Saturday, 11 May 2024
ชัยวุฒิธนาคมานุสรณ์

‘ชัยวุฒิ’ ถก 'อ.ปวิน' แลกเปลี่ยนมุมมองความเห็นต่างทางการเมือง ชี้!! การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วเกินไป อาจนำปัญหามาสู่ประเทศได้

เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 66 นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้มาร่วมให้สัมภาษณ์และพูดคุย เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมอง และความคิดเห็นทางการเมือง ในรายการ ‘Pavin Channel’ ของรองศาสตราจารย์ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการ นักเขียน นักรัฐศาสตร์และอดีตนักการทูตชาวไทย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ประจำสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต

โดยนายชัยวุฒิได้กล่าวว่า ตนนั้น มีความดีใจเป็นอย่างมาก ที่ได้มาคุยกับอาจารย์ปวิน อีกทั้งตนนั้นมีความรักและเคารพอาจารย์ปวินเป็นอย่างมาก เนื่องจากอาจารย์นั้นเป็นคนเก่ง เป็นคนที่มีความรู้ ความสามารถ และคิดว่าตนและอาจารย์ปวินคงทำงานร่วมกันได้ แม้ว่าทั้ง 2 คน จะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน อยู่คนละฝ่าย แต่ตนเชื่อว่า ทุกคนมีเป้าหมายเดียวกัน คือ อยากให้บ้านเมืองของพวกเรามีความเจริญก้าวหน้า อยากให้คนไทยมีชีวิตที่ดี อยากเห็นประเทศไทยเป็นบ้านที่น่าอยู่ของทุกคน 

แต่เนื่องจากทุกวันนี้การทำการเมืองนั้นมีความยากลำบากมากขึ้น ตนได้ไปร่วมดีเบต ได้ไปพูดคุยมาหลายเวที ก็มองเห็นถึงความขัดแย้งที่มีค่อนข้างเยอะ เพราะมีคนที่เห็นต่างกันหลายกลุ่ม หลายฝ่าย มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งตนคิดว่า ความเห็นทางการเมืองที่ต่างกัน มันมีความรุนแรงมากเกินไป โดยเฉพาะในช่วงนี้ ที่บางพรรคมีนโยบายบางอย่างออกมา เป็นนโยบายที่จะเปลี่ยนประเทศ เปลี่ยนนั่น เปลี่ยนนี่ ทำให้ตนคิดว่า มันยังไกลเกินไปสำหรับตอนนี้ และอาจส่งผลให้มีความวุ่นวายทางการเมืองเหมือนที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ ซึ่งตนคิดว่าอาจารย์ปวินก็คงจะเคยเห็นมาก่อนแล้ว การที่ประเทศต่างๆ มีปัญหา และมีความวุ่นวาย ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่รวดเร็วและรุนแรงจนเกินไป

“ผมคิดว่า สิ่งนี้คือเรื่องสำคัญ พรรคพลังประชารัฐจึงมีนโยบายก้าวข้ามความขัดแย้ง นี่ไม่ใช่วาทกรรมนะครับ สิ่งนี้เป็นความคิดของลุงป้อมจริงๆ ที่อยากจะประสานให้ทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย มาพูดคุยและหาทางออกร่วมกัน เราสามารคิดต่างกันได้ครับ แต่เราต้องรักและสามัคคีกัน เราต้องจับมือและเดินไปด้วยกันกับ พรรคพลังประชารัฐ เบอร์ 37 ขอฝากด้วยครับ”

โดยหลังจากนั้น ทางอาจารย์ปวินได้ออกมาตอบกลับคลิปดังกล่าวว่า “ต้องขอขอบคุณคุณชัยวุฒิมากเลยนะครับ ที่มาเป็นแขกให้กับช่อง ‘Pavin Channel’ ผมก็ขอถือคตินี้เช่นกันครับ ว่า ผมให้พื้นที่กับคนต่างด้วย เมื่ออาทิตย์ที่แล้วก็ได้มีโอกาสเชิญน้องบอส มีนชัยนันท์ มาร่วมในรายการ วันนี้จึงถือโอกาสเชิญคุณชัยวุฒิ หรือ ‘พี่โอ๋’ มาหาเสียงในช่องนี้ด้วย มาฟังมุมมองในด้านการเมืองของพี่โอ๋ และสิ่งที่พี่โอ๋อยากเห็นในการเมืองไทย ใครก็ตามที่อยากจะเลือกพี่โอ๋ เชิญตามสบาย โหวตกันได้เต็มที่เลยนะครับ”

‘ชัยวุฒิ’ มั่นใจจะได้ฟังข่าวดี เผยเลือกตั้งรอบนี้สูสี  ย้ำ!! มองแค่กระแสพรรคไม่ได้ ต้องมองที่บุคคลด้วย

(14 พ.ค. 66) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของไทย เดินทางมาถึงที่สำนักงานใหญ่พรรคพลังประชารัฐ เพื่อเข้าร่วมการฟังผลการเลือกตั้งปี พ.ศ.2566 

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า สำนักงานใหญ่พรรคพลังประชารัฐเป็นจุดศูนย์รวมลูกพรรค และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐจะมารวมตัวกันเพื่อลุ้นคะแนนที่นี่ โดยหลังจากทราบผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการจะมีการแถลงข่าวถึงทิศทางทางการเมือง แนวทางการทำงานในอนาคต คาดว่าเวลาประมาณ 20.00 น. - 21.00 น.

