Monday, 29 April 2024
ท่องเที่ยวไทย

วันนี้วันแรก!! รัฐบาลเริ่มใช้มาตรการ ‘วีซ่าฟรี’  อ้าแขนต้อนรับ นทท.จีน-คาซัคฯ กระตุ้นการท่องเที่ยว

วันนี้ (25 ก.ย. 66) จะเป็นวันแรกที่รัฐบาลได้ยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยว (วีซ่าฟรี) ให้แก่นักท่องเที่ยวจีน และนักท่องเที่ยวคาซัคสถาน ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2566 ถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นกรณีพิเศษ และเป็นการชั่วคราว เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว

เมื่อเวลา 10.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะผู้บริหารจากหน่วยงานต่าง ๆ จะเดินทางมายังสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวและมอบของที่ระลึกแก่นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาโดยสายการบิน Thai Air Asia X (ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์) เที่ยวบิน XJ 761 เส้นทางเซี่ยงไฮ้-สุวรรณภูมิ ณ บริเวณประตูเทียบเครื่องบิน D4

ทั้งนี้เที่ยวบินที่ XJ761 วันที่ 25 กันยายน 2565 มีจำนวนผู้โดยสารทั้งหมด  341 คน โดยเป็นผู้โดยสารชาวจีน คิดเป็น 90 % และชาวต่างชาติ คิดเป็น 10 % โดยแบ่งเป็นนักท่องเที่ยวเดินทางด้วยตัวเอง หรือ FIT 80% และ 20%

อย่างไรก็ตามมาตรการยกเว้นการตรวจลงตรา (VISA Exemption) คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 โดยรัฐบาลได้ยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยวให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารเดินทางจีนและคาซัคสถาน ให้สามารถเข้ามาและพำนักในราชอาณาจักร เป็นระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2566 ถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567

โดยจะยกเว้นเป็นเวลา 5 เดือน เป็นกรณีพิเศษ และเป็นการชั่วคราว เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและความเชื่อมโยงระดับประชาชน รวมทั้งมิติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับสาธารณรัฐประชาชนจีนและสาธารณรัฐคาซัคสถาน

มาตรการดังกล่าวจะอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีนและชาวคาซัคสถานที่จะเดินทางมาไทยในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน 2566 ซึ่งจะสามารถเดินทางมาไทยได้โดยไม่ต้องขอรับการตรวจลงตรา (ไม่ต้องขอวีซ่าจึงไม่มีค่าธรรมเนียม) และเป็นการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยอันเป็นปัจจัยสำคัญ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมตามนโยบายรัฐบาล

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า นักท่องเที่ยวตลาดจีนถือเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของประเทศไทย โดยยังมีการฟื้นตัวอยู่ที่ประมาณร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับช่วงปี 2562 และเป็นตลาดใหญ่ที่มีศักยภาพการเติบโตสูงทั้งด้านรายได้และจำนวนนักท่องเที่ยว

ทั้งนี้เชื่อมั่นว่ามาตรการยกเว้นการตรวจลงตราจะเป็นแรงส่งช่วยพลิกฟื้นการเติบโตของตลาดนักท่องเที่ยวจีนให้กลับมาอีกครั้ง โดยคาดการณ์ว่า ตลอดช่วงระยะเวลา 5 เดือนที่มีการยกเว้นการตรวจลงตราจะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าประเทศไทยจำนวนประมาณ 1,912,000 - 2,888,500 คน ซึ่งจะทำให้สัดส่วนการฟื้นตัวเมื่อเทียบกับปี 2562 จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 41 - 62  สร้างรายได้เข้าประเทศ 92,583 - 140,313 ล้านบาท

ขณะที่นักท่องเที่ยวคาซัคสถานในช่วง 5 เดือนดังกล่าวจะมีจำนวนประมาณ 129,485 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 49.7 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา สร้างรายได้ประมาณ 7,930 ล้านบาท โดยมาตรการดังกล่าวเป็นหนึ่งในมาตรการ Quick Win ที่รัฐบาลใช้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในระยะสั้น และขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับฐานรากของประเทศ

นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 10 กันยายน 2566 จำนวน 2,284,281 คน ถือเป็นตลาดนักท่องเที่ยวอันดับที่ 2 รองจากมาเลเซียที่เดินทางเข้าประเทศไทยมากที่สุด

ทั้งนี้ถ้าไม่มีมาตรการในการยกเว้นการตรวจลงตรา (Visa Exemption) จะมีแนวโน้มจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าประเทศไทยในปี 2566 จำนวนรวมทั้งสิ้น 3,470,430 คน ซึ่งคิดเป็นอัตราการฟื้นตัวร้อยละ 31 สร้างรายได้ 174,358 ล้านบาท

แต่เมื่อมีการยกเว้นการตรวจลงตราจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยในการกระตุ้นตลาด ทำให้มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าประเทศไทยจำนวน 4.04-4.4 ล้านคน และมุ่งสู่เป้าหมายรายได้ที่ตั้งไว้ 257,500 ล้านบาทในปี 2566

เนื่องจากเป็นการอำนวยความสะดวกในการเดินทาง (Ease of Traveling) นักท่องเที่ยวไม่ต้องใช้ระยะเวลาในการขอตรวจลงตรา และเสียค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา จะส่งผลให้นักท่องเที่ยวจีนตัดสินใจเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยได้ง่ายขึ้น รวมถึงในช่วงวันที่ 1- 8 ตุลาคมนี้ที่จะเป็นช่วง Golden week ที่นักท่องเที่ยวชาวจีนนิยมออกเดินทางท่องเที่ยว

ประกอบกับพันธมิตรด้านสายการบินมีความพร้อมจัดทำเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (Charter Flight) และเพิ่มความถี่ของเที่ยวบิน ตลอดจนการเปิดเส้นทางการบินใหม่ อาทิ เฉิงตู - สมุย, ปักกิ่ง - เชียงใหม่, กวางโจว - เชียงใหม่, เซี่ยงไฮ้ - เชียงใหม่, เซี่ยงไฮ้ - ภูเก็ต, กวางโจว - ภูเก็ต, คุนหมิง - หาดใหญ่ ทั้งระยะของมาตรการยกเว้นการตรวจลงตรายังครอบคลุมถึงช่วงเทศกาลวันหยุดปีใหม่และตรุษจีนที่จะช่วยส่งเสริมกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวในช่วงต้นปี 2567 อีกด้วย

ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) AOT กล่าวว่าหลังจากรัฐบาลได้ประกาศมาตรการ Visa Free สนามบินสุวรรณภูมิคาดว่าจำนวนเที่ยวบินจากสาธารณรัฐประชาชนจีนจะเพิ่มขึ้น

โดยคาดว่าในช่วง 7 วันแรกของมาตรการ คือ ระหว่างวันที่ 25 กันยายน - 1 ตุลาคม 2566 จะมีเที่ยวบินรวม 674 เที่ยวบิน (เฉลี่ย 96 เที่ยวบินต่อวัน) เป็นเที่ยวบินขาเข้าและขาออก ขาละ 337 เที่ยวบิน

ในส่วนประมาณการผู้โดยสารคาดว่าจะมีผู้โดยสารจากเที่ยวบินจีนรวม 130,593 คน (เฉลี่ย 18,656 คนต่อวัน) แบ่งเป็นผู้โดยสารขาเข้า 65,584 คน ขาออก 65,009 คน

สำหรับเที่ยวบินระหว่างสนามบินสุวรรณภูมิ และสาธารณรัฐคาซัคสถาน คาดว่าในช่วง 7 วันแรกของมาตรการ ระหว่างวันที่ 25 กันยายน - 1 ตุลาคม 2566 มีเที่ยวบินรวม 6 เที่ยวบิน

แบ่งเป็นเที่ยวบินขาเข้าและขาออก ขาละ 3 เที่ยวบิน เท่ากับช่วงก่อนมีมาตรการ แต่คาดว่าจำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,338 คน แบ่งเป็นผู้โดยสารขาเข้าและขาออก ขาละ 669 คน

การเตรียมความพร้อมของสนามบินสุวรรณภูมิ ในการรองรับปริมาณผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของผู้โดยสารขาเข้า - ขาออก นั้นได้มีการบูรณาการการบริหารจัดการในขั้นตอนต่าง ๆ ได้แก่

กระบวนการผู้โดยสารขาเข้า คือ 
1.ขั้นตอนตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ซึ่งปัจจุบันมีช่องตรวจลงตราหนังสือเดินทาง (ตม.) ขาเข้า 138 ช่องตรวจ (ช่องปกติ 118 ช่องตรวจ และช่อง Visa On Arrival อีก 20 ช่องตรวจ) และมีเครื่อง Auto Channel จำนวน 16 เครื่อง

สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 7,140 คนต่อชั่วโมง (กรณีที่มีการใช้งานทุกช่องตรวจ) ระยะเวลาที่ใช้ในการตรวจลงตรา 1 นาทีต่อคน และมีพื้นที่รองรับผู้โดยสาร 1,550 ตารางเมตร ซึ่งสนามบินสุวรรณภูมิได้วางแนวทางดำเนินการกรณีเกิดความหนาแน่นบริเวณช่องตรวจหนังสือเดินทางขาเข้า โดยประสานเจ้าหน้าที่ ตม.ให้นั่งเต็มทุกเคาน์เตอร์ในชั่วโมงหนาแน่น (ช่วงกลางวันระหว่างเวลา 11.00 - 16.00 น.) 

