Monday, 13 May 2024
ธนาคารแห่งประเทศไทย

ไม่ต้องตื่นตระหนก!! ‘แบงก์ชาติ’ ชี้ SVB ล้ม กระทบระบบการเงินไทยจำกัด เหตุ ธ.พาณิชย์ไทย ไม่มีการถือครองสินทรัพย์ดิจิทัล

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยกรณีธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) ที่ประสบปัญหา ซึ่ง Federal Deposit Insurance Corporation (FDIC) มีคำสั่งให้ปิดกิจการเมื่อวันศุกร์ที่ 10 มี.ค. 2566 ว่า สถานการณ์ในไทย ผลกระทบจากกรณี SVB ต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทยมีจำกัด เนื่องจากไม่มีธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีธุรกรรมโดยตรงกับ SVB และปริมาณธุรกรรมโดยรวมของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยใน Fintech และ Startup ทั่วโลกมีน้อยกว่า 1 % ของเงินกองทุนของกลุ่มธนาคารพาณิชย์

อีกทั้งพบว่า ธนาคารพาณิชย์ไทยไม่มีการถือครองสินทรัพย์ดิจิทัล ขณะที่กลุ่มธุรกิจของ ธพ. ถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลในระดับต่ำที่ประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่ง ธปท. ขอย้ำว่ามีการกำกับดูแลธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลและ venture capital ที่เข้มงวด เช่น การให้หักเงินลงทุนในเหรียญออกจากเงินกองทุนชั้นที่ 1 (CET1) ในทุกกรณี รวมทั้งกำหนดเพดานการลงทุนและการกำกับความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ เพื่อป้องกันผลกระทบจากความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่ม ธนาคารพาณิชย์ต่อเงินฝากของประชาชน

ส่วนค่าเงินบาท ล่าสุดปรับแข็งค่าขึ้นสอดคล้องกับสกุลเงินภูมิภาค ภายหลังนักลงทุนคาดการณ์ว่าเหตุการณ์ข้างต้นจะส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้เงินดอลลาร์ สรอ. ปรับอ่อนค่าลงเร็ว ซึ่งความไม่แน่นอนของนโยบายการเงินสหรัฐฯ จะยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อตลาดการเงินโลกและความผันผวนของค่าเงินบาทในระยะถัดไป

‘อดีตผู้ว่าการ ธปท.’ ชี้ นโยบายแจกเงิน ก่อหนี้โดยไม่จำเป็น จวก!! ไร้ความรับผิดชอบ ทำ ปชช.ขาดวินัย-ทักษะทางการเงิน

(11 เม.ย. 66) นางธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เขียนข้อความเรื่องภาระการคลังของการแจกเงิน โดยระบุว่า…

ประชากรอายุ 16 ปีขึ้นไปมีประมาณ 85% ของประชากร 67,000,000 คนจึงเทียบเท่ากับประมาณ 55,000,000 คน แจกให้คนละ 10,000 บาท เทียบเท่ากับค่าใช้จ่ายทั้งหมด 550,000 ล้านบาท

ถามว่าจะเอาค่าใช้จ่ายส่วนนี้มาจากไหน?

ถ้าเงิน 550,000 ล้านบาทที่ใช้จ่ายออกไปมีการเก็บภาษีวีเอที 7% เต็มเม็ดเต็มหน่วยก็จะได้ภาษี 38,500 ล้านบาท แต่จริง ๆ เป็นไปไม่ได้ที่จะเก็บได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยเพราะร้านขายของในละแวกบ้าน นอกอาจจะเป็นร้านเล็ก ๆ ยังไม่อยู่ในระบบภาษี แต่เอาเถอะยกผลประโยชน์ให้ว่าเก็บได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะเขาอาจจะโต้แย้งได้ว่าเงิน 550,000 ล้านบาทสามารถหมุนได้หลายรอบ ก็จะเก็บภาษีได้หลายรอบ และบริษัทที่ผลิตสินค้าขายได้มากขึ้นก็น่าจะเก็บภาษีนิติบุคคลได้มากขึ้น

ดังนั้น ยังต้องหาเงินมาโปะส่วนที่ขาดอีก 511,500 ล้านบาท ปัดตัวเลขกลมๆเป็น  500,000 ล้านบาทเลยก็ได้ ถ้าไม่ขึ้นภาษีก็ต้องเบียดมาจากการใช้จ่ายรายการอื่น ๆ ซึ่งไม่น่าจะเบียดมาได้มากนัก เพราะตัวเลข 500,000 ล้านบาทนี้ เทียบเท่ากับ 17 ถึง 18% ของงบประมาณคาดการณ์ของปี 2023 จึงเป็นสัดส่วนไม่น้อย เมื่อหาเงินหรือลดค่าใช้จ่ายรายการอื่นไม่ได้ ก็ต้องกู้มาโปะส่วนที่ขาดดุลมากขึ้นนี้

