Sunday, 12 May 2024
ชัยวุฒิธนาคมานุสรณ์

‘ชัยวุฒิ’ ชี้ พ.ร.ก. ช่วยลดอาญชากรรมไซเบอร์ วอนสภาฯ อนุมัติ ช่วย ปชช. ตกเป็นเหยื่อ

(3 ส.ค. 66) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรถึงเหตุผลและความจำเป็น ตลอดจนสาระสำคัญของพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 โดยระบุถึงเหตุผลและความจำเป็น ว่า ปัจจุบันประชาชนผู้สุจริตถูกคนร้ายใช้วิธีการทางเทคโนโลยีหลอกลวงหลอกลวง ทำให้เสียหายทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก เป็นอันตรายร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อแก้ไขปัญหาบัญชีม้า ซิมม้า และระงับยับยั้งการโอนเงินของคนร้ายต่อเป็นทอด ๆ เพื่อให้สามารถติดตามทรัพย์สินคืนให้กับผู้เสียหายได้ทัน เป็นสำคัญ

นายชัยวุฒิ ได้สรุปถึงสาระสำคัญของพระราชกำหนดฯ ฉบับดังกล่าวด้วยว่า พระราชกำหนดฯ ฉบับนี้ มีทั้งหมด 14 มาตรา

มาตราที่ 1, 2 และ 3 บัญญัติเกี่ยวกับชื่อเรียก วันที่บังคับใช้ และคำนิยาม ตามลำดับ

มาตรา 4 กรณีที่มีเหตุอันควรสงสัย ให้ฝ่ายธนาคาร และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ มีหน้าที่เปิดเผย หรือแลกเปลี่ยนข้อมูล และส่งให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องนำไปใช้ประโยชน์เพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

มาตรา 5 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจ กรมสอบสวนดีพิเศษ และสำนักงาน ปปง. สั่งให้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ เปิดเผยข้อมูลการลงทะเบียน หรือข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ และมีหน้าที่ส่งให้ผู้สั่งภายในระยะเวลาที่กำหนด

มาตรา 6 กรณีที่ธนาคารพบเหตุอันควรสงสัย ให้มีหน้าที่ระงับการทำธุรกรรมนั้น และแจ้งธนาคารที่รับโอนต่อทุกทอด ระงับการทำธุรกรรมที่รับโอนไว้ทันที เป็นการชั่วคราวไม่เกินเจ็ดวัน  เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง และแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจ หรือ เลขาธิการ ปปง. ดำเนินการตรวจสอบ

มาตรา 7 กรณีที่ธนาคารได้รับแจ้งจากผู้เสียหายโดยตรง ให้ธนาคารระงับการทำธุรกรรมนั้นไว้ทันที และแจ้งให้ธนาคารที่รับโอนต่อทุกทอด ระงับการทำธุรกรรมที่รับโอนไว้ด้วย พร้อมกับแจ้งผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในเวลา 72 ชั่วโมง เมื่อพนักงานสอบสวนรับคำร้องทุกข์แล้ว ให้พิจารณามีคำสั่งไปยังธนาคาร ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันได้รับคำร้องทุกข์ หากไม่มีคำสั่งภายในกำหนดเวลา ให้ธนาคารยกเลิกการระงับการทำธุรกรรม

มาตรา 8 วรรคแรก การแจ้งข้อมูลหรือหลักฐาน ตามมาตรา 6 และมาตรา 7 สามารถกระทำทางโทรศัพท์หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้

มาตรา 8 วรรคสอง 1) การร้องทุกข์ในความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีจะกระทำต่อพนักงานสอบสวน ณ สถานีตำรวจแห่งใดในราชอาณาจักร และจะร้องทุกข์ทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ โดยให้ถือว่าเป็นการร้องทุกข์โดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

2) การสอบสวนหรือดำเนินการเกี่ยวกับความผิดดังกล่าว ให้พนักงานสอบสวนที่รับคำร้องทุกข์ไม่ว่าจะประจำอยู่ที่สังกัดใด หรือพนักงานสอบสวนที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกำหนดให้เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ มีอำนาจสอบสวนหรือดำเนินเกี่ยวกับความผิดดังกล่าวได้ไม่ว่าความผิดนั้นเกิดขึ้น ณ ที่ใดในราชอาณาจักร