2.ขั้นตอนรับกระเป๋าสัมภาระ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนสายพานรับกระเป๋าขาเข้าสำหรับเที่ยวบินภายในประเทศ 4 สายพาน และสำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศ 18 สายพาน โดยหากเกิดความหนาแน่นบริเวณสายพานรับกระเป๋า สนามบินสุวรรณภูมิจะกำกับดูแลและติดตามเวลา First Bag และ Last Bag ของผู้ให้บริการภาคพื้นและสายการบิน

ปัจจุบันผู้รับสัมปทานผู้ให้บริการภาคพื้น (บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท บางกอก ไฟลท์ เซอร์วิส จำกัด) สามารถทำได้อยู่ในเกณฑ์ดีขึ้นจากช่วงปลายปี 2565

กระบวนการผู้โดยสารขาออก สนามบินสุวรรณภูมิ ได้มีการบริหารจัดการขั้นตอนต่าง ๆ ได้แก่

1.ขั้นตอนการเช็กอินซึ่งปัจจุบันมีจำนวนเคาน์เตอร์เช็กอิน แบบเดิม 302 เคาน์เตอร์ (ใช้เวลาเฉลี่ย 3 นาทีต่อคน) และมีเครื่องเช็กอินด้วยตนเองอัตโนมัติ (CUSS) จำนวน 196 เครื่อง และเครื่องรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ (CUBD) จำนวน 50 เครื่อง (ใช้เวลาเฉลี่ย 1 นาทีต่อคน) และกำหนดแนวทางการลดปัญหาความหนาแน่น โดยการทำ Early Check-in พร้อมประสานสายการบินให้นั่งเคาน์เตอร์ให้เต็ม และประชาสัมพันธ์ให้ผู้โดยสารใช้ CUSS และ CUBD

2. บริการจุดตรวจค้น ซึ่งปัจจุบันมีจุดตรวจค้นผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศจำนวน 3 โซน เครื่องเอ็กซเรย์ 25 เครื่อง และมีการติดตั้งระบบ Automatic Return Tray System (ARTS) ที่ใช้ระยะเวลาในการตรวจค้นไม่เกิน 7 นาทีต่อคน วางแนวทางลดความหนาแน่น โดยเกลี่ยแถวในโซนจุดตรวจค้นที่หนาแน่น

3. ขั้นตอนการตรวจลงตรา ซึ่งปัจจุบันมีช่องตรวจหนังสือเดินทาง ตม.ขาออก 69 ช่องตรวจ และเครื่อง Auto Channel 16 เครื่อง ที่ใช้ระยะเวลาในการตรวจลงตรา 1 นาทีต่อคน มีพื้นที่รองรับผู้โดยสาร 2,199 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 4,149 คนต่อชั่วโมง

โดยได้วางแนวทางลดความหนาแน่นบริเวณ ตม.ขาออก โดยประสานเจ้าหน้าที่ ตม.ให้นั่งเต็มทุกเคาน์เตอร์ในชั่วโมงหนาแน่น (ช่วงเช้าระหว่างเวลา 06.00 - 07.00 น. ช่วงกลางวันระหว่างเวลา 14.00 - 15.00 น. และช่วงกลางคืนระหว่างเวลา 21.00 - 23.00 น.)

ถอดกลยุทธ์ 'ท่องเที่ยวไทย' ยุคดิจิทัล พิชิตเป้า 25 ล้านนักท่องเที่ยว พร้อมวอนคนไทยต้อง Land of Smile ไม่เผลอ Crocodile Smile

จากรายการ THE TOMORROW ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 28 ต.ค.66 ได้พูดคุยกับ คุณนรินทร์ ทิจะยัง ผู้อำนวยการฝ่ายดิจิทัลและเทคโนโลยีสารสนเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ถึงภาพรวมการท่องเที่ยวไทยในปี พ.ศ. 2566 โดยมีเนื้อหาดังนี้...

ปีนี้ประเทศไทยตั้งเป้าหมายนักท่องเที่ยวเข้าไปอยู่ที่ 25 ล้านคน ขณะนี้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวเมืองไทยประมาณ 21 ล้านคนแล้ว ซึ่งมีโอกาสเป็นไปตามเป้า 

ส่วนผลกระทบเรื่องสงครามในตะวันออกกลางก็ไม่น่าห่วงเท่าไหร่ อาจมีการชะลอตัวลงบ้าง เนื่องจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศ (ททท.) มีการกระจายความเสี่ยงของนักท่องเที่ยวไว้หลากหลายตลาด ทั้งในยุโรป, สหรัฐอเมริกา และโดยเฉพาะในตลาดเอเชีย ซึ่งมีการกระจายไว้หลายส่วน 

โดย Top 5 ก็จะเป็นนักท่องเที่ยวจาก มาเลเซีย, จีน, เกาหลีใต้, อินเดีย และรัสเซีย ส่วนนักท่องเที่ยวชาวไทยเราก็ตั้งเป้าไว้ทั้งปี เฉลี่ย 250 ล้านคน/ครั้ง 

ทั้งนี้ คุณนรินทร์ ได้เล่าถึงในส่วนของการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ด้านการท่องเที่ยวไว้อย่างน่าสนใจด้วยว่า...

"ตอนนี้เรามีการวางแผนไว้ทั้ง Before Trip During Trip และ End of trip ซึ่งแต่ละส่วนจะมีเครื่องมือขับเคลื่อน เช่น Before Trip ก็จะมีแพลตฟอร์ม Social Media ที่เป็น Marketing Tools ซึ่งทาง ททท. มีมากถึง 9 แพลตฟอร์ม พร้อมผู้ติดตามรวมแล้วประมาณ 10 ล้าน (Follower) ด้วยการส่งเสริมให้เห็นถึงภาพการเดินทางจริงของนักท่องเที่ยวได้มิติต่างๆ ของไทย 

"ส่วน During Trip คือ ในช่วงระหว่างการเดินทาง ก็จะมีสื่อสังคมออนไลน์คอยให้ข้อมูลกับนักท่องเที่ยวมากขึ้น เพื่อกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเกิดการใช้จ่าย ณ แหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ 

"และ End of trip คือ เมื่อท่องเที่ยวเสร็จ ก็จะมีการรับเรื่องร้องเรียนจากนักท่องเที่ยว เป็น Voice Of Social ถึงแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ว่ามีอะไรที่ต้องปรับปรุงบ้าง มีความประทับใจส่วนใดบ้างหรือไม่ เพื่อประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

ส่วนยุทธศาสตร์ของการท่องเที่ยวในด้านดิจิทัล คุณนรินทร์ ได้กล่าวถึงองค์ประกอบสำคัญ ดังนี้...