อัตราส่วนหนี้ต่อจีดีพีในปี 2023 คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 61.36% ถ้าต้องกู้มากขึ้นอีก 500,000 ล้านบาทสัดส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นอีก 2.8% รวมเป็น 64.16%

เราเคยตั้งเป้าว่าสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีจะไม่ให้เกิน 60% แต่ช่วงที่ผ่านมาเราต้องประคับประคองเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด จึงยอมให้สัดส่วนนี้สูงเกิน 60% และมีเป้าหมายจะดึงลงมาให้อยู่ในระดับ 60% โดยเร็ว

นโยบายแจกเงินนี้มีผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่ในปีหน้าคาดว่าเศรษฐกิจจะโตประมาณ 3 ถึง 4% โดยมีตัวช่วยคือการท่องเที่ยว ที่ผ่านมาในช่วงโควิดรัฐบาลได้ใช้เงินไปในการพยุงเศรษฐกิจมามากพอแล้ว ปีหน้าจึง​ไม่มีความจำเป็นที่ต้องกระตุ้นต่อเนื่อง และการจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตโดยการใช้จ่ายเป็นวิธีที่ไม่รับผิดชอบ (ยกเว้นในกรณีจำเป็น อย่างเช่นในช่วงโควิดที่หัวรถจักรทางเศรษฐกิจตัวอื่น ๆ ไม่ทำงาน) เพราะใช้แล้วก็หมดไป ไม่มีผลในการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจในระยะยาว

ขอนแก่น-'ธปท.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ' เตือนภัยแล้งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของอีสาน

วันที่ 3 พ.ค. 2566 ที่ห้องปัญญาวิจิตร ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท. สภอ.) ริมบึงแก่นนคร เขตเทศบาลนครขอนแก่น ดร.ทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท. สภอ.) ได้แถลงข่าวสรุปสาระสำคัญ ดังนี้ เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือไตรมาส 1 ปี 2566 ยังไม่ฟื้นตัวเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจประเทศ และทรงตัวจากไตรมาสก่อน ตามการบริโภคภาคเอกชนที่ทรงตัว จากรายได้ทั้งในและนอกภาคเกษตรที่ยังเปราะบาง กอปรกับค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูง และการสิ้นสุดของมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายที่เคยเป็นแรงพยุงสำคัญ ด้านการลงทุนหดตัวต่อเนื่องตามผลของเศรษฐกิจคู่ค้าชะลอลงสอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยบวกอยู่บ้างจากการเบิกจ่ายภาคการคลังที่ขยายตัว
   

คาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2566 ยังคงทรงตัว ตามภาคเกษตรที่ผลผลิตลดลงจากผลกระทบของน้ำท่วมในปีก่อนและภัยแล้งในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งจะส่งผลให้การผลิตในอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรปรับลดลง กอปรกับการผลิตเพื่อส่งออกที่ยังไม่ได้รับผลดีเมื่อเทียบกับการส่งออกของประเทศ
สำหรับการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ในไตรมาสที่ 2 ปี 2566 จากปัจจัยพิเศษที่มีวันหยุดยาว วันหยุดพิเศษ และการเลือกตั้งในช่วงกลางปี แต่ครึ่งหลังของปี 2566 ยังเผชิญแรงกดดันจากค่าครองชีพที่ยังอยู่ระดับสูงอย่างไรก็ดี ภาคการคลังที่ขยายตัวต่อเนื่องยังเป็นแรงสนับสนุนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ 

‘รัฐบาล’ ชี้ การบริโภค-ท่องเที่ยว ช่วย ศก.ไทยฟื้นตัว เผย ภาพรวมเศรษฐกิจไทย ปี 66 เติบโตต่อเนื่อง

(10 พ.ค. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงสถานการณ์เศรษฐกิจของแต่ละภูมิภาค เดือนมีนาคม 2566 เติบโตทั่วประเทศ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย คาดการณ์แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจไทย GDP ในครึ่งปีหลังจะขยายตัวได้มากกว่าครึ่งปีแรกที่มากกว่า 4% และทั้งปี 2566 GDP ไทยจะขยายตัวร้อยละ 3.6

นายอนุชา กล่าวว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจของแต่ละภูมิภาค เดือนมีนาคม 2566 โดยเศรษฐกิจภูมิภาคส่วนใหญ่ ล้วนได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเพิ่มขึ้นทุกภาค รวมถึงเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ของภาคเหนือขยายตัวร้อยละ 8.5 ต่อปี ภาคใต้ขยายตัวร้อยละ 23.7 ต่อปี

ด้าน กทม.และปริมณฑลขยายตัวร้อยละ 4.7 ต่อปี ภาคตะวันตกขยายตัวร้อยละ 20.0 ต่อปี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือขยายตัวร้อยละ 2.9 ต่อปี ส่วนภาคกลาง และภาคตะวันออก ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน รวมถึงรายได้เกษตรกรมีการขยายตัว

