Friday, 4 July 2025
ธนาคารแห่งประเทศไทย

🟢สรุปหนังสือเศรษฐศาสตร์เล่มเดียวอยู่ (ฉบับปรับปรุงใหม่) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (Part 2)

📌หนังสือ 'เศรษฐศาสตร์เล่มเดียวอยู่' จากธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) ได้อธิบายปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งประกอบไปด้วย...

>>ผลิตอะไร (What to produce?) ผู้ผลิตต้องเลือกว่าควรใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดไปผลิตสินค้าหรือบริการใดที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดมากที่สุด

>>ผลิตอย่างไร (How to produce?) ในการผลิตเราต้องคำนึงถึงต้นทุน วิธีการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

>>ผลิตเพื่อใคร (For whom to produce?) ผู้ผลิตจำเป็นต้องมีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายว่าผลิตสินค้าหรือบริการเพื่อใคร เช่น ผลิตอาหารสำหรับผู้มีรายได้น้อยหรือรายได้สูง

และตัวแก้ปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์ หรือ ตัวจัดสรรทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจ คือ 

>>กลไกราคา (Market mechanisms) โดยราคาสินค้าจะเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้ตลาดปรับตัวตามอุปสงค์และอุปทาน เช่น เมื่อราคาสูง ผู้บริโภคซื้อสินค้าน้อยลง

>>อุปสงค์และอุปทาน (Demand and Supply) เมื่อความต้องการสินค้า (อุปสงค์) พบกับปริมาณสินค้าที่มีในตลาด (อุปทาน) จะเกิดราคาที่เหมาะสมสำหรับสินค้านั้น เราจะเรียกจุดนั้นว่า ราคาดุลยภาพ และปริมาณดุลยภาพ โดยการเปลี่ยนแปลงราคาและปริมาณดุลยภาพก็เกิดได้จากอีกหลายปัจจัย เช่น อุปสงค์ที่มากขึ้น หรืออุปทานที่น้อยลง

>>>ความยืดหยุ่นของอุปสงค์และอุปทาน (Elasticity) หมายถึงความไวต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า เช่น ถ้าสินค้าไหนที่ราคาขึ้น เราอาจจะลดการบริโภคสินค้านั้นลงเลย แต่ถ้าเป็นสินค้าที่จำเป็นจะมีอุปสงค์ยืดหยุ่นต่ำ อย่างเช่น ยารักษาโรค ที่ต่อให้ราคาเพิ่งสูงขึ้น เราก็ยังคงบริโภคอยู่ดี

🟢สรุปหนังสือเศรษฐศาสตร์เล่มเดียวอยู่ (ฉบับปรับปรุงใหม่) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (Part 3)

📌หนังสือ 'เศรษฐศาสตร์เล่มเดียวอยู่' จากธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) ได้อธิบายถึงหลักศรษฐศาสตร์ที่ยังแบ่งออกมาได้เป็น 2 แขนง คือ 

>>เศรษฐศาสตร์มหภาค (Macroeconomics) เป็นการศึกษาปัจจัยเศรษฐกิจระดับประเทศ เช่น การเจริญเติบโตของ GDP อัตราการว่างงาน และนโยบายทางการเงิน

>>เศรษฐศาสตร์จุลภาค (Microeconomics) จะเน้นศึกษาการตัดสินใจของบุคคลและธุรกิจขนาดเล็กในตลาด เช่น การตั้งราคาสินค้าของร้านค้า

🟢สรุปหนังสือเศรษฐศาสตร์เล่มเดียวอยู่ (ฉบับปรับปรุงใหม่) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (Part 4)

📌หนังสือ 'เศรษฐศาสตร์เล่มเดียวอยู่' จากธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) ได้อธิบายเรื่องการวัดว่าเศรษฐกิจของเราเติบโตได้ขนาดไหน โดยเราจะวัดจาก...

>>GDP ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product) คือมูลค่าของสินค้าหรือบริการทั้งหมดที่ประเทศหนึ่งผลิตได้ในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งประกอบไปด้วย รายจ่ายเพื่อการบริโภคของประชาชน รายจ่ายเพื่อการลงทุนของภาคเอกชน รายจ่ายของรัฐบาล มูลค่าการส่งออกสุทธิ 
เงินเฟ้อ

>>อัตราเงินเฟ้อ (Inflation) เงินเฟ้อคือสิ่งที่ทำให้มูลค่าของเงินลดลง ส่งผลให้สินค้ามีราคาแพงขึ้นและกำลังซื้อของประชาชนลดลงโดยการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคจะทำไปเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของเศรษฐกิจโดยรวมที่ตั้งไว้ ซึ่งประกอบไปด้วย 

>>นโยบายการคลัง (Fiscal Policy) รัฐบาลของแต่ละประเทศจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้จ่ายเงินกับโครงการสาธารณะ หรือเก็บภาษีเพื่อลดเงินหมุนเวียนในระบบ ซึ่งนโยบายต่างๆมักจะใช้กระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงซบเซา

>>นโยบายการเงิน (Monetary policy) ธนาคารกลางใช้การปรับอัตราดอกเบี้ยหรือปริมาณเงินในระบบเพื่อควบคุมเศรษฐกิจ เช่น ลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นการลงทุน ซึ่งสามารถทำได้ทั้งแบบผ่อนคลายในช่วงเศรษฐกิจซบเซา และตึงตัวในช่วงที่เศรษฐกิจร้อนแรงจนเกินไป และยังมีเรื่องเพิ่มเติมที่น่าสนใจ เช่น

>>การค้าระหว่างประเทศ (International Trade) ประเทศต่าง ๆ มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในการผลิตสินค้าที่แตกต่างกัน เช่น การผลิตรถยนต์ในญี่ปุ่น หรือการผลิตนาฬิกาในสวิตเซอร์แลนด์ การที่แต่ละประเทศมีข้อได้เปรียบทางด้านต้นทุนและเทคโนโลยีทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการระหว่างกัน จะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง 

>>การออมและการลงทุนในเศรษฐกิจ (Savings and Investment in the Economy) การออมเงินและการลงทุนเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เศรษฐกิจเติบโต การออมสามารถสร้างเสถียรภาพให้กับเศรษฐกิจในระยะยาว และยังช่วยสร้างความมั่นคงทางการเงินสำหรับอนาคต โดยเฉพาะในสังคมสูงวัยที่การออมเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการเตรียมตัวรับมือกับการเกษียณ 

>>เสถียรภาพของระบบการเงิน (Financial Stability) ระบบการเงินที่มีเสถียรภาพเป็นสิ่งจำเป็นต่อการรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การควบคุมหนี้สินและอัตราเงินเฟ้อจะช่วยลดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและเพิ่มความมั่นใจในการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ 

>>บทบาทของรัฐบาลในระบบเศรษฐกิจ (The Role of Government in the Economy) เมื่อเกิดความล้มเหลวของตลาด รัฐบาลมีบทบาทสำคัญในการเข้ามาช่วยจัดการทรัพยากรและควบคุมราคาสินค้าบริการที่จำเป็น เช่น การผลิตสินค้าและบริการสาธารณะ เพื่อให้เศรษฐกิจดำเนินไปได้อย่างราบรื่นและเป็นธรรม

>>การจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน (Sustainable Resource Management) การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน เช่น การใช้น้ำและพลังงานอย่างประหยัด เป็นการรักษาทรัพยากรเพื่อคนรุ่นหลัง การบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยลดความเสี่ยงของการขาดแคลนในอนาคตและส่งเสริมความยั่งยืนทางเศรษฐกิจได้ 

เพราะเศรษฐศาสตร์ไม่ใช่แค่เรื่องของตัวเลขและการคำนวณ แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราทุกคน การเข้าใจหลักการเหล่านี้จะช่วยให้เราตัดสินใจได้ดีขึ้นในทุก ๆ ด้านค่ะ 

‘อัครเดช’ ออกลูกอ้อน ครม.-แบงก์ชาติ เร่งหารือสางปัญหาเงินบาทแข็งค่า หลังกระทบอุตสาหกรรมส่งออก หวั่นทำลายขีดความสามารถในการแข่งขัน

‘อัครเดช’ ในฐานะประธานกรรมาธิการการอุตสาหกรรม เสนอรัฐบาล-แบงก์ชาติ เร่งออกมาตรการสางปัญหาเงินบาทแข็งค่า หวั่นหากทิ้งไว้เรื้อรังทำเศรษฐกิจชะลอตัว ความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมส่งออกถดถอยส่งผลกระทบทางลบเศรษฐกิจหลายมิติ

(7 ต.ค. 67) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎรได้แสดงถึงความห่วงใยต่ออุตสาหกรรมส่งออกจากปัจจัยเงินบาทแข็งค่า ว่า 

จากที่ปัจจุบันอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินสกุลบาทไทยกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ อยู่ที่ 33.33 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ และเคยมีอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 32.15 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐเมื่อช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา จากที่เคยอ่อนค่าที่สุดในช่วงเดือนเมษายน 2567 ที่อัตราแลกเปลี่ยน 37.17 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ 

การแข็งค่าของค่าเงินบาทเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมากภายในระยะเวลาประมาณ 5 เดือนเท่านั้น และจากอัตราค่าเงินบาทแข็งค่านี้ตนได้รับทราบความเดือดร้อนของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมส่งออก เนื่องจากด้วยเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นทำให้การแลกเงินที่ได้รับจากการส่งออกกลับเป็นเงินบาทแลกได้น้อยลง 

ยกตัวอย่าง จากแต่เดิมส่งออกปลาทูน่ากระป๋อง 1 กระป๋องราคา 100 ดอลลาร์ เมื่อค่าเงินบาทอ่อนที่สุดสามารถแลกเป็นเงินบาทได้ 3,717 บาท แต่เมื่อเงินบาทแข็งค่าที่สุดจะสามารถแลกเป็นเงินบาทได้เพียง 3,215 บาทเท่านั้น 