1.การพัฒนาเครื่องมือทางการตลาดดิจิทัล เช่น ในอนาคตเราเตรียมใช้ Social Listening เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลเสียงจากนักท่องเที่ยวทั่วโลกว่าพูดถึงแหล่งท่องเที่ยวในประเทศไทยอย่างไร ชอบสถานที่ท่องเที่ยวที่ไหนเป็นพิเศษ เพื่อนำมาประมวลผลและทำเป็นโปรแกรมท่องเที่ยวให้ตรงใจชาวต่างชาติต่อไป

2.การพัฒนาโครงสร้างข้อมูลให้พร้อม โดยเฉพาะ Data นำข้อมูลมาสอนให้พนักงานของ ททท. เข้าใจและใช้ข้อมูลเหล่านั้นเพื่อพัฒนาในด้านต่างๆ มากขึ้น 

3.การพัฒนาองค์กรให้มีสมรรถภาพสูงและมีธรรมาภิบาลด้วย ส่วนของ Smart Data ในการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจทางหลวง สำนักงานอุตุนิยมวิทยา โดยนำข้อมูลต่างๆ มา ทำให้เกิดข้อมูลพร้อมใช้สำหรับนักท่องเที่ยว ซึ่งยังเป็นการรวบรวมข้อมูลทางการตลาดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าร่วมโครงการ เช่น โครงการท้าทาย ของ ททท. ซึ่งรวบรวมข้อมูลในลักษณะ Core Plus ขึ้นมา เพื่อสร้างฐานข้อมูลชุดใหม่เพื่อให้กับนักท่องเที่ยวได้

นอกจากนี้ ยังมองถึงการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ด้วยการนำ เทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Technology) มาใช้ตามวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวของประเทศและส่งมอบคุณค่าที่ดีและพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน โดยเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมไหนที่มีความสอดคล้องกับการท่องเที่ยว ก็จะถูกเลือกนำมาใช้ เช่น เทคโนโลยีที่ผลักดันให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวตระหนักถึงการช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน หรือประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติทราบว่ามาเที่ยวเมืองไทยแล้วไม่ทำลายธรรมชาติ เป็นต้น

"อย่างไรก็ตาม อีกเรื่องสำคัญ คือ ต้องขอฝากคนไทยให้ช่วยกันต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยรอยยิ้ม มีไมตรีจิต เพราะเราคงไม่อยากให้นักท่องเที่ยวพูดว่า เมื่อก่อนเป็น Land of smile แต่ตอนนี้เป็น Crocodile smile แล้ว ผู้ประกอบการจึงไม่ควรเอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยว หรือหลอกลวงให้นักท่องเที่ยวซื้อรายการนำเที่ยว สินค้าต่างๆ ในราคาที่สูงเกินจริง เพื่อสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวเมืองไทยเพิ่มมากขึ้น" คุณนรินทร์ กล่าวทิ้งท้าย

‘ททท.’ ชี้ เที่ยวไทยทางราง ตอบโจทย์ความยั่งยืน ชูจุดเด่น ‘ปล่อยคาร์บอนฯ น้อย-กระจายรายได้สู่ชุมชน’

(6 พ.ย. 66) นายอภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท. เล็งเห็นประโยชน์ของการต่อยอดการท่องเที่ยวโดยรถไฟซึ่งมีมนต์เสน่ห์เฉพาะตัวที่สามารถเติมเต็มประสบการณ์แก่นักท่องเที่ยว

ททท. จึงจัดโครงการ The story of Railway Journey ‘เที่ยวแบบสับ (จับเรื่อง) ราง’ ขึ้น เพื่อกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวผ่านทางรถไฟ โดยเฉพาะในกลุ่มวัยทำงานและกลุ่มคนเจน Z

โดยการเดินทางผ่านทางรถไฟจะสามารถกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ผ่านรวมทั้งส่งเสริมรูปแบบการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Tourism) ผ่านการเชื่อมโยงกับระบบคมนาคมขนส่งหลักของประเทศ เช่น รถไฟ รถโดยสารสาธารณะ ไปยังชุมชนในพื้นที่ ทำให้เกิดการกระจายรายได้สู่ฐานรากอย่างทั่วถึงต่อไป

อย่างไรก็ดี เมื่อสอบถามว่าการจัดโครงการดังกล่าวจะสามารถเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวทางรถไฟมากน้อยเพียงใด นายอภิชัย ให้ข้อมูลว่า โครงการดังกล่าวยังอยู่ในระยะเริ่มต้น และยังต้องมีการกำหนดเครื่องมือชี้วัดในลำดับต่อไป

นางสาววัลย์ณัฐ บุญประเสริฐ เลขาธิการสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (TEATA) กล่าวว่า การท่องเที่ยวผ่านทางรถไฟเป็นการท่องเที่ยวที่ตอบโจทย์แนวคิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จากการที่เดินทางผ่านขบวนรถไฟอาจมีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าการเดินทางรูปแบบอื่น

ขณะที่นายพล เวชการ รองผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการเดินรถ ด้านปฏิบัติการ กล่าวว่า การท่องเที่ยวผ่านทางรถไฟสามารถตอบโจทย์ที่หลากหลาย ด้วยเส้นทางของรถไฟที่ผ่านหลายพื้นที่ของประเทศ ประกอบกับในอนาคตระบบคมนาคมทางรางของไทยจะพัฒนามากขึ้น จากการก่อสร้างรถไฟทางคู่ จะทำให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกมากขึ้น

รายงานจากททท. ระบุว่า ภายใต้โครงการดังกล่าว ททท. ได้ผนึกกับพันธมิตร เปิดพื้นที่ให้เหล่านักท่องเที่ยวมืออาชีพร่วมสร้างสรรค์ และนำเสนอเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนโดยรถไฟแบบไม่จำกัดไอเดีย ภายใต้ โครงการ The story of Railway Journey ‘เที่ยวแบบสับ (จับเรื่อง) ราง’ ออกแบบสร้างสรรค์สื่อนำเสนอเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนโดยรถไฟ และเพื่อชิงเงินรางวัลรวมกว่า 100,000 แสนบาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณจาก ททท. โดยผลการแข่งขัน มีดังนี้

-รางวัลชนะเลิศ : ทีม Touch And Go
-รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 : ทีม Freeland
-รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 : ทีมเปรี้ยวกับป้า
-รางวัลชมเชย จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ ทีม The Couple  และทีมสับราง team

'ลังกาวี' เงียบสงัด ใกล้ได้ชื่อเรียกว่า 'เมืองผี'   หลังนักท่องเที่ยวเลือกซบไทย-หาดใหญ่

(8 พ.ย. 66) จากเพจ 'World Forum ข่าวสารต่างประเทศ' ได้โพสต์ข้อความถึงภาพการท่องเที่ยวในมาเลเซียที่แลดูเงียบสงัด ไว้ว่า...

มาเลเซีย 🇲🇾 : ลังกาวี เงียบสงัด ใกล้ได้ชื่อเรียกว่า เมืองผี นักท่องเที่ยว เลือกไปเที่ยวหาดใหญ่ ประเทศไทย ร้านอาหาร รถเช่าในลังกาวีกำลังปิดตัว 

#สื่อมาเลเซียตีข่าว 7/11/2023

🧳จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปลังกาวีซึ่งลดลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาส่งผลให้ร้านอาหารและอุตสาหกรรมรถเช่าของเกาะประสบความสูญเสียปิดตัว เกิดจากพฤติกรรมของประชาชนที่ชื่นชอบหาดใหญ่ในประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางในวันหยุด ในความเป็นจริงปัจจัยของราคาอาหารและที่พักที่ถูกกว่าในภาคใต้ของประเทศไทยยังดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เลือกสถานที่นั้นเหนือกว่าเกาะลังกาวี หลายคนไม่ไปลังกาวีเพราะขาดเรือเฟอร์รี่ และบางคนก็กลัวโดนกดราคาอาหารแพง 

🧳การจองโรงแรมบนเกาะลังกาวี ในช่วงวันหยุดดีปาวาลีในสัปดาห์หน้ามีเพียงร้อยละ 10 ของโรงแรมระดับ 3 ดาวหรือต่ำกว่า ซึ่งถือว่าแย่ที่สุดเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในช่วงเดือนตุลาคม ผู้ประกอบการร้านอาหารมากถึง 31 รายจาก 163 รายที่จดทะเบียนกับ LTA ได้เลิกกิจการ  

*ลังกาวีอยู่ระหว่างเรียกร้องให้ภาครัฐ ออกมาตรการส่งเสริม กระตุ้นการท่องเที่ยว 

‘สุริยะ’ สั่ง!! ‘ทอท.’ เร่งลดความแออัดภายในสนามบิน พร้อมรับนักท่องเที่ยว ‘อินเดีย-ไต้หวัน’ 10 พ.ย.นี้