สำหรับตอนนี้ตนเองยังให้ข่าวอะไรไม่ได้ ต้องรอลุ้นคะแนนก่อน ซึ่งหากดูจากโพลแล้ว ก็พบว่าคะแนนค่อนข้างสูสีกัน แต่คงต้องรอดูผลในตอนท้ายก่อน 

ทั้งนี้ นายชัยวุฒิ กล่าวต่ออีกว่า ในส่วนกระแสของพรรคพลังประชารัฐ ตนเองพบว่า จากการที่มีการส่งผู้สมัคร ส.ส.ลงพื้นที่ และได้มีการทำโพลในพื้นที่นั้น ตนเองเชื่อว่ามีโอกาสประสบความสำเร็จได้ผลตามเป้าหมาย และคิดว่าจะได้รับผลการเลือกตั้งที่ดี 

นายชัยวุฒิ ยอมรับว่า ในส่วนของคะแนนนั้นเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องของกระแสเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของบุคคลด้วย

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งรอบนี้มีการแข่งขันกันในพื้นที่ค่อนข้างหลายพรรค เนื่องจากไม่มีการแบ่งฝ่ายว่าเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือว่าฝ่ายค้าน ทุกพรรค ทุกคนที่ลงพื้นที่มีการช่วยกันอย่างเต็มที่

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงการจับมือกับพรรคร่วมรัฐบาลเดิม ตนเองคิดว่า โดยปกติมีการพูดคุยกันมาก่อนอยู่แล้ว ซึ่งมีความคุ้นเคยกันดี คุยกันเป็นระยะอยู่แล้วตลอด 4 ปี แต่ก็ยังต้องรอลุ้นผลในคืนนี้กันต่อไป แต่ตนเองไม่สามารถบอกได้ว่าจะจับมือกันเหมือนเดิมหรือไม่ เพราะการร่วมรัฐบาลมีการเปลี่ยนแปลง และเหตุการณ์ทางการเมืองมีการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นเหมือนเดิมตลอดไป 

ทั้งนี้ หลังจากทราบผลอย่างไม่เป็นทางการตนเองคิดว่าคงไม่จบง่ายๆ ยังคงต้องมีการพูดคุยถึงแนวทางการทำงานร่วมกันและเรื่องของนโยบายต่างๆ แต่คืนนี้อาจได้เห็นเค้าลางว่าจะคุยกันอย่างไรต่อไป

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวถามว่า สามารถข้ามขั้วได้หรือไม่ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า คงเป็นการคุยกันเรื่องของการทำงานและนโยบายมากกว่า ทุกคนพร้อมที่จะทำงานร่วมกันเพื่อให้ประเทศเดินหน้าเพื่อดูแลพี่น้องประชาชนและร่วมกันเสนอนโยบายต่าง ๆ รวมถึงแนวทางที่ประชาชนฝากความหวังอยากให้ทำ

สุดท้ายนี้ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า คงไม่ได้มีการคุยเฉพาะเรื่องของตัวเลข ส.ส. เท่านั้น แต่ยังคงมีเรื่องของความพร้อมหรือความสามารถที่จะทำงานร่วมกันได้ต่อไป 

‘ชัยวุฒิ’ โพสต์ถึงลูก อยากให้เป็นเด็กดี และอยู่ร่วมกับทุกคนในสังคม ได้อย่างมีความสุข

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงความรู้สึกที่ได้เห็นลูกสาวฝาแฝดของตน ในชุดเครื่องแบบนักเรียนและมีรอยยิ้มน่ารักสดใสตามวัย โดยระบุว่า ...

มีความสุขทุกครั้งที่ได้เห็นลูกใส่ชุดนี้ อยากให้หนูเป็นเด็กดี มีความรู้และสามารถอยู่ร่วมกับทุกคนในสังคมได้อย่างมีความสุข

ปล.ปีนรั้วเข้าโรงเรียนผมไม่ห่วงครับ ผมห่วงเด็กปีนรั้วออกครับ

หลังจากที่ได้มีคนเห็นโพสต์ข้อความนี้แล้ว ก็ได้มีคอมเมนต์ตอบแบบน่ารักๆ ตามมาหลากหลายเช่น 

“เห็นด้วยครับ ลูกผมก็ชอบใส่ชุดนักเรียนไปโรงเรียน เหมือนเพื่อนๆ ชีวิตวัยเรียนก็ปกติ มีความสุขดีครับ”

“เด็กน้อยของพ่อแม่น่ารักเสมอ”

“น่ารักที่สุดค่ะสาวน้อย”

“น่ารักจังเลย”

‘ดีอีเอส’ เดินหน้าพัฒนากฎหมายดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพิ่มความปลอดภัย คุ้มครองประชาชน มีผล 21 ส.ค.นี้

