Monday, 13 May 2024
ธนาคารแห่งประเทศไทย

'สันติธาร เสถียรไทย' ผงาดนั่ง 'บอร์ด กนง.' อายุน้อยที่สุด ดีกรีนักพยากรณ์เศรษฐกิจยอดเยี่ยมระดับโลก 3 ปีซ้อน

(4 ต.ค. 66)​​​​​​ นางสาวดวงพร รอดเพ็งสังคหะ เลขานุการคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566 ที่ประชุมได้คัดเลือกและแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แทนกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระ โดยกรรมการใหม่จะมีวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ดังนี้

1.นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน
2.นายรพี สุจริตกุล
3.นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส
4.นายสันติธาร เสถียรไทย

สำหรับนายสันติธาร เสถียรไทย ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาบริษัท Sea Group ซึ่งเป็นเจ้าของ Garena, Shopee และ AirPay และเป็นบริษัทเทคโนโลยี “ยูนิคอร์น”ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน

นายสันติธารเคยเป็นผู้บริหารสูงสุดของทีมเศรษฐกิจเอเชียที่ธนาคาร Credit Suiss มีหน้าที่วิเคราะห์พยากรณ์เศรษฐกิจและให้คำแนะนำการลงทุนใน10 เศรษฐกิจในเอเชีย เป็นนักเศรษฐศาสตร์ผู้เดียวในเอเชียที่ชนะรางวัลพยากรณ์เศรษฐกิจยอดเยี่ยมระดับโลกของ Consensus Economics ติดกันสามปีซ้อน

เคยได้รับการโหวตเป็นนักเศรษฐศาสตร์มหภาคอันดับ 1 ของประเทศไทยโดย Asia Money และเป็นคนเดียวจากอาเซียนที่ได้เชิญจาก World Economic Forum ให้เป็นสมาชิกกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำที่มาช่วยคิดออกแบบอนาคตเศรษฐกิจโลกหลังโควิด-19 (Global Chief Economist Community) รวมทั้งยังเคยทำงานที่กระทรวงการคลังในประเทศไทย และ Government of Singapore Investment Corporation

นายสันติธาร จบปริญญาเอกด้านนโยบายเศรษฐกิจจาก มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ด้วยทุนการศึกษาของมหาวิทยาลัย จบปริญญาโทด้านรัฐประศาสนศาสตร์ด้านการพัฒนาระหว่างประเทศจากที่เดียวกันพร้อมรางวัลวิทยานิพนธ์ยอดเยี่ยม และจบปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์และโทจากมหาวิทยาลัย London School of Economics and Political Sciences (LSE)

'ชัวร์ก่อนแชร์' เผย!! ความจริงเรื่องธนบัตรกับการตั้งองค์กฐิน ควร 'งด-พับ-เจาะ-เย็บ' เลี่ยงเสื่อมสภาพเร็วกว่าที่ควร

เมื่อไม่นานมานี้ จากกรณีที่มีการแชร์เกี่ยวกับตั้งองค์กฐิน ว่าควรงด พับ เจาะ เย็บ ธนบัตร นั้น

บทสรุป : เป็นข้อมูลจริง !!

อย่างไรก็ตาม ควรแชร์คำแนะนำจากธนาคารแห่งประเทศไทยโดยตรง

ทั้งนี้ ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ ตรวจสอบพบว่า เนื้อหาตามที่แชร์นี้ ในส่วนที่เป็นคำแนะนำการงดพับธนบัตร หรือการใช้ลวดเย็บกระดาษนั้น สอดคล้องกับแนวทางเกี่ยวกับการจัดการธนบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทย ในเรื่องการใช้งานธนบัตรอย่างถูกวิธี ที่ระบุว่า

"การใช้ธนบัตรอย่างถูกวิธี - แม้ธนบัตรจะผลิตจากกระดาษชนิดพิเศษที่ทนทานต่อการใช้งาน แต่ความเคยชินในการใช้ธนบัตรที่ไม่เหมาะสมของประชาชน เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้ธนบัตรเสื่อมสภาพเร็วกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้น เพื่อถนอมรักษาและยืดอายุการใช้งานธนบัตรให้ยาวนานขึ้น จึงขอความร่วมมือใช้ธนบัตรกันอย่างถูกวิธี"

ธนาคารแห่งประเทศไทย แนะนำให้หลีกเลี่ยงการนำธนบัตรไปพับประดิษฐ์ต่างๆ การขีดเขียน การพับหรือกรีดเป็นรอย การประทับตรา การขยำธนบัตร และ การเย็บด้วยลวดเย็บกระดาษ