นายอนุชา กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจไทยปี 2566 จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวดีขึ้น จากปัจจัยด้านการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และการส่งออกไทยจะดีขึ้นในครึ่งหลังของปี 2566 โดยการส่งออกผ่านจุดต่ำสุดแล้ว เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าคาดว่าจะทยอยปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายปีนี้ ทำให้การส่งออกขยายตัวดีขึ้น รวมทั้ง GDP ในครึ่งปีหลังจะขยายตัวได้มากกว่าครึ่งปีแรก ซึ่งครึ่งปีแรกจะขยายตัวร้อยละ 2.9-3 และในครึ่งปีหลังจะขยายตัวได้มากกว่าร้อยละ 4 ส่งผลให้ปี 2566 GDP ของไทยจะขยายตัวร้อยละ 3.6 สำหรับสถานการณ์เงินเฟ้อ ในช่วงครึ่งปีแรกยังสูงที่ร้อยละ 3.3 แต่ในช่วงครึ่งหลังเงินเฟ้อทั่วไปจะต่ำกว่ากรอบอยู่ที่ร้อยละ 2.5 โดยยังต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจโลกในเวลานี้ที่ยังมีความไม่แน่นอน

“เศรษฐกิจไทยในปี 2566 ในภาพรวมยังเป็นไปในเชิงบวก ซึ่งการบริโภคและการท่องเที่ยว จะเป็นปัจจัยหลักที่ทำเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่อง รัฐบาลยังคงติดตามสภาวะเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมรับมือและดำเนินนโยบายให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งเพิ่มศักยภาพเพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาวอย่างยั่งยืน” นายอนุชา กล่าว

‘อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติ’ ชี้ เศรษฐกิจไทยแก้ยาก-ซับซ้อน ต้องใช้เวลา เชื่อ!! ไม่มีรัฐบาลไหนสามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยตัวคนเดียว

(11 พ.ค. 66) นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวระหว่างการเป็นประธานเปิดงาน ‘MONEY EXPO 2023’ ว่า โลกยุคเรากําลังเผชิญปัญหาและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและสิ่งแวดล้อมขั้นวิกฤต และเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤต ทั้งปัญหาโลกร้อน ความเหลื่อมล้ำ คอร์รัปชัน การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและคุณภาพ ประชากร โรคอุบัติใหม่ หรือความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วทางเทคโนโลยี

ดังนั้น โจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจวันนี้ ยาก ซับซ้อน กว้างขวาง และใช้เวลา ซึ่งจะไม่มีรัฐบาลไหน หรือบุคคลใดที่วิเศษวิโสยังไงจะเข้ามาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ทันที การบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจต้องเป็นเรื่องของทุกคน โดยเฉพาะประเด็นเศรษฐกิจใหม่ ที่ต้องเป็นเศรษฐกิจสีเขียว ดำเนินธุรกิจด้วยพลังงานสะอาด ควบคู่กับ กรีนไฟแนนซ์ให้เป็นทางรอดของเศรษฐกิจไทยในอนาคต

“การป้องกันบรรเทาความรุนแรงของปัญหา และพลิกวิกฤตให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ จึงต้องเป็นเรื่องของทุกคน และการเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มที่ตัวเรา” นายประสาร กล่าว

ด้านนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน บอกว่า นโยบายของพรรคการเมืองที่กำลังจะเข้ามาเป็นรัฐบาลใหม่ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการพักหนี้ หรือช่วยเหลือเอสเอ็มอี ยืนยันว่า ทางธนาคารออมสินพร้อมที่จะจัดทำมาตรการรองรับได้ ในฐานะธนาคารเพื่อสังคม

ขณะที่นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. เปิดเผยว่า นโยบายพักหนี้เกษตรกรของพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่นำเสนอกันนั้น หากเป็นส่วนที่เกี่ยวข้อบกับทางธนาคาร ก็พร้อมดำเนินการตามนโยบายได้ทันที เพียงแต่เรายังไม่เห็นรายละเอียดของโครงการ จึงต้องขอดูรายละเอียด การชดเชยค่าดำเนินการใดๆ ให้ชัดเจนก่อน เพราะเราเป็นธนาคารที่ต้องดูแลลูกค้าหลายภาคส่วน

ธนาคารไทย แข็งแกร่งแค่ไหน? ภาพรวมสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์

แข็งแกร่ง!! ‘ธนาคารแห่งประเทศไทย’ ชี้!! ระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ยังมีเสถียรภาพและความเข้มแข็ง เผย ตัวเลขผลประกอบการไตรมาส 1/66 มีเงินกองทุน เงินสำรองและสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง

ส่องผลงานแบงก์พาณิชย์ไทย ไตรมาส 2/66 สินเชื่อหดตัว 0.4%

🔎ผลงานธนาคารพาณิชย์ไทยครึ่งปีแรกยังแข็งแกร่ง!!

