Sunday, 28 April 2024
ประชุมสภา

‘กัณวีร์’ เผยความรู้สึก หลังศาล รธน. สั่ง ‘พิธา’ หยุดปฏิบัติหน้าที่ ลั่น!! ไม่ยอมแพ้ ขอเคียงข้าง ‘ก้าวไกล’ พร้อมจับมือสู้ไปด้วยกัน

กัณวีร์ พรรคเป็นธรรม เผยความรู้สึก นั่งอยู่ในสภา หลัง ศาลรธน. สั่ง พิธา หยุดปฏิบัติหน้าที่ ปมถือหุ้นไอทีวี ลั่นอย่ายอมแพ้ขวากหนามขวางกั้น

(19 ก.ค. 66) หลังศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์รับคำร้องวินิจฉัยคุณสมบัติ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากเหตุมีชื่อถือครองหุ้นสื่อบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น พร้อมมีคำสั่งให้นายพิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ส.สตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค.66 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

นายกัณวีร์ สืบแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ เลขาธิการพรรคเป็นธรรม โพสต์ข้อความผ่านทางทวิตเตอร์ กัณวีร์ สืบแสง Kannavee Suebsang ระบุว่า…

“ตัวผมเองนั่งอยู่ในสภาฯ แต่ความรู้สึกคงไม่ต่างจากพี่น้องประชาชนที่อยู่ด้านนอกครับ

อย่างไรก็ตาม อย่ายอมแพ้กับขวากหนามที่มาขวางกั้นประชาธิปไตยของประเทศไทย และกฏเกณฑ์ที่ถูกสร้างมาเพื่อเอื้อให้กับอำนาจนิยม คนไทยยังต้องการเห็นประชาธิปไตยของประชาชนครับ!! จับมือไปด้วยกัน!! ส่งกำลังใจครับ

ขณะเดียวกัน กัณวีร์ ยังได้โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก ระบุว่า ความสง่างามทางการเมืองไทย คือการเคารพเสียงมติมหาชนและปฏิบัติตามกฎหมาย ตามครรลองระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง

อย่ายอมแพ้กับขวากหนามที่มันมาขวางกั้น การนำพาประเทศชาติให้หลุดพ้นจากพันธนาการที่ฉุดรั้งประชาธิปไตยของประเทศไทย

อย่าหยุดยั้ง เพราะกฏเกณฑ์ระเบียบที่ถูกสร้างมาเอื้อให้กับอำนาจนิยม ที่จะหยุดการพัฒนาประเทศที่มีประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง

ให้กำลังใจ คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หยุดปฏิบัติหน้าที่แค่ชั่วคราว แล้วค่อยกลับมาอย่างสง่างามครับ ประชาชนยังต้องการเห็นประชาธิปไตยที่เป็นของประชาชน

‘หมิว สิริลภัส’ โต้!! ปมถูกกล่าวหาลักลอบเอาข้าวสภาฯ กลับบ้าน  พร้อมเหน็บ ถ้ามี สส.อยู่จนปิดประชุมมากพอ คงไม่มีข้าวเหลือแบบนี้

(7 ก.ย. 66) น.ส.สิริลภัส กองตระการ หรือ ‘หมิว’ สส.กทม. พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่าน X หรือทวิตเตอร์ กรณีมีการเผยแพร่ภาพอดีตดาราสาวลักลอบนำอาหารสภากลับบ้าน ว่า…

“น่าแปลกใจนะคะ เป็น สส.มา 2 สมัย ก็ไม่ทราบว่าได้เข้ามาห้องอาหารตอน ‘เลิกประชุมสภา’ กี่ครั้ง ตั้งแต่มีประชุมสภามา หมิวกล้ายืนยันว่าหมิวอยู่จนจบประชุมสภา ‘ทุกครั้ง’ พร้อมเพื่อน สส.ก้าวไกลอีกหลายคน หลังจบประชุม ที่ห้องอาหารก็จะมีอาหารที่เขาเตรียมไว้ให้ ตามจำนวน สส.
คำถามคือ แล้วทำไมตอนเลิกประชุม อาหารถึงได้เหลือมากขนาดที่เขาต้องห่อใส่ถุงให้เอากลับบ้าน?? ถ้าจำนวน สส. ที่เหลืออยู่จนปิดประชุมมีมากพอ ก็ไม่มีอาหารที่เหลือแบบนี้หรอกมั้งคะ

อาหารที่เหลือเหล่านี้ ถ้าไม่ห่อกลับ เจ้าหน้าที่ก็จะแจกจ่ายอยู่แล้ว และวันนี้ หมิวก็ใช้สิทธิ์ตามที่มี ไม่ได้นั่งทานที่ห้องอาหาร แต่ห่อกลับมากินที่บ้าน

การใช้คำว่า ‘ลักลอบ’ นี่ไม่รู้ว่า อ่อนภาษาไทยหรือจงใจใส่ร้ายกันแน่

เข้ามาทำงานที่มีเกียรติแล้ว ก็ช่วยภูมิใจ ที่ประชาชนคนไทย เขาเลือกมาของตัวเองหน่อยค่ะ มีหน้าที่ทำงานการเมืองก็ทำไป จะอภิปราย จะขับเคลื่อนประเด็นอะไรก็ว่าไป

มัวแต่มานั่งถ่ายรูปจับผิดคนอื่น เอาเขาไปแขวน อย่าคิดว่าเจ้าตัวเค้าจะไม่เห็นนะคะ

มีสื่ออยู่ในมือก็หัดใช้ให้มันเป็น ถ้าใช้สื่อไม่เป็น เดินเข้ามาถามได้ ยินดีให้คำแนะนำ ถ้าอยากได้ยอดติดตามที่มากกว่าที่มีอยู่ 4000 กว่าคน

ถ้าเจอกันครั้งหน้า ไม่มีเพื่อนสส.พรรคเดียวกันนั่งกินข้าวด้วยเพราะอยู่ไม่ถึงเลิกประชุม ก็มานั่งทานด้วยกันได้นะคะ จะได้มาคุยกันหน่อยว่าจุดประสงค์ที่ถ่ายรูป+แคปชั่นแบบนี้ จะสื่อว่าอะไร พร้อมจะรับฟังค่ะ”