‘แบงก์ชาติ’ ชี้!! ‘เศรษฐกิจโลก’ ยังมีความเสี่ยงสูง แนะคลังสร้างกันชนรับมือ หลังหนี้สาธารณะ-ครัวเรือนพุ่ง

(30 ต.ค. 66) นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2567 มีความเสี่ยงต่อการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ระบุว่า จะเป็นการฟื้นตัวช้าและไม่ทั่วถึง ในระยะปานกลางขยายตัวได้ในระดับ 3% เป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 30 ปี เป็นระดับที่ไม่สวยหรูนัก

ทั้งนี้ ปัจจัยหลักมาจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัว รวมทั้งความเสี่ยงใหม่ เช่น ห่วงโซ่อุปทาน ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ที่ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงาน จึงเป็นความเสี่ยงที่ประเมินผลต่อเศรษฐกิจที่มีความยากกว่าในอดีต เพราะมองผลข้างเคียงไม่ออก และคาดเดาไม่ได้

ดังนั้น ในเวทีโลกจึงห่วงเรื่องเสถียรภาพของเศรษฐกิจในแต่ละประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะไอเอ็มเอฟ ที่แนะนำว่าแต่ละประเทศ ควรมุ่งเน้นทำนโยบาย ดูแลอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบ เพราะผลจากสงคราม อาจทำให้เกิด Inflation Shock ที่เคยดูแลเงินเฟ้อ ก็อาจจะกลับพุ่งขึ้นมาอีก รวมทั้งสร้างกันชนทางภาคการคลัง จากช่วงที่ผ่านมาในแต่ละประเทศมีการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคการคลังกันมาก จึงควรมุ่งเน้นลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ เร่งปรับหนี้สาธารณะให้ลดลง เพื่อเตรียมรับมือ shock ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต พร้อมกับดูแลเสถียรภาพด้านการเงินไปด้วย และมุ่งแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างระยะยาว เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล และ ธุรกิจสีเขียว

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ในส่วนของไทย แม้เสถียรภาพโดยรวมจะโอเค แต่ก็ชะล่าใจไม่ได้ เพราะมีบางประเด็นที่โอเค และบางเรื่องที่โอเคน้อยหน่อย เช่น เสถียรภาพต่างประเทศอยู่ในระดับดี ทั้งดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล หนี้ต่างประเทศไม่สูง ทุนสำรองระหว่างประเทศสูง ฐานะธนาคารพาณิชย์แข็งแกร่ง ส่วนที่ต้องระมัดระวัง คือ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงถึง 90.7% ต่อจีดีพี แม้จะลดจากช่วงที่สูงที่สุดคือ 94% แต่ก็ยังสูง และอยากให้กลับลดลงมาอยู่ในระดับเกณฑ์ที่สากล 80% รวมทั้งหนี้สาธารณะในระดับ 61.7% ต่อจีดีพี ที่ถือว่าสูง

ขณะที่เสถียรภาพตลาดทุนที่ผ่านมามีเงินทุนไหลออกตั้งแต่ต้นปี -8.4% หรือมีเงินทุนไหลออกกว่า 8.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ผ่านตลาดหุ้นและพันธบัตร สวนทางกับประเทศอื่น สูงสุดในรอบ 10 ปี และสูงเป็นที่ 2 รองจากที่เคยไหลออกสูงสุด 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนก็มีความผันผวน 8-9% สูงกว่าอดีตและประเทศเพื่อนบ้าน เป็นรองแค่ประเทศเกาหลีใต้ที่ผันผวน 12%

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวอีกว่า มีความเสี่ยงที่ Credit Rating Agency’s จี้จุดประเทศไทย มีโอกาสปรับมุมมองจากเสถียรภาพ เป็นมุมมองเชิงลบ (Negative) หากนโยบายภาคการคลังมีความเสื่อม ดังนั้นควรมุ่งลดรายจ่าย ทยอยปรับลดการขาดดุล ปรับลดหนี้สาธารณะ มีมาตรการเพิ่มรายได้ ซึ่งล่าสุดมีบางบริษัทให้ความกังวลภาระหนี้ต่องบประมาณ ไม่เกิน 12% ซึ่งปัจจุบันไทยอยู่ในระดับ 10% กว่า

“หนี้สาธารณะยอมรับว่าวิ่งไปเยอะจากช่วงก่อนโควิดในระดับ 40% ต่อจีดีพี ทุกประเทศก็มุ่งดูเรื่องเสถียรภาพ จะบอกว่าเราไม่แคร์เลยก็คงไม่เหมาะ หากมองว่าความเสี่ยงเยอะ ก็ควรต้องเก็บลูกกระสุนไว้หรือเปล่า ซึ่งพื้นที่ในการทำนโยบาย (Policy Space) เราจะไม่เห็นความสำคัญของมัน จนกว่าจะหมด หรือมันไม่มี” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