การที่รายได้ของผู้ประกอบการที่ลดน้อยลง ย่อมส่งผลกระทบในอุตสาหกรรมหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นศักยภาพการแข่งขันที่ลดลงส่งผลการชะลอตัวของการจ้างงานในอุตสาหกรรม, การลดการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ และการตัดลดงบพัฒนาและวิจัย(R&D)ในอุตสาหกรรมลง ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยในอนาคตลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

และจากการที่การส่งออกเป็นหนึ่งใน 4 เครื่องยนต์ของเศรษฐกิจไทย การที่ค่าเงินบาทแข็งค่าเช่นนี้ย่อมทำให้เครื่องยนต์ส่งออกอ่อนกำลังลงอย่างชัดเจนส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงโดยเฉพาะการจ้างงานที่ลดลงจะส่งผลกระทบเศรษฐกิจในประเทศทำให้ประชาชนขาดกำลังซื้อนอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่องจากอุตสาหกรรมส่งออกอีกด้วย

ตนในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรมจึงขอส่งเสียงไปยังธนาคารแห่งประเทศไทยผู้กำหนดนโยบายทางการเงิน ให้พิจารณาทบทวนอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่เหมาะสมทั้งต่อเสถียรภาพทางเงินของประเทศ และลดผลเสียที่จะเกิดต่อระบบเศรษฐกิจไทย 

รวมถึงรัฐบาลในฐานะผู้กำหนดนโยบายทางการคลังของประเทศต้องมีมาตรการที่เหมาะสมเพื่อประคับประคองอุตสาหกรรมส่งออก ให้สามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันในระดับสากลได้ต่อไป และที่ดีที่สุดทั้งรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องเร่งหารือเพื่อหาทางออกของปัญหาค่าเงินแข็งตัวโดยเร็ว

‘ศิษย์หลวงตาบัว’ ค้านรัฐบาลแทรกแซง ‘แบงก์ชาติ’ ยื่นคำขาด หากยังเดินหน้า ก็ไม่อาจให้บริหารบ้านเมืองต่อ

(8 ต.ค. 67) ตัวแทนคณะศิษยานุศิษย์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันใน ทำหนังสือถึงนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ขอคัดค้านบุคคลซึ่งเกี่ยวโยงการเมืองเข้ามาแทรกแซงธนาคารแห่งประเทศไทย โดยระบุว่า

ตามที่ปรากฏกระแสข่าวเป็นวงกว้างว่า รัฐบาลนำโดย ฯพณฯ พยายามผลักดันบุคคลซึ่งเกี่ยวโยงกับการเมืองเข้ามาแทรกแซงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งเห็นได้จาก รมว.คลังในรัฐบาลของท่านได้แต่งตั้ง
"คณะกรรมการสรรหาประธานและกรรมการธปท. ชุดใหม่" โดยไม่ได้แต่งตั้งอดีตผู้ว่าธปท. คนใดคนหนึ่งเป็น
กรรมการสรรหาด้วย พฤติการณ์ดังนี้แตกต่างจากประเพณีปฏิบัติในหลายครั้งที่ผ่านมา ราวกับว่า รัฐบาลของ
ท่านมีเจตนาแรงกล้าในการจัดส่งบุคคลที่ยึดโยงกับการเมืองให้เข้ามาแทรกแซงและครอบงำธปท.อย่าง
เบ็ดเสร็จเด็ดขาดให้จงได้

ทั้งนี้ มีกรณีตัวอย่างไม่น้อยจากวิกฤตเศรษฐกิจการเงินในหลายประเทศ ที่ต้นเหตุแห่งความวิบัติมาจากการเมืองเข้าแทรกแซงและครอบงำการทำงาน ที่คำนึงถึงความปลอดภัยแห่งอธิปไตยทางการเงินเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด ยิ่งกว่านโยบายทางการเมืองของรัฐบาล ซึ่งในที่สุดจะส่งผลร้ายเป็นการบั่นทอนความเข้มแข็งของธนาคารกลาง จนเบี่ยงเบนทำงไกลจากความถูกต้อง และหากธนาคารกลางไม่อาจคะคานอำนาจของรัฐบาลที่มุ่งสร้างภาพด้วยนโยบายประชานิยม หวังผลเพียงผลประโยชน์ของกลุ่มก้อนพวกพ้องและภาพลักษณ์ทางการเมืองเท่านั้น จนสุ่มเสี่ยงความหายนะแห่งอธิบโดยทางการเงินของชาติให้พังพินาศไปสิ้นได้อย่างน่าสังเวชใจ

