Friday, 3 May 2024
มาเลเซีย

'มาเลเซีย' ยกฟ้อง ‘เฟซบุ๊ก’ กรณีไม่ปิดกั้นเนื้อหาสร้างความแตกแยก หลัง META รับปากจะปิดกั้นเนื้อหาโจมตี 'ชาติ-ศาสน์-กษัตริย์' ให้

(31 ก.ค. 66) ช่องยูทูบ Vihok News ได้ออกมาเปิดเผยถึงประเด็นที่กำลังเป็นที่น่าสนใจอยู่ในขณะนี้ สำหรับ ‘มาเลเซีย’ ที่เตรียมยื่นฟ้อง ‘เมตา’ กรณีไม่ปิดกั้นเนื้อหาสร้างความแตกแยก ซึ่งล่าสุดทางมาเลเซียได้กลับลำและยืนยันที่จะไม่ฟ้องแล้ว หลังเมตารับปากจะปิดกั้นเนื้อหาอันตรายเหล่านี้ โดยระบุว่า…

‘มาเลเซีย’ กลับลำไม่ฟ้อง ‘เมตา’ หลังรับปากจะทําการปิดกั้นเนื้อหาที่เป็นอันตราย และสร้างความแตกแยก ทั้งนี้ รัฐบาลของมาเลเซียอาจทำการยกเลิกแผนการดําเนินคดีกับเมตา ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของเฟซบุ๊ก หลังได้รับความร่วมมือเชิงบวกจากบริษัทเกี่ยวกับการปิดกั้นเนื้อหาที่เป็นอันตรายและสร้างความแตกแยกในสังคม

เมื่อเดือนที่แล้วคณะกรรมาธิการสื่อสารและสื่อสารสารสนเทศของมาเลเซีย ได้ประกาศจะยื่นฟ้องเมตา โทษฐานไม่ดําเนินการปิดกั้นคอมเมนต์ที่ไม่พึงประสงค์ ที่เกี่ยวกับเชื้อชาติ ศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์ และดูหมิ่นเหยียดหยามปลอมแปลงเป็นบุคคลอื่น รวมไปถึงการพนันออนไลน์และโฆษณาล่อลวงต่างๆ

อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีสื่อสารของมาเลเซียได้ออกแถลงการณ์ว่า ทางเมตาได้ให้คํามั่นสัญญาต่อหน่วยงานกํากับดูแลตํารวจมาเลเซีย จะเร่งดําเนินการปิดกั้นสิ่งเหล่านี้ สำหรับเฟซบุ๊กถือว่าเป็นแพลตฟอร์มที่มีจํานวนผู้ใช้มากที่สุดในมาเลเซีย โดยมีการประเมินว่า 60% ของประชากร 33 ล้านคน มีบัญชีเฟซบุ๊กอย่างน้อย 1 บัญชี

สำหรับประเด็นเชื้อชาติและศาสนา นับเป็นประเด็นที่อ่อนไหวอย่างมากในมาเลเซีย เพราะมีประชากรส่วนใหญ่เป็น ‘ชาวมลายู’ และยังคงมีสัดส่วนของ ‘ชาวจีน’ และ ‘เชื้อสายอินเดีย’ อยู่ด้วยไม่น้อย ส่วนการแสดงความเห็นของสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเรื่องที่อ่อนไหวด้วยเช่นกัน โดยผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบอาจถูกดําเนินคดีฐานยุยงปลุกปั่นอีกด้วย

‘จีน’ ส่งมอบ ‘ผลลัพธ์จับต้องได้’ จาก ‘ประชาคมจีน-มาเลเซีย’ ฉลุย!! ธุรกิจจีนลงทุนเพิ่ม ส่วนมาเลฯ หนุนหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง

เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 66 สำนักข่าวซินหัว เผยว่า ‘หวังอี้’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน และกรรมการกรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้พบปะและประชุมร่วมกับ ‘แซมบรี อับดุล คาดีร์’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของมาเลเซีย ณ รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย

หวังอี้ กล่าวว่า จีนพร้อมทำงานร่วมกับมาเลเซีย เพื่อส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกันให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น และนำมาซึ่งผลลัพธ์อันจับต้องได้ในการสร้าง ‘ประชาคมจีน-มาเลเซีย’ ที่มีอนาคตร่วมกัน

หวัง ซึ่งเป็นกรรมการกรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้ประชุมร่วมกับแซมบรี อับดุล คาดีร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของมาเลเซีย เมื่อวันศุกร์ (11 ส.ค.) ระบุว่า จีนนับถือมาเลเซียเป็นเพื่อนบ้านฉันมิตร และพันธกิจสำคัญของการทูตจีนที่ให้ความสำคัญกับเพื่อนบ้าน

หวังเสริมว่า ปีนี้ตรงกับวาระครบรอบ 10 ปี ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์รอบด้านจีน-มาเลเซีย และปีหน้าจะตรงกับวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตจีน-มาเลเซีย

ฝ่ายจีนสนับสนุนมาเลเซียในการแสวงหาวิถีทางการพัฒนาอันเหมาะสมกับเงื่อนไขของประเทศ และการมีบทบาทในกิจการระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศยิ่งขึ้น

หวังเรียกร้องทั้งสองฝ่ายขยับขยายการสื่อสารและการประสานงาน เพิ่มพูนความไว้วางใจซึ่งกันและกันในเชิงยุทธศาสตร์ สนับสนุนอีกฝ่ายในการคุ้มครองผลประโยชน์หลัก ตลอดจนสิทธิและผลประโยชน์อันชอบธรรมตามกฎหมาย และร่วมยึดถือบรรทัดฐาน พื้นฐานของการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