สภาไฟเขียว!! แถลงนโยบาย 2 วัน รวม 30 ชั่วโมง ด้าน ‘วันนอร์’ เผย ‘ก้าวไกล’ รับปากไม่ใช้เป็นเวทีซักฟอก

(7 ก.ย. 66) ที่รัฐสภา ในการประชุมคณะกรรมการประสานงานร่วม 3 ฝ่าย (วิป 3 ฝ่าย) โดยมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม และมีตัวแทนจากวุฒิสภา (สว.) สส. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) อาทิ นายสมคิด เชื้อคง ตัวแทน ครม. นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย นายภราดร ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ นายประมวล พงษ์ถาวราเดช สส.ประจวบคีรีขันธ์ และประธานสส.พรรคประชาธิปัตย์ นายมหรรณพ เดชพิทักษ์ สว. เป็นต้น เพื่อวางกรอบเวลาการอภิปรายการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อที่ประชุมรัฐสภา และแบ่งสัดส่วนเวลาของแต่ละฝ่าย ซึ่งใช้เวลาการประชุมประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที

จากนั้น นายวันมูหะมัดนอร์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ว่าบรรยากาศการประชุมเป็นไปด้วยดี ทุกฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นผ่อนปรนไปมา เพื่อให้การประชุมเรียบร้อย โดยการประชุมเพื่อแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา ที่จะมีขึ้นในวันที่ 11 ก.ย.นี้ จะใช้เวลา 2 วัน รวมทั้งสิ้น 30 ชั่วโมง โดยแบ่งเป็น ประธานรัฐสภา 1 ชั่วโมง ฝ่าย ครม.แถลง และชี้แจง 5 ชั่วโมง ฝ่าย สว. 5 ชั่วโมง ฝ่ายรัฐบาล 5 ชั่วโมง ฝ่ายค้าน 14 ชั่วโมง ซึ่งคิดว่าคงเพียงพอในการที่ทุกฝ่ายจะปรับเวลาที่ชัดเจนให้ตามจำนวนคน คาดว่าคงไม่เกินในเวลาที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ ต้องขอบคุณทุกฝ่ายที่ทำให้การประชุมจบด้วยดี ไม่มีใครไม่ยอม แม้ทุกฝ่ายจะอยากได้เวลา แต่เมื่อทราบข้อจำกัดของเวลา และความสนใจของพี่น้องประชาชนแล้ว จึงตกลงกันเช่นนี้

นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวต่อว่า ในวันแรกอาจจะเลิกประชุมดึก แต่คงไม่เกินเที่ยงคืน และวันที่สองคงไม่เกิน 23.00 น. แม้บางฝ่ายจะบอกว่าไม่อยากให้เกิน 21.00 น. แต่เพื่อให้การอภิปรายในวันถัดมามีคุณภาพมากขึ้น และความสนใจของพี่น้องประชาชน รวมถึงครม. แจ้งว่าในวันที่ 13 ก.ย. 66 จะมีการประชุมครม. ทุกฝ่ายจึงบอกว่าจะกลับไปเตรียมทั้งตัวบุคคลและเนื้อหาสาระให้ดี เพื่อให้เป็นประโยชน์มากที่สุด

เมื่อถามว่า อยากฝากอะไรถึงฝ่ายค้านหรือไม่ เนื่องจากฝ่ายค้านอยากใช้เวทีนี้ในการซักฟอกรัฐบาล? นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ฝ่ายค้านยืนยันเองว่า จะอยู่ในกรอบของการอภิปรายเรื่องนโยบายและความเป็นไปได้ในการปฏิบัติตามนโยบายนั้น แต่ไม่ใช่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตนคิดว่าฝ่ายค้านตอนนี้เป็นฝ่ายค้านที่มีคุณภาพ มีข้อมูลพร้อมที่จะอภิปรายในกรอบกฎหมายและข้อบังคับ รวมถึงความสนใจของพี่น้องประชาชน

เมื่อถามว่า การรักษาความปลอดภัยในวันนั้น จะเป็นไปตามกฎระเบียบ หรือต้องมีการรักษาความปลอดภัยเข้มที่เป็นพิเศษหรือไม่ เนื่องจากอาจจะมีกลุ่มผู้ชุมนุมมาในบางวัน? นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า คิดว่าคงไม่มีกลุ่มผู้ชุมนุม หรือมีการกดดันสภา เพราะพี่น้องประชาชนติดตามการประชุมตลอดเวลาผ่านการถ่อยสดในหลายช่องทาง เนื่องจากทุกฝ่ายคงอยากให้การอภิปรายเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีคุณภาพ ไม่มีแรงกดดันใดๆ นอกจากเนื้อหาที่จะพูดอย่างเต็มที่ หากมีกลุ่มผู้ชุมนุมมาที่สภาคงไม่เกิดประโยชน์อะไร ไม่ได้หมายความสภาจะรังเกียจ การมีผู้ชุมนุมหรือผู้สนับสนุนก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ช่วงอภิปรายต้องใช้เวลา หากมาคงเสียงทั้งค่าใช้จ่าย และเวลามาก

'สรรเพชญ' สับรัฐบาลไม่จริงใจ 'กระจายอำนาจ' ไม่เห็นหัวท้องถิ่น  ชี้!! แค่ปล่อยวาทกรรมประชาธิปไตยอำพราง หวังคะแนนเสียง

เมื่อวันที่ 12 ก.ย.66 ที่อาคารรัฐสภา นายสรรเพชญ บุญญามณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้ร่วมอภิปรายวาระเรื่องด่วน คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตามมาตรา 162 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2562 โดยระบุว่า...