ธนาคารแห่งประเทศไทย เผยภาพรวมธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 2 ปี 2566 พบว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ โดยมีเงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง ขณะที่สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์หดตัวเล็กน้อยร้อยละ 0.4 จากการทยอยชำระคืนหนี้ของภาคธุรกิจ รวมถึงภาครัฐ หลังมีการขยายตัวต่อเนื่องเพื่อเสริมสภาพคล่องในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยเฉพาะการชำระคืนสินเชื่อ SMEs และ Soft loan วงเงิน 138,000 ล้านบาท 

ขณะที่ธนาคารพาณิชย์บริหารจัดการคุณภาพหนี้และให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่องด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ ส่งผลให้ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (non-performing (oan: NPL หรือ stage 3) ไตรมาส 2 ปี 2566 ลดลงมาอยู่ที่ 492,300 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ร้อยละ 2.67

ธปท.สภอ.จัดงานสัมมนาวิชาการ “ขับเคลื่อนภาคการเกษตรอีสานให้ ‘เปลี่ยนผ่าน’ สู่ความยั่งยืน”

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท. สภอ.) จัดงานสัมมนาวิชาการ ประจำปี 2566  เมื่อวันอังคารที่ 5 กันยายน 2566 เวลา 08.30-12.00 น. ณ ห้อง Convention 2-3 โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จ.ขอนแก่น เพื่อให้ภาคธุรกิจและประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) ได้รับทราบทิศทางเศรษฐกิจการเงิน นโยบาย ธปท. รวมถึงประมาณการเศรษฐกิจภาคอีสานในอีก 2 ปีข้างหน้า เพื่อการวางแผนของภาคธุรกิจและครัวเรือน ตลอดจนรับฟังมุมมองเกี่ยวกับแนวทางการปรับตัวของภาคเกษตรเพื่อยกระดับและขับเคลื่อนไปสู่ความยั่งยืน โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาทั้งภาคธุรกิจ ภาคเกษตร สถาบันการเงิน การศึกษา หน่วยงานราชการ และประชาชนทั่วไป ผ่านช่องทางออนไลน์ (online) และ ณ สถานที่จัดงาน (onsite) โดยงานสัมมนาแบ่งเป็น 3 ช่วง

ในช่วงแรก เป็นช่วง Perspectives ในหัวข้อ “ชวนคุยทิศทางเศรษฐกิจ ชวนคิดปรับโครงสร้างภาคเกษตรอีสาน” โดย ดร.ทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท. สภอ. นำเสนอผลประมาณการเศรษฐกิจอีสาน (Gross Regional Product: GRP) เนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจอีสานบางช่วงแตกต่างไปจากประเทศ รวมทั้งยังไม่มีการเผยแพร่ประมาณการไปข้างหน้า ทำให้การพิจารณาเฉพาะทิศทางเศรษฐกิจประเทศอาจไม่สะท้อนทิศทางเศรษฐกิจภูมิภาค ธปท.สภอ. จึงได้ศึกษาและจัดทำประมาณการเศรษฐกิจภูมิภาคที่ให้มุมมองต่อทิศทางเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ในช่วง 2 ปีข้างหน้า เพื่อให้ธุรกิจและประชาชนได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งผลประมาณการเศรษฐกิจอีสานปี 66 คาดว่าหดตัวในช่วงร้อยละ -2.0 ถึง -1.0 โดยหดตัวเกือบทุกสาขาเศรษฐกิจ ยกเว้นภาคก่อสร้าง และปี 67 ขยายตัวเล็กน้อย อยู่ในช่วงร้อยละ 0.4-1.4 ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำกว่าระดับประเทศ โดยเฉพาะกิจกรรมหลักที่อีสานพึ่งพิงมากถึง 1 ใน 3 ได้แก่ ภาคเกษตรและการผลิตที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตรหดตัวจากสถานการณ์ภัยแล้ง เช่นเดียวกับด้านรายได้สุทธิของครัวเรือนในภาคอีสาน ปี 66-67 ที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยเฉพาะครัวเรือนเกษตรที่มีมากถึง 4.3 ล้านครัวเรือน ทั้งนี้ GRP ที่ขยายตัวต่ำใน 2 ปีนี้ สะท้อนปัญหาเรื้อรังของโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรที่ผลิตภาพลดต่ำลงตลอดในช่วง 5 ปีหลังนี้ นอกจากนี้ ธปท. สภอ. ได้พัฒนาเครื่องชี้ Well-being Index สะท้อนความกินดีอยู่ดีของคนในอีสาน พบว่า แม้มิติด้านรายได้และการจ้างงานโดยรวมอีสานต่ำกว่าระดับประเทศ แต่ด้านความปลอดภัยและโครงสร้างพื้นฐานมีความโดดเด่นกว่าภาพรวมประเทศโดยเปรียบเทียบ สะท้อนถึงโอกาสในการยกระดับความเป็นอยู่ของคนในอีสานในระยะข้างหน้า ท้ายสุด ธปท.สภอ. ให้ความสำคัญยิ่งขึ้นกับการมีส่วนร่วมกับพันธมิตรในการพัฒนาเศรษฐกิจการเงินภาคอีสานในระยะยาว ทั้งการสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน การสนับสนุนการแก้หนี้อย่างยั่งยืน และการร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ในการพัฒนาความเป็นอยู่ในพื้นที่