หวังกล่าวว่าการก่อสร้างทางรถไฟชายฝั่งตะวันออก (ECRL) และ ‘สองประเทศ นิคมอุตสาหกรรมแฝด’ ซึ่งเป็นสองโครงการสำคัญตามแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) มีความคืบหน้าที่ดี ขณะเดียวกันจีนและมาเลเซียมีความร่วมมืออันดีในการผลิตยานยนต์ เศรษฐกิจดิจิทัล และพลังงานใหม่

หวังกล่าวว่า จีนส่งเสริมกลุ่มบริษัทจีนเข้าลงทุนและเริ่มต้นธุรกิจในมาเลเซียเพิ่มขึ้น เพื่อบ่มเพาะช่องทางการเติบโตใหม่ๆ ของความร่วมมือ และจีนยินดีกระชับความร่วมมือทวิภาคีในด้านเทคโนโลยีการเกษตร ความมั่นคงทางอาหาร และอื่นๆ รวมถึงนำเข้าผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพจากมาเลเซียเพิ่มขึ้น

ด้าน แซมบรี กล่าวว่าความสัมพันธ์ระหว่างมาเลเซียและจีนนั้น ‘แข็งแกร่งและแน่นแฟ้น’ ขณะเดียวกันความร่วมมือเชิงปฏิบัติระหว่างสองประเทศมีความก้าวหน้าอันเป็นรูปธรรม

มาเลเซียจะยังคงสนับสนุน และมีส่วนร่วมในการร่วมสร้างแผนริเริ่ม ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ อย่างแข็งขัน ดำเนินความพยายามทั้งหมดเพื่อส่งเสริมโครงการความร่วมมือที่สำคัญ และแสวงหาการเสริมสร้างสายสัมพันธ์ในทุกด้านและทุกระดับ เพื่อขยับขยายความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน

แซมบรีเสริมว่า มาเลเซียชื่นชมและสนับสนุนแผนริเริ่มระดับโลกต่างๆ ที่จีนนำเสนอ พร้อมเรียกร้องการอยู่ร่วมมกันอย่างกลมกลืนของอารยธรรมที่แตกต่าง และแสวงหาการเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนและการเรียนรู้ซึ่งกันและกันระหว่างอารยธรรมกับจีน

อนึ่ง ทั้งสองฝ่ายยังแลกเปลี่ยนมุมมองเชิงลึกต่อประเด็นระดับภูมิภาค และระหว่างประเทศที่ให้ความสำคัญร่วมกัน และเห็นพ้องจะเสริมสร้างการสื่อสารและการประสานงาน รักษาความเป็นกลางของอาเซียน และส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ และการพัฒนาระดับภูมิภาค

ปัจจุบัน หวัง อยู่ระหว่างการเดินทางเยือนกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ สิงคโปร์, มาเลเซีย และกัมพูชา

‘บิ๊กตู่’ ปลื้ม!! ความร่วมมือ ‘อินโดฯ-มาเลย์-ไทย’ ปี 64 ก้าวหน้า ดัน GDP โต หนุนร่วมพัฒนาทุนมนุษย์-การท่องเที่ยว เชื่อมโยงเศรษฐกิจแบบไร้รอยต่อ

(14 ส.ค. 66) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีต่อผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมของแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย ‘อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย’ (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle : IMT – GT) โดยกว่า 30 ปีที่ผ่านมา อนุภูมิภาคมีพัฒนาการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมาก ช่วยลดช่องว่างการพัฒนาภายในประเทศและอนุภูมิภาค ส่งเสริมบทบาทของประชาชนควบคู่ไปกับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจทั้ง 6 สาขา คือ 1.) สาขาการค้าและการลงทุน 2.) สาขาโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคม 3.) สาขาการท่องเที่ยว 4.) สาขาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 5.) สาขาการเกษตร อุตสาหกรรมการเกษตรและสิ่งแวดล้อม และ 6.) สาขาผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล 

น.ส.รัชดา กล่าวว่า ยังได้ขยายพื้นที่ความร่วมมือครอบคลุม 35 รัฐ และจังหวัดของทั้ง 3 ประเทศ โดยมีมูลค่า GDP ภายในอนุภูมิภาคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 12,790 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2527 เป็น 405,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2564 และมีมูลค่าการค้าระหว่างกันเพิ่มขึ้นจากในปี พ.ศ. 2527 ที่ 97,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 618,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2564

น.ส.รัชดา กล่าวว่า ด้านโครงการความเชื่อมโยงทางกายภาพตามแนวระเบียงเศรษฐกิจทั้ง 6 สาขา มีกว่า 36 โครงการก็มีความก้าวหน้าอย่างมาก คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 57,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยโครงการดังกล่าวมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนอย่างไร้รอยต่อของทั้งสินค้า บริการ และคน อาทิ โครงการรถไฟเชื่อมหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์-กัวลาลัมเปอร์, โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก แห่งที่ 2 (สุไหงโก-ลก-รันเตาปันยัง), โครงการทางด่วนสุมาตรา และการฟื้นฟูการเชื่อมโยงทางอากาศ ภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19