(8 พ.ย.66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สำหรับการเตรียมความพร้อมรองรับผู้โดยสารชาวอินเดียและไต้หวันตามนโยบายฟรีวีซ่าของรัฐบาลนั้น ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติในหลักการฟรีวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวชาวอินเดียและไต้หวันให้อยู่ในราชอาณาจักรไทยได้ไม่เกิน 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 - 10 พฤษภาคม 2567 ระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งเป็นช่วงฤดูการท่องเที่ยวของชาวอินเดียและไต้หวัน เพื่ออำนวยความสะดวก และสร้างแรงจูงใจให้กับนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเที่ยวประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น รวมถึงกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศในช่วงปี 2566-2567

“ตนได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการความร่วมมือในการเตรียมการรองรับนักท่องเที่ยวให้ดีที่สุด ตั้งแต่เดินทางเข้าสู่ประเทศตลอดจนถึงการเดินทางกลับออกจากประเทศไทย เบื้องต้นได้สั่งการให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ รวมถึงหาแนวทางการดำเนินการ เพื่ออำนวยความสะดวกรองรับการเดินทางของผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง และอื่น ๆ พร้อมทั้งให้ประสานงานกับตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เพื่อให้กระบวนการทุกขั้นตอนมีความสะดวกรวดเร็ว ไม่ให้ผู้โดยสารเกิดความแออัด หรือใช้เวลานานหลังจากลงจากเครื่องบิน”

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการร่วม (Single Command Center) เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานร่วมของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการในทุกขั้นตอนในท่าอากาศยาน ทำหน้าที่ตรวจสอบติดตามการให้บริการ และกวดขันการบริหารการจราจรบริเวณหน้าท่าไม่ให้เกิดความแออัดหนาแน่น และเก็บบันทึกข้อมูลการให้บริการ ภาพถ่ายกล้องวงจรปิด เพื่อนำมาวิเคราะห์ประกอบการให้บริการให้ดียิ่งขึ้น

ขณะเดียวกันยังได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมการในด้านต่าง ๆ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รับความสะดวกสบายตลอดการเดินทางในประเทศไทย ประกอบด้วย การเตรียมความพร้อมท่าอากาศยานในภูมิภาค การเตรียมความพร้อมการเดินทางภายในกรุงเทพมหานคร (กทม.) การเตรียมความพร้อมการเดินทางไปต่างจังหวัดทางรถไฟและรถโดยสาร การเตรียมความพร้อมการเดินทางในต่างจังหวัด

ส่วนการเตรียมความพร้อมสำหรับความปลอดภัยในการท่องเที่ยวทางน้ำอีกทั้งให้ทุกหน่วยงานถือปฏิบัติตามหลักการเดียวกัน คือ การให้บริการที่มีประสิทธิภาพ สะดวกรวดเร็ว ปลอดภัย สะอาดสวยงาม พนักงานให้บริการด้วยมนุษยสัมพันธ์ที่ดี และมีอัตราค่าบริการที่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

นอกจากนี้กระทรวงคมนาคมได้เดินหน้าบริหารจัดการทุกขั้นตอนการบริการที่เป็นประตูสู่ประเทศไทย พร้อมรองรับปริมาณเที่ยวบินและผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยเป็นประตูและเป็นศูนย์กลางการเดินทางของภูมิภาค กระตุ้นการหมุนเวียนเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และความมั่นคงของประเทศ

สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมายังประเทศไทยนั้น จากข้อมูลกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬาข้อมูล กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ณ วันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 พบว่า ตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม - 5 พฤศจิกายน 2566 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ จำนวนทั้งสิ้น 557,554 คน คิดเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยเฉลี่ยวันละ 79,651 คน

โดยนักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย เป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทยมากที่สุด จำนวน 73,297 คน รองลงมา ได้แก่ จีน จำนวน 67,443 คน, รัสเซีย จำนวน 39,136 คน, อินเดีย จำนวน 30,547 คน และเกาหลีใต้ จำนวน 30,255 คน ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา รวมทั้งสิ้น 22,622,522 คน สร้างรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว 954,239 ล้านบาท

'วีระศักดิ์' เปิดความประทับใจ 'บุคคลในโลกมืด' ใต้การดูแล 'สุดละเอียดอ่อน' 'ทุกสัมผัส-คำอธิบาย' จากใจ ช่วยเติมไฟให้ท่องเที่ยวเชิงไทยทรงคุณค่า

(29 พ.ย. 66) นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา, อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, อดีตเลขาธิการมูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย ได้โพสต์เนื้อหาผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวในหัวข้อ 'โลกที่คนตาดี ยังมองไม่เห็น' (ตอนที่ 2) ระบุว่า...

เมื่อผมและคุณกฤษณะ ละไลไปกันถึงอาคารผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศ

เราได้ให้การต้อนรับ Miss Martine Williamson สตรีตาบอดทั้งสองข้างอย่างสนิท ชาวนิวซีแลนด์ เธอเป็นประธานสหภาพคนตาบอดโลก มีประสบการณ์เดินทางไปครบทุกทวีปทั่วโลก เพื่อขึ้นกล่าวปาฐกถาเกี่ยวกับการกระตุ้นให้กำลังใจแก่ประชาคมต่าง ๆ ในการทำกิจกรรมร่วมกับคนตาบอด

วันนี้ Miss Martine เดินทางมากล่าวปาฐกถาในการประชุมสหภาพคนตาบอดโลกภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกที่ภูเก็ต เธอออกบินจาก นิวซีแลนด์บ้านเกิด โดยใช้เวลาบิน 10 ชั่วโมงครึ่งแล้วแวะเปลี่ยนเครื่องที่สิงคโปร์ จากนั้นบินต่ออีกเกือบ 2 ชั่วโ*-+มงเข้าถึงสนามบินนานาชาติภูเก็ต

เครื่องถึงสนามบินภูเก็ตช่วงเช้าตรู่ ตรงเวลากับที่ผมและ คุณกฤษณะ ละไล บินจากดอนเมืองไปถึงสนามบินภูเก็ตเช่นกัน

ปรากฏว่ากระเป๋าเดินทางใบใหญ่ของ Miss Martine ไม่ตามมาจากสิงคโปร์ แม้เธอจะไม่แสดงความกังวลออกมามากนัก แต่เราก็สัมผัสได้ว่าเธอต้องไม่สบายใจแน่นอน สอบถามแล้ว ในกระเป๋าที่พลัดหลงไปนั้นมีทั้งเสื้อผ้าและยาประจำตัวที่เธอจำเป็นต้องใช้ทุกวัน

เราจึงขอรบกวนให้ทีมเจ้าหน้าที่ของ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) ที่มาทำหน้าที่ฝ่ายต้อนรับคณะเดินทางของคนตาบอดจากนานาประเทศที่สนามบินภูเก็ต ให้ช่วยติดตามกระเป๋าของ Miss Martine จากสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ให้

***(ได้ทราบต่อมาว่ากระเป๋าเดินทางของเธอถูกพบว่ายังตกค้างอยู่ที่สนามบินสิงคโปร์ และสายการบินรับว่าจะรีบส่งขึ้นเครื่องบินลำถัดไปที่จะออกจากสิงคโปร์มาที่ภูเก็ต คาดว่ากระเป๋าควรจะมาถึงที่สนามบินภูเก็ตในช่วงเย็นวันเดียวกัน)

***(ในเวลาที่ผมเขียนต้นฉบับชิ้นนี้ กระเป๋าเดินทางถูกนำส่งไปถึงห้องพักของ Martine เรียบร้อย)

ด้วยเหตุนี้ ผมและคุณกฤษณะจึงตัดสินใจขึ้นรถตู้ที่จะนำ Miss Martine จากสนามบินภูเก็ตไปส่งยังโรงแรมที่พักเพื่อจะได้ดูแลเป็นเพื่อนเธอไปด้วย

การนั่งรถตู้จากสนามบินภูเก็ตไปยังโรงแรมดวงจิตรีสอร์ท ย่านหาดป่าตอง สถานที่จัดการประชุมสหภาพคนตาบอดโลก เอเชียแปซิฟิก ยังไง ๆ ก็ต้องใช้เวลาเดินทางด้วยรถยนต์นานราวหนึ่งชั่วโมงเศษ

