Tuesday, 14 May 2024
ธนาคารแห่งประเทศไทย

‘จุลพงศ์’ แนะ ‘ธปท.’ ไล่จี้!! ‘ธ.พาณิชย์’ ขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก ลองลดกำไรลงบ้าง อาจกระตุ้น ปชช. กลับมาออมได้

(11 ม.ค.67) ที่รัฐสภา นายจุลพงศ์ อยู่เกษ สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่าวถึง กรณีการวิพากษ์วิจารณ์ส่วนต่างของดอกเบี้ยเงินฝากกับดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ ว่า ตามที่รัฐบาลอ้างว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรลดลงเพราะเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับต่ำนั้น อันที่จริงแล้วเงินเฟ้อของไทยถูกบิดเบือน ไม่ได้สะท้อนสภาพที่เป็นจริง เพราะรัฐบาลทั้งที่ผ่านมาและรัฐบาลชุดปัจจุบันได้แทรกแซงราคาพลังงานและราคาค่าไฟฟ้า ทำให้ดูเหมือนเงินเฟ้อของไทยต่ำ รวมถึงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2.50 เปอร์เซ็นต์ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศนั้น ยังต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ที่ประเทศมาเลเซีย อยู่ที่ 3 เปอร์เซ็นต์ ประเทศเวียดนาม 4 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐอยู่ที่ 5.35 เปอร์เซ็นต์

นายจุลพงศ์ กล่าวว่า การที่รัฐบาลเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทยลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงโดยหวังว่าดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารจะลดลงนั้น จะทำให้เกิดปัญหาเงินทุนไหลออกไปประเทศอื่นที่มีผลตอบแทนสูงกว่า อาจจะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลงจนไม่มีเสถียรภาพ ซึ่งหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทยคือการรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท

“ตนมองว่าหากไม่มีการใช้นโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจจะสามารถลดดอกเบี้ยนโยบายลงได้ แต่การที่เศรษฐกิจไทยยังไม่ดี ประกอบกับการที่รัฐบาลมีนโยบายดังกล่าว การลดดอกเบี้ยนโยบายลงจะเป็นการกดดันค่าเงินบาท ปีที่แล้วเงินทุนจากต่างประเทศไหลออกจากประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ผู้นำเข้าสินค้าไทยในต่างประเทศจะหยุดซื้อสินค้าจากไทยเพื่อหวังว่าค่าเงินบาทของไทยจะอ่อนลงไปอีก ก็จะเกิดปัญหาการส่งออกตามมา”

นายจุลพงศ์ กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับนักการเงินบางท่านที่ออกมาให้ความเห็นว่าดอกเบี้ยที่ควรจะเปลี่ยนแปลงนั้น ไม่ใช่ดอกเบี้ยเงินกู้ แต่ควรจะเปลี่ยนแปลงโดยการให้ธนาคารพาณิชย์ขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากมากกว่า เพราะดอกเบี้ยเงินฝากแทบจะไม่ขยับขึ้นเลยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยเงินฝากลบด้วยอัตราเงินเฟ้อติดลบมายาวนาน หากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ

“การขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากอาจจะทำให้กำไรของธนาคารลดลง แต่ในสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ ธนาคารพาณิชย์ควรลดส่วนต่างของดอกเบี้ยเงินกู้กับดอกเบี้ยเงินฝากลง อย่าเอาแต่กำไรอย่างเดียวเพราะตามรายงานข่าวในขณะนี้ รายได้ที่เพิ่มขึ้นของธนาคารพาณิชย์จากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยในไตรมาสที่สามของปี 2566 เทียบกับไตรมาสที่สามของปี 2565 ถึงเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์” นายจุลพงศ์ กล่าว

นายจุลพงศ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยควรกดดันให้ธนาคารพาณิชย์ขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนกลับมาเก็บออมเงินมากขึ้น แทนที่จะใช้เงินก่อนเก็บเงินเช่นทุกวันนี้

‘แบงก์ชาติ’ แจง!! เหตุยังไม่ลดดอกเบี้ยแม้เงินเฟ้อลง ชี้!! ดอกเบี้ยไทยยังต่ำ เมื่อเทียบกับทั่วโลก

(15 ม.ค. 67) นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงินและเลขาคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) กล่าวถึงแนวทางการดำเนินนโยบายทางการเงินของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ว่าเป็นไปในทิศทางที่เหมาะสมแล้ว ไม่สามารถปรับดอกเบี้ยนโยบายตามกระแสข่าวได้ เพราะต้องให้ความสำคัญกับ 3 ด้านหลักคือ 1.) เศรษฐกิจขยายตัวอย่างยั่งยืน 2.) ควบคุมเงินเฟ้อยั่งยืน และ 3.) เสถียรภาพเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ยังให้ความเห็นต่อประเด็นที่ว่าดอกเบี้ยนโยบายการเงินสูงไปหรือไม่นั้น นายปิติยืนยันว่าทางกนง. ไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่ปัญหาเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวไม่ทั่วถึง ไม่อาจใช้นโยบายการเงินมาแก้ไขโดยง่าย การลดดอกเบี้ยมีต้นทุนและเสี่ยง ต้องใช้อย่างระมัดระวัง เพราะไม่เพียงแค่เรื่องคุมเงินเฟ้อ แต่จะมีปัญหาอื่น ๆ ตามมาอีก

"นโยบายดอกเบี้ยต้องดูหลายปัจจัยรอบด้าน เพื่อดูให้ออกว่าอะไรเป็นแก่น อะไรเป็นกระแส ต้องมองไประยะปานกลาง เพราะใช้เวลาส่งผ่านช่วงหนึ่ง เหมือนส่งบอลให้เพื่อนว่าจะวิ่งไปทางไหน"