ช่วงที่สอง สนทนากับผู้ว่าการ เรื่อง “ทิศทางเศรษฐกิจการเงินไทย” ได้รับเกียรติจาก ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ฉายภาพเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวต่อเนื่องตามภาคการท่องเที่ยว แม้ว่า GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 66 ออกมาต่ำกว่าคาดจากอุปสงค์ต่างประเทศเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี แนวโน้มในปีนี้ยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว จากการท่องเที่ยวและการบริโภคที่ขยายตัว ทั้งนี้ ธปท. จะเผยแพร่ประมาณการเศรษฐกิจชุดใหม่ในเดือน ก.ย. 66 โดยคาดว่าจะปรับลดลงจากภาคการผลิตและการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวช้ากว่าคาด จากการชะลอของเศรษฐกิจจีนและ Global Electronic Cycle ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยว ภาพรวมยังเพิ่มขึ้นได้ตามคาด แม้นักท่องเที่ยวจีนจะฟื้นตัวช้า อย่างไรก็ดี คาดว่าอุปสงค์ในประเทศยังฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชน รายได้ และการจ้างงานนอกภาคเกษตรล่าสุดเดือน ก.ค. 66 ยังอยู่ในทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สำหรับเศรษฐกิจอีสานฟื้นตัวช้ากว่าประเทศและทุกภาค เนื่องจากประเทศและภาคอื่นมีภาคการท่องเที่ยวมาสนับสนุน ขณะที่อีสานยึดโยงกับภาคเกษตรซึ่งมีปัจจัยกดดันจากภัยแล้ง สำหรับทิศทางนโยบายการเงินมาถึงจุดเปลี่ยนจากดูแลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวไม่สะดุด (Smooth take off) มาเป็นมุ่งเน้นดูแลเศรษฐกิจโดยรวมให้สอดคล้องกับเป้าหมายเงินเฟ้อ (1-3%) และศักยภาพเศรษฐกิจในระยะยาว (3-4%) ซึ่งมองว่ามีแนวโน้มเข้าใกล้จุดสมดุล (neutral) แล้ว

ด้านปัญหาหนี้ครัวเรือน ภาคอีสานมีภาระหนี้เฉลี่ยที่ต้องจ่ายต่อเดือนมากที่สุด โดยเฉพาะหนี้ภาคเกษตรที่โตเร็วมากที่สุดในรอบ 6 ปี เมื่อเทียบกับภาคอื่น และมีโอกาสจะกลายเป็นหนี้เรื้อรัง ที่ไม่สามารถปิดจบได้ รวมทั้งภาพรวมหนี้อีสานที่มีสัดส่วนหนี้ครัวเรือน (P-loan) สูงกว่าภาคอื่น ซึ่ง ธปท. ไม่ได้นิ่งนอนใจ และให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง โดยได้ออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ให้ตรงจุดและยั่งยืน อาทิ หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) เพื่อปรับพฤติกรรมเจ้าหนี้และลูกหนี้ ผ่านการยกระดับมาตรฐานกระบวนการให้สินเชื่อตลอดวงจรหนี้ นอกจากนี้ จะมีการกำหนดแนวทางให้เจ้าหนี้ช่วยเหลือลูกหนี้เรื้อรัง (persistent debt) เพื่อให้ลูกหนี้กลุ่มนี้สามารถปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้น และมีเงินเหลือพอดำรงชีพ

สำหรับแนวทางการยกระดับภาคอีสาน ควรผลักดันนโยบายจากพื้นที่ (Bottom-up) ทั้งจากภาคธุรกิจ ภาควิชาการ และประชาชนในพื้นที่ ในระยะยาวเห็นโอกาสของภาคอีสานที่มีศักยภาพจาก (1) การเติบโตของเมืองที่มากกว่าภาคอื่น ๆ เช่น จากข้อมูลดาวเทียมพบว่ามีการขยายตัวของพื้นที่ก่อสร้าง โดยเฉพาะในเมืองรอง (2) การค้าชายแดน ที่ระยะยาวคาดว่าจะดีขึ้น และ (3) ความได้เปรียบด้านประชากรที่มากกว่าภาคอื่น ๆ ซึ่งเป็นทรัพยากรผลักดันการเติบโตในอนาคต