ฝนตกเบา ๆ และตกยาว ๆ ทำเอารถติดตลอดทาง การจราจรเคลื่อนตัวช้า ทำให้เรามีโอกาสสอบถาม Miss Martine ว่าในการเดินทางของเธอไปประเทศต่าง ๆ นั้นอะไรคือ บริการการท่องเที่ยวที่เธออยากได้รับมากที่สุด

เธอตอบอย่างชัดเจนว่า สำคัญที่สุดคือ มิตรภาพและความมีไมตรีของคนในพื้นที่

ส่วนในแง่การบริการนั้น เธออยากได้ความปลอดภัยในการเดินเที่ยวในละแวกรอบ ๆ ที่พักแรม อยากใช้ประสาทสัมผัสต่าง ๆ รับประสบการณ์ที่มีเสน่ห์ของเมืองนั้นๆ สิ่งที่จะช่วยได้มาก คือ การมีไกด์หรือเครื่องอุปกรณ์เช่นหูฟังอิเล็กทรอนิกส์ที่จะบอกเล่าให้ทราบถึงสิ่งที่อยู่ตรงหน้า เช่น การไปเยี่ยมพิพิธภัณฑ์ การไปหอแสดงนิทรรศการ เธออยากรับรู้สิ่งรอบตัว และเมืองรอบข้าง เธอบอกว่าอย่างที่ผมกำลังสื่อสารอยู่กับเธอนี่แหละ...

ที่เธออยากได้รับ เนื่องจากในการพาเธอนั่งรถผ่านสวนยาง ผ่านย่านการค้า ผ่านอนุสาวรีย์ ผ่านทุ่งโล่ง ผ่านสถานศึกษา ผมก็จะสาธยายให้ข้อมูลเธอไปเรื่อย ๆ ทำให้เธอสามารถหลับตาจินตนาการตามได้เป็นระบบ

ผมใช้นิ้วชี้ของผมลองเขียนแผนที่ประเทศไทยลงบนฝ่ามือของเธอเพื่ออธิบายว่าภูเก็ตอยู่ตรงไหนของประเทศไทย วาดรูปแผนที่ขวานทอง และประเทศเพื่อนบ้านของไทยในแต่ละทิศ ลักษณะอาหารการกินและภูมิประเทศโดยง่าย ๆ ของแต่ละภาคของไทย

เหล่านี้ช่วยทำให้เธอมีความสุขกับการรับรู้ข้อมูลผ่านการสัมผัสและการลากเส้นสมมุติบนฝ่ามือของเธอ

เธอกล่าวขอบคุณอย่างพึงพอใจ ซักถามอะไรต่อไปอีกหลาย ๆ อย่างด้วยความตื่นตาตื่นใจ

ในการช่วยพยุงเธอเดินขึ้นลงรถตู้ ผมสังเกตได้ว่าขาเธอไม่มีแรง เธออธิบายว่าเธอเพิ่งประสบอุบัติเหตุหกล้มในบ้านเธอที่นิวซีแลนด์ ทำให้เธอเดินไม่ถนัด เข้าใจว่าคงมีอาการเส้นพลิกที่ส่วนใดส่วนหนึ่ง

ดีที่ผมยังพอจะมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรง จึงสามารถให้เธอถ่ายน้ำหนักมาใส่ที่แขนของผมได้เต็มที่ งานนี้ยิ่งทำให้เราตระหนักว่า ทางลาดมีประโยชน์และปลอดภัย ใช้สะดวกกว่าบันได การมีราวจับที่มั่นคงแข็งแรงจะช่วยให้ผู้ใช้งานสะดวกกว่า ปลอดภัยกว่า

เธอก้าวเดินด้วยความยากลำบาก ยิ่งถ้าเจอบันไดหลายขั้น ธรณีประตู พื้นเปลี่ยนระดับบ่อย ๆ ผมต้องพากษ์ให้เธอรู้ล่วงหน้าแทบทุกสองก้าว เพื่อให้เธอขยับแข้งขาให้สอดรับกับสภาพพื้นที่

คุณกฤษณะเห็นว่ารถติด และขณะนั้นเกือบเที่ยงวันแล้ว คุณกฤษณะจึงขอเชิญชวนให้เราแวะหยุดรถทานกลางวันก่อนจะฝ่าการจราจรจากด้านเหนือของเกาะภูเก็ตซึ่งเป็นย่านที่ตั้งของสนามบิน ไปสู่โรงแรมที่พักย่านตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะ ซึ่งต้องแล่นรถอ้อมเกาะ ผ่านภูเขาที่เส้นทางคดเคี้ยว น่าจะต้องใช้เวลาอีกนานพอควร เกรงเธอจะหิวข้าวเสียก่อน เพราะเมื่อเทียบกับเวลาที่นิวซีแลนด์แล้ว เท่ากับประมาณใกล้ทุ่มนึงของเธอแล้ว

เธอพยักหน้ารับไมตรี

เราจึงพาเธอแวะทานอาหารแบบติ่มซำภูเก็ต แม้เธอมองไม่เห็นอาหาร แต่เธอก็สามารถตักและจับอาหารรับประทานได้อย่างราบรื่น แสดงว่าเธอจดจำระยะของจาน แก้วน้ำ และกระดาษเช็ดปากที่เราจัดวางไม่ห่างจากตัวเธอ และพามือของเธอให้ไปแตะทุกอย่าง ๆ ละหนึ่งครั้งก่อนเริ่มทานอาหารเที่ยงด้วยกัน เธอทานไม่มากนักก็หยุด ปกติเธอจะทานไม่มากนัก แต่ออกปากชมว่าอาหารมีรสชาติดี อร่อย ถูกปาก

ผมอนุมานว่าเธอออกเดินทางจากบ้านที่นิวซีแลนด์มาตั้งแต่เกือบ 21 ชั่วโมง มาแล้ว เชื่อว่าน่าจะอ่อนเพลียพอควร คงอยากพักผ่อนมากกว่าสิ่งใดละ

คุณกฤษณะและคณะแยกตัวไปถ่ายทำรายการที่จุดอื่น ๆ ผมกับคุณมน ผู้ช่วยคนตาบอดประจำ สว.มณเทียร บุญตัน จึงพาเธอขึ้นรถมุ่งไปยังที่พักโรงแรมกันต่อ

กว่าจะได้กุญแจห้อง พาเปลี่ยนเป็นรถกอล์ฟไฟฟ้าของโรงแรม พาขึ้นลงอาคารหลักที่ล็อบบี้โรงแรมจนไปถึงบันไดขั้นสุดท้ายก่อนไขกุญแจประตูเข้าห้องก็ล่วงไปอีกเกือบ 30 นาที

แต่เมื่อเราส่งเธอเข้าถึงห้องนอนในโรงแรมที่พักแล้ว ผมไม่ลืมที่จะถามเธอว่า เธอจะประสงค์ให้พาเธอเดินคลำทุกฝาผนังของห้องพักหรือไม่ เธอบอกทันทีว่า เป็นคำถามที่ดีมาก เพราะนั่นจะช่วยให้เธอจดจำได้ ว่าห้องนอนมีรูปร่างอย่างไร อะไรอยู่ทิศทางไหนจากทางเข้าและเตียงนอน พาเธอเดินไปเหยียบให้ถึงส่วนของห้องน้ำ ที่ยืนอาบน้ำ สัมผัสให้รู้ตำแหน่งชักโครก แตะคันโยกเปิดปิดฝักบัวน้ำอุ่น แตะอ่างล้างมือ และย้ายผ้าเช็ดตัว ให้มาวางกองบนเตียงนอน

เธอต้องการจะพยายามจดจำว่ามีพื้นเปลี่ยนระดับภายในห้องนอนอยู่จุดไหนบ้างมือจับประตูทางเข้าออกอยู่ตรงไหน ล็อคอย่างไร และสอบถามเธอว่าต้องการให้ตั้งอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศที่กี่องศา และเธอขอทราบที่เสียบแผ่นพลาสติกแข็งหรือกุญแจห้องเพื่อทำให้ระบบไฟฟ้าต่างๆของห้องทำงาน ว่าติดอยู่ที่ตำแหน่งใดจากบานประตูเข้าห้อง

ละเอียดอ่อนใช่มั้ยครับ?