‘ดีอีเอส’ ประกาศ กฎหมาย Digital Platform จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 21 สิงหาคมที่จะถึงนี้ พร้อมประกาศให้ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เป็นสื่อกลาง อาทิ โซเชียลมีเดีย อีคอมเมิร์ซ sharing economy บริการสืบค้น (search engine) บริการรวมรวมข่าว โฮสติ้ง คลาวด์ แจ้งการประกอบธุรกิจต่อสำนักงานธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ‘ETDA’

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า เพื่อรองรับ พ.ร.ฎ.การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 หรือ ‘กฎหมาย Digital Platform’ ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 21 สิงหาคม ที่จะถึงนี้ ซึ่งมีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล คือ ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ที่มีรายได้เกิน 50 ล้านบาทต่อปี กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นนิติบุคคล หรือเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นบุคคลธรรมดา หรือมีจำนวนผู้ใช้บริการเกิน 5,000 รายต่อเดือน มีหน้าที่แจ้งให้ ETDA ทราบก่อนการประกอบธุรกิจ และหากเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งอยู่นอกราชอาณาจักร แต่ให้บริการแก่ผู้ใช้บริการในราชอาณาจักรมีหน้าที่แต่งตั้งผู้ประสานงานในราชอาณาจักร

โดยกฎหมาย Digital Platform จะกำหนดหน้าที่ให้เหมาะสมกับลักษณะของการให้บริการและผลกระทบที่อาจเกิดจากการให้บริการ และกฎหมายนี้จะมีผลใช้บังคับในวันที่ 21 สิงหาคมนี้ ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ประกอบธุรกิจอยู่ก่อนวันดังกล่าวจะต้องแจ้งให้ ETDA ทราบภายใน 90 วันซึ่งจะตรงกับวันที่ 18 พฤศจิกายน 2566 หากไม่แจ้งภายในเวลาดังกล่าว จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“กฎหมาย Digital Platform กำกับดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อให้มีมาตรฐานที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลให้บริการได้อย่างโปร่งใสและเป็นธรรม มีการดูแลผู้ใช้บริการอย่างเหมาะสม และยังเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างยั่งยืน โดยกฎหมายนี้มุ่งเน้นการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ดังนั้น ขอย้ำว่าผู้ใช้บริการที่เป็นผู้ขายสินค้าออนไลน์ หรือคนไลฟ์สด หรือคนทำ content เผยแพร่ บนบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ไม่ได้มีหน้าที่ต้องมาแจ้งให้ ETDA ทราบตามกฎหมายนี้แต่อย่างใด” นายชัยวุฒิ กล่าว

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้กฎหมายมีความครบถ้วนและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ETDA จึงได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อกฎหมายลำดับรองภายใต้ พ.ร.ฎ. Digital Platform (Public hearing) รวม 4 ครั้ง โดยปัจจุบันได้ดำเนินการมาจนถึงครั้งที่ 4 ในวันจันทร์ที่ 26 มิถุนายน 2566 เกี่ยวกับ (ร่าง) คู่มือการพิสูจน์และยืนยันตัวตนเพื่อลงทะเบียนเป็นผู้ใช้บริการ ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาที่สำคัญจากการใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล เช่น การหลอกลวง การไม่ทราบตัวคนที่ต้องรับผิด เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจจัดทำแนวปฏิบัติที่ดี (Best practice) หรือมีกลไกในการกำกับดูแลตนเองที่เหมาะสม

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดโต๊ะหารือ 2 ผู้ให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์ม ‘Pantip – Blockdit’ ถึงวิธีการลงทะเบียนผู้ใช้บริการผ่าน User ID เร่งดัน ‘(ร่าง) คู่มือการพิสูจน์และยืนยันตัวตนเพื่อลงทะเบียนเป็นผู้ใช้บริการ’ สู่การสร้างกลไกการดูแลตนเอง (Self-regulation) และการดูแลผู้ใช้บริการที่เหมาะสม ภายใต้ กฎหมาย Digital Platform Services ด้วย

พร้อมกันนี้ ในที่ประชุมยังได้มีการพูดคุยกันถึงแนวทางการดูแล ป้องกันและแก้ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นแก่ผู้ใช้บริการ ผ่านกลไกการลงทะเบียนก่อนเข้าใช้งาน เนื่องจาก Pantip และ Blockdit ถือเป็นตัวอย่างผู้ให้บริการ social media ที่มีการใช้กลไกการลงทะเบียนของผู้ใช้บริการ หรือ User ID ที่ดีมาอย่างต่อเนื่องและมีบัญชีผู้ใช้บริการที่ยังใช้งานอยู่ในระบบจำนวนมาก จากพูดคุยพบว่า ทั้ง 2 ผู้ให้บริการได้มีการกำหนดวิธีการลงทะเบียนเข้าใช้งานของผู้ใช้บริการที่ค่อนข้างชัดเจน คือ มีการกำหนดระดับความน่าเชื่อถือ ในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนก่อนเข้าใช้งานตามความเสี่ยงของการใช้งาน เช่น ถ้าเป็นการใช้งานขั้นพื้นฐานทั่วไปที่มีความเสี่ยงน้อย ก็จะเน้นลงทะเบียนยืนยันตัวตนด้วย ชื่อ-สกุล อีเมล หรือ เบอร์โทรศัพท์ แต่ถ้าหากเป็นการใช้งานที่มีความเสี่ยงมากๆ เช่น ขายสินค้า ก็จะต้องมีการยืนยันตัวตนด้วยชื่อ ที่อยู่ เลขบัตรประชาชน เบอร์โทรศัพท์ หรือยืนยันตัวตนด้วย Digital ID ที่น่าเชื่อถือ อย่าง Digital ID ที่ออกโดยแอปพลิเคชัน ThaiD ของกรมการปกครอง ซึ่งจากการให้บริการของ 2 แพลตฟอร์ม พบว่า คนไทยส่วนใหญ่ค่อนข้างมีความตระหนักในการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลในการลงทะเบียน หรือ สมัครเข้าใช้บริการ โดยเฉพาะการกรอกเลขบัตรประชาชนและเลขโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น