'แบงก์ชาติฯ' ออกเกณฑ์เข้ม!! ห้ามแอปฯ ธนาคารล่ม หากล่ม!! ต้องไม่เกิน 8 ชม.ต่อปี ปรับสูงสุดครั้งละ 5 แสน

(31 ต.ค.66) นายภิญโญ ตรีเพชราภรณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและตรวจสอบความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภายในเดือนพ.ย.นี้ ธปท.จะมีการออกแก้ไขประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์การกำกับดูแลความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของสถาบันการเงินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยได้ระบุถึงบทลงโทษหากระบบขัดข้องนานเกินที่กำหนด ซึ่งได้กำหนดว่าระบบโมบายแบงก์กิ้งของธนาคารจะขัดข้อง หรือล่มได้ไม่เกิน 8 ชั่วโมงภายใน 1 ปี คือการล่มต้องหยุดชะงัก

“ถ้าหากล่มนานเกิน 8 ชั่วโมงต่อปี จะมีบทลงโทษตามระดับความรุนแรงเริ่มจากตักเตือน สั่งให้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไข จนโทษสูงสุดคือโทษปรับสูงสุด 500,000 บาทต่อครั้ง และหากไม่ดำเนินการแก้ไขจะปรับเพิ่ม 5,000 บาทต่อวัน”

นายภิญโญ กล่าวต่อว่า สถิติระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของธนาคารพาณิชย์ขัดข้อง เมื่อตรวจดูจากข้อมูลพบว่าธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งมีอัตราการขัดข้อง หรือระบบโมบายแบงก์ล่มลดน้อยลงเป็นจำนวนมาก ซึ่งเชื่อว่าการปรับปรุงประกาศการกำกับความเสี่ยงด้านไอทีนั้น จะช่วยให้ธนาคารเร่งพัฒนาระบบและการขัดข้องของโมบายแบงก์กิ้งลดน้อยลงกว่าเดิม

นายภิญโญ กล่าวอีกว่า สำหรับสถิติเทคโนโลยีสารสนเทศของธนาคารพาณิชย์ขัดข้อง ข้อมูลไตรมาส 3/2566 ที่เพิ่งออกมาล่าสุด หากดูโมบายแบงก์กิ้งขัดข้องรวมกันมี 4 ครั้ง ระยะเวลารวม 4 ชั่วโมง น้อยกว่าไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไตรมาสก่อนหน้าที่มีการขัดข้องของโมบายแบงก์กิ้ง 6 ครั้ง รวมกันนานถึง 11 ชั่วโมง โดยไตรมาส 3 มีธนาคารโมบายแบงก์กิ้งขัดข้อง ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ 2 ครั้งนาน 1 ชั่วโมง ธนาคารทหารไทยธนชาต 1 ครั้ง นาน 1 ชั่วโมง และธนาคารกรุงเทพ 1 ครั้งนานน้อยกว่า 1 ชั่วโมง

นายภิญโญ กล่าวต่อว่า เมื่อเทียบไตรมาส 2 ก่อนหน้านั้น มีระบบโมบายแบงก์กิ้งธนาคารพาณิชย์ขัดข้อง รวมกัน 5 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ขัดข้อง 2 ครั้ง แต่ล่มนานถึง 5 ชั่วโมง, ธนาคารกรุงไทย 1 ครั้ง นาน 1 ชั่วโมง, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา 1 ครั้ง ล่มนาน 2 ชั่วโมง, ธนาคารกสิกรไทย 1 ครั้ง ล่มนาน 2 ชั่วโมง และธนาคารทหารไทยธนชาต ล่ม 1 ครั้ง นานน้อยกว่า 1 ชั่วโมง

ส่วนระบบธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ในไตรมาส 3 ปี 66 มีเพียงสาขาของธนาคารเกียรตินาคินภัทรเท่านั้นที่ขัดข้อง 1 ครั้งนาน 2 ชั่วโมง นอกเหนือจากนั้นทั้งอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้งและตู้เอทีเอ็มไม่มีการขัดข้องเลยแม้แต่ครั้งเดียว

'อ.พงษ์ภาณุ' ซัด!! ไทยเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเงินฝืด  หลังแบงก์ชาติดำเนินนโยบายพลาดเป้า

(30 พ.ย. 66) อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ให้มุมมองต่อภาวะความเสี่ยงเงินฝืดของประเทศไทย ตอนจบ ไว้ว่า…