มาตรา 9 ผู้ใดเปิดบัญชีม้า หรือใช้ซิมม้า มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 10 และมาตรา 11 ผู้ใดโฆษณาเกี่ยวกับบัญชีม้า ซิมม้า มีโทษจำคุก ตั้งแต่ 2 - 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2 - 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 12 การเปิดเผย แลกเปลี่ยน เข้าถึง จัดเก็บ รวบรวม การใช้ข้อมูลบุคคลตามตามพระราชกำหนดฯ นี้ ไม่อยู่ภายใต้การบังคับของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

มาตรา 13 ในวาระเริ่มแรกให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา คณะหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่ 1) กำหนดแนวทางในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 2) ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับเหตุอันควรสงสัย และ 3) ให้คำแนะนำและคำปรึกษาเกี่ยวกับการปฏิบัติงาน โดยให้ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แต่งตั้งเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แต่งตั้งเลขานุการร่วม

มาตรา 14 นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมรักษาการตามพระราชกำหนดฯ นี้

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

การจัดทำพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 จะส่งผลให้การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ลดภาระและอำนวยความสะดวกในการร้องทุกข์ให้แก่ประชาชน และสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ และความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ

นายชัยวุฒิ ได้ให้นำเสนอข้อมูลสถิติคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เปรียบเทียบระหว่าง ก่อนวันที่ พระราชกำหนดฯ ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ (วันที่ 17 มี.ค.66) กับหลังจากวันที่มีผลบังคับใช้ ในด้านที่สำคัญ ว่า

- ต้นปี 2566 ถึงก่อนวันที่ พระราชกำหนดฯ มีผลบังคับใช้ (วันที่ 1 ม.ค.66 - 16 มี.ค.66) เกิดเฉลี่ย 790 คดี/วัน
- ตั้งแต่วันที่ พระราชกำหนดฯ มีผลบังคับใช้ (17 มี.ค.66) ถึงวันที่ 17 ก.ค.66 (121 วัน) เกิดรวม 74,280 คดี เฉลี่ย 603 คดี/วัน
- พอสรุปได้ว่า ตั้งแต่พระราชกำหนดฯ มีผลบังคับใช้ สถิติการเกิดคดีลดลงเฉลี่ย 187 คดี/วัน

ขณะที่การขออายัดบัญชีนั้น พบว่า

- ในช่วงระยเวลาก่อนวันที่ พระราชกำหนดฯ มีผลบังคับใช้ (วันที่ 1 ม.ค.66 - 16 มี.ค.66)  มีการขออายัดบัญชี จำนวน 1,346 ล้านบาทเศษ อายัดได้ทัน 87 ล้านบาท (คิดเป็น 6.5 %)
- ตั้งแต่วันที่ พระราชกำหนดฯ มีผลบังคับใช้ (วันที่ 17 มี.ค.66) ถึงวันที่ 17 ก.ค.66 (121 วัน) มีการขออายัดบัญชี จำนวน 2,400 ล้านบาท อายัดได้ทัน 256 ล้านบาท (คิดเป็น 10.3 %)  
- พอสรุปได้ว่า ตั้งแต่ พระราชกำหนดฯ มีผลบังคับใช้ สามารถอายัดบัญชีได้ทันเพิ่มมากขึ้น

ด้านการจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับบัญชีม้าและซิมม้า

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ดำเนินคดีผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับบัญชีม้าและซิมม้า โดยมีผลการจับกุม ใน 4 ข้อหา รวม 336 ราย ดังนี้

- ข้อหาเปิดหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชีเงินฝากของตน (บัญชีม้า) รวม 245 ราย
- ข้อหายินยอมให้ผู้อื่นใช้หรือยืมใช้เลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของตน (ซิมม้า) รวม 36 ราย
- ข้อหาเป็นธุระจัดหา โฆษณา ไขข่าว ให้มีการซื้อขายบัญชี (ประกาศขายบัญชีม้า) รวม 7 ราย
- ข้อหาเป็นธุระจัดหา โฆษณา ไขข่าว ให้มีการซื้อขายเลขหมายโทรศัพท์ (ประกาศขายซิมม้า) รวม 48 ราย

