Monday, 29 April 2024
ท่องเที่ยวไทย

เปิด 5 อันดับ นักท่องเที่ยวเข้าไทยสูงสุด (วันที่ 8-14 มกราคม 2567)

กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เผยข้อมูลจากกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่า ช่วง 8-14 ม.ค. 67 นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวสูงกว่าที่คาดการณ์เป็นผลมาจากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวในทุกภูมิภาค 

โดยมีนักท่องเที่ยวจากจีนเดินทางเข้าไทยมากที่สุดจำนวน 104,570 คน (เพิ่มขึ้น 27.75) รองลงมา ได้แก่ มาเลเซีย 81,315 คน (เพิ่มขึ้น 26.95), เกาหลีใต้ 54,023 คน (เพิ่มขึ้น 23.08), รัสเซีย 50,705 คน (ลดลง 1.48) และอินเดีย 35,237 คน (เพิ่มขึ้น 16.67)

นอกจากนี้ยังพบว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวสะสมตั้งแต่วันที่ 1-14 ม.ค.2567 ทั้งสิ้น 1,300,363 คน สร้างรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้วประมาณ 63,205 ล้านบาท

‘นทท.ต่างชาติ’ เข้าไทย 15-21 ม.ค. ทะลุ 7 แสนคน อานิสงส์ ‘ฟรีวีซ่า’ ไม่แผ่ว ‘นทท.จีน’ ทะลัก 1.2 แสนคน

(23 ม.ค. 67) นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า จากกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่า สัปดาห์ที่ผ่านมานักท่องเที่ยวกลุ่มตลาดระยะใกล้มีการฟื้นตัว โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามามากที่สุด โดยมีปัจจัยจากความต้องการท่องเที่ยวต่างประเทศ และจำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นของจีน การยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทาง หรือวีซ่าฟรี ให้แก่นักท่องเที่ยวจีน 

ส่งผลให้สัปดาห์ที่ผ่านมา ในภาพรวมไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งสิ้น 715,579 คน เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 20,753 คน หรือ 2.99% คิดเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยเฉลี่ยวันละ 102,226 คน 

โดย 5 อันดับแรกของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ได้แก่ จีน 120,381 คน เพิ่มขึ้น 15.12% มาเลเซีย 73,085 คน บวก 14.37% เกาหลีใต้ 55,218 คน บวก 2.21% ส่วนรัสเซีย 48,114 คน ลดลง 10.12% และอินเดีย 40,300 คน ลดลง 5.11%

น.ส.สุดาวรรณกล่าวว่า สัปดาห์ถัดไป คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับตัวเพิ่มขึ้น จากความต้องการท่องเที่ยวต่างประเทศของชาวจีน และจำนวนเที่ยวบินขาออกของจีนที่เพิ่มขึ้น วีซ่าฟรีให้แก่นักท่องเที่ยวจีน และคาซัคสถาน การขยายเวลาพำนักแก่นักท่องเที่ยวรัสเซีย และการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวตลาดระยะไกล ทั้งภูมิภาคยุโรป และอเมริกา

น.ส.สุดาวรรณกล่าวว่า จากข้อมูล ณ วันที่ 22 มกราคม 2567 พบว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวสะสมตั้งแต่วันที่ 1-21 มกราคม 2567 ที่ผ่านมาทั้งสิ้น 2,015,942 คน สร้างรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว ประมาณ 97,911 ล้านบาท โดยจำนวนนักท่องเที่ยวสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน 306,805 คน มาเลเซีย 218,453 คน เกาหลีใต้ 153,135 คน รัสเซีย 150,286 คน และอินเดีย 105,740 คน

‘สว.วีระศักดิ์’ เผยเสน่ห์ท่องเที่ยวไทย คือไมตรีของคนทุกท้องถิ่น

ไม่นานมานี้ สำนักข่าว บีบีซี (ภาคภาษาเวียดนาม) ได้นำเสนอสกู๊ปพิเศษเรื่อง 'ไทย แชมป์ อาเซียนด้านนักท่องเที่ยวต่างชาติ : เมื่อไหร่จะถึงคิวเวียดนามบ้าง?' โดยสืบเนื่องจากปี 2023 ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวเวียดนามแห่ไปเที่ยวไทยเป็นจำนวนมาก และใช้จ่ายไปถึง 11,000 ล้านด่อง 