น.ส.รัชดา กล่าวว่า ภายใต้แผนการดำเนินงานระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2565-2569) สาขาความร่วมมือต่างๆ มีความก้าวหน้าอย่างมาก อาทิ โครงการเพื่อพัฒนาเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางพลังงาน การเสริมสร้างการเชื่อมโยง และการฟื้นฟูการท่องเที่ยว ส่วนทิศทางการดำเนินงานในอนาคตนั้น มุ่งเน้นใน 6 ประเด็น เช่น การเพิ่มขีดความสามารถของทุนมนุษย์ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล การพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยว ภายในช่วงปีแห่งการท่องเที่ยว IMT-GT และการเร่งการลงนามกรอบความร่วมมือด้านศุลกากร การตรวจคนเข้าเมือง และตรวจโรคพืชและสัตว์ ระหว่างรัฐบาลอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย เป็นต้น

น.ส.รัชดา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรียินดีที่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ผลักดันความร่วมมืออินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย จนเกิดความสำเร็จที่จับต้องได้ เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ และเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ กว่า 30 ปีนับตั้งแต่ก่อตั้ง IMT-GT ตั้งแต่ปี 2536 ทั้ง 3 ประเทศได้ร่วมกันสร้างความก้าวหน้าที่สำคัญในการพัฒนาการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคและภูมิภาค มีวิสัยทัศน์และเป้าหมายร่วมกัน เพื่อทำให้อนุภูมิภาคนี้มีการบูรณาการ มีนวัตกรรม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และยั่งยืน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เกิดการเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อ

‘ไรเดอร์หัวร้อน’ ลูกค้าไม่รับสาย-ปล่อยให้รอนาน แต่พอเห็นเจ้าตัวออกมารับอาหาร รู้สึกผิดทันที!!

เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 66 เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่ได้รับความสนใจอย่างมาก เมื่อเว็บไซต์ต่างประเทศรายงานว่า โลกออนไลน์ได้การแชร์คลิปสุดพีค หลังจากไรเดอร์หนุ่มชาวมาเลเซียโพสต์คลิปไปส่งอาหารให้ลูกค้า แต่ด้วยความที่ลูกค้าไม่ยอมรับสาย และต้องยืนรอนานท่ามกลางอากาศร้อน ทำให้เขาทั้งโมโหและหงุดหงิดอย่างมาก ก่อนเห็นลูกค้าออกมารับอาหาร ถึงกับรู้สึกผิดเลยทีเดียว

โดยผู้โพสต์เล่าว่า ในวันดังกล่าวเขาส่งอาหารไปยังที่อยู่ที่ระบุ แต่ไม่มีใครรับสาย เขาต้องยืนรอหน้าประตูรั้วบ้าน ท่ามกลางอากาศร้อน ๆ และมีแดดจัด ทำให้เขารู้สึกไม่พอใจและโกรธ จนกระทั่งมีเสียงในบ้านบอกให้เดินเข้าไปภายในบริเวณบ้าน และเมื่อประตูบ้านเปิดจึงทำให้เขาเห็นว่าลูกค้าที่เขาต้องมาส่งอาหารให้นั้น เป็น ‘ชายพิการนั่งรถเข็น’ ความโกรธของเขาก็กลายเป็นความรู้สึกผิดทันที

ทั้งนี้ แม้ว่าคำสั่งดังกล่าวจะระบุว่า ‘เป็นคำสั่งสำหรับคนพิการ’ แต่เขาไม่ทันได้สังเกตเห็น เขายังบอกด้วยว่า “คุณลุงดูมีความสุขเมื่อได้รับอาหาร เพราะมีคนสั่งอาหารให้เขา” ซึ่งท้ายที่สุดเขาก็กลั้นน้ำตาไม่ไหว ถึงปล่อยโฮออกมาเลยทีเดียว

‘ข้าวสังข์หยดพัทลุง-ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้’ ขึ้นทะเบียน GI ในมาเลฯ แล้ว ‘กรมทรัพย์สินทางปัญญา’ ลุยผลักดัน สร้างโอกาสต่อยอด-รายได้ในอนาคต

(26 ก.ย.66) สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญามาเลเซีย (MyIPO) ได้ประกาศขึ้นทะเบียน GI ‘ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง’ และ ‘ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้’ ในประเทศมาเลเซียเรียบร้อยแล้ว

ปัจจุบันมีสินค้า GI ไทยได้รับการขึ้นทะเบียนในต่างประเทศ รวม 8 รายการ ครอบคลุมกว่า 30 ประเทศ ได้แก่

1) ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ในสหภาพยุโรป จีน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
2) ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง ในสหภาพยุโรป มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
3) กาแฟดอยช้าง ในสหภาพยุโรป และญี่ปุ่น
4) กาแฟดอยตุง ในสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และกัมพูชา
5) เส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสาน ในเวียดนาม
6) ผ้าไหมยกดอกลำพูน ในอินเดีย และอินโดนีเซีย
7) มะขามหวานเพชรบูรณ์ ในจีน และเวียดนาม
8) ลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน ในเวียดนาม

โดยยังมีส้มโอทับทิมสยามปากพนัง อีก 1 สินค้าที่มาเลเซียอยู่ระหว่างพิจารณา

นายนภินทรกล่าวอีกว่า ชาวมาเลเซียบริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก โดยนิยมรับประทานเมนู นาซิ เลอมัก (Nasi Lemak) ซึ่งเป็นข้าวที่หุงกับกะทิและใบเตย รับประทานคู่กับแกงและเครื่องเคียงต่าง ๆ มาเลเซียจึงนำเข้าข้าวจากต่างประเทศกว่า 30% ตามความต้องการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งข้าวไทยได้รับความนิยมในประเทศมาเลเซีย

