Sunday, 28 April 2024
ประชุมสภา

'อนุชา' ปัด 'พปชร.' ล็อบบี้พรรคร่วมฯ ล้มอภิปราย ม.152 ชี้ ที่บรรยากาศเงียบเหงา เพราะทุกคนโฟกัสการหาเสียง

(13 ก.พ. 66) เมื่อเวลา 09.30 น. นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ปรึกษาและคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ล็อบบี้พรรคร่วมรัฐบาล ไม่ลงชื่อเข้าร่วมการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามมาตรา 152 ในวันที่ 15-16 ก.พ.นี้ ว่า ขอรับประกันว่าไม่มีเรื่องนี้ ยืนยันว่ารัฐบาลไม่กลัวการตรวจสอบ เนื่องจากเป็นเรื่องการเมืองตามปกติ ดังนั้น ต้องขึ้นอยู่กับสภาฯ แต่ตนเองก็พยายามที่จะดูแลอยู่แล้ว ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าร่วมประชุมทุกครั้ง แต่ก็ยอมรับว่า ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลมีปัญหาเกิดขึ้น ทำให้สภาฯ ไม่ครบองค์ประชุม และต่างฝ่ายต่างโยนปัญหากันไปมา ซึ่งเรื่องนี้ส่วนตัวมองว่า เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ทำให้สภาฯ ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ

'เพื่อไทย' ขู่!! เตรียมเปิดเวทีนอกสภาฯ แก้เกมรัฐบาลไม่ร่วมองค์ประชุมล้มซักฟอก

‘เพื่อไทย’ แก้เกมรัฐบาล ทำองค์ประชุมล่ม หนีซักฟอก ขู่!! เปิดอภิปรายนอกสภาฯ เตรียม35 ขุนพลรอถล่ม พร้อมแฉ ‘ทุจริต-ธุรกิจสีเทา’ ย้อน!! ส.ว.สายแข็ง เคารพเสียงประชาชน ควรโหวตนายกฯ หากเพื่อไทยได้เสียงเกินครึ่ง

(13 ก.พ. 66) ที่พรรคเพื่อไทย คณะแกนนำพรรคเพื่อไทย ที่มีบทบาทต่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลโดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา152 ตามที่มีการบรรจุญัตติกำหนดการอภิปรายวันที่ 15-16 ก.พ. ร่วมแถลงข่าวความคืบหน้าการเตรียมความพร้อม

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่านและหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การอภิปรายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 โดยไม่มีการลงมติ วันที่ 15-16 ก.พ. ใช้เวลารวม 32 ชั่วโมง การอภิปรายครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายในสมัยอายุของสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 ในญัตติโดยรวมจะสอบถามข้อเท็จจริง เสนอแนะแก้ปัญหาจากการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา โดยเฉพาะนโยบายเร่งด่วน 12 ประการ ซึ่งมีข้อเท็จจริงปรากฏว่า ไม่สามารถดำเนินการตามนโยบายได้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน รัฐบาลต้องตอบคำถามให้กับพี่น้องประชาชนในหลายเรื่องที่ไม่มีความชัดเจน เช่น กรณีธุรกิจสีเทา ภัยด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี การทุจริตคอร์รัปชัน จะถูกหยิบยกขึ้นมา ขอตั้งชื่อการอภิปรายครั้งนี้ว่า ยุทธการกระชากหน้ากากคนดี มาจากที่สื่อมวลชนตั้งชื่อรัฐบาลหน้ากากคนดี เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รู้ว่า หน้ากากคนดีที่แท้จริงเป็นอย่างไร

นพ.ชลน่านกล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่ได้รับรู้มาคือจะมีการปิดกั้นไม่ให้อภิปรายจากการที่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลจะไม่เป็นองค์ประชุม ส่วนตัวเชื่อว่าจะไม่เกิดขึ้น เชื่อว่าฝ่ายนิติบัญญัติที่มีหน้าที่เป็นผู้แทนประชาชนจะไม่กระทำการใดที่เป็นการทำลาย แต่ถ้าเกิดขึ้นจริง พร้อมจะกำหนดวันอภิปรายนอกสภา ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อรัฐบาลที่ไม่มีโอกาสตอบข้อเท็จจริง หากเกิดกรณีดังกล่าวจริงอาจถือเป็นการปิดกั้นไม่ให้มีการตรวจสอบ เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ฝ่ายกฎหมายของพรรคจะเตรียมพร้อมไว้ และจะเป็นประเด็นที่นำเสนอต่อพี่น้องประชาชนได้อย่างดียิ่ง โดยเฉพาะคนที่เสนอตัวเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี แต่กลับไม่ทำตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

