‘ชัยวุฒิ’ ชี้ พ.ร.ก. ช่วยลดอาญชากรรมไซเบอร์ วอนสภาฯ อนุมัติ ช่วย ปชช. ตกเป็นเหยื่อ

(3 ส.ค. 66) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรถึงเหตุผลและความจำเป็น ตลอดจนสาระสำคัญของพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 โดยระบุถึงเหตุผลและความจำเป็น ว่า ปัจจุบันประชาชนผู้สุจริตถูกคนร้ายใช้วิธีการทางเทคโนโลยีหลอกลวงหลอกลวง ทำให้เสียหายทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก เป็นอันตรายร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อแก้ไขปัญหาบัญชีม้า ซิมม้า และระงับยับยั้งการโอนเงินของคนร้ายต่อเป็นทอด ๆ เพื่อให้สามารถติดตามทรัพย์สินคืนให้กับผู้เสียหายได้ทัน เป็นสำคัญ

นายชัยวุฒิ ได้สรุปถึงสาระสำคัญของพระราชกำหนดฯ ฉบับดังกล่าวด้วยว่า พระราชกำหนดฯ ฉบับนี้ มีทั้งหมด 14 มาตรา

มาตราที่ 1, 2 และ 3 บัญญัติเกี่ยวกับชื่อเรียก วันที่บังคับใช้ และคำนิยาม ตามลำดับ

มาตรา 4 กรณีที่มีเหตุอันควรสงสัย ให้ฝ่ายธนาคาร และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ มีหน้าที่เปิดเผย หรือแลกเปลี่ยนข้อมูล และส่งให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องนำไปใช้ประโยชน์เพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

มาตรา 5 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจ กรมสอบสวนดีพิเศษ และสำนักงาน ปปง. สั่งให้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ เปิดเผยข้อมูลการลงทะเบียน หรือข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ และมีหน้าที่ส่งให้ผู้สั่งภายในระยะเวลาที่กำหนด

มาตรา 6 กรณีที่ธนาคารพบเหตุอันควรสงสัย ให้มีหน้าที่ระงับการทำธุรกรรมนั้น และแจ้งธนาคารที่รับโอนต่อทุกทอด ระงับการทำธุรกรรมที่รับโอนไว้ทันที เป็นการชั่วคราวไม่เกินเจ็ดวัน  เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง และแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจ หรือ เลขาธิการ ปปง. ดำเนินการตรวจสอบ

มาตรา 7 กรณีที่ธนาคารได้รับแจ้งจากผู้เสียหายโดยตรง ให้ธนาคารระงับการทำธุรกรรมนั้นไว้ทันที และแจ้งให้ธนาคารที่รับโอนต่อทุกทอด ระงับการทำธุรกรรมที่รับโอนไว้ด้วย พร้อมกับแจ้งผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในเวลา 72 ชั่วโมง เมื่อพนักงานสอบสวนรับคำร้องทุกข์แล้ว ให้พิจารณามีคำสั่งไปยังธนาคาร ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันได้รับคำร้องทุกข์ หากไม่มีคำสั่งภายในกำหนดเวลา ให้ธนาคารยกเลิกการระงับการทำธุรกรรม

มาตรา 8 วรรคแรก การแจ้งข้อมูลหรือหลักฐาน ตามมาตรา 6 และมาตรา 7 สามารถกระทำทางโทรศัพท์หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้

มาตรา 8 วรรคสอง 1) การร้องทุกข์ในความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีจะกระทำต่อพนักงานสอบสวน ณ สถานีตำรวจแห่งใดในราชอาณาจักร และจะร้องทุกข์ทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ โดยให้ถือว่าเป็นการร้องทุกข์โดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

2) การสอบสวนหรือดำเนินการเกี่ยวกับความผิดดังกล่าว ให้พนักงานสอบสวนที่รับคำร้องทุกข์ไม่ว่าจะประจำอยู่ที่สังกัดใด หรือพนักงานสอบสวนที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกำหนดให้เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ มีอำนาจสอบสวนหรือดำเนินเกี่ยวกับความผิดดังกล่าวได้ไม่ว่าความผิดนั้นเกิดขึ้น ณ ที่ใดในราชอาณาจักร

มาตรา 9 ผู้ใดเปิดบัญชีม้า หรือใช้ซิมม้า มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 10 และมาตรา 11 ผู้ใดโฆษณาเกี่ยวกับบัญชีม้า ซิมม้า มีโทษจำคุก ตั้งแต่ 2 - 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2 - 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 12 การเปิดเผย แลกเปลี่ยน เข้าถึง จัดเก็บ รวบรวม การใช้ข้อมูลบุคคลตามตามพระราชกำหนดฯ นี้ ไม่อยู่ภายใต้การบังคับของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