โดยในปี 2565 ไทยส่งออกข้าวไปประเทศมาเลเซีย มูลค่ากว่า 3,200 ล้านบาท โดย ‘ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้’ ปลูกในฤดูนาปีบนพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ด้วยสภาพพื้นที่เป็นแอ่งกระทะ ขนาดใหญ่ ดินเป็นดินร่วนปนทรายมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ความแห้งแล้ง และความเค็มในดิน ส่งผลให้ข้าวเกิดความเครียดและหลั่งสารหอม ข้าวจึงมีความหอมตามธรรมชาติมากกว่าข้าวจากแหล่งอื่น โดยมีเมล็ดข้าวยาว เรียว ข้าวสารมีเมล็ดใสและแกร่ง เมื่อหุงสุกจะหอมและนุ่ม มีผลผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ รวม 5 จังหวัดกว่า 24,500 ตัน/ปี ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 55 บาท สร้างรายได้กว่า 266 ล้านบาท/ปี

สำหรับ ‘ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง’ ปลูกในจังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นที่ราบกว้าง เหมาะสำหรับปลูกข้าว มีแหล่งน้ำจากทะเลสาบสงขลาหนุน และมีการทับถมของตะกอน ทำให้ข้าวสังข์หยดมีคุณภาพดี เมล็ดข้าวเรียวเล็ก อ่อนนุ่ม ข้าวกล้องมีสีแดงจนถึงแดงเข้ม ข้าวสารมีสีขาวปนแดงแกมชมพูเป็นเอกลักษณ์ มีผลผลิตข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง 8,000 ตัน/ปี สร้างรายได้กว่า 104 ล้านบาท/ปี

กรมทรัพย์สินทางปัญญา ยังคงเดินหน้าส่งเสริมสินค้า GI ไทยขึ้นทะเบียน GI ในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าให้กับผู้ประกอบการ GI สร้างรายได้ให้กับชุมชนและรายได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของไทยได้อย่างยั่งยืนต่อไป

สายการบิน ‘MyAirline’ ประกาศหยุดบินกะทันหัน มีผลตั้งแต่วันนี้ หลังประสบปัญหาด้านการเงินอ่วม

(12 ต.ค. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสายการบินมายแอร์ไลน์ (MyAirline : Z9) ประกาศหยุดให้บริการทำการบินทุกเส้นทาง อ้างเหตุผลประสบปัญหาด้านการเงิน สายการบินได้เผยแพร่แถลงการณ์ผ่านเฟซบุ๊ก ‘MyAirline’ โดยระบุว่า มายแอร์ไลน์ประกาศระงับการปฏิบัติการ

มายแอร์ไลน์รู้สึกเสียใจที่จะแจ้งให้ทราบถึงการระงับการปฏิบัติการบินชั่วคราว (Suspension) ตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีการประกาศอีกครั้ง การตัดสินใจที่ยากลำบากนี้ เกิดจากแรงกดดันด้านการเงินอย่างมีนัยยะสำคัญ ทำให้ต้องยกเลิกการให้บริการระหว่างการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นและการเพิ่มทุนของสายการบิน

แถลงการณ์จากคณะกรรมการบริหารสายการบิน ระบุว่า สายการบินเสียใจอย่างที่สุด และขออภัยต่อการตัดสินใจในครั้งนี้ เราเข้าใจถึงผลกระทบต่อผู้โดยสารผู้ภักดี พนักงานที่ทุ่มเทและพันธมิตรของสายการบิน เราได้ทำงานอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยเพื่อเสาะหาความร่วมมือต่าง ๆ และแนวทางการระดมทุนเพื่อเลี่ยงการหยุดทำการบินนี้ เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ที่ข้อจำกัดด้านเวลาบีบบังคับให้เราต้องเลือกหยุดปฏิบัติการบิน

ทั้งนี้ เราเข้าใจถึงความไม่สะดวกที่เกิดขึ้น และเรามุ่งมั่นที่จะสนับสนุนคุณผ่านสถานการณ์นี้ โปรดติดต่อเราที่ [email protected] และทีมสนับสนุนของเราจะพร้อมให้ความช่วยเหลือ

ในระหว่างนี้ เราขอแนะนำให้ผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบ อย่ามุ่งหน้าไปสนามบิน และหาทางเลือกอื่นในการเดินทางไปยังจุดหมายของตน

คณะกรรมการ ผู้ถือหุ้น และพนักงาน MyAirline จะทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อกลับมาดำเนินการโดยเร็วที่สุด แต่ในตอนนี้เรายังไม่สามารถกำหนดเวลาใด ๆ ได้

เราขออภัยอย่างจริงใจอีกครั้งสำหรับความไม่สะดวกและปัญหาใด ๆ ที่เกิดขึ้นจากการหยุดปฏิบัติการบินนี้และจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่ออัพเดตข้อมูลเมื่อมีความพร้อม”

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2566 ประชาชาติธุรกิจเคยได้สัมภาษณ์นายเรเนอร์ เทียว เคง ฮอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของสายการบิน MyAirline (มายแอร์ไลน์) โดยครั้งนั้น ผู้บริหารรายนี้ให้ข้อมูลว่า สายการบินเกิดขึ้นในยุคโควิด-19 โดยสายการบินใช้โอกาสช่วงโควิด ‘ล็อกต้นทุน’ ในระยะยาว ทำให้ได้เปรียบคู่แข่งรายอื่น

โดยสายการบินได้เริ่มทำการบินแรกเมื่อ 1 ธันวาคม 2565 และเริ่มทำการบินเส้นทางสู่ประเทศไทยเที่ยวบินแรกในวันที่ 28 มิถุนายน 2566 จากนั้นสายการบินได้ให้บริการเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมืองสู่กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