‘บิ๊กตู่’ ตอบโต้ ‘ฝ่ายค้าน’ จะกล่าวหาใครต้องมีหลักฐาน-ตรวจสอบให้ชัด อย่ามาพูดตีกินให้เสียหาย ยันไม่เคยเอื้อประโยชน์ใคร

เมื่อวานนี้ (15 ก.พ. 66) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายศุภชัย​ โพธิ์​สุ​ รองประธานสภาฯ คนที่สอง ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาญัตติการอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลุกขึ้นชี้แจงเป็นครั้งแรก ว่า ฟังมาตั้งแต่เช้า มีหลายท่านที่แสดงความคิดเห็น ทั้งแนะนำ กล่าวหา ติเตือน หลายอย่างอยากบอกว่าที่ท่านพูดมาทั้งหมด ด้านเศรษฐกิจทำมาหมดแล้ว แต่ยังไม่เกิดผลผูกพัน ก็เอามาตีกินกันตรงนี้ ที่พูดมาทั้งหมดเวลารัฐบาลพูดท่านก็ไม่ฟัง กระทรวงการคลังชี้แจง หน่วยงานชี้แจงก็ไม่ได้ฟังอีก

"เพราะฉะนั้นนโยบายอะไรของท่าน เมื่อท่านเป็นรัฐบาลท่านก็ทำเถอะครับ ถ้าท่านได้เป็นนะ" นายกฯ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ส่วนการดูแลพี่น้องประชาชนทุกภาคส่วน เราทำตั้งแต่ฐานราก ทั้งเอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ กองทุนหมู่บ้าน ประชาชนที่มีรายได้น้อยมีการแก้ปัญหาความยากจนแบบมุ่งเป้า ท่านลองไปศึกษาดู ถ้ามันง่ายอย่างที่ท่านพูดมาก็คงทำไปนานแล้วสมัยก่อนท่านก็ทำไม่ได้

‘แรมโบ้’ จวก ฝ่ายค้านอภิปรายน้ำท่วมทุ่ง - พูดวนเรื่องเดิมๆ ซัด!! ‘บิ๊กตู่’ ต้องตามเช็ดปัญหาจากอดีตนายกฯ หัวหน้าคอก

(16 ก.พ. 66) นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การอภิปรายของฝ่ายค้านตั้งแต่เมื่อวาน (15 กุมภาพันธ์ 2566) ผ่านมาจนถึงวันนี้ ยังไม่มีเรื่องอะไรที่น่าติดตามและเป็นเรื่องใหม่ที่น่าสนใจ มีแต่การอภิปรายเพื่อหาเสียงตีกินทางการเมือง เพื่อเตรียมการเลือกตั้งเท่านั้น การอภิปรายแต่ละเรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องเก่าที่นายชูวิทย์ได้เคยพูดไว้ เหมือนการลอกการบ้านนายชูวิทย์มาอภิปราย ซึ่งเป็นเรื่องเก่าที่นายกฯ ได้เคยสั่งการไปหมดแล้ว และทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้ดำเนินการตามกระบวนการขั้นตอนกฎหมายจนหมดแล้ว แต่ฝ่ายค้านก็ยังหยิบยกเรื่องเหล่านี้มาอภิปราย จนทำให้ประชาชนเบื่อหน่ายไม่มีอะไรที่น่าฟังน่าติดตาม

“การอภิปรายครั้งนี้เป็นการอภิปรายแบบน้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงแหรง เป็นการหาเสียงตีกินทางการเมืองเท่านั้น พี่น้องประชาชนฝากบอกมาว่าเสียเวลา ปิดทีวีเปลี่ยนช่องไปดูละครจะดีกว่า ไม่อยากฟังฝ่ายค้านอภิปรายสิ่งที่ไม่มีเนื้อหาสาระ ซึ่งไม่มีข้อมูลอะไรที่เป็นข้อมูลใหม่ การอภิปรายครั้งนี้เป้าหมายคือจะโจมตีนายกฯ และรัฐบาลแต่ท่านนายกได้ตอบชัดเจนในเรื่องที่เกิดขึ้นเหล่านี้ล้วนเกี่ยวโยงมาจากรัฐบาลในอดีตที่มีนายกเจ้าของคอกได้สร้างขึ้นไว้ตั้งแต่ในยุคนั้น การแก้ไขปัญหาส่วนใหญ่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องมารับปัญหา ตามล้างตามเช็ด และแก้ไขปัญหา ที่ผู้นำในอดีตได้ก่อไว้” นายเสกสกล กล่าว