นักข่าวบีบีซีท่านนี้ที่ชื่อ Tran Vo ได้สัมภาษณ์เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวกับ นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาไทย โดยนายวีระศักดิ์ ได้กล่าวชี้ชัดสั้น ๆ ไว้ว่า “เสน่ห์ของการท่องเที่ยวไทย คือความเป็นมิตรไมตรีของคนไทยในทุกท้องถิ่น และรัฐช่วยอีกแรงด้วยการผ่อนคลายด้านวีซ่า”

ก่อนหน้านี้ เหงียน วัน มาย ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเวียดนามยอมรับด้วยว่า “ไทยเป็นผู้นำด้านท่องเที่ยวแม้ไม่ต้องมีนโยบายเปิดคาสิโนอย่างที่เวียดนามทำ เพราะไทยสามารถเปลี่ยน 'เรื่องพื้น ๆ' ให้เป็นเรื่องน่าเที่ยว และเมื่อบวกกับความต้อนรับขับสู้ในการให้บริการ ก็สามารถได้ความประทับใจโดยไม่ต้องใช้เงินลงทุนมากมาย”

นอกจากนี้ ยังได้เอ่ยชื่นชม ททท.ไทย ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและเติมคุณค่าให้ของพื้นบ้านต่าง ๆ เช่น น้ำหวานดอกมะพร้าวให้กลายเป็นสินค้าน่าประทับใจ พร้อมทั้งยกตัวอย่างการพาชมหิ่งห้อยอัมพวา การใช้ผลไม้ที่เผาเป็นถ่านใช้ไล่ยุงในรีสอร์ต ว่าทำได้อย่างน่าทึ่ง

นี่คือเสน่ห์ที่แม้แต่เพื่อนบ้านซึ่งเป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจยังยอมรับแบบหมดใจ 

ท่องเที่ยวไทย เสน่ห์ที่ใคร ๆ ก็หลงใหล

สำหรับบทความเต็ม ติดตามอ่านต่อได้ใน >> https://www.bbc.com/vietnamese/articles/cxem54drekpo

‘อ.พงษ์ภาณุ’ ยกท่องเที่ยวไทย ‘ยุคเศรษฐา’ มาถูกทาง เปิดทางเอกชนโชว์ฟอร์ม ส่วนภาครัฐช่วยเป็นแรงหนุน

(4 มี.ค. 67) อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ได้กล่าวถึงประเด็น การเติบโตที่นำโดยการท่องเที่ยว (Tourism-led Growth) ระบุว่า...

ต้องยอมรับว่า Ignite Thailand จุดพลัง รวมใจ ไทยเป็นหนึ่ง ที่นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ได้แถลงไปเมื่อเร็วๆ นี้ เป็นวิสัยทัศน์ที่ชาญฉลาดเละเป็นไปได้ แต่ก็มีความท้าทายสูงในด้านการดำเนินการ (Implementation) ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน หากเปรียบเทียบกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของรัฐบาลที่แล้ว ต้องถือว่า Ignite Thailand มีความทันสมัยและเหมาะสมกับสถานการณ์มากกว่า

ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าภาคการท่องเที่ยวมีความสำคัญและมีศักยภาพที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไปสู่ความเป็นศูนย์กลางในด้านต่างๆ รวมทั้ง Medical Hub, Aviation Hub และ Financial Hub เป็นต้น การบริหารจัดการการดำเนินการเพื่อมุ่งไปสู่วิสัยทัศน์นี้จึงหนีไม่พ้นกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งมี ททท. เป็นหน่วยงานหลัก แต่ความท้าทายน่าจะอยู่ที่การสร้างความเชื่อมโยงไปสู่ความเป็นศูนย์กลางในสาขาทั้ง 8 สาขา ซึ่งจำเป็นต้องทลายกำแพงที่กีดขวางการทำงานแบบบูรณาการข้ามหน่วยงานของระบบราชการไทย

วันนี้การท่องเที่ยวของไทยได้พัฒนาก้าวหน้ามาอย่างมากจนอยู่ในระดับแนวหน้าของโลก ความสำเร็จนี้ไม่ได้เกิดจากความเก่งกาจของภาครัฐแต่อย่างใด แต่ส่วนใหญ่มาจากความสามารถของภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโรงแรม, ภัตตาคาร, ห้างสรรพสินค้า ตลอดจนแหล่งท่องเที่ยวที่มีการบริหารจัดการแบบมืออาชีพ 

การยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยให้เป็นหนึ่งของโลกตามวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรี จำเป็นต้องจัดโครงสร้างการบริหารจัดการภาคการท่องเที่ยวใหม่ โดยสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนในรูปแบบ PPP ลดบทบาทภาครัฐให้เหลือเพียงการวางนโยบายและการกำกับดูแลรวม ทั้งการให้การสนับสนุน/อุดหนุนทางการเงินเท่าที่จำเป็น และที่สำคัญต้องหลีกเลี่ยงการเข้ามาเป็นผู้เล่นแข่งกับธุรกิจเอกชน บทบาทในการลงทุนและการบริหารจัดการต้องเป็นของภาคเอกชนเท่านั้น

สิ่งสำคัญที่นายกรัฐมนตรีเน้นและอาจเป็นบทบาทสำคัญของรัฐบาล คือ การปลดล็อกข้อจำกัดในด้านกฏระเบียบข้อบังคับ และการจัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ซึ่งปัจจุบันต้องถือเป็นข้อด้อยที่บั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย

ข้อจำกัดทางกฎหมายของไทยมีอยู่มากมาย เพียงไม่กี่เดือนของรัฐบาลนี้ ได้มีการขยายเวลาเปิดสถานบริการ ปรับเปลี่ยนเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การยกเว้นวีซ่าแก่นักท่องเที่ยวบางประเทศ ที่ต้องชมเชยก็คือ การลดภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะไวน์และสุรานำเข้า ซึ่งจะช่วยให้เครื่องดื่มมีราคาลดลง สอดคล้องกับนโยบายการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านอาหาร แต่ก็พึงต้องดูแลให้เครื่องดื่มนำเข้าเหล่านี้เสียภาษีอย่างครบถ้วน

ประการสำคัญที่สุด ประเทศไทยจะไม่สามารถเป็น Hub ในด้านต่างๆ ได้เลย หากภาคอุตสาหกรรมและบริการของไทยยังไม่เปิดเสรี แม้จะมีการเปิดเสรีทางการค้าไปมากแล้ว แต่ปัจจุบันประเทศไทยยังมีข้อจำกัดด้านการเคลื่อนย้ายบริการ ทุน และแรงงานข้ามพรมแดนอยู่มาก แรงงานมีฝีมือยังไม่สามารถเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้อย่างเสรี ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรทางการแพทย์, วิศวกร, นักกฎหมาย การจะเป็น Hub ได้อย่างเต็มปากจำเป็นต้องมีบุคลากรมืออาชีพที่เป็นที่สุดของโลกด้วย

2 เดือนแรกปี 67 นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย 6.7 ล้านคน อานิสงส์ ‘ฟรีวีซ่า-เพิ่มเที่ยวบิน’ โกยรายได้ 3.2 แสนล้านบาท

เมื่อไม่นานมานี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา อัปเดตสถานการณ์ท่องเที่ยวล่าสุด พบขณะนี้ตั้งแต่วันที่ วันที่ 1 มกราคม - 3 มีนาคม 2567 ไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเที่ยวไทย ทั้งสิ้น 6,730,914 คน สร้างรายได้ 326,034 ล้านบาท

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่

-จีน 1,238,353 คน
-มาเลเซีย 889,948 คน
-รัสเซีย 444,837 คน
-เกาหลีใต้ 430,701 คน
-อินเดีย 327,768 คน

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่าสำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา ได้อัปเดตสถานการณ์ท่องเที่ยวในช่วงสัปดาห์ล่าสุด (วันที่ 26 กุมภาพันธ์ - 3 มีนาคม 2567) พบว่า ไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งสิ้น 749,680 คน ลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า 14,175 คน หรือ 1.86 % คิดเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยเฉลี่ยวันละ 107,098 คน

โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานักท่องเที่ยวมาเลเซีย แซงนักท่องเที่ยวจีน ขยับขึ้นมาเป็นกลุ่มที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวอันดับที่ 1 ซึ่งเป็นผลมาจากการการปิดภาคเรียนภายในประเทศ และการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวกลุ่มตลาดระยะใกล้ โดยนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้นกว่า 11,897 คน จากสัปดาห์ก่อนหน้า