นายชัยวุฒิ ยังย้ำด้วยว่า ในช่วงที่ผ่านมา ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ และตระหนักรู้เกี่ยวกับการป้องกันภัยทางอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงาน ปปง. สำนักงาน กสทช. ธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ร่วมกันประชาสัมพันธ์ แจ้งเตือน รูปแบบภัยทางออนไลน์ต่าง ๆ ไม่ให้ประชาชนหลงเชื่อหรือตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ และช่องทางการติดต่อในการแก้ปัญหาหากเกิดเหตุแล้ว ปรากฏบนสื่อต่าง ๆ ในทุกรูปแบบ

“กระผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า สภาผู้แทนราษฎรจะได้พิจารณาอนุมัติพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 เพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพที่นับวันจะยิ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น” นายชัยวุฒิ กล่าว

อนึ่ง เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการร่างพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ซึ่งต่อมานายกรัฐมนตรีได้นำกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2566 โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป

โดยที่บทบัญญัติมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้กำหนดสำหรับการตราพระราชกำหนดทั่วไปว่า “มาตรา 172 ในกรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ พระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติก็ได้
การตราพระราชกำหนดตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้”

‘ชัยวุฒิ’ เผย ‘ลุงป้อม’ ให้ความมั่นใจยังอยู่กับ พปชร. ลั่น!! ไม่เคยมีใครพูดว่าลุงป้อมไม่รับตำแหน่งรัฐบาล พท.

(12 ส.ค. 66) ที่สนามหลวง นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้สัมภาษณ์ถึงการเข้าอวยพรวันคล้ายวันเกิด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เมื่อวันที่ 11 ส.ค. ว่า พล.อ.ประวิตรได้ให้ความมั่นใจกับสมาชิกว่าจะทำงานร่วมกับพรรค เพื่อให้พรรคเข้มแข็งและเดินหน้าต่อไป

เมื่อถามว่า มีข่าวว่ามีการขอให้ซื่อสัตย์กับลุงป้อม นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ก็คงมีบางคนพูด แต่ก็เป็นแนวทางของเราอยู่แล้วที่จะต้องมีความจริงใจต่อกันในการทำงาน ตั้งใจทำสิ่งที่ดีที่สุดให้กับพรรคและทำนโยบายของพรรคต่อไปในอนาคต

เมื่อถามว่า พล.อ.ประวิตรได้กำชับสมาชิกในพรรคเรื่องการโหวตนายกรัฐมนตรีในครั้งต่อไปหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ นายไผ่ ลิกค์ สส.กำแพงเพชร บอกจะยกทั้ง 40 สส. โหวตนายกฯ ให้เพื่อไทย นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ไม่มีคุยกันเรื่องนี้ งานวันเกิดไม่ใช่การประชุมพรรค เดี๋ยวคงจะมีการประชุมพรรคเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง ข่าวที่ออกมาเป็นเพียงแนวคิดของ สส.บางกลุ่ม แต่มันจะเป็นทางการก็ต่อเมื่อมีการประชุมพรรค เป็นมติพรรค และแถลงข่าวร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาล ตอนนี้สมาชิกในพรรคยังไม่มีการพูดคุยกันว่าแนวทางการโหวตจะเป็นอย่างไร แต่แน่นอนว่านักการเมืองตอนนี้คุยกันในเรื่องของการจัดตั้งรัฐบาลถือเป็นวาระสำคัญของสภาฯ แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปอย่างเป็นทางการ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ข่าวการจัดตั้งรัฐบาลที่ออกมาคิดว่าจะเป็นไปตามนั้นหรือไม่ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ก็ต้องรอติดตามดูอีกที ตนก็รู้จากนักข่าวนี่แหละว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง เพราะมันเป็นข่าวจากหลายพรรคหลายที่ตนก็รู้แต่เรื่องในพรรคพลังประชารัฐ

เมื่อถามว่าในส่วนของ พล.อ.ประวิตร ชัดเจนหรือไม่จะไม่รับตำแหน่งในรัฐบาลชุดนี้ เพราะมีกระแสข่าวว่าจะให้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ประธานที่ปรึกษาพรรคพลังประชารัฐ รับตำแหน่งแทน นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ไม่ทราบ ยังไม่ได้คุยกัน

