‘อ.พงษ์ภาณุ’ ยกท่องเที่ยวไทย ‘ยุคเศรษฐา’ มาถูกทาง เปิดทางเอกชนโชว์ฟอร์ม ส่วนภาครัฐช่วยเป็นแรงหนุน

(4 มี.ค. 67) อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ได้กล่าวถึงประเด็น การเติบโตที่นำโดยการท่องเที่ยว (Tourism-led Growth) ระบุว่า...

ต้องยอมรับว่า Ignite Thailand จุดพลัง รวมใจ ไทยเป็นหนึ่ง ที่นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ได้แถลงไปเมื่อเร็วๆ นี้ เป็นวิสัยทัศน์ที่ชาญฉลาดเละเป็นไปได้ แต่ก็มีความท้าทายสูงในด้านการดำเนินการ (Implementation) ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน หากเปรียบเทียบกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของรัฐบาลที่แล้ว ต้องถือว่า Ignite Thailand มีความทันสมัยและเหมาะสมกับสถานการณ์มากกว่า

ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าภาคการท่องเที่ยวมีความสำคัญและมีศักยภาพที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไปสู่ความเป็นศูนย์กลางในด้านต่างๆ รวมทั้ง Medical Hub, Aviation Hub และ Financial Hub เป็นต้น การบริหารจัดการการดำเนินการเพื่อมุ่งไปสู่วิสัยทัศน์นี้จึงหนีไม่พ้นกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งมี ททท. เป็นหน่วยงานหลัก แต่ความท้าทายน่าจะอยู่ที่การสร้างความเชื่อมโยงไปสู่ความเป็นศูนย์กลางในสาขาทั้ง 8 สาขา ซึ่งจำเป็นต้องทลายกำแพงที่กีดขวางการทำงานแบบบูรณาการข้ามหน่วยงานของระบบราชการไทย

วันนี้การท่องเที่ยวของไทยได้พัฒนาก้าวหน้ามาอย่างมากจนอยู่ในระดับแนวหน้าของโลก ความสำเร็จนี้ไม่ได้เกิดจากความเก่งกาจของภาครัฐแต่อย่างใด แต่ส่วนใหญ่มาจากความสามารถของภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโรงแรม, ภัตตาคาร, ห้างสรรพสินค้า ตลอดจนแหล่งท่องเที่ยวที่มีการบริหารจัดการแบบมืออาชีพ 

การยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยให้เป็นหนึ่งของโลกตามวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรี จำเป็นต้องจัดโครงสร้างการบริหารจัดการภาคการท่องเที่ยวใหม่ โดยสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนในรูปแบบ PPP ลดบทบาทภาครัฐให้เหลือเพียงการวางนโยบายและการกำกับดูแลรวม ทั้งการให้การสนับสนุน/อุดหนุนทางการเงินเท่าที่จำเป็น และที่สำคัญต้องหลีกเลี่ยงการเข้ามาเป็นผู้เล่นแข่งกับธุรกิจเอกชน บทบาทในการลงทุนและการบริหารจัดการต้องเป็นของภาคเอกชนเท่านั้น

สิ่งสำคัญที่นายกรัฐมนตรีเน้นและอาจเป็นบทบาทสำคัญของรัฐบาล คือ การปลดล็อกข้อจำกัดในด้านกฏระเบียบข้อบังคับ และการจัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ซึ่งปัจจุบันต้องถือเป็นข้อด้อยที่บั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย

ข้อจำกัดทางกฎหมายของไทยมีอยู่มากมาย เพียงไม่กี่เดือนของรัฐบาลนี้ ได้มีการขยายเวลาเปิดสถานบริการ ปรับเปลี่ยนเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การยกเว้นวีซ่าแก่นักท่องเที่ยวบางประเทศ ที่ต้องชมเชยก็คือ การลดภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะไวน์และสุรานำเข้า ซึ่งจะช่วยให้เครื่องดื่มมีราคาลดลง สอดคล้องกับนโยบายการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านอาหาร แต่ก็พึงต้องดูแลให้เครื่องดื่มนำเข้าเหล่านี้เสียภาษีอย่างครบถ้วน

ประการสำคัญที่สุด ประเทศไทยจะไม่สามารถเป็น Hub ในด้านต่างๆ ได้เลย หากภาคอุตสาหกรรมและบริการของไทยยังไม่เปิดเสรี แม้จะมีการเปิดเสรีทางการค้าไปมากแล้ว แต่ปัจจุบันประเทศไทยยังมีข้อจำกัดด้านการเคลื่อนย้ายบริการ ทุน และแรงงานข้ามพรมแดนอยู่มาก แรงงานมีฝีมือยังไม่สามารถเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้อย่างเสรี ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรทางการแพทย์, วิศวกร, นักกฎหมาย การจะเป็น Hub ได้อย่างเต็มปากจำเป็นต้องมีบุคลากรมืออาชีพที่เป็นที่สุดของโลกด้วย