โดยข้อมูลที่ได้จากการประชุมร่วมครั้งนี้ จะถูกนำไปเป็นส่วนหนึ่งของข้อเสนอแนะที่จะนำไปปรับปรุง ‘(ร่าง) คู่มือการพิสูจน์และยืนยันตัวตนเพื่อลงทะเบียนเป็นผู้ใช้บริการ’ กฎหมายลำดับรองภายใต้ กฎหมาย DPS (Digital Platform Services) ที่จะมีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น Public Hearing ในวันที่ 26 มิถุนายนนี้ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติ แก่ผู้ให้บริการในฐานะผู้ประกอบธุรกิจ ในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนผู้ใช้บริการ ผ่านการลงทะเบียนการเข้าใช้งาน เพื่อให้ได้บัญชีผู้ใช้บริการที่มีความน่าเชื่อถือ ระบุตัวตนได้ เพื่อเป็นประโยชย์ในการคุ้มครองผู้บริโภค ลดการฉ้อโกงออนไลน์

โดยเนื้อหาของร่างคู่มือฉบับนี้ จะครอบคลุมทั้ง การจัดประเภทผู้ใช้งานที่ควรพิสูจน์และยืนยันตัวตน กำหนดระดับความน่าเชื่อถือของการพิสูจน์และยืนยันตัวตน List ข้อมูลที่จะต้องเก็บรวบรวม แนวทางการตรวจสอบข้อมูล การแสดงสัญลักษณ์หรือข้อความว่าดำเนินการพิสูจน์และยืนยันตัวตนแล้ว โดย (ร่าง) คู่มือ ฉบับดังกล่าว นับเป็นหนึ่งตัวอย่างของการสร้างกลไกการดูแลตนเอง (Self-regulation) ของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เหมาะสม สอดคล้องตามเจตนารมณ์ภายใต้กฎหมายฉบับนี้
 

‘เท้ง ณัฐพงษ์’ ว่าที่ รมว.ดีอีเอส ประกาศลั่น 100 วันแรกทำทันที ยุบศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม Fake News

นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ (เท้ง) ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ประกาศวิสัยทัศน์ในฐานะแคนดิเดต รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ผ่านคลิปความยาวกว่า 8 นาทีบนเพจ เฟซบุ๊กก้าวไกล อารัมภบทวิสัยทัศน์และสิ่งที่อยากทำที่กระทรวงดีอีเอส โดยมีคำพูดขุดรากถอนโคนอย่าง “100 วันแรกทำทันที ยุบศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti–Fake News Center)” 

เมื่อผู้สื่อข่าว นำประเด็นนี้ไปพูดคุยกับ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดีอีเอส ในฐานะผู้ที่ลุยทำงาน ปราบปรามเว็บไซต์ สื่อออนไลน์ ที่หลอกลวงพี่น้องประชาชน โดยนายชัยวุฒิ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า   “จะยุบทำไม รัฐบาลมีหน้าที่ตรวจสอบและแจ้งให้ประชาชนทราบ ศูนย์เฟกนิวส์มีประโยชน์และอยู่มาได้ถึง 3 ปีแล้ว เชื่อว่าไม่มีใครอยากให้ยุบ คนที่อยากยุบ คุณคิดว่าเป็นใครล่ะ ก็คนที่ปล่อยเฟกนิวส์ละมั้ง 5555” นายชัยวุฒิกล่าวกับผู้สื่อข่าวด้วยท่าทีสุขุม

‘ชัยวุฒิ’ เร่งปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ เดือน พ.ค. ระดมจับคนขายบัญชีม้า ซิมม้าแล้วกว่า 200 ราย

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ครั้งที่ 2/2566เพื่อเร่งรัดทุกหนว่ยงานที่เกี่ยวข้องปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์