เมื่อถามว่า พล.อ.ประวิตร ได้มีการบอกหรือไม่ว่าจะวางมือในรอบนี้ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ก็เห็นยังฟิตทำงานอยู่ตลอดจะวางมือตอนไหน พลังประชารัฐทุกคนก็ยังคงทำงานร่วมกันโดยมี พล.อ.ประวิตรเป็นหัวหน้าพรรค และดูจากวันเกิดก็จะเห็นว่ามีลุงก็มีเรา อย่าคิดมาก

เมื่อถามว่า มีข่าวว่า พล.อ.ประวิตรจะไม่รับตำแหน่งในรอบนี้ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ใครบอกว่าไม่รับตำแหน่ง ท่านไม่เคยพูดสักหน่อย ตนยังไม่เคยได้ยินเลย ลุงป้อมเคยพูดที่ไหน ถ้าท่านทำงานได้ท่านก็ทำอยู่แล้ว และตอนนี้ พล.อ.ประวิตรยังคงเป็นแคนดิเดตนายกฯ อยู่ ดังนั้น จะมาบอกว่าท่านจะไม่รับตำแหน่งในรัฐบาลนี้ได้อย่างไร แต่ว่าโอเคอาจจะไม่ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ทำไมสื่อชอบไปยุให้ท่านถอนตัวหรือวางมือ

เมื่อถามว่า มีกระแสคัดค้านลุงก่อนหน้านี้ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า มีลุงมีเราอย่าไปคิดมาก ส่วนที่มีสื่อบางสำนักไปลงว่ามีลุงไม่มีแรงนั้นไม่ทราบ แต่ยืนยันว่ามีลุงก็มีเรา ยังอยู่ๆ อย่าคิดว่าลุงไม่อยู่ เพราะท่านก็ยังเป็นหัวหน้าพรรคอยู่ ยังไม่ได้วางมือทางการเมือง สื่อต้องลงข่าวให้มีข้อเท็จจริงด้วย เพราะไม่อย่างนั้นจะทำให้ประชาชนเกิดความสับสน

'ชัยวุฒิ' ร่วม 'บวงสรวง-เททองหล่อ' ชนวนนำฤกษ์วัตถุมงคลพญาครุฑ รุ่น 'สมบัติแผ่นดิน 140 ปี ไปรษณีย์ไทย' คงไว้ซึ่งศิลป์แห่งปฐมบท

เมื่อวานนี้ (13 ส.ค.66) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานในพิธีบวงสรวงและเททองหล่อชนวนนำฤกษ์วัตถุมงคลพญาครุฑ รุ่น 'สมบัติแผ่นดิน 140 ปี ไปรษณีย์ไทย' เพื่อสืบสานตำนานศิลป์ปฐมบท 'ครุฑยุดแตรงอน' สัญลักษณ์ของกรมไปรษณีย์โทรเลข โดย สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี หรือ เจ้าคุณธงชัย เจ้าคณะใหญ่หนกลาง กรรมการมหาเถสมาคม ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหารเป็นประธานพิธีฝ่ายสงฆ์ ณ ไปรษณีย์กลาง บางรัก กรุงเทพฯ

ทั้งนี้ วัตถุมงคลพญาครุฑฯ จำลองมาจากประติมากรรมที่ประดับบนอาคารไปรษณีย์กลาง ซึ่งออกแบบโดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี

‘ชัยวุฒิ’ อำลา ก.ดิจิทัลฯ ขอบคุณ ‘ลุงตู่-ลุงป้อม’ ที่ให้โอกาส ลั่น!! ถึงแม้จะเป็นแค่คนธรรมดา ก็ขอทำงานเพื่อบ้านเมืองต่อไป

(1 ก.ย. 66) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่า…

สวัสดีครับพี่น้องประชาชนทุกท่าน ก่อนอื่นผมต้องขอกราบขอบคุณพรรคพลังประชารัฐ ท่าน พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ และท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นอย่างสูง ที่ไว้วางใจให้ผมทำงานเพื่อบ้านเมือง ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา และขอบคุณคณะรัฐมนตรีทุกคนที่มีโอกาสได้ทำงานร่วมกัน เป็นช่วงเวลา 2 ปีที่ผมถือว่าเป็นประสบการณ์ที่มีค่าที่สุดในชีวิต 