ในช่วงสุดท้าย เป็นการเสวนาภายใต้หัวข้อ “ขับเคลื่อนภาคเกษตรอีสาน ให้ “เปลี่ยนผ่าน” สู่ความยั่งยืน” ผ่านการเสวนากับผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน ได้แก่ รศ.ดร.ภูมิสิทธิ์ มหาสุวีระชัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คุณมานพ แก้วโกย ผู้บริหาร หจก. เนเจอร์ฟูดโปรดักส์แอนด์มาร์เก็ตติ้ง และ ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ โดยมี ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เป็นผู้ดำเนินรายการ จากการเสวนาสรุปประเด็นสำคัญได้ 4 ข้อ ดังนี้ (1) ทำไมภาคเกษตรอีสานถึงต้องปรับเปลี่ยน โดยปัจจุบันแรงงานภาคเกษตรเผชิญปัญหาสังคมสูงอายุ ทำให้ผลิตภาพ (Productivity) ต่ำ 

อีกทั้งเป็นอาชีพที่เสี่ยงสูงแต่ผลตอบแทนต่ำ (High Risk Low Return) กอปรกับสภาพอากาศที่ผันผวนมากขึ้น เช่น สถานการณ์ภัยแล้งในปัจจุบัน ส่งผลให้ดินจะอุ้มน้ำได้น้อยลงกระทบต่อผลผลิต รวมถึงกิจกรรมการเกษตรส่งผลต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับต้น ๆ (2) อะไรเป็นอุปสรรคในการปรับตัวของภาคเกษตรอีสาน นโยบายภาครัฐส่วนใหญ่เน้นการแก้ปัญหาระยะสั้น และอุดหนุนแบบไม่มีเงื่อนไข ส่งผลให้เกษตรกรขาดแรงจูงใจในการปรับตัว นำมาซึ่งผลิตภาพภาคเกษตรที่ลดลงมาโดยตลอด และสูญเสียความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ นอกจากนี้ ปัญหาหนี้ภาคเกษตรที่ยังเรื้อรังทำให้เกษตรกรยังทำเกษตรรูปแบบเดิมเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการปรับเปลี่ยน (3) แนวทางการปรับตัวของภาคเกษตรอีสาน การปรับตัวของเกษตรกรเหมือนคนทั่วไปมองความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นและแรงจูงใจเป็นอันดับแรก โดยปกติการปรับเปลี่ยนอาจนำมาซึ่งต้นทุนและความเสี่ยงที่สูงขึ้น แต่หากทำให้เกษตรกรเห็นว่าผลดีที่จะเกิดขึ้นมีอะไรและช่วยลดความเสี่ยงให้กับเกษตรกรผ่านรูปแบบประกันความเสียหาย จะเป็นการสร้างแรงจูงใจที่ดีมากขึ้น และ (4) ใครต้องปรับตัว ผู้ร่วมเสวนาให้ความเห็นในทางเดียวกันว่าในการขับเคลื่อนภาคเกษตรอีสาน จำเป็นต้องปรับตัวทั้งเกษตรกร ภาครัฐ และเอกชน โดยภาครัฐควรทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) ให้กับเกษตรกร โดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การมี Platform รายงานคุณภาพดินแบบเรียลไทม์ ให้เกษตรกรสามารถใช้ปุ๋ยที่เหมาะสม ทั้งนี้ ภาครัฐทำหน้าที่ให้การสนับสนุนด้านข้อมูล (Big Data) และภาคเอกชนเป็นผู้จัดทำ Platform และโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำ โดยเฉพาะระบบการจัดการน้ำให้ทั่วถึง

'แบงก์ชาติ' แนะ!! เงินดิจิทัล 10,000 บาท แจกเฉพาะกลุ่ม ชี้!! ไม่ใช่ทุกคนที่จำเป็นต้องใช้ แง้ม!! ใช้กับ CBDC ไม่ได้

เมื่อวานนี้ (14 ก.ย. 66) ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า นโยบายเงินดิจิทัลที่รัฐบาลจะออกมานั้น ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะออกมาในรูปแบบไหน แต่ข้อกังวลของแบงก์ชาติเกี่ยวกับนโยบายนี้ จะเป็นเรื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภาพรวมที่ตัวเลข โดยรวมดูไม่ค่อยสวยนัก โดยไตรมาส 2 ที่ผ่านมา อยู่ที่ 1.8% ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่ถ้าดูที่มาของการเติบโตแสดงให้เห็นว่า สิ่งที่ขาดไปไม่ใช่เรื่องของการบริโภค แต่เป็นเรื่องของการลงทุน 