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาด 5 อันดับแรกที่เที่ยวไทยมากที่สุด พบว่านักท่องเที่ยวมาเลเซีย 130,120 คน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 10.06 % นักท่องเที่ยวจีน 124,037 คน นักท่องเที่ยวรัสเซีย 47,831 คน นักท่องเที่ยวเกาหลีใต้ 42,956 คน และนักท่องเที่ยวอินเดีย 34,639 คน โดยนักท่องเที่ยวเกาหลีใต้ รัสเซีย จีน และอินเดีย ปรับตัวลดลงเล็กน้อย

สำหรับในสัปดาห์ถัดไป คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยส่งเสริมการเดินทาง ได้แก่ การลงนามยกเว้นวีซ่าระหว่างไทย-จีน ที่มีผลช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่นักท่องเที่ยว เพิ่มการอำนวยความสะดวกในการเดินทาง และกระตุ้นให้สายการบิน เพิ่มจำนวนเที่ยวบิน รวมทั้งการยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทาง หรือวีซ่าฟรี ให้แก่นักท่องเที่ยวอินเดีย ไต้หวัน และคาซัคสถาน

‘มาคาเลียส’ วอนรัฐบาลช่วยภาค ‘การท่องเที่ยว’ ในประเทศ หลังคนไทยเริ่มไม่เที่ยวไทย หวั่น!! เกิดปัญหาระยะยาว

มาคาเลียส แหล่งรวมอี-วอเชอร์ที่พัก ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว อันดับ 1 ของประเทศไทย เผยภาพรวมการท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยอยู่ในภาวะชะลอตัว คนไทยแห่เที่ยวต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น เหตุจากค่าใช้จ่ายเที่ยวในประเทศมีราคาแพง โดยเฉพาะราคาค่าโดยสารสายการบิน ประกอบกับ นโยบายฟรีวีซ่า แนะภาครัฐและเอกชนควรหาทางออกโดยเร็ว หากปล่อยไว้กลายเป็นปัญหาด้านการท่องเที่ยวระยะยาว

นางสาวณีรนุช ไตรจักร์วนิช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท มาคาเลียส (MAKALIUS) ประเทศไทย จำกัด ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มท่องเที่ยวออนไลน์ แหล่งรวมอี-วอเชอร์ ที่พัก ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว กล่าวว่า “ภาพรวมด้านการท่องเที่ยวในประเทศของคนไทย ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาอยู่ในสภาวะชะลอตัว เนื่องจากส่วนใหญ่นิยมเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ด้วยเหตุผลหลายปัจจัย อาทิ อัตราค่าโดยสารสายการบินภายในประเทศมีราคาแพง โดยเฉพาะช่วงเทศกาลท่องเที่ยวจะมีราคาสูงขึ้นประมาณ 2 เท่าตัว อีกทั้งค่าใช้จ่ายสำหรับการท่องเที่ยวภายในประเทศไม่ต่างจากการท่องเที่ยวต่างประเทศ เป็นต้น

โดยตั้งแต่หลังสถานการณ์โควิด-19 พบว่า ประเทศที่คนไทยนิยมเดินทางไปมากที่สุดคือ ญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ ฮ่องกง สหราชอาณาจักร ไต้หวัน ลาว เป็นต้น เพราะประเทศเหล่านี้ออกนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยว นโยบายฟรีวีซ่า และปัจจัยอื่น ๆ เช่น ราคาค่าโดยสายสายการบินต่างประเทศแข่งกันทำโปรโมชั่นพิเศษ บางสายการบินทำตลาดด้วยการเปิดเส้นทางใหม่ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวไทยทั้งตลาดกลุ่มเดินทางด้วยตัวเอง (FIT) และกรุ๊ปทัวร์