“ต้องขอเรียนกับทุกท่านด้วยความเคารพอย่างตรงไปตรงมาว่า จากที่ได้อ่าน ได้ฟังนโยบาย เหมือนจะดูดี เหมือนจะเคลิบเคลิ้มตาม ว่านี่คือทิศทาง แนวทางการบริหารงานของท่าน ที่จะมาแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน แต่ภายใต้คำที่สวยหรู กลับเห็นอนาคตที่มืดมน ไร้ทิศทาง ในหลายๆ นโยบายที่ท่านได้หาเสียงไว้ เมื่อขมวดมาแล้ว กลับเห็นแต่นามธรรมกว้าง ๆ จับต้องไม่ได้”

สรรเพชญ ระบุต่อว่า “เท่าที่ทราบมา หลักการของการ กระจายอำนาจ คือ การลดบทบาท อำนาจภารกิจ หน้าที่ของรัฐส่วนกลาง รวมทั้งรัฐส่วนภูมิภาคลง และเอาอำนาจนั้นไปเพิ่มศักยภาพให้กับท้องถิ่น ทั้งในเรื่องงบประมาณ และทรัพยากรให้เขาสามารถดูแลตนเอง แต่เมื่อฟังท่าน แถลงนโยบายเรื่องผู้ว่า CEO  แล้ว เหมือนเป็นการสนับสนุนต่อยอดการกระจายอำนาจของไทยให้พัฒนาขึ้น แต่ผมคิดว่าตรงนี้ท่านอาจเข้าใจผิด สับสน หรืออาจแกล้งสับสน ที่กระผมพูดเช่นนี้ เพราะว่า แนวคิดเรื่องผู้ว่า CEO มันคือโลกคู่ขนานที่ไม่มีทางมาบรรจบกัน ไม่เชื่อท่านลองขีดเส้น 2 เส้นดู อย่างที่ผมนำเรียนครับ มันเป็นคนละเรื่อง คนละหลักการกัน เนื่องจากแนวคิดเรื่องผู้ว่า CEO คือ การบริหารงานแบบเอกชน แบบบริษัท ที่รวมศูนย์อำนาจการตัดสินใจไว้ที่เบอร์หนึ่งของจังหวัด อำนาจรัฐที่มันกระจุกตัวไปที่ผู้ว่า CEO เช่นนี้ มันไม่ใช่การกระจายอำนาจ หากแต่มันเป็นการขยายอำนาจรัฐส่วนกลาง ไปสู่ส่วนภูมิภาคให้กว้างขึ้น”

นายสรรเพชญ ได้กล่าวต่อว่า “มาถึงตอนนี้เราสามารถสรุปได้ไหมครับ ว่านโยบายหาเสียงของท่านมันเป็นเพียงวาทกรรมประชาธิปไตยอำพราง เพื่อคะแนนเสียง เพราะท่านบอกว่าจะท่านจะเลือกตั้งผู้ว่าในจังหวัดที่มีความพร้อม ท่านบอกว่าท่านจะยกระดับพื้นที่เพื่อเป็นเขตเศรษฐกิจใหม่ ๆ แต่ภายหลังที่ท่านได้รับโอกาส ให้จัดตั้งรัฐบาล กลับไม่ปรากฏนโยบายเหล่านี้ ในการแถลงของท่านแม้แต่น้อย มิหนำซ้ำท่านยังจะทำเรื่องที่ตรงกันข้าม ไม่ต่อยอดการกระจายอำนาจไม่ว่า แต่ท่านกลับกระจุกอำนาจ และรวมศูนย์อำนาจ ให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดอีกครั้ง กระผมชักไม่แน่ใจ หากจะใช้คำว่า ‘โกหกประชาชน’ ได้หรือไม่ หรือคำว่า ‘โกหก’ มันอาจน้อยไปสำหรับท่าน”

นายสรรเพชญได้ยกตัวอย่างสถิติงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้เห็นความพยายามผลักดัน การกระจายอำนาจในประเทศไทย ผ่านการจัดสรรงบประมาณสู่ท้องถิ่น โดยกล่าวว่า “ผมอยากให้ดูสถิติที่น่าสังเวชใจครับท่านประธาน เกือบ 30 ปี ที่เรามุ่งผลักดันการกระจายอำนาจมา เราสามารถจัดสรรงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ไม่ถึง 30% ของรายได้สุทธิของรัฐบาล ซึ่งแท้ที่จริงแล้วความมุ่งหมายของกฎหมายกระจายอำนาจต้องการให้ทะลุเพดาน คือ 35% สิ่งที่ท่านกลัว คือ ท่านกลัวว่าถ้ากระจายอำนาจให้ท้องถิ่น คือความสุ่มเสี่ยงที่จะเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นมีการทุจริตคอรัปชั่นมากขึ้น แต่จากฐานข้อมูลงานวิจัยในปี 2564 พบว่าการทุจริตของ อปท. นั้นสร้างความเสียหายน้อยกว่าส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และรัฐวิสาหกิจ ขณะที่งบการเงินของท้องถิ่นได้รับการรับรองจาก สตง. ในสัดส่วนที่สูงกว่าภาครัฐ / รัฐวิสาหกิจ ด้วยซ้ำไป” 

อย่างไรก็ตาม นายสรรเพชญกล่าวในตอนท้ายโดยสรุปว่า "ตนยังมีความหวังอยู่ริบหรี่ ว่าสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่อาจจะเกิดขึ้นในไม่ช้าไม่นานนี้ จะนำเอาวาระเรื่องการกระจายอำนาจ เข้าไปเป็นวาระหลักวาระหนึ่ง ในการจัดทำรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นหลักประกันว่าท้องถิ่นในยุคต่อไปจะได้รับการเอาใจใส่ และมีการพัฒนาแบบก้าวกระโดด”

'ปิยบุตร' ติง 'ก้าวไกล' มุ่ง 'ประดิษฐ์โวหาร-อ่านโพย' มากไป แต่ยังดีมี 5 สส.โดดเด่น รอติดตามอภิปรายงบฯ ต่อ

(13 ก.ย. 66) นายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ แสดงความคิดเห็นภายหลังการประชุมร่วมรัฐสภา ที่เปิดให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 วันที่ 11-12 กันยายน โดยเฉพาะการทำหน้าที่ของ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในการจัดเตรียมข้อมูลอภิปรายการแถลงนโยบายของ ครม.