และในฐานะนักการเมือง ซึ่งผมเริ่มงานการเมืองเป็น สส.สิงห์บุรี มาตั้งเเต่อายุ 29 ปี เเน่นอนครับ ผมจะมาถึงวันนี้ไม่ได้ถ้าไม่ได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องประชาชน และชาวสิงห์บุรีบ้านของผม ขอขอบคุณที่รักในความเป็นชัยวุฒิ ทำให้ผมมีวันนี้ วันที่ผมได้เรียนรู้ในบทบาทของผู้บริหารบ้านเมือง สิ่งสำคัญ ไม่ง่าย เพราะเราต้องทำจริง ไม่ใช่เเค่พูด และผมคงไม่สามารถ ทำงานได้หากขาดกลไกของการขับเคลื่อน และความร่วมมือจากทุก ๆ คนที่มาทำงานร่วมกัน

ผมขอขอบคุณ ข้าราชการ พนักงาน ผู้บริหาร ทั้งหน่วยงานองค์กรในสังกัดและนอกสังกัดกระทรวงดีอีเอส อันเป็นที่รัก หลายคนเป็นเหมือน เพื่อน พี่ และผู้ใหญ่ ที่คอยแนะนำช่วยเหลือ ผมดีใจที่ได้ร่วมกันทุ่มเททำงานเพื่อพี่น้องประชาชน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผมมีความภาคภูมิใจทุกครั้งที่ภารกิจของพวกเราที่ทำร่วมกันประสบความสำเร็จ และนับเป็นเกียรติอย่างสูงที่ได้ทำงานร่วมกันกับพวกท่าน ทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้เราได้ทำงานร่วมกันมาจะอยู่ในความทรงจำของผมเสมอครับ

ขอขอบคุณพี่น้องประชาชนทุกท่านอีกครั้ง ที่ให้โอกาสผมทำงานรับใช้ ถือเป็นสิ่งล้ำค่าที่ผมได้รับ และผมจะรักษาไว้ตลอดไป ผมขอฝากรัฐมนตรีดีอีเอสท่านใหม่ เข้ามาเเก้ไขปัญหากลโกงและการหลอกลวงบนโลกออนไลน์ ต้องรู้เท่าทัน ความเสียหายประชาชนเกิดขึ้นทุกวัน เป็นสิ่งที่เราต้องทำให้ได้ สิ่งนี้คือความหวัง เป็นกำลังใจให้ครับ 

สำหรับผม ภายหลังจากนี้ ผมขอยืนยันว่าไม่ว่าจะมีตำแหน่ง หรือ เป็นเพียงประชาชนคนธรรมดา ผมก็จะเดินหน้าทำงานเพื่อบ้านเมืองและพี่น้องประชาชนต่อไป

‘ชัยวุฒิ’ สุดแฮปปี้พาลูกนั่งรถไฟฟ้า - ดูหนัง ชี้ กิจกรรมนอกบ้านช่วยสอนเด็กเรียนรู้วิถีสังคม

เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 66 นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ใช้เวลาวันหยุดทำหน้าที่พาลูกเที่ยว โดยเมื่อวันเสาร์ที่ 16 กันยายน 2566 ได้พาลูก ๆ ทั้ง 3 คน ขึ้นรถไฟฟ้าไปดูหนัง พร้อมโพสต์ภาพและข้อความ ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า “นั่งรถไฟฟ้าไปดูหนังกันครับ”

ทั้งนี้ นายชัยวุฒิ ย้ำว่า หากมีเวลาว่างในวันหยุด จะใช้เวลาที่มีอยู่กับลูก ๆ เสมอ พร้อมกับจะพาเด็ก ๆ ออกไปเที่ยวหาประสบการณ์นอกบ้านเป็นประจำ เพราะมองว่า ประสบการณ์นอกบ้านนั้น คือส่วนสำคัญที่จะสอนให้เด็ก ๆ รู้จักการเข้าสังคมและเห็นวิถีชีวิตของคนส่วนใหญ่ในสังคม

‘ชัยวุฒิ’ โพสต์ดีใจได้พบ ‘อนุทิน - พีระพันธุ์’ หลังเข้าร่วมยินดีครบรอบ 27 ปี ‘ไทยโพสต์’

