ถอดกลยุทธ์ 'ท่องเที่ยวไทย' ยุคดิจิทัล พิชิตเป้า 25 ล้านนักท่องเที่ยว พร้อมวอนคนไทยต้อง Land of Smile ไม่เผลอ Crocodile Smile

จากรายการ THE TOMORROW ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 28 ต.ค.66 ได้พูดคุยกับ คุณนรินทร์ ทิจะยัง ผู้อำนวยการฝ่ายดิจิทัลและเทคโนโลยีสารสนเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ถึงภาพรวมการท่องเที่ยวไทยในปี พ.ศ. 2566 โดยมีเนื้อหาดังนี้...

ปีนี้ประเทศไทยตั้งเป้าหมายนักท่องเที่ยวเข้าไปอยู่ที่ 25 ล้านคน ขณะนี้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวเมืองไทยประมาณ 21 ล้านคนแล้ว ซึ่งมีโอกาสเป็นไปตามเป้า 

ส่วนผลกระทบเรื่องสงครามในตะวันออกกลางก็ไม่น่าห่วงเท่าไหร่ อาจมีการชะลอตัวลงบ้าง เนื่องจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศ (ททท.) มีการกระจายความเสี่ยงของนักท่องเที่ยวไว้หลากหลายตลาด ทั้งในยุโรป, สหรัฐอเมริกา และโดยเฉพาะในตลาดเอเชีย ซึ่งมีการกระจายไว้หลายส่วน 

โดย Top 5 ก็จะเป็นนักท่องเที่ยวจาก มาเลเซีย, จีน, เกาหลีใต้, อินเดีย และรัสเซีย ส่วนนักท่องเที่ยวชาวไทยเราก็ตั้งเป้าไว้ทั้งปี เฉลี่ย 250 ล้านคน/ครั้ง 

ทั้งนี้ คุณนรินทร์ ได้เล่าถึงในส่วนของการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ด้านการท่องเที่ยวไว้อย่างน่าสนใจด้วยว่า...

"ตอนนี้เรามีการวางแผนไว้ทั้ง Before Trip During Trip และ End of trip ซึ่งแต่ละส่วนจะมีเครื่องมือขับเคลื่อน เช่น Before Trip ก็จะมีแพลตฟอร์ม Social Media ที่เป็น Marketing Tools ซึ่งทาง ททท. มีมากถึง 9 แพลตฟอร์ม พร้อมผู้ติดตามรวมแล้วประมาณ 10 ล้าน (Follower) ด้วยการส่งเสริมให้เห็นถึงภาพการเดินทางจริงของนักท่องเที่ยวได้มิติต่างๆ ของไทย 

"ส่วน During Trip คือ ในช่วงระหว่างการเดินทาง ก็จะมีสื่อสังคมออนไลน์คอยให้ข้อมูลกับนักท่องเที่ยวมากขึ้น เพื่อกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเกิดการใช้จ่าย ณ แหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ 

"และ End of trip คือ เมื่อท่องเที่ยวเสร็จ ก็จะมีการรับเรื่องร้องเรียนจากนักท่องเที่ยว เป็น Voice Of Social ถึงแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ว่ามีอะไรที่ต้องปรับปรุงบ้าง มีความประทับใจส่วนใดบ้างหรือไม่ เพื่อประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

ส่วนยุทธศาสตร์ของการท่องเที่ยวในด้านดิจิทัล คุณนรินทร์ ได้กล่าวถึงองค์ประกอบสำคัญ ดังนี้...

1.การพัฒนาเครื่องมือทางการตลาดดิจิทัล เช่น ในอนาคตเราเตรียมใช้ Social Listening เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลเสียงจากนักท่องเที่ยวทั่วโลกว่าพูดถึงแหล่งท่องเที่ยวในประเทศไทยอย่างไร ชอบสถานที่ท่องเที่ยวที่ไหนเป็นพิเศษ เพื่อนำมาประมวลผลและทำเป็นโปรแกรมท่องเที่ยวให้ตรงใจชาวต่างชาติต่อไป

2.การพัฒนาโครงสร้างข้อมูลให้พร้อม โดยเฉพาะ Data นำข้อมูลมาสอนให้พนักงานของ ททท. เข้าใจและใช้ข้อมูลเหล่านั้นเพื่อพัฒนาในด้านต่างๆ มากขึ้น 

3.การพัฒนาองค์กรให้มีสมรรถภาพสูงและมีธรรมาภิบาลด้วย ส่วนของ Smart Data ในการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจทางหลวง สำนักงานอุตุนิยมวิทยา โดยนำข้อมูลต่างๆ มา ทำให้เกิดข้อมูลพร้อมใช้สำหรับนักท่องเที่ยว ซึ่งยังเป็นการรวบรวมข้อมูลทางการตลาดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าร่วมโครงการ เช่น โครงการท้าทาย ของ ททท. ซึ่งรวบรวมข้อมูลในลักษณะ Core Plus ขึ้นมา เพื่อสร้างฐานข้อมูลชุดใหม่เพื่อให้กับนักท่องเที่ยวได้

นอกจากนี้ ยังมองถึงการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ด้วยการนำ เทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Technology) มาใช้ตามวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวของประเทศและส่งมอบคุณค่าที่ดีและพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน โดยเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมไหนที่มีความสอดคล้องกับการท่องเที่ยว ก็จะถูกเลือกนำมาใช้ เช่น เทคโนโลยีที่ผลักดันให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวตระหนักถึงการช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน หรือประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติทราบว่ามาเที่ยวเมืองไทยแล้วไม่ทำลายธรรมชาติ เป็นต้น

"อย่างไรก็ตาม อีกเรื่องสำคัญ คือ ต้องขอฝากคนไทยให้ช่วยกันต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยรอยยิ้ม มีไมตรีจิต เพราะเราคงไม่อยากให้นักท่องเที่ยวพูดว่า เมื่อก่อนเป็น Land of smile แต่ตอนนี้เป็น Crocodile smile แล้ว ผู้ประกอบการจึงไม่ควรเอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยว หรือหลอกลวงให้นักท่องเที่ยวซื้อรายการนำเที่ยว สินค้าต่างๆ ในราคาที่สูงเกินจริง เพื่อสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวเมืองไทยเพิ่มมากขึ้น" คุณนรินทร์ กล่าวทิ้งท้าย