มาตรา 13 ในวาระเริ่มแรกให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา คณะหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่ 1) กำหนดแนวทางในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 2) ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับเหตุอันควรสงสัย และ 3) ให้คำแนะนำและคำปรึกษาเกี่ยวกับการปฏิบัติงาน โดยให้ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แต่งตั้งเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แต่งตั้งเลขานุการร่วม

มาตรา 14 นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมรักษาการตามพระราชกำหนดฯ นี้

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

การจัดทำพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 จะส่งผลให้การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ลดภาระและอำนวยความสะดวกในการร้องทุกข์ให้แก่ประชาชน และสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ และความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ

นายชัยวุฒิ ได้ให้นำเสนอข้อมูลสถิติคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เปรียบเทียบระหว่าง ก่อนวันที่ พระราชกำหนดฯ ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ (วันที่ 17 มี.ค.66) กับหลังจากวันที่มีผลบังคับใช้ ในด้านที่สำคัญ ว่า

- ต้นปี 2566 ถึงก่อนวันที่ พระราชกำหนดฯ มีผลบังคับใช้ (วันที่ 1 ม.ค.66 - 16 มี.ค.66) เกิดเฉลี่ย 790 คดี/วัน
- ตั้งแต่วันที่ พระราชกำหนดฯ มีผลบังคับใช้ (17 มี.ค.66) ถึงวันที่ 17 ก.ค.66 (121 วัน) เกิดรวม 74,280 คดี เฉลี่ย 603 คดี/วัน
- พอสรุปได้ว่า ตั้งแต่พระราชกำหนดฯ มีผลบังคับใช้ สถิติการเกิดคดีลดลงเฉลี่ย 187 คดี/วัน

ขณะที่การขออายัดบัญชีนั้น พบว่า

- ในช่วงระยเวลาก่อนวันที่ พระราชกำหนดฯ มีผลบังคับใช้ (วันที่ 1 ม.ค.66 - 16 มี.ค.66)  มีการขออายัดบัญชี จำนวน 1,346 ล้านบาทเศษ อายัดได้ทัน 87 ล้านบาท (คิดเป็น 6.5 %)
- ตั้งแต่วันที่ พระราชกำหนดฯ มีผลบังคับใช้ (วันที่ 17 มี.ค.66) ถึงวันที่ 17 ก.ค.66 (121 วัน) มีการขออายัดบัญชี จำนวน 2,400 ล้านบาท อายัดได้ทัน 256 ล้านบาท (คิดเป็น 10.3 %)  
- พอสรุปได้ว่า ตั้งแต่ พระราชกำหนดฯ มีผลบังคับใช้ สามารถอายัดบัญชีได้ทันเพิ่มมากขึ้น

ด้านการจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับบัญชีม้าและซิมม้า

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ดำเนินคดีผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับบัญชีม้าและซิมม้า โดยมีผลการจับกุม ใน 4 ข้อหา รวม 336 ราย ดังนี้

- ข้อหาเปิดหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชีเงินฝากของตน (บัญชีม้า) รวม 245 ราย
- ข้อหายินยอมให้ผู้อื่นใช้หรือยืมใช้เลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของตน (ซิมม้า) รวม 36 ราย
- ข้อหาเป็นธุระจัดหา โฆษณา ไขข่าว ให้มีการซื้อขายบัญชี (ประกาศขายบัญชีม้า) รวม 7 ราย
- ข้อหาเป็นธุระจัดหา โฆษณา ไขข่าว ให้มีการซื้อขายเลขหมายโทรศัพท์ (ประกาศขายซิมม้า) รวม 48 ราย

นายชัยวุฒิ ยังย้ำด้วยว่า ในช่วงที่ผ่านมา ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ และตระหนักรู้เกี่ยวกับการป้องกันภัยทางอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงาน ปปง. สำนักงาน กสทช. ธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ร่วมกันประชาสัมพันธ์ แจ้งเตือน รูปแบบภัยทางออนไลน์ต่าง ๆ ไม่ให้ประชาชนหลงเชื่อหรือตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ และช่องทางการติดต่อในการแก้ปัญหาหากเกิดเหตุแล้ว ปรากฏบนสื่อต่าง ๆ ในทุกรูปแบบ

“กระผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า สภาผู้แทนราษฎรจะได้พิจารณาอนุมัติพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 เพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพที่นับวันจะยิ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น” นายชัยวุฒิ กล่าว

อนึ่ง เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการร่างพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ซึ่งต่อมานายกรัฐมนตรีได้นำกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2566 โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป

โดยที่บทบัญญัติมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้กำหนดสำหรับการตราพระราชกำหนดทั่วไปว่า “มาตรา 172 ในกรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ พระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติก็ได้
การตราพระราชกำหนดตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้”