นายปิยบุตรระบุว่า ขอตรวจการบ้านพรรคก้าวไกลในการอภิปรายการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี

3 ข้อชม

1.การแบ่งธีมประเด็นการอภิปรายเป็นหมวดหมู่ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่ทำกันมาตั้งแต่สมัยที่แล้ว
2.การสร้าง สส. ให้เป็นตัวแทนของแต่ละประเด็น ในอนาคตคงจะเห็น สส. อีกหลายคนขึ้นมาเติมในแต่ละประเด็นอีก
3.การเตรียมเนื้อหาและการจัดทำข้อเสนอต่อรัฐบาลอย่างเป็นระบบ

2 ข้อติ

1.รอบนี้ติดใช้สำนวนโวหาร ตอด แซะ มากจนเกินไป การประดิษฐ์โวหารเพื่อดึงความน่าสนใจต้องมีอยู่บ้าง แต่ไม่ควรยึดเป็นเรื่องนำจนมากลบเนื้อหาหมด ต้องคิดจากเนื้อหาก่อน อย่าไปหลงคิดแต่ว่าต้องมีคำโวหารอะไรที่ฟาด ที่ปัง ที่สื่อจะเอาไปพาดหัวขยายผล

2.อ่านบทอภิปรายที่เตรียมมามากจนเกินไป จนไม่เป็นธรรมชาติ มี สส.ประมาณ 3 คนเท่านั้น ที่อภิปรายไหลลื่นโดยไม่ต้องจดจ่ออยู่กับกระดาษ หรือคอมพิวเตอร์

ส่วน สส.ที่อภิปรายได้ดี ถ้าจัดได้ 5 คน (โดยตัด 3 สส.มืออภิปรายประจำของพรรคออกไปก่อนคือ ศิริกัญญา รังสิมันต์ วิโรจน์)

ก็ได้แก่

พริษฐ์ วัชรสินธุ
ชัยธวัช ตุลาธน
ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์
ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ
ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์

รอติดตามการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ต่อไปครับ คาดว่าจะมี สส. หน้าใหม่แจ้งเกิดได้อีก อยากฝาก สส.ก้าวไกล ให้ลดเลิกความคิด ต้องหามุขหาคำให้ฟาดให้ปังลงไปบ้าง ถ้าเนื้อหาดีเสียอย่าง อย่างไรก็ปังโดยตัวมันเอง

แล้วก็พยายามลดเลิกการอ่านโพย ถ้าเราอินกับประเด็นนั้น ๆ ทำความเข้าใจมาอย่างดี ตระเตรียมมาเอง อย่างไรก็พูดได้จำได้ครับ

'สรรเพชญ' ยัน!! จุดยืน 'ประชาธิปัตย์' หนุนแก้รัฐธรรมนูญ แต่ห้ามแตะหมวด 1 และ หมวด 2 หวั่นสังคมแตกแยก

เมื่อวานนี้ (25 ต.ค.66) เวลา 14.20 น. ที่ห้องประชุมสุริยัน อาคารรัฐสภา ในการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ช่วงของการอภิปรายญัตติ เรื่อง 'ขอให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาเห็นชอบ และแจ้งให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการ ให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อสอบถามความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่' ที่นายพริษฐ์ วัชรสินธุ พรรคก้าวไกล เป็นผู้เสนอ โดยมีนายสรรเพชญ บุญญามณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวอภิปรายสนับสนุนญัตติดังกล่าว

นายสรรเพชญ กล่าวว่า "สำหรับรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2560 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน มีปัญหาทั้งเรื่องของที่มา และกระบวนการรับรอง โดยอาศัยกระบวนการจัดทำประชามติ เมื่อปี พ.ศ. 2559 ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ตามครรลองที่ควรจะเป็น เนื่องจากในตอนนั้นมีการปิดกั้นการแสดงความเห็น การรณรงค์ ที่จะเสนอเนื้อหาว่ารัฐธรรมนูญมีจุดบกพร่องอย่างไร จนมาถึงสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 ที่ผ่านมา ก็มีการเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยพรรคประชาธิปัตย์เองก็เคยมีส่วนร่วม ในการเสนอแก้ไขและได้ยื่นให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพิจารณามาแล้ว จำนวน 6 ฉบับ แต่ก็ผ่านแค่เรื่องเดียว เพราะติดอุปสรรคต่างๆ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้หลายประการ"

นายสรรเพชญ กล่าวต่อว่า "ในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญ ก็เคยมีคำวินิจฉัยไว้แล้วว่า ต้องมีการทำประชามติ ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมาก วินิจฉัยว่า รัฐสภามีอำนาจ และหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ แต่ต้องจัดทำประชามติ 2 ครั้ง ครั้งแรก ให้ประชาชนลงมติว่าต้องการให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และครั้งที่สอง เมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ต้องจัดให้มีการลงประชามติ ว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งหากรัฐบาลดึงดันพลิกลิ้น ไม่รับให้มีการทำประชามติ ก็เหมือนกับว่าเป็นการถ่วงเวลา ผมคิดว่าอันที่จริงแล้ว การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควรเป็นวาระแรก ๆ ที่ท่านจะดำเนินการเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ท่านอย่าเอารัฐธรรมนูญมาเป็นตัวประกันให้เป็นระเบิดเวลาของตัวท่านเองเลยครับ"

อย่างไรก็ดี นายสรรเพชญ ได้พยายามกล่าวย้ำต่อว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควรต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะรัฐบาลเคยรับปากกับประชาชนไว้ตอนหาเสียงไว้ว่า จะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทันทีที่เป็นรัฐบาล แต่แม้ว่า นายสรรเพชญ จะสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และจัดให้มีการจัดทำประชามติ แต่อย่างไรก็ตาม นายสรรเพชญ ก็ได้ย้ำจุดยืนว่า "ตนและพรรคประชาธิปัตย์ มีจุดยืนสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่จะต้องไม่แตะหมวด 1 และ หมวด 2 ซึ่งจะทำให้เกิดความแตกแยกขึ้นในสังคม"

นายสรรเพชญ กล่าวในตอนท้ายว่า "เรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีความสำคัญไม่แพ้เรื่องปากท้องของประชาชน เพราะ รัฐบาลได้เคยพูดเอาไว้ตอนหาเสียง ก็ขอให้ทำตามที่ได้หาเสียงไว้ ว่าจะทำเป็นเรื่องเร่งด่วนทันที แต่เมื่อถึงการโหวตญัตติฯ ที่ประชุมสภาฯ มีมติ ตีตกญัตติดังกล่าว"