บรรยากาศสุดชื่นมื่น ‘ชัยวุฒิ’ เข้าแสดงความยินดี ‘เปลว สีเงิน’ ในโอกาสครบรอบ 27 ปี ‘ไทยโพสต์’ พร้อมเผยดีใจที่ได้พบกับคนคุ้นเคย ทั้ง ‘อนุทิน ชาญวีรกูล’ และ ‘พีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค’

(20 ต.ค. 66) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) โพสต์ภาพพร้อมข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ในโอกาสเข้ามอบกระเช้าดอกไม้ให้กับคุณเปลว สีเงิน คอลัมนิสต์ชื่อดัง ในโอกาสครบรอบหนังสือพิมพ์ ไทยโพสต์ โดยระบุว่า “ขอบคุณอาเปลว ที่เมตตาผมครับ และขอบคุณไทยโพสต์สื่อคุณภาพที่อยู่คนไทยมาอย่างยาวนาน”

พร้อมกันนี้ ยังได้โพสต์คลิปบรรยากาศ การพูดคุยกันอย่างเป็นกันเอง กับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ซึ่งเดินทางมาร่วมยินดีกับไทยโพสต์ด้วยเช่นกัน โดยระบุข้อความว่า “ดีใจที่ได้เจอพี่ ๆ ทั้งสองท่านครับ… เก่งทั้งคู่ครับ”

‘ชัยวุฒิ’ ดาวเด่นเวที ‘IYA Forum 2023’ ถอดรหัสประเทศไทย ‘อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต’

เป็นอีกหนึ่งเวทีที่น่าจับตามอง กับการคืนถิ่นลานเกียร์ของเหล่าพี่น้องชาววิศวะ จุฬาฯ ที่ผนึกกำลังรวมตัวถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิต ธุรกิจ และการเมือง ส่งต่อแรงบันดาลใจและเคล็ดลับความสำเร็จแก่ศิษย์เก่ารุ่นเยาว์ในงาน ‘IYA Forum 2023’ ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 นับตั้งแต่ปี 2017 ที่ได้ศิษย์เก่าผู้มีชื่อเสียงในแวดวงต่างๆ มาร่วมวงเสวนาเพื่อต่อยอดและแลกเปลี่ยนความรู้ สู่การพัฒนาประเทศ พร้อมสร้างเครือข่ายสไตล์ IYA

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ อีกหนึ่ง Speaker อดีตรุ่นพี่วิศวะจุฬาฯ (วศ 2533) มาร่วมวงเสวนา ‘ถอดรหัสประเทศไทย อดีต ปัจจุบัน และ อนาคต’ ร่วมกับ อีกสามดาวเด่นแวดวงการเมืองยุคใหม่ อย่าง ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล, วทันยา บุนนาค จากพรรคประชาธิปัตย์ และ รัฐ คลังแสง สส.จากพรรคเพื่อไทย โดยนายชัยวุฒิได้ถอดรหัสในประเด็นการเมืองไว้อย่างน่าสนใจ ซึ่งในช่วงแรกได้พาทุกคนย้อนกลับไปสมัยเป็นนิสิตวิศวะ จุฬาฯ ปี พ.ศ. 2533 ซึ่งมีความสนใจการเมืองอย่างมาก พร้อมลิ้มรสบทบาทการเมืองครั้งแรกหลังได้รับตำแหน่ง ‘หัวหน้านิสิต’ ณ ขณะนั้น พร้อมเป็น 1 ในนิสิต นักศึกษาที่ร่วมลงถนน ประท้วงรัฐบาลครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองที่มี พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี และต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ  (รสช.) ระหว่างวันที่ 17-24 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นการรัฐประหาร รัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งนายชัยวุฒิมองว่า เป็นเหตุการณ์สำคัญที่นำไปสู่การใช้รัฐธรรมนูญ 2540 ที่เป็นต้นเหตุของปัญหาเรื้อรัง ณ ปัจจุบัน