ในครั้งนั้นผู้บริหารมายแอร์ไลน์เคยให้สัมภาษณ์ว่า ตนมีแผนขยายเส้นทางบินสู่จุดบินอื่น ๆ ในไทย เช่น ภูเก็ต กระบี่ และเชียงใหม่ ภายในสิ้นปี 2566 นี้ จากนั้นเตรียมพิจารณาเพิ่มเที่ยวบินสู่อินโดนีเซีย เวียดนาม จีน และอินเดีย ส่วนในอนาคต 3-5 ปี อาจพิจารณาเปิดทำการบินเส้นทางอินเดียเพิ่มเตม เกาหลีใต้และออสเตรเลีย และที่สำคัญคือ เตรียมขยายฝูงบินเป็น 80 ลำ ในปี 2570 (ค.ศ. 2027)

เมื่อสอบถามว่า สายการบินในเอเชียต่างสั่งซื้อเครื่องบินจำนวนมหาศาล ไม่คิดว่าแนวทางดังกล่าวจะนำไปสู่ปัญหาอุปทานส่วนเกิน (Oversupply) ในภาคการบินหรือไม่ ผู้บริหารรายนี้ตอบว่า ส่วนตัวเชื่อมั่นว่าซัพพลายเครื่องบินยังไม่มากจนเกินไป ภูมิภาคอาเซียนมีประชากรกว่า 600 ล้านคน หากรวมประเทศรอบ ๆ อาเซียน ประชากรย่อมมีมากกว่านั้น ภูมิภาคอาเซียนจึงยังมีโอกาสและมีศักยภาพในการขยายตัว

“เราไม่ได้มองแค่ตลาด 2-3 ประเทศ แต่เรามองไกลมากกว่านั้น ดังนั้น แผนการสั่งซื้อเครื่องบินดังกล่าว จึงไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร”

สำหรับเรเนอร์ เทียว ‘เรเนอร์ เทียว’ เริ่มต้นจากการทำงานกับสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ส (Malaysia Airlines) ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ผู้ช่วยแผนกสำรองที่นั่งและออกบัตรโดยสาร จากนั้นได้ร่วมงานกับบริษัท Abacus Distribution Systems (Malaysia) Sdn Bhd ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ และเจ้าหน้าที่ผู้ช่วยแผนกการรับรองเอเย่นต์ที่สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ในระหว่างปี 2536-2547

ต่อมาในระหว่างปี 2547-2562 ‘เรเนอร์’ ได้เข้ารับตำแหน่งหัวหน้าแผนกฝ่ายขายและการจัดจำหน่ายที่บริษัท AirAsia Group Berhad ก่อนที่จะร่วมงานกับสายการบินไทยเวียตเจ็ทแอร์ ในตำแหน่งที่ปรึกษาเชิงพาณิชย์ในเดือนธันวาคม 2562

‘นายกฯ มาเลเซีย’ ประกาศหนุน ‘กลุ่มฮามาส-ชาวปาเลสไตน์’ ลั่น!! พร้อมช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม บรรเทาทุกข์เหยื่อสงคราม

นายกฯ อันวาร์ อิบราฮิม ของมาเลเซีย ประกาศตัวชัดเจน ให้การสนับสนุนกลุ่มฮามาสและชาวปาเลสไตน์ แม้ต้องเผชิญแรงกดดันจากชาติตะวันตก พร้อมเรียกร้องอิสราเอลยุติการโจมตีฉนวนกาซา และเปิดพื้นที่ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

(17 ต.ค. 66) สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน นายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม แห่งมาเลเซีย เผยแพร่ข้อความผ่านบัญชีอย่างเป็นทางการของตนในโซเชียลมีเดีย ทั้งเฟซบุ๊กและ X หรือทวิตเตอร์เดิม เมื่อช่วงเช้าของวันนี้ (17 ต.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น ประกาศยืนยันการสนับสนุนชาวปาเลสไตน์ และเรียกร้องให้อิสราเอลยุติการทิ้งระเบิดโจมตีฉนวนกาซาทันที และจัดตั้งเขตปลอดภัยจากการสู้รบที่เมืองราฟาห์ ซึ่งมีจุดผ่านแดน ‘ด่านราฟาห์’ จากกาซาไปอียิปต์ เพื่อให้ความช่วยเหลือชาวปาเลสไตน์
.
นายกรัฐมนตรีอันวาร์ เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (16 ต.ค.) เขาโทรศัพท์ไปพูดคุยกับนายอิสมาอิล ฮานิเยะห์ ผู้นำกลุ่มฮามาส เพื่อแสดงการสนับสนุนอย่างแน่วแน่ของมาเลเซียต่อชาวปาเลสไตน์

“เมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์ที่เลวร้ายมากในฉนวนกาซา ผมจึงขอเรียกร้องให้ยุติการทิ้งระเบิดทันที พร้อมจัดตั้งระเบียงมนุษยธรรม (Humanitarian Corridor) (เขตปลอดภัยจากการสู้รบ ที่ตั้งขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และการอพยพพลเรือน) นอกพื้นที่สู้รบ ที่เมืองราฟาห์” นายอันวาร์ กล่าว

นายกฯ อันวาร์ยังเรียกร้องให้อิสราเอลละทิ้งอุดมการณ์ทางการเมืองผ่านการแย่งชิง (Politics of Dispossession) และดำเนินการตามสันติวิธีเพื่อยุติความขัดแย้งนี้

นอกจากนี้ นายอันวาร์ได้ให้คำมั่นว่าจะมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม โดยเฉพาะอาหาร และยารักษาโรค เพื่อบรรเทาความทุกข์ของเหยื่อจากการสู้รบนี้

