่วง เหมาะสำหรับ นักเรียน นักศึกษา ที่ต้องอ่านหนังสือหนักตอนกลางคืน หรือ คนทำงาน OT หรือผู้ที่ต้องขับรถนานๆ ที่อาจเกิดอาการง่วงซึมระหว่างเดินทาง

เบื้องต้น ทางผู้ผลิตแจ้งส่วนประกอบในยาดมชูกำลังว่า มีเพียงส่วนผสมของน้ำมันหอมระเหย และสารสกัดจากธรรมชาติที่ปลอดภัยเท่านั้น อีกทั้งยังมีราคาถูก สามารถหาซื้อได้ทั่วไปเพียงหลอดละไม่เกิน 1.5 เหรียญสิงคโปร์ (ประมาณไม่เกิน 37 บาท) บวกกับกลยุทธ์การโฆษณาผ่านโซเชียลมีเดีย ที่สนับสนุนให้สูดดมก่อนไปเรียนหนังสือ หรือไปทำงานทุกวัน ทำให้ตาตื่น จนเป็นที่นิยมในกลุ่มเด็กวัยรุ่นอย่างมาก 

อย่างไรก็ตาม ทางหน่วยงานด้านสาธารณสุขในสิงคโปร์ ก็ได้ออกมาเตือนถึงผลเสีย หากสูดดม Energy Stick เป็นประจำว่า อาจเสี่ยงต่อเยื่อโพรงจมูกอักเสบ และโรคทางเดินหายใจได้ รวมทั้งตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับสารประกอบในยาดมประเภทนี้บางยี่ห้อ อาจมีส่วนผสมของนิโคติน หรือ กัญชา ที่จะกระตุ้นให้ผู้ใช้มีความกระปรี้กระเปร่า ตาตื่น มีแรงทำกิจกรรมมากขึ้น ตามคำเคลมโฆษณา

ด้านผู้เชี่ยวชาญบางคนชี้ว่า แม้ยาดมชูกำลัง จะไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมายเช่นเดียวกับบุหรี่ไฟฟ้า และอาจไม่มีผลข้างเคียงหากใช้สูดดมในระยะสั้น แต่ถ้าใช้การใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดอาการติดได้

สำหรับเจ้า Energy Stick ก็ไม่ได้เป็นปัญหาแค่ในสิงคโปร์เท่านั้น หากยังเป็นปัญหาในตลาดมาเลเซียด้วยเช่นกัน เมื่อ อัมราฮี บวัง ประธานสมาคมเภสัชกรแห่งมาเลเซีย ออกมาเตือนว่า ยาดมชูกำลังมีส่วนผสมบางอย่างที่คล้ายกับสารในบุหรี่ไฟฟ้า ต่างกันแค่ตรงที่ไม่มีการเผาไหม้ รวมถึงรูปแบบการใช้งาน ที่เป็นหลอดยาดมคู่ สำหรับสอดเข้าไปในโพรงจมูกทั้งสองข้างพร้อมกัน ทำให้รับสารระเหยโดยตรงเข้าสู่ปอดในปริมาณมาก และอาจเป็นด่านแรกที่จะกระตุ้นพฤติกรรมผู้บริโภคไปสู่การทดลองสูบบุหรี่ไฟฟ้า และ บุหรี่ทั่วไปในกลุ่มเยาวชนในเวลาต่อมาได้ 

โดยข้อแตกต่างระหว่างยาดมทั่วไป และ ยาดมชูกำลัง สำหรับในมาเลเซียคือ ผลิตภัณฑ์ยาดมทั่วไปจะต้องขึ้นทะเบียนเพื่อตรวจสอบกับสำนักงานคณะกรรมการเภสัชกรรมแห่งชาติก่อน จึงสามารถจำหน่ายได้ทุกช่องทาง แม้ในร้านขายยา แต่สำหรับ Energy Stick นั้นยังไม่มีการขึ้นทะเบียน และจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์เท่านั้น ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญในมาเลเซียได้เรียกร้องให้แบนยาดมชูกำลัง พร้อมทั้งถอดโฆษณา และช่องทางจำหน่ายออกจากแพลตฟอร์มออนไลน์โดยทันที จนกว่าจะผ่านขั้นตอนการขึ้นทะเบียน ตรวจสอบส่วนประกอบอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

เช่นเดียวกับ ดร.เซวา ตู เวิน หัวหน้าแผนกโรคระบบทางเดินหายใจและผู้ป่วยวิกฤติ ของโรงพยาบาล Singapore General Hospital ที่ชี้ว่า ผู้ผลิต พยายามสื่อสารกับผู้บริโภคให้หลงเข้าใจว่า ยาดมชูกำลัง มีความเป็นธรรมชาติมากกว่า และ มีผลดีต่อสุขภาพมากกว่า เมื่อเทียบกับบุหรี่ไฟฟ้า 

แต่จริงๆ แล้ว มีงานวิจัยจำนวนมากบ่งชี้ว่า สารแต่งกลิ่นบางชนิดมีก็เป็นพิษต่อระบบทางเดินหายใจได้ แล้วยังทำให้การทำงานของเซลล์ภูมิคุ้มกันทางเดินหายใจบกพร่อง และสร้างความเสียหายต่อเซลล์เหมือนกัน

ดังนั้น วัยรุ่นหยุดคิดสักนิด อย่าเพิ่งหลงเชื่อคำเคลมแรงๆ เพราะแค่ดมแล้วมีแรง ในราคาไม่กี่สิบบาท ไม่มีอยู่จริง 


เรื่อง: ยีนส์ อรุณรัตน์

อ้างอิง: Channel News Asia / Straits Times