'ศักดิ์สยาม' ตอบหมด 6 ปมฝ่ายค้าน พร้อมตอกหน้า!! โชว์อันดับ Logistic Performance Index ไทยดีขึ้น

(17 ก.พ. 66) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร 16 ก.พ.66 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ชี้แจงการดำเนินการของกระทรวงคมนาคม โดยยืนยันว่า ได้บริหารด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและโปร่งใสมาตลอด รวมทั้งได้กำหนดเป็นนโยบายให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ มติคณะรัฐมนตรี และหลักธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัด ตลอดระยะเวลาเกือบ 4 ปีที่ผ่านมาได้ผลักดันการดำเนินการสำคัญจนมีผลเป็นรูปธรรมถึง 79 นโยบาย 157 โครงการ ซึ่งสิ่งที่สะท้อนถึงผลงานของกระทรวงคมนาคมตลอดช่วงเวลาดังกล่าวได้เป็นอย่างดี คือ ผลการจัดอันดับ Logistic Performance Index โดยธนาคารโลก ที่ไทยได้รับการจัดอันดับสูงขึ้นกว่าเดิมถึง 13 อันดับ โดยปรับจากอันดับที่ 45 มาเป็นอันดับที่ 32

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า 1.) ประเด็นการต่อขยายสัญญาทางด่วนขั้นที่ 2 และทางพิเศษสายบางปะอิน-ปากเกร็ด จากการสอบถามการทางพิเศษแห่งประเทศไทย มูลหนี้ที่มีการอภิปรายว่า หากแพ้คดีกับเอกชนผู้รับสัมปทาน จะมีมูลค่าสูงถึงประมาณ 3 แสนล้านบาทนั้น เป็นมูลค่าที่สูงกว่าข้อเท็จจริง ที่จะมีมูลหนี้จำนวน 1.37 แสนล้านบาท และการทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้เจรจาต่อรองจนเหลือ 7.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นฐานที่เอามาคำนวณขยายระยะเวลาสัญญา

นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มเงื่อนไขให้ประชาชนขึ้นทางด่วนฟรี ในวันหยุดนักขัตฤกษ์ โดยจะมีประชาชนได้รับประโยชน์ เป็นจำนวน 19 วันต่อปี หรือ 300 วัน ตลอดระยะเวลาสัมปทาน คิดเป็นมูลค่า 10,867.50 ล้านบาท ส่วนตัวเลขการขาดทุนที่มีการอภิปรายว่าจะมีการขาดทุน 65,000 ล้านบาทนั้น เป็นตัวเลขทางบัญชีเท่านั้น สถานะทางการเงินในภาพรวมที่แท้จริงยังมีผลประกอบการที่กำไรทุกปี โดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทยสามารถนำเงินส่งรัฐปีละประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท มาอย่างต่อเนื่อง สุดท้ายนี้ กรณีการขยายสัญญาตามมติคณะรัฐมนตรีชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง ที่ยังไม่ได้มีข้อสรุป

2.) ประเด็นการไม่บันทึกบัญชีที่ดินเขากระโดง ในงบการเงินของการรถไฟแห่งประเทศไทย เนื่องจาก การบันทึกบัญชีที่ดินในงบการเงิน จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 16 เรื่องที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ ซึ่งจะต้องเป็นที่ดินที่ไม่มีปัญหาการโต้แย้งกรรมสิทธิ์ ดังนั้น ในกรณีที่ดินบริเวณเขากระโดง จึงได้บันทึกเฉพาะที่ดิน จำนวน 69.19 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินเส้นทางเดินรถแยกจากสถานีรถไฟบุรีรัมย์เข้าไปที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย บริเวณเขากระโดง ซึ่งไม่มีปัญหาการโต้แย้งกรรมสิทธิ มีข้อมูลครบถ้วน ชัดเจน สำหรับพื้นที่ที่เหลือในจำนวน 5,083 ไร่ ที่ยังไม่ได้บันทึกทะเบียนสินทรัพย์ นั้น เป็นที่ดินที่ยังมีปัญหาการโต้แย้งกรรมสิทธิ และอยู่ระหว่างกระบวนการพิสูจน์สิทธิ ทำให้ไม่สามารถลงบันทึกในทะเบียนสินทรัพย์ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 16 ได้ ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ฟ้องเพื่อพิสูจน์สิทธิต่อศาลปกครองกลางไปแล้ว ทั้งนี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมไม่เคยเข้าไปแทรกแซงการดำเนินการของการรถไฟแห่งประเทศไทยแต่อย่างใด