คณะศิษยานุศิษย์องค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน ในฐานะประชาชนคนไทยที่เทิดทูนชาติศาสน์กษัตริย์เหนือศิรเกล้า ประการสำคัญ ได้ร่วมกันปกป้องทุนสำรองปราการด่านสุดท้ายของชาติอย่างหนักแน่นจริงจัง ตามคำเตือนอย่างเข้มข้นขององค์หลวงตา และได้ร่วมกันเสียสละเงินทองเข้าคลังหลวงกว่า 13 ตัน ได้เห็นพ้องต้องกันว่า หาก ธปท.ถูกการเมืองเข้าแทรกแซง ย่อมบังเกิดมหันดภัยขั้นร้ายแรงต่อระบบการเงินมั่นคงของชาติให้วินาศไปได้อย่างง่ายตาย เพื่อป้องกันมิให้เกิดพฤติการณ์เช่นนี้

คณะศิษย์ฯ จึงขอน้อมนำคำสอนขององค์หลวงตาฯ เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2543 ตอนหนึ่งที่ว่า

"อำนาจอันใดก็ตามต้องให้มีประชาชนเป็นผู้ควบคุมอำนาจนั้นไว้ ไม่ใช่กฎหมายของคนสองสามคนเข้ามาตั้งเป็นเจ้าอำนาจวาสนาใหญ่โตเหยียบย่ำทำลายชาติไทยของเรา ก็เรียกรัฐบาลมหาภัยเท่านั้นเอง ไม่ใช่รัฐบาลที่ดีสมความมุ่งหมายของประชาชนที่ตั้งขึ้นมา"

จึงกราบเรียนด่วนที่สุดมาถึง ฯพณฯ เพื่อโปรดพิจารณา อย่านำการเมืองและอย่านำบุคคลที่มีหัวใจยึดโยงกับการเมืองเข้าแทรกแซงอำนาจหน้าที่แห่ง ธปท.โดยเด็ดขาด มิฉะนั้น คณะศิษย์ฯ ย่อมมิอาจยอมรับรัฐบาลประเภทที่ว่ามานี้ให้บริหารบ้านเมืองอีกต่อไปได้

‘ธาริษา’ อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติ ขอการเมืองอย่าแทรกแซง เลือกประธานแบงก์ชาติ หยุดหายนะทางเศรษฐกิจของประเทศ

(8 ต.ค. 67) นางธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ 'การคัดเลือกประธานธนาคารแห่งประเทศไทย' ว่า

ในขณะนี้มีแต่จิตสำนึกของคณะกรรมการคัดเลือกประธานธนาคารแห่งประเทศไทยเท่านั้นที่จะยับยั้งหายนะทางเศรษฐกิจได้

ที่ผ่านมารัฐบาลได้แสดงความไม่พอใจอย่างชัดเจนต่อธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งในเรื่องไม่ลดดอกเบี้ย และการคัดค้านนโยบายการแจกเงินหนึ่งหมื่นบาท เป็นต้น 

ล่าสุดก็มีการคาดหมายว่ารัฐบาลจะส่งคนของตนเข้าไปเป็นประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งวัตถุประสงค์ก็เพื่อจะได้สามารถใช้ ธปท. เป็นเครื่องมือในการสนองนโยบายของรัฐบาล 

ซึ่งหากภาพนี้เกิดขึ้น หายนะของเศรษฐกิจไทยก็จะตามมาอย่างแน่นอน เหมือนที่เราเห็นในต่างประเทศที่รัฐบาลเข้าไปแทรกแซงในธนาคารกลาง 

การกระทำดังกล่าวทำให้ความเชื่อมั่นของต่างประเทศต่อระบบเศรษฐกิจสั่นคลอน เพราะธนาคารกลางที่ถูกแทรกแซงจะไม่สามารถมีบทบาทในการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว เศรษฐกิจจึงเสี่ยงที่จะเสียหายจากนโยบายที่เน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นเพียงอย่างเดียว

ในกรณีของประเทศไทยนโยบายแจกเงิน 10,000 บาทซึ่งจะเป็นภาระทางการคลังอย่างมหาศาล ก็ได้สร้างความเสี่ยงที่ประเทศจะถูกลดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่แล้ว หากธนาคารแห่งประเทศไทยถูกแทรกแซงจนขาดความเป็นอิสระ ความเสี่ยงของการถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือจากนานาประเทศก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นอีก ผลเสียต่อธุรกิจและเศรษฐกิจย่อมตามมาอย่างแน่นอน

วงการเศรษฐกิจของไทยได้ชี้ให้เห็นถึงผลเสียหายอันใหญ่หลวงของการแทรกแซงธนาคารแห่งประเทศไทย แต่รัฐบาลก็ไม่ต้องการรับฟังคำเตือนเหล่านี้ 

ในขณะนี้ จึงมีเพียงแต่จิตสำนึกของคณะกรรมการคัดเลือกประธานธนาคารแห่งประเทศไทยเท่านั้น ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการยับยั้งไม่ให้เกิดหายนะทางเศรษฐกิจนี้ 