สำหรับแนวทางกำหนดกรอบดอกเบี้ยนโยบายโดยคำนึงถึงการสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างยั่งยืนนั้น นายปิติขยายความว่า แม้ในปี 2566 เศรษฐกิจฟื้นตัวแล้วในหลายมิติ แต่ยังไม่ทั่วถึงเท่าที่ควรและไม่สมดุล เพราะขาดแรงส่งจากภาคส่งออกและการผลิต แต่เป็นการขยายตัวที่เน้นหนักที่ด้านท่องเที่ยวและบริการเป็นหลัก ทั้งนี้ยังมีบางจุดที่ยังไม่เป็นไปตามคาด เช่น การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวและปริมาณนักท่องเที่ยวจีน เช่นเดียวกับที่ภาคการผลิตและภาคการส่งออกไม่ฟื้นตัวเร็ซอย่างที่เคยประเมินไว้ เพราะอุปสงค์โลกยังเน้นฟื้นตัวที่ภาคบริการเป็นหลัก ยังไม่มีความต้องการซื้อสินค้าจากทั่วโลก

ด้วยปัจจัยเชิงโครงสร้างเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัว จนส่งผลให้การส่งออกของไทยขยายตัวต่ำกว่าคู่แข่งมาก และดัชนีความซับซ้อนของสินค้าส่งออกของไทยเพิ่มเพียงเล็กน้อย ขณะที่หลายประเทศปรับเพิ่มสูงขึ้นกว่า สะท้อนว่าไทยกำลังสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน และไทยเองก็มีเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวน้อยลง เพราะขาดการพัฒนาเชิงโครงสร้างพื้นฐานเมื่อเทียบกับอินโดนีเซียและเวียดนาม

แต่มองว่าปี 2567 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวอย่างครบครันและสมดุลมากขึ้น จะมีทิศทางการส่งออกดีขึ้น จากปัจจัยที่วัฏจักรอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์โลกกลับมา แต่ปัญหาเชิงโครงสร้างยังทำให้ประโยชน์ที่ควรได้รับไม่มีมากเท่าที่ควร กนง.จึงให้ความสำคัญและยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในการประเมินภาพเศรษฐกิจในอนาคต

"เหตุผลที่เศรษฐกิจขยายตัวชะลอ เพราะปัจจัยทางโครงสร้าง และปัจจัยนอกประเทศที่เหนือการควบคุม เลยยังไม่สามารถปรับอัตราดอกเบี้ยลงได้"

สำหรับในมิติของเงินเฟ้อนั้น มองว่าการที่อัตราเงินเฟ้อปรับลดลงเป็นข่าวดี เพราะช่วยจำกัดค่าครองชีพของประชาชนไม่ให้สูงขึ้น และปัญหาเงินเฟ้อของไทยได้คลี่คลายไปพอสมควรแล้ว นอกจากนี้เงินเฟ้อที่ต่ำมาจากมาตรการรัฐ แต่จริง ๆ แล้วราคาสินค้าไม่ได้ลดลงเป็นวงกว้าง ทั้งนี้แม้ว่าเงินเฟ้อไทยปรับลดลงเร็ว จึงไม่เป็นภาระค่าใช้จ่ายแก่ผู้บริโภค อย่างไรก็ตามเงินเฟ้อคาดการณ์ยังอยู่ระดับ 2% และการลดลงของเฟ้อสะท้อนเรื่องอุปทานหรือการผลิตที่คลี่คลายลง โดยมองว่าเงินเฟ้อจะติดลบไปอีกถึงเดือนกุมภาพันธ์ แล้วจะค่อยเพิ่มขึ้นจึงคาดว่าปลายปีก็จะอยู่ 1-2% ตามระดับเป้าหมาย 

"ด้วยเงินเฟ้อที่ติดลบในช่วงนี้ก็ไม่ได้สะท้อนว่าเป็นเงินฝืดหรืออุปสงค์ที่ลดลงจริง จึงยังไม่ใช่เหตุผลที่ต้องลดดอกเบี้ยนโยบายลงทันที เพราะต้องดูให้รอบด้านไม่ใช่แค่เรื่องอัตราเงินเฟ้อ"

ส่วนมิติของการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยเพื่อดูแลเสถียรภาพทางการเงินนั้น นายปิติกล่าวว่า ระดับหนี้ที่สูงเป็นจุดเปราะบางสาคัญของเศรษฐกิจไทย โดยตัวเลขหนี้ต่อ GDP ลดลง แต่ยังอยู่ในระดับสูง นั่นคือหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 90.9% และหนี้ภาคธุรกิจต่อ GDP อยู่ที่ 87.4% เช่นเดียวกับที่สัดส่วนของหนี้ครัวเรือนไทยที่มีสินทรัพย์รองรับมีน้อยหรืออยู่ที่เพียง 34% เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่ส่วนใหญ่เกินกว่า 50% ซึ่งการกำหนดอัตราดอกเบี้ยต้องสอดรับกับศักยภาพพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจและการขยายตัวทางธุรกิจที่แท้จริง 

อย่างไรก็ตาม ดอกเบี้ยไทยยังต่ำเมื่อเทียบกับทั่วโลก แล้วเป็นไปในแนวทางที่กนง.ต้องการให้อยู่ในภาวะสมดุล เป็นกลาง และไม่ฉุดรั้งเศรษฐกิจ ให้มีเม็ดเงินเพียงพอไปหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจได้ แม้ค่าเงินบาทยังผันผวนแต่ยังอยู่ในระดับที่รับได้ 

ด้านนางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ยืนยันว่าการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เป็นไปอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะปัจจุบันยังส่งผ่านไปยังอัตราดอกเบี้ย MRR เพื่อดูแลลูกหนี้รายย่อย รวมถึงมีการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เปราะบางอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ได้เปรียบเทียบการส่งผ่านจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปยังอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ว่า ของไทยอยู่ที่ 69% สำหรับดอกเบี้ย MLR อยู่ที่ 64% สำหรับ MOR และ ที่ 49%  สำหรับ MRR ซึ่งโดยเฉลี่ยยังต่ำกว่าหลายประเทศ แม้อาจสูงกว่าเมื่อเทียบกับบางประเทศ เช่น อินโดนีเซีย

ส่วนประเด็นที่ผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ค่อนข้างสูงเป็นจุดที่เหมาะสมหรือไม่นั้น ทางแบงก์ชาติมองว่า เรื่องส่งต่างอัตราดอกเบี้ยเป็นกลไกตลาด ที่การส่งผ่านดอกเบี้ยนโยบายไปเงินฝากน้อยเกินไป โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ยังไม่ค่อยตึงตัว ทั้งนี้หน้าที่ของแบงก์ชาติต้องดูแลเรื่องความมั่นคงของธนาคารพาณิชย์ และดูแลเรื่องให้บริการอย่างเป็นธรรมกับผู้บริโภคด้วย นอกจากนี้ยังดูเรื่องต้นทุนการดำเนินธุรกิจของธนาคารพาณิชย์อยู่แล้ว เช่น การเก็บค่าธรรมเนียมที่เป็นธรรม 