3.) ประเด็นการเตรียมการรองรับผู้โดยสารที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมินายศักดิ์สยาม ได้ลงพื้นที่ตรวจสภาพปัญหาความแออัดคับคั่งของผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พร้อมมอบนโยบายการแก้ไขปัญหา โดยได้เตรียมความพร้อมอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวในด้านต่าง ๆ รวมถึงได้เปิดให้บริการจุดเช็กอินด้วยตนเองอัตโนมัติ (Common Use Self Check-In: CUSS) และจุดโหลดกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ (Common Use Bag Drop: CUBD) บริเวณโถงผู้โดยสารขาออก ชั้น 4 อาคารผู้โดยสาร เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาความแออัดคับคั่งบริเวณเคาน์เตอร์เช็กอิน ซึ่งสถานการณ์การให้บริการในปัจจุบันดีขึ้นอย่างมาก

รวมทั้ง ได้แก้ไขปัญหาความล่าช้าในการรอสัมภาระในระยะเร่งด่วน โดยให้บริษัทผู้ให้บริการภาคพื้น ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทั้ง 2 ราย มีการเพิ่มจำนวนบุคลากรและอุปกรณ์ให้สอดคล้องกับจำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากการเปิดประเทศ รวมทั้ง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ได้ขยายระยะเวลาให้บางสายการบินบริการภาคพื้นด้วยตนเอง เป็นการชั่วคราว สำหรับการแก้ไขปัญหาในระยะยาว บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) อยู่ระหว่างการสรรหาผู้ให้บริการภาคพื้นเพิ่มเติม เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น และเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับปริมาณเที่ยวบิน จำนวนผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคตได้อย่างยั่งยืน

‘เพื่อไทย’ จี้ รบ. นำ พ.ร.บ.เช็ค ขึ้นพิจารณา ลั่น!! พร้อมร่วมประชุมถก กม. ที่ค้างหลายฉบับ

(22 ก.พ. 66) ที่รัฐสภา พรรคเพื่อไทย นำโดย น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. และโฆษกพรรค นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ และรองหัวหน้าพรรค น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ ส.ส.เลย และนายกฤษดา ตันเทอดทิตย์ ส.ส.หนองคาย รับหนังสือจาก น.ส.สมหญิง รัตนุ่มน้อย เรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎร เร่งรัดพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยกเลิกพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 เพื่อให้มูลความผิดของผู้ที่ไม่มีเจตนาทุจริตในการสั่งจ่ายเช็ค มีโทษเพียงทางแพ่ง แต่ไม่มีโทษอาญาที่ต้องถูกปรับ และจำคุกอีกต่อไป

นายจุลพันธ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ตนได้ประสานงานกับผู้ได้รับผลกระทบมาสักระยะแล้ว โดยประชาชนที่เดือดร้อนได้เรียกร้องผ่าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้ช่วยเร่งรัดกระบวนการทางกฎหมายที่ค้างในสภาฯ ซึ่งนพ.ชลน่าน ได้นำเรื่องปรึกษาประธานสภาฯ เพื่อหาวิธีการเลื่อนระเบียบวาระขึ้นมาพิจารณา เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องเดือดร้อนของประชาชน อย่างไรก็ตาม พรุ่งนี้ (23 ก.พ.) เป็นวันสุดท้ายของการประชุมสภาฯ ในสมัยประชุมนี้ ตนจึงหวังว่าจะมีการเปิดประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญ หากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นว่ากฎหมายที่ค้างอยู่หลายฉบับเป็นสิ่งสำคัญ พวกเราส.ส.พรรคเพื่อไทย ยินดี และพร้อมทำงาน ซึ่งหากพิจารณาวาระแรกได้ เมื่อรัฐบาลหน้าเข้ามาค่อยว่ากันต่อ พรรคเพื่อไทย ยืนยันว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ ถ้าเลือกตั้งเสร็จแล้วพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล เราจะยืนยันกฎหมายฉบับนี้ เพื่อแก้ไขให้ประชนชนที่ได้รับผลกระทบไม่ต่ำกว่า 5 ล้านราย