หมดเวลาไปกว่า 15 นาทีเพื่อการพาให้คลำทำความรู้จักห้อง

เราอาจไม่ต้องทำอย่างนี้บริการคนตาบอดทุกคนที่เดินทางมา ถ้าเค้ายังแข็งแรง กระเป๋าเดินทางไม่หาย หรือมีเพื่อนร่วมเดินทางไว้สนทนาปลอบโยน ให้กำลังใจกันและกันในยามไม่สบายตัว

แต่ผมเลือกทำในระดับเกินมาตรฐาน เพราะเห็นแล้วว่าเธอน่าจะกำลังไม่สู้จะสบายตัวและไม่สู้จะสบายใจ

สิ่งใดที่เราพอเข้าใจได้ ลองเอ่ยปากถามว่าอยากให้เราช่วยพาทำอย่างนั้นอย่างนี้ไหม ถ้าเธอบอกว่าอยากได้ เราก็เพียงแต่ต้อง 'ทำเป็น'

ถ้าทำไม่เป็น ย่อมไม่ทันนึกถาม เมื่อไม่ทันนึกถาม เราก็คงส่งเธอถึงห้องพักแบบบังกาโล ไร้กระเป๋าที่จะผลัดผ้า ไร้หยูกยา ไร้ ชุดนอน ไร้ครีมทา ไร้กรรไกรตัดเล็บ หรืออะไร ๆ ที่ปกติมีใช้ในฐานะข้าวของประจำติดตัวติดกระเป๋า

ถ้าเราทำจนแน่ใจว่าเมื่อปิดประตูแยกย้ายกันไปแล้ว เธอจะอยู่เองตามลำพัง ทำกิจส่วนตัวได้

และในวันถัดมาเห็นเธอขึ้นกล่าวต้อนรับมวลสมาชิกและนั่งเคียงข้างรัฐมนตรีพัฒนาสังคมฯ ของไทยด้วยชุดเสื้อผ้าของเธอ ใบหน้าสดใส เราก็สบายใจ

สิ่งเหล่านี้นี่แหละครับ คือปัจจัยและความเข้าถึงใจที่สำคัญยิ่ง

ทักษะความละเอียดอย่างนี้ ผมเองก็ได้รับถ่ายทอดมาจากมัคคุเทศก์ไทย คุณนัตตี้ นิธิ สืบพงษ์สังข์ ว่าเวลาที่คุณนัตตี้พานักท่องเที่ยวยุโรปที่ตาบอดเดินทางเป็นคณะนับ 10 คนไปเที่ยวทั่วไทยนั้น คุณนัตตี้ต้องจัดผู้ช่วยไกด์ฝ่ายไทยมาประกบพาแขกฝรั่งเช็คอินเข้าแต่ละโรงแรมในแต่ละจังหวัดในอัตรา ผู้ช่วยหนึ่งคนประกบแขกนักท่องเที่ยวตาบอด 2 คน

ไม่งั้นถ้าจัดลูกทีมมาน้อยไป แปลว่าแขกจะต้องนั่งคอยจนกว่าจะถึงคิวของตัวในการพาสำรวจทำความรู้จักห้อง

ในบ่ายนั้น ผมออกมาเดินสำรวจดูกิจกรรมที่เจ้าของงานเตรียมสำหรับคนตาบอดนานาชาติที่มาถึงได้มีกิจกรรมทำไปพลาง ก่อนการประชุมในวันรุ่งขึ้น

มีการแสดงผลงานและสิ่งประดิษฐ์ที่คนพิการทำขึ้น งานเครื่องมืออ่านและผลิตอักษรหรือภาพนูนต่ำที่สามารถให้คนตาบอดลูบจับ สัมผัสใช้ เครื่องแลปท้อปของคนตาบอด แทบเลตคนตาบอด มีกิจกรรมให้คนตาบอดร้อยลูกปัด พันผ้าหุ้มสายหิ้วกระเป๋าถือ มีจำหน่ายเสื้อผ้าท้องถิ่นภาคใต้ อาหาร ขนมจากกลุ่มท่องเที่ยวชุมชน โดยมีทีมอาสาสมัครวัยเยาว์จากโรงเรียนนานาชาติที่กรุงเทพบินตามเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกแก่คนตาบอดนานาชาติ

และแน่นอน มีน้องแอนนี่ นางฟ้ากู่เจิ้งตาบอดชาวภูเก็ตมาเล่นดนตรีให้ฟังในวันประชุม ชุมชนเมืองเก่าภูเก็ตสนับสนุนและดูแลน้องแอนนี่เป็นอย่างดี

นับเป็นกิจกรรมที่สร้างสรรค์ มีประโยชน์อย่างดี เป็นบรรยากาศที่น่ารัก

สำหรับการทำนโยบายการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพสำหรับประเทศไทยนั้น

การได้แขกกระเป๋าหนักและดูแลง่ายๆ นั้น ใครๆ ก็ปรารถนา

แต่แขกที่มีกำลังจ่ายนั้น ก็ย่อมคาดหวังความเป็นมืออาชีพของเราที่สูงขึ้น รอบรู้ และลุ่มลึก สามารถให้ประสบการณ์ที่เขาไว้วางใจ

ความสามารถในการรับนักเดินทางต่างชาติที่ตาบอด คาดน่าจะเป็นความท้าทายที่สุดอย่างหนึ่งของระบบการท่องเที่ยวเดินทาง ถ้าไม่นับการขนย้ายผู้ป่วยเข้ามารับรักษานะครับ

ถ้าเราสามารถพัฒนาบุคลากรประจำเมือง ประจำพื้นที่ให้ดูแลแขกต่างชาติและคนไทยที่มีความเป็นพิเศษได้เป็น สถาปนิกวิศวกรท้องถิ่นก็ออกแบบห้องพัก โรงแรม ทางเดินเข้าออกสนามบิน อาคารสาธารณะ ฟุตบาททางเท้า ห้องน้ำ ลานจอดรถ ที่คำนึงถึงผู้พิการจากต่างภาษาได้ เราก็จะสามารถมั่นใจได้ว่า เราย่อมพร้อมรับใครๆ ก็ได้ ไม่ว่าจะคนไทยและคนต่างชาติจากต่างภาษา ต่างวัฒนธรรมจากทั่วโลก

ทางลาด ห้องน้ำ ราวจับ ทางข้ามถนน ป้ายสัญลักษณ์และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่ดี จะทำให้ทุกคนใช้งานสะดวกและปลอดภัย ไม่ว่าจะเด็ก ผู้สูงอายุ คนท้อง รถเข็นทารก คนที่ลากกระเป๋าเดินทางใบใหญ่ นักกีฬาใส่เฝือก

ทำแล้วแม้ยังไม่มีแขกต่างชาติมาใช้ แต่ก็คนไทยเราเองนั่นแหละ ได้ประโยชน์

ที่เหลือก็คงเป็นเรื่องผู้จัดบริการ การใส่ใจ อธิบาย ให้ความอบอุ่น ให้ความมั่นใจ ให้ความปลอดภัย ให้ความสะอาดถูกหลักอนามัย และเสน่ห์จากวัฒนธรรมต่างๆ ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ของไทย ให้กันและกัน

เท่านั้นเอง

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์

สมาชิกวุฒิสภา

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

อดีตเลขาธิการมูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย

‘อ.พงษ์ภาณุ’ แนะ!! หวังสร้างท่องเที่ยวฯ ยั่งยืน ความปลอดภัยในไทยต้องยกเป็นวาระอันดับ 1

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'ผลักดันท่องเที่ยวไทย ความปลอดภัยต้องมาอันดับ 1’ การกลับมาทวงบัลลังก์สู้ศึกเลือกตั้งสหรัฐ 2024 ของ ทรัมป์' เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

อย่าหวังการท่องเที่ยวจะกลับมาเหมือนเดิม หากไม่ปรับปรุงภาพลักษณ์ด้านความสะดวก ความสะอาด และความปลอดภัย 

ควรดูญี่ปุ่นเป็นตัวอย่าง!!