นายสรรเพชญ กล่าวว่า "รู้สึกผิดหวัง เพราะรัฐบาลเคยประกาศเอาไว้แล้วว่าจะทำการแก้ รธน. เป็นเรื่องเร่งด่วน เมื่อมีโอกาสกลับทิ้งโอกาสนี้ไป แต่ตนก็เคารพและยอมรับผลการลงมติดังกล่าว และก็หวังว่าหลังจากนี้รัฐบาลจะมีแนวทางที่ชัดเจนในการแก้ไข รธน. และรีบดำเนินการโดยเร็ว ตามที่ได้เคยหาเสียงไว้"

บทสรุป!! อภิปรายร่างงบประมาณ 67 วาระแรก ฉลุย!! สส.ยกมือผ่านร่าง 311 ต่อ 177 เสียง

เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 67 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ต่อเนื่องเป็นวันสุดท้าย

โดย นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายสรุปว่า “การจัดงบฯ แบบนี้ ยังไม่ตอบโจทย์สะท้อนปัญหาประเทศ ต่างจากพรรคไทยรักไทย และเพื่อไทยในอดีต ท่านนายกฯ ได้รับโอกาสเป็นครั้งแรกในชีวิต ต้องทำให้สมกับว่าเป็นตัวจริง ทุกข้อติติงของพวกเรามาพร้อมกับข้อเสนอเป็นประโยชน์ต่อทุกคน อยากให้พวกเรามองไปข้างหน้า”

นายณัฐพงษ์ กล่าวอีกว่า “การเลือกตั้งครั้งหน้า โจทย์เราไม่ใช่ว่าจะชนะการเลือกตั้งหรือไม่ แต่โจทย์ของพวกเราคือ พร้อมเป็นรัฐบาลบริหารประเทศหรือไม่ เวทีครั้งนี้ไม่ใช่เวทีที่พวกตนจะทำลายล้างรัฐบาล แต่เป็นเวทีซ้อมมือเพื่อเอาชนะรัฐบาล ด้วยการทำงานที่เต็มเปี่ยมและข้อเสนอที่ดีกว่า พวกเราจะชนะด้วยการเก็บเกี่ยวปัญหาและรู้วิธีแก้ปัญหาที่ดีกว่า มาแข่งกันเอาชนะใจประชาชน แม้พวกตนชนะการเลือกตั้ง แต่แพ้กติกาการจัดตั้งรัฐบาลในปัจจุบัน วันนี้อำนาจอยู่ในมือรัฐบาลขอให้ทำให้ดี เพราะเชื่อว่าผู้แพ้จากการทำงาน 4 ปีต่อจากนี้จะโดนบดขยี้ด้วยฉันทามติประชาชน ทั้งนี้ พวกตนไม่สามารถโหวตเห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้”

จากนั้น นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวปิดท้ายว่า “ในนามรัฐบาล ขอบคุณสมาชิกที่ร่วมกันพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ที่รัฐบาลเสนอ ขอเรียนว่าแม้การจัดงบรายจ่ายภายใต้เวลาที่เร่งด่วน และมีงบประจำ งบผูกพันที่รัฐบาลต้องดูแลอย่างเป็นธรรม แต่ยังมุ่งหวังทำชีวิตประชาชนให้ดีขึ้น สำหรับงบที่พิจารณาวาระอยู่นี้ มีไฮไลต์คือ 4 เพิ่ม 1 ลด ได้แก่ จัดงบประมาณเพิ่มขึ้น, งบลงทุน เงินคงคลังเพิ่มขึ้น และรายได้เพิ่มขึ้น มั่นใจจะขยายฐานภาษีผ่านการจัดเก็บรายได้อย่างเป็นธรรม และ 1 ลด คือลดการขาดทุน แม้จะเหลือเวลาใช้งบไม่นาน จะทำให้มีประสิทธิภาพและใช้อย่างมีคุณค่า”

กระทั่งหลังจากการอภิปรายยุติลง นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานการประชุมได้เปิดให้มีการลงมติ ผลปรากฏว่า มี สส.เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2567 จำนวน 311 คน (ลงคะแนนผ่านระบบ 310 คน แจ้งเพิ่มเติม 1 คน) ไม่เห็นด้วย 177 คน (ลงคะแนนผ่านระบบ 176 คน แจ้งเพิ่มเติม 1 คน) งดออกเสียง 4 คน เท่ากับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2567 ผ่านการรับหลักการในวาระแรก

หลังจากนั้น ได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฯ จำนวน 72 คน โดยใช้เวลาในการแปรญัตติ 30 วัน นัดประชุมครั้งแรกวันที่ 8 มกราคม 2567

'อัครเดช-รทสช.' ท้วง 'รองอ๋อง' ไม่เป็นกลาง-เบรกไม่ให้พูด กล่าวหาตนอภิปรายยืดเยื้อ สุดท้ายกระทู้ถาม รมต.ล่ม

(22 ก.พ. 67) ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานสภา เข้าสู่การพิจารณากระทู้ถามทั่วไป ที่นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ถามเรื่องติดตามความคืบหน้าการจัดระเบียบสายไฟฟ้า สายสื่อสาร และการบริหารจัดการไฟฟ้าส่องสว่างอย่างทั่วถึงทั้งประเทศ ถามนายกรัฐมนตรี โดยมอบหมายนายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ตอบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอัครเดชได้อภิปรายเป็นเวลาเกือบ 10 นาที แต่ยังไม่ได้ถามคำถาม นายปดิพัทธ์จึงทักท้วงว่า นายอัครเดชใช้เวลาเกือบ 10 นาทีแล้ว ขอให้ถามคำถามได้แล้ว ทำให้นายอัครเดชไม่พอใจและกล่าวว่า กระทู้ถามทั่วไปไม่ได้ระบุเวลา แต่ตนรู้ข้อบังคับดี เดี๋ยวตนกำลังจะถามคำถามแล้ว ท่านประธานต้องอย่าทำตัวเอียง ต้องวางตัวให้ตรง วินิจฉัยอะไรต้องรับผิดชอบด้วย 

จากนั้นนายปดิพัทธ์จึงกล่าวว่า ตนให้โอกาสในการอภิปรายแต่นายอัครเดชพูดเรื่อง 70 ล้าน 80 ล้านมา 2 รอบแล้วจึงจะเข้าข่ายวนเวียนแล้ว และคิดว่าเราได้ประเด็นของเนื้อหาจึงอยากให้ช่วยบริหารเวลาเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาที่จะไม่ให้ท่านอภิปราย