‘ชาดา ไทยเศรษฐ์’ ชี้!! อย่าหลงระเริงกับ 14 ล้านเสียง หากเป็นนายกฯ ต้องดูแลคนกว่า 60 ล้านคน

(13 ก.ค.66) ที่รัฐสภาฯ การประชุมร่วมกัน พิจารณาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย ได้ลุกขึ้นอภิปรายโหวต โดยในบางช่วงบางตอนระบุว่า…

“คนไทยไม่ได้มีแค่ 14 ล้าน คนไทยไม่ได้มี 25 ล้าน ท่านต้องเป็นนายกฯ ของคน 60 กว่าล้านคน เป็นนายกฯ ของประเทศไทย ไม่ใช่ของพรรคใดพรรคหนึ่ง ท่านอย่าหลงระเริงคำว่า 14 ล้านเสียง มันไม่ถึง 20% มันไม่ใช่เรื่องชี้ขาดของประเทศนี้”

‘พิธา’ มั่นใจ!! ตนยังมีคุณสมบัติ สมบูรณ์แบบทุกประการ ด้วยความชอบธรรม

(13 ก.ค. 66) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคก้าวไกล พูดอภิปรายในรัฐสภา วาระการเสนอชื่อบุคคลเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ระบุว่า..

“ผมยังคงมีคุณสมบัติ สมบูรณ์แบบทุกประการ ด้วยความชอบธรรม”

‘ส.ว.ประพันธ์’ กางข้อกฎหมายคุณสมบัติ ชี้ชัด ‘พิธา’ ขาดคุณสมบัติตั้งแต่ต้น

(13 ก.ค.66) ที่รัฐสภา นายประพันธ์ คูณมี สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อภิปรายต่อที่ประชุมรัฐสภา เพื่อคัดค้านชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นนายกฯ โดยระบุว่า นายพิธาเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 และ มาตรา 160 ประกอบกับมาตรา 98 (3) การเสนอชื่อดังกล่าวถือว่าขัดกับข้อบังคับข้อ 136

นายประพันธุ์ กล่าวด้วยว่ากรณีของนายพิธา ถูกคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยประเด็นสมาชิกภาพของนายพิธา ได้สิ้นสุดตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญได้ลงรับในทางธุรการ และเตรียมเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาสัปดาห์ เป็นข้อเท็จจริงที่ปราศจากข้อสังสัยว่า นายพิธามีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ 

“การพิจารณาของสภาฯ มีหน้าที่พิจารณาว่าหัวหน้าพรรคเพื่อไทยเสนอชื่อนายพิธานั้น เป็นการเสนอชื่อบุคคลที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและข้อบังคับหรือไม่และมีปัญหาคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ แม้มีคนแย้งว่าคำชี้ขาดของศาลไม่เป็นที่สุดจะพิจารณาแบบนั้นไม่ได้ แต่ผมมองว่าปัญหานี้ไม่จำเป็นต้องรอคำวินิจฉัย เพราะปัญหาคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส. เป็นคุณสมบัติเดียวกันกับคนที่เป็นนายกฯ เป็นเรื่องที่วิญญูชน บุคคลทั่วไปวินิจฉัยได้ ไม่จำเป็นต้องถามศาล เพราะมีวิจารณญาณพิจารณาได้เองซึ่งท่านสามารถรู้ได้เองเหมือนกับว่าท่านจบ ม.6 หรือไม่” นายประพันธุ์ กล่าว

นายประพันธุ์ กล่าวด้วยว่า รัฐสภาไม่อาจรับชื่อของนายพิธาไว้พิจารณาลงคะแนนเสียงได้ เพราะคุณสมบัติขัดต่อกฎหมายและมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ หากรัฐภาลงมติพิจารณา ย่อมขัดกับรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมรัฐสภา เพราะคนที่พิจารณาย่อมถือว่ารู้อยู่แล้วว่าและจงใจทำผิดและฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับของการประชุมรัฐสภา หากดึงดันอาจจะถูกร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 231(1) จงใจปฏิบัติหน้าที่ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม ส่วนกรณีที่ ส.ว.จะลงมติอาจจะมีปัญหาต่อการทำผิดประมวลจริยธรรมเช่นเดียวกัน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top