'แบงก์' ป้อง!! 'ธปท.' ทำหน้าที่นายประตูที่ดี เน้นคุมเสถียรภาพ ลั่น!! อยากให้ ศก.ดี ต้องมีผู้เล่นกองหน้า 'ชัดเจน-เหมาะสม'

(19 ม.ค.67) นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า การทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถ้าจะมองว่าเป็นกองหน้า หรือฝั่งของกระทรวงการคลังจะเป็นกองหลัง ก็ต้องทำงานเป็นทีม ดังนั้นทั้งนโยบายการเงินและการคลังก็ต้องทำงานร่วมกัน ซึ่งก็ถูกต้องที่นโยบายการเงินเป็นกองหลัง และเป็นผู้รักษาประตู

“ถ้าบอกว่าอยากให้เศรษฐกิจดีต้องลดดอกเบี้ยนั้น เรื่องนี้จะไม่ใช้ปัจจัยที่จะฟื้นเศรษฐกิจได้โดยใช้เครื่องมือนี้เพียงอย่างเดียว เพราะนโยบายทางการเงินมีหน้าที่รักษาเสถียรภาพ ทั้งอัตราแลกเปลี่ยน เงินเฟ้อ เสถียรภาพตลาดเงินและตลาดทุน ซึ่งเป็นเรื่องการเงินภาพใหญ่ที่ ธปท.ต้องให้ความสำคัญ” นายอมรเทพ กล่าว

นายอมรเทพ กล่าวว่า ขณะนี้โจทย์การแก้เศรษฐกิจนั้นจะให้น้ำหนักไปที่ใด ถ้าจะให้ทุกผู้เล่นเทน้ำหนักไปอยู่กองหลังและดูแต่เสถียรภาพมันก็ไม่มีทางที่จะทำประตูได้ ซึ่งถือเป็นโจทย์หนึ่งที่กำลังติเตียนกันว่ามันจะดีหรือไม่ ที่เทน้ำหนักให้ตรงนี้มากเกินไป ขณะเดียวกัน ทรัพยากรที่เป็นผู้เล่นกองหน้า หรือเรื่องงบประมาณปี 2567 ยังไม่มีการดำเนินการ รวมถึงหลายๆ อย่างที่จะมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจยังไม่ชัดเจน และถ้ามองว่าจะยืมตัวผู้เล่นจากกองหลังมาเป็นกองกลาง หรือกองหน้าอย่างไร สุดท้ายก็อยู่ที่การเจรจาระหว่างกัน

อย่างไรก็ตาม หน้าที่ของ ธปท. ไม่ได้ทำผิดพลาดอยู่แล้ว เพราะหน้าที่คือรักษาเสถียรภาพ แต่ปัญหาขณะนี้อยู่ที่กองหน้าขาดผู้เล่น (งบประมาณ) มากกว่า ดังนั้น อาจต้องผลักดันการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างอื่นที่ไม่ใช้งบประมาณมาช่วยสนับสนุนและแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เพราะนโยบายที่ใช้กับเศรษฐกิจไม่ได้มีเพียงนโยบายทางการเงิน เช่น การผลักดันเรื่องนโยบายอุตสาหกรรม เรื่องการค้าโดยเร่งเจรจาการค้าเสรี หรือภาคการท่องเที่ยวที่จะใช้นโยบายดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าไทย เป็นต้น

“ปัญหาอาจเพราะผู้เล่น หรือเครื่องยนต์อื่นๆ ทำไม่ได้เลยเหลือความหวังกับฝั่งนโยบายการเงิน แต่หากพิจารณาประเทศอื่นๆ เขาไม่ได้หวังเรื่องการเงินอย่างเดียว เพราะถ้าใช้การเงินโดยการลดดอกเบี้ยก็เป็นความเสี่ยง แต่หากต้องทำจริงๆ ก็ทำได้ แต่จะมีผลข้างเคียงตามมา เช่น เงินเฟ้อขยับขึ้น เงินบาทอ่อนค่า ถ้าพิจารณา 2-3 วันที่ผ่านมา กรณีนักลงทุนอาจผิดหวังที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะลดดอกได้เร็ว ถ้าไทยทำนโยบายสวนทางจะมีความเสี่ยงมากขึ้น ทั้งหมดนี้ทีมเศรษฐกิจต้องพูดคุยกัน” นายอมรเทพ กล่าว

ผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ สวยหรู!! แรงกระเพื่อมสั่น ‘รัฐบาล’ สะเทือน ‘ผู้ว่าธปท.’

ต้อนรับปีมังกร 9 ธนาคารพาณิชย์ประกาศผลประกอบการออกมา มีกำไรมากกว่า 2.26 แสนล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ อานิสงส์จากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในปี 2566 

9 ธนาคารพาณิชย์ มีผลประกอบการดีทุกธนาคาร ไล่จาก ‘SCB’ ทำกำไรได้สูงสุด รองลงมา เป็น ‘KBANK’ และอันดับที่ 3 ‘BBL’ และ มีถึง 3 ธนาคาร ที่สามารถทำกำไรได้สูงสุดในรอบ 10 ปี นำโดย BBL, KTB และ TTB ซึ่งหากดูกำไรสุทธิโดยรวมทั้ง 9 ธนาคาร สิ้นปี 2566 อยู่ที่ 226,169 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.44% หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 192,578 ล้านบาท 

รวมทั้งธนาคารขนาดกลาง ‘TISCO’ ปีนี้มีกำไรขึ้นมาอยู่ที่ 7,302 ล้านบาท เป็นผลงานสูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นเดียวกัน

กำไรกลุ่ม ‘ธนาคาร’ เลยกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคมอย่างมาก หลังมีการหยิบยกประเด็น ‘กำไร’ และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย หรือ ‘NIM’ ว่า สูงเกินไปหรือไม่? โดยที่ประชาชนเป็นเสมือนผู้รับ ‘ภาระดอกเบี้ย’ ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์บางธนาคารสามารถทำกำไรสุทธิได้เติบโตสูงสุดในปีนี้ 