นายอัครเดชกล่าวว่า “จริง ๆ กระทู้ถามสดนั้น ผู้ถามมีเวลาถาม 15 นาที และผู้ตอบมีเวลา 15 นาทีในการตอบเช่นเดียวกัน ผมเพิ่งถาม 10 นาที ท่านมาเบรกผม ท่านมีอะไรกับผมเหรอครับ”

นายปดิพัทธ์กล่าวว่า “ท่านมีอะไรกับผมเหรอครับ ไม่มีครับ” แต่คิดว่ากระทู้ถามแต่ละครั้งที่วันนี้ตนให้อภิปรายเกิน 10 นาทีได้ เพราะวันนี้มีกระทู้ของนายอัครเดชคนเดียวที่เหลือเป็นการเลื่อนกระทู้ และตนแค่บอกเฉย ๆ ว่าตอนนี้ควรที่จะต้องเข้าสู่คำถามได้แล้ว เพราะเป็นการอภิปรายที่มากพอแล้ว ตนไม่มีอะไรกับนายอัครเดช ขอให้เข้าสู่เนื้อหาเลย หากจะอภิปรายกับตน ตนคิดว่ามันเสียเวลาของสภา ขอเข้าสู่กระทู้ต่อ

นายอัครเดชกล่าวว่า ตนต้องชี้แจงเพื่อที่ประชาชนจะได้เข้าใจข้อบังคับและสิทธิของ สส. ด้วยความเคารพสิทธิของสมาชิก คือเวลาที่ถามนั้น ตนยังอยู่ในเวลาที่ใช้สิทธิอยู่ และหากไปดูเรื่องข้อบังคับกระทู้ถามไม่ได้ระบุระยะเวลา ตนเคารพสภา โดยการใช้สิทธิตามระยะเวลาที่มีอยู่คือ 15 นาที ฉะนั้น การอภิปรายของตนก็เป็นประโยชน์ต่อรัฐมนตรี ในการให้ข้อมูลของรัฐมนตรีไปบริหารประเทศเพื่อประหยัดงบประมาณเงินภาษีของพี่น้องประชาชน ตนจึงบอกว่า 70 ล้านกับ 10 ล้านมันต่างกัน สิ่งที่ตนอภิปรายเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติดีกว่าที่จะอภิปรายที่ทะเลาะกันไปทะเลาะกันมา แล้วท่านวินิจฉัยกลายมาเป็นประเด็นที่ทะเลาะกัน ตนว่าแบบนั้นเสียเวลามากกว่า ขอให้ท่านได้ทำตามข้อบังคับและเคารพสิทธิของสภาด้วย

นายปดิพัทธ์ชี้แจงว่า กระทู้ถามข้อบังคับบอกว่าต้องไม่เป็นลักษณะการอภิปราย หากนายอัครเดชไม่ถามกระทู้ ขออนุญาตว่าจะไม่ถามก็ได้ และเวลาของนายอัครเดชนั้น ตนเคารพ แต่ตอนนี้นายอัครเดชใช้เวลามากเกินไปกับสิ่งที่ไม่อยู่ในกระทู้

นายอัครเดชกล่าวว่า อยากให้นายปดิพัทธ์ที่ทำหน้าที่ประธาน ท่านจะใช้ดุลพินิจหรือวินิจฉัยอะไร ขอให้ท่านอยู่ในข้อบังคับและรักษาผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนด้วย ตนกำลังอภิปรายประเด็นนี้และตนถามกระทู้มาตั้งแต่สมัยที่นายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เป็นประธานสภา ตนไม่ได้ถามกระทู้นี้กระทู้แรก และตนไม่เคยมีปัญหาเช่นนี้เพราะตนรู้ข้อบังคับ ทำให้นายปดิพัทธ์ ทักท้วงขึ้นว่า ขอให้เข้าเรื่องได้แล้ว ไม่เช่นนั้นตนไม่อนุญาตให้พูดและคำวินิจฉัยของประธานเป็นที่สิ้นสุด

นายอัครเดชกล่าวว่า หากท่านประธานวินิจฉัยเช่นนี้ ตนขอให้สภาแห่งนี้บันทึกไว้ว่า สส.ที่นำปัญหาของพี่น้องประชาชนมาอภิปราย แล้วอภิปรายตามข้อบังคับและจะถามรัฐมนตรีตามระเบียบ แต่ท่านใช้ดุลพินิจของท่านวินิจฉัยให้ สส.หยุดอภิปราย จึงขอให้สภาบันทึกไว้ว่าตนมีความตั้งใจที่จะถามกระทู้นี้เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ หากท่านวินิจฉัยเช่นนี้ ตนขอไม่ถามกระทู้ต่อ

นายปดิพัทธ์กล่าวว่า ตนจำเป็นต้องบริหารเวลาและข้อบังคับให้ชัดเจน ไม่ได้มีเจตนาที่จะเบรกไม่ให้นายอัครเดชถาม ขอให้ท่านอภิปรายและเข้าสู่คำถามเพราะเห็นว่าอภิปรายได้ครบถ้วนแล้ว ซึ่งก็รอคำถามจากท่านอยู่ ตนเคารพท่านและสภาฯ ก็บันทึกไว้ได้ว่าตนวินิจฉัยเช่นนี้

นายอัครเดชลุกขึ้นทักท้วงอีกรอบว่า ท่านประธานไม่จบ นายปดิพัทธ์จึงกล่าวขึ้นว่า ตนจบแล้ว และไม่อนุญาตให้พูด ขอบคุณรัฐมนตรี ซึ่งผู้ถามไม่ได้ใช้สิทธิ์ถามแล้ว และเจ้าหน้าที่ที่บันทึกการประชุมว่า นายอัครเดชทำผิดข้อบังคับ ไม่เคารพคำวินิจฉัย ตนไม่สามารถให้อภิปรายตัวตนได้เพราะนี่ไม่ใช่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทำให้นายอัครเดชลุกขึ้นประท้วงว่า ตนไม่ได้อภิปรายและขอประท้วงว่าประธานทำผิดข้อบังคับ ท่านเป็นประธานต้องวางตัวเป็นกลาง อย่าเอาอารมณ์เมื่อครั้งที่แล้วมาทำเช่นนี้กับสมาชิก ไม่ถูกต้อง ท่านเป็นประธาน ตนและ ส.ส.เคารพท่านเพราะตำแหน่งท่านแต่การที่ท่านวินิจฉัยและมาขัดการอภิปรายเช่นนี้ ตนถือว่าเป็นสิ่งที่ประธานไม่ควรทำและไม่สร้างสรรค์อย่างยิ่ง