ธนาคารแห่งประเทศไทยตัดสินใจหยุดขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เมื่อ 29 พฤศจิกายน น่าจะถือเป็นการยอมรับความผิดพลาดทางนโยบาย (Policy Blunder) ที่เกิดจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยแบบไม่ลืมหูลืมตาภายหลังการเลือกตั้ง แม้ว่าจะไม่ยอมรับความผิดอย่างสง่าผ่าเผยแบบลูกผู้ชาย แต่กลับโยนความผิดให้รัฐบาลหรือฝ่ายการเมือง ซึ่งสังเกตได้จากแถลงการณ์ที่ออกมาหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่มีการอ้างถึงการไม่มี Digital Wallet เป็นเหตุให้เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้

การเร่งขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องในการประชุม กนง. 2-3 ครั้งที่ผ่านมาได้สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงแก่ประเทศไทย เครื่องชี้ทางเศรษฐกิจหลายตัวได้บ่งบอกมาระยะหนึ่งแล้วว่าเศรษฐกิจไทยกำลังดิ่งลงเหวอย่างรวดเร็ว และมีโอกาสเข้าสู่ภาวะเงินฝืดค่อนข้างสูง ซึ่งก็ได้รับการยืนยันจากตัวเลขจริงที่มีการทยอยประกาศออกมา อัตราเงินเฟ้อลดลงอย่างแรงและต่อเนื่องจนถึงระดับติดลบในเดือนตุลาคม และน่าจะติดลบต่อเนื่องในเดือนพฤศจิกายนด้วยเมื่อมีการประกาศออกมาในอีกไม่กี่วันข้างหน้า สภาพัฒน์ฯ ประกาศ GDP ไตรมาส 3 มีอัตราเติบโตเพียง 1.5% ทั้งๆ ที่การส่งออกและการท่องเที่ยวเริ่มกลับมา 

ทั้งนี้เพราะอุปสงค์ในประเทศเหือดหาย และถูกกดโดยนโยบายการเงิน ซึ่งยืนยันจากปริมาณสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่มีอัตราเติบโตติดลบต่อเนื่องมาตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา สิ่งต่างๆ เหล่านี้ดูเหมือนตรงกันข้ามกับข้ออ้างของธนาคารแห่งประเทศไทยและนักวิชาการ รวมทั้งอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยหลายคน ว่าเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวและไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตลอดจนต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย

ความเป็นอิสระของธนาคารกลางต้องมีควบคู่กับความรับผิดชอบต่อสังคมและกรอบนโยบาย เมื่อมีการดำเนินนโยบายผิดพลาดจากเป้าหมายอย่างมากมายจนเกิดความเสียหายในวงกว้าง น่าจะถึงเวลาที่ต้องมีคนรับผิดชอบแล้ว ถ้าเป็นธนาคารกลางอื่นผู้ว่าการฯ คงจะลาออกไปนานแล้วครับ

‘อ.พงษ์ภาณุ’ ชี้!! ฤๅไทยจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดจริงๆ แล้วเรื่องนี้ ‘แบงก์ชาติ’ จะมี ‘คำอธิบาย-แก้ตัว’ ใด?

(9 ธ.ค.66) ทีมข่าว THE STATES TIMES  ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ในประเด็น 'ฤๅไทยจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด (Deflaion) จริงๆ' โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

อาจจะยังเร็วเกินไปที่จะกล่าวว่าประเทศไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืดแล้ว แต่ดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index-CPI) ของเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศเมื่อ 7 ธันวาคม ได้ติดลบ 0.44% แบบ Year on Year ซึ่งถือเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และเมื่อประกอบกับการดำเนินนโยบายการเงินที่ผิดพลาด (Policy Blunder) ของธนาคารแห่งประเทศไทย น่าจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงเป็นอย่างมากให้กับประเทศที่จะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด

หลายท่านอาจจะคิดว่าระดับราคาสินค้าและบริการลดลงเป็นผลดีต่อประชาชน แต่ในทางเศรษฐศาสตร์การเงินแล้ว ถือว่าเป็นสิ่งที่น่ากลัวกว่าภาวะเงินเฟ้อเสียอีก ระดับราคาที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจะทำให้ครัวเรือนและธุรกิจชะลอการจับจ่ายใช้สอยเนื่องด้วยคาดการณ์ว่าราคาจะลดลงต่อไปเรื่อยๆ ภาระหนี้ (Debt Burden) จะสูงขึ้น เพราะมูลหนี้ที่แท้จริงรวมทั้งอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Interest Rate) สูงขึ้น และอาจนำไปสู่วิกฤตหนี้ได้ ขณะนี้หนี้ของประเทศ โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนและหนี้สาธารณะ อยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ และอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยก็อาจถือว่าอยู่ในระดับที่สูงที่สุดในโลก

ภาวะเงินฝืดไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วแก้ไขได้ยากกว่าเงินเฟ้อ อย่างประเทศญี่ปุ่น ตอนเข้าสู่ภาวะเงินฝืดราวปี 1990 หลังฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์และตลาดหุ้นแตก ต้องใช้เวลาแก้ไขนานกว่า 25 ปีจึงเริ่มที่จะเห็นสัญญาณหลุดพ้นในปัจจุบัน ด้วยการดำเนินนโยบายการเงินที่ตรึงดอกเบี้ยไว้ต่ำ ไม่ขึ้นตามธนาคารกลางอื่น และปล่อยให้ค่าเงินเยนอ่อนลงอย่างมาก 

ประเทศสหรัฐฯ และยุโรป ก็เคยประสบปัญหาเงินฝืดจนต้องลดดอกเบี้ยลงใกล้ศูนย์ เท่านั้นยังไม่พอต้องใช้มาตรการ Quantitative Easing (QE) พิมพ์เงินอัดฉีดเข้าระบบ จีนก็ได้เข้าสู่ภาวะเงินฝืดมาสักระยะแล้วหลังจากฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์แตกและมีบริษัทขนาดใหญ่ล้มละลายไปหลายบริษัท

ผมได้เคยเตือนมาเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้วว่า ประเทศไทยอาจเดินตามจีนเข้าสู่ Deflation แต่กลับตกใจที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ดำเนินนโยบายการเงินที่ผิดพลาดมาโดยตลอด ตั้งแต่ปีที่แล้วที่ Delay การขึ้นดอกเบี้ยด้วยความเกรงใจรัฐบาลก่อนที่แต่งตั้งผู้ว่าการฯ เข้ามา จนทำให้ประเทศไทยมีเงินเฟ้อสูงที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง และหลุดกรอบ Inflation Targeting ไปกว่าเท่าตัว 

แต่พอมาปีนี้กลับมาเร่งขึ้นดอกเบี้ยหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพฤษภาคม แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดต่ำลงแรงจนหลุดกรอบล่างของเป้าหมายเงินเฟ้อเป็นเวลา 6 เดือนติดต่อกัน โดยเฉพาะการประชุม กนง. 2-3 ครั้งที่ผ่านมา การหยุดขึ้นดอกเบี้ยครั้งหลังดูเหมือนจะเป็นการยอมรับความผิดพลาด แต่ก็ไม่วายโทษรัฐบาลว่า ความไม่แน่นอนของมาตรการ Digital Wallet ทำให้การคาดการณ์เศรษฐกิจต่ำกว่าเป้าเป็นอย่างมาก 

การที่ CPI ติดลบ 2 เดือนติดต่อกันครั้งนี้ ก็เชื่อว่าคงจะไม่ยอมรับผิด แล้วก็คงจะโทษคนอื่นตามฟอร์ม ว่ามีการออกมาตรการบรรเทาค่าครองชีพให้ประชาชน

อยากขอให้สำนึกว่าหน้าที่หลักของธนาคารกลางคือการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน ความเป็นอิสระของธนาคารกลางมาพร้อมกับความรับผิดชอบ (Accountability) ต่อเป้าหมาย

ปราชญ์ เทวานฤมิตรกุล เด็กเก่งแห่งปี

‘น้องไอซ์-ปราชญ์ เทวานฤมิตรกุล’ เด็กไทยผู้เพียรพยายาม ที่ฝันอยากจะเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย จนสามารถสอบชิงทุนไปศึกษาต่อที่สหรัฐฯ ได้สำเร็จ และขอกลับมาทำงานที่บ้านเกิด หลังเรียนจบ…

‘น้องไอซ์-ปราชญ์’ จบระดับประถมศึกษาจากโรงเรียนวัดดอนทอง จังหวัดฉะเชิงเทรา แล้วสอบเข้าโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน ในระดับมัธยมต้น จากนั้นเข้าศึกษาระดับมัธยมปลายโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ในแผนการเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ โดยอยู่ในห้องของเด็กโครงการความสามารถพิเศษทางคณิตศาสตร์ หรือ ‘Gifted Math’ และเมื่อเรียนจบ ก็ได้สอบชิงทุนและได้รับทุนจาก ‘ธนาคารแห่งประเทศไทย’ ไปศึกษาต่อสาขาเศรษฐศาสตร์ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา

นอกจากนี้ น้องไอซ์ ยังถือเป็นเด็กสายแข่งขันที่กวาดรางวัลมามากมาย เช่น ช่วงมัธยมต้นแข่งคณิตศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ ได้รางวัลเหรียญทอง ช่วงมัธยมปลายแข่งภูมิศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ ได้รางวัลเหรียญทอง และเป็นผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิก อีกทั้งยังเคยแข่งขันแต่งบทร้อยกรอง ทั้งในระดับโรงเรียนและระดับประเทศ 

จากนั้นก็มุ่งมั่นสอบชิงทุน เนื่องจากมีเป้าหมายไปเรียนต่อระดับปริญญาตรีที่ต่างประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายตัวเอง และอยากเห็นโลกกว้างมากขึ้น เพื่อตามฝันของตัวเองตอนเด็ก ๆ ที่อยากเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เนื่องจากเท่ดี เพราะจะมีลายเซ็นตัวเองอยู่บนธนบัตร โดยเจ้าตัวมักบอกเสมอว่า “ถ้ากล้าฝันก็ต้องพยายามไปให้ถึง” ซึ่งเขาเริ่มเข้าใกล้ความฝันแล้ว

ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ ทำให้น้องไอซ์ได้รับทุนจาก ‘ธนาคารแห่งประเทศไทย’ ไปศึกษาต่อที่ Northwestern University ประเทศสหรัฐอเมริกา ระดับปริญญาตรี ด้านสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ โดยขณะนี้กำลังขึ้นชั้นปี 2 ภายใต้รูปแบบการเรียนที่เจ้าตัวบอกว่า “จะไม่พยายามกดดันตัวเอง ถึงแม้เวลากดดันตัวเองแล้วคะแนนจะดีขึ้นก็ตาม”

โดยตัวแปรสำคัญที่ส่งเสริมน้องไอซ์ให้มาถึงจุดนี้ได้ คือ ครอบครัว ซึ่งมีส่วนผลักดันเป็นอย่างมาก รวมถึง อาจารย์ และเพื่อน ๆ ฉะนั้น เมื่อเรียนจบ น้องไอซ์จึงตั้งใจว่าจะนำความรู้มาพัฒนาประเทศไทย ซึ่งพร้อมกลับมาทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมองว่า เรียนรู้อะไรมาก็จะใช้ความรู้ที่เรียนมานั้น มาทำงานจริง ๆ โดยเฉพาะในด้านเศรษฐศาสตร์ ซึ่งตอนนี้มี Project ที่น่าสนใจมากมาย เช่น รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) จากการนำเข้าส่งออก เพื่อส่งเสริมให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางของการประกอบรถยนต์ไฟฟ้า หรือกลายเป็นผู้ผลิตเองทั้งหมด หรือการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นมาโดยตลอด เป็นต้น

นอกจากนี้ น้องไอซ์ยังได้ให้แง่คิดเกี่ยวกับการเรียนด้วยว่า “การเรียนหรือการพัฒนาตัวเองนั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก ไม่ว่าจะเรียนโรงเรียนวัดหรือโรงเรียนอะไรก็ตาม จริง ๆ แล้วอยู่ที่ตัวเราเอง ถ้าเรามองว่าเราทำไม่ได้ ถึงแม้สังคมรอบข้างบอกว่าเราทำได้ เราก็จะทำไม่ได้อยู่ดี สุดท้ายแล้วไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน ถ้าเรามีความมั่นใจในตัวเอง และตั้งใจทำมันจริง ๆ ผมก็เชื่อว่าทุกคนจะประสบความสำเร็จได้ครับ”

THE STATES TIMES ไม่อาจกล้าหยิบยกคำใดมาเชิดชู แค่อยากให้รู้ว่า “เราภูมิใจในตัวคุณ”

'อ.พงษ์ภาณุ' กระตุก 'แบงก์ชาติ' ถึงเวลาลดดอกเบี้ย เตือน!! หยุดดื้อรั้น ก่อนพาเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ความเสี่ยง

(7 ม.ค. 67) อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ได้กล่าวถึงประเด็นดอกเบี้ยในเมืองไทยที่ควรถึงเวลาลดลงได้แล้ว ว่า...

