‘อ.พงษ์ภาณุ’ แนะ!! หวังสร้างท่องเที่ยวฯ ยั่งยืน ความปลอดภัยในไทยต้องยกเป็นวาระอันดับ 1

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'ผลักดันท่องเที่ยวไทย ความปลอดภัยต้องมาอันดับ 1’ การกลับมาทวงบัลลังก์สู้ศึกเลือกตั้งสหรัฐ 2024 ของ ทรัมป์' เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

อย่าหวังการท่องเที่ยวจะกลับมาเหมือนเดิม หากไม่ปรับปรุงภาพลักษณ์ด้านความสะดวก ความสะอาด และความปลอดภัย 

ควรดูญี่ปุ่นเป็นตัวอย่าง!!

น่าเสียดายที่ช่วงโควิด 3 ปี รัฐบาลชุดก่อนไม่ใช้โอกาสในการปรับปรุงด้านอุปทาน (Supply Side) ของการท่องเที่ยวไทย โดยเฉพาะในด้านภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัย ซึ่งถือเป็นข้อด้อยของไทยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก 

จากการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของ World Economic Forum (WEF) ซึ่งจัดอันดับความปลอดภัยของไทยไว้ท้ายๆ ตารางเสมอมา และเป็นอันดับที่ต่ำกว่าประเทศในอาเซียนแทบทุกประเทศ รวมทั้งพม่าและลาว

วันนี้ต้องยอมรับว่าโอกาสที่จะบรรลุเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติ 30 ล้านคนในปี 2566 มีน้อยเต็มที การคาดการณ์ที่น่าจะเป็นไปได้อยู่ที่เพียง 20 ล้านคน แม้จะมีการออกมาตรการฟรีวีซ่ามา ซึ่งทำให้สูญเสียรายได้ไปมากพอควร โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน ที่ก่อนโควิดเคยมีจำนวนสูงถึง 10 ล้านคนในปี 2562 อย่างเก่งปีนี้น่าจะทำได้แค่ 3 ล้านคน 

หากจำกันได้ ตอนนั้นจีนมีปัญหาเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวที่มาเสียชีวิตในไทยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะจากการจมน้ำตาย และรัฐบาลที่ผ่านมาก็ไม่ได้พยายามแก้ปัญหาและสื่อสารภาพลักษณ์ของประเทศไทยอย่างมีประสิทธิผล 

มาวันนี้ยังมีปัญหาจีนเทา ยาเสพติด และอาวุธปืนผิดกฎหมายเข้ามาเพิ่ม ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศเสื่อมทรามลง และส่งผลให้มีการยกเลิกทริปมาไทยเป็นจำนวนมาก

ประเทศที่แย่งซีนไทยไปและสมควรยึดถือเป็นตัวอย่างคือ ญี่ปุ่น ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการพัฒนาการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก จากระดับที่แทบไม่มีความสำคัญเลย จนวันนี้ถือได้ว่าแซงหน้าไทยไปแล้ว 

มาตรการสำคัญ ได้แก่ ฟรีวีซ่า การคืนภาษีที่สะดวกรวดเร็ว การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวระดับท้องถิ่น ตลอดจนภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัย จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลสมควรจะนำมาเป็นบทเรียนในการพัฒนาการท่องเที่ยวไทยในระยะต่อไป

โดยเฉพาะเรื่องการสื่อสารภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัยนักท่องเที่ยว ควรจะมุ่งเน้นตลาดจีนเป็นหลัก เพราะรัฐบาลจีนมีความวิตกกังวลเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ขณะที่นักท่องเที่ยวจีนมีจำนวนหนึ่งในสี่ของของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาไทย 

ดังนั้นภาครัฐควรกระตุ้นบทบาทในชี้นำภาคการท่องเที่ยว ผ่านกลไกของคณะกรรมการร่วมด้านการท่องเที่ยวไทย-จีน ซึ่งมีอยู่แล้ว และมีปลัดกระทรวงท่องเที่ยวของสองประเทศเป็นประธานร่วมกัน เป็นกลไกหลักในการปรับภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไทยในตลาดจีนต่อไป