นายปดิพัทธ์ได้ย้ำอีกครั้งถึงเรื่องข้อบังคับสภา ในการถามกระทู้และไม่ได้มีเจตนาที่จะเบรกไม่ให้นายอัครเดชถามกระทู้แต่อย่างใด จากนั้นจึงเข้าสู่วาระถัดไป

‘ลอรี่’ ชี้!! ‘สส.อัครเดช’ อภิปรายตามกฎ-กรอบเวลา ซัด!! ‘รองอ๋อง’ เจตนาตัดบท-ขัดขวาง-ละเมิดสิทธิ์ชัดเจน

(23 ก.พ. 67) นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ หรือ ลอรี่ รองโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เปิดเผยว่า เหตุการณ์ในวันประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ กรณีนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ใช้อำนาจแทรกตัดบทไม่ให้นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี เขต 4 พรรครวมไทยสร้างชาติอภิปรายลงรายละเอียด ระหว่างตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการจัดระเบียบสายไฟฟ้า และสายสื่อสาร และการบริหาร การจัดการไฟฟ้าส่องสว่างอย่างทั่วถึง ทั้งที่กำลังอภิปรายตามกรอบเวลา ถูกต้องตามข้อบังคับ ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่ถูกต้องและไม่เคยมีประธานในที่ประชุมคนใดเคยทำมาก่อนในประวัติศาสตร์

นายพงศ์พล กล่าวว่า การปฏิบัติหน้าที่ครั้งนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ส่อเข้าข่ายผิดข้อบังคับการประชุมข้อ 9 วรรค 1 ที่ระบุไว้ชัดว่าประธานฯ ต้องวางตนเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ แต่นายปดิพัทธ์กลับใช้อำนาจกลั่นแกล้งปิดปาก อ้างผู้อภิปรายพูดร่ายยาวซ้ำซาก

“เท่าที่ผมเปิดเทปฟังการอภิปรายย้อนหลัง นายอัครเดชอภิปรายย้ำถึงการนำสายไฟสื่อสารลงใต้ดินประหยัดงบประมาณได้หลายสิบล้านพูดตัวเลข 70-80 ล้านบาทไม่กี่ครั้ง เพราะเป็นตัวเลขสำคัญชี้ให้ประชาชนเห็นถึงการประหยัดงบประมาณของรัฐได้จำนวนมาก ขณะนั้นผู้อภิปรายใช้เวลาไปยังไม่ถึง 10 นาที จากสิทธิอภิปรายเต็ม 15 นาที ถูกหลักเกณฑ์ทุกอย่าง แต่ไม่เข้าใจเหตุใดประธานที่ประชุมจึงใช้อำนาจตัดบทเช่นนี้” นายพงศ์พล กล่าว

รองโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า ตำแหน่งประธานที่ประชุม คือ ผู้อำนวยการเอื้อการประชุมให้ราบรื่น (moderater) ไม่มีอำนาจมาออกความเห็นแทรกแซงเนื้อหาของผู้อภิปราย หรือเซนเซอร์นู่นนี่ หรือคิดแทนแต่อย่างใด ส่วนตัวแนะนำว่า ถึงจะมีเรื่องติดใจส่วนตัวกับนายอัครเดชมาก่อนจากการอภิปรายเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ไม่ควรนำอารมณ์ส่วนตัวมาลงตรงนี้ เพราะทำให้สภาฯ สูญเสียความน่าเชื่อถือ และประชาชนถูกปิดกั้นจากการได้รับข้อมูลรอบด้านทั้ง 2 ฝ่าย

“เมื่อมานั่งเก้าอี้ประธานสภาฯ แล้ว จงวางหมวกนักการเมืองทิ้งไว้นอกห้องประชุม แล้วจงวางตัวทำหน้าที่ให้เป็นกลาง ถ้าทำไม่ได้ลงไปนั่งข้างล่าง แล้วให้คนมีวุฒิภาวะดีกว่าขึ้นมาทำแทนดีกว่า” รองโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติกล่าว

‘อัครเดช รทสช.’ ซัด!! ‘รองอ๋อง’ ควรวางตัวเป็นกลาง หลังถูกเบรกอภิปรายยืดเยื้อ

ย้อนความเดือด!! ‘อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์’ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ฉะ!! ‘ปดิพัทธ์ สันติภาดา’ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ในการประชุมสภาฯ พิจารณากระทู้ถามทั่วไป เรื่องติดตามความคืบหน้าการจัดระเบียบสายไฟฟ้า สายสื่อสาร และการบริหารจัดการไฟฟ้าส่องสว่างอย่างทั่วถึงทั้งประเทศ เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 67 

นายอัครเดช ได้กล่าวถึงการจัดระเบียบสายไฟในจังหวัดราชบุรีสามารถจัดการได้จนได้ฉายาว่า ราชบุรีโมเดล แต่ในจังหวัดอื่นไม่สามารถจัดการได้ อภิปรายวนไปวนมากว่า 10 นาที แต่ยังไม่ได้ถามคำถาม นายปดิพัทธ์ ประธานในที่ประชุมทักท้วงว่า ใช้เวลาเกือบ 10 นาทีแล้วขอให้ถามคำถามได้แล้ว ทำให้นายอัครเดช กล่าวว่า กระทู้ถามทั่วไปไม่ได้ระบุเวลา ตนรู้ข้อบังคับดี ท่านประธานอย่าทำตัวเอียง ต้องวางตัวเป็นกลาง วินิจฉัยอะไรต้องรับผิดชอบ