ทางการมาเลเซียได้เปิดเผยว่า พวกเขาได้รับแรงกดดันจากชาติตะวันตกให้ออกมาประณามการบุกโจมตีอิสราเอลของกลุ่มฮามาส ซึ่งนายกฯ อันวาร์ ก็ได้กล่าววานนี้ว่า พวกเขาไม่เห็นด้วยกับการกดดันจากชาติตะวันตก อีกทั้งมาเลเซียก็มีความสัมพันธ์กับกลุ่มฮามาสมาตั้งนานแล้ว และประเทศจะคงความสัมพันธ์กับกลุ่มฮามาสต่อไป

ทั้งนี้ มาเลเซียถือเป็นหนึ่งในชาติที่มีความสัมพันธ์อันดีกับกลุ่มฮามาส และให้การสนับสนุนชาวปาเลสไตน์มาเป็นเวลานาน อีกทั้งมาเลเซียก็ไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอล

‘นายกฯ มาเลเซีย’ ย้ำ!! พร้อมเคียงข้างปาเลสไตน์ ไม่สนแม้ถูกกดดัน - เสี่ยงโดนสหรัฐฯ คว่ำบาตร

(7 พ.ย. 66) นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เน้นย้ำถึงสิทธิของปาเลสไตน์ในการปกป้องตนเอง และกล่าวว่ามาเลเซียจะยังคงความสัมพันธ์กับกลุ่มฮามาสต่อไป แม้ว่าจะถูกกดดันจากสหรัฐก็ตาม

นายอันวาร์กล่าวต่อรัฐสภาในวันนี้ (7 พ.ย.) ว่า ความพยายามของสหรัฐฯ ที่จะหยุดยั้งประเทศอื่น ๆ ไม่ให้สนับสนุนกลุ่มฮามาสเป็นการกระทำฝ่ายเดียว และมาเลเซียจะไม่ยอมรับในเรื่องนี้ พร้อมระบุว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นคือสิทธิอันชอบธรรม และเป็นการต่อสู้ของชาวปาเลสไตน์”

คำพูดดังกล่าวของนายอันวาร์คือการตอบคำถามจากสมาชิกสภานิติบัญญัติฝ่ายค้านที่ต้องการทราบจุดยืนของมาเลเซียที่มีต่อกฎหมายป้องกันการสนับสนุนทางการเงินระหว่างประเทศแก่กลุ่มฮามาส (Hamas International Financing Prevention Act) ของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ซึ่งได้รับการอนุมัติเมื่อวันที่ 1 พ.ย. โดยกำหนดมาตรการคว่ำบาตรต่อบุคคล องค์กร และรัฐบาลประเทศใด ๆ ที่ให้สนับสนุนกลุ่มฮามาส กลุ่มญิฮาดอิสลามปาเลสไตน์ หรือกลุ่มอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า สหรัฐฯ เป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 3 ของมาเลเซีย โดยในปีที่แล้ว การค้าทวิภาคีมีมูลค่ารวมประมาณ 7.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งความตึงเครียดใด ๆ ก็ตามในความสัมพันธ์ อาจส่งผลกระทบต่อเงื่อนไขทางการค้าได้

“ผมจะไม่ยอมรับการข่มขู่ใด ๆ ทั้งสิ้น รวมถึงเรื่องนี้ด้วย” นายอันวาร์กล่าว “นี่เป็นการกระทำแต่เพียงฝ่ายเดียว และเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะว่าเรา ในฐานะสมาชิกของสหประชาชาติ จะยอมรับเฉพาะการตัดสินใจของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเท่านั้น”

นายอันวาร์กล่าวเสริมว่า มาเลเซียจะให้การสนับสนุนความพยายามของประเทศใด ๆ ก็ตาม รวมถึงปาเลสไตน์ ในการนำอิสราเอลขึ้นดำเนินคดีในศาลอาญาระหว่างประเทศ

‘ครม.’ เคาะงบฯ 5.37 ล้านเหรียญฯ พัฒนาพลังงาน ‘ไทย-มาเลย์ฯ’ หวังสร้างความมั่นคง-เสถียรภาพด้านพลังงาน-เศรษฐกิจให้ประเทศ

(14 พ.ย. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณ จำนวน 5,375,000 เหรียญสหรัฐ และแผนการดำเนินงานประจำปี 2567 ขององค์กรร่วมไทย - มาเลเซีย

แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน จำนวน 5,250,900 เหรียญสหรัฐ และค่าใช้จ่ายที่เป็นทุน จำนวน 124,100 เหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นงบประมาณเพิ่มขึ้นจากปี 2566 จำนวน 375,000 เหรียญสหรัฐ

-ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (OPEX) เพิ่มขึ้น 8.6% เทียบเท่า 414,800 เหรียญสหรัฐ
-ค่าใช้จ่ายที่เป็นทุน (CAPEX) ลดลง 24.3% เทียบเท่า 39,800 เหรียญสหรัฐ

นางรัดเกล้ากล่าวว่า โดยแผนการดำเนินงานในปี 2567 ประกอบด้วย ด้านการสำรวจและการประเมินผล ด้านการพัฒนาปิโตรเลียม และด้านการผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย - มาเลเซีย เช่น เจาะหลุมพัฒนา จำนวน 8 หลุม รักษาระดับการผลิตก๊าซธรรมชาติที่เรียกรับสูงสุดในอัตรา 869 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

ดำเนินการเจาะหลุมพัฒนาตามแผนพัฒนาแหล่งในระยะที่ 6 จำนวน 17 หลุม รักษาระดับอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติที่เรียกรับสูงสุดในอัตรา 308 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซ่อมแซมหลุมผลิตเดิมและเจาะผนังหลุมเพิ่ม เพื่อรักษาอัตราการผลิตของหลุม