หากมาดูถึงปัจจัยที่ทำให้หลายธนาคารมีกำไรสุทธิสูงสุด ส่วนหนึ่งย่อมมาจาก ‘รายได้ดอกเบี้ย’ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับดอกเบี้ยนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ในปัจจุบันที่ 2.50% ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อผลประกอบการปีนี้อย่างมาก

ในปี 2566 มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย จำนวน 5 ครั้ง จากการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ทั้งหมด 6 ครั้ง เพิ่มจาก 1.25% ในปี 2565 มาอยู่ที่ 2.50% หรือปรับสูงขึ้นเท่าตัว

อีกด้านของงบการเงิน ในการ ‘ตั้งสำรองหนี้เสีย’ สำหรับธนาคารทั้ง 9 แห่ง พบว่า ส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยธนาคารที่มีการตั้งสำรองสูงที่สุด คือ KBANK ตั้งสำรองสูงถึง 5.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นระดับใกล้เคียงกับปีก่อน ขณะที่ KTB ตั้งสำรองเพิ่มขึ้นถึง 52% หรือ 3.7 หมื่นล้านบาทหากเทียบกับปีก่อนหน้า, BAY ตั้งสำรองเพิ่มขึ้น 33.64%, TTB เพิ่มขึ้น 21% ส่งผลให้สำรองโดยรวมทั้ง 9 แบงก์ เพิ่มมาอยู่ที่ 229,860 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.03% จากปีก่อน ที่สำรองอยู่ที่ 193,104 ล้านบาท 

ในส่วน ‘หนี้เสีย’ หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ ‘NPL’ พบว่า โดยรวมปรับลดลง มาอยู่ที่ 498,720 ล้านบาท ลดลง 0.13% จาก 499,358 ล้านบาท แต่บางธนาคาร หนี้เสียยังปรับเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับคุณภาพหนี้ที่อาจตกชั้นในระยะข้างหน้า เช่น SCB หนี้เสียเพิ่มขึ้นที่ 1.58%, KBANK 1.84%, BAY เพิ่มขึ้น 14.2%, TISCO เพิ่มขึ้น 14.2%, LHFG เพิ่มขึ้น 20% และ CIMBT เพิ่มขึ้นเกือบ 6%

ประเด็นดังกล่าวเริ่มกลายเป็นแรงกระเพื่อมต่อรัฐบาล เพราะในมุมมองของประชาชนและภาคธุรกิจต่างๆ รู้สึกถึงความเดือดร้อนจากดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูง โดยช่วงค่ำวันที่ 7 มกราคม ที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทวีตข้อความว่า…

“จากการที่แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยทั้งๆ ที่เงินเฟ้อติดลบติดต่อกันหลายๆ เดือนนั้น ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจเลย และยังมีผลกระทบต่อประชาชนที่มีรายได้น้อย และ SMEs อีกด้วย

ผมจึงอยากให้กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูราคาสินค้าเกษตรบางชนิดให้เหมาะสม เพราะอาจจะต่ำไปก็ได้ และหวังว่าแบงก์ชาติจะช่วยดูแลประชาชน ไม่ขึ้นดอกเบี้ยสวนทางกับเงินเฟ้อนะครับ”

และวันที่ 8 มกราคม 2567 นายกฯ เศรษฐา ก็ได้ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ออกมาติงเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจว่า “ความจริงแล้วเราพูดคุยกันตลอดอยู่แล้วในเรื่องนี้ ซึ่งเรื่องการขึ้นดอกเบี้ย ตนมีจุดยืนชัดเจนว่า ‘ผมไม่เห็นด้วย’ แต่ท่าน (แบงก์ชาติ) ก็มีอำนาจในการขึ้น”

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีระบุว่า ปัจจุบันเงินเฟ้อต่ำมาก ดังนั้น อาจจะต้องฝากให้พิจารณาเรื่องการลดดอกเบี้ย และระบุว่าหลังจากนี้จะมีการพูดคุยกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 9 มกราคม 2567 ถึงกรณีที่เอกชนเริ่มเลื่อนจ่ายหุ้นกู้ที่ครบกำหนด ส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจอย่างไรหรือไม่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ว่า วันที่ 10 มกราคม 2567 ได้มีการพูดคุยกับ รมช.คลัง และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในเวลา 13.30 น. โดยมีการพูดคุยกันหลายเรื่อง เป็นเรื่องที่สำคัญที่เราต้องให้ความสำคัญและนำข้อมูลมาหยิบยกกัน

และคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่องว่า แรงกระเพื่อมนี้ จะส่งผลอย่างไรกับความสัมพันธ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย กับรัฐบาลที่นำโดย นายกฯ เศรษฐา ที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศไทย ในภาวะที่โครงการ Digital Wallet ที่ก็ยังคงไม่สามารถหาจุดลงตัวในการดำเนินการได้

เรื่อง : The PALM

'ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ' ชี้!! ศก.ไทยมีการฟื้นตัว แต่ล่าช้ากว่าที่คาด ยัน!! ไม่สามารถแก้ไขด้วยมาตรการกระตุ้นระยะสั้นของรัฐบาล

(24 ม.ค.67) ยังเป็นประเด็นถกเถียงกันว่า ‘เศรษฐกิจประเทศไทย’ วิกฤตแล้วหรือไม่ โดยล่าสุด นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวให้สัมภาษณ์ต่อสำนักข่าวต่างประเทศ รอยเตอร์ ระบุว่า เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว เพียงแต่ล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ที่ต่ำกว่าคาดการณ์ แต่ก็ไม่ได้บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะวิกฤต

นายเศรษฐพุฒิ บอกว่า ปัญหาของเศรษฐกิจไทยเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง และไม่สามารถแก้ไขด้วยมาตรการกระตุ้นระยะสั้นของรัฐบาล และสิ่งที่เกิดขึ้น คือ เศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวแต่ล่าช้ากว่าที่คาดไว้ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับคำว่า ‘วิกฤต’