นอกจากนี้ ดร.เศรษฐพุฒิ เสนอว่า นโยบายดังกล่าวถ้าทำเฉพาะกลุ่มก็อาจจะประหยัดงบประมาณได้มากกว่า เพราะว่าไม่ใช่ทุกคนที่จำเป็นต้องใช้เงิน 10,000 บาท อีกทั้งการทำนโยบายต่าง ๆ รัฐบาลต้องฉายภาพระยะกลางของมาตรการที่จะทำให้มีความชัดเจน ทั้งเรื่องของภาพรวมรายจ่าย ภาพรวมหนี้ การขาดดุลต่าง ๆ ตรงนี้จะช่วยสร้างความเชื่อมั่น แสดงให้เห็นถึงวินัยทางการคลัง ที่จะบริหารให้อยู่ในกรอบได้ 

อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าแบงก์ชาติ ย้ำว่า เงินดิจิทัลขึ้นอยู่กับรูปแบบที่จะออก แต่ถ้าจะทำเป็น digital asset คือ ไม่ได้ หรือถ้าจะใช้วิธีการผสมกับ CBDC โครงการที่แบงก์ชาติกำลังดำเนินอยู่นั้น มองว่าไม่สามารถที่จะเป็นไปได้ เพราะโครงการนี้ โดยเฉพาะ Retail CBDC ที่เป็นการนำร่องเพื่อศึกษาเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อการเอาออกมาเป็นการทั่วไป

ด้านสถานการณ์ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยตอนนี้ ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า เศรษฐกิจตอนนี้มันก็มีการฟื้นตัวของมัน อาจจะช้ากว่าที่อื่น แต่ก็เห็นภาพการฟื้นตัวที่ชัดเจน สำหรับนโยบายอยากให้กลับมาสู่สภาวะปกติ จากทั้งฝั่งการเงินและการคลังทั่วโลก ในช่วงโควิดหลายประเทศมีการเหยียบคันเร่ง อย่างที่พูดมาโดยตลอดว่า ตอนนี้เราให้ความสำคัญกับเสถียรภาพหลายมิติ และสิ่งที่กังวลเป็นพิเศษในช่วงนี้ คือ เรื่องเสถียรภาพทางด้านการคลัง เราเห็นตัวอย่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา โดน Downgrade Credit ดังนั้นเรื่องของการคลังจึงเป็นโจทย์สำคัญ ที่ทำให้เราต้องออกนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไป

ขณะที่นโยบายพักหนี้ของรัฐบาลที่จะออกมานั้น ดร.เศรษฐพุฒิ มองว่า การพักหนี้ควรเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้ได้ แต่เป็นเครื่องมือหลักหรือไม่ คำตอบ คือ ไม่ควร และไม่ได้พักในวงกว้าง เพราะผลข้างเคียงจะสูง แต่ต้องดูให้สมควร และนโยบายนี้อาจเหมาะกับคนมีศักยภาพในการชำระหนี้อยู่แล้ว แต่เจอปัญหาชั่วคราวมากกว่า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับรูปแบบที่ทางรัฐบาลจะทำ 

อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดแล้วเป็นโจทย์ของรัฐบาลที่จะต้องคำนึงถึงปัจจัยและผลกระทบในการออกนโยบาย เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพการเงินการคลัง หรือผลข้างเคียงด้านอื่น ๆ ที่อาจจะไม่พึงประสงค์

‘ธปท. - Google - TB-CERT’ จัดแคมเปญ #31Days31Tips เพิ่มทักษะดิจิทัลให้คนไทย รู้เท่าทันภัยทางออนไลน์

เมื่อวานนี้ (27 ก.ย. 66) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) Google ประเทศไทย และศูนย์ประสานงานด้านความมั่นคงปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศภาคการธนาคาร ภายใต้สมาคมธนาคารไทย (TB-CERT) ร่วมกันจัดแคมเปญ #31Days31Tips ที่จะนำเสนอคอนเทนต์ความรู้ด้านดิจิทัลและเคล็ดลับความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ในรูปแบบต่าง ๆ ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียของแต่ละองค์กรตลอดเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งเป็นเดือนแห่งการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cybersecurity Awareness Month) เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมและการแบ่งปันความรู้ความเข้าใจ ซึ่งจะช่วยให้คนไทยมีภูมิคุ้มกันทางไซเบอร์และใช้เทคโนโลยีออนไลน์ได้อย่างปลอดภัย

ปัจจุบัน กลโกงบนโลกออนไลน์ยังคงเป็นปัญหาที่คนไทยยังต้องเผชิญอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลของกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พบว่ากลโกงของมิจฉาชีพมีหลากหลายรูปแบบ และที่พบบ่อย ได้แก่ หลอกซื้อขายสินค้าหรือบริการ หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน หลอกให้กู้เงิน และหลอกให้ลงทุน เป็นต้น ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายจากการถูกหลอกลวงกว่า 9 พันล้านบาท ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา (17 มีนาคม - 25 สิงหาคม 2566) โดยความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยทำให้การเตือนภัยทางออนไลน์สามารถเข้าถึงประชาชนในวงกว้างขึ้นผ่านเนื้อหาข้อมูลที่ถูกต้อง เป็นประโยชน์และเข้าใจง่าย อยู่ในรูปแบบที่สามารถแบ่งปันผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียที่หลายหลากได้ เพื่อให้ความปลอดภัยบนโลกออนไลน์เป็นสิ่งที่ไม่ไกลตัวประชาชนอีกต่อไป 