วันนี้ (23 มิถุนายน 2566) นายชัยวุฒิ รัฐมนตรีดีอีเอส พร้อมด้วย ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์ สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พล.ต.อ. ดํารงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. พล.ต.ต. เอก รักษ์ ลิ้มสังกาศ รองเลขาธิการ ปปง. พล.ต.ท. วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. พล.ต.ท. สุรพล เปรมบุตร ผู้บัญชาการประจําสํานักงานผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ นาวาโท ศักติพงษ์ สิบหมื่นเปี่ยม ผู้อํานวยการฝ่ายเฝ้า ระวังความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ สกมช. นายเขมชาติ ประกายหงษ์มณี ผู้อํานวยการกองคดีเทคโนโลยี และสารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศ ไทย นายกฤษณ์ ไพโรจน์กีรติกุล ผู้อํานวยการฝ่ายอาวุโส บมจ. ธนาคารกรุงไทย ผู้แทนสมาคมธนาคารไทย นางสาวสุชา บุณยเนตร ผู้ช่วยเลขาธิการสํานักงาน ก.ล.ต. นางสาวอรวรี เจริญพร ผู้อํานวยการสํานักบริหาร จัดการหมายเลขโทรคมนาคม สํานักงาน กสทช. และนายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อ เศรษฐกิจและสังคม ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการฯ ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปราม อาชญากรรมทางเทคโนโลยี ครั้งที่ 2/2566 เพื่อติดตามความก้าวหน้าในการดําเนินการที่เกี่ยวข้องกับตาม พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 และพิจารณากระบวนการ ดําเนินงานที่เกี่ยวข้องในการระงับยับยั้งธุรกรรมที่ต้องสงสัยและช่องทางสําหรับให้บริการประชาชนอย่าง สะดวกและรวดเร็ว

ที่ผ่านมาหลัง พ.ร.ก. มีผลบังคับใช้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดําเนินการ สรุปผลได้ดังนี้ เมื่อเทียบก่อนและหลังออก พ.ร.ก. สถิติการเกิดคดีออนไลน์ ลดลง และสามารถอายัดบัญชีคนร้ายได้มากขึ้น ดังนี้

- สถิติคดีออนไลน์ - การอายัดบัญชีก่อน เฉลี่ย 790 เรื่อง/วัน หลัง เฉลี่ย 684 เรื่อง/วัน

(คดีลดลงเฉลี่ย 106 เรื่อง/วัน) ก่อน อายัดได้ทัน 6.5% (ขออายัด 1.35 พันล้านบาท อายัดทัน 87 ล้านบาท) หลัง อายัดได้ทัน 15.3% (ขออายัด 1.5 พันล้านบาท อายัดทัน 229 ล้านบาท) (อายัดได้ทันเพิ่มขึ้น 8.8%)

ผลการดําเนินงาน 4 ด้าน

1. บัญชีม้าซิมม้าแก๊งCallCenter-ปิดกั้นSMS/เบอร์โทรหลอกลวงรวม188,915รายการ (กสทช.) / ปิดกลุ่ม facebook ซื้อขายบัญชีม้า 19 กลุ่ม (กระทรวงดิจิทัลฯ) / อายัดบัญชี 101,904 บัญชี (สตช.) / - แจ้งรายชื่อบุคคล /เจ้าของบัญชีธนาคาร ที่ใช้กระทําความผิด 993 รายชื่อ (ปปง.) / ดําเนินคดี บัญชีม้า ซิมม้า 219 คดี ผู้ต้องหา 216 คน (ตํารวจ)

2. การหลอกลวงลงทุน-ระดมทุนออนไลน์และหลอกลวงทางการเงิน-ดําเนินคดี740คดี/ผู้ต้องหา 762 ราย (ตํารวจ)

3. การพนันออนไลน์-ดําเนินคดี662คดี/ผู้ต้องหา774ราย(ตํารวจ)/ปิดกั้น2,334เว็บไซต์ (กระทรวงดิจิทัลฯ)

4. การหลอกลวงซื้อขายสินค้าบริการออนไลน์ - ดําเนินคดี 331 คดี / ผู้ต้องหา 347 ราย (ตํารวจ)

ที่ประชุมไดพ้ ิจารณาประเด็นที่สําคัญในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ 7 เรื่อง

1. เหตุอันควรสงสัยของสถาบันการเงินโดยได้กําหนดเหตุอันควรสงสัยของธุรกรรมทางการเงินที่อาจเป็น การดําเนินการของมิจฉาชีพ 18 ข้อ

2. เหตุอันควรสงสัยของผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ที่อาจเป็นการดําเนินการของมิจฉาชีพ10ข้อ

3. ระบบหรือกระบวนการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลฯ ระหว่าง สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจ

กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสมาคมธนาคารไทยอยู่ระหว่างพัฒนาระบบแลกเปลี่ยนข้อมูล ITMX ซึ่งที่ ประชุมมอบหมายให้ธนาคารแห่งประเทศและสมาคมธนาคารไทยเร่งรัดการจัดทําระบบแลกเปลี่ยน ข้อมูลให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

4. ระบบหรือกระบวนการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูล ระหว่าง ผู้ให้บริการ เครือข่ายโทรศัพท์ ซึ่งที่ประชุมมอบหมายให้สํานักงาน กสทช เร่งพัฒนาระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ เพื่อใช้ในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์

5. วิธีการและช่องทางในการแจ้งเหตุอันควรสงสัย และรับส่งข้อมูล ของสถาบันการเงินฯ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยตํารวจจะพัฒนาระบบ Banking เชื่อมต่อกับระบบ ITMX ของสถาบันการเงินเพื่อเป็น ช่องทางรับแจ้งเหตุอันควรสงสัย และให้ ปปง. และ DSI พิจารณาช่องทางในการรับแจ้งเหตุอันควร สงสัยและการรับส่งข้อมูลกับสถาบันการเงินด้วย