ถามต่อว่า ถ้าต้องการเพิ่มอัตราการขยายตัวที่มีศักยภาพระยะยาว ทำอย่างไร 

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ บอกว่า ต้องดำเนินการเรื่องของโครงสร้าง เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต แต่ไม่ใช่การใช้มาตรการกระตุ้นระยะสั้น ส่วนประเด็นของอัตราเงินเฟ้อที่ติดลบ คาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือน ม.ค., ก.พ. หรืออาจถึงเดือน มี.ค. แต่เศรษฐกิจไทยไม่ได้เผชิญภาวะเงินฝืด เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว และในระยะยาวเงินเฟ้อจะยังคงเป็นบวก 

ประเด็น อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ผู้ว่าแบงก์ชาติ ระบุว่า อยู่ในภาวะที่เป็นกลาง และมีเพียง 2 ประเทศในโลกที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำกว่าไทย คือ ญี่ปุ่นและสวิตเซอร์แลนด์

ส่วนการพบกันของ ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ และ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นไปด้วยดี โดยเป็นหน้าที่ของตนที่จะต้องเผชิญกับคำวิพากษ์วิจารณ์ ขณะที่รักษาความเป็นอิสระและความน่าเชื่อถือของธนาคารแห่งประเทศไทย

'อ.พงษ์ภาณุ' ชี้!! 3 ตัวแปร ที่ทำให้ 'แบงก์ชาติ' ยังไม่ยอมลดดอกเบี้ย 'เข้าใจบทบาทตนเองผิด-เกรงใจสถาบันการเงิน-กฎหมายล้าหลัง'

(3 มี.ค.67) อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ได้กล่าวถึงประเด็นที่แบงก์ชาติยังไม่ลดดอกเบี้ย ไว้ว่า...

หลายท่านคงสงสัยว่าทำไมแบงก์ชาติจึงดื้อรั้นไม่ยอมลดดอกเบี้ย ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยมีเงินฝืด (Deflation) ติดต่อกันมา 5 เดือน และเศรษฐกิจไทยอาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ในไม่ช้า 

ประเด็นนี้ได้ลุกลามใหญ่โตเป็นวิวาทะทางการเมืองระดับชาติระหว่างรัฐบาล ซึ่งรับผิดชอบนโยบายการคลัง กับธนาคารแห่งประเทศไทยและลิ่วล้อที่ทำหน้าที่เป็นองครักษ์พิทักษ์แบงก์ชาติ 

วิวาทะหรือความขัดแย้งเช่นนี้ไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติเลย และน่าจะมีข้อยุติได้หากเราเข้าใจธรรมชาติของธนาคารกลางและบทบาทที่ควรจะเป็น

ในโลกปัจจุบัน เป็นที่ยอมรับว่าธนาคารกลางมีหน้าที่หลักในการรักษาเสถียรภาพของระดับราคา (Price Stability) แต่บางทีรัฐบาลบางประเทศก็มอบหน้าที่รองให้ ซึ่งรวมถึง การรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของสถาบันการเงิน การสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ การรักษาระดับการจ้างงาน เป็นต้น

ประเทศที่พัฒนาแล้วยึดถือเป็นหลักการว่าธนาคารกลางต้องมีความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพของระดับราคา ซึ่งส่วนใหญ่ก็ยึดหลัก Inflation Targeting ซึ่งมีความเป็นอิสระในเชิงเครื่องมือ (Instrumental Independence) แต่ต้องอยู่ในกรอบอัตราเงินเฟ้อที่ตกลงกับรัฐบาล หากเงินเฟ้อจริงเบี่ยงเบนไปจากกรอบนี้ ต้องถือว่าความเป็นอิสระนั้นจบลง

ส่วนบทบาทอื่น โดยเฉพาะการกำกับดูแลและพัฒนาสถาบันการเงินนั้น หลายประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกา, ยุโรป และญี่ปุ่น มีหน่วยงานเฉพาะรับผิดชอบ และอยู่นอกบทบาทหลักตามกฎหมายของธนาคารกลาง 

ดังนั้นความเป็นอิสระของธนาคารกลาง จึงจำกัดอยู่ที่การดำเนินนโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคา การแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ดังกล่าวได้ช่วยหลีกเลี่ยงความขัดแย้งเชิงผลประโยชน์ (Conflict of Interest) และป้องกันความขัดแย้งกับนโยบายการคลังได้เป็นอย่างดี

ฉะนั้น จึงสามารถตอบคำถามว่าทำไมแบงก์ชาติไม่ลดดอกเบี้ยได้ด้วยเหตุผล 3 ประการ...

ประการแรก แบงก์ชาติกลัวหนี้ครัวเรือนสูงขึ้นจนเป็นฟองสบู่ ในหลายประเทศการแก้ไขปัญหาหนี้ไม่ใช่เป็นหน้าที่ธนาคารกลาง แต่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลและหน่วยงานกำกับดูแลสถาบันการเงิน

ประการที่สอง การที่แบงก์ชาติทำหน้าที่กำกับดูแลสถาบันการเงิน ทำให้เกิดความสนิทสนมในฐานะผู้กำกับและผู้ถูกกำกับ ความสนิทสนมดังกล่าวนานเข้าจะนำไปสู่ความเกรงใจเจ้าของและผู้บริหารของสถาบันการเงินนั้น ๆ แน่นอนการลดดอกเบี้ยนโยบายย่อมนำไปสู่การลดดอกเบี้ยแบงก์ ซึ่งจะทำให้แบงก์มีกำไรลดลง

ประการสุดท้าย กฏหมายธนาคารแห่งประเทศไทย แก้ไขครั้งสุดท้ายกว่า 20 ปีมาแล้วภายหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง จึงได้มีการนำเป้าหมายทางการเงินหลายอย่างมากระจุกรวมไว้ในบทบาทหน้าที่ของแบงก์ชาติ ดังนั้น การใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่มีอยู่จำกัดไปรับใช้เป้าหมายหลาย ๆ เป้าหมาย ย่อมทำให้งานหลักของธนาคารกลางขาดประสิทธิภาพ และนำมาซึ่งความขัดแย้งเชิงผลประโยชน์ดังกล่าว