น่าเสียดายที่ช่วงโควิด 3 ปี รัฐบาลชุดก่อนไม่ใช้โอกาสในการปรับปรุงด้านอุปทาน (Supply Side) ของการท่องเที่ยวไทย โดยเฉพาะในด้านภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัย ซึ่งถือเป็นข้อด้อยของไทยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก 

จากการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของ World Economic Forum (WEF) ซึ่งจัดอันดับความปลอดภัยของไทยไว้ท้ายๆ ตารางเสมอมา และเป็นอันดับที่ต่ำกว่าประเทศในอาเซียนแทบทุกประเทศ รวมทั้งพม่าและลาว

วันนี้ต้องยอมรับว่าโอกาสที่จะบรรลุเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติ 30 ล้านคนในปี 2566 มีน้อยเต็มที การคาดการณ์ที่น่าจะเป็นไปได้อยู่ที่เพียง 20 ล้านคน แม้จะมีการออกมาตรการฟรีวีซ่ามา ซึ่งทำให้สูญเสียรายได้ไปมากพอควร โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน ที่ก่อนโควิดเคยมีจำนวนสูงถึง 10 ล้านคนในปี 2562 อย่างเก่งปีนี้น่าจะทำได้แค่ 3 ล้านคน 

หากจำกันได้ ตอนนั้นจีนมีปัญหาเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวที่มาเสียชีวิตในไทยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะจากการจมน้ำตาย และรัฐบาลที่ผ่านมาก็ไม่ได้พยายามแก้ปัญหาและสื่อสารภาพลักษณ์ของประเทศไทยอย่างมีประสิทธิผล 

มาวันนี้ยังมีปัญหาจีนเทา ยาเสพติด และอาวุธปืนผิดกฎหมายเข้ามาเพิ่ม ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศเสื่อมทรามลง และส่งผลให้มีการยกเลิกทริปมาไทยเป็นจำนวนมาก

ประเทศที่แย่งซีนไทยไปและสมควรยึดถือเป็นตัวอย่างคือ ญี่ปุ่น ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการพัฒนาการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก จากระดับที่แทบไม่มีความสำคัญเลย จนวันนี้ถือได้ว่าแซงหน้าไทยไปแล้ว 

มาตรการสำคัญ ได้แก่ ฟรีวีซ่า การคืนภาษีที่สะดวกรวดเร็ว การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวระดับท้องถิ่น ตลอดจนภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัย จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลสมควรจะนำมาเป็นบทเรียนในการพัฒนาการท่องเที่ยวไทยในระยะต่อไป

โดยเฉพาะเรื่องการสื่อสารภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัยนักท่องเที่ยว ควรจะมุ่งเน้นตลาดจีนเป็นหลัก เพราะรัฐบาลจีนมีความวิตกกังวลเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ขณะที่นักท่องเที่ยวจีนมีจำนวนหนึ่งในสี่ของของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาไทย 

ดังนั้นภาครัฐควรกระตุ้นบทบาทในชี้นำภาคการท่องเที่ยว ผ่านกลไกของคณะกรรมการร่วมด้านการท่องเที่ยวไทย-จีน ซึ่งมีอยู่แล้ว และมีปลัดกระทรวงท่องเที่ยวของสองประเทศเป็นประธานร่วมกัน เป็นกลไกหลักในการปรับภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไทยในตลาดจีนต่อไป

'นายกฯ' กำชับ 'ท่องเที่ยว' ทำงานเชิงรุก เพิ่มมิติการท่องเที่ยวไทย พร้อมเชิญ 'กัมพูชา-ลาว-เวียดนาม' ถกกระตุ้นท่องเที่ยวระดับภูมิภาค

(19 ธ.ค.66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ในการประชุม ครม.ได้สั่งการให้ น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา เป็นเจ้าภาพใหญ่ในการเชิญประชุมรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องจากประเทศกัมพูชา. ลาว, เวียดนาม เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้ โดยที่เราเป็นเจ้าภาพหลัก และตนจะเจอ ‘ดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม’ นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในวันที่ 26 ธันวาคมนี้ ซึ่งตนจะถามด้วยว่ามาเลเซียสนใจหรือไม่?

พร้อมกันนี้ นายกฯ ยังได้สั่งการให้ รมว.ท่องเที่ยวฯ จัดการทำงานในหลายๆ เรื่อง ทั้งการทำงานร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กำกับดูแลการตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจท่องเที่ยวให้ดูแลความปลอดภัยกับนักท่องเที่ยว และสั่งการให้กระทรวงมหาดไทย รวมถึง กทม.ให้ความสำคัญดูแลเรื่องความสะอาด ดูแลห้องน้ำให้เพียงพอกับนักท่องเที่ยว และยังได้สั่งการให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ร่วมกับสำนักงานประกอบธุรกิจประกัน ให้ดูแลทำประกันภัยให้กับนักท่องเที่ยวทุกคนครอบคลุมการเสียชีวิต ชดเชยไม่เกิน 1 ล้านบาท กรณีอุบัติเหตุชดเชยตามจริงแต่ไม่เกิน 5 แสนบาท รวมทั้งหารือกับกระทรวงสาธารณสุขจัดระเบียบด้านสาธารณสุขและประกันสุขภาพสำหรับนักท่องเที่ยว หากมีความจำเป็นต้องใช้งบกลางให้เร่งเสนอตามขั้นตอนตามความต้องการ

นอกจากนี้ ยังให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ เรียกประชุมและมอบนโยบายให้กับหน่วยงานของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ทั้ง 30 แห่งทั่วประเทศทำงานเชิงรุก ให้ความรู้ช่วยกันโฆษณาประเทศไทยดีอย่างไรควรจะมาท่องเที่ยวอย่างไร

นายกฯ กล่าวอีกด้วยว่า ได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคมดูพื้นที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ที่เคยคุยกันไว้จะให้มาทำเป็นศูนย์แสดงสินค้าโอทอป เพราะไปดูที่ญี่ปุ่นได้ไอเดียมาเยอะ จะได้เร่งจัดการกันไป 

กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ผนึกกำลัง 12 หน่วยงาน สร้างความเชื่อมั่นท่องเที่ยวไทยช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่

เมื่อวันที่ (20 ธ.ค.66) นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (รมว.กก.) เป็นประธานการแถลงข่าว ร่วมกับ 12 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, กรมการท่องเที่ยว, กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว,การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย,บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) , สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง, กรมการขนส่งทางบก, กรมเจ้าท่า, ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล, กรมการปกครอง, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, และ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อร่วมกันสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย ช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2567 ณ ห้องประชุมกระทรวง  การท่องเที่ยวและกีฬา ถนนราชดำเนินนอก

รมว.สุดาวรรณ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการแถลงข่าวร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในวันนี้ว่าเป็นไปตามข้อสั่งการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ต้องการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวต่างชาติ เพื่อให้ภาคการท่องเที่ยวเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย ดังนั้นการแถลงครั้งนี้จะเป็นการเน้นย้ำว่าทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวจะร่วมกันสร้างความเชื่อมั่นในด้านความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยวโดยจะเปิดโอกาสให้แต่ละหน่วยงาน  ได้กล่าวถึงภารกิจด้านการบริการ การดูแลอำนวยความสะดวก และความปลอดภัยต่อพี่น้องประชาชนและนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะช่วงเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลองที่จะมีการเดินทางท่องเที่ยวกันเป็นจำนวนมาก

รมว.สุดาวรรณ กล่าวว่า โดยความร่วมมือในครั้งนี้ ทั้ง 12 หน่วยงาน จะมีการนำภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการดูแลอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวของแต่ละหน่วยงานมาบูรณาการในการทำงานร่วมกัน อาทิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) มีการนำเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการดำเนินงาน เช่น ระบบเช็คอินด้วยตนเอง ระบบรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง มีมาตรการวีซ่าฟรี แก่นักท่องเที่ยว และการอำนวยความสะดวกด้านพิธีการเข้าเมืองให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยใช้ระบบช่องตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติ (Automatic Channel) , กรมการขนส่งทางบก จะดำเนินการช่วยเหลือนักท่องเที่ยวที่ถูกรถโดยสารสาธารณะ (แท็กซี่) เอารัดเอาเปรียบ, กรมเจ้าท่า มีการปรับปรุงท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเรือทุกลำต้องมีทะเบียนเรือและผ่านการตรวจสภาพความปลอดภัยจากกรมเจ้าท่า ท่าเรือต้องมีความปลอดภัยพร้อมรับผู้โดยสาร มีการจัดชุดเฉพาะกิจออกตรวจความปลอดภัยโดยบูรณาการร่วมกับหน่วยต่างๆ พร้อมทั้งติดตั้งระบบควบคุมสถานีเรือ smart pier 