อันที่จริง กฎหมายของธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้คำนึงถึงความเสี่ยงของการที่กรรมการสรรหาจะถูกแทรกแซงจากทางการเมืองหากกรรมการยังอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ทางราชการ  กฎหมายจึงได้กำหนดให้กรรมการสรรหาเป็นอดีตข้าราชการระดับสูงของหน่วยงานสำคัญทางเศรษฐกิจที่เกษียณอายุแล้วทั้งสิ้น เพื่อจะได้ปลอดภัยจากการถูกแทรกแซง 

ที่ผ่านมาคณะกรรมการสรรหาตำแหน่งสำคัญๆของธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นอิสระไม่ยอมรับการแทรกแซง ผู้ที่ได้รับการสรรหาจึงเป็นผู้ที่มีความเหมาะสมที่เข้าใจบทบาทของธนาคารกลาง และสามารถปฏิบัติหน้าที่อย่างเหมาะสม เป็นที่ยอมรับของสังคม 

ดิฉันจึงได้แต่คาดหวังว่าคณะกรรมการคัดเลือกในครั้งนี้จะสามารถทำหน้าที่ที่สำคัญนี้ด้วยหลักการเดียวกัน คงไม่มีท่านใดอยากจะถูกจารึกในประวัติศาสตร์ว่าท่านเป็นคนหนึ่งที่ต้องรับผิดชอบในการทำให้เศรษฐกิจไทยพลิกผันไปสู่ก้าวแรกของความหายนะ

ธาริษา วัฒนเกส
อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

ส่อง ‘ห้องสมุดพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย’ หนึ่งในห้องสมุดที่สวยที่สุดในประเทศไทย

(11 ต.ค. 67) ห้องสมุดพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย เป็นแหล่งค้นคว้าวิจัยและคลังข้อมูลด้านเศรษฐศาสตร์ การเงิน การธนาคาร รวมถึงศาสตร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธนาคารกลาง เช่น การบัญชี กฎหมาย เทคโนโลยีสารสนเทศ อีกทั้งยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกไว้บริการ เช่น พื้นที่ทำงานร่วมกัน (Co-working space), ห้องประชุม

เดิมห้องสมุดแห่งนี้ชื่อ ห้องสมุดธนาคารแห่งประเทศไทย เริ่มดำเนินการให้บริการแก่พนักงานธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างไม่เป็นทางการมาตั้งแต่ปี 2489 ต่อมาในปี 2500 ห้องสมุดได้รับการปรับปรุงให้มีฐานะเป็นหน่วยงานหนึ่งของฝ่ายวิชาการในขณะนั้น และได้รับการจัดตั้งเป็นห้องสมุดธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ.2520

ในปี 2560 ห้องสมุดธนาคารแห่งประเทศไทย ได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็น 'ห้องสมุดพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย' ตามพระนามของท่านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยพระองค์แรก และย้ายที่ตั้งจากอาคารสำนักงานใหญ่ธนาคารแห่งประเทศไทยมาเปิดให้บริการในอาคารศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2561 จนถึงปัจจุบัน

ห้องสมุดพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย เป็นแหล่งค้นคว้าวิจัยและคลังข้อมูลด้านเศรษฐศาสตร์ การเงิน การธนาคาร รวมถึงศาสตร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของธนาคารกลาง เช่น การบัญชี กฎหมาย เทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งเป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย อีกทั้งยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกไว้บริการ เช่น พื้นที่ทำงานร่วม (Co-working space) ห้องประชุม และห้องบริการสื่อมัลติมีเดียที่ทันสมัย

สถานที่ตั้งอยู่บริเวณศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นพื้นที่เปิดโล่งริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเดิมเคยเป็นอาคารโรงพิมพ์ธนบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย

เปิดให้บริการ 
วันอังคาร-วันอาทิตย์ เวลา 9.30 - 20.00 น. 

ปิดบริการ 
วันจันทร์ และวันหยุดตามประเพณีของสถาบันการเงิน

พิกัด https://maps.app.goo.gl/c2wbiQYrezkMp1DFA 

การเมืองรุกคืบ!! เข้าแทรกแซง ‘ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ’ หลายฝ่ายหวั่น เศรษฐกิจพัง กลับสู่ฝันร้าย ‘ยุคต้มยำกุ้ง’

(13 ต.ค. 67) หลัง นายปรเมธี วิมลศิริ อดีตประธานบอร์ดแบงก์ชาติ หมดวาระเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2567 เป็นจุดเริ่มต้นในการสรรหา ‘ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ’ คนใหม่ แทนที่ ซึ่งได้มีการเริ่มขั้นตอนการดำเนินงานมากว่า 3 เดือน

กระทรวงการคลังได้มีการแต่งตั้งกรรมการสรรหาฯ นำโดย นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน โดยกรรมการมีการนัดประชุมไปแล้ว 2 ครั้ง ล่าสุดมีการประชุมไปเมื่อวันที่ 8 ต.ค.2567 ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปในการคัดเลือกผู้เป็นประธาน และกรรมการในบอร์ดแบงก์ชาติ