มาคาเลียสมองว่าปัญหา ‘คนไทยไม่เที่ยวไทย’ เริ่มสะท้อนให้เห็นตั้งแต่ช่วงเทศกาลปีใหม่ และช่วงสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึงนี้ โดยพบว่าการจองที่พักในประเทศผ่านระบบของมาคาเลียสมียอดจองต่ำกว่า 50% ในทางกลับกันแพคเกจต่างประเทศกลับมียอดจองสูงขึ้นถึง 70% ซึ่งปัญหาดังกล่าวจะกลายเป็นปัญหาระยะยาวหากภาครัฐบาลและภาคเอกชนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไม่เร่งมือในการแก้ไข ถึงแม้ในปัจจุบันจะมีนโยบายเพิ่มเที่ยวบินพิเศษจำนวน 38 เที่ยวบิน ในช่วงระหว่างวันที่ 11-12 เม.ย. และวันที่ 15-16 เม.ย.2567 ทำให้มีตั๋วโดยสารเครื่องบินเพิ่มขึ้นประมาณ 13,000 ที่นั่ง และสายการบินเตรียมจัดโปรโมชัน เพื่อให้ราคาถูกลง เพิ่มเที่ยวบินในประเทศแต่ราคายังสูงเหมือนเดิม ก็ยังคงเป็นการแก้ไขปัญหาระยะสั้นและเป็นเพียงการแก้ไขแค่บางส่วน อาจไม่เพียงพอต่อการกระตุ้นความสนใจของนักเที่ยวชาวไทยได้มากนัก เพราะพฤติกรรมนักท่องเที่ยวชาวไทยในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก การตัดสินใจในแต่ละครั้ง ต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าและประสบการณ์ที่จะได้รับกลับคืนมา

ดังนั้น การแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ ต้องดำเนินการแบบ ‘บูรณาการณ์’ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้

‘การเดินทาง’ (Transportation) ต้องปรับให้ทุกแพลตฟอร์ม ทั้ง การเดินทางทางอากาศ ทางบก ทางน้ำ มีมาตรฐานเดียวกัน คือ สะดวกในการจอง มีความปลอดภัย ตรงเวลา และราคาที่เหมาะสม เพราะต้องไม่ลืมว่า นักท่องเที่ยวไทยปัจจุบันมีหลากหลายไลฟ์สไตล์ บางคนชอบเที่ยวแบบสโลว์ไลฟ์ นั่งรถไฟ นั่งเรือ แต่ติดปัญหาทั้งด้านราคา การบริการที่ไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงความยากในการเข้าถึงระบบการจองที่สะดวกและรวดเร็ว

‘ที่พัก ร้านอาหาร’ (Accommodation & Restaurant) ถือเป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่สำคัญ เพราะเป็นหัวใจหลักในการท่องเที่ยว ซึ่งผู้ประกอบการควรรักษามาตรฐานทั้งด้านงานบริการ และราคาต้องเหมาะสม สามารถปรับเปลี่ยนราคาได้ในแต่ละช่วงของฤดูกาลแต่ต้องอยู่บนพื้นฐานความเหมาะสมและสอดรับกับค่าครองชีพของคนไทย ส่วนบทบาทของภาครัฐควรให้การสนับสนุนด้วยนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยว ซึ่งควรให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ไม่ควรจำกัดเงื่อนไขเฉพาะบางตัวแทนจำหน่าย (Travel Agency) เพราะลูกค้าบางรายไม่ได้จองที่พักกับตัวแทนจำหน่ายขนาดใหญ่เพียงอย่างเดียว

นางสาวณีรนุช กล่าวต่อว่า “เรื่องสุดท้ายคือ ‘ประสบการณ์การท่องเที่ยว’ (Travel Experience) เทรนด์การท่องเที่ยวในปัจจุบัน นักท่องเที่ยวมองหารูปแบบการเที่ยวที่จะช่วยเพิ่มประสบการณ์ใหม่ ๆ ทั้งประสบการณ์การพักผ่อน ประสบการณ์ความสนุกกับกิจกรรม ประสบการณ์การบริการที่เหนือระดับ และอื่น ๆ ดังนั้นการจะดึงนักท่องเที่ยวไทยให้เที่ยวในเมืองไทยได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการต้องสอดแทรกประสบการณ์ด้านต่าง ๆ ไปในบริการของตนเอง และทำการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้เกิดการมาใช้บริการซ้ำ ในส่วนของภาครัฐอาจจะเข้ามาช่วยเหลือในด้านของเงินทุนปล่อยกู้สนับสนุน เพื่อให้ผู้ประกอบการได้นำไปพัฒนารูปแบบบริการต่อไปได้”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top