ตลอดจนพัฒนาเส้นทางเดินเรือในคลองเชื่อมต่อ การเดินทางจากแม่น้ำเจ้าพระยาสู่ลำคลองต่างๆ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ดำเนินการร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย (สกชย.) และหน่วยงานต่างๆ จัดทำแผนความร่วมมือ (Plan For Cooperation) เพื่อช่วยเหลือนักท่องเที่ยวทางทะเล ตามมาตรฐานที่องค์การระหว่างประเทศ (IMO) กําหนด, กรมการปกครองจะกำชับเจ้าหน้าที่ในการดูแลความเรียบร้อยด้านกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น มาตรการขยายระยะเวลาเปิดสถานบริการถึงตี 4  ด้านกรมการท่องเที่ยว มีการดำเนินการเกี่ยวกับธุรกิจ นำเที่ยวและมัคคุเทศก์ โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรเพื่อตรวจติดตามการประกอบธุรกิจนำเที่ยว ที่ไม่ได้รับอนุญาต รวมทั้งการป้องกันธุรกิจนอมินี (ตัวแทนอำพราง) ดำเนินการตรวจปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย กำชับให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวมัคคุเทศก์และผู้นำเที่ยวที่มีใบอนุญาตถูกต้องให้บริการนักท่องเที่ยวโดยคำนึงถึงความปลอดภัยและให้บริการอย่างมีมาตรฐาน ,กระทรวงสาธารณสุข จะร่วมดูแลกรณีเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุฉุกเฉินต่างๆ โดยเฉพาะการรักษาพยาบาลและการส่งต่อให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือนักท่องเที่ยว (Tourist Assistance Center :TAC) ประจำศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวทั่วประเทศ โดยเป็นศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยว 17 แห่ง ศูนย์ประสานงาน 61 แห่ง รวมเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวทั้งสิ้น 246 คน 

นอกจากนี้ยังดำเนินการช่วยเหลือเยียวยานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ประสบเหตุบาดเจ็บและเสียชีวิต กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว มีการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวให้ปลอดภัย (แบบตรวจมาตรฐานด้านความปลอดภัย โครงการชุมชนท่องเที่ยวเข้มแข็ง S.T.C) รวมถึงจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วมในการรักษาความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวโดยประสานการปฏิบัติกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่มีความพร้อมทั้งเครื่องมือและอัตรากำลังในทุกพื้นที่เพื่อสร้างความอบอุ่นใจในชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว พร้อมทั้งเป็นศูนย์กลางการประสานงานของหน่วยงานต่างประเทศและสถานเอกอัครราชทูตที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่มีความพร้อมในการเป็นผู้ประสานงานกรณีเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติ อุบัติเหตุอุบัติภัยหรือการก่อการร้าย และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จะดำเนินการด้านการสื่อสารผ่านแคมเปญ “Thais Always Care หรือคนไทยใส่ใจเสมอ” โดยจัดทำคอนเทนต์นำเสนอเนื้อหาข้อมูลข่าวสารที่ดีของประเทศไทยผ่านสื่อสังคมออนไลน์เพื่อสื่อสารและเผยแพร่ข้อมูลความปลอดภัย ความพร้อมให้บริการของเจ้าหน้าที่ การยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยและมาตรฐานของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว รวมทั้งมิติด้านการประชาสัมพันธ์เชิงรุกนำเสนอความสวยงามของประเทศไทย เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการเดินทางท่องเที่ยวโดยจัดทำในรูปแบบคอนเทนต์โดย KOLs ชาวต่างชาติ เผยแพร่ในแพลตฟอร์มชั้นนำโดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นชาวต่างชาติ และกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนซึ่งเป็นตลาดหลักที่สำคัญของไทย

คาดว่าจากการแถลงของทุกหน่วยงานในวันนี้จะสามารถเพิ่มความมั่นใจให้แก่นักท่องเที่ยวที่ เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ได้เกิดความเชื่อมั่นในศักยภาพการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยของประเทศไทย และขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนร่วมเป็นเจ้าบ้านที่ดีในการต้อนรับและดูแลนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติให้เดินทางท่องเที่ยวอย่างมีความสุข เกิดความประทับใจตลอดการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย

‘วราวุธ’ ยก ‘คัลแลน-พี่จอง’ ทรงเสน่ห์ ทำท่องเที่ยวไทยถูกพูดถึงอย่างมาก หลังทั้ง 2 เตรียมเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้อุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

จากกรณี กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เผยเตรียมดึง ‘พี่จอง-คัลแลน’ เป็นพรีเซ็นเตอร์ ชวนคนไทยและชาวต่างชาติท่องเที่ยวอุทยาน ด้าน 2 หนุ่มรับปากไม่คิดค่าตัว แต่ขอไปเที่ยวเองโดยธรรมชาติ

เมื่อวานนี้ (27 ธ.ค. 66) เฟซบุ๊ก ‘ท็อป วราวุธ ศิลปอาชา’ หรือ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้โพสต์ระบุข้อความว่า “วันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมใช้เวลาพักผ่อนไปกับการดู 2 หนุ่ม Youtuber ชื่อดังอย่าง คัลแลน กับพี่จอง เจ้าของช่อง Cullen HateBerry ซึ่งเป็นคลิปที่ไปเที่ยวจังหวัดสุพรรณบุรี ได้รับคำแนะนำจากคุณ Jo Montanee คลิปนี้มีคุณจูดี้มาช่วยสร้างสีสันสนุกมาก ๆ 

ทั้ง 3 คน ไปท่องเที่ยวในแบบวิถีชาวบ้าน เดินเล่นทุ่งนา เก็บผัก หาปลา ได้เห็นความใจดีของชาวสุพรรณที่เข้ามาพูดคุยแบ่งปันทั้งผัก ผลไม้ ให้กับนักท่องเที่ยว และยังมีการพาไปชมทะเลสุพรรณ ซึ่งผมเชื่อเลยว่ามีหลายคนยังไม่รู้ว่าสุพรรณมี ได้แก่หาดทรายท้ายเขื่อนกระเสียว ที่มีกิจกรรมทางน้ำสนุก ๆ รอรองรับทุกคนอยู่

และที่ผมชอบมากที่สุดในคลิปนี้ก็คือการกระจายรายได้ให้กับคนในพื้นที่ กินอาหารตามร้านโลคัล เชื่อว่าความเป็นธรรมชาติ ความพยายามในการเปิดรับและเรียนรู้วัฒนธรรมไทย คงเป็นเสน่ห์ที่ทำให้หลาย ๆ คนติดตามช่องนี้ครับ

และในฐานะคนสุพรรณต้องขอบคุณทางช่อง Cullen HateBerry ที่ทำให้ผู้คนได้เห็นความน่ารักของคนสุพรรณ เห็นมุมมองใหม่ของการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ เป็น 1.40 ชม. ที่ดูแล้วใจฟูมาก น้อง ๆ ทั้งสามคนน่ารักมาก เหมือนได้ท่องเที่ยวพร้อมเรียนรู้วัฒนธรรม ใครดูแล้วแนะนำไปตามรอยกันได้ที่สุพรรณบุรีนะครับ ใกล้กรุงเทพฯ นิดเดียว Go..Go !!

#คัลแลนพี่จอง

ทั้งนี้ คัลแลน พี่จอง คือชื่อที่ชาวโซเชียลฯ หลายคนกำลังค้นหา และพูดถึงอย่างมากเนื่องจากคือ 2 หนุ่มชาวเกาหลีที่เปิดช่องยูทูบเบอร์เที่ยวไทยและพูดไทยตลอดเส้นทาง แม้จะพูดผิดพูดถูก และยังมีหน้าตาที่หล่ออีกด้วย โดยหลังจากเปิดช่องได้ไม่นาน ก็เป็นที่กล่าวถึงอย่างมากในโลกออนไลน์ จนยอดฟอลโลว์ใกล้ล้านซับฯ ไปทุกทีแล้ว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top