ข้อกำหนดในเรื่องของการเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมเข้ามารับตำแหน่งประธาน และกรรมการในบอร์ด ธปท.จะกำหนดให้เสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสม จาก 2 หน่วยงาน โดย ธปท.จะเสนอชื่อได้ 2 เท่าของกรรมการที่หมดวาระ และกระทรวงการคลังเสนอชื่อได้ 1 เท่า

สำหรับการสรรหาในครั้งนี้มีการเสนอชื่อประธานและกรรมการจาก ธปท. 6 รายชื่อ ประกอบไปด้วยประธาน 2 รายชื่อ และกรรมการ 4 รายชื่อ ส่วนกระทรวงการคลัง สามารถเสนอชื่อได้ 1 เท่าของผู้ที่หมดวาะระ

กระทรวงการคลังได้เสนอรายชื่อครบโควตา ส่วน ธปท.เสนอกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพียง 2 คน จากโควตาที่เสนอได้ 4 คน

ที่ผ่านมารัฐบาลได้แสดงความไม่พอใจอย่างชัดเจนต่อธนาคารแห่งประเทศไทย ประเด็นหลัก ทั้งในเรื่องการไม่ลดดอกเบี้ยนโยบาย และการคัดค้านนโยบายการแจกเงิน 1 หมื่นบาท 

“มีการคาดหมายว่ารัฐบาลจะส่งคนของตนเข้าไปเป็นประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งวัตถุประสงค์ก็คงไม่พ้นที่จะใช้ ธปท.เป็นเครื่องมือในการสนองนโยบายของรัฐบาล ซึ่งหากภาพนี้เกิดขึ้น หายนะของเศรษฐกิจไทยก็จะตามมาอย่างแน่นอน เหมือนที่เราเห็นในต่างประเทศที่รัฐบาลเข้าไปแทรกแซงในธนาคารกลาง” นางธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกมาเสนอความคิดเห็นไว้

ระเบียบข้อบังคับในการสรรหาประธานกรรมการ หรือกรรมการ ของธนาคารแห่งประเทศไทยก็มีเจตนารมณ์ ป้องกันความเสี่ยงของการที่กรรมการสรรหาจะถูกแทรกแซงจากทางการเมือง กำหนดคุณสมบัติ ต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ‘เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง เว้นแต่จะพ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี’ เพื่อจะได้สรรหากรรมการที่ปลอดภัยจากการถูกแทรกแซง

สำหรับรายชื่อที่มีการเสนอให้เป็นประธานคณะกรรมการ ธปท.คนใหม่ จำนวน 3 รายชื่อ ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง เสนอชื่อนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ส่วนอีก 2 ชื่อที่เสนอจาก ธปท.มี 2 คน ได้แก่ นายกุลิศ สมบัติศิริ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน และนายสุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกรรมการอิสระ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ซึ่งเมื่อวันที่ 8 ต.ค.2567 หลังการประชุมคณะกรรมการสรรหาประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย นางวิเรขา สันตะพันธุ์ เลขานุการคณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ฝ่ายเลขานุการฯ มีความจำเป็นต้องตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้มีข้อมูลครบถ้วนสำหรับการพิจารณาของที่ประชุม ฝ่ายเลขานุการฯ จึงขอขยายระยะเวลาเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเพื่อให้การพิจารณาคัดเลือกมีความรอบคอบที่สุด และจะรวบรวมกลับมานำเสนอคณะกรรมการคัดเลือกฯ โดยเร็ว แต่ยังไม่กำหนดวันที่ชัดเจน 

โดยมีรายงานในการประชุม มีมติเคาะเลือก นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) ท่ามกลางเสียงคัดค้าน ถึงการนำบุคคลที่เกี่ยวโยงการเมือง เข้ามาแทรกแซงการทำงานของแบงก์ชาติ จากการสรรหาประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่

แม้คณะกรรมการสรรหาฯ ยังไม่ประกาศผลการคัดเลือกอย่างเป็นทางการ แต่การออกมาแสดงพลังคัดค้าน อาจตอกย้ำถึง ความเห็นขัดแย้งเกี่ยวกับคุณสมบัติผู้ได้รับการคัดเลือก

เมื่อหลายฝ่ายพยายามส่งเสียง แสดงการคัดค้าน ที่การเมืองจะเข้ามาแทรกแซงองค์กรของรัฐ ที่ทำหน้าที่ดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจการเงินของประเทศ ฝั่งการเมืองจะยอมถอยหรือไม่..? และหากเข้ามากำกับ ควบคุมดูแลการทำหน้าที่ ของ ธปท. ได้สำเร็จ ภาพวิกฤตการณ์ทางการเงินเมื่อปี 40 ของไทย กลับเริ่มลอยเข้ามาในหัว ขอให้เป็นเพียงแค่ฝันร้าย ละกัน 