ขอเรียกร้องให้รัฐบาลแก้กฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างรีบด่วน โดยลดบทบาทของแบงก์ชาติ และให้มุ่งเน้นในเรื่องนโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาเพียงเรื่องเดียว จนกว่าจะแก้กฎหมายเสร็จในระหว่างนี้ก็ขอให้แบงก์ชาติและลิ่วล้อยุติการเรียกร้องความเป็นอิสระ และหยุดการโยนความผิดของตนไปให้ผู้อื่น รวมทั้งหยุดวิวาทะที่บั่นทอนความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทย

‘แบงก์ชาติ’ ชี้ เศรษฐกิจไทยเดือน ก.พ. ยังโตต่ำ แม้ นทท.เพิ่มขึ้น เหตุส่งออกหด ลงทุนดีขึ้นบางหมวด แถมรัฐเบิกจ่ายงบ 67 อืด

(29 มี.ค.67) น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน ก.พ.67 โดยรวมขยายตัวอยู่ในระดับต่ำ โดยเศรษฐกิจในภาคบริการขยายตัวตามรายรับและจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นมาก โดยจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะจีน ซึ่งได้รับผลดีจากมาตรการวีซ่าฟรีและเทศกาลตรุษจีน ส่วนมาเลเซียมาจากการท่องเที่ยวก่อนการถือศีลอดในช่วงรอมฎอนที่เร็วกว่าปกติในปีนี้ รวมถึงญี่ปุ่นที่เข้ามา หลังชะลอไปในช่วงก่อนหน้า

น.ส.ชญาวดี กล่าวต่อว่า ด้านการลงทุนภาคเอกชนและการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับดีขึ้นในบางหมวด ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนทรงตัว อย่างไรก็ตาม การลงทุนในหมวดก่อสร้างลดลงจากยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ขณะที่เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วทรงตัวจากเดือนก่อน โดยการใช้จ่ายในหมวดบริการและสินค้าไม่คงทน ส่วนหนึ่งยังได้รับผลดีจากมาตรการภาครัฐทั้งการอุดหนุนราคาพลังงานและการลดหย่อนภาษีต่อเนื่องจากเดือนก่อน ขณะที่การใช้จ่ายหมวดสินค้าคงทนลดลง โดยเฉพาะยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล

อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำปรับลดลง เนื่องจากหลายกลุ่มสินค้ายังถูกกดดันจากอุปสงค์โลกที่ฟื้นตัวช้า สินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูง และปัจจัยเชิงโครงสร้างการผลิตของไทย โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ตามการส่งออกชิ้นส่วนอุปกรณ์สื่อสารไปสหรัฐฯ รวมถึงการส่งออกแผงวงจรรวมและฮาร์ดดิสไดรฟ์ไปจีนและฮ่องกง ยานยนต์ตามการส่งรถกระบะไปออสเตรเลียเป็นสำคัญ และปิโตรเลียมจากการส่งออกไปอาเซียน มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามการนำเข้าสินค้าทุน

น.ส.ชญาวดี กล่าวอีกว่า ด้านการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากทั้งรายจ่ายลงทุนและรายจ่ายประจำของรัฐบาลกลางเสถียรภาพเศรษฐกิจ ตาม พ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า และรายจ่ายประจำที่หดตัวจากผลของฐานสูงในปีก่อนตามการเลื่อนเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านการศึกษาเป็นสำคัญ

น.ส.ชญาวดี กล่าวต่อว่า ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลงจากเดือนก่อนจากหมวดพลังงานเป็นสำคัญ ตามราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินที่ปรับสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงเล็กน้อยตามราคาอาหารในหมวดพื้นฐาน จากผลของฐานสูงในปีก่อน ตลาดแรงงานทรงตัวจากเดือนก่อนโดยการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมที่ลดลงถูกชดเชยด้วยการจ้างงานในภาคบริการ

‘ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ’ ส่งหนังสือด่วนถึง ครม. เตือน ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ก่อหนี้มหาศาล

(24 เม.ย. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำหนังสือถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 22 เม.ย.67 เพื่อเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาในการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 23 เม.ย.67 มองว่าโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เป็นโครงการขนาดใหญ่ของประเทศ ต้องใช้เงินจำนวนมาก อาจก่อให้เกิดภาระหนี้ผูกพันต่อรัฐบาลในอนาคตดังนี้…

1. ความจำเป็น โครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท และผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลังของประเทศ 

1.1 ควรดูแลครอบคลุมเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระค่าครองชีพ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิผลคุ้มค่า และใช้งบประมาณลดลง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ เช่น กลุ่มผู้มีรายได้น้อย หรือผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ 15 ล้านคน ซึ่งดำเนินการได้ทันที และใช้งบประมาณเพียง 150,000 ล้านบาท และควรทำแบบแบ่งเป็นระยะ (phasing) เพื่อลดผลกระทบต่อเสถียรภาพการคลัง โดยความจำเป็นกระตุ้นการบริโภคในวงกว้างมีไม่มาก โดยในปี 2566 การบริโภคภาคเอกชนของไทยขยายตัวร้อยละ 7.1 เทียบกับค่าเฉลี่ยช่วงปี 2553 - 2565 ขยายตัวเฉลี่ยที่ร้อยละ 3 ต่อปี

1.2 โครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ก่อให้เกิดภาระทางการคลังจำนวนมากในระยะยาว และหากไม่สามารถรักษาเสถียรภาพภาระหนี้ภาครัฐได้ จะเพิ่มความเสี่ยงที่ประเทศไทยจะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ เช่น เกณฑ์การประเมินของ Moody’s ได้กำหนดอัตราส่วนภาระดอกเบี้ยจ่ายต่อรายได้ของประเทศในกลุ่ม Baal (Rating ของไทยในปัจจุบัน) ไว้ว่าไม่ควรเกินร้อยละ 11 มองว่า โครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จะทำให้มีอัตราสูงกว่าเกณฑ์ในปี 2568 หากไทยถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ จะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมภาครัฐและภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้น

1.3 การเพิ่มวงเงินกู้ปีงบประมาณ 2568 จนเกือบเต็มกรอบที่กฎหมายกำหนด ทำให้เหลือวงเงินกู้ได้อีกราว 5,000 ล้านบาท เทียบกับวงเงินคงเหลือเฉลี่ยในปีก่อนๆ มากกว่า 100,000 ล้านบาท อาจกระทบการจัดสรรวงเงินจากงบประมาณปี 2567 ทำให้งบกลางสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นลดลงจนอาจไม่เพียงพอรองรับกรณีฉุกเฉิน ภายใต้สถานการณ์การเมืองโลกความไม่แน่นอนสูงและภาวะภัยธรรมชาติมีความรุนแรงมากขึ้น