แจ็คกี้ หวาง Country Director, Google ประเทศไทย กล่าวว่า “ในระยะเวลา 25 ปีที่ Google ได้ดำเนินธุรกิจทั่วโลก เราได้ตระหนักและให้ความสำคัญในการเสริมสร้างความปลอดภัยบนโลกออนไลน์อย่างต่อเนื่อง ในเดือนตุลาคมซึ่งเป็นเดือนแห่งการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เราจึงได้จัดแคมเปญ #31Days31Tips เพื่อให้คนไทยมีเครื่องมือและข้อมูลในการท่องโลกออนไลน์อย่างปลอดภัย รวมถึงสามารถแบ่งปันกับคนที่ห่วงใยได้ โดยแคมเปญนี้เป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นของ Google ในการทำให้อินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนผ่านกลยุทธ์ใน 3 ด้าน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ (Products) ที่มีความปลอดภัยโดยค่าเริ่มต้น พร้อมด้วยการรักษาความปลอดภัยในตัว เครื่องมือ (Tools) ที่ให้ผู้ใช้สามารถควบคุมข้อมูลส่วนตัวด้วยตนเอง เช่น การตรวจสอบความปลอดภัย (Security Checkup) ตรวจสอบความเป็นส่วนตัว (Privacy Checkup) รวมถึงเครื่องมือจัดการรหัสผ่าน (Password Manager) และโครงการ (Programs) ต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ และช่วยให้คนไทยท่องอินเทอร์เน็ตได้อย่างมั่นใจ โดยเป็นการต่อยอดจากกิจกรรม “Safer Songkran” ภายใต้โครงการ Safer with Google ที่จัดขึ้นในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ในการส่งมอบความห่วงใยและส่งเสริมความปลอดภัยทางดิจิทัลให้กับตัวเองและครอบครัว”

น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการย้ำเตือนจุดยืนว่า ธปท. ตระหนักและให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาภัยทางการเงินให้ได้ครบวงจร โดยการสื่อสารให้ความรู้และข้อมูลต่าง ๆ กับประชาชนในเชิงรุกและต่อเนื่อง จะช่วยให้ประชาชนรู้เท่าทัน สามารถป้องกันตนเอง และมีภูมิคุ้มกันจากภัยออนไลน์ ซึ่งจะสอดรับกับชุดมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงินที่ ธปท. ได้ดำเนินการแล้วตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา เช่น การขอให้ธนาคารยกเลิกแนบลิงก์ SMS และการยืนยันตัวตนขั้นต่ำด้วย biometrics รวมถึงการให้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตาม พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี”  

ด้าน ดร.กิตติ โฆษะวิสุทธิ์ ประธานกรรมการ TB-CERT กล่าวว่า “วิถีชีวิตปัจจุบันในยุคดิจิทัล มีการใช้เทคโนโลยีในทุกช่วงเวลาไม่ว่าจะเพื่อการสื่อสาร ความบันเทิง สุขภาพ รวมถึงการทำงาน ซึ่งทำให้เกิดความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิตประจำวัน อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของผู้ใช้งาน แต่สิ่งสำคัญที่ต้องมีควบคู่กันคือ การยกระดับความตระหนักรู้ให้เท่าทันภัยคุกคามทางไซเบอร์ ซึ่งศูนย์ประสานงานด้านความมั่นคงปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศภาคการธนาคารภายใต้สมาคมธนาคารไทยได้ให้ความสำคัญ โดยร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการจัดการภัยทางไซเบอร์ รวมทั้งสื่อสารให้ความรู้ที่เกี่ยวข้องอยู่เป็นประจำซึ่งถือเป็นหนึ่งในมาตรการหลักเพื่อสังคมไทย ความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะเสริมภูมิคุ้มกันให้สังคมไทยมีความแข็งแกร่งต่อการหลอกลวงในรูปแบบต่าง ๆ และภัยไซเบอร์ที่มีความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเช่นกัน”

ทั้งนี้ แคมเปญ #31Days31Tips ตลอดเดือนตุลาคมนี้ จะนำเสนอเคล็ดลับและเครื่องมือที่เสริมความปลอดภัยออนไลน์ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียของ ธปท. Google และ TB-CERT โดยเนื้อหาจะประกอบด้วย 4 หมวดหมู่ ได้แก่ การรักษาความปลอดภัยของบัญชีออนไลน์ การป้องกันตัวเองจากสแกม การตรวจเช็กข่าวปลอมหรือข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง และการปกป้องความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์ เพื่อเสริมทักษะดิจิทัลให้คนไทยรู้เท่าทันกลลวงออนไลน์รอบด้าน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top