4 อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติจับมือกลุ่มนักวิชาการ ออกแถลงการณ์ค้านการเมืองครอบ ปธ.แบงก์ชาติ

(31 ต.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 277 นักวิชาการ และกลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม โดยมี 4 อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้แก่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล, นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล, นายวิรไท สันติประภพ และนางธาริษา วัฒนเกส รวมถึงนักวิชาการเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียง อาทิ  รศ. ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง (อดีตรองศาสตราจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.), ดร. สมชัย จิตสุชน (ในนามส่วนตัว ไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานสังกัด), รศ. ดร.สิริลักษณา คอมันตร์ (อดีตคณบดีคณะ เศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์) ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านการครอบงำธนาคารแห่งประเทศไทยโดยกลุ่มการเมือง ว่า

ในวันที่ 4 พฤศจิกายนนี้ จะมีการประชุมเพื่อคัดเลือกประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสองท่านในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย โดยเป็นที่ทราบกันอย่างกว้างขวางว่า รัฐบาลได้เสนอชื่อบุคคลที่มีความใกล้ชิดกับฝ่ายการเมือง เพื่อดำรงตำแหน่งประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย

กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคมและภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคม  มีความกังวลอย่างยิ่งถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หากการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศถูกครอบงำโดยฝ่ายการเมือง ซึ่งโดยทั่วไปฝ่ายการเมืองมักให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ในระยะสั้น เพื่อแสดงผลงานที่รวดเร็วเพราะมีความเสี่ยงทางการเมืองที่อาจดำรงตำแหน่งได้ไม่ยืนยาวนัก จึงอาจส่งผลให้เกิดผลเสียหายรุนแรงต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจระยะยาว

ซึ่งเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจ เป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย ตามรูปแบบของสากลประเทศที่ธนาคารกลางของประเทศที่ดีจะต้องมุ่งมั่นรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจให้เหมาะสมตามสถานการณ์และสถานภาพของประเทศ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศที่มั่นคงยั่งยืนในระยะยาว

บทบาทของคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยครอบคลุมภารกิจสำคัญ ได้แก่ การกำกับดูแลการบริหารงาน การจัดการทุนสำรองระหว่างประเทศ การคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการต่างๆ โดยเฉพาะคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ซึ่งทำหน้าที่สำคัญในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน อันเป็นเครื่องมือสำคัญของการดำเนินนโยบายการเงิน  หากคณะกรรมการใช้อำนาจที่มีนี้เพื่อตอบสนองผลประโยชน์ระยะสั้นของฝ่ายการเมือง ย่อมส่งผลเสียต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และอาจเกิดความเสียหายที่ไม่สามารถย้อนกลับได้

นอกจากนี้ หากการครอบงำครั้งนี้ประสบความสำเร็จ ก็มีแนวโน้มว่าฝ่ายการเมืองจะใช้วิธีเดียวกันในการคัดเลือกผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วงกลางถึงปลายปีหน้า โดยส่งบุคคลที่มีความสนิทใกล้ชิดทางการเมืองเข้ามาดำรงตำแหน่งเพื่อประโยชน์ทางการเมือง

กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม ขอเรียกร้องต่อคณะกรรมการคัดเลือก ที่จะพิจารณาในวันที่ 4 พฤศจิกายนนี้ ให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม โปร่งใสและมีธรรมาภิบาล โดยไม่ยอมรับแรงกดดันทางการเมือง เพื่อร่วมรักษาสถาบันที่สำคัญคือธนาคารแห่งประเทศไทยที่บุคคลสำคัญในอดีตได้ร่วมกันพัฒนามาอย่างดี และเชิญชวนภาคส่วนอื่นในสังคมร่วมแสดงจุดยืน (โดยการร่วมลงนามข้างท้าย) เพื่อคงไว้ซึ่งความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทยให้หลุดพ้นจากผลประโยชน์ระยะสั้นทางการเมือง และธำรงไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือของนานาอารยประเทศ

กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม
ปลายตุลาคม พุทธศักราช 2567

คนแบงก์ชาติไม่ทน!! ร่อนจดหมายค้านการเมืองแทรกแซง ปมตั้งบอร์ดและประธานแบงก์ชาติ

(1 พ.ย. 67) จดหมายเปิดผนึกจากอดีตพนักงาน ธนาคารแห่งประเทศไทย จรรยาบรรณที่พึงมีสำหรับตำแหน่งประธานและกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย

ตามที่คณะกรรมการสรรหาฯ จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาคัดเลือกประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการ ธนาคารแห่งประเทศไทยอีก 2 ท่าน ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 ท่ามกลางเสียงเรียกร้องจากคณะศิษย์หลวงตามหาบัว กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม ซึ่งรวมถึงอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึง 4 ท่าน ให้คณะกรรมการสรรหาฯ ได้พิจารณาคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ มีความสุจริต เที่ยงธรรม โปร่งใส มีธรรมาภิบาล และไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองเข้าดำรงตำแหน่ง เพื่อให้ ธปท. สามารถดำเนินพันธกิจของธนาคารกลางตามที่กำหนดไว้ นั้น