1.4 รัฐบาลควรคำถึงความคุ้มค่าของการนำงบประมาณ 500,000 ล้านบาท ไปใช้ลงทุนแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว ตัวอย่างการใช้งบประมาณที่ผ่านมา ได้แก่ โครงการพัฒนาบุคลากรการแพทย์ (ใช้งบเฉลี่ย 3.8 ล้านบาทต่อตำแหน่ง) สร้างบุคลากรการแพทย์ได้กว่า 130,000 ตำแหน่ง โครงการ เรียนฟรี 15 ปี สำหรับนักเรียนทั่วประเทศ (83,000 ล้านบาทต่อปี) สนับสนุนได้นานถึง 6 ปี โครงการรถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม - ชุมพร (40,000 ล้านบาทต่อสาย) พัฒนาได้กว่า 10 สาย โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (190,000 ล้านบาทต่อสาย) พัฒนาได้กว่า 2 สาย

>> 2. แหล่งเงินสำหรับดำเนินโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท

วงเงิน 500,000 ล้านบาท นำมาจากงบประมาณรายจ่าย และกู้เงินจาก ธ.ก.ส. โดยรัฐบาล รับภาระชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ ตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง ต้องไม่ขัดแย้งกับการควบคุมระบบเงินตรา และการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เกษตรกร ควรมีความชัดเจนทางกฎหมายว่าการดำเนินการดังกล่าวอยู่ภายใต้หน้าที่และอำนาจและอยู่ภายใต้กฎหมาย วัตถุประสงค์ของ ธ.ก.ส.

เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความถูกต้อง และรอบคอบ จึงเสนอให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงการคลังหารือคณะกรรมการกฤษฎีกา ธปท. ในฐานะผู้กำกับดูแลความเสี่ยงและฐานะของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ มีข้อกังวลว่า การที่รัฐบาลจะมอบหมายให้ ธ.ก.ส. สนับสนุนโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท โดยยังมีภาระหนี้คงค้างกับ ธ.ก.ส. ถึงประมาณ 800,000 ล้านบาท

>> 3. ผู้พัฒนาระบบสำหรับโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท

นับว่ามีความซับซ้อนและต้องรองรับผู้ใช้งานจำนวนมาก จึงต้องเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ มีความเสถียร และมีความมั่นคงปลอดภัยเพียงพอ เพื่อไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบ (systemic risk) ธปท. จึงห่วงใยในการพัฒนาและดำเนินการระบบ จึงควรใช้ระบบพร้อมเพย์ และ Thai QR Payment เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน ลดต้นทุนในการพัฒนาระบบ และใช้ประโยชน์สูงสุด จากโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินที่มีอยู่

ด้วยเงื่อนไขของการใช้สิทธิที่มีความซับซ้อนในหลายมิติ รวมทั้งเป็นระบบเปิด (Open-loop) ต้องเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการหลากหลาย ควรกำหนดโครงสร้าง และสถาปัตยกรรมของระบบที่ชัดเจน ตลอดจนวางแผนการพัฒนาและทดสอบที่รัดกุมครบถ้วน เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบ รองรับผู้ใช้งานจำนวนมาก ไม่ให้ติดขัด หรือเกิดการใช้จ่ายที่ไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขของโครงการ

>> 4. การบริหารจัดการความเสี่ยงต่อการรั่วไหลหรือทุจริต

หน่วยงานที่รับผิดชอบควรกำหนดกลไกลดความเสี่ยงต่อการรั่วไหลหรือทุจริต ในขั้นตอนต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะประเด็นที่ปัญหาพึงคาดหมายได้ตั้งแต่เริ่มแรก เช่น แนวทางการตรวจสอบรายได้และทรัพย์สินของผู้เข้าร่วมโครงการให้เป็นไปตามคุณสมบัติที่กำหนด การป้องกันการลงทะเบียนเป็นร้านค้าปลอม การกำหนดประเภทและขนาดของร้านค้าเพื่อรองรับเงื่อนไขการใช้จ่ายประเภทสินค้าต้องห้าม

ธปท. มีความเห็นว่า การพิจารณากรอบหลักการและ รายละเอียดต่าง ๆ ของโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เป็นโครงการมีรายละเอียดซับซ้อน ใช้งบประมาณจำนวนมาก กระทบต่อภาระการคลังในระยะยาว มีความเสี่ยงต่อการรั่วไหลหรือทุจริตในขั้นตอนต่าง ๆ จึงต้องรัดกุมอย่างเต็มที่ จึงเสนอให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทบทวนและนำเสนอข้อมูลเพิ่มเติม พร้อมทั้งจัดทำแนวทางหรือมาตรการแก้ไขประเด็นปัญหาหรือความเสี่ยงต่าง ๆ ให้เป็นรูปธรรมด้วย

‘ผู้ว่าแบงก์ชาติ’ เผยกับสื่อนอก ยัน!! จะดำเนินนโยบายอย่างอิสระ เมิน!! แรงกดดันทางการเมือง หลังโดนให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย

เมื่อวานนี้ (29 เม.ย.67) นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สัมภาษณ์ในรายการ ‘Street Signs Asia’ ของสำนักข่าวซีเอ็นบีซีของสหรัฐฯ ในวันที่ 29 เม.ย. ว่า ธปท.จะตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างเป็นอิสระ โดยไม่สนใจแรงกดดันทางการเมือง

‘ผลงานเป็นเครื่องพิสูจน์’ นายเศรษฐพุฒิกล่าว พร้อมระบุเสริมว่า แม้จะเผชิญเสียงเรียกร้องให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่ ธปท.ไม่ได้ดำเนินการตามเสียงเรียกร้องเหล่านั้น เพราะไม่ใช่การดำเนินการอย่างเป็นอิสระ