6. วิธีการและช่องทางในการแจ้งเหตุอันควรสงสัย และรับส่งข้อมูล ของผู้ให้บริการโทรศัพท์ฯ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยระบบ banking ของตํารวจจะเชื่อมต่อกับระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลของ

กสทช. ด้วยเพื่อรับแจ้งเหตุอันควรสงสัย

7. วิธีการและช่องทาง ของสถาบันการเงินฯ ในการรับแจ้งจากผู้เสียหาย โดยหน่วยงานได้ ร่วมกัน ดําเนินงานตาม พรก อย่างจริง

8. มาตรการอื่นๆได้แก่การควบคุมการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อไม่ให้เป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยน และฟอกเงิน การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการรัฐร่วมเอกชน แนวทางการป้องกันและปราบปรามบัญชีม้าและ ซิมม้า แนวทางในการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันป้องกันภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนให้แก่ประชาชน มาตรการในการป้องกันปราบปรามคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีประเภท แอปพลิเคชันดูดเงิน

รัฐมนตรีชัยวุฒิฯ แจ้งว่า คณะกรรมการได้เห็นชอบแนวทางตามที่เสนอและขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นําไปดําเนินการ อย่างเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาลดความเดือดร้อนให้ประชาชนโดยเร็วต่อไป และขอขอบคุณทุก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขานรับและตั้งใจร่วมกันในการดําเนินงานแก้ไขปัญหาลดความเสียหายและอาชญากรรมที่ เกิดขึ้น บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน จับกุมผู้กระทําความผิด และดําเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องกับบัญชีม้า และซิมม้ามาลงโทษ ซึ่งจะสามารถบรรเทาการสูญเสียทรัพย์ได้แน่นอน

'ชัยวุฒิ' ชี้ การโหวต ‘ประธานสภา’ ต้องรอประชุมพรรค ตอบไม่ได้ฟรีโหวตหรือไม่ ปัดไม่ทราบกระแสข่าวร่วมมือเพื่อไทย

เมื่อเวลา 07.35 น. วันที่ 26 มิ.ย. ที่วัดราชบพิตรสถิตมหาสีมาราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เดินทางกลับมาจากอังกฤษแล้ว วันนี้มีการประชุมค้ามนุษย์ เมื่อถามถึงกระแสข่าว พล.อ.ประวิตร จะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี นายชัยวุฒิ กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร เป็นแคนดิเดตนายกฯของพรรคพลังประชารัฐอยู่แล้ว และมีการดำเนินการหาเสียงมาโดยตลอด ส่วนการจะเป็นนายกฯหรือไม่ก็อยู่ที่การเลือกตั้งและลงมติในสภา 

เมื่อถามว่าในพรรคพลังประชารัฐ ได้มีการพูดคุยหรือส่งสัญญาณเรื่องนี้หรือไม่ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ไม่ทราบ เมื่อถามถึงการดำเนินการทางการเมืองของพรรคจากนี้ไป นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ขณะนี้พรรคมี ส.ส. 40 คน ได้มีการประชุมและเตรียมความพร้อมอยู่แล้วในการทำงานในสภา ดำเนินการตามนโยบายพรรคและแก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนก็จะทำให้ดีที่สุด

เมื่อถามว่า การโหวตประธานสภามักจะมีแนวทางโหวต นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ไม่ทราบ ยังไม่ได้พูดคุยกัน เมื่อถามถึงกระแสข่าวว่าพรรคพลังประชารัฐจะร่วมมือกับพรรคเพื่อไทย ในการโหวตประธานสภา นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ไม่ทราบ พร้อมถามกลับว่าในกระแสข่าวมีการร่วมมือกันหรือ 

เมื่อถามว่า จะประชุมถึงแนวทางการโหวตประธานสภาเมื่อไหร่ นายชัยวุฒิกล่าวว่า ประมาณวันจันทร์-อังคารนี้ และไม่ทราบว่าที่ประชุมจะให้เป็นมติพรรคหรือฟรีโหวต ทั้งนี้เป็นปกติที่ทุกพรรคจะมีการประชุมกันก่อนที่จะลงมติอะไร เพราะเป็นเรื่องสำคัญ

เมื่อถามถึงกระแสข่าวที่ พล.อ.ประวิตร เดินทางไปต่างประเทศ ไปพบกับคนในพรรคเพื่อไทย นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ไม่ทราบ เพราะไม่ได้ไปด้วยเลยตอบแทนไม่ได้ ต้องไปถามคนที่ไป และตนยังไม่ได้เจอ พล.อ.ประวิตร จึงไม่ได้พูดคุยกัน

ดีอีเอส-ETDA เปิด Public Hearing ‘คู่มือการลงทะเบียนผู้ใช้งาน’ ภายใต้กฎหมาย DPS

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) โดย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น (Public Hearing) ต่อ “(ร่าง) คู่มือการพิสูจน์และยืนยัน ตัวตนเพื่อลงทะเบียนผู้ใช้บริการ” พร้อมเปิดเวทีระดมความเห็นต่อแนวทางการออกเครื่องหมาย แสดงการรับรอง ภายใต้กฎหมาย Digital Platform Services เพื่อเป็นกลไกเสริมในการลด ความเสี่ยงที่เกิดจากการใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ดูแลผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า หลังจากที่ พ.ร.ฎ. การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ

พ.ศ. 2565 หรือ กฎหมาย DPS (Digital Platform Services) ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2565 ก่อนที่กฎหมายฉบับดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ ในวันที่ 21 สิงหาคม 2566 นี้ ดีอีเอส ผ่านการดำเนินงานของ ETDA ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนกฎหมายฉบับดังกล่าว จึงได้เดินหน้าศึกษาและจัดทำร่างกฎหมายลำดับรอง ภายใต้กฎหมาย DPS หลังจากนั้นจึงได้มี กระบวนการรับฟังความคิดเห็น รวมถึงการจัด Focus Group สำหรับร่างกฎหมายลำดับรอง จากหน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ทั้งจากภาครัฐ เอกชน regulator ตลอดจน ผู้ประกอบการ ผู้ใช้บริการ และประชาชนทั่วไปมาอย่างต่อเนื่อง ก่อนนำข้อเสนอแนะ ความคิดเห็น ที่ได้มาจัดทำและปรับปรุงร่างกฎหมายลำดับรองให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์มากที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาได้มี การนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ และคณะอนุกรรมการกฎหมาย ภายใต้คณะกรรมการ ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (คธอ.) ในการพิจารณาไปแล้ว ทั้งนี้ เพื่อให้หลักเกณฑ์ และข้อปฏิบัติ ภายใต้กฎหมาย DPS มีความชัดเจน โปร่งใส สำหรับผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล สามารถนำไปปฏิบัติใช้ได้จริง ที่ผ่านมา ETDA จึงได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็น หรือ Public Hearing ต่อร่างกฎหมายลำดับรองไปแล้ว 3 ครั้ง จำนวน 9 ฉบับ ผ่านระบบการประชุมทางออนไลน์ และผ่านระบบกลางทางกฎหมาย โดยวันนี้ (26 มิถุนายน 2566) จะเป็นกิจกรรม Public Hearing ครั้งที่ 4 เพื่อรับฟัง

ความคิดเห็นต่อ “(ร่าง) คู่มือการพิสูจน์และยืนยันตัวตนเพื่อลงทะเบียนผู้ใช้บริการ เพื่อเป็น แนวทางในการปฏิบัติ แก่ผู้ให้บริการ ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ในการพิสูจน์ และยืนยันตัวตนผู้ใช้บริการ ผ่านการลงทะเบียนการเข้าใช้งาน เพื่อให้ได้บัญชีผู้ใช้งานที่มีความน่าเชื่อถือ ระบุตัวตนได้ เพื่อเป็นประโยชย์ในการคุ้มครองผู้ใช้บริการ ลดความเสี่ยงจาก การฉ้อโกงออนไลน์ โดยเนื้อหาของ (ร่าง) คู่มือฉบับนี้จะครอบคลุมทั้งการจัดประเภทผู้ใช้บริการที่ควร พิสูจน์และยืนยันตัวตน การกำหนดระดับความน่าเชื่อถือของการพิสูจน์และยืนยันตัวตน รายการของ ข้อมูลที่จะต้องเก็บรวบรวม แนวทางการตรวจสอบข้อมูล และการแสดงสัญลักษณ์หรือข้อความว่า ผู้ใช้บริการรายนั้นได้ดำเนินการพิสูจน์และยืนยันตัวตนแล้ว เป็นต้น นอกจากนี้ เรายังมีกิจกรรมการ ระดมความเห็นต่อ “แนวทางในการออกเครื่องหมายแสดงการรับรอง” เพื่อนำไปเสริมเป็นแนวคิด ในการจัดทำประกาศ คธอ. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการออกเครื่องหมายแสดงการรับรอง พ.ศ. .... ภายใต้มาตรา 27 ของ กฎหมาย DPS เพื่อเป็นกลไกช่วยผู้ใช้บริการประกอบการตัดสินใจ เลือกใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ได้รับเครื่องหมายรับรองนี้ ทั้งยังเป็นการสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้ ประกอบธุรกิจ DPS เกิดการปฏิบัติที่สอดคล้องกับกฎหมาย รวมถึงการได้รับความเชื่อมั่นจาก ผู้ใช้บริการมากขึ้น ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นและการระดมความคิดเห็นในครั้งนี้ จะถูก นำไปเป็นข้อเสนอแนะและข้อมูลสำคัญในการนำไปปรับปรุงและพัฒนาเนื้อหาของเอกสารทั้ง 2 ฉบับ ให้มีความครบถ้วน ชัดเจนยิ่งขึ้น และสามารถปฏิบัติตามได้จริง

สำหรับผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ผู้ประกอบการ คนทำงานบน แพลตฟอร์ม ผู้บริโภค ผู้ใช้บริการที่เกี่ยวข้อง และประชาชนทั่วไป ที่สนใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการ พัฒนาคู่มือและแนวทางทั้งสองเรื่องให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น สามารถร่วมแสดงความ คิดเห็น ข้อเสนอแนะต่อร่างคู่มือการพิสูจน์และยืนยันตัวตนเพื่อลงทะเบียนผู้ใช้บริการ และ แนวทางในการออกเครื่องหมายแสดงการรับรองได้ที่ระบบกลางทางกฎหมาย หรือ ที่ลิงก์ https://www.etda.or.th/th/regulator/Digitalplatform/Public-Hearing-DP.aspx ได้ตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน – 26 กรกฎาคม 2566

รักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ‘ชัยวุฒิ’ พิจารณาเห็นชอบแผนปฏิบัติการดิจิทัลระยะ 5 ปี  จัดให้มีช่องทางรับเรื่องร้องเรียน แก่ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และประชาชน

เมื่อวานนี้ (วันศุกร์ที่ 30 มิ.ย. 66) เวลา 13.30 น. นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะประธานกรรมการบริหารสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์(กบส.) ได้ร่วมประชุม กบส. ครั้งที่ 2/2566 

โดยในการประชุม คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบ  (ร่าง) แผนปฏิบัติการดิจิทัลระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 - 2570) ของสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และ (ร่าง) แผนปฏิบัติการดิจิทัลประจำปี พ.ศ. 2566 รวมทั้งการปรับแผนการปฏิบัติงานของสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 (รอบ 6 เดือน) และได้รับทราบผลการดำเนินงานของ สกมช. ในด้านต่าง ๆ ได้แก่

1. รายงานเหตุการณ์ภัยคุกคามไซเบอร์ และผลการดำเนินการของสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ 
2. รายงานผลการดำเนินงานด้านงบประมาณและการก่อหนี้ผูกพัน (วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2566) ของสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ
3.  ผลการประเมินองค์การมหาชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565

4. การจัดทำคู่มือการจัดวางระบบการควบคุมภายในและการประเมินผลการควบคุมภายใน
5. รายงานผลการดำเนินงานด้านการต่างประเทศของสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (1 มกราคม - 30 พฤษภาคม 2566)
6. รายงานการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร

7. ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือข้อกำหนดเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลและการบริหารงานทั่วไป และมีการประกาศให้ทราบทั่วทั้งองค์กร
8. รายงานผลการจัดการความรู้ขององค์กร
9. รายงานผลการสื่อสารกับประชาชน

10. การกำหนดนโยบายและวิธีปฏิบัติในการจัดการข้อร้องเรียน และการจัดให้มีช่องทางรับเรื่องร้องเรียนให้แก่ผู้รับบริการ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และประชาชนทั่วไป
11. รายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการตรวจสอบ
12. รายงานผลการลงนามบันทึกความเข้าใจของสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ช่วงเดือนตุลาคม 2565 ถึงปัจจุบัน

‘ชัยวุฒิ’ เผย พปชร. ไม่คุยชง ‘บิ๊กป้อม’ ชิงนายกฯ ยัน!! ไร้สัญญาณ ‘พรรคร่วมรัฐบาลเดิม’ เสนอชื่อแข่ง

(18 ก.ค. 66) ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะรองหัวหน้าพรรค พปชร. ให้สัมภาษณ์ถึงการโหวตของรัฐสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่สอง วันที่ 19 ก.ค.นี้ ว่า ต้องถามทางพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรคก่อน 

ผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสข่าวว่าพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. มีชื่อชิงแคนดิเดตนายกฯ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ตนไม่ทราบประเด็นดังกล่าว แต่ต้องขอบคุณสื่อมวลชนที่ช่วยกันปั่นกระแส แต่ยืนยันว่าพรรค พปชร. ยังไม่มีการคุยเรื่องดังกล่าว

เมื่อถามยํ้าว่า มีสัญญาณว่าพรรคร่วมรัฐบาลเดิมจะเสนอชื่อนายกฯ แข่งหรือไม่ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ยังไม่มีสัญญาณอะไรทั้งสิ้น โนคอมเมนต์

เมื่อถามว่า มองข้อบังคับการประชุมสภาข้อ 41 การลงมติเลือกนายกฯ สามารถเสนอชื่อซ้ำได้หรือไม่ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ตนไม่ทราบ ตรงนี้เป็นเรื่องข้อกฎหมาย ซึ่งต้องให้ทางรัฐสภาเป็นผู้ตัดสิน พรรค พปชร.ยังไม่มีความเห็นในเรื่องนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากพรรคเพื่อไทย (พท.) เสนอชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน ที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทยจะเป็นแนวทางที่ดีของพรรค พปชร.หรือไม่ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า เรื่องนี้ตนไม่ทราบ แล้วตอนนี้ยังไม่เกิด ขอให้เกิดก่อนแล้วกัน 

เมื่อถามยํ้าว่า ส่วนตัวคิดอย่างไรกับนายเศรษฐา นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ตนไม่ทราบ

เมื่อถามว่าพรรคเพื่อไทย ได้ติดต่อมาหรือไม่ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า “ไม่ได้โทรหาผม” 

เมื่อถามย้ำว่า ได้โทรหาพล.อ.ประวิตร หรือไม่ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า “ไม่ทราบ ต้องไปถามพล.อ.ประวิตร ” 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top