นางรัดเกล้ากล่าวว่า ทั้งนี้ให้รับความเห็นของกระทรวงการคลังที่ให้คำนึงถึงประเด็นความคุ้มค่า ต้นทุนและผลประโยชน์ เสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม

ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของรัฐด้วย และความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ให้กระทรวงพลังงานเร่งรัดการเสนองบประมาณและแผนการดำเนินงานประจำปีขององค์กรร่วมไทย - มาเลเซีย ต่อคณะรัฐมนตรีตามกรอบระยะเวลา ข้อ 3 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2536) ออกตามความในพระราชบัญญัติองค์กรร่วมไทย - มาเลเซีย พ.ศ. 2533 กำหนด ไปดำเนินการอย่างเคร่งครัดต่อไปด้วย

'นักวิเคราะห์' หวั่น!! 'แลนด์บริดจ์' สะเทือนมาเลเซีย เชื่อ!! อาจทำ 'ท่าเรือกลัง' ยอดให้บริการวูบ 20%

(25 พ.ย.66) หลังจากที่ นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ได้เดินทางไปนำเสนอโครงการ Land Bridge (แลนด์บริดจ์) ต่อกลุ่มนักลงทุนต่างชาติในการประชุมสุดยอดความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ที่ซานฟรานซิสโก ซึ่งเป็นโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทย-อันดามัน ที่จะกลายเป็นเส้นทางการค้าทางเลือกผ่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีรูปแบบการขนส่งเชื่อมสองท่าเรือให้โยงถึงกันอย่างไร้รอยต่อ

ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการขนส่งทางน้ำให้มีความทันสมัย และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจกับนานาประเทศ 

เนื่องจากโครงการ ‘แลนด์บริดจ์’ นี้จะสร้างข้ามมาจากภาคใต้ของไทย เพื่อเชื่อมระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งจะเป็นการค้าทางเรือที่เลี่ยงผ่านมาเลเซียและสิงคโปร์ไป โดยที่เรือไม่ต้องแล่นลงไปตามปลายสุดของสิงคโปร์ผ่านช่องแคบมะละกา หนึ่งในท่าเรือที่พลุกพล่านที่สุดในโลก

มุมมองและความคิดเห็นของนักวิเคราะห์และนักวิชาการ Free Malaysia Today หรือ FMT ในมาเลเซียรายงานว่า แลนด์บริดจ์ของไทยอาจทำให้ท่าเรือมาเลเซียพ่ายแพ้ทางการเงินได้ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางคนกล่าวว่า

สายการเดินเรือจะได้รับประโยชน์จากเส้นทางลัดระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ตามที่นักวิเคราะห์ระบุ ท่าเรือกลังมีแนวโน้มที่จะประสบกับความพ่ายแพ้ทางการเงินที่สำคัญ แต่ท่าเรือปีนังอาจได้รับผลประโยชน์จากสะพานแลนด์บริดจ์ทางภาคใต้ของประเทศไทย 

Karisma Putera Rahman แห่งสถาบันวิจัย Bait Al-Amanah กล่าวว่า อาจเห็นท่าเรือกลังที่ทำหน้าที่เป็น ‘ผู้เฝ้าประตู’ ของช่องแคบมะละกา และเป็นช่องทางเดินเรือที่พลุกพล่านที่สุดในโลก อาจมีการลดบริการจัดการสินค้าลงถึง 20% แต่ในทางกลับกัน นอร์ดิน อับดุลละห์ (Nordin Abdullah) รองประธานหอการค้าออสเตรเลีย-อาเซียน กล่าวว่า ปีนังอาจได้รับประโยชน์จาก ‘ทางลัด’ ระหว่างทะเลอันดามันและอ่าวไทย เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้กับประเทศไทย 

อีกทั้งจากคำแถลงของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ที่ว่า ประเทศไทยกำลังพิจารณาข้อเสนอใหม่ในการฟื้นฟูโครงการที่มีอายุหลายศตวรรษ พร้อมกล่าวปราศรัยกับนักลงทุนนอกรอบการประชุมสุดยอดความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ที่ซานฟรานซิสโก ว่า เส้นทางภาคพื้นดินนี้จะสามารถลดเวลาการเดินทางของเรือได้ถึง 4 วัน และลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 15%

>> ย้อนอดีตเชื่อมสองฝั่งทะเล

แนวคิดเรื่องการทำเส้นทางตรงระหว่างผืนน้ำทั้งสองที่ประกบกับคลองกระ ซึ่งเป็นแถบแผ่นดินที่เชื่อมต่อกับคาบสมุทรมลายู เคยถูกเสนอมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อปี พ.ศ. 2220 แต่แทนที่จะทำเพื่อการค้าขาย กลับกลายเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ทางทหาร เพื่อให้สามารถเคลื่อนกำลังทหารได้อย่างรวดเร็ว ในกรณีที่มีการรุกรานโดยอาณาจักรพม่า (เมียนมา) ที่อยู่ใกล้เคียง

ทั้งนี้ ตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา ชาวฝรั่งเศสและชาวอังกฤษยังพิจารณาแนวคิดนี้ด้วยเหตุผลทางการค้า แต่มุ่งเน้นไปที่การขุดคลองมากกว่าการสร้างเส้นทางบก อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้นทั้งสิ้น