ธนาคารกลางเป็นสถาบันที่มีความสำคัญที่สุดสถาบันหนึ่ง ทุกคนเห็นตรงกันว่าธนาคารกลางควรจะเป็นอิสระจากฝ่ายการเมืองในการดำเนินนโยบายการเงิน หากธนาคารกลางมีการบริหารจัดการอย่างมืออาชีพ

วันนี้ น่าจะต้องทบทวนความคิดดังกล่าวแล้ว เพราะช่วงเวลาเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย ดำเนินนโยบายการเงินผิดพลาดมาโดยตลอด ก่อให้เกิดวงจรอุบาทว์ในลักษณะวัฏจักรธุรกิจการเมือง (Political Business Cycle) 

เริ่มตั้งแต่วงจรดอกเบี้ยขาขึ้นของโลกรอบที่แล้ว ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 ที่ FED ปรับดอกเบี้ยขึ้นจากระดับเกือบศูนย์มาเป็น 5.5% แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยกลับรีรอไม่ยอมปรับดอกเบี้ยในประเทศ ด้วยความเกรงใจรัฐบาลที่แล้ว จนเงินเฟ้อของไทยพุ่งสูงขึ้นเป็นกว่า 6% ในปี 2565 ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก พอการเลือกตั้งทั่วไปเสร็จสิ้นและมีการตั้งรัฐบาลใหม่ ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงมาเร่งขึ้นดอกเบี้ย ทั้งๆ ที่อัตราเงินเฟ้อติดลบและหลุดกรอบล่างของ Inflation Targeting ไปเสียแล้ว ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนธันวาคม 2566 ก็น่าจะติดลบเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน เป็นการสร้างความผันผวนทางการเงินและต้นทุนทางเศรษฐกิจแก่ประเทศอย่างไม่จำเป็น

ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 2.5% เงินเฟ้อติดลบส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Interest) ของไทยสูงเป็นประวัติการณ์และสูงกว่าประเทศอื่นๆ เงินบาทเริ่มแข็งค่าขึ้น ระบบธนาคารในประเทศตึงตัวและสินเชื่อหดตัวมาระยะหนึ่งแล้ว ขณะที่ธนาคารกลางหลายประเทศเริ่มส่งสัญญาณลดดอกเบี้ย ประกอบกับดอกเบี้ยตลาดพันธบัตรก็ปรับตัวลดลง 

ภายใต้ภาวะเช่นนี้ไม่มีเหตุผลใดๆ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะดึงดันคงดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง เพราะจะเป็นการสร้างความเสี่ยงที่ไม่จำเป็นแก่เศรษฐกิจไทย และนโยบายของรัฐบาลที่กำลังประคับประคองให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว ขอชื่นชมท่านนายกรัฐมนตรีที่ออกมาเตือนแบงก์ชาติให้พิจารณาความเสี่ยงต่างๆ อย่างรอบคอบ ได้แก่ ปัญหาหนี้ครัวเรือน, การชะลอตัวของเศรษฐกิจการค้าโลก รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ธปท. อย่ามัวแต่ไปด่าคนอื่น เอาเรื่องเงินเฟ้อเงินฝืดของตัวเองให้รอดเสียก่อน แล้วก็หยุดดื้อรั้นเถิดครับ หันกลับมาทำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชนอย่างมืออาชีพ ก่อนที่ประชาชนจะทวงคืนความเป็นอิสระของท่าน

‘นายกฯ เศรษฐา’ ย้ำ!! ไม่เห็นด้วย ‘แบงก์ชาติ’ ขึ้นดอกเบี้ย เหตุสวนทางเงินเฟ้อ - ห่วงกระทบราคาพืชผลการเกษตร

(8 ม.ค.67) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ออกมาติงหลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่สถานการณ์เงินเฟ้อในประเทศไทยติดลบติดต่อกันหลายเดือน และหลังจากนี้จะไปพูดคุยอย่างไรบ้าง ว่า ความจริงแล้วเราก็พูดคุยกันตลอดอยู่แล้วในเรื่องนี้ และเรื่องการขึ้นอัตราดอกเบี้ย จุดยืนของตนก็ชัดเจนว่า ‘ผมไม่เห็นด้วย’ แต่ท่าน (แบงก์ชาติ) ก็มีอำนาจในการขึ้น ซึ่งนัยที่ตนได้โพสต์ข้อความไปเมื่อคืนนี้ มันเกี่ยวกับเรื่องสินค้าการเกษตร พืชผลต่างๆ ที่ตนอยากให้กระทรวงพาณิชย์ดูแลไม่ให้ต่ำลงไป เพราะถ้าต่ำเกินไปก็จะลำบาก