นายปดิพัทธ์ จึงกล่าวว่า ตนให้โอกาสในการอภิปราย แต่นายอัครเดชพูดวนเวียนแล้ว และคิดว่าเราได้ประเด็นของเนื้อหาจึงอยากให้ช่วยบริหารเวลาเท่านั้น และไม่ได้ห้ามอภิปราย

ทำให้นายอัครเดช กล่าวว่า กระทู้ถามสดมีเวลาถาม และตอบ 15 นาที ตนเพิ่งถามไป 10 นาที ท่านมาเบรกตน ท่านมีอะไรกับตนไหม ตั้งแต่ครั้งที่แล้ว นายปดิพัทธ์จึงตอบกลับว่า ไม่มี แต่ตนต้องบริหารเวลา วันนี้ตนให้อภิปรายเกิน 10 นาทีได้ เพราะวันนี้มีกระทู้ของนายอัครเดชคนเดียวที่เหลือเป็นการเลื่อนกระทู้ และตนแค่บอกว่าตอนนี้ต้องถามได้แล้ว เพราะเป็นการอภิปรายที่มากพอแล้ว ตนไม่มีอะไรกับนายอัครเดช ขอให้เข้าสู่เนื้อหาเลย คิดว่ามันเสียเวลาของสภาฯ ขอเข้าสู่กระทู้ต่อ

นายอัครเดช กล่าวว่า เป็นสิทธิของส.ส. ตนยังอยู่ในเวลาที่ใช้สิทธิตามระยะเวลาที่มีอยู่คือ 15 นาที เพราะการอภิปรายของตนก็เป็นประโยชน์ต่อรัฐมนตรี ในการให้ข้อมูลรัฐมนตรีไปบริหารประเทศ เพื่อประหยัดงบประมาณเงินภาษีของพี่น้องประชาชน ตนจึงบอกว่า 70 ล้านกับ 10 ล้านมันต่างกัน สิ่งที่ตนอภิปรายดีกว่าที่จะอภิปรายที่ทะเลาะกันไปทะเลาะกันมา แล้วท่านวินิจฉัยกลายมาเป็นประเด็นที่ทะเลาะกัน ตนว่าแบบนั้นเสียเวลามากกว่า ขอให้ทำตามข้อบังคับและเคารพสิทธิของสภาฯ ด้วย

นายปดิพัทธ์ จึงชี้แจงว่า ข้อบังคับระบุว่าต้องไม่เป็นลักษณะการอภิปราย หากนายอัครเดชไม่ถามกระทู้ ขออนุญาตว่าจะไม่ถามก็ได้ แต่ตอนนี้นายอัครเดชใช้เวลามากเกินไปกับสิ่งที่ไม่อยู่ในกระทู้

นายอัครเดช สวนทันควันว่า อยากให้นายปดิพัทธ์ใช้ดุลพินิจอยู่ในข้อบังคับ และรักษาผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนด้วย ตนกำลังอภิปรายประเด็นนี้และตนถามกระทู้มาตั้งแต่สมัยที่นายชวน หลีกภัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานสภาฯ ตนไม่ได้ถามกระทู้นี้กระทู้แรก และตนไม่เคยมีปัญหาเช่นนี้เพราะตนรู้ข้อบังคับ ทำให้นายปดิพัทธ์ ทักท้วงขึ้นว่า ขอให้เข้าเรื่องได้แล้ว ไม่เช่นนั้นตนไม่อนุญาตให้พูดและคำวินิจฉัยของประธานเป็นที่สิ้นสุด

นายอัครเดช กล่าวว่า หากท่านประธานวินิจฉัยเช่นนี้ ตนขอให้สภาฯ แห่งนี้บันทึกไว้ว่าส.ส.ที่นำปัญหาของพี่น้องประชาชนมาอภิปรายตามข้อบังคับ แต่ท่านใช้ดุลพินิจให้ส.ส.หยุดอภิปราย จึงขอให้สภาฯ บันทึกไว้ว่าตนมีความตั้งใจที่จะถามกระทู้นี้เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ หากท่านวินิจฉัยเช่นนี้ ตนขอไม่ถามกระทู้ต่อ

นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ตนจำเป็นต้องบริหารเวลาและข้อบังคับให้ชัดเจน ไม่ได้มีเจตนาที่จะเบรกไม่ให้นายอัครเดชถาม ขอให้ท่านอภิปรายและเข้าสู่คำถามเพราะเห็นว่าอภิปรายได้ครบถ้วนแล้ว ซึ่งก็รอคำถามจากท่านอยู่ ตนเคารพท่านและสภาฯ ก็บันทึกไว้ได้ว่าตนวินิจฉัยเช่นนี้

นายอัครเดช ลุกขึ้นทักท้วงอีกรอบว่า ท่านประธานไม่จบ นายปดิพัทธ์ จึงกล่าวขึ้นว่า ตนจบแล้ว และไม่อนุญาตให้พูด ขอบคุณรัฐมนตรี ซึ่งผู้ถามไม่ได้ใช้สิทธิ์ถามแล้ว และเจ้าหน้าที่ที่บันทึกการประชุมว่า นายอัครเดชทำผิดข้อบังคับ ไม่เคารพคำวินิจฉัย ตนไม่สามารถให้อภิปรายตัวตนได้เพราะนี่ไม่ใช่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ทำให้นายอัครเดช ลุกขึ้นประท้วงว่า ตนไม่ได้อภิปรายและขอประท้วงว่าประธานทำผิดข้อบังคับ ท่านเป็นประธานต้องวางตัวเป็นกลาง อย่าเอาอารมณ์ เมื่อครั้งที่แล้วมาทำเช่นนี้กับสมาชิก ไม่ถูกต้อง ท่านเป็นประธาน ตนและส.ส.เคารพท่านเพราะตำแหน่งท่านแต่การที่ท่านวินิจฉัยและมาขัดการอภิปรายเช่นนี้ ตนถือว่าเป็นสิ่งที่ประธานไม่ควรทำและไม่สร้างสรรค์อย่างยิ่ง

นายปดิพัทธ์ ได้ย้ำอีกครั้งถึงเรื่องข้อบังคับสภาฯ ในการถามกระทู้และไม่ได้มีเจตนาที่จะเบรกไม่ให้นายอัครเดชถามกระทู้แต่อย่างใด จากนั้นจึงเข้าสู่วาระถัดไป


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top