Karisma Putera Rahman คาดว่า ช่องแคบมะละกาจะเต็มความจุภายในปี 2573 สะพานแลนด์บริดจ์จะทำหน้าที่เป็นเส้นทางทางเลือกในอุดมคติสำหรับการจราจรทางทะเล อย่างไรก็ตาม มันจะเป็นการเปลี่ยนเส้นทางสินค้าส่วนใหญ่ออกจากท่าเรือกลัง (Klang Port) ซึ่งจะนำไปสู่การสูญเสียสายการเดินเรือในท้องถิ่น และเป็นอันตรายต่อสถานะทางการเงินที่ไม่มั่นคงอยู่แล้วของท่าเรือนี้

ทั้งยังคาดการณ์ว่า 15-20% ของการขนส่งสินค้าจะถูกเปลี่ยนเส้นทางจากมาเลเซียและสิงคโปร์ทันทีที่สะพานแลนด์บริดจ์เปิดใช้งาน พร้อมเสริมว่า “จากปริมาณปี 2565 ของท่าเรือกลัง อยู่ที่ 13.22 ล้านหน่วยเทียบเท่า (TEU) ซึ่งสร้างรายได้ประมาณ 2.4 พันล้านริงกิตนั้น คาดว่ารายรับจะลดลงจาก 360 ล้านริงกิต ถึง 480 ล้านริงกิต” 

>> ข้อได้เปรียบสำหรับปีนัง มาเลเซีย

นอร์ดิน อับดุลละห์ (Nordin Abdullah) รองประธานหอการค้าออสเตรเลีย-อาเซียน กล่าวว่า หากท่าเรือปีนังดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ ก็อาจเป็นทางเลือกสำหรับผู้ขนส่งในการขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อขนส่งทางรถไฟมายังประเทศไทย “แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่าท่าเรือในประเทศไทยหรือไม่ เป็นเรื่องเกี่ยวกับนวัตกรรม ความสามารถในการแข่งขัน และความสามารถในการเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานระดับโลก” เขากล่าวเสริม 

แม้ว่าผลกระทบของสะพานแลนด์บริดจ์อาจก่อให้เกิดความกังวลในมาเลเซีย แต่ก็มีบางคนที่ไม่กังวลมากนัก

Alvin Chua รองประธานสมาพันธ์ผู้ขนส่งสินค้าแห่งมาเลเซีย กล่าวว่า ต้นทุนเพิ่มเติมในการขนถ่ายสินค้าที่ท่าเรือไทยทั้งสองแห่ง น่าจะช่วยในเรื่องความประหยัดจากระยะเวลาเดินทางที่สั้นลงได้พอๆ กัน พร้อมเสริมว่า “การขนถ่ายสินค้ามีราคาแพง โดยอาจมีราคาอยู่ที่ 125,000 ถึง 150,000 เหรียญสหรัฐต่อลำ ต่อวัน” นอกจากนี้ กระบวนการใหม่นี้จะต้องใช้เรือสองลำแทนที่จะเป็นลำเดียวในการส่งสินค้าไปยังจุดหมายปลายทาง

Karisma Putera Rahman เห็นด้วยว่า กระบวนการเทียบท่า การขนส่งสินค้าทางถนนเป็นระยะทางมากกว่า 100 กม. จากนั้นก็บรรจุลงเรืออีกลำหนึ่งนั้น อาจลดปริมาณการใช้งานสะพานแลนด์บริดจ์ลงได้ “ดังนั้น ผลกระทบที่แท้จริงทางเศรษฐกิจของโครงการดังกล่าวต่อมาเลเซีย จึงยังคงไม่แน่นอน จับต้องไม่ได้” Karisma กล่าวเสริม

>> ผลกระทบต่อภูมิรัฐศาสตร์
โครงการดังกล่าวยังคงทำให้เกิดข้อกังวลด้านภูมิรัฐศาสตร์ในวงกว้างมากขึ้น เส้นทางภาคพื้นดินจะช่วยให้เรือของจีนสามารถเลี่ยงท่าเรือของมาเลเซียได้ ซึ่งถือเป็นการประนีประนอมกับชิปต่อรองที่มาเลเซียมีในความสัมพันธ์ทวิภาคีกับจีน 

Karisma Putera Rahman กล่าวอีกว่า “นี่อาจทำให้ความสามารถในการสร้างสมดุลความสัมพันธ์ที่มีระหว่างมหาอำนาจทั้งสองของมาเลเซียเกิดความซับซ้อนมากขึ้น และอาจทำให้ความสามารถในการดำเนินการตามกลยุทธ์การป้องกันความเสี่ยง เพื่อผลประโยชน์ของประเทศมีความซับซ้อน เนื่องจากมาเลเซียมีบทบาทในฐานะพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ที่ครอบคลุมสำหรับสหรัฐฯ และจีน”

ด้าน นอร์ดิน อับดุลละห์ (Nordin Abdullah) มองว่านี่เป็น ‘การเคลื่อนไหวที่ชาญฉลาด’ ของไทย ในการรับประกันการพัฒนาเศรษฐกิจทั้งในและรอบๆ ท่าเรือทั้งสองแห่ง และกล่าวเพิ่มเติมว่า “ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ดำเนินการหลายอย่าง เพื่อปรับปรุงภาวะเศรษฐกิจในภาคใต้ แต่ตอนนี้ได้แต่หวังเพียงว่าจะสามารถดำเนินการไปได้อย่างรวดเร็ว” 

หลังจากได้มีการเสนอโครงการนี้ให้กับนักลงทุนจากประเทศจีนและซาอุดิอาระเบีย นายกฯเศรษฐา กล่าวว่า โครงการนี้จะสามารถสร้างงานได้ 280,000 ตำแหน่ง และเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยได้ถึง 5.5%


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top