"ผมคิดว่ากรอบการบริหารจัดการค่อนข้างชัดเจนอยู่แล้ว การตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ผ่านมานั้นอิงตามสิ่งที่เรารู้สึกว่าเหมาะสมที่สุดสำหรับเศรษฐกิจประเทศ ไม่ได้พิจารณาเกี่ยวกับการผ่อนคลายแรงกดดันทางการเมืองหรือแรงกดดันอื่น ๆ"

ทั้งนี้ สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ธปท.มีมติตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ในการประชุมนโยบายครั้งล่าสุดในเดือน เม.ย. แต่ธปท.ถูกรัฐบาล รวมถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กดดันอย่างหนักให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

ซีเอ็นบีซีระบุว่า การปรับลดต้นทุนการกู้ยืมเงินมีแนวโน้มจะกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจ เนื่องจากส่งเสริมให้ธุรกิจกู้เงินมาลงทุนและหนุนให้ผู้บริโภคใช้จ่ายเงิน

นายเศรษฐพุฒิ ระบุว่า "หากพิจารณาเหตุผลที่ทำให้เศรษฐกิจไทยซบเซา จะเห็นได้ว่าแทบไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับสิ่งที่อ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ยเลย"

ขณะเดียวกัน นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันนั้นสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอยู่แล้ว และสอดคล้องกับความพยายามในการลดภาระหนี้สินในระบบอย่างเป็นระบบระเบียบ ทำให้เกิดความสมดุลระหว่างการไม่เพิ่มภาระหนี้สินภาคครัวเรือนมากเกินไป ในขณะเดียวกันก็ไม่ส่งเสริมให้ประชาชนก่อหนี้ก้อนใหม่เพิ่มมากเกินไป

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า อุปสรรคเชิงโครงสร้างได้ทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยมีความไม่แน่นอน โดยจำเป็นต้องเพิ่มผลิตภาพเนื่องจากไทยกำลังเผชิญความท้าทายด้านประชากรศาสตร์โดยมีกำลังแรงงานลดน้อยลง

นอกจากนี้ นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ไทยจำเป็นต้องให้ความสนใจเรื่องการลงทุนสาธารณะ ไม่ใช่มาตรการกระตุ้นระยะสั้น

'อุ๊งอิ๊ง' จวกกฎหมาย ให้อิสระ 'แบงก์ชาติ' เป็นอุปสรรคแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ลั่น!! นโยบายการคลังถูกใช้งานข้างเดียวอย่างหนัก จนทำให้หนี้สูงขึ้นทุกปี

เมื่อวานนี้ (3 พ.ค. 67) พรรคเพื่อไทย (พท.) จัดงาน ‘10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10’ ณ ที่ทำการพรรคเพื่อไทย สำนักงานใหญ่ มีการแสดงวิสัยทัศน์และความคืบหน้านโยบายต่าง ๆ ของพรรคเพื่อไทย หลังจากจัดตั้งรัฐบาลเข้าสู่เดือนที่ 9 พร้อมประกาศเป้าหมายการทำงานในอนาคต โดยภายในงานมี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี, น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย, คณะรัฐมนตรีสัดส่วนของพรรคเพื่อไทย, กรรมการบริหารพรรค, ผู้บริหารพรรค, สส., ว่าที่ผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ของพรรคเพื่อไทย และบุคลากรของพรรค เข้าร่วมงานกันอย่างคับคั่ง

น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ในนามหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ขอยืนยันว่า เราตัดสินใจถูกต้องมากที่จัดตั้งรัฐบาลผสมเมื่อ 10 เดือนที่แล้ว ปัญหาปัจจุบันที่หมักหมมไว้จากการปฏิวัติรัฐประหาร ทั้งระบบราชการที่โตเกินไป ความอืดอาดในการทำงาน ด้วยโครงสร้างที่ไม่ทันต่อเหตุการณ์ที่เปลี่ยนไป เทคโนโลยี เศรษฐกิจ และภัยคุกคามทางความมั่นคงที่พัฒนาไปเร็วมาก รวมถึงภัยต่อเยาวชนชาติจากยาเสพติด ทำให้ประชาชนของชาติอ่อนแอ ประชาชนขาดโอกาสในการทำมาหากิน เศรษฐกิจใต้ดินสูงเป็นประวัติการณ์

‘เพื่อไทย’ เป็นพรรคการเมืองที่มีประสบการณ์ในการบริหารประเทศมากที่สุด หากไม่เป็นแกนนำรัฐบาลผสม คงยากที่ปัญหาหมักหมมจะแก้ไขได้ กฎหมายพยายามจะให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นอิสระจากรัฐบาล เรื่องนี้เป็นปัญหาและอุปสรรคในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เพราะนโยบายการคลังถูกใช้งานข้างเดียวอย่างหนัก จนทำให้หนี้สูงขึ้นทุกปี จากการตั้งงบประมาณขาดดุล 

ถ้านโยบายการเงินที่บริหารโดยธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ยอมเข้าใจและร่วมมือ ประเทศจะไม่มีทางลดเพดานนี้ได้ 10 เดือนที่ผ่านมา เราใช้ความพยายามในการวิเคราะห์ เข้าใจ เพื่อแก้ปัญหาที่ยาก และซับซ้อน และก้าวเดินต่อในทุกมิติ เพราะเราเสียเวลาและโอกาสไปถึงเกือบ 2 ทศวรรษจากการรัฐประหาร เรามั่นใจว่าเราทำได้ และจะทำให้ได้คะแนนเต็ม 10 ก่อนการเลือกตั้งครั้งหน้า

น.ส.แพทองธาร กล่าวต่อว่า ในมิติทางเศรษฐกิจเริ่มต้นด้วยการเติมเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เพราะเงินถูกดูดออกจากระบบไปมาก จึงเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจโตต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในอาเซียน และค่าแรงที่เพิ่มขึ้นเป็น 400 บาท จะทำให้ทุกคนต้องปรับตัว เพิ่มผลผลิตจากความพอกินของพนักงาน พรรคเพื่อไทยจะผลักดันเศรษฐกิจในทุกมิติ ไม่ใช่แค่เติมเงินและเพิ่มค่าแรง แต่รวมไปถึงเม็ดเงินใหม่จากต่างประเทศจะเข้ามาจากการลงทุนและการสร้างโอกาสให้คนไทยทุกคน โดยการนำของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top