พวกเราในฐานะอดีตพนักงาน ธปท. ขอเรียนยืนยันว่า คณะกรรมการ ธปท. มีความสำคัญอย่างยิ่งในการวางกรอบ และกำหนดนโยบายของ ธปท. โดย ธปท. ถือเป็นหน่วยงานของรัฐในรูปแบบองค์กรที่ต้องปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง เพื่อสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ การเงินที่มีเสถียรภาพต่อเนื่องในระยะยาว และมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนและทั่วถึง

แม้ว่าคณะกรรมการ ธปท. จะไม่มีบทบาทหน้าที่ในการกำหนดนโยบายการเงิน และนโยบายรักษาเสถียรภาพระบบสถาบันการเงินโดยตรง แต่ พ.ร.บ. ธปท. ได้ระบุอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ให้พิจารณาคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน คณะกรรมการระบบการชำระเงิน และแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงในตำแหน่งตั้งแต่ผู้ช่วยผู้ว่าการฯ ขึ้นไป และที่สำคัญคือมีหน้าที่ กำหนดหลักเกณฑ์และกำกับดูแลการบริหารจัดการสินทรัพย์ในทุนสำรองระหว่างประเทศ

ด้วยบทบาทหน้าที่ของประธานและกรรมการ ธปท. ข้างต้น บุคคลที่จะดำรงตำแหน่งต้องไม่เพียงแต่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด แต่ต้องปฏิบัติตนตามจรรยาบรรณขั้นสูงสุดที่เป็นข้อบังคับ ธปท. ว่าด้วยจรรยาบรรณในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของกรรมการในคณะกรรมการ ธปท. พ.ศ. 2553 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง

ในข้อ 4.5 ที่ไม่กระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ส่วนรวม ข้อ 4.7 พึงปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเที่ยงธรรม เป็นกลางทางการเมือง และไม่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม และ ข้อ 4.11 พึงเป็นแบบอย่างที่ดีในการดำรงตน รักษาชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของ ธปท.

พวกเราจึงขอเรียกร้องให้คณะกรรมการสรรหาฯ ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ได้ใช้วิจารณญาณพิจารณาด้วยความรอบคอบ รอบด้าน และโปร่งใส อย่างเป็นอิสระในการสรรหาประธาน ธปท. และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการ ธปท. เพื่อให้ได้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถ มีประวัติและพฤติกรรมที่ปฏิบัติตนตามจรรยาบรรณที่ระบุไว้ เป็นที่ประจักษ์ในสังคมและไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 80 ปีของการก่อตั้งธนาคารแห่งประเทศไทย คณะกรรมการธนาคาร ผู้บริหาร และพนักงาน ต้องใช้ความพยายาม และความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างสูง เพื่อรักษาอธิปไตยและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจการเงินของไทยไว้ โดยป้องกันไม่ให้มีการแทรกแซงทางการเมือง

ผู้ว่าการเล้ง ศรีสมวงศ์ ผู้ว่าการคนแรกที่ทำงานเต็มเวลาที่ ธปท. ได้กล่าวในการเข้าร่วมประชุมกรรมการธนาคารเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2490 ว่า “ในฐานะที่ ธปท. เป็นนายธนาคารกลาง ย่อมไม่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองและจะดำเนินการอย่างอิสระ ตลอดจนทำหน้าที่ในการเหนี่ยวรั้งรัฐบาลในกิจการที่ธนาคารเห็นว่าจะเกิดความเสียหายแก่ประเทศเป็นส่วนรวม……”

อดีตพนักงาน ธนาคารแห่งประเทศไทย
 1 พฤศจิกายน 2567

ทั้งนี้ จดหมายฉบับดังกล่าว ยังมีการแนบรายชื่อของ พนักงานธปท. ซึ่งมีชื่อของอดีตผู้บริหาร ระดับรองผู้ว่าการ 4 คน ผู้ช่วยผู้ว่าการขึ้นไป 12 คน ได้แก่ อดีตรองผู้ว่าการ
1.ทองอุไร ลิ้มปิติ
2.รณดล นุ่มนนท์
3.ฤชุกร สิริโยธิน
1.วชิรา อารมย์ดี

และ อดีตผู้ช่วยผู้ว่าการ
1.กฤช ฟลอเล็ต
2.จันทวรรณ สุจริตกุล
3.นพมาศ มโนลีหกุล
4.นวอร เดชสุวรรณ
5.ผุสดี หมู่พยัคฆ์
6.เพิ่มสุข สุทธินุ่น
7.ศิริชัย สาครรัตนกุล
8.สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา
9.สุภาวดี ปุณศรี
10.เสาวณี สุวรรณชีพ
11.อมรา ศรีพยัคฆ์
12.อรุณศรี ติวะกุล


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top