เมื่อถามถึงการขึ้นดอกเบี้ยอยู่ในสถานการณ์เงินเฟ้อที่ต่ำมาก นายกรัฐมนตรีมีความกังวลอย่างไรบ้าง นายเศรษฐา กล่าวว่า "บอกว่าต่ำมากครับ ดังนั้นอาจจะต้องพิจารณาเรื่องการลดดอกเบี้ย ตนก็ฝากไว้" เมื่อถามว่า หลังจากนี้จะไปคุยกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า "มีอยู่แล้วครับ”

กมธ.งบ 67 เดือด!! ที่ประชุมรุมฉะแบงก์ชาติ โวย 'ผู้ว่า ธปท.' ไม่มาชี้แจงเอง หลังติดภารกิจด่วน

(10 ม.ค. 67) ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ครั้งที่ 2 มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานกมธ. เป็นประธานในที่ประชุม ซึ่งได้พิจารณาภาพรวมเศรษฐกิจ

โดยเชิญผู้แทนจากกระทรวงการคลัง สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงบประมาณ มาให้ข้อมูล

ในช่วงแรกของการประชุม กมธ. จากพรรคเพื่อไทย ได้แก่ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล สส.แพร่ และนายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ อดีตสส.เชียงราย แสดงความไม่พอใจ ต่อผู้แทน ธปท. หลังจากนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าฯ ธปท. ไม่มาชี้แจงด้วยตัวเอง ทั้งที่การประชุมกมธ.ในวาระนี้ ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่งผู้แทนของ ธปท. ยืนยันว่านายเศรษฐพุฒิ มีภารกิจเร่งด่วน แต่ยืนยันว่าตนได้รับมอบหมาย จากผู้ว่าฯ ธปท. ให้มาชี้แจงต่อ กมธ. อย่างเป็นทางการ

จากนั้น กมธ.ในสัดส่วนพรรคเพื่อไทย หลายคนได้ท้วงติงการทำงานของ ธปท.หลายเรื่อง โดยเฉพาะการปล่อยให้เกิดช่องว่างระหว่างดอกเบี้ยเงินกู้กับดอกเบี้ยเงินฝาก ห่างกันมาก จนสร้างภาระให้กับประชาชนที่เป็นหนี้จำนวนมาก ซึ่งต้องประสบปัญหามาตั้งแต่การระบาดของโควิด-19

ดังนั้น แม้ ธปท. จะมีหน้าที่ดูแลธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้สถานะของธนาคารมีความมั่นคง เพื่อไม่ให้กระทบต่อการเงินของประเทศ แต่อีกด้านหนึ่งควรพิจารณาถึงความเดือดร้อนของประชาชนด้วย หลังจากธนาคารพาณิชย์ ทำกำไรได้มากถึง 2 แสนล้านบาท

ขณะที่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้สอบถามผู้แทน ทั้ง 4 หน่วยงาน ถ้าจะนิยามความหมายของคำว่า วิกฤตเศรษฐกิจ จะต้องนิยามว่าอย่างไร และจะต้องมีปัจจัยอะไรบ้างที่แสดงให้เห็นถึงความเป็น วิกฤตเศรษฐกิจ

ด้านผู้แทน ธปท. ยืนยันว่า ธปท.โดยเฉพาะคณะกรรมการนโยบายทางการเงิน (กนง.) เล็งเห็นถึงความเดือดร้อนของประชาชน จากการปรับตัวที่สูงขึ้นของดอกเบี้ย กนง. จึงมีมาตรการไปยังธนาคารเอกชน ให้ลงไปดูแลลูกหนี้ เพื่อให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ ทั้งก่อนและหลังเป็นลูกหนี้เอ็นพีแอล นอกจากนี้การปรับดอกเบี้ย นโยบายในปัจจุบัน กนง.มองว่ามีความเหมาะสม กับศักยภาพเศรษฐกิจของประเทศ และสอดคล้องกับการเจริญเติบโตเศรษฐกิจ

ตัวแทน ธปท. กล่าวว่า ส่วนการนิยามคำว่า วิกฤตเศรษฐกิจ จะต้องพิจารณาข้อมูลรอบด้าน และหลายปัจจัยที่เกิดขึ้น เช่น สถาบันการเงินที่มีหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้จำนวนมาก จนกระทบต่อสถานะธนาคาร การเกิดภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วและเป็นเวลานาน หรือการเกิดวิกฤตจากสถานการณ์ไม่คาดคิด เช่น โควิด-19 พอจะเห็นได้ว่าเป็นตัวอย่างของคำว่า ‘วิกฤตเศรษฐกิจ’ หรือแม้แต่ปัญหาอุทกภัยที่เคยทำให้การเจริญเติบโตเศรษฐกิจของประเทศติดลบ จนต้องออก พ.ร.ก. ในช่วงเวลาขณะนั้น


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top