อีกหนึ่งประเด็นร้อนแรงอย่างการทำรัฐประหาร ในทัศนะการเปลี่ยนขั้วอำนาจ นายชัยวุฒิกล่าวว่า “ยอมรับว่าหลังจากการเปลี่ยนการปกครองมีการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่คณะการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีการช่วงชิงอำนาจมาโดยตลอด พูดง่ายๆ คือ ประชาธิปไตยไม่เต็มใบตั้งแต่แรก  ก่อนที่ในช่วงหลังๆ รัฐบาลไม่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน จากการทุจริตคอร์รัปชัน ความยากจนของประชาชน และสร้างความไม่พอใจแก่ประชาชน เกิดกลุ่มคนที่ออกมาต่อต้านที่นำไปสู่ความรุนแรง ตนมองว่าการรัฐประหารเป็นเหมือนการ Set Zero เพื่อยุติปัญหาดังกล่าว”

พรรคพลังประชารัฐและพลเอกประวิตร น่าจะเป็นของคู่กันที่ทำให้หลายๆ คนสงสัยว่าหาก พล.อ.ประวิตรวางมือทางการเมืองจริง แนวทางพรรคจะเป็นอย่างไร นายชัยวุฒิกล่าวยืนยันประเด็นนี้ว่า พลเอกประวิตรยังคงเป็นแกนนำของพรรค แต่ถ้าวันหนึ่งมีการเปลี่ยนแปลง ก็คงเป็นเรื่องที่สมาชิกจะต้องมาหาแนวทางใหม่ร่วมกันในอนาคต

นายชัยวุฒิกล่าวทิ้งท้ายถึงอนาคตของประเทศไทยว่า “เรื่องของประชาธิปไตย ที่ผ่านมาจะเป็นเรื่องของสิทธิ เสรีภาพ การเรียกร้องให้ได้มีการเลือกตั้ง มาจนถึงวันนี้ได้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือ ประชาธิปไตยต้องเต็มใบ มีการถ่วงดุลอำนาจ ตรวจสอบการทำงานระหว่างระบบราชการ นักการเมือง องค์กรอิสระต่างๆ โดยบูรณาการในการทำงานร่วมกันอย่างบริสุทธิ์ ยุติธรรม ประเทศไทยก้าวหน้าประชาชนอยู่ดีกินดี”

'ชัยวุฒิ' ยัน!! กระแส 'พปชร.’ ไม่แผ่ว นโยบายพรรคยังถูกจริต แต่จำนวน สส.คลาดเป้า เพราะเสียงแตก 2 พรรค มีผล

(5 ก.พ.67) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวตอนหนึ่งบนเวทีเสวนาหัวข้อ 'อนาคตประชาธิปไตยไทยในมิติพรรคการเมือง' ซึ่งจัดโดยคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยระบุถึงผลการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ซึ่งได้จำนวนสส.ต่ำกว่าเป้า ว่า ต้องยอมรับว่าการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาพลาดเป้า ส่วนหนึ่งมาจากการแตกออกเป็น 2 พรรค 

ทั้งนี้ หากพรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ ไม่แยกพรรคกันในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เชื่อว่าพรรคพลังประชารัฐจะได้ สส.มากกว่านี้ เพราะคะแนนเสียงถูกหารไป ทั้ง ๆ ที่ยังมีคะแนนนิยมเหมือนเดิมในหลายพื้นที่ แต่เมื่อแยกพรรคกัน คะแนนนิยมก็ถูกแบ่ง และการหาเสียงก็มีความยากลำบากขึ้นด้วย ในขณะเดียวกัน ต้องยอมรับว่า คะแนนนิยมในตัวพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี ที่ทำงานมายาวนาน ก็จะได้คะแนนนิยมค่อนข้างสูง จึงทำให้คะแนนเทไปทางพรรครวมไทยสร้างชาติมากกว่า แต่ท้ายที่สุดแล้ว การที่แยกพรรคกัน ทำให้กลายเป็นจุดอ่อน ที่ส่งผลให้แพ้ทั้งคู่ ซึ่งถือเป็นบทเรียนของทั้งสองพรรคในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา 

อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งครั้งหน้า เชื่อว่าพรรคพลังประชารัฐ ก็ยังมีคะแนนนิยมอยู่ ซึ่งดูจากจำนวนคะแนนที่ได้รับจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา แต่ทั้งนี้ ทางพรรคจะต้องทำกิจกรรมร่วมกับประชาชนและมีนโยบายที่ชัดเจน พร้อมทั้งต้องรวมคนและรวมพลังกันให้ได้ โดยส่วนตัวยังเชื่อว่ามีคนอีกจำนวนมากพร้อมสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ เพียงแต่เราจะต้องเตรียมพร้อมและรองรับให้ดีกว่าครั้งที่ผ่านมา แน่นอนว่าสิ่งสำคัญที่สุด คือ จะต้องรวมกำลังคนที่เคยแยกออกไป กลับมารวมตัวกันเป็นพรรคใหญ่ให้ได้ เพื่อสู้ศึกในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

ทั้งนี้ นายชัยวุฒิ มองว่าการเลือกตั้งในอนาคตจะมี 2 เรื่องสำคัญที่ต้องติดตาม โดยเรื่องแรก เป็นเรื่องกฎหมายเลือกตั้ง หรือ วิธีการเลือกตั้ง ซึ่งค่อนข้างมีผลต่อจำนวนสส.ของแต่ละพรรคอย่างมาก เพราะเมื่อเปลี่ยนวิธีนับคะแนนหรือเปลี่ยนวิธีเลือกตั้ง คะแนนย่อมเปลี่ยนไปด้วย รวมถึงการที่จำนวนพรรคการเมืองและผู้สมัครมีจำนวนมากขึ้น ก็จะมีผลต่อคะแนนเสียงเช่นกัน ซึ่งเห็นได้จากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา คนที่ได้รับเลือกเป็นสส.เขตบางคนได้คะแนนเพียง 20-30% ของจำนวนผู้ที่มาใช้สิทธิเท่านั้น แต่ก็สามารถชนะเลือกตั้งได้เป็นสส. ซึ่งจะแตกต่างจากในอดีตที่คนชนะส่วนใหญ่ จะต้องได้คะแนนเกิน 50% ขึ้นไป 

ส่วนเรื่องที่สอง ที่มองว่าจะต้องได้รับการแก้ไข ก็คือ ในอดีตกลัวว่าจะมีการใช้สื่อในการชี้นำประชาชน จึงออกกฎหมายควบคุมสื่อดั้งเดิม อย่างสื่อสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์อย่างเข้มงวด แต่ในขณะเดียวกันกลับไม่มีการควบคุมสื่อออนไลน์ ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากในปัจจุบัน แน่นอนว่า ในอนาคตทั้งนักการเมืองและพรรคการเมือง จะต้องปรับตัวรับมือกับโซเชียลมีเดีย ซึ่งหลายพรรคพยายามจะทำ ในขณะที่อีกหลายพรรคก็ยังตามไม่ทัน ดังนั้น ทั้ง 2 เรื่อง คือ กติกาการเลือกตั้ง และ โซเชียลมีเดีย จะมีผลอย่างมากต่อการเลือกตั้งในอนาคต

พร้อมกันนี้ นายชัยวุฒิ ยังได้ให้มุมมองทางด้านเศรษฐกิจ และสังคม โดยกล่าวถึงการผลักดันเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ว่า นโยบายด้านซอฟต์พาวเวอร์ เป็นเรื่องที่จะต้องผลักดันกันต่อไป เพราะเป็นการเพิ่มมูลค่าและสร้างการรับรู้วัฒนธรรมไทยไปสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่ผ่านมาทางพรรคพลังประชารัฐ เคยมีแนวคิดที่จะตั้งองค์กรขึ้นมาดูแลด้านนี้โดยเฉพาะ ซึ่งแต่เดิมจะมีกระทรวงวัฒนธรรมเป็นเจ้าภาพหลัก แต่ในอดีตที่ผ่านมายังไม่ค่อยมีความชัดเจน และโดยส่วนตัวเห็นด้วยกับรัฐบาลชุดนี้ ที่ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลอย่างจริงจัง มีงบประมาณที่ชัดเจน และในอนาคตหากสามารถยกระดับเป็นองค์กรมหาชน หรือเป็นหน่วยงานด้านนี้โดยตรง เชื่อว่าจะช่วยยกระดับและผลักดันความเป็นไทยออกไปสู่ชาวโลกได้